11 กรกฎาคม 2017
813

‘บันจี้จัมพ์’ (Bungee Jump) กีฬาเอ็กซ์ตรีมชื่อก้องโลกที่เชื่อกันว่าเริ่มเล่นครั้งแรกในประเทศนิวซีแลนด์นั้น ความจริงแล้วกีฬาชนิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากพิธีนาโกล (Nagol) บนเกาะเพนเทอคอสต์ (Pentecost) ประเทศวานูอาตู (Vanuatu) ต่างหาก

นาโกลของจริงเด็ดสะระตี่กว่าบันจี้จัมพ์มากมายหลายเท่า และผู้เล่นไม่ได้อาศัยเพียงความกล้า แต่ต้องมีศรัทธาอย่างเต็มหัวใจ

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

เช้าตรู่วันเสาร์ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เครื่องบินเล็กขนาด 10 ที่นั่ง ติดเครื่องกระหึ่มก่อนทะยานสู่ท้องฟ้าพร้อมพาผู้โดยสารทั้งสิบชีวิตออกเดินทางจากพอร์ต วิลา (Port Vila) เมืองหลวงของวานูอาตู สู่เกาะเพนเทอคอสต์ โดยมีผมเป็นคนไทยเพียงหนึ่งเดียว

วานูอาตู ประกอบไปด้วยหมู่เกาะน้อยใหญ่ 87 เกาะที่เรียงรายดูคล้ายตัวอักษร Y บนมหาสมุทรแปซิฟิกอันกว้างใหญ่ การเดินทางด้วยเครื่องบินเล็กจากเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่งเป็นประสบการณ์อันแสนพิเศษเพราะเครื่องบินต้องบินต่ำใต้เมฆ ทำให้เราได้ทักทายเกาะต่างๆ ไปเรื่อย ๆ ตามระยะทางที่บิน น้ำทะเลเป็นสีครามสวยสดใสหลากหลายเฉดในวันอากาศดี และถ้าเราโชคดีพอ เราอาจมองลงไปเห็นฝูงวาฬพันธุ์หายากว่ายโชว์อยู่เบื้องล่าง

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

เพียง 1 ชั่วโมงต่อมา เครื่องบินลำจิ๋วก็เริ่มลดระดับเพดานบินลงสู่เกาะเพนเทอคอสต์ที่เขียวชอุ่มและแน่นทึบไปด้วยป่ารกชัฏเบื้องล่าง มีเพียงลานหญ้าที่ไถโล่งไว้เป็นรันเวย์สำหรับให้เครื่องบินลงจอด

ที่สนามบินลานอรอร์ (Lanoror) ชาวเกาะมารอดูเครื่องบินขึ้นลงกันมากมาย ผู้คนดูตื่นเต้นที่วันนี้มีแขกจากทั่วทุกมุมโลกแห่แหนกันมาเยือนเกาะสวยของพวกเขา ถึงกับมีวงดนตรีเล็กๆ เล่นกีตาร์ เคาะจังหวะ และร้องเพลงพื้นเมืองรอต้อนรับพวกเราอยู่ด้วย

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

ก่อนจะชมพิธีนาโกล ผมว่าเรามารู้จักที่มาของนาโกลกันก่อนนะครับ ตำนานของนาโกลนั้นมีอยู่ 2 เรื่องที่เล่าขานกันมาจนถึงทุกวันนี้

ตำนานแรกกล่าวถึงสาวน้อยนางหนึ่งเป็นสตรีโชคร้ายเพราะได้แต่งงานกับสามีที่มักมากในกามกิจ ไม่ว่านางจะสนองเขาอย่างไรก็ไม่สามารถถมความต้องการของเขาได้เสียที นางเลยคิดว่าอย่าทนเลยผัวแบบนี้ ชิ่งหนีดีกว่า

วันร้ายคืนร้ายนางจึงวิ่งหนีสามีออกจากบ้านเข้าป่าใหญ่ โดยมีสามีไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด นางเห็นต้นไทรใหญ่อยู่เบื้องหน้าจึงรีบปีนป่ายขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะที่สามีจอมหื่นก็ไม่คิดที่จะลดละและยังปีนไล่ตามต่อไปเรื่อยๆ จนนางปีนขึ้นมาถึงยอดไทร ละลนละลานหนีไปจนสุดปลายกิ่ง และแล้วเขาก็ตามมาจนเกือบจะทัน

‘ฮ่า ฮ่า ฮ่า… หนีไม่รอดแน่นังหนู’ เขาคิด

นางเหลือบไปเห็นเถาวัลย์ที่ห้อยอยู่บนนั้นจึงรีบคว้ามาผูกที่ข้อเท้า และในเสี้ยววินาทีที่เขาเกือบจะคว้าตัวนางไว้ได้ นางก็รีบชิงกระโดดหนี พร้อมกับที่สามีกระโดดตาม

‘ตุ้บ’ เสียงร่างของสามีร่วงหล่นแหลกเหลวเละอยู่บนพื้นดิน ขณะที่นางรอดตายได้ด้วยเถาวัลย์เส้นนั้นที่เกี่ยวกระตุกร่างให้กระดอนขึ้นในเสี้ยววินาทีสุดท้าย

ผู้ชายชาวเกาะเพนเทอคอสต์จึงดำริว่าเหตุการณ์นี้มันแสบสันยิ่งนัก พวกเราจงมาโดดด้วยการเอาเถาวัลย์ผูกข้อเท้าไว้เพื่อเตือนลูกหลานเพศชายทั้งหลายไว้ว่าอย่าปล่อยให้เพศหญิงหลอกลวงพวกเราจนถึงแก่ชีวิตอีกต่อไป

นั่นเป็นที่มาของพิธีนาโกลตามตำนานที่ 1

ส่วนตำนานที่ 2 นั้นกล่าวว่าในช่วงเวลาที่จะมีพิธีนาโกลเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเก็บเกี่ยว ‘แยม’ (Yam) พืชมีหัวคล้ายเผือก แยมจัดเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตหลักของชาววานูอาตู และในช่วงเดือนเมษายนนี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวแยมครั้งแรกพร้อมๆ กับการเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกแยมครั้งที่ 2 ของปี

เพื่อเป็นการแสดงคารวะต่อผืนดินและขอพรให้การเพาะปลูกครั้งที่ 2 ได้ผลสำเร็จดีกว่าครั้งแรก ชาวเผ่าจึงดำริให้มีพิธีนาโกลขึ้นเพื่อแสดงความคารวะต่อผืนดินดังกล่าว

ไม่ว่าตำนานจะเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมทึ่งมากที่สุดคือเรื่อง ‘ภูมิปัญญาท้องถิ่น’

เดือนเมษายนที่จัดพิธีนาโกลเป็นช่วงฤดูฝนชุก ดังนั้น หอโดดที่สร้างขึ้นด้วยไม้จึงไม่เปราะร้าว ผู้โดดสามารถปีนขึ้นไปยืนเตรียมกระโดดได้ย่างสบายใจ ส่วนเถาวัลย์ ผู้โดดแต่ละคนต้องเข้าป่าไปเลือกขนาดตามความสูงและน้ำหนักตัวของตน และไปตัดกลับมาใช้ในพิธีนาโกลด้วยตัวเอง เมื่อเป็นช่วงฤดูฝน เถาวัลย์ก็จะอยู่ในสภาพอุ้มน้ำ มีความเหนียวหนืดกำลังดี ไม่เปราะแตกง่ายเช่นกัน

ที่สำคัญคือ พื้นดินบริเวณที่จัดพิธีนั้นก็จะอยู่ในสภาพกึ่งดินกึ่งโคลน มีความหยุ่นและนุ่ม ไม่ใช่ดินแห้งแตกระแหงแบบหน้าร้อน หากจะมีความผิดพลาดจากการโดดบ้าง ผู้โดดก็จะไม่ได้รับบาดเจ็บมาก

ผมว่าพิธีนี้ผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบ ทำให้ไม่เคยมีผู้ใดเสียชีวิตจากพิธีนี้เลย แม้จะโดดกันมานานเป็นร้อยปีแล้วก็ตาม

ปะรำโดดบนหอนั้นจะมีหลายระดับความสูงตั้งแต่ไม่กี่เมตรเหนือพื้นดินขึ้นไปเรื่อยๆ จนสูงลิบไม่ต่ำกว่า 30 เมตร ผู้โดดจะเป็นเพียงผู้ชายที่ผ่านการขลิบอวัยวะเพศมาแล้วเท่านั้น คือต้องมีอายุประมาณ 8 – 10 ปี ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ จนหัวหน้าเผ่าซึ่งมักเป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด ผู้ที่อายุน้อยก็โดดในระดับใกล้พื้น ส่วนผู้อาวุโสสูงสุดก็โดดจากยอด และการโดดก็จะเริ่มจากผู้น้อยก่อน

 

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

เมื่อไปถึง ผมพบชาวเกาะจำนวนมากทั้งหญิงและชายในชุดพื้นเมืองยืนกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ ผู้ชายจะถือพลองที่ทำจากไม้ ส่วนผู้หญิงจะถือพู่ที่ทำจากใบไม้ ผู้ชายอยู่ทางขวา ผู้หญิงอยู่ทางซ้าย มีหอโดดเป็นเส้นแบ่งชายหญิงออกจากกัน ทั้งชายและหญิงจะพากันร้อง เต้น และเดินไปมาตามจังหวะกันอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ เสียงก้องกระหึ่ม

ผมไม่แน่ใจว่าความหมายของเพลงคืออะไร แต่ผมรู้สึกว่าเป็นการส่งพลังใจให้ผู้โดดที่ดีเยี่ยม พิธีนี้เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ของเผ่าที่ทุกคนมีส่วนร่วม ไม่ใช่เฉพาะผู้โดดเท่านั้น เพราะการเต้นและร้องเพลงพื้นเมืองเช่นนี้มีขึ้นนับเป็นชั่วโมงๆ ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบพิธี

คนแรกที่โดดเป็นเด็กน้อยตัวเล็กๆ โดยพ่อเป็นผู้รัดเถาวัลย์ที่ข้อเท้าให้แน่น แล้วดูลูกชายโดดลงมาท่ามกลางความหวาดเสียวมากๆ ของผู้ดู เพราะเถาวัลย์จะกระตุกในเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนหัวถึงพื้นจริงๆ

สำหรับผู้ใหญ่จะปีนขึ้นไปโดดด้วยตัวเอง โดยบนปะรำจะมีเพื่อนชาวเผ่าอีก 2 – 3 คนคอยช่วยนำเถาวัลย์มารัดที่ข้อเท้าให้เรียบร้อย จากนั้นผู้โดดจึงเดินมาปลายสุดของปะรำ ในมือจะถือช่อดอกไม้และหญ้าแห้งพร้อมโยกตัวไปมาเล็กน้อย ก่อนจะยืดตัว โปรยดอกไม้ แล้วโดดลงมา

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

การโดดเป็นการโดดแบบทิ้งดิ่งเลยนะครับ ทิ้งตัวปักหัวลงมาเลย เล่นเอาคุณป้าฝรั่งเศสกรีดร้องออกมาแทบจะทุกครั้งที่มีการกระโดด บางครั้งคุณป้าถึงกับเรียกหาพระเจ้า หรือ Mon Dieu กันให้วุ่น

ขอสารภาพว่าผมแอบลุ้นจนกำมือแน่นไปหลายครั้ง ยิ่งการกระโดดเขยิบสูงขึ้นไปเท่าไหร่ ความตื่นเต้นก็ทวีคูณขึ้นไปเท่านั้น เวลาเถาวัลย์กระตุกในวินาทีสุดท้ายเป็นสิ่งที่ลุ้นมากที่สุด ผมเห็นผู้โดดกางมือออกตะปบพื้นดินในเสี้ยววินาทีสุดท้ายก่อนเถาวัลย์จะดีดร่างของพวกเขาขึ้นจากพื้นดินและความตายเพียงไม่กี่เซนติเมตร

หลังเวลาผ่านไปนานนับชั่วโมง มีผู้โดดหอหลายสิบคน คนสุดท้ายคือท่านผู้อาวุโสสูงสุดของเผ่าที่โดดจากยอดหอลงมาอยางสวยงาม พร้อมกันนั้น การเต้นและร้องเพลงท้องถิ่นของกองเชียร์ชายหญิงด้านล่างก็จบลงด้วย

นาโกลคือพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเผ่าอนุญาตให้เราเข้าไปร่วมชมได้ แต่เราต้องประพฤติอย่างผู้ที่มาชื่นชมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา คือดูด้วยความเคารพ สงบ และไม่เพ่นพ่านวุ่นวาย แม้แต่จะเข้าใกล้หอโดด ผมยังได้รับคำแนะนำว่าไม่ควรทำอย่างยิ่ง ในวันนั้นผมคิดว่านักท่องเที่ยวปฏิบัติตัวได้ดีมาก เพราะเสียงที่ได้ยินตลอดพิธีคือเสียงเพลงพื้นเมืองที่ชาวเกาะร้องเท่านั้น ไม่มีเสียงโห่ฮาเป่าปากใดๆ

นาโกล : พิธีโดดหอสุดระทึกของชาววานูอาตู

เมื่อพิธีโดดในวันเสาร์นี้เสร็จสิ้นลง หอไม้ทั้งหอจะถูกคลุมด้วยใบตองเพื่อรักษาความชุ่มน้ำไว้ในเนื้อไม้ และจะเลิกใบตองที่คลุมอยู่อีกทีเมื่อถึงเวลาโดดในเสาร์ต่อไป เมื่อครบกำหนดการโดด 5 – 6 สัปดาห์ติดกันแล้ว ชาวเกาะก็จะรื้อหอโดดลง และจะสร้างใหม่อีกทีเมื่อถึงพิธีนาโกลปีหน้า

ภาพของชายชาวพื้นเมืองหลากวัยหลากรุ่นที่ค่อย ๆ ปีนขึ้นหอโดดด้วยอาการมุ่งมั่น ก่อนยืดอกตั้งตัวตรง และพุ่งหัวเหินทิ้งดิ่งไปลงมาแบบไม่กลัวเกรงอะไรทั้งสิ้นยังติดอยู่ในความทรงจำของผม ที่เท้าของพวกเขามีเพียงเถาวัลย์เกี่ยวกระหวัดเอาไว้เท่านั้น

พวกเขาทำได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ศรัทธาที่แรงกล้าต่อพิธีนาโกลอันน่าทึ่งนี้

 

ถ้าคุณมีประสบการณ์เดินทางแปลกใหม่ / บทเรียนจากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญส่งเรื่องราวของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue/โรงเรียนนานาชาติ’

ถ้าผลงานของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะมีสมุดบันทึกปกหนังเล่มสวยส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK