9 พฤศจิกายน 2017
8 K

ในชีวิตฉันไม่เคยคิดจะมาอินเดีย แต่เพราะรูปทุ่งดอกไม้บานสะพรั่งไปทั่วทั้งหุบเขา ทำให้ฉันปักหมุดว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ฉันจะต้องมาอินเดียให้ได้สักครั้งในชีวิตนี้ เพื่อไปเยือนดินแดนที่มีชื่อว่า ‘Valley of Flowers’

ภูเขา

หุบเขาดอกไม้แห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาตินันทาเทวี (Nanda Devi National Park) รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเดลี ติดกับพรมแดนทิเบต ทางเดินเขาที่นี่เปิดให้เข้าได้เฉพาะเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ซึ่งเป็นหน้ามรสุม แต่เพราะหิมะบนยอดเขาละลายและดอกไม้เริ่มผลิบานผลัดเปลี่ยนกัน ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้รักธรรมชาติและพืชพรรณ

จากเดลี เรานั่งรถบัสไปลงที่เมือง Haridwar เพื่อต่อรถในเช้าวันรุ่งขึ้นไป Joshimath เมืองเล็กๆ ที่มีภูเขาสูงใหญ่ล้อมรอบ ไม่ไกลจากที่นี่ก็จะไปถึงหมู่บ้านเล็กๆ ที่ชื่อ Govindghat หมู่บ้านสุดท้ายที่รถเข้าไปถึง จากนั้นเราต้องเริ่มต้นเดินเท้า 8 กิโลเมตร เข้าไปยัง Ghangaria หมู่บ้านกลางหุบเขาซึ่งเป็นคล้ายฐานที่มั่นสำหรับนักท่องเที่ยวและชาวซิกข์และฮินดูผู้มาจาริกแสวงบุญ

เช้าตรู่หลังจากพักผ่อนจนเต็มอิ่ม พวกเราก็พร้อมเดินเข้าไปยลความงามของหมู่ดอกไม้นานาพรรณในหุบเขาแล้ว จากปากทางเข้าจ่ายเงินค่าธรรมเนียมสำหรับชาวต่างชาติคนละ 600 รูปี ราคานี้สำหรับเข้าอุทยานได้สามวัน จากตรงนี้ไปถึงปากทาง Main Valley ประมาณ 3.5 กิโลเมตร เริ่มต้นเป็นป่าปิด มีต้นไม้สูงใหญ่ให้ร่มเงา สักพักเห็นต้นสนใหญ่ริมน้ำตกที่ไหลแรงเป็นฟองขาว เราข้ามน้ำตกกันที่นี่แล้วเดินต่อไปและต่อไป ทางดูเหมือนจะทอดยาวไปไม่สิ้นสุด บางคนถูกดอกไม้บางดอกฉุดรั้งให้แวะข้างทางเพื่อเก็บภาพ บางคนรีบจ้ำเพื่อทำเวลา เพราะต้องกลับออกมาถึงปากทางเข้าก่อนห้าโมงเย็น

เดินป่า หุบเขา

หุบเขา

หลังจากหลุดพ้นเงาไม้มาได้ ก็เป็นทางเลียบเลาะหุบเขา ยาวไกลสุดลูกหูลูกตา ฉันได้แต่สงสัยว่า ต้องเดินอีกไกลเท่าไหร่ถึงจะพอ แต่เพราะความหวังว่าข้างหน้าจะต้องมีความสวยงามกว่ารออยู่ สองขาจึงยังคงก้าวต่อไปเรื่อยๆ ยิ่งเดินก็เริ่มเห็นความหลากหลายของพืชพรรณที่พากันผลิดอกชูช่อไสว พืชที่พบในหุบเขานี้เป็นพืชอัลไพน์หลากหลายชนิด มีทั้งดงเทียนดอกสีชมพูริมทาง เจอราเนียมสีม่วงกลีบบาง ดอกแคตนิปสีชมพูอ่อน ดอกวงศ์ทานตะวันสีเหลืองสด แอสเตอร์กลีบเรียวสีม่วงเกสรเหลือง Himalayan Whorlflower ช่อสวย โพลีโกนัมช่อสีขาวฟู ไปจนถึงพืชสกุลพริมโรสดอกกระจุ๋งกระจิ๋ง แต่ดอกไม้หนึ่งในใจที่ฉันกำลังสอดสายตามองหาคือดอกป๊อบปี้สีฟ้า (Himalayan Blue Poppy) และขุนเขาก็ไม่ได้ทำให้ฉันต้องรอนาน ตรงโขดหินริมหน้าผา พืชต้นน้อย ๆ เบียดแทรกตัวชูช่อดอกสีฟ้าอ่อน ดึงดูดความสนใจของใครต่อใครที่เดินผ่านได้ไม่น้อยเลย

ดอกไม้ ดอกไม้

ดอกป๊อปปี้สีน้ำเงิน

ยิ่งเดินเข้าไปลึกมากเท่าไหร่ ธรรมชาติก็ยิ่งทำให้เราตื่นตาตื่นใจได้มากเท่านั้น ยิ่งผ่านเข้ามาถึงส่วนหลักของหุบเขา (Main Valley) ทุ่งดอกไม้ยิ่งกว้างไกลสุดสายตา แม้ว่าดูเผินๆ แล้วเหมือนเทียนสีชมพูจะกลืนกินและกลบพืชพรรณอื่นๆ ไปจนหมด แต่ถ้าสังเกตดูดี ๆ เราจะเห็นพืชต้นเล็กต้นน้อยมากมายที่กำลังผลิบานอย่างเงียบๆ ทั้งดอกเบลล์ฟลาวเวอร์ช่อใหญ่สีม่วงเข้ม พุ่มดอก Knotweed สีชมพูหวานบนโขดหิน Roundleaf Bellflower ดอกสีเขียวอ่อน ดอกถั่วจิ๋วที่เลื้อยอยู่บนพื้นสีม่วงเข้ม และอื่นๆ อีกมากมายที่ยากจะเอ่ยชื่อได้ครบถ้วน มีการบันทึกว่าในแต่ละปีจะมีดอกไม้ทยอยกันบานในหน้ามรสุมนี้มากกว่า 500 ชนิด บ้างก็เป็นพืชถิ่นเดียว บางชนิดเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ บางชนิดมีสรรพคุณสามารถนำไปใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ และถ้าหากใครที่เคยไปเดินเชียงดาวได้มาเดินที่นี่ จะเห็นว่าชนิดพรรณไม้ที่นี่กับเชียงดาวมีลักษณะคล้ายและใกล้เคียงกัน เป็นเพราะว่าเชียงดาวคือส่วนหางของหิมาลัย จึงมีพรรณไม้บางส่วนที่สามารถแพร่กระจายพันธุ์ไปได้ถึงเขาหินปูนทางตอนเหนือของประเทศไทยของเรา
ดอกไม้ ดอกไม้ ดอกไม้

พวกเราแวะพักกินข้างกลางวันที่ห่อมาจากโรงแรมข้างธารน้ำตก สายน้ำเย็นไหลแรง ฟ้าเริ่มครึ้ม พร้อมฝนที่ตกปรอยๆ พอบ่ายโมงกว่าๆ เราก็ต้องหันหลังกลับและเดินออกไปให้ทันห้าโมงเย็น หมายมั่นปั้นมือว่าวันรุ่งขึ้นจะเดินเข้าไปได้ลึกกว่านี้

ลำธาร

หลังจากสลบเป็นตาย 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้า วันใหม่เราก็ตั้งใจจะแวะข้างทางให้น้อยลง เพื่อเดินไปให้ถึงสุดทาง ตอนเช้าอากาศแจ่มใส เห็นสีฟ้าของท้องฟ้า รู้สึกว่าวันนี้จะเป็นวันที่ดี แต่เมฆก็ดูเหมือนจะคิดเช่นเรา พากันกรูเข้ามาในหุบเขา กลายเป็นหมอกที่ไหลผ่านระหว่างเรา ดอกไม้ และทุ่งหญ้า จนทำให้บางครั้ง ภาพจางๆ ที่เห็นข้างหน้า คล้ายว่าเรากำลังเดินเล่นอยู่ในสวนดอกไม้ของพระเจ้าก็ไม่ปาน

หุบเขา

ยิ่งเดินลึกเข้าไป เรายิ่งตกหลุมรักหุบเขาแห่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนค่อยๆ หายไป จนเหลือแต่พวกเราที่ยังเดินอยู่ ทางเดินไม่ได้เรียบโล่งเหมือนช่วงต้นที่ผ่านมา แต่มีพืชต้นน้อยๆ รุกล้ำเข้ามาระหว่างซอกหิน ลมยังคงพัดเมฆผ่านมาและผ่านไปไม่ขาดสาย บางช่วงได้กลิ่นหอมของไม้บางชนิดที่ฉันด้อยความสามารถเกินกว่าจะระบุได้ บางช่วงเป็นทุ่งโล่งที่มีคนมานอนงีบพร้อมเปิดเพลงเข้าบรรยากาศ แม้ว่าจะเป็นเวลาบ่ายกว่าๆ ซึ่งเราจะต้องหันหลังกลับและเดินออกแล้ว แต่เรายังไม่บรรลุจุดหมายปลายทางของวันนี้ พวกเราเลยเร่งฝีเท้าเต็มที่ อยากไปให้ถึงสุดปลายทางซึ่งเป็นริมฝั่งแม่น้ำที่ละลายมาจากธารน้ำแข็งจากเขาด้านบน แต่ท้ายที่สุดก็ไปได้ไม่ถึง พวกเราได้เห็นแค่วิวกว้างๆ ที่ขนาบด้วยดอกเทียนสีชมพูสุดลูกหูลูกตา และสายน้ำสีขาวที่อยู่ไกลๆ ไม่สามารถเดินไปถึงริมฝั่งน้ำได้ เพราะหากไม่ยอมหันหลังกลับ พวกเราอาจจะออกมาไม่ทัน ยิ่งบ่ายฝนในหุบเขายิ่งตกหนัก ถึงแม้ว่าตอนเช้าอากาศจะดีแค่ไหนก็ตาม บวกกับน้ำในลำธารสายต่างๆ ที่เราข้ามมาซึ่งค่อยๆ เพิ่มระดับสูงขึ้นจากน้ำแข็งที่ละลายเมื่อโดนความอบอุ่นของแสงอาทิตย์ และความเสี่ยงที่จะเกิดหินถล่มตามทาง ทำให้ไกด์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมที่เราพักอยู่ และรู้จักหน้าค่าตากันดี คอยเร่งให้เราเดินกลับออกไปให้เร็วที่สุด จากที่พวกเราพยายามจะชิลล์รั้งท้าย เขาเลยตัดสินใจมาเดินไล่หลังพวกเรา โดยไม่ต้องมีคำเร่งใดๆ แค่เสียงฝีเท้าหนักๆ ของเขาที่เดินตามหลัง ก็ทำให้เราไม่กล้าแม้แต่จะหยุดพักเหนื่อย กลายเป็นการจ้ำเท้าที่เร็วที่สุดของพวกเรา จนถึงจุดที่ปลอดภัย เขาก็ปล่อยให้เราเดินด้วยความเร็วปกติ และไปดูแลลูกทัวร์ของตัวเอง เราทั้งโล่งใจและขอบคุณที่เขาอุตส่าห์เป็นห่วง แต่บางทีมันก็เหนื่อยไป แถมมุมถ่ายรูปสวยๆ ที่เล็งไว้ตอนขาไป ก็อดถ่ายรูปกลับมา

ในหุบเขาจุดหนึ่งจะมีทางแยก ทางหนึ่งไป River’s Belt 4 กิโลที่เราเดินไปไม่ถึงในวันที่ 2 ส่วนอีกทางไปหลุมฝังศพของคุณมาร์กาเร็ต (Margaret Legge) ซึ่งมีระยะทางไม่ถึงกิโล คุณมาร์กาเร็ตเป็นนักพฤกษศาสตร์ชาวอังกฤษที่เดินทางมาศึกษาพรรณไม้ที่นี่ แต่เกิดอุบัติเหตุลื่นตกเขาระหว่างที่กำลังเก็บตัวอย่างพรรณไม้ อากาศในหุบเขาชื้นเพราะฝนเริ่มตก หมอกลอยผ่านตัวเราไป สองข้างทางไปหลุมศพมีดอกไม้หลากหลายชนิดผลิบาน ระหว่างเดินฉันก็เริ่มคุณมาร์กาเร็ตว่าทำไมเธอและใครต่อใครจึงหลงใหลหุบเขาที่เดินทางมาแสนยากลำบากแห่งนี้นัก และพอเดินไปถึงหลุมศพของเธอ ฉันก็เผลออมยิ้ม คิดมโนไปถึงภาพสุดท้ายที่เธอได้เห็นระหว่างยังมีลมหายใจ บางครั้งนั่นอาจเป็นเกียรติสูงสุดแล้วที่ธรรมชาติได้มอบให้เธอในวาระสุดท้ายของชีวิต

เดินทาง

“My eyes will forever drink in the beauty of the mountains which gave me strength and inspiration”.

-Margaret Legge-

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

พิรดา สุมานนท์

นักศึกษารอเรียนต่อปริญญาเอกทางด้านพฤกษศาสตร์ ชอบท่องเที่ยว กระหายกลิ่นหมอกและไอฝน