28 กรกฎาคม 2017
5 K

เช้าในฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่น เราออกเดินทางจากซัปโปโรมุ่งหน้าสู่เมืองฟุราโนะ เป้าหมายหลักของครอบครัวคือการไปดูทุ่งลาเวนเดอร์และทุ่งดอกไม้หลากสีที่มีชื่อเสียงระดับโลกของเมืองนี้ แต่ความตั้งใจหลักของฉันกลับเป็นการไปพิพิธภัณฑ์กล้องคาไลโดสโคป (Kaleidoscope Museum of Furano)

ทุกคนอาจจะสงสัยว่ากล้องคาไลโดสโคปหรือกล้องสลับลายคืออะไร ถ้าอธิบายง่ายๆ หรือจากที่เคยเห็นมาตอนเด็กๆ มันคือวัตถุทรงกระบอก ปลายด้านหนึ่งเจาะไว้สำหรับส่องดู ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งจะมีช่องให้แสงเข้าและช่องใส่วัตถุต่างๆที่จะทำให้เกิดภาพ เช่น เศษกระดาษสี ลูกแก้ว ลูกปัด หรือแม้แต่ภาพถ่าย ตามแต่ศิลปินจะออกแบบ ด้านในประกอบไปด้วยกระจก 2 ชิ้นหรือมากกว่านั้น กระจกจะทำมุมต่างๆ กันและเมื่อยกส่องเข้าหาแหล่งกำเนิดแสง จะเห็นภาพสมมาตรที่เกิดจากการสะท้อนไปมาระหว่างกระจกกับสิ่งที่บรรจุลงไป ภาพที่เกิดขึ้นจะดูแปลกและสามารถเปลี่ยนแปลงไปไม่ซ้ำเดิมเมื่อเราหมุนหรือขยับดู

กล้องคาไลโดสโคป กล้องคาไลโดสโคป

ฉันรู้จักพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จากรายการทีวีที่พาเที่ยวญี่ปุ่นเมื่อปีสองปีก่อน ครั้งแรกที่เห็นในทีวีก็ตกหลุมรักซะแล้ว เพราะมันแปลก ไม่เหมือนใคร แล้วก็น่าสนใจสุดๆ ยิ่งพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ในบรรยากาศของอดีตโรงเรียนประถมของญี่ปุ่นที่มีอายุถึง 110 ปี ก็ยิ่งคิดว่านี้คือขุมทรัพย์ทางวัฒนธรรมและศิลปะที่หาชมได้น้อยมาก

10 โมงเช้า คือเวลาเปิดทำการของพิพิธภัณฑ์ แต่เรามาถึงก่อนเวลาเปิดด้วยความตื่นเต้น เรียกว่ามาก่อนคนที่จะมาเปิดประตูพิพิธภัณฑ์ด้วยซ้ำ เมื่อเลี้ยวรถเข้าบริเวณโรงเรียนก็ค่อนข้างแปลกใจเพราะโรงเรียนมันดูเก่าจริงๆ และรกร้างกว่าที่เคยเห็นในทีวี สนามหญ้ากว้างๆ กลายเป็นป่าหญ้ารกๆ แถมไม่มีรถคันอื่นเลยนอกจากรถครอบครัวฉัน แต่ไม่นานก็มีรถคันนึงเข้ามาจอด มีชาวญี่ปุ่นที่ฉันคาดว่าน่าจะเป็นเจ้าของลงมาจากรถและเดินไปเปิดประตูพิพิธภัณฑ์

กล้องคาไลโดสโคป กล้องคาไลโดสโคป

เมื่อก้าวเข้าโรงเรียน บรรยากาศของการ์ตูนญี่ปุ่นที่เคยอ่านมันแวบขึ้นมาทันที แต่ก็ไม่เหมือนกันซะทีเดียวเพราะที่นี่ได้ความรู้สึกเก่าแต่ก็อบอุ่นในขณะเดียวกันมากกว่า ส่วนที่ยืนอยู่คือทางเข้าทางออกหลักของโรงเรียน มีช่วงพื้นที่เว้นให้เป็นที่ถอดและใส่รองเท้า พื้นไม้ยกระดับขึ้น ฝั่งขวาเป็นตู้เก็บรองเท้า ฝั่งซ้ายมีตู้หยอดเงินและป้ายที่มีตัวอักษรญี่ปุ่นเขียนเต็มไปหมด ระหว่างที่ทุกคนกำลังถอดรองเท้า ก็มีชายชาวญี่ปุ่นใส่แว่นท่าทางใจดี เดินออกมาทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่น ฉันก็เลยใช้ความสามารถที่มีอันน้อยนิดของศิษย์เก่านักเรียนสายศิลป์ภาษาญี่ปุ่น ตอบโต้กลับไป แต่ลงท้ายด้วยว่า “ถ้าคุยเป็นภาษาอังกฤษจะดีกว่าค่ะ” ทุกคนก็หัวเราะกันใหญ่ หลังจากที่ฟังเขาแนะนำตัว และอธิบายการเข้าชม ก็เป็นไปอย่างที่ฉันเดาว่าเจ้าบ้านคนนี้คือ คุณอิคุยะ มิซซึย (Ikuya Mitsui) เจ้าของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้นั้นเอง

กล้องคาไลโดสโคป

คุณอิคุยะ มิซซึย (Ikuya Mitsui) คือเจ้าของไอเดียการทำให้โรงเรียนไม้แห่งนี้กลับมามีชีวิตในฐานะสถานที่จัดแสดงงานศิลปะกล้องคาไลโดสโคปที่เขาสะสมจากทั่วทุกมุมโลก เขาตั้งใจส่งต่อความสวยงามและความน่าหลงใหลของศิลปะจากภาพสะท้อนให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ อย่างไรก็ตาม คุณมิซซึยต้องเผชิญกับปัญหามากมายกว่าจะทำให้พิพิธภัณฑ์นี้เกิดขึ้นได้ เขาได้รับความช่วยเหลือจากคนที่มีความฝันร่วมกัน คือบรรดาศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นี้โดยเฉพาะ เช่น สร้างเทคนิคการฉายภาพใหม่ๆ หรือการนำโถส้วมและถังบ่มไวน์มาเป็นตัวกล้อง

ความน่าทึ่งคือกล้องคาไลโดสโคปที่จะได้สัมผัสในพิพิธภัณฑ์นี้มีจำนวนมากกว่า 100 ชิ้น แต่ละชิ้นแตกต่างกันออกไปและไม่ธรรมดาอย่างที่เคยเห็นอย่างแน่นอน ฉันได้มองศิลปะชนิดนี้ผ่านวัตถุหลายประเภทที่ไม่คิดว่าจะสามารถเอามาทำได้ อีกทั้งการตกแต่งที่ดูแปลกตาของรูปลักษณ์ภายนอกของตัวกล้องและภาพสวยๆ ที่ขยับไปมาเวลาเราหมุนดู ทำเอาทั้งแขนและคอล้าไปบ้าง เพราะอยากจะยกมาส่องดูทุกชิ้น

กล้องคาไลโดสโคป กล้องคาไลโดสโคป

กล้องคาไลโดสโคป

นอกจากตัวกล้องคาไลโดสโคปที่น่าสนใจแล้ว สถานที่แห่งนี้ก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน โรงเรียนไม้ทั้งหลัง แน่นอนโครงสร้างแทบจะทั้งหมดนั้นคงเดิม เฟอร์นิเจอร์หรือของใช้บางอย่างก็ผ่านมือนักเรียนที่เคยเรียนที่โรงเรียนนี้มาแล้วทั้งนั้น

ส่วนหลักๆ ที่ฉันจำได้แม่นมีอยู่ 3 – 4 ส่วน ส่วนแรกคือห้องพยาบาลที่มีประตูทางเข้าค่อนข้างต่ำ มีอุปกรณ์ตรวจร่างกายและสื่อการสอนเกี่ยวกับการร่างกายมนุษย์ บนเตียงพยาบาลมีกล้องคาไลโดสโคปเรียงรายให้เลือกดูกัน

ส่วนที่สองคือห้องดนตรีที่มีแกรนด์เปียโนสีดำอยู่หน้าห้อง มีเครื่องวิทยุเก่า เครื่องเล่นแผ่นเสียง มีโต๊ะเรียนลายคีย์บอร์ด และเหนือกระดานดำมีภาพนักดนตรีระดับโลกแปะเรียงกันเป็นแถว กล้องคาไลโดสโคปในห้องนี้จะวางอยู่บนโต๊ะเรียนและตั้งอยู่เรียงกันริมหน้าต่าง แต่มันพิเศษมากๆ ตรงที่ตัวกล้องทำมาจากหีบเพลงไขลาน เมื่อยกส่องดูก็จะมีเพลงประกอบพร้อมเห็นภาพสะท้อนที่หมุนไปเรื่อยๆ ดูนานๆ คล้ายจะสะกดจิตตัวเองเหมือนกันนะ

กล้องคาไลโดสโคป กล้องคาไลโดสโคป

กล้องคาไลโดสโคป

ห้องถัดไปไม่แน่ใจว่าเดิมเคยเป็นห้องอะไรของโรงเรียน แต่เดาว่าน่าจะเกี่ยวกับการทำอาหาร เพราะมีอ่างล้างจาน ตู้กับข้าวและโมเดลอาหารวางโชว์อยู่ ห้องนี้มีกล้องคาไลโดสโคปจัดแสดงอยู่เยอะที่สุดในพิพิธภัณฑ์ กล้องที่ฉันชอบมากที่สุดก็อยู่ในห้องนี้ นั่นก็คือ กล้องที่มีลูกแก้วใหญ่เต็มกำมือ สีสันสวยงาม และมีหลายชิ้นให้เราเลือกส่องดู คือลูกแก้วนี้มองด้วยตาเปล่าก็สวยมากอยู่แล้ว แต่พอนำไปส่องดูจากกล้องคาไลโดสโคปมันก็ยิ่งสวยและแปลกตามากขึ้น บางชิ้นฉันใช้เวลาดูอยู่นานเลย เพราะฉะนั้นการมาพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เช้ามันจะมีประโยชน์ตรงนี้ คือเราดูได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องแย่งกับใคร คือ ณ ตอนที่เราเดินชม ทั้งพิพิธภัณฑ์มีแค่ครอบครัวของฉัน คู่คุณลุงคุณป้าชาวญี่ปุ่น และคุณมิซซึยเท่านั้น เมื่อถามคุณมิซซึยเรื่องจำนวนการเข้าชมของนักท่องเที่ยว เขาบอกว่า ก็แล้วแต่ช่วง บางช่วงก็เยอะมาก คือมากันเป็นทัวร์ เป็น 100 คนต่อวันก็มี แต่บางวันไม่มีคนมาเลยก็มี ฉันคิดว่าเป็นเพราะคนรู้จักค่อนข้างน้อย และการเดินทางก็ค่อนข้างยาก ถ้าไม่ได้มีรถส่วนตัวขับมาก็ต้องนั่งแท็กซี่มาเท่านั้น

กล้องคาไลโดสโคป

กลับมาที่ส่วนสุดท้ายคือโรงยิมที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ขนาดใส่สนามบาสครึ่งสนามได้ อีกทั้งอุปกรณ์การกีฬาก็ครบครัน มีห่วงชู้ตลูกบาส โต๊ะปิงปอง (เดาว่าอันนี้น่าจะของใหม่) อุปกรณ์กีฬายิมนาสติก จักรยานล้อเดียวก็ยังมี นอกจากจะเป็นพื้นที่เล่นกีฬาแล้ว ฉันคิดว่าน่าจะเป็นที่รวมพลและพื้นที่จัดกิจกรรมสันทนาการเพราะมีเวทีและม่านสีแดงสูงถึงหลังคาของโรงยิม ดูอลังการมากๆ พ่อบอกว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่านี่ขนาดเป็นโรงเรียนเก่า อยู่ต่างจังหวัด แต่มีสื่อการสอนที่ดีขนาดนี้ ฉันก็เห็นด้วย

กล้องคาไลโดสโคป กล้องคาไลโดสโคป

ก่อนกลับฉันสังเกตว่า บนกระดานดำในแต่ละห้องจะมีข้อความของคนที่มาเยี่ยมชมหรือคนที่มาทำกิจกรรมกับพิพิธภัณฑ์ คุณมิซซึยบอกฉันว่า ลองมาเขียนบนกระดานดำห้องนี้ได้นะ ฉันก็จัดเลย ทั้งวาดรูปและเขียนเป็นภาษาไทยและญี่ปุ่นว่า ‘สวัสดี ฉันมาจากประเทศไทย’ ไม่รู้ว่าตอนนี้จะยังอยู่บนกระดานรึเปล่า (ผ่านมา 1 ปีเต็มแล้ว) แต่ก็ได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกเรียบร้อยแล้ว

ห้องเรียนญี่ปุ่น

ความประทับใจของฉันต่อเมืองที่โด่งดังเรื่องความสวยงามของธรรมชาติ คือศิลปะภาพสะท้อนเล็กๆ ที่ไม่เล็กสำหรับใครบางคน คุณมิซซึยรวบรวมความสวยงามที่เกิดขึ้นจากมนุษย์ และแสดงออกอย่างมีเสน่ห์กลมกลืนไปกับเมืองฟุราโนะ การมองภาพสะท้อนที่สวยงามแต่นามธรรมและไร้ขีดกำจัด ทำให้จิตใจฉันสงบและโล่งไปชั่วขณะ ขณะที่ความฝันในกล้องของคุณมิซซึยกลายเป็นความจริง ประสบการณ์จากพิพิธภัณฑ์นี้ก็สะท้อนกลับเป็นภาพความทรงจำที่ดีในใจฉันเรียบร้อยแล้ว

ห้องเรียนญี่ปุ่น

พิพิธภัณฑ์กล้องคาไลโดสโคป
(Kaleidoscope Museum of Furano)

www.kaleidoscopes.jp
GPS: 43.270971, 142.373292
TEL: 0167- 42 – 3303
OPEN: 10.00 – 21.00 น. (ตั้งแต่ 18.00 – 21.00 น. ต้องจองล่วงหน้า)
PRICE: ผู้ใหญ่ 800 เยน เด็ก 500 เยน ผู้สูงอายุ (65ขึ้นไป) 700 เยน
HOW TO GO: ประมาณ 8 กม. จากตัวเมืองฟุราโนะไปทางใต้ หรือนั่งรถไฟสาย Nemuro จากเมืองฟุราโนะ ลงสถานี JR Nunobe (1สถานี) หรือ Yamabe (2สถานี) แล้วต่อรถแท็กซี่อีกประมาณ 4 กม.

อ้างอิง : วศิน เพิ่มทรัพย์และDPlus Guide Team. (2559). ตะลุยฮอกไกโด [edition2] Hokkaido. (พิมพ์ครั้งที่1). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์DPlusในเครือบริษัท โปรวิชั่น จำกัด.

 

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ปวิตรา ชำนาญโรจน์

บัณฑิตที่เพิ่งจบจากศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เอก exhibition design ยังว่างงานและเคว้งคว้าง แต่ขยัน ใจดี และเรียบร้อย