7 กันยายน 2017
3 K

ในช่วงแรกที่เราเพิ่งมาอาศัยอยู่ที่เมืองมาปูโต ประเทศโมซัมบิก ใหม่ๆ คนขับรถขับพาเราผ่านถนนสายหนึ่ง สองฝั่งของถนนสายนี้เต็มไปด้วยแผงลอยขายของบริเวณทางเท้าเรียงยาวเป็นแถวตามถนน บางร้านก็มาตั้งขายอยู่ที่เกาะกลางถนน บางร้านก็ตั้งหลบไปตามตรอกซอกซอย มีแผงลอยร้านค้ามากมายสุดลูกหูลูกตาไปทั่วบริเวณ เป็นตลาดริมถนนดีๆ นี่เอง

คนโมซัมบิกผิวสีมากหน้าหลายตาเดินสวนกันไปมาเพื่อจับจ่ายซื้อของ คนเยอะมากจนแยกไม่ออกว่าใครกันแน่ที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ลูกค้า บริเวณนี้ไม่มีคนขาวเดินอยู่เลย

เราที่แอบสำรวจสิ่งรอบข้างเหล่านี้อยู่ในรถหันไปพูดกับคนขับรถว่า “ที่นี่คึกคักดีจังนะ”

“ใช่ ฉันชอบที่นี่มาก ที่นี่เป็นที่ที่มีชีวิตชีวามากในเมืองมาปูโต” คนขับรถตอบ

รถขับผ่านไปเรื่อยๆ จนตลาดริมถนนเริ่มลับสายตาไป

เราพูดกับตัวเองในใจว่า “ไว้วันหนึ่งเราจะมาเดินที่ตลาดนี้”

มาปูโต มาปูโต

หนึ่งปีกว่าๆ ผ่านไปก็ได้ฤกษ์งามยามดี ในที่สุดเราก็ได้ไปเดินสำรวจตลาดริมถนนที่ว่าสมใจ หลังจากรวบรวมความกล้ามาเป็นเวลาพอสมควร

ตลาดนัดบนทางเท้าแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของถนน 1.) Avenida Guerra Popular 2.) Avenida Filipe Samuel Magaia 3.) Avenida Fernão de Magalhães และ 4.) Avenida Josina Machel ในย่าน Baixa (ไบชา)​หรือย่าน downtown อันเป็นแหล่งทำมาค้าขายและห้างร้านหลากหลายแห่งเมืองมาปูโต บริเวณนี้เป็นย่านเก่าแก่ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดกำเนิดของความเป็นเมืองของมาปูโตเลยก็ว่าได้

มาปูโต

เรากับเพื่อนเดินทางไปที่ตลาดแห่งนี้ตอนประมาณ 9 โมงเช้า เช้ามากจนหลายร้านก็เพิ่งจะเริ่มวางของขาย เราจึงถือโอกาสสังเกตบรรยากาศและกลวิธีการนำเสนอสินค้าของแต่ละร้านระหว่างที่เราเริ่มเดินไปตามถนน นอกจากห้างร้านจำนวนมากที่อยู่ในตึกแล้ว บริเวณทางเท้าด้านหน้าก็มีพ่อค้าแม่ค้ามาตั้งวางสินค้าของตน บางคนวางบนโต๊ะไม้ที่ทำขึ้นมาเอง บางคนวางบนพื้นแบกะดิน บางคนนำสินค้าแต่ละชิ้นมาวางเรียงอย่างพิถีพิถัน สวยงามและเป็นระเบียบ บางคนเลือกที่จะเทสินค้าของตัวเองออกจากกระสอบและกองเรียงกันเป็นเนินสูงเพื่อให้เห็นถึงตัวเลือกจำนวนมากของสินค้า บางคนก็เลือกที่จะไม่ตั้งร้านและเดินถือสินค้าไปมาตามท้องถนน แต่ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ทุกคนต่างก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อเชิญชวนลูกค้าให้มาเลือกซื้อสินค้าของตน

มาปูโต มาปูโต

สินค้าที่วางขายมีตั้งแต่เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ผ้าถุงโมซัมบิก (ผ้า Capulana) เสื้อชั้นใน กางเกงใน ของเล่น หนังสือ อุปกรณ์เครื่องเขียน โทรศัพท์ Ipad บัตรเติมเงิน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน ถังแก๊ส ผัก ผลไม้ ขนม เครื่องดื่มและอื่นๆ อีกมากมาย แต่ละอย่างอยู่ปะปนกันไป โดยไม่ได้มีการแบ่งโซนสินค้าอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

ในตลาดมีให้เลือกซื้อกันทั้งสินค้ามือหนึ่งและมือสอง ของจริงและของปลอม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของใช้มือสอง หรือที่มีชื่อเรียกว่า Calamidade (กาลามิดาด) ในหมู่คนโมซัมบิก ถึงแม้จริงๆ แล้วคำนี้จะแปลว่า ‘อุทกภัย’ ก็ตาม ด้วยราคาที่ย่อมเยาและการเจอของมีคุณภาพเป็นครั้งคราวทำให้ของใช้มือสองค่อนข้างเป็นที่นิยมในหมู่คนโมซัมบิก
มาปูโต มาปูโต

ที่ตลาดแห่งนี้ยังมีร้านอาหารพื้นเมืองที่ทอดขายให้ทานกันร้อนๆ รวมไปถึงคนรับเย็บผ้าที่มาตั้งเครื่องจักรเรียงรายริมถนนหลายเจ้า เอาเป็นว่าซื้อผ้าแล้วก็สามารถตัดเย็บชุดได้เลยเสร็จสรรพตามแบบที่ต้องการ บริการครบวงจรไปอีก

เดินไปเรื่อยๆ เวลาเริ่มเข้าช่วงสาย (10 โมงเช้า) บรรยากาศการค้าขายก็เริ่มคึกคักขึ้น

มาปูโต มาปูโต

ผู้ขายแต่ละคนต่างก็มีเทคนิคส่วนตัวในการเชื้อเชิญลูกค้าให้หยุดแวะดูสินค้าที่ร้านของตน อาทิ การเชื้อเชิญอย่างสุภาพด้วยการผายมือเชิญเดินมาที่ร้าน พร้อมพูดว่า “เรามีสินค้ามากมายให้เลือกชม คุณลองเข้ามาดูที่ร้านเราได้” หรือการตะโกนคำเด็ดตามท่วงทำนองที่คิดขึ้นมาเองเพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า เช่น

“Novidade novidade novidade novidade…. Novidade novidade novidade novidade!” (อ่านว่า โนวิดาด โดยขอให้อ่านเป็นทำนองตามจินตนาการของผู้อ่าน) ในบริบทนี้มีความหมายว่า ‘สินค้าใหม่’

อีกทั้งยังมีการร้องเพลงเป็นภาษาพื้นเมืองท่วงทำนองแอฟริกัน โดยร้องคู่ไปกับลูกมือของร้านระหว่างหยิบยื่นสินค้าให้ลูกค้าเลือกชม ทั้งยังมีการใช้ลูกตื๊อ เดินตามประกบลูกค้าแม้ลูกค้าจะเดินผ่านร้านของตนไปไกลแล้ว

“นี่ เพื่อนสาว เธอไม่ซื้อของฉันหน่อยหรอ ฉันมีของเด็ดหลายอย่าง เธอซื้อให้แฟนเธอก็ได้ เดี๋ยวฉันให้เธอราคาพิเศษ สำหรับเธอคนเดียวเลยนะ” เป็นต้น

แต่ไม่ว่าจะด้วยเทคนิคใดก็ตาม พ่อค้าแม่ค้าแทบทุกคนจะเรียกเรา (ลูกค้า) ว่า ‘เพื่อน’ (amigo/amiga) สนิทชิดเชื้อกับเราได้ในเวลาอันสั้นยามต้องการปิดการขาย

มาปูโต

จริงๆ แล้วบรรยากาศไม่ได้ต่างไปจากตลาดนัดบ้านเรามากนัก ต่างกันก็ตรงที่ตลาดแห่งนี้ส่วนใหญ่มีแต่คนโมซัมบิกผิวสี ไม่ว่าจะคนขายหรือคนซื้อ และก็เหมือนกับที่เราสังเกตเห็นเมื่อ 1 ปีที่แล้ว คือไม่มีคนโมซัมบิกผิวขาวหรือต่างชาติผิวขาวเดินอยู่เลย คงเพราะย่านนี้เป็นย่านของคนโมซัมบิกผิวสี เราผู้มีรูปลักษณ์เป็นลูกหลานคนจีนโพ้นทะเลผิวเหลืองจึงมีความโดดเด่นและอาจหาญในการเดินที่ตลาดแห่งนี้

หลายคนก็มองเราด้วยความประหลาดใจและสงสัย แต่เราก็ตอบเขาด้วยรอยยิ้มและคำว่าสวัสดีในภาษาโปรตุเกส สิ่งที่เขาตอบกลับมาก็เป็นคำว่า สวัสดี (ในภาษาจีน) บวกกับรอยยิ้มที่สดใสเช่นเดียวกัน พร้อมสายตาแห่งความประหลาดใจและความสงสัยที่ลดลง การเนียนทักทายราวกับเป็นคนรู้จักกันมาก่อนทำให้เรากลมกลืนไปกับคนรอบตัวและโดดเด่นน้อยลง ถึงแม้สีผิวเราจะต่างกันมากก็ตาม

มาปูโต

จริงๆ แล้วตลาดริมถนนแห่งนี้ (ไม่รวมเหล่าห้างร้านในห้องตึก) เป็นตลาดนอกระบบ หรือที่คนโมซัมบิกเรียกว่าตลาด Dumba Nengue (ดุมบาเนง) แห่งหนึ่งในเมืองมาปูโต โดยดุมบาเนงเป็นคำในภาษาของคนพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศโมซัมบิก มีความหมายว่า ‘วางใจในเท้า’

คนโมซัมบิกใช้คำว่า ดุมบาเนง เรียกตลาดนอกระบบ เพราะเมื่อตำรวจเทศบาลปรากฏตัวขึ้นที่ดุมบาเนง เหล่าผู้ขายจะต้อง ‘วางใจในเท้าของตน’ และรีบวิ่งหนีตำรวจ พร้อมกับสินค้าที่มักวางไว้บนศีรษะ แต่ตลาดดุมบาเนงริมถนนแห่งนี้เป็นตลาดที่ตำรวจเทศบาลไม่เข้าไปจัดระเบียบอีกต่อไป ด้วยความที่มีพ่อค้า แม่ค้า และลูกค้าจำนวนมากจนยากที่จะจัดการ บวกกับการที่เหล่าพ่อค้าแม่ค้าช่วยดูแลรักษาความสะอาดของทางเท้าแหล่งค้าขาย ไปๆ มาๆ แม้แต่ตำรวจเองก็ไปเดินจับจ่ายใช้สอยที่ตลาดแห่งนี้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นแหล่งของดีราคาถูกประจำเมือง

มาปูโต

การเดินตลาดแห่งนี้ทำให้เราได้เห็นและสัมผัสวิถีชีวิตของปุถุชนคนโมซัมบิกผิวสี ไม่ว่าจะเป็นลูกมือสาวน้อยที่มาช่วยแม่ขายอาหาร, เพื่อนร่วมธุรกิจที่ช่วยกันตะโกนเรียกลูกค้า, หนุ่มเจ้าของร้านที่ชักชวนลูกค้ามาซื้อของไม่สำเร็จ จึงหันมาจีบลูกค้าแทน, สาวใหญ่ที่ลองเสื้อชั้นในโดยใส่ทับเสื้อยืดที่ตนใส่อยู่ตรงบริเวณทางเท้าที่ผู้คนเดินสวนกันไปมา, เหล่าคนขายที่นั่งจิบเบียร์กันระหว่างเฝ้ารอลูกค้ามาที่ร้าน, คนเย็บผ้าที่นอนฟุบหลับที่โต๊ะยามแดดร่มลมตก, คนมากหน้าหลายตาที่มานั่งคุยกันหัวเราะร่าที่เพิงร้านอาหาร, แก๊งสี่สาววัยรุ่นที่แต่งตัวและทำผมแบบเดียวกันเดินเฉิดฉายความงามระหว่างช้อปปิ้ง, แก๊งเด็กวัยแตกหนุ่มที่ยืนรวมตัวกันเพื่อแซวสาว, คนขับรถ Txopela (โชเป-ลา) หรือรถตุ๊กตุ๊กโมซัมบิกที่ยืนรอผู้โดยสารกันเป็นหมู่คณะ, ผู้โดยสารรถ Chapas (ชาปาช) หรือรถตู้โมซัมบิกที่ทะเลาะกับกระเป๋ารถผู้ซึ่งกำลังยัดถุงเสื้อผ้าของเขาเข้าไปในรถตู้อย่างไม่ปรานีต่อความบอบบางของพลาสติก

กระเป๋าสีชมพูบานเย็นยี่ห้อ  Min Min อวดโฉมสวยเก๋ กลิ่นเครื่องเทศของอาหารพื้นเมือง และไก่ย่างโมซัมบิกที่ลอยมาตามลมเป็นระยะๆ เพลงเต้นท่วงทำนองแอฟริกันที่คุ้นหู ไม่ว่าจะเป็น Marrabenta (มาราเบนตา) หรือ Kizomba (กิซอมบา) เปิดคลอตามทุกมุมถนน ตลาดริมถนนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวาสไตล์คนโมซัมบิก ตรงตามคำบอกเล่าของคนขับรถเราจริงๆ

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้มีโอกาสเห็นและสัมผัสวิถีชีวิตคนโมซัมบิกผิวสีแบบนี้ เพราะชีวิตประจำวันของเราจะวนเวียนอยู่ในหมู่คนต่างชาติด้วยกันซะส่วนใหญ่ การมาเดินตลาดแห่งนี้จึงเป็นประสบการณ์ที่ดี เปิดหูเปิดตาดี และของก็ถูกดีด้วย

วันหลังเราคงกลับมาเดินที่นี่อีก

มาปูโต

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

เบญจรัศมี รุจน์รวีหิรัญ

สาวอักษรผู้หลงรักภาษา วรรณกรรม วัฒนธรรมและศิลปะทุกแขนง ปัจจุบันจากบ้านมาอาศัยอยู่ที่เมืองมาปูโต ประเทศโมซัมบิก ยามขยันมักเขียนเรื่องราวที่ตนเองไปเจอหรือสนใจลงเพจส่วนตัว : Chinesinha around the world