24 กรกฎาคม 2017
702

“ในชั่วชีวิตหนึ่ง หากแม้นสวรรค์ทรงอนุญาตให้อ่านหนังสือได้เพียงเล่มเดียว จงเลือกเล่มนี้เถิด ชีวิตจักไม่ตายเปล่าแน่แท้”

คำโปรยปกหลังหนังสือ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ประกาศศักดาของวรรณกรรมยิ่งใหญ่เรื่องนี้ เรื่องราวของชายแก่ผอมแห้งที่อ่านนิยายอัศวินจนเสียสติ หลงคิดว่าตนเองเป็นอัศวินชั้นสูงที่ออกเดินทางทั่วราชอาณาจักรสเปนเพื่อปราบอธรรม หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ให้ความบันเทิงและแง่คิดกับผู้อ่านชาวสเปนตั้งแต่ ค.ศ. 1605 ผลงานจากปลายปากกาของ มิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดฺร้า แปลเป็นภาษาต่างๆ เกือบทุกภาษาในโลกและได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดในโลก

ความยากของหนังสือเล่มนี้เองทำให้ไม่เคยมีการแปลเป็นภาษาไทย จนกระทั่งเกือบ 400 ปีต่อมา สถานเอกอัครราชทูตสเปนทาบทาม สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ อาจารย์และนักแปลภาษาสเปนที่ศึกษาผลงานของเซร์บันเตสมาโดยตลอด ให้แปล El Ingenioso Hidalgo Don Quijote de la Mancha ใน ค.ศ. 2001 สว่างวันจึงเดินทางไปเมือง Alcalá de Henares (อัลกาลา เด เอนาเรส) เมืองมรดกโลกใกล้กรุงมาดริดซึ่งเป็นบ้านเกิดของเซร์บันเตส

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

“ดิฉันเชื่อว่าเวลาทำงานใหญ่ เราไม่ได้ทำคนเดียว ต้องมีสิ่งที่ช่วยเหลือเรา จึงตรงไปที่พิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของเซร์บันเตส แล้วไปตั้งจิตอธิษฐานบอกเขาเป็นกิจจะลักษณะว่า อยากจะแปลผลงานของเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อยากให้คนไทยมีโอกาสได้อ่านหนังสือของเขา”

นักแปล ดอนกิโฆเต้ฯ เดินทางไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์เล็กๆ แห่งนี้หลายครั้ง เธอเล่าให้ฟังว่าข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงในบ้านอ้างอิงจากหลักฐานความเป็นจริง และจินตนาการผสมผสานกัน

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

“อุปกรณ์ในบ้านจัดตามคำบรรยายบ้านในศตวรรษที่ 17 และบางสิ่งในเรื่อง ดอนกิโฆเต้ฯ เช่น ในหนังสือมีกัลบก (ช่างตัดผม) เป็นตัวละครสำคัญคนหนึ่ง เพราะในตระกูลของเซร์บันเตสมีคนเป็นกัลบกหรือหมอระดับล่างสุดของยุโรปยุคนั้น แม้กระทั่งพ่อของเซร์บันเตสเองก็ประกอบอาชีพนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีเก้าอี้กัลบกให้เห็น บางห้องมีอ่างใส่ถ่านให้ความร้อนเหมือนฮีตเตอร์แบบโบราณ อย่างห้องรับแขกฝ่ายสตรีจะเป็นแบบนั่งพื้น เพราะสเปนได้รับอิทธิพลจากอาหรับที่ปกครองพื้นที่บางส่วนในสเปนกว่า 700 ปี

“ส่วนใบรับรองการประกอบพิธีศีลจุ่มของเซร์บันเตสเป็นเอกสารที่ทำให้เรารู้ว่าเขาเกิดที่นี่ มีเรื่องน่าแปลกอีกเรื่องคือ แม้จะมีผู้ค้นคว้าเกี่ยวกับนักประพันธ์เอกของโลกคนนี้มากมาย แต่ไม่อาจระบุแน่ชัดว่าเขาเกิดวันไหน ในนี้แจ้งว่าวันประกอบศีลจุ่มตรงกับวันที่ 9 ตุลาคม จึงสันนิษฐานกันว่ามิเกล์ เด เซร์บันเตส น่าจะเกิดวันที่ 29 กันยายน ไม่กี่วันก่อนวันศีลจุ่ม เพราะว่าวันนั้นเป็นวันนักบุญมิเกล แต่เรื่องราวของเซร์บันเตสก็เป็นเช่นนี้เอง คือ ไม่อาจระบุแน่ชัด ได้แต่สันนิษฐานจากตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง อ้างจากงานประพันธ์ของเขาเองบ้าง ยังมีเรื่องให้ค้นคว้าติดตามกันอีกมาก สมมุติว่าวันพรุ่งนี้ใครสักคนพบหลักฐาน กระดาษสักแผ่น จดหมายสักฉบับเกี่ยวกับเซร์บันเตส รับรองว่าจะเกิดเป็นคนดังแน่ๆ”

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

อัลกาลาเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราว 2 แสนคนเท่านั้น ความพิเศษของเมืองนี้คือเป็นคลังข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับ ดอนกิโฆเต้ฯ และเซร์บันเตส ห้องสมุดสำคัญๆ ทั้งของมหาวิทยาลัยอัลกาลาและห้องสมุดประจำเมืองมีเนื้อหาครบทุกอย่าง กระทั่งหนังสือเก่าหายากอย่าง ดอนกิโฆเต้ซามูไร ที่พิมพ์จำนวนจำกัดเพียง 200 เล่ม น่าจะจัดทำขึ้นเมื่อครั้งครบรอบ 350 ปี ดอนกิโฆเต้ฯ

หลังจากใช้เวลาค้นคว้าและแปลอยู่ 2 ปี ตรวจทานอีก 2 ปี ในที่สุด ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝันก็ออกมาผจญภัยตามร้านหนังสือในเมืองไทยตั้งแต่ ค.ศ. 2005 เมื่อทำงานเสร็จลุล่วง นักแปลตัดสินใจกลับไปที่อัลกาลาอีกครั้งเพื่อแสดงความเคารพนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่

“อยากแสดงความขอบคุณ และความรักที่มีต่อผลงานประพันธ์ของเขา รู้สึกทึ่งความเข้าใจในมนุษย์ กลวิธีการประพันธ์ที่นักเขียนชั้นนำของโลกเคยกล่าวว่า 400 ปีผ่านไป เรายังไม่อาจก้าวข้ามวรรณศิลป์ประพันธศาสตร์ที่เซร์บันเตสรังสรรค์ไว้ จึงซื้อดอกกุหลาบแดงไปวางที่แผ่นป้ายหน้าพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของเซร์บันเตส”

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

แม้อัลกาลาเป็นบ้านเกิด แต่ชีวิตของเซร์บันเตสเดินทางย้ายที่อยู่หลายครั้ง ด้วยการงานทำให้เขาต้องลงใต้บ้าง ไปเมืองโตเลโดบ้าง ความใฝ่ฝันของเขาคือการเป็นนักเขียนบทละครเรืองนาม จำเป็นจะต้องอยู่ในเมืองหลวงจึงจะมีผู้ชม เซร์บันเตสย้ายบ้านตามราชสำนักไปเมืองบาญาโดลิด ท้ายที่สุด เซร์บันเตสและภรรยา กาตาลีนา เด ซาลาซาร์ ก็ย้ายกลับมาอยู่มาดริดจวบจนสิ้นชีวิต

ณ กรุงมาดริดบ้านเช่าหลังสุดท้ายของเซร์บันเตสอยู่ย่านอักษร (Barrio de las letras) บริเวณที่ซึ่งนักประพันธ์และกวีในยุคทองของสเปนมารวมตัวอาศัยอยู่ ทั้งนักเขียนนวนิยายอย่างเซร์บันเตส บิดาแห่งละครอย่างโลเป้ เด ลาเบก้า หรือกัลเดร็อน เด ลาบาร์ก้า หรือกวีอย่างเกเบโด้ ครั้งนี้นักแปลมาแวะหน้าบ้านที่เซร์บันเตสเคยอาศัยอยู่ ปรากฏข้อความเขียนว่า ‘ณ ที่นี้ มิเกล์ เด เซร์บันเตส อาศัยอยู่ และตายเมื่อ ค.ศ. 1616’ ปัจจุบันบ้านเปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิม และกลายเป็นร้านขายรองเท้าเพื่อสุขภาพ

ตามผู้แปล ‘ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่าฯ’ ไปคารวะหลุมศพผู้ประพันธ์ที่สเปน ตามผู้แปล ‘ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่าฯ’ ไปคารวะหลุมศพผู้ประพันธ์ที่สเปน

สว่างวันเคยไปถนนสายนี้หลายครั้ง ตัวบ้านเช่าอยู่ใกล้กับโบสถ์ Convento de la Trinitaria หรือโบสถ์คณะตรีเอกภาพซึ่งเป็นสถานที่เซร์บันเตสระบุให้เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชีวิต ร่างของเขาฝังรวมกับคนอื่นๆ มานานเกือบ 400 ปี จนกระทั่งเมื่อ ค.ศ. 2015 เทศบาลเมืองมาดริดตัดสินใจค้นหาร่างของเซร์บันเตสให้ทันการฉลองครบรอบ 400 ปีมรณกาลในปี 2016

หลังจากติดตามข่าวการขุดและวิจัย จนกระทั่งมีข่าวประกาศว่า “มาดริดเปิดให้เยี่ยมหลุมศพของเซร์บันเตส” ผู้แปล ดอนกิโฆเต้ฯ ก็ตกลงใจว่าจะไปคารวะนักประพันธ์ในดวงใจอีกสักครั้ง เธอตัดสินใจเดินทางไปสเปนอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน 2017 ที่ผ่านมา

“เซร์บันเตสได้รับอิสรภาพพ้นจากการเป็นเชลยศึกด้วยความช่วยเหลือของนักบวชในคณะตรีเอกภาพ ซึ่งในอดีตนักบวชคณะนี้อุทิศตนเพื่อการไถ่เชลย โดยนำเงินจากครอบครัวเชลยไปไถ่ตัว ถ้าเงินที่ได้รับมีไม่มากพอก็จะขอเรี่ยไรเงินบริจาค เซร์บันเตสซึ่งเห็นว่า ‘เสรีภาพคือพรอันงดงามเหนือพรใดที่สวรรค์ทรงประทานแก่มนุษย์’ ก่อนจะเสียชีวิต จึงแจ้งความประสงค์ว่าจะฝัง ณ โบสถ์แห่งนี้”

การเข้าไปเยี่ยมชมหลุมศพของเซร์บันเตสนั้น เทศบาลเมืองมาดริดเปิดให้ชมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ด้วยผลงานของเซร์บันเตสนั้นเปรียบดุจมรดกโลก แต่การเยี่ยมชมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย หรืออย่างน้อยก็สำหรับผู้แปล อาจเพราะนักประพันธ์อยากลองใจผู้แปลผลงานของเขาก็เป็นได้

“โบสถ์นี้อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมของมาดริดซึ่งจัดให้ชมฟรี แต่จะเปิดให้ชมเฉพาะเช้าวันเสาร์เท่านั้น และต้องจองล่วงหน้าที่สำนักงานการท่องเที่ยวประจำเมืองมาดริดทุกเช้าวันจันทร์ และรับจำนวนจำกัด 30 คนเท่านั้น เมื่อไปถึงสำนักงาน เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าสัปดาห์นี้เต็มแล้ว ดิฉันก็เพียรอธิบายว่ามีเวลาจำกัด นับแล้วเหลือเพียง 2 เสาร์เท่านั้น จะต้องทำอย่างไรจึงจะได้คารวะเซร์บันเตส เจ้าหน้าที่ก็ยืนกรานตามเดิม เจ้าหน้าที่คงงงว่าต่างชาติคนนี้พูดไม่รู้เรื่อง สุดท้ายก็ใช้ลูกตื้อ คือยังไงๆ ก็ต้องดูให้ได้ (หัวเราะ) เขาก็อ่อนใจไล่ไม่ไปสักที จึงบอกว่าลองไปติดต่อที่โบสถ์เองเถอะ ดิฉันจึงยอมรามือ บ่ายหน้าไปโบสถ์ แต่คนดูแลโบสถ์บอกให้กลับมาใหม่ตอน 8 โมงเช้าวันรุ่งขึ้น”

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

นักแปลขึ้นรถไฟขบวนเช้าสุดจากอัลกาลามารอหน้าโบสถ์ เพื่อจะได้ใช้เวลาก่อนพิธีมิสซาเคารพหลุมศพ เวลา 08.02 น. ใจเธอเต้นแรงขณะเดินวนไปรอบโบสถ์ หลุมศพอยู่ไหนหนอ ทำไมไม่พบ เดินวนอยู่หลายรอบ จนผู้ดูแลโบสถ์เดินมาถามว่า “เธอใช่ไหมที่โทรมาจะเคารพหลุมศพเซร์บันเตส อยู่ตรงนี้”

ภาพเบื้องหน้ามิใช่หลุมศพหรูหรา เป็นเพียงป้ายเรียบง่ายใกล้ปากทางเข้าโบสถ์ ข้อความเขียนว่า ‘ณ ที่นี้ มิเกล์ เด เซร์บันเตส ทอดร่าง” ชาตะ 1547 มรณะ 1616 สว่างวันเดินสำรวจและเก็บภาพทุกจุดจนผู้ดูแลโบสถ์สงสัยว่าเธอสนใจอะไรนัก เมื่อรู้ว่าเธอคือผู้แปล ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับภาษาไทย ผู้ดูแลจึงพาเธอไปด้านในที่ปกติไม่เปิดให้ใครเข้าชมง่ายๆ

“ประตูบนพื้นนี้ มีบันไดทอดลงไปยังหลุมฝังศพรวม บริเวณที่พบว่าน่าจะเป็นร่างของเซร์บันเตสมีอีก 17 ร่าง นักนิติมนุษยวิทยา หัวหน้าทีมการขุดค้นครั้งนี้ อยากให้เซร์บันเตสมีหลุมศพที่เป็นทางการ เพราะชาติอื่นๆ กวีเอก นักเขียนเอก ของเขาล้วนแล้วแต่มีหลุมศพให้ผู้คนไปเยี่ยมชมสักการะ แต่เซร์บันเตสเสียแรงเป็นนักเขียนระดับโลก กลับไม่มีหลุมศพของตัวเอง”

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

“นักวิจัย 30 คนที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านนิติเวชศาสตร์ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านขุดเจาะพื้นที่ ร่วมกันค้นคว้าวิจัย และสรุปว่าการตรวจด้วย DNA เป็นเรื่องยากเพราะสายตระกูลผ่านมาแล้วถึง 12 รุ่น ถ้าจะตรวจ DNA เปรียบเทียบกับศพพี่สาวที่บวชเป็นชี ก็ต้องเปิดหลุมศพอีกแห่งหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นการรบกวนผู้จากไป ประเด็นเรื่อง DNA จึงล้มไป แต่จากประวัติชีวิตของเซร์บันเตส เรารู้ว่าเขาเคยถูกยิง 3 นัด เข้าที่ช่วงอก 2 นัด และเข้าที่แขนอีก 1 นัด เซร์บันเตสจึงเป็นนักเขียนที่มีแขนซ้ายพิการ

“ทีมวิจัยจึงอาศัยหลักฐานทางชีวะเพื่อค้นหาศพที่มีรอยกระสุนที่อก ปรากฏว่าพบศพนั้นจริงๆ และข้างๆ เป็นศพผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นโครงกระดูกของภรรยาคือ นางกาตาลีนา ทางทีมงานตัดสินใจนำทั้ง 17 ศพขึ้นมาฝังรวมกัน เพราะการพยายามแยกเซร์บันเตสออกมาอาจเป็นการทำลายศพทั้งหมด เนื่องจากบริเวณที่ฝังชื้นมากและเก่าแก่มาก ในที่สุดหลังจาก 400 ปีผ่านไป เซร์บันเตสจึงมีหลุมศพอย่างเป็นทางการ”

หน้าหลุมศพของเซร์บันเตสไม่มีพื้นที่สำหรับวางดอกไม้ แผนการนำดอกกุหลาบแดงมาวางที่หลุมศพจึงต้องพับไป สว่างวันกลับไปที่พิพิธภัณฑ์เมืองอัลกาลาอีกครั้งเพื่อสักการะนักเขียนผู้ล่วงลับด้วยดอกไม้ เพื่อบอกนักเขียนของเธอว่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน ภาค 2 จะโลดแล่นผจญภัย ณ ดินแดนไกลโพ้น ที่มีนามว่าประเทศไทย ในอนาคตอันใกล้นี้

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

“ตอนที่นำดอกไม้ไปให้ครั้งล่าสุด ปรากฏว่ามีนักเรียนวัย 13 – 15 มาชมเยอะมากเพราะเป็นช่วงปลายเทอม มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไปถามอาจารย์ว่าทำไมเขาเอาดอกไม้มาให้เซร์บันเตสล่ะ อาจารย์เขาก็บอกว่า ดูสิ แม้แต่ชาวต่างชาติยังชื่นชมนักเขียนของเรา เห็นหรือยังว่าที่ที่คุณไม่อยากจะมาเท่าไหร่ คนอื่นเขาเดินทางมาไกลๆ เพื่อมาชม”

การตามรอยเซร์บันเตสในเมืองสองเมืองจบลงเท่านี้ แต่การผจญภัยในหน้ากระดาษของดอนกิโฆเต้กำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งในรูปแบบภาษาไทย หนทางของขุนนางเฒ่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่การเดินทางในอาณาจักรสเปนโบราณก็น่าติดตามไม่แพ้เส้นทางบนโลกความเป็นจริง

ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า

ภาพ : สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์, นพดล เลิศเอกสิริ

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’

ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง