2 พฤศจิกายน 2017
4 K
ถ้าที่ที่อยู่มันสบาย แล้วอยู่อย่างมีความสุข เรียกว่าใช้ได้
ถ้าอยู่ที่ที่ไม่มีความสุข แล้วยังสบายใจได้ บนโลกนี้จะมีที่ไหนทำให้เป็นทุกข์’

 

ปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่ผ่านมา เราได้ปักหมุดหมายความตั้งใจลงบนแผนที่โลก และออกเดินทางไปทำจิตอาสา สอนหนังสือเด็กเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ที่เมือง Patan (ปาตัน) ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นการเดินทางด้วยตัวเองเพื่อไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศครั้งแรก แน่นอนว่าอะไรๆ ก็เต็มไปด้วยความน่าตื่นเต้นและความท้าทาย

แต่การเริ่มต้นครั้งแรกก็ทำให้ความไม่สบายใจอยู่ในระดับสูงมาก ด้วยแต่เดิมแล้ว เสียงกรีดร้องของความทุกข์ดังก้องอยู่ในหัวเราตลอดเวลาที่ต้องพบเจอความยากลำบาก การต้องทำในสิ่งที่ไม่ได้ชอบ และอยู่ในที่ที่ไม่ได้อยากอยู่

ความไม่สบายใจเข้ามาตั้งแต่วันแรกที่ได้สัมผัสกับผืนดินประเทศเนปาลเลย เพราะที่นี่ไม่ใช่ประเทศที่จะอยู่ได้อย่างสุขสบายเหมือนเคย เสียงร้องของความทุกข์เริ่มทำงานตั้งแต่แรก แต่พอรู้อยู่แก่ใจดีว่านี่จะเป็นก้าวสำคัญที่น่าจดจำและจำเป็นสำหรับการเติบโต

ทำไมถึงไปสอนหนังสือที่เนปาล?

มันท้าทาย เป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดี เปิดหูเปิดตา ได้ปรับตัวในระดับที่พอทนไหวสำหรับประสบการณ์ที่ผ่านมาของตัวเอง อันนี้เป็นเหตุผลที่ไว้ตอบคนอื่น

ส่วนเหตุผลที่ไว้ตอบตัวเองคือ ในโลกที่วุ่นวาย เราอยากขอใช้เวลาตามหาเพียงสักพื้นที่หนึ่งที่จะได้ฝึกดับเสียงกรีดร้องที่ดังอยู่ในความคิดนี้สักที

แล้วบนโลกนี้ จะมีตารางนิ้วใดอีกล่ะที่จะทำให้เราเป็นทุกข์ได้

ขอต้อนรับเข้าสู่คอร์สเรียนปรับพฤติกรรม ดัดสันดานตัวเองที่เนปาล ณ บัดนี้

ตลาด

ห้อง

เมืองหลวงที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน แท็กซี่ติดมิเตอร์ที่ไม่มีใครคิดจะใช้ การจราจรที่วุ่นวายปราศจากสัญญาณไฟใดๆ วัฒนธรรมการทานอาหารด้วยมือ ผู้คนสื่อสารด้วยภาษาที่ไม่น่าจะได้ยินจากที่ไหนในโลกอีก เป็นสิ่งที่ต้อนรับทักทายเราในวันแรกของการมาเยือน นี่เป็นการเริ่มต้นที่สร้างความประหลาดใจและหวั่นใจให้แก่เราไม่น้อย ในระหว่างทางการไปพบกับบ้านหลังใหม่

ไม่นานนัก เราก็มาถึงสนามวิ่งเล่นและสนามเรียนรู้ของเด็ก ๆ ราวพันคนในเมืองปาตันที่ชื่อ Tri-padma Vidyashram Higher Secondary School โรงเรียนรัฐบาลขนาดประมาณ 3 สนามบาสเกตบอล ห้องเรียนเก่าๆ 1 ห้องในโรงเรียนได้เปลี่ยนโฉมใหม่กลายเป็นห้องนอนด้วยฟูกและผ้าห่ม 1 ผืน พื้นที่เล็กๆ แห่งนี้ได้กลายเป็นบ้านที่พักพิงและที่เตรียมการทำงานไปอีกเกือบ 5 สัปดาห์   

เราใช้เวลาส่วนมากของโครงการอยู่ในเมืองปาตัน (อีกชื่อหนึ่งที่คนท้องถิ่นคุ้นเคยคือ Lalitpur ที่มีฉายาว่าเมืองแห่งความงาม) เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยตึกสถาปัตยกรรมแบบโบราณ แวดล้อมไปด้วยวัดวาอารามทั้งแบบพุทธและฮินดู บ้างก็ดูสมบูรณ์ครบถ้วนดี บ้างก็เหลือแต่ซากปรักหักพังรอการซ่อมแซมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่โดยรวมแล้วเมืองนี้ยังคงเสน่ห์ความน่าค้นหาและมนตราความขลังอะไรบางอย่างซึ่งสัมผัสได้เมื่อมาอาศัยอยู่ที่นี่

เนปาล

ถือว่าเป็นสถานที่ที่ใช้ได้สำหรับจิตใจ แต่ที่ที่ดูใช้ไม่ได้และชวนกรีดร้องในหัวสมองมากที่สุดเห็นจะเป็นที่โรงเรียนนี่แหละ ห้องน้ำสุดสกปรกที่แบ่งกันใช้กับนักเรียนนับพัน น้ำไม่ไหล อาหารรสชาติไม่คุ้นปากชวนปวดท้อง แทบไม่มีแสงไฟและผู้คนอยู่ยามค่ำคืน เป็นอีกมิติหนึ่งของชีวิตที่ได้พบเจอ

จริงๆ มันคงไม่ได้ยากลำบากขนาดนั้นสำหรับใครหลายๆ คน แต่คงเป็นเพราะความไม่คุ้นชินและอาการติดความสบายของตัวเอง มันกระตุ้นให้เราคิดตลอดเวลาว่าจะต้องใช้วิธีการไหนในการเอาตัวรอด ทำให้ตัวเองห่างไกลจากความทุกข์จนกว่าจะได้กลับบ้าน

ช่วงเวลานั้น เรามองไม่เห็นแสงสว่างในความมืดมิดนี้เท่าไหร่ ห้องนอนแฝงไปด้วยกลิ่นไอของความน่ากลัวยามค่ำคืน มันกลายเป็นบททดสอบใหม่ของชีวิต อะไรที่ไม่เคยคุ้น วันนี้จำเป็นแล้วที่ต้องทำให้คุ้นเคย แต่มีคนเคยบอกเราไว้ว่า วิธีการเอาชนะความมืดที่ดีที่สุดคือการพาตัวเองไปเผชิญความมืดจนคุ้นชิน เมื่อนั้นความกลัวจะทุเลาลง เรื่องบางเรื่อง กลัวตรงไหน ให้พาตัวเองไปอยู่ที่นั่นเพื่อรักษาความกลัว

อย่างน้อยวันนี้ อยากจะขอบคุณตัวเองที่ให้โอกาสชีวิตมาเผชิญกับความมืดมิดที่สุดเท่าที่จะพอคิดได้แล้ว

ร้านค้า จิตอาสา

ฟ้าอาจจะใคร่ครวญดูแล้วว่าทั้งหมดนี้อาจจะดูหนักหน่วงและชวนเหงาเกินไปสำหรับเด็กวัยกำลังค้นหาตัวเองคนหนึ่งในโลกใบใหญ่ จึงได้เมตตาส่งคนมาเป็นเพื่อนร่วมทางที่จะฟันฝ่าทุกอย่างไปด้วยกัน

เรากำลังพูดถึงโรวาน เด็กหนุ่มสัญชาติอเมริกันแต่เรียนอยู่ที่แคนาดา วัย 19 ปี ผู้เป็นเพื่อนร่วมห้อง ร่วมโรงเรียน ของเราไปตลอดจนจบโครงการ

ปรับตัวเก่ง นิสัยดี เป็นผู้ใหญ่ ใส่ใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เข้ากับเด็กได้อย่างน่ารัก เรียนรู้ภาษาเนปาลได้อย่างรวดเร็ว เป็นสิ่งที่เราพอจะรู้เกี่ยวกับโรวาน เนปาลเป็นสถานที่ในฝันของเขาตั้งแต่แรก ซึ่งคงต้องขอบคุณความฝันและการมีอยู่ของโรวาน ที่ทำให้การผจญภัยครั้งนี้ไม่ได้โดดเดี่ยวเสียจนเกินไป

และนอกจากโรวานแล้ว ในการเดินทางครั้งนี้ โลกยังหมุนเวียนให้คนวัยหนุ่มสาวจากทั่วทุกมุมโลก มากกว่า 20 ประเทศเดินทางมาเจอกัน แม้ว่าเราจะมีความแตกต่างกัน แต่เชื่อว่าเราน่าจะมีจุดประสงค์อะไรบางอย่างที่คล้ายๆ กัน เราถึงได้มาร่วมขบวนการกันในมุมเล็กๆ มุมหนึ่งของโลกใบนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ดีๆ ร่วมกัน

นี่ยังไม่รวมถึงคุณอาและลูกชายของโรงอาหารโรงเรียน พี่ยามผู้เปิดประตูให้เข้าโรงเรียนได้ตอนดึก คุณป้าที่ให้ยืมห้องน้ำไว้อาบน้ำ ทีมงานที่มาช่วยต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต เพื่อนคนไทยที่เจอกันโดยบังเอิญ และอีกหลากหลายตัวละครที่เดินผ่านเข้ามามีบุญคุณอย่างสูงต่อชีวิตและสอนอะไรบางอย่างให้กับเราในการเดินทางครั้งนี้

เพื่อนร่วมทางที่ดีจะทำให้การเดินทางไกลแสนไกลดูเหมือนสั้นลงโดยไม่รู้ตัว โชคดีเหลือเกิน เพื่อนร่วมทางของเรามาอยู่ตรงหน้านี้แล้ว

นักเรียน

นอกจากสภาพแวดล้อมและผู้คนจะเป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาที่เชื้อชวนให้ปฏิบัติการปรับพฤติกรรมและความคิดเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว เด็กนักเรียนนับพันคนในโรงเรียนชื่อดังย่านปาทันนี้ก็ดูจะมีบทบาทไม่แพ้กัน

10 โมงเช้าเป็นฤกษ์งามยามดีที่เราจะได้เห็นเด็กเหล่านี้วิ่งกรูเข้ามาในโรงเรียนเพื่อเตรียมตัวเคารพธงชาติ ไม่เว้นแม้แต่วันอาทิตย์ เพราะตามปกติแล้ว โรงเรียนที่เนปาลจะบังคับให้ทุกคนมาโรงเรียน 6 วันต่อสัปดาห์ มีให้หยุดพักหายใจเพียงแค่วันเสาร์ เนื่องจากมีวันหยุดทางราชการและศาสนาเยอะมากระหว่างปี เลยต้องชดเชยด้วยการเรียนเพิ่มสักหน่อย

“นาย นาย พ่อนายชื่ออะไรอะ”

ประโยคคำถามที่ได้ยินบ่อยมากที่สุดจากกองทัพเด็กเหล่านี้ น่าจะไม่แพ้คำว่า ‘นมัสเต’ 
(สวัสดี) เลยทีเดียว ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอยากรู้ไปทำไม

สิ่งที่น่าประทับใจของนักเรียนเนปาลคือส่วนมากเป็นคนกล้าแสดงออกโดยธรรมชาติ กระตือรือร้นและไม่เกรงกลัวที่จะเป็นฝ่ายเริ่มเข้าหาชาวต่างชาติก่อน ไม่รู้ว่าไปเอาความกล้าเหล่านี้มาจากไหนเหมือนกัน

ในส่วนของการเรียนการสอน หลักสูตรของที่นี่จะเรียนและสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กเนปาลยุคใหม่สามารถสื่อสารกับคนต่างชาติกันได้อย่างรู้เรื่อง ก็น่าคิดว่าแล้วตอนนี้ประเทศเราให้ความใส่ใจกับด้านการสื่อสารกับต่างชาติมากเท่านี้แล้วหรือยัง

ที่ดูขาดตกบกพร่องไปบ้างคงจะเป็นเรื่องของการเข้าถึงความทันสมัย ส่วนมากแล้วจะเป็นการเรียนตามตัวหนังสือเสียมากกว่า ไม่ได้มีสื่อประกอบการสอนอื่นใดมาส่งเสริมให้เข้าใจ ห้องเรียนห้องหนึ่งมีเพียงกระดาน กระดาษและมาร์กเกอร์เท่านั้น สงสัยเหมือนกันว่าถ้าเด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงอุปกรณ์ที่ครบครัน พวกเขาจะก้าวไปได้ไกลมากกว่านี้แค่ไหน

ส่วนบทบาทการเป็นครูนั้น เราค่อนข้างใช้เวลาพอสมควรในการวางแผนและปรับตัว ซึ่งเป็นเรื่องเล่าที่พูดได้ทั้งวัน แต่บทเรียนสำคัญที่สุดที่เราได้รับคือ ในขณะที่เราได้เริ่มทำงานเป็นครู พร้อมกันนั้นเราก็ได้กลับกลายมาเป็นเด็กนักเรียนที่อยากจะค้นหาความรู้และค้นหาความหมายให้กับชีวิตตัวเองอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง

ห้องเรียน เด็ก

ความน่ารักและกระตือรือร้นเกินพิกัดของเด็กเหล่านี้ทำให้อยากจะลองเป็นครูที่ดีสักครั้ง

ก้าวข้ามขีดจำกัดของภาษาและความแตกต่าง เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ดีกว่าเดิม คงไม่เกินจริงไปถ้าจะบอกว่าเด็กพวกนี้นิยามความหมายของคำว่าชีวิตเราใหม่ คอร์สเรียนนี้สมบูรณ์แบบได้เพราะเด็กน้อยเมืองปาตันเป็นผู้มอบวิชาให้แก่เราเอง

ธงมนตร์

5 สัปดาห์ของชีวิตช่วงนั้นผ่านไปอย่างรวดเร็ว มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายที่ไม่อาจบรรจุทุกอย่างลงบนพื้นที่นี้ได้ แต่หากให้เลือกสักเรื่องหนึ่งที่อยากบอกกับใครสักคน คงต้องเป็นเรื่องนี้

ลองให้โอกาสชีวิต เดินทางไปติดอยู่ในที่ที่ดูเหมือนไม่น่าจะมีความสุขได้สักครั้งหนึ่ง แล้วลองหาความสบายในความทุกข์นั้นดู มันอาจจะอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล แต่อยู่ตรงที่ใจเรานี้เอง

หากหามันพบ รับประกันได้เลยว่ามันจะเป็นคอร์สเรียนการปรับพฤติกรรมที่คุ้มค่าที่สุดในชีวิต

แล้วบนโลกนี้ จะมีที่ไหนทำให้เราเป็นทุกข์ได้ล่ะ?

บทความนี้เป็น Travelogue ที่ชนะรางวัลกระเป๋าจาก Moleskine แบบ Classic Backpack สีเทา สำหรับการประกวดเดือนกันยายน – ตุลาคม

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีทั้งกระเป๋าจาก Moleskine ให้ลุ้นร่วมสนุก และมีสมุดบันทึก Limited Edition จาก The Cloud ส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ