ผมรอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลกว่า 20 ชั่วโมงจากเมืองไทยมาที่เกาะแอมบริม (Ambrym) ประเทศวานูอาตู (Vanuatu) ประเทศหมู่เกาะเล็กๆ กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อตามหาท่านหัวหน้าเผ่าที่ว่ากันว่ามีเขี้ยวหมูป่าที่สวยและสมบูรณ์ที่สุดในโลก

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ผมอยากมีโอกาสชม ‘ระบำรอม’ อันศักดิ์สิทธิ์ของดินแดนนี้ให้เห็นเป็นบุญตาด้วย

คนที่ช่วยสานฝันให้เป็นจริงครั้งนี้คือคุณพี่เฟรดดี้ ชายชาวนิวานูอาตู วัย 45 ปี ความพิเศษก็คือพี่เฟรดดี้นั้นเป็นชาวหมู่บ้านฟันลาแท้ๆ แต่กำเนิด และหมู่บ้านฟันลา (Fanla) นี้คือหมู่บ้านที่ท่านหัวหน้าเผ่าอาศัยอยู่ และเป็นหมู่บ้านที่มีระบำรอมที่ยิ่งใหญ่สวยงามที่สุดของเกาะ การได้พี่เฟรดดี้มาเป็นคนนำทางคือความโชคดี

ตามธรรมเนียมวานูอาตูนั้น เราไม่สามารถเดินดุ่มๆ ไปเข้าหมู่บ้านนู้นออกหมู่บ้านนี้กันได้เล่นๆ นะครับ เราจำเป็นต้องให้คนท้องถิ่นเขาเจรจากันก่อนว่าจะมีแขกมา และขออนุญาตพาเราเข้าไปในพื้นที่ คนที่ทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุดคือคนจากพื้นที่นั้นนั่นเอง

เกาะแอมบริมเป็นเกาะที่ไม่มีถนน วิธีที่จะเดินทางไปหมู่บ้านฟันลาคือการเดินเท้าเท่านั้น และจากบังกะโลที่ผมพักอยู่นั้น ผมต้องเดินขึ้นเขา บุกป่า ฝ่าดง ไป 2 ชั่วโมงจึงจะถึง ที่สำคัญคือผมต้องจำทางกลับให้ได้ เพราะผมต้องเดินกลับมาเอง…คนเดียว ดังนั้น ผมจึงใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพต้นไม้ดอกไม้หรือจุดสังเกตต่างๆ ทุกแยกพร้อมจดบันทึกใน note อยู่รัวๆ

หมู่บ้านฟันลาเป็นหมู่บ้านใหญ่ มีกระท่อมหลายหลังที่สร้างขึ้นอย่างง่ายๆ โดยใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่มาสานเป็นฝากระท่อม หลังคานั้นส่วนมากมุงด้วยจาก และก็มีบ้างประปรายที่เป็นบ้านก่ออิฐถือปูนมุงหลังคากระเบื้องสีพื้นๆ อย่างสีน้ำตาล โชคดีที่ไม่ใช่สีแจ๊ดๆ ทะลุทะลวงตา

“รอตรงนี้ก่อนนะ” พี่เฟรดดี้บอกให้ผมรอใต้ต้นมะม่วงใหญ่ อากาศยามบ่ายอบอ้าว เด็กๆ ในหมู่บ้านออกมาดูผมกันใหญ่ความที่ผมดูแปลกกว่าพวกเขามากๆ

พี่เฟรดดี้เข้าไปพบท่านหัวหน้าในกระท่อมเพื่อขออนุญาตให้ผมเข้าพื้นที่ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วพี่เฟรดดี้จึงพาผมไปยังลานศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้าน บริเวณที่สงวนไว้สำหรับบุรุษเพศเท่านั้น

ลานศักดิ์สิทธิ์นี้เรียกเป็นภาษาถิ่นว่า ‘นากามาล’ (Nakamal) เป็นลานดินเกลี่ยเรียบจนสะอาด ทั้งเตียนทั้งโล่งและกว้างพอประมาณ ที่รายล้อมลานดินนี้คือต้นไม้ใหญ่ๆ หลายต้นที่ช่วยบังแดดให้ร่มเงาครึ้ม และมี ‘แทมแทม’ (Tam Tam) กลองพื้นเมืองตั้งอยู่หลายต้น ขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง จนมีที่สูงหลายเมตร

กลองแทมแทม เป็นกลองที่สกัดจากไม้เพียงท่อนเดียวเพื่อให้เกิดเป็นร่องกลวงอยู่ตรงกลาง โดยที่ปลายข้างหนึ่งจะตัดเรียบเพื่อใช้วางตั้งไปบนพื้น ส่วนปลายอีกด้านสลักเสลาเป็นเหมือนรูปหน้าเทพเจ้า ชาวบ้านทุกหมู่บ้านบนเกาะแอมบริมใช้การเคาะกลองแทมแทม เพื่อสื่อสารระหว่างกัน เช่นการเคาะเพื่อเรียกลูกบ้านให้มาประชุม การเคาะเพื่อแจ้งเรื่องด่วนจากหัวหน้าเผ่าหนึ่งไปอีกเผ่าหนึ่ง ท่อนไม้ที่ขนาดต่างกันทำให้เสียงออกมาแตกต่างกัน แต่ปัจจุบันนี้ โทรศัพท์มือถือได้เข้ามาทำหน้าที่แทนแทมแทมไปแล้วเรียบร้อย…ฮือ ฮือ ฮือ

ที่ลานศักดิ์สิทธิ์มีเรือนพักของท่านหัวหน้าเผ่าตั้งอยู่ เป็นเรือนไม้หลังใหญ่ชั้นเดียวหลังคามุงจาก ไม้ที่นำมาประกอบเป็นเรือนนั้นสลักเสลาเป็นรูปเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ ดูสวยงามมากๆ ผมไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตบ้านของท่านซึ่งล้อมรั้วด้วยดงต้นเข็มออกดอกสีแดงสด ผมทำได้แต่เพียงยืนรอท่านเงียบๆ อยู่บนลาน

ตอนนั้นผมก็เริ่มเกร็งนะครับ ผมไม่รู้ว่าผมควรจะทำตัวอย่างไร? ท่านหัวหน้าเผ่าจะดุไหม? ผมจะทำอะไรที่ผิดจารีตหรือเปล่า?

ความกังวลของผมจบสิ้นลงทันทีเมื่อท่านปรากฏตัวขึ้น

อย่างแรกคือคอสตูมของท่านนั้นโดนใจผมมากๆ ที่คอของท่านใส่สร้อยเขี้ยวหมูป่า 2 เขี้ยวที่คล้องไขว้กันอยู่ และนั่นสมเป็นเขี้ยวหมูป่าที่งดงามและสมบูรณ์สมคำร่ำลือ ข้อมือทั้งสองของท่านนั้นก็ใส่กำไลที่ทำจากเขี้ยวหมูป่า เขี้ยวสีขาวของมันตัดฉับกับผิวคล้ำของท่าน ท่านหัวหน้านุ่งเพียงใบไม้เพื่อปกปิดร่างกายท่องล่างเท่านั้น ส่วนท่อนบนเปลือยเปล่า ผมสีขาวปนเทาของท่านทัดดอกไม้สีแดงสด

ผมอยากจะหยิบกล้องมาถ่ายท่านรัวๆ เลยนะครับ แต่ผมก็เกรงใจท่านมาก ผมคงดูเป็นแขกที่ไม่มีมารยาทมากๆ หากผมทำเช่นนั้น

อย่างที่สองคือท่านไม่ดุเลย ใจดีมากๆ ด้วยซ้ำ และเมื่อผมขออนุญาตถ่ายภาพท่าน ท่านบอกว่า “โอเค” ทันทีเลย

เมื่อการแนะนำตัวเสร็จสิ้นลง ระบำรอมก็เริ่มต้นขึ้น ณ ลานศักดิ์สิทธิ์แห่งนั้น

ตามประเพณีนั้น ระบำรอมจะเล่นกันในเดือนสิงหาคมของทุกๆ ปี ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางเกษตรกรรมจากฤดูที่แล้วและกำลังจะหว่านไถเพื่อทำการเพาะปลูกในฤดูถัดไป และเชื่อว่าการบูชาเทพเจ้าด้วยระบำนี้จะดลบันดาลให้การไถหว่านครั้งนี้นำผลผลิตมามากๆ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องชาวเผ่า

การแสดงจะเริ่มด้วยเสียงกลองและเสียงขลุ่ยไม้ไผ่ ตามด้วยเสียงขับเพลงด้วยภาษาถิ่นที่ไพเราะ สอดประสานกับจังหวะการเคาะท่อนไม้ไปเรื่อยๆ ผู้เต้นระบำจะใส่หน้ากากรูปทรงเหมือนสามเหลี่ยมแหลมสูง เปิดเฉพาะตรงดวงตา

บนยอดแหลมประดับขนนกและใบไม้ หน้ากากนั้นแต้มสีแดงสดและเขียวสดเป็นหลัก ซึ่งเป็นสีผลิตจากใบไม้และดอกไม้ในท้องถิ่น ส่วนชุดที่สวมใส่นั้น เป็นชุดคลุมยาวจากคอถึงเท้าที่ทำจากใบตอง

ผู้ร้องจะร้องและเคาะจังหวะไปเรื่อยๆ ผู้เต้นจะโยกตัวไปตามจังหวะและร้องรับเป็นช่วงๆ ระบำรอมใช้เวลาแสดงเกือบ 20 นาทีจึงเสร็จสิ้น และตามประเพณีนั้น เมื่อการแสดงระบำรอมจบลง ผู้แสดงจะนำชุดคลุมที่สวมใส่อยู่นั้นไปทำลายทิ้งทันทีเพื่อป้องกันโชคร้ายและการก่อกวนของภูตผี ผู้ที่จะแสดงระบำรอมได้นั้นคือท่านหัวหน้าเผ่าเองและผู้ที่ท่านคัดเลือกและฝึกฝนมาเท่านั้น

ผมตื่นเต้นกับระบำรอมมากๆ เพราะผมไม่เคยดูการแสดงเช่นนี้มาก่อน ตอนแรกๆ ผมก็นั่งระวังมากๆ ไม่กล้ากระดุกกระดิกหรือแม้แต่จะยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาบันทึกภาพไว้ จนผมต้องแอบกระซิบถามพี่เฟรดดี้ แกถึงกับหัวเราะพรวดออกมาเลยครับเมื่อเห็นผมนั่งระวังตรงราวกับอยู่ในพิธีสงฆ์

“ถ่ายรูปได้เลย เดินไปถ่ายใกล้ๆ ก็ได้ แต่อย่าเข้าไปที่ผู้เล่นระบำ และห้ามโดนเสื้อคลุมที่ทำจากใบตองนั้นเด็ดขาด” พี่เฟรดดี้บอก

จากนั้นผมเดินพล่านทั่วลานเลยครับ ทั้งถ่ายภาพ ถ่ายคลิป จนการแสดงสิ้นสุดลงด้วยความประทับใจ

เมื่อระบำรอมจบลง ผมได้รับอนุญาตให้เข้าไปสัมผัสมือกับท่านหัวหน้าเผ่าและผู้เล่นทุกคน สิ่งที่สังเกตได้ชัดมากคือเขี้ยวโง้งใหญ่ที่ทำเป็นสร้อยคอประดับอยู่บนหน้าอกเปลือเปล่าและตัดสีผิวของผู้สวมใส่อย่างเห็นได้ชัด

มันคือ ‘เขี้ยวหมูป่า’ ที่เป็นมากกว่าเครื่องประดับ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจตามวัฒนธรรมเมลานีเซียน

เด็กชายเมื่อก้าวสู่วัยหนุ่มฉกรรจ์ต้องหัดเข้าป่าล่าสัตว์ การล่าหมูป่าเป็นหนึ่งในทักษะเบื้องต้น หมูป่าดุร้ายเพศผู้ที่เด็กหนุ่มสามารถล่าได้และนำกลับมาที่หมู่บ้านจะถูกนำมาเลี้ยง และเขี้ยวหมูป่าจะเป็นบทพิสูจน์ว่าชายหนุ่มผู้นั้นกล้า แกร่ง และเก่ง เพียงไหน

ปกติหมูป่าตัวผู้จะมีเขี้ยวงอกตามธรรมชาติ แต่มันไม่ได้โค้งงอเป็นวง มันยาวตรงโดยธรรมชาติ ดังนั้นการดัดเขี้ยวหมูป่าจนโค้งงอได้รูปสวยจึงเป็นฝีมือมนุษย์ล้วนๆ ชายหนุ่มต้องเอาชนะหมูป่าที่ดุร้ายให้เชื่องต่อเขาให้ได้เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ เอามือบิดเขี้ยวทีละนิดๆ ทุกวัน แล้วต้องค่อยๆ ป้อนอาหารหมูป่าตัวนั้นด้วยมะละกอ กล้วย มะม่วงสุก หรือผักหญ้าต่างๆ เป็นอาหารด้วยมือของเขาเอง

เขี้ยวหมูป่าที่เริ่มงอกยาวขึ้นๆ จะได้รับการดัดให้โค้งงอขึ้นจนเป็นวง และใช้เวลาเป็นปีๆ โดยชายหนุ่มจะปล่อยให้หมูป่าหากินเองไม่ได้ เพราะนั่นอาจทำให้เขี้ยวที่อุตส่าห์ดัดมานานต้องหัก บิ่น หรือเสียรูปทรง เขาจึงต้องป้อนอาหารและดูแลมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ยิ่งเขี้ยวที่โค้งงอได้รูปเป็นวง มีสีขาวสะอาด และปราศจากรอยขูดขีดเพียงใด ก็ยิ่งแปลว่าชายหนุ่มผู้นั้นสามารถพิชิตหมูป่าได้สำเร็จและดูแลมันได้อย่างดีเท่านั้น เขี้ยวหมูป่าจึงเป็นหมือนสถานะทางสังคมอย่างหนึ่ง

ในกรณีท่านหัวหน้าเผ่า เขี้ยวหมูป่าคู่ที่เห็นนี้ใช้เวลาดัดและดูแลมานานกว่า 15 ปี จึงสมบูรณ์สวยงามอย่างที่เห็นอยู่ ผมมีโอกาสไปดูเขี้ยวหมูที่ได้รับการดัดมา 2 ปีด้วยครับ มันเพิ่งโค้งขึ้นมานิดเดียวเท่านั้น นั่นแปลว่ายังต้องดูแลกันไปอีกนานมาก เสียดายที่วัฒนธรรมนี้กำลังสูญสลายไปจากวานูอาตูและกลุ่มประเทศเมลานีเซียไปเรื่อย ๆ

ก่อนกลับเมืองไทย ผมเห็นเขี้ยวหมูป่าขายที่ตลาดกลางเมืองพอร์ตวิลา (Port Vila) เมืองหลวงของวานูอาตู เขี้ยวเล็กกว่านี้มากและโค้งขึ้นมานิดๆ วางขายชิ้นละ 10,000 วาตู (100 ดอลลาร์สหรัฐ) ของท่านหัวหน้าต้องมีมูลค่ามากกว่านั้นแน่ แต่คงไม่มีค่าเทียบเท่าความพยายามในการสร้างสรรค์เครื่องประดับเกียรติยศชิ้นนี้มานานกว่า 15 ปี ด้วยมือและใจของท่านหัวหน้าเอง

เย็นนั้นผมลาท่านหัวหน้าเผ่าเดินกลับบังกะโลริมหาด ท่านบอกผมว่า

“ขอบคุณที่มาเยี่ยม และขอบคุณที่สนใจเรื่องราวของเรา”

ผมบอกท่านว่า ผมต่างหากที่ต้องขอบคุณท่านที่เปิดหูเปิดตาผม เรื่องราวที่ผมได้รับรู้ในวันนี้ทำให้ผมมองชาวเผ่าบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ในอีกมิติหนึ่งที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน

ที่สำคัญ…เขี้ยวหมูป่านั้นไม่ใช่เพียงเครื่องประดับกาย แต่มันคือเครื่องประดับเกียรติของผู้สวมใส่เลยทีเดียว

ขอบคุณครับ ท่านหัวหน้าเผ่า

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK