อาคารสไตล์ยุโรปท่ามกลางกลุ่มแมกไม้ วาดด้วยสีน้ำสวยงามละเอียดอ่อน ใส่กรอบแขวนอยู่ตรงหน้าฉัน

“นี่คือวิลล่าวัฒนา เป็นพระตำหนักที่ครอบครัวราชสกุลมหิดลเสด็จฯ ย้ายมาประทับหลังจากรัชกาลที่แปดเสด็จขึ้นครองราชย์” เสียงของ สุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ ดังขึ้นแทรกเสียงพูดคุยจอแจของนักช้อปชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวจีนรอบกาย ข้อมูลที่เขาบอกช่วยขับเสริมให้ภาพวาดที่ทรงเสน่ห์อยู่แล้วดูมีมนตร์ขลังมากขึ้นไปอีก

หลังจากพูดคุยเกี่ยวกับภาพนี้เสร็จแล้ว เราก็ขยับไปดูภาพอื่นในนิทรรศการกลางห้างสรรพสินค้าแห่งนั้นต่อ ภาพที่จัดแสดงล้วนแล้วแต่เป็นภาพวาดสีน้ำและภาพวาดลายเส้นของ อ.เกริกบุระ ยมนาค นำเสนอทิวทัศน์ในมุมต่างๆ ของเมืองแห่งหนึ่งในยุโรป สลับกับพระบรมฉายาลักษณ์ของมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง แต่ละภาพต่างก็มีความเป็นมาอันเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยกว่าที่ตามองเห็นมากมายนัก

การเดินทางไปยังเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ของสุพจน์และ อ.เกริกบุระ มีเป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูล ก่อนจะนำมารวบรวมเรียบเรียงเป็นหนังสือภาพ ๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ – Notre Roi หนังสือภาพวาดสีน้ำที่บอกเล่าพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านมุมต่างๆ ของเมืองที่พระองค์ทรงเจริญวัยขึ้นมาจนทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างที่คนไทยรู้จัก

เมื่อถามถึงที่มาที่ไปของการเดินทางในครั้งนี้ สุพจน์บอกว่า แม้เขาจะเคยไปโลซานน์มาแล้วหลายครั้ง โดยครั้งแรกที่ไปคือไปเรียนวิชาการโรงแรมและการท่องเที่ยวเมื่อ ค.ศ. 1991 แต่ครั้งนี้เขาไปด้วยเหตุผลของการตามรอยพระบาทรัชกาลที่ 9 เพราะครอบครัวราชสกุลมหิดลที่ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ เกือบ 2 ทศวรรษ อีกทั้งทรงเจริญพระชนม์และทรงศึกษาตั้งแต่ประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ที่เมืองแห่งนี้

“หากจะกล่าวถึงพระราชประวัติหรือพระปรีชาสามารถของพระองค์ ก็คงจะมองข้ามเมืองโลซานน์ไปไม่ได้ ด้วยเป็นสถานที่ที่ทรงประทับเป็นเวลาถึง 18 ปี สำหรับผมแล้ว เมืองโลซานน์ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญหน้าหนึ่งของเมืองไทยเลยก็ว่าได้”

สุพจน์อธิบายต่อไปว่า สาเหตุที่ครอบครัวราชสกุลมหิดลเสด็จฯ ไปยังสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องมาจากในตอนที่สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จฯ กลับประเทศไทยเพื่อร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 6 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 7 สมเด็จพระบรมราชชนนีซึ่งประทับอยู่ที่ปารีสมีพระประสงค์จะนำพระโอรสธิดาคือ หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา และหม่อมเจ้าอานันทมหิดล ไปฝากไว้ที่บ้านเลี้ยงเด็กฌองป์ โซเลย์ (Champ Soleil) ในเมืองโลซานน์ จึงคุ้นเคยกับสวิตเซอร์แลนด์อยู่แล้วเป็นทุนเดิม นอกจากนั้น สวิตเซอร์แลนด์ก็อากาศดี จะช่วยเรื่องพระอาการภูมิแพ้อากาศของรัชกาลที่ 8 ได้ ทั้งยังเป็นประเทศที่เป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอีกด้วย

โดยพื้นฐานแล้ว การเรียนการสอนของสวิตเซอร์แลนด์แตกต่างจากไทยอยู่ไม่น้อย คือจะเน้นการปฏิบัติจริงเป็นหลัก เห็นได้จากที่นักเรียนสวิสกว่า 60 – 70 เปอร์เซ็นต์ เลือกเรียนสายอาชีวะมากกว่าจะมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย

ที่โรงเรียนเอกอลล์ นูแวลล์ เดอ ลา สวิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de la Suisse Romande) โรงเรียนประถมซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงเข้าศึกษาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ เน้นการปลูกฝังทักษะต่างๆ โดยเฉพาะในด้านงานช่างไม้และงานเกษตร โรงเรียนมีนโยบายให้นักเรียนทุกคนต้องรับผิดชอบแปลงผักคนละ 1 แปลงตลอดช่วงที่ศึกษาอยู่ “ที่นี่น่าจะเป็นแปลงเกษตรแปลงแรกในชีวิตพระองค์ท่านเลยก็ว่าได้” สุพจน์ตั้งข้อสังเกต และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้โรงเรียนก็ยังสอนด้วยระบบเช่นนี้อยู่เหมือนเดิม

ไม่เพียงแค่การศึกษา แต่ตัวเมืองเองก็ช่วยหล่อหลอมพระองค์เช่นกัน สุพจน์บอกกับฉันว่า หลายคนเรียกชาวสวิสว่าเป็นชาวเขา เพราะภูมิประเทศเกินครึ่งเป็นเนินเขา บ้านเรือนมักจะตั้งอยู่ตามไหล่เขา อากาศช่วงฤดูหนาวมักจะหนาวเย็นกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้ชาวสวิสมีความอดทน ขยันขันแข็ง เมืองโลซานน์เองก็มีลักษณะเช่นนั้น รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงเจริญวัยในเมืองเช่นนี้ ย่อมต้องได้รับคุณสมบัติเหล่านี้มาจากพวก (ภู) เขาเช่นกัน

เมื่อขณะประทับที่เมืองโลซานน์ สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงเลี้ยงดูพระโอรสธิดาเหมือนชาวสวิสทั่วไป คือทรงสอนให้รู้จักช่วยงานบ้าน รู้จักประหยัดอดออม อีกประการหนึ่ง ประเทศสวิตเซอร์เเลนด์เป็นประเทศที่ไม่เคยถูกปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ทำให้ชาวสวิสปฏิบัติต่อพระองค์ดั่งบุคคลทั่วไป ที่ชาวเมืองเรียกกันว่า ‘เมอซิเออร์’ (เทียบเท่ากับ มิสเตอร์ ในภาษาอังกฤษ)

บุคคลพิเศษคนหนึ่งที่สุพจน์ได้พบในการเดินทางไปโลซานน์ครั้งนี้คือ มาดามโรส-มารี แบร์เชร์ (Rose-Marie Berger) อดีตเพื่อนบ้านของครอบครัวราชสกุลมหิดลสมัยที่ประทับอยู่ในวิลล่า และปัจจุบันอาศัยอยู่ที่แฟลตหมายเลข 16 ซึ่งเป็นบ้านหลังแรกในเมืองโลซานน์ของครอบครัวราชสกุลมหิดล เมื่อมาถึงเรื่องนี้ สุพจน์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นและใช้คำว่า ‘โชคดี’ ที่ได้มีโอกาสเจอกับมาดามแบร์เชร์ด้วยความบังเอิญ

เมื่อกันยายนปี 2559 ก่อนรัชกาลที่ 9 จะสวรรคตประมาณเดือนกว่า สมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส และทางการเมืองโลซานน์ จัดงานฉลอง 70 ปีครองราชย์ ถวายพระเกียรติรัชกาลที่ 9

สุพจน์ซึ่งเป็นกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสมาคมนักเรียนเก่าสวิสส์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เดินทางมายังเมืองโลซานน์ และพาท่านทูตรวมถึงผู้ร่วมงานไปดูแฟลตหมายเลข 16 แห่งนี้ แล้วบังเอิญว่าเมโมรี่การ์ดกล้องถ่ายรูปของสุพจน์เต็ม ประจวบเหมาะกับที่ร้านถ่ายรูปเก่าแก่ตรงข้ามแฟลต (ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงเคยมาใช้บริการ) ยังเปิดอยู่ เขาจึงเข้าไปซื้อที่ร้านและได้พบมาดามเจ้าของร้าน นามว่า อะเตอลิเยร์ เดอ ยอง (Atelier de Jong) ซึ่งบังเอิญสนิทกับมาดามแบร์เชร์ เมื่อมาดามเจ้าของร้านทราบว่าพวกเขาคือกลุ่มคนไทย จึงเสนอตัวจะติดต่อกับมาดามแบร์เชร์ให้

การพูดคุยสนทนากันในวันนั้นทำให้ทราบว่าครอบครัวแบร์เชร์เคยใกล้ชิดกับครอบครัวราชสกุลมหิดล สามีของมาดามแบร์เชร์ เรเน่ แบร์เชร์ (René Berger) อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมืองโลซานน์และอดีตอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโลซานน์ เคยได้มีโอกาสถวายการสอนภาษาฝรั่งเศสให้สมเด็จพระบรมราชชนนี ในขณะที่ลูกชายของทั้งคู่ก็เป็นนักสะสมงานศิลปะ ส่วนมาดามเองก็เป็นศิลปิน และเคยวาดพระบรมสาทิสลักษณ์ถวายรัชกาลที่ 9 อยู่บ้าง ในปัจจุบัน มาดามแบร์เชร์อายุ 95 ปี อาศัยอยู่คนเดียวในแฟลตแห่งเดิม หลังจากสามีและลูกชายเสียชีวิตไปแล้ว

“ครั้งนี้ที่กลับไปกับ อ.เกริกบุระ เราก็คิดว่าจะติดต่อมาดามเดอ ยอง เจ้าของร้านถ่ายรูปให้ติดต่อมาดามแบร์เชร์ให้ ปรากฏว่าตอนนี้มาดามแบร์เชร์อยู่โรงพยาบาล เราก็ไม่อยากรบกวน แต่มาดามเดอ ยอง ก็บอกว่าแกไปเยี่ยมทุกวันอาทิตย์อยู่แล้ว เดี๋ยวจะโทรไปขออนุญาตมาดามไว้ให้ก่อน แล้วค่อยไปด้วยกัน

“โรงพยาบาลเป็นบ้านคล้ายๆ บ้านพักคนชรา หรูหรา สะอาดสะอ้าน เป็นห้องเดี่ยวอยู่สบาย เมื่อเราเข้าไปเจอมาดาม แกก็ดีใจที่มีคนมาเยี่ยม และได้สนทนาทักทายกันสักครู่หนึ่ง”

“ก่อนกลับเราขออนุญาตเข้าไปชมห้องพักในอพาร์ตเมนต์เลขที่ 16 ถนนติโชต์ ของแก ซึ่งเป็นที่ที่ครอบครัวราชสกุลมหิดลเคยประทับ มาดามเดอ ยอง ก็ลองถามมาดามแบร์เชร์ว่าจะขอพาพวกเราเข้าไปดูแฟลตของมาดามได้มั้ย แกก็บอกว่า ได้ เอาสิ ให้กุญแจมาด้วย เป็นครั้งแรกที่เราได้เข้าไปในแฟลตที่รัชกาลที่เก้าเคยประทับ แม้พระองค์จะเคยประทับอีกห้องหนึ่งก็ตาม

“ถึงที่นั่นจะเรียกแฟลต แต่ก็ไม่ได้ทรุดโทรมเหมือนบ้านเรา ห้องใหญ่มาก มีประมาณสองถึงสามห้องนอน สไตล์การตกแต่งหรูหรา พื้นเป็นไม้ แล้วที่เราชอบมาก คือแฟลตนั้นเต็มไปด้วยงานศิลปะ มีทั้งรูปปั้น รูปวาด กองระเกะระกะอยู่ เราก็ถามมาดามเดอ ยอง ว่าถ้าเกิดมาดามแบร์เชร์เสียชีวิตไป ของพวกนี้จะไปอยู่ที่ไหน แกก็บอกว่าก็คงยกให้ทางการเมืองโลซานน์ไปไว้ในพิพิธภัณฑ์”

แฟลตหมายเลข 16 ทำหน้าที่เป็นที่ประทับของครอบครัวราชสกุลมหิดลประมาณ 2 ปี กระทั่งรัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ส่งผลให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ทรงเสด็จขึ้นครองราชย์ฯ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8

ในตอนนั้น รัฐบาลไทยถวายเงินเพื่อให้ทุกพระองค์เสด็จฯ ย้ายไปอยู่บ้านที่สมพระเกียรติมากขึ้น ครอบครัวราชสกุลมหิดลจึงทรงได้ที่ประทับใหม่นาม ‘วิลล่าวัฒนา’ โดยเช่าบ้านหลังนี้เรื่อยมา แม้เจ้าของเสนอที่จะขายให้ แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีไม่ต้องพระประสงค์ที่จะรบกวนเงินใคร โดยทรงให้เหตุผลว่ามีเงินไม่พอ และทรงขอเช่าแทน แสดงให้เห็นถึงความสมถะของครอบครัวมหิดล น่าเสียดายที่เมื่อครอบครัวเสด็จฯ ย้ายออก เจ้าของก็ขายต่อให้ลูกค้าคนอื่น ในปัจจุบัน วิลล่าแห่งนี้ได้ถูกทุบทิ้งไปเสียแล้ว

สุพจน์บอกว่า ในขณะประทับอยู่ที่วิลล่าวัฒนานั้นสมเด็จพระบรมราชชนนีพระราชทานเลี้ยงอาหารชาวไทยที่อาศัยในเมืองโลซานน์และเมืองใกล้เคียงเป็นประจำทุกอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ชาวไทยจะได้เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด

นอกจากกลางเมืองโลซานน์แล้ว เมื่อนั่งรถไฟออกไป 15 นาทีก็จะพบหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับรัชกาลที่ 9 อีกแห่งหนึ่ง นั่นคือหมู่บ้านปุยดูซ์ (Puidoux) ซึ่งรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาประทับเป็นที่พักและศูนย์บัญชาการระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2503 ปุยดูซ์เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กๆ ที่มีประชากรแค่ 1,500 คน

ปุยดูซ์ตั้งอยู่ในลาโวซ์ (Lavaux) ผืนไร่องุ่นอุดมสมบูรณ์และงดงามซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก ตัวไร่แผ่กว้างสุดลูกหูลูกตาลงไปจรดริมทะเลสาบเจนีวา สุพจน์สันนิษฐานว่า การที่พระองค์เลือกที่จะมาประทับที่นี่ ก็เพราะทรงผูกพันกับเมืองเล็กๆ ชานเมืองโลซานน์ อีกทั้งบรรยากาศอันสงบ อากาศดี และงดงาม เหมาะแก่การพักผ่อน

ในครั้งนั้น รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง พร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดา ทรงเลือกเช่า ‘วิลล่าฟลองซาเลย์’ (Villa Flonzaley) ที่ปุยดูซ์ตลอดช่วง 6 เดือนในยุโรป

“แทนที่จะเลือกอยู่กลางเมืองปารีสหรือโรงแรมห้าดาวกลางกรุงลอนดอน กลับทรงเลือกสวิตเซอร์แลนด์ เราคิดว่าเป็นการแสดงให้เห็นความผูกพันของพระองค์กับประเทศสวิตเซอร์เเลนด์อย่างลึกซึ้ง แม้แต่ตอนมาทรงงาน ก็ยังทรงเห็นที่นี่เปรียบเสมือนบ้าน”

เมื่อสุพจน์และ อ.เกริกบุระ ไปปุยดูซ์ ก็ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของศาลาประชาคมเมือง ซึ่งพาพวกเขาเข้าไปดูศาลาประชาคมของหมู่บ้านที่เคยเป็นสถานที่ถวายการต้อนรับรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง สุพจน์เล่าให้ฟังว่า “ห้องรับรองมีขนาดกะทัดรัด พร้อมเวทีเล็กๆ สำหรับการแสดง เหมือนภาพถ่ายที่เราเคยเห็นเมื่อครั้งทั้งสองพระองค์เสด็จฯ มา เพียงแต่หน้าตาทันสมัยขึ้น”

เจ้าหน้าที่หมู่บ้านปุยดูซ์ก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนที่รู้จักพระองค์น่าจะเสียชีวิตไปเกือบหมดแล้ว แต่ยังมีนายสถานีรถไฟปุยดูซ์ แชซบร์ นามว่า ดาเนียล โชแบร์ต (Daniel Chaubert) ซึ่งเคยรับเสด็จเมื่อครั้งทรงเสด็จฯ โดยรถไฟพระที่นั่งมาลงที่สถานีรถไฟแห่งนี้

“เราเลยขอวิธีติดต่อ เขาก็ไปเปิดทะเบียนในคอมพิวเตอร์แล้วพรินต์ออกมาเป็นหน้า มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ทุกอย่างเลย เราก็โทรไปแนะนำตัวว่ามาจากเมืองไทย และอยากคุยด้วย แกดีใจมาก บอกว่าให้เรานั่งรถไฟจากโรงแรมของเราที่โลซานน์เวลานี้ ขบวนนี้ แล้วแกจะรออยู่ที่สถานี เหมือนว่าแกทำงานมาทั้งชีวิต เลยจำตารางรถไฟได้ขึ้นใจ 

“เราก็ตื่นแต่เช้าขึ้นรถไฟมา พอถึงสถานีปุยดูซ์เงียบมาก ไม่มีคนเลย เราเห็นแกนั่งใส่หมวกแดงอยู่คนเดียว ก็รู้ได้ทันทีว่าเขาคือ แดเนียล โชแบร์ต ผู้ที่เรานัดหมายในวันนี้ พอเข้าไปคุย แกบอกว่าพยายามจะใส่ชุดยูนิฟอร์มเหมือนที่เคยรับเสด็จ แต่ด้วยความอ้วนทำให้ใส่ไม่ได้แล้ว แกเลยเอาแค่หมวกแดงกับป้ายติดเสื้อมาให้ดู”

จากนั้น โชแบร์ตได้เล่าถึงความหลังกับประสบการณ์อันแสนประทับใจของเขาให้สุพจน์ฟังว่า รถไฟพระที่นั่งของพระองค์ออกจากโลซานน์เข้าเทียบชานชาลาที่ 2 เหมือนกับที่สุพจน์เดินทางมาในวันนี้ และเพื่อไม่ให้ทั้งสองพระองค์ต้องเสด็จฯ ลอดทางเดินใต้ดินเพื่อมาประทับรถยนต์พระที่นั่ง เขาจึงบอกไปที่พนักงานขับรถไฟพระที่นั่งว่าให้ขับเลยสถานีไปก่อน จากนั้นเขาจึงสับราง แล้วจึงให้รถไฟย้อนกลับมาเข้าชานชาลาที่ 1 อีกทั้งยังต้องกะให้ประตูทางเสด็จลงตรงกับลาดพระบาทที่เขาเตรียมไว้ 

เมื่อฉันถามสุพจน์ว่า หลังจากไปโลซานน์มาหลายครั้ง การตามรอยพ่อหลวงในครั้งล่าสุดนี้เป็นอย่างไร เขาตอบในทันทีว่า ครั้งนี้มองโลซานน์ต่างไปอย่างสิ้นเชิง “ก่อนหน้านี้ เวลาเราเดินผ่านอาคารหรือตึกอะไรที่เกี่ยวกับในหลวง เราก็แค่รู้ว่าเป็นสถานที่ที่เคยประทับตามที่เคยได้อ่านในหนังสือมาเท่านั้น แต่การไปทำหนังสือครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่เดินทางไปหลังจากพระองค์สวรรคต ความรู้สึกมันเปลี่ยนไปเลย แล้วเรารู้สึกว่าเรามองสถานที่เหล่านั้นอย่างเห็นคุณค่าและควรค่าแห่งการจดจำ”

หลังจากฟังเรื่องราวของสุพจน์ ฉันเดินกลับไปดูภาพวาดฝีมือ อ.เกริกบุระ ที่จัดแสดงอยู่อีกครั้ง โดยผิวเผินแล้ว แต่ละภาพก็เป็นเพียงแค่ตึกรามบ้านช่องธรรมดาในเมืองยุโรปแห่งหนึ่ง แต่เมื่อประกอบด้วยเรื่องราว กลับทำให้กลายเป็นเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะสถานที่สะท้อนพระราชจริยวัตรอันงดงามของพระมหากษัตริย์แห่งชาติสยาม

ภาพ : ธนบูรณ์ เกิดพาณิช, เกริกบุระ ยมนาค

นิทรรศการภาพวาดสีน้ำรูปโลซานน์จัดแสดงที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตลอดเดือนตุลาคม ปี 2560 อ่านรายละเอียดหนังสือภาพเพิ่มเติมได้ที่ ๙ เหนือเกล้า จากโลซานน์ถึงลานพระเมรุมาศ – Notre Roi

 

 

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ