17 มิถุนายน 2017
23 K

เหตุผลที่ฉันได้ฝึกงานที่ Château de Versailles หรือพระราชวังแวร์ซายส์ เกิดจากการเรียนปริญญาโทด้านการจัดการวัฒนธรรมที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งโปรแกรมเรียนบังคับให้ฝึกงานระยะยาว 4 – 6 เดือน นักศึกษาฝึกงานที่นี่จะทำงานและได้รับเงินเดือน เพราะคนฝรั่งเศสมีนิสัยไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบเด็ดขาด ไฟต์อะไรได้จะไฟต์หมด ดังนั้นตามกฎหมายฝรั่งเศส การฝึกงานเกิน 2 – 3 เดือน ที่ทำงานต้องจ่ายสตางค์ให้เด็กฝึกงานด้วย ถึงจะได้น้อยกว่าพนักงานประจำ แต่ก็เป็นกฎหมายที่ดีจริงๆ

พระราชวังแวร์ซายส์

พระราชวังแวร์ซายส์ หรือ ชื่อเต็มๆ ขององค์กรคือ Public Establishment of the Palace, Museum and National Estate of Versailles มีฐานะเป็นหน่วยงานราชการที่มีอำนาจการปกครองเป็นของตัวเอง มีงบประมาณเป็นของตัวเอง และพนักงานส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ แวร์ซายส์เป็นองค์กรขนาดใหญ่มาก ประกอบด้วย 7 ฝ่ายใหญ่ ซึ่งฉันอยู่ในฝ่าย Direction du développement culturel หรือเรียกสั้นๆ ว่า DDC ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีขอบข่ายงานจิปาถะมากๆ ตั้งแต่จัดโปรแกรมการเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ (ที่ไม่ได้แสวงหากำไร ที่แสวงหากำไรจะอยู่อีกส่วนนึง) สิ่งพิมพ์ การตลาด การศึกษาผู้เข้าชม ซึ่งงานหลัก ๆ ฉันคือการศึกษาผู้เข้าชมชาวอเมริกัน แต่ฉันก็ได้มีโอกาสทำงานทุกอย่างในแผนก รวมถึงงานในแผนกอื่นๆ ด้วย

พระราชวังแวร์ซายส์

นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันและชาวจีนเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 2 และ 3 ของพระราชวังแวร์ซายส์ รองจากคนฝรั่งเศส การศึกษาผู้เข้าชมชาวอเมริกันเป็นงานที่ต่อเนื่องจากปีก่อนที่ศึกษาผู้เข้าชมชาวจีน เราศึกษาตั้งแต่พฤติกรรมทั่วไป ความพึงพอใจ และข้อเสนอแนะ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุง และสร้างกิจกรรมและบริการให้ตรงใจผู้เข้าชมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (เราพยายามปรับปรุงเรื่องการเข้าคิวแล้วจริงๆ นะ)

การแจกแบบสอบถามนักท่องเที่ยวทำให้เห็นว่าแต่ละชาติมีความสนใจและความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เช่น นอกจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แล้ว คนอเมริกันนึกถึงพระนางมารี อังตัวแนตต์ ส่วนคนจีนจะนึกถึงนโปเลียน คนฝรั่งเศสงงกันเลยทีนี้ เพราะเขาจะนึกถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และการปฏิวัติฝรั่งเศสมากกว่า เวลาฉันและเพื่อนออกไปแจกแบบสอบถามจะตลกมาก เพราะเรา 3 คนจะกลายเป็นพนักงานชี้ทางออกกับบอกทางไปห้องน้ำแทน นักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินตรงมาถามฉันโดยเฉพาะ เพราะหน้าดูจีนได้อยู่ จนหลังๆ นี่เริ่มบอกทางเป็นภาษาจีนได้ ถามจากคนจีนที่ถามทางนั่นแหละว่าพูดยังไง

พระราชวังแวร์ซายส์
พระราชวังแวร์ซายส์

นอกจาก mission หลักแล้ว ยังมีงานอื่นๆ จิปาถะ งานในฝ่ายที่โหดสุดไม่ได้ยากที่เนื้องาน แต่โหดตรงที่พวกเราต้องไปจับเวลาการเข้าคิวเข้าพระราชวังช่วงสิบโมงเช้าถึงเที่ยง นึกสภาพการอยู่กลางแดดเป็นเวลา 2 ชั่วโมงในฤดูร้อน สัปดาห์ละ 2 ครั้งตลอด 1 เดือน เรียกได้ว่าไม่ต้องพูดถึงสีผิวหลังฝึกงานจบ อีกงานที่ตากแดดไม่แพ้กันคือการต้อนรับเด็ก 2,500 คน ที่มาเที่ยวที่แวร์ซายส์ โดยมีบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ใหญ่ใจดีสนับสนุนให้เด็กที่ไม่โอกาสเที่ยวในช่วงปิดเทอมได้มาเที่ยวกัน คราวนี้อยู่กลางแดดไม่พอ ต้องวิ่งบอกเส้นทาง ประสานงานกับนักแสดง เหนื่อยมากแต่ก็สนุกมากเช่นกัน และเป็นประสบการณ์ที่ดีมากที่ทำให้ได้ทำงานกับเพื่อนนอกฝ่าย

งานอีกอย่างที่ไม่เล่าไม่ได้คือการดูแลห้องที่มีพรมพิเศษ จากสมัยก่อนที่ต้องใช้เจ้าหน้าที่นับจำนวนผู้ชม เดี๋ยวนี้หลายห้องในพระราชวังปูด้วยพรมที่มีเซนเซอร์ด้านล่าง เจ้าพรมพวกนี้จะนับจำนวนคนในห้องได้โดยอัตโนมัติ ฟังดูสะดวกสบาย แต่จริงๆ แล้วพวกมันคือพรมเจ้าปัญหา ห้องที่ปูพรมพิเศษจะมีเรื่องให้ไปดูทุกสัปดาห์ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่ง เช่น ที่นิทรรศการในห้อง Gallerie des Batailles (ห้องที่รีโนเวตใหม่สมัยพระเจ้าหลุยส์ ฟิลลิปป์ เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส) ฉันต้องวิ่งมุดหลังฉาก เข้าออกประตูคนแคระเป็นว่าเล่นจนตัวมอมแมม หรือต้องเข้าไปดาวน์โหลดข้อมูลผู้ชมใส่ไดรฟ์ทุกอาทิตย์ที่พิพิธภัณฑ์รถม้า แต่ที่นี่ฉันชอบมาก เพราะเวลาเดินเข้าไปเหมือนหลุดเข้าไปในการ์ตูนดิสนีย์

พระราชวังแวร์ซายส์

แน่นอนว่าการได้เป็นนักศึกษาฝึกงานที่นี่ นอกจากจะได้เดินในลอดอุโมงค์ใต้ดินไปเที่ยวพระราชวังได้แล้ว (ถ้าว่างนะ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ค่อยว่าง) ยังได้เข้าไปซอกแซกดูส่วนที่เขาไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมฟรี อย่าเพิ่งอิจฉา จริงๆ แล้วทุกคนเข้าไปดูบางส่วนที่ไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าได้ ที่พระราชวังแวร์ซายส์จะมีการนำชมทุกวันวันละหลายรอบทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ แต่คนทั่วไปต้องเสียเงินเพิ่มจากค่าบัตร 7 ยูโร ซึ่งการนำชมนี้จะมีหลากหลายธีม เช่น พระราชวังแวร์ซายส์ในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 จนถึงปัจจุบัน, สถานที่ลับๆ ในแวร์ซาย และห้องของเหล่าพระสนมในแวร์ซายส์ เป็นต้น

เจ้าหน้าที่นำชมแต่ละคนจะถือกุญแจโบราณขนาดใหญ่ไขเข้าไปห้องต่างๆ ซึ่งเส้นทางจะไม่เหมือนกันแม้จะมีธีมเดียวกันก็ตาม เช่น ธีมสถานที่ที่ลับๆ ในพระราชวัง เจ้าหน้าที่นำชมบางคนพาเข้าไปดูมุมลับใน Chapel ที่พระสนมของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ใช้ฟังสวดพร้อมพระเจ้าหลุยส์ แต่บางคนอาจพาไปดูห้องคนใช้ของพระสนมที่มีหน้าต่างบานเล็กๆ หลบอยู่ตรงซอกระหว่างห้อง

พระราชวังแวร์ซายส์
พระราชวังแวร์ซายส์

ไม่ว่าจะเป็นห้องเล่นเกม ห้องพักส่วนตัวของเหล่าพระสนม ห้องสมุด ห้องทดลองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 หรือโรงละครก็ล้วนสวยงามไม่แพ้ห้องใหญ่ตามเส้นทางหลักข้างนอกเลย เผลอๆ บางห้องสวยกว่าข้างนอกด้วยซ้ำ แต่ทัวร์นี้ต้องจองล่วงหน้า เพราะเขาจำกัดจำนวนคนแต่ละรอบ เพื่อความสะดวกในการดูแล จุดเด่นของการเดินชมแบบมีคนนำเที่ยวคือถามคำถามได้ และทำให้ฉันรู้ว่าเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่จัดแสดงในห้องบางห้องนั้นไม่ใช้เฟอร์นิเจอร์เดิม แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ร่วมสมัยที่ได้บริจาคมา เพราะของออริจินัลนั้นส่วนใหญ่ถูกขายตลอดช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส ทางพระราชวังแวร์ซายส์ซื้อกลับคืนมาได้เพียงส่วนนึงเท่านั้น เพราะมันแพง บางห้องเข้าไปจึงเป็นแค่ห้องโล่งๆ ข้อดีอีกอย่างที่สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวคือการได้เข้าชมพระราชวังโดยไม่ต้องต่อคิว เพราะหลังจากจบการนำชมเขาจะปล่อยให้เราเดินชมตามอัธยาศัย

พระราชวังแวร์ซายส์

หลายคนมาเที่ยวพระราชวังแวร์ซายส์แล้วก็กลับ บางครั้งไม่ได้เหยียบแม้กระทั่งสวนเพราะหมดแรงตั้งแต่ต่อแถวแล้ว เข้าใจได้ แต่จริงๆ แล้วแวร์ซายส์เป็นเมืองผู้ดี มาดามเจ้าของห้องเช่าที่ฉันอยู่ที่ปารีสเล่าให้ฟังว่าเขาเคยมาอยู่และเรียนที่แวร์ซายส์ช่วงนึง เมืองนี้เป็นเมืองที่ยังมีลูกหลานของขุนนางในสมัยพระเจ้าหลุยส์อยู่ ตอนนั้นฟังแล้วขนลุกมาก เพราะหน้าเพื่อนฝึกงานคนนึงที่มาจากเมืองแวร์ซายส์เหมือนเจ้าหญิงหรือลูกหลานขุนนางที่เราเห็นในภาพวาดเลย

ถ้ามาเที่ยวแล้วมีเวลาเหลือก็ควรแวะเที่ยวในเมืองหรือรอบๆ พระราชวัง มีร้านอาหาร ตลาด และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอื่นๆ ใกล้เขตพระราชวัง เช่น Potager du roi-สวนผักสวนครัวของกษัตริย์, Salle du Jeu de Paume-สถานที่เริ่มต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส และที่ฉันชอบที่สุดคือ Le Cour et Le Jardin des Senteurs สวนเล็กๆ ด้านหลังตึกที่ทำงานที่จัดแสดงเรื่องกลิ่นดอกไม้ในน้ำหอม และเป็นจุดทานข้าวเที่ยงของฉันกับเพื่อนๆ ในวันที่อากาศดี

พระราชวังแวร์ซายส์
พระราชวังแวร์ซายส์

quote นึงที่ฉันชอบมากคือ “พิพิธภัณฑ์ที่ปราศจากผู้เข้าชม ก็ไม่ควรค่ากับชื่อพิพิธภัณฑ์” (Un musée sans visiteur n’est pas un musée digne de ce nom. – Noémie Drouguet) หลังจากเล่ามาหลายย่อหน้า หวังว่าจะได้เห็นพระราชวังแวร์ซายส์ในอีกมุมมองหนึ่งที่ไม่ใช่จากนักท่องเที่ยวหรือไกด์ทัวร์ แต่เป็นคนในที่ทำงานอยู่ในนั้น และเห็นลักษณะการทำงานของพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ แม้ว่าการจัดแสดงงานและการดูแลรักษาวัตถุจะเป็นภารกิจที่สำคัญ แต่ที่นี่เราก็ใส่ใจผู้เข้าชมทุกคน ทุกช่วงวัย ทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้ที่มาเข้าชมสามารถได้รับข้อความที่พิพิธภัณฑ์อยากจะถ่ายทอดมากที่สุด พึงพอใจ และอยากกลับมาเยี่ยมอีกครั้ง

ปิดท้ายด้วยทิปสั้นๆ ก่อนจบ สำหรับคนที่จะไปเที่ยว

ไปวันไหนดี

เรียงจากความพีก อังคาร เสาร์-อาทิตย์ พุธ ศุกร์ พฤหัสบดี และหลีกเลี่ยงช่วงวันหยุดของคนฝรั่งเศส นอกจากนี้ในเว็บไซต์มีสถิติความแน่นให้ดูด้วย (ข้อมูลก็จากฝ่ายฉันนั่นเอง)

เวลาไหนดี

ก่อน 10 โมงเช้า ถ้าให้ดีมาก่อนเวลาเปิดสักนิด หรือ หลังบ่ายสองไปเลย ช่วง 11 โมงถึงเที่ยงนี่โปรดหลีกเลี่ยง เราเตือนท่านแล้วนะ

ไม่อยากเข้าคิวนานๆ ทำยังไง

Option 1: ซื้อตั๋วออนไลน์ หลีกเลี่ยงการเข้าคิว 2 รอบ แต่ถ้า security check ยาวจริงๆ แนะนำให้คนนึงไปซื้อตั๋ว อีกคนยืนเข้าคิว

Option 2: ซื้อตั๋วเที่ยวแบบนำชมเพิ่ม เพราะนอกจากจะไม่ต้องต่อคิวแล้ว ยังสามารถเข้าไปนั่งพักชิลล์ๆ ระหว่างรอการนำชมเริ่ม และหลังจากการนำชมจบ เราสามารถเดินตามอัธยาศัยภายในพระราชวังได้ (คิวนี่โหดจริงๆ  ปีที่แล้วช่วง high season วันอังคารหนึ่ง จับเวลาได้ 2 ชั่วโมงกว่าๆ แต่บทจะไม่มีคิวก็ไม่มีเลยจริงๆ )

เดินทางไปยังไง

Option 1: สาย RER C มาลงสถานี Versailles Château Rive Gauche (ประมาณ 45 นาทีจากสถานี Saint Michel) เดินต่อประมาณ 10 นาที

Option 2: สาย L จาก จากสถานี Saint Lazarre มาลงสถานี Versailles Rives Droite (ประมาณ 30 นาที) เดินต่อประมาณ 20 นาที

Option 3: สาย U จากสถานี La Défense มาลงสถานี Versailles Chantier (ประมาณ 25 นาที) เดินต่อประมาณ 20 นาที

และ Option 4 สาย N จากสถานี Gare Montparnasse มาลงสถานี Versailles Chantier (ประมาณ 30 นาที สำหรับ รถไฟปกติ และ 10 นาทีสำหรับรถไฟ direct) เดินต่อประมาณ 20 นาที เช่นกัน

เดินสวนแบบไม่เสียงินในช่วง Hi-season

สวนจะคิดค่าเข้าชมวันอังคาร ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เนื่องจากมีการเปิดน้ำพุและดนตรี (ยกเว้นวันศุกร์เปิดแต่น้ำพุ) แต่ถ้าใครอยากเสียเงินดูสวนแบบเจ๋งๆ แนะนำตอนเย็น มันว้าวมากจริงๆ

กินข้าวที่ไหนดี

ตรงพระราชวังมีร้านขายแซนด์วิช (แอบแพงและไม่อร่อย ร้านนี้ไม่แนะนำเลย) และร้านอาหาร Ore กับ Angelina (อร่อยแต่แพงนิดนึง) และร้านอาหารในสวนหรือรถเข็นขายมันฝรั่งอบหน้า Trianon (อร่อยและอิ่มท้องดีมาก) ถ้าใครอยากลองทานขนมร้าน Angelina ทานที่แวร์ซายส์ก็ได้ มีร้านอาหาร 2 ที่ (พระราชวังและ Petit Trianon) และเคาน์เตอร์อีกที่ตรงทางเข้าสวนเลย นอกจากนี้ในเมืองก็มีร้านอาหารและร้านขนมปังที่ขายแซนด์วิชอร่อยๆ ทั้งสองย่านเลย เขียนไปเขียนมาแล้วคิดถึง

สุดท้ายนี้ติดตามข่าวสาร สอบถามข้อมูลของ Château de Versailles ได้ทั้งทางเว็บไซต์ en.chateauversailles.fr/ และ www.chateauversailles-spectacles.fr สำหรับการแสดง หรือติดตาม Social Media ต่างๆ ของพระราชวัง

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

อาจรีย์ จุลาสัย

แพร อายุ 25 ปี ชื่นชอบวัฒนธรรมไทยและการเดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ความชอบตรงนี้เลยเป็นแรงบันดาลใจให้แพรไปเรียนปริญญาโทด้านการจัดการวัฒนธรรมที่ฝรั่งเศส ประเทศที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเมืองหลวงทางวัฒนธรรมของโลก เพื่อนำความรู้กลับประยุกต์ใช้กับวัฒนธรรมไทย :)