ถ้าหากพูดถึงช็อกโกแลตยอดฮิตคิทแคท (KITKAT) หลายคนคงนึกถึงญี่ปุ่นก่อนเป็นอันดับแรก เนื่องจากคิทแคทเป็นหนึ่งในของฝากยอตฮิตของคนไทยที่เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่น คิทแคทที่ญี่ปุ่นมีตั้งแต่รสที่เป็นที่นิยม เช่น ชาเขียว สตรอว์เบอร์รี่ ไปจนถึงรสที่ดูประหลาดๆ เช่น รสซีอิ๊ว รสมันฝรั่ง และรสสาเก เป็นเรื่องจริงที่ญี่ปุ่นเป็นที่หนึ่งในประเทศที่มีรสคิทแคทหลากหลายมากที่สุดในโลก แต่ถ้าถามถึงต้นกำเนิดของขนมเวเฟอร์ช็อกโกแลตนี้ อาจจะมีน้อยคนที่เดาถูกว่าแท้จริงแล้วคิทแคทถือกำเนิดในเมือง York (ยอร์ก) สหราชอาณาจักร และในปี 2017 นี้ คิทแคทมีอายุร่วม 97 ปีแล้ว

การเดินทางครั้งนี้เราไม่ได้ตั้งใจไปเพื่อตามรอยคิทแคท แต่บังเอิญไปได้ความรู้เกี่ยวกับช็อกโกแลตมาพอสมควร เรื่องมีอยู่ว่าเราต้องการเดินทางไปธุระที่ Newcastle (นิวคาสเซิล) แต่ด้วยความสนใจอยากไปเห็นยอร์กด้วยตาตัวเอง จากคำร่ำลือของเพื่อนๆ ว่าเป็นเมืองที่สวยมาก เราจึงตัดสินใจแวะที่ยอร์ก แม้จะมีเวลาที่เมืองนี้แค่คืนเดียว

ยอร์กอาจเป็นที่รู้จักของคนไทยที่สนใจไปเรียนต่อสหาราชอาณาจักร เนื่องจาก University of York เป็นมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่ายอร์กเป็นหนึ่งในหัวเมืองการค้าที่สำคัญของอาณาจักร Northumbria (นอร์ธอัมเบรีย) ในยุคกลาง ซึ่งเป็นอาณาจักรทางเหนือของอังกฤษ เป็นที่ตั้งถิ่นฐานสำคัญของ Vikings ที่เข้ามาในหมู่เกาะ Great Britain ช่วงศตวรรษที่ 9 – 11 และยังเป็นเมืองสำคัญในช่วงที่ราชวงศ์ York (House of York) ปกครองอังกฤษอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ที่เราประทับใจที่สุดคือ York Castle Museum ซึ่งไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับปราสาท แต่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในหลายๆ ธีม เช่น ช็อกโกแลต ของเล่น แฟชั่น เมืองยอร์กในสมัยวิกตอเรียน สงครามโลกครั้งที่ 1 ไปจนถึงประวัติศาสตร์ยุค 60 สาเหตุที่พิพิธภัณฑ์ได้ชื่อนี้มาเพราะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เคยมีปราสาทอยู่เดิม ซึ่งต่อมาผุพังไปตามกาลเวลาและถูกเปลี่ยนเป็นคุก และกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ในที่สุด

สาเหตุหลักที่เราสนใจนิทรรศการประวัติศาสตร์ช็อกโกแลต (Chocolate: York’s Sweet Past) ในพิพิธภัณฑ์นี้มากเป็นพิเศษ เพราะช็อกโกแลตเป็นอุตสาหกรรมหลักที่อาจเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดของยอร์กในอดีต และด้วยเหตุผลส่วนตัว เพราะช็อกโกแลตทำให้เราย้อนนึกถึงวัยเด็ก และการได้มาค้นพบต้นกำเนิดของขนมที่ชอบกินตอนเด็กๆ (และตอนนี้) ก็ทำให้วัยเด็กของเราดูมีอะไรขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก

หลายๆ คนอาจจะคุ้นเคยกับหนังสือของ Roald Dahl เรื่อง Charlie and the Chocolate Factory ที่เป็นหนัง Hollywood และละครเวทีด้วย รู้หรือไม่ว่าผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือมาจากวัยเด็กที่ผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ๆ จะส่งช็อกโกแลตไปให้เด็กๆ ชิมตามโรงเรียน และธุรกิจช็อกโกแลตในขณะนั้นก็มีการแข่งขันสูงมาก โดยในบรรดาผู้ผลิตรายยักษ์ก็คือ Rowntree’s ซึ่งมีต้นกำเนิดในยอร์ก (ปัจจุบันถูกซื้อไปโดย Nestlé) ผู้ผลิตคิทแคท กับสมาร์ตี้ (Smarties) ขนมที่ตอนเด็กๆ เราชอบสับสนกับ M&M และ Cadbury’s ที่กำเนิดใน Birmingham (ปัจจุบันเป็นของบริษัทอเมริกัน Mondelez International หรือ Kraft Foods)

สองบริษัทนี้แข่งขันกันสูงมาก และว่ากันว่ามีการส่งสปายเพื่อไปแอบดูสูตรการผลิตช็อกโกแลตของอีกฝ่าย ในปัจจุบันเราอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อ Rowntree’s แต่ Cadbury’s (ปัจจุบันคือ Cadbury) ยังคงเป็นผู้ผลิตช็อกโกแลตที่มีชื่อเสียงมากในสหราชอาณาจักรและมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญคือช็อกโกแลตรูปไข่ที่คนชอบซื้อช่วงวัน Easter

ถ้าหากใครเคยอ่านหนังสือของ Roald Dahl จะพบว่าเด็กจนๆ อย่าง Charlie ไม่สามารถซื้อช็อกโกแลตได้เนื่องจากเป็นของกินฟุ่มเฟือย แม้ว่าในช่วงที่ Dahl ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ช็อกโกแลตจะเป็นสินค้าที่คนสามารถซื้อหาได้อย่างค่อนข้างแพร่หลาย แต่ในประวัติศาสตร์ช่วงก่อนศตวรรษที่ 19 มีเพียงแต่คนรวยเท่านั้นที่จะได้ลิ้มลองช็อกโกแลต เนื่องจากวัตถุดิบและวิธีการผลิตมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะน้ำตาลซึ่งเป็นของหายากในอังกฤษ แม้กระทั่งช่วงต้นศตวรรษที่ 19 คนอังกฤษยังใช้น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวาน แต่น้ำผึ้งเองก็มีมูลค่ามากจนกระทั่งสามารถเอาไปใช้จ่ายค่าเช่าบ้านหรือจ่ายภาษีได้

ประวัติศาสตร์ของช็อกโกแลตก่อนศตวรรษที่ 20 จึงเป็นประวัติศาสตร์ของผู้มีอันจะกิน โดยคนมีเงินจะดื่มเครื่องดื่มโกโก้เพราะเชื่อว่าดีต่อสุขภาพ จนกระทั่งปี 1847 ถึงมีผู้ผลิตช็อกโกแลตแบบกินได้ และปี 1868 เริ่มมีช็อกโกแลตแบบกล่อง ในช่วงปี 1920 ช็อกโกแลตบรรจุกล่องผ้าไหมที่ตกแต่งระบายสีด้วยมือเป็นที่นิยมมากในฐานะของขวัญของคนรวย ช็อกโกแลตกล่องของ Rowntree’s มีมูลค่ามากถึง 100 ชิลลิ่ง หรือเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันนั้นมีราคาถึง 250 ปอนด์!

ต้นกำเนิดของคิทแคทเองก็มาจากการเป็นช็อกโกแลตบรรจุกล่องของ Rowntree’s ซึ่งถ้าดูจากกล่องตัวอย่างที่พิพิธภัณฑ์เรียกว่า Kit-Cat เริ่มขายในราวๆ ปี 1920 ก่อนที่ในปี 1935 จะมีพนักงานในบริษัทเสนอความคิดที่จะทำช็อกโกแลตเป็นแท่งติดกัน 4 แท่งเหมือนนิ้ว 4 นิ้ว (four-fingered) โดยเรียกว่า ‘Chocolate Crisp’ (ฟังดูเหมือนเป็น chocolate chip เวอร์ชันบริติช) เนื่องจากต้องการให้เป็นช็อกโกแลตขนาดกะทัดรัดที่พกไปกินตอนพักกลางวันได้ หลังจากนั้นในปี 1937 จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น KITKAT

หลายคนคงเคยได้ยินสโลแกน ‘คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท’ ซึ่งเราคิดว่าคนแปลเก่งมากๆ เพราะนอกจากจะดูคล้องจองและติดหูในภาษาไทยแล้ว ยังเป็นสโลแกนที่แปลมาแบบใกล้เคียงต้นฉบับภาษาอังกฤษมากๆ ซึ่งก็คือ ‘Have a Break’ ที่บริษัทเริ่มใช้ในปี 1957

หลังจากนั้นก็มีโฆษณาคิทแคทที่ใช้คำพูดประมาณนี้ เช่น ‘Give Yourself a Kit Kat, Give Yourself a Break’ หรือเพลงโฆษณาที่ร้องว่า “Give me a break, give me a break, break me off a piece of that Kit Kat bar!” ซึ่งเป็นเป็นสโลแกนภาษาอังกฤษที่เราคิดว่าเลือกมาดีมากๆ เพราะคำว่า break สามารถใช้หมายถึงการพักจากการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อมากินคิทแคท (เช่น พักกลางวัน ตามที่บริษัทตั้งใจไว้แต่แรก) ซึ่งทำให้ผู้บริโภคโยงคิทแคทเข้ากับช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย ในความคิดเรามันเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้คิทแคทดูเข้าถึงได้โดยชนชั้นแรงงาน และ break ยังหมายถึงการหักคิทแคทออกมากินเนื่องจากมันออกแบบมาให้หักกินทีละแท่งได้แบบที่เรารู้ๆ กันอยู่

นอกจากนี้สำนวน ‘Give someone a break’ ยังไม่ได้หมายความแค่ให้พัก หรือให้หยุดกดดัน แต่เป็นคำพูดที่ใช้เวลาเรารำคาญใคร หรือเวลาใครพูดอะไรแล้วเราไม่เชื่อ เราก็จะพูดใส่เค้าไปว่า “Give me a break!” ยิ่งเก๋เข้าไปอีก เหมือนบอกว่า อย่ามายุ่งนะ ฉันจะกินคิทแคท และสาเหตุที่คิทแคทเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น ก็เป็นเพราะชื่อดันไปใกล้เคียงกับคำว่า きっと勝つ (Kitto Katsu) ที่แปลว่า ชนะแน่นอน ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมซื้อไปให้เป็นของขวัญอวยพรให้โชคดี ซึ่งก็เป็นความเก่งในการเล่นคำเพื่อขายสินค้าอีกเช่นเดียวกัน

อีกแง่หนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจมากๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมช็อกโกแลตในอังกฤษคือผู้ผลิตช็อกโกแลตรายใหญ่ในอดีต ได้แก่ Rowntree’s Cadbury’s และ Fry’s ล้วนแล้วแต่มีผู้ก่อตั้งเป็น Quakers หรือสมาชิกของ The Religious Society of Friends ซึ่งเป็นนิกายหนึ่งของศาสนาคริสต์ที่เชื่อว่าผู้มีศรัทธาทุกคนสามารถเข้าถึงพระเจ้าได้โดยไม่ต้องผ่านนักบวช ความเชื่อหนึ่งของ Quakers คือการต่อต้านการดื่มสุรา ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุให้กลุ่มนี้สนใจการทำช็อกโกแลต โดยเริ่มจากการสนับสนุนให้ดื่มเครื่องดื่มโกโก้เพื่อชักชวนให้คนเลิกสนใจแอลกอฮอล์ น่าสนใจมากที่ความเชื่อทางศาสนาทำให้ของกินอร่อยๆ อย่างช็อกโกแลตเป็นที่แพร่หลาย ถ้าเป็นคุณจะเลือกอะไรระหว่างช็อกโกแลตกับแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ในยอร์ก บริษัท Rowntree’s ยังขึ้นชื่อว่ามีโรงงานที่ปฏิบัติต่อพนักงานดี เมื่อเทียบกับโรงงานอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นอิทธิพลจากความเชื่อทางศาสนา ทำให้ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สภาพความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานยากลำบาก การได้งานทำในโรงงานช็อกโกแลตเป็นสิ่งที่คนงานจำนวนมากปรารถนา ซึ่งก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โรงงานช็อกโกแลตเป็นสถานที่ที่เด็กยากจนอย่าง Charlie อยากจะเข้าไปให้ได้

หากใครไปเที่ยวยอร์กและสนใจเรื่องเกี่ยวกับช็อกโกแลต ที่นี่ยังมี York’s Chocolate Story แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ช็อกโกแลตของยอร์กและวิธีการทำช็อกโกแลต ที่เราคงมีโอกาสได้ไปหากมีเวลาพอ ถึงแม้จะไม่มีโอกาสไปชิมช็อกโกแลตที่นั่น แต่อย่างน้อยตอนนี้เราก็หายเข้าใจผิดแล้วว่าคิทแคทมาจากญี่ปุ่น

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเทียมเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

มนฑิตา โรจน์ทินกร

อาจารย์สอนวรรณคดีอังกฤษ เคยเรียนที่สกอตแลนด์ ชอบท่องเที่ยว เข้าพิพิธภัณฑ์ สนใจประวัติศาสตร์ การเมือง วัฒนธรรม และดนตรียุค 60 กับ 70