22 สิงหาคม 2017
1 K

ในขณะที่เหล่านกพิราบเมืองพากันบินหนีกระจัดกระจาย เหล่าไก่ ลา แพะ และหมู ต่างไม่แสดงทีท่าแตกตื่นกับเสียงดังของรถไฟ Overground ที่วิ่งผ่านไปผ่านมาทุก 5 นาทีแต่อย่างใด ขนาดนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่อยู่ในเมืองกรุงมาตลอดชีวิตอย่างฉันยังตกใจจนต้องหันไปมองเกือบทุกครั้งเลย

สงสัยพวกมันคงชินกับการเป็น ‘สัตว์เมือง’ ไปแล้ว

สัตว์พวกนี้แยกกันอยู่อย่างสันติในฟาร์มด้านตะวันออกของกรุงลอนดอนนามว่า Spitalfields City Farm ชื่อฟาร์มก็มาจากชื่อของย่าน Spitalfields (สปิทัลฟีลส์) ที่ตั้งของฟาร์มนั่นเอง ในย่านนี้มีตั้งแต่ตลาดขนาดใหญ่ที่หน้าตาคล้ายจตุจักร รวมของมือสองและของฮิป ผสมผสานกับกราฟิตี้เก๋ไก๋น่าถ่ายรูปที่ละเลงอยู่ตามผนังของตรอกซอกซอยเล็กๆ ซึ่งต้องใช้โชคดีจึงจะบังเอิญเลี้ยวไปเจอ รวมถึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยซึ่งหนาแน่นไปด้วยคนจากทุกชาติพันธุ์และวัฒนธรรม สิ่งพิเศษที่ฉันสังเกตได้ในย่านนี้คือ ป้ายถนนต่างๆ มักมีคำอ่านที่เขียนด้วยตัวอักษรฮินดีกำกับด้วย

Spitalfields Spitalfields

แม้จะด้านข้างจะติดสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ข้างถนน Brick Lane (บริคเลน) อันโด่งดังในหมู่วัยรุ่นอีกที แต่ทางเข้าของฟาร์มกลับเบือนหน้าหนีย่านพลุกพล่านไปตั้งอยู่ทางถนนสายเล็กที่ชื่อว่า Buxton Street (บักซ์ตันสตรีท) แทน ในตอนที่ยืนมองทางเข้า สิ่งที่ได้สัมผัสเลยเป็นบรรยากาศเงียบสงบ มีเสียงนกร้องเบาๆ จากที่ไกลๆ กับเสียงลมพัดผ่านต้นไม้ใบหญ้า ดูแตกต่างจากลอนดอนที่เคยรู้จักไปอย่างสิ้นเชิง

เมื่อเดินตามทางหินเข้าไป ผ่านกรงกระต่ายขนาดเล็กและร้านกาแฟขนาดไม่ใหญ่ ฉันก็พบกับสามแยกพร้อมป้ายเขียนด้วยลายมือน่ารักแจ้งว่าฟาร์มมีให้เยี่ยมชมทั้งฝั่งซ้ายและขวา ฉันเลือกเดินเลี้ยวไปทางขวาก่อน และได้พบกับไก่อ้วนฟูที่เดินเพ่นพ่านนอกกรงอยู่ 3 – 4 ตัว ซึ่งไม่กลัวคนแบบที่ใครก็จับลูบได้ตามความพึงพอใจ ส่วนในกรงที่วางอยู่รอบบริเวณก็มีสัตว์หลากหลายชนิด ดูไปแล้วคล้ายสวนสัตว์มากกว่าฟาร์ม ตั้งแต่ตัวเฟอร์เร็ต กระต่าย หนูตะเภา เป็ด และไก่ ทุกตัวพร้อมให้เราเข้าไปทักทาย แม้จะไม่รับประกันการทักทายตอบก็ตาม

Spitalfields Spitalfields Spitalfields Spitalfields

แต่หากดูจากจุดยุทธศาสตร์ที่ตั้งคอกและกรงต่างๆ แล้ว คงเดาได้ไม่ยากว่าจุดขายหลักของฟาร์มน่าจะเป็นคอกแพะทั้งสองที่วางตัวอยู่กลางบริเวณ ในคอกแรกมีแพะทั้งหมด 4 ตัว เป็นสีน้ำตาลสาม และเจ้าตัวเล็กสีดำอีกหนึ่ง เจ้าแพะตัวที่เคี้ยวหญ้าอยู่หันหน้ามามองฉันอยู่ครู่หนึ่ง เมื่อพบว่าไม่มีอะไรพิเศษมากพอให้ตื่นเต้น มันก็กลับไปสนใจกองหญ้าต่อ ในขณะที่ตัวอื่นๆ ก็เบือนหน้าหนีไปเลย ฉันไม่น่าสนใจขนาดนั้นเลยหรือเจ้าแพะ!

ส่วนอีกคอกหนึ่งไม่ได้มีแค่แพะเพียงอย่างเดียว เพราะมีวัยรุ่นอีก 4 คน ต่างคนต่างก็จูงแพะไว้ข้างกายคนละตัว นอกจากนั้น ในคอกยังมีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อโลโก้ฟาร์มคอยดูแล พร้อมให้คำแนะนำกำกับเป็นระยะๆ ดูเหมือนกิจกรรมตอนนี้จะเป็นช่วงเวลาสอนคนให้ฝึกสอนแพะ โดยใช้สายจูงและคลิกเกอร์เพื่อเรียกความสนใจแพะ พร้อมกระเป๋าใส่ขนมผูกไว้ตรงเอวผู้ฝึก สำหรับให้รางวัลเมื่อเหล่าแพะประพฤติตัวเหมาะสม เนื่องจากว่ายังเป็นมือใหม่หัดฝึก ทำให้ทั้งคนทั้งแพะต่างก็ดูเก้ๆ กังๆ ทำตัวไม่ค่อยถูกเท่าไร เป็นภาพที่น่ารักน่าเอ็นดูสุดๆ

ระหว่างที่ยืนดูวัยรุ่นพาเหล่าแพะเดินตามกันเป็นวงกลมอยู่นั้น ชั่วขณะหนึ่ง ฉันก็ลืมไปว่าตัวเองอยู่ในลอนดอน

Spitalfields Spitalfields

อันที่จริงแล้ว ฟาร์มกลางเมืองแห่งนี้เป็นเพียง 1 ใน 16 ฟาร์มที่ซ่อนอยู่ในมุมต่างๆ ทั่วเมืองกรุงแห่งนี้ แปลกดีที่เมืองซึ่งมีค่าครองชีพสูงลิ่วติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะในเขต Tower Hamlets (ทาวเวอร์แฮมเล็ตส์) ที่ว่ากันว่ามีคนอยู่หนาแน่นที่สุด ยังมีพื้นที่เผื่อให้คนได้เลี้ยงสัตว์และปลูกต้นไม้ราวกับอยู่ต่างจังหวัด

สำหรับอีก 15 ฟาร์มนั้นฉันไม่ค่อยแน่ใจ แต่ Spitalfields City Farm เป็นฟาร์มที่เกิดจากความร่วมมือกันของคนท้องถิ่นในปี 1978 พวกเขาตัดสินใจร่วมมือกันเปลี่ยนพื้นที่รกร้างข้างทางรถไฟให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว ทดแทนส่วนที่สูญเสียไปในการขยายเมืองทางตะวันออก (หรือ East End) พร้อมกับต่อยอดวัฒนธรรม ‘ฟาร์มหลังบ้าน’ ของชาว East End ด้วย พื้นที่ขนาดน้อยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากเทศบาล และบริหารโดยอาสาสมัคร ในปัจจุบัน ฟาร์มก็ยังเปิดรับอาสาสมัครมาผลัดมือกันดูแลอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่ให้อาหารสัตว์ไปจนถึงทำสวน แม้แต่กลุ่มคนที่มาฝึกแพะในวันนี้ก็เช่นกัน

แม้ว่าสปิทัลฟีลส์จะไม่ใช่ฟาร์มกลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดหรือเก่าแก่ที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่ฟาร์มแห่งนี้มีพิเศษแตกต่างจากที่อื่น คือการแข่งวิ่งแพะระหว่างเมืองมหาวิทยาลัยเก่าแก่ในอังกฤษ 2 แห่ง คือ Oxford (ออกซ์ฟอร์ด) กับ Cambridge (เคมบริดจ์) ความขำขันก็คือ การแข่งขันนี้จงใจจัดขึ้นวันเดียวกับงานประเพณีแข่งเรือในตำนานระหว่างมหาวิทยาลัยทั้งสองด้วย ถึงจะไม่ยิ่งใหญ่เท่า แต่ประเพณีวิ่งแพะนี้ก็จัดติดต่อกันมาตลอด 9 ปี และยังคงได้รับความนิยมล้นหลามทุกปีขนาดที่เขาเตือนว่าให้จองตั๋วล่วงหน้า (แน่นอนว่าล้นหลามในที่นี้คือคนจำนวนพันกว่าคน ที่ก็หนาแน่นมากเกินพื้นที่เล็กๆ ของฟาร์มจะรองรับไหวแล้ว)

นอกจากเทศกาลวิ่งแพะ และกิจกรรมอาสาสมัครแล้ว ฟาร์มยังเปิดให้ผู้มาเยี่ยมชมมีส่วนร่วมแบบถึงลูกถึงคน ด้วยการเสนอตัวมอบสัตว์บางชนิดในฟาร์มให้ผู้สนใจนำกลับไปเลี้ยง ยังจำกระต่ายตัวน้อยในกรงแรกที่ฉันเดินผ่านได้หรือเปล่า? ที่หน้ากรงมีเขียนแปะไว้ว่า หากสนใจรับไปเลี้ยง ก็เข้าไปติดต่อในสำนักงานได้ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องตั้งใจจริง และพร้อมที่จะเลี้ยงดูมันอย่างดี นอกจากนั้น หน้ากรงไก่ก็มีป้ายเสนอขายไข่ด้วย ที่แม้จะไม่ถูกกว่าในซูเปอร์มาร์เก็ตเท่าไร แต่รับประกันความสดแน่นอน

Spitalfields

ส่วนในอีกด้านหนึ่งของฟาร์ม ก็มีคอกสำหรับลาขนฟู 2 – 3 ตัว หมูอีก 2 ตัว และแพะอีกจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่โดดเด่นกว่าของสวนด้านนี้ไม่ใช่สัตว์ หากแต่เป็นสวน พืชพรรณสีเขียวชอุ่มกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณ บางชนิดก็เพาะพันธุ์เพื่อขายโดยเฉพาะ เช่น ฟักทองและหัวไชเท้า บังเอิญว่าฉันไม่ได้ตั้งใจจะมาจับจ่ายซื้อผักกลับไปกิน จึงไม่ได้ไถ่ถามราคา แต่หลังจากการสนทนาสั้นๆ กับอาสาสมัครแล้ว ก็เข้าใจว่าสาเหตุที่ฟาร์มแห่งนี้ยังคงอยู่ได้ ไม่ใช่เพราะความน่ารักของเหล่าสัตว์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะมีอาสาสมัครที่ทุ่มเท ใส่ใจ และพร้อมให้ความช่วยเหลือกับผู้มาเยือนทุกท่านเป็นอย่างดี ทำให้รู้สึกอยากหวนกลับมายังฟาร์มแห่งนี้อีก

Spitalfields

พื้นที่เอเคอร์กว่าในที่ซุกซ่อนอยู่ระหว่างตรอกซอกซอย บอกกับฉันว่าลอนดอนไม่ได้มีแค่ตึกสูง หอนาฬิกา และชิงช้าสวรรค์

แต่ยังมีแพะตัวเป็นๆ อยู่ด้วย

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ