“แม่อยากไปตรัง พาแม่ไปหน่อย”

คุณนายแม่มีความฝันที่จะนั่งรถไฟสายใต้ไปเที่ยวมานานแล้วแต่ยังไม่สบโอกาส จนกระทั่งความอยากไปพักผ่อนสมองก่อตัวเหมือนพายุที่โถมเข้ามาหาลูกแบบกรมอุตุนิยมวิทยาไม่ต้องพยากรณ์ เธอจึงลั่นวาจาขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่าลูกผู้ซึ่งโปรดปรานการนั่งรถไฟอยู่แล้วไม่ต้องคิดคำปฏิเสธให้มากความ

เราสองคนแม่ลูกตัดสินใจออกจากกรุงเทพฯ วันศุกร์เย็น เพื่อให้มีเวลาเที่ยวอย่างน้อยก็วันเสาร์และวันอาทิตย์ก่อนที่จะกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น

รถด่วนตรังเป็นตัวเลือกแรกที่เราจิ้มซื้อตั๋วโดยไม่ต้องคิดเยอะ ขบวนนี้เป็นขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ความพิเศษของมันคือ มีรถโดยสารที่ครบเครื่องตั้งแต่รถนั่งพัดลมยันรถนอนแอร์ห้องส่วนตัว ตู้นอนชั้นสองก็เตียงกว้างสะดวกสบาย จอดระหว่างทางก็น้อยมากซะจนนึกว่ารถด่วนพิเศษ เวลาก็สวยงามน่าคบหา ด้วยเวลาออกจากกรุงเทพฯ ในช่วง 5 โมงเย็นและถึงตรังในช่วง 8 โมงเช้า… โอเค เลือกเลย!!

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง

วันเดินทางจริงเหมือนพายุซัดเข้ามาแบบหน้าหงาย เพราะวันที่เราออกเดินทางนั้นมีรถไฟตกรางที่สถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ซึ่งทำให้รถไฟด่วนของเรา ไม่สิ รถไฟของทุกขบวนในสายใต้ต้องหยุดรอเพื่อกู้รถไฟที่ตกรางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นหมายความว่าเราต้องอยู่บนรถไฟกันอีกต่อไปอีก อย่างน้อยก็ถึงช่วงบ่ายจากที่ต้องไปถึงตอนเช้า ตอนนั้นก็ได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า เอาน่า ไม่ใช่ขบวนเราขบวนเดียวที่โดน แต่มันโดนกันยกสาย

รถไฟด่วนกลางคืนที่กลายร่างเป็นรถด่วนกลางวันวิ่งห้อตะบึงไปเรื่อยๆ ผู้โดยสารในรถหลายคนก็นั่งคุยกัน บ้างก็ชมวิวกลางวันที่ปกติไม่ได้เห็นกันไปพลาง ทั้งวิวทะเลแถวประจวบ ป่ายางและต้นไม้ข้างทางที่เขียวได้ตลอดทั้งปี แม่น้ำตาปีที่สุราษฎร์ธานี หรือเทือกเขานครศรีธรรมราชที่เป็นเงาทะมึนขนานไปกับทางรถไฟเกือบตลอดทางตั้งแต่ออกสุราษฎร์ธานีไป

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง

ปกติเราเป็นคนไม่เหนื่อยกับการนั่งรถไฟนานๆ อยู่แล้ว แต่การที่แม่มาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่าแม่จะเข็ดรถไฟไปเลยไหมที่เจอแจ็กพอตแบบนี้ พอแม่ตอบว่า “ไม่เบื่อ ดูวิวไปเรื่อยๆ แม่ไม่เคยนั่งสายใต้กลางวันเลย” ก็รู้สึกว่าแม่อึดกว่าที่คิด แถมติดตลกด้วยว่า “ทำไมซื้อหวยไม่เคยถูกเหมือนเจออะไรแบบนี้บ้าง”

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง

ถึงซะที นี่คือสิ่งแรกที่เราคิดเมื่อรถไฟจอดเทียบชานชาลา (ในขณะที่คุณหญิงแม่ดูไม่เพลียเลย เก่งเป็นบ้า)

เพื่อนแม่ยืนโบกมือรับพวกเราที่ชานชาลาด้วยรอยยิ้มเด่นเห็นมาแต่ไกล แม่บอกว่าไม่ได้เจอเพื่อนมาเป็นสิบปีแล้วตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ภูเก็ต สิ่งแรกที่เราสองคนแม่ลูกโดนลากไป คือการหาข้าวกินที่ตลาดถนนคนเดินสถานีรถไฟตรัง ตลาดนี้จัดเฉพาะวันศุกร์และวันเสาร์ช่วงเย็น หลังจากที่รถด่วนตรังขาเข้ากรุงเทพฯ ออกจากสถานี 

ถนนคนเดินที่นี่ไม่ได้ใหญ่มากเหมือนกับเมืองท่องเที่ยวหลายๆ แห่ง มีร้านขายของที่ระลึก ร้านอาหาร แม่เพลิดเพลินกับการช้อปของกินโลคอลกระจาย ไม่ว่าจะเป็นมังคุดคัด ขนมโค ไข่ปลาทอด โรตี ซึ่งก็ดูออกว่าหิว นอกจากนั้นยังมีเวทีแสดงความสามารถทางดนตรีของน้องๆ นักเรียนที่บอกได้เลยว่าฝีมือไม่เบา

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง

ไปตรังกัน

เช้าวันถัดมาหลังมื้อติ่มซำที่กินเข้าไปเต็มที่ แผนการเที่ยววันนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เราตั้งใจเดินเล่นในเมืองแล้วถ่ายรูปย่านเมืองเก่าไปเรื่อยๆ ซึ่งการเที่ยวย่านเมืองเก่าเป็นสิ่งที่เราโปรดปรานมาก เหตุผลไม่มีอะไรมาก แค่อยากรู้จักเมืองที่ไปเที่ยวให้มากกว่าเดิม

การทัวร์เริ่มต้นที่ ‘คริสตจักรตรัง’

อาคารทรงเหลี่ยมมีหอสูงเหมือนป้อมทหารโบราณสีเหลือง ตั้งอยู่เด่นชัดขนาบด้วยตึกสมัยใหม่ที่ทำให้ตึกเก่าแห่งนี้ดูโดดเด่นขึ้นมาทีเดียว ข้อความ “วิหารคริสต์ศาสนา สร้าง ค.ศ. ๑๙๑๕” จารึกไว้บนซุ้มโค้งเหนือประตูทางเข้าวิหาร นับนิ้วแล้วก็รู้ได้ว่าคริสตจักรแห่งนี้อายุถึง 105 ปี

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง

ที่นี่เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากคณะมิชชันนารีอเมริกัน ตัววิหารเป็นอาคารชั้นเดียวขนาดเล็ก ลักษณะการก่อสร้างเป็นแบบก่ออิฐระบบกำแพงรับน้ำหนัก มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง อาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ข้างในมี 3 ส่วน คือ โถงระเบียงหน้า โถงชุมนุม และส่วนศักดิ์สิทธิ์อยู่ต่อจากโถงชุมนุม

ส่วนด้านหน้าเป็น 3 ช่วงเสาโค้งที่สวยงามมาก ด้านข้างทุกช่วงเสามีหน้าต่างไม้บานเปิดคู่ หลังคาโถงชุมนุมเป็นหลังคาจั่วมุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์รูปว่าว การตกแต่งอาคารนั้นมีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นการเน้นด้วยลายปูนปั้นที่กรอบประตูหน้าต่าง ในส่วนของหอระฆังเดิมเลยเป็นดาดฟ้าเหมือนป้อมทหาร มีการปรับปรุงตัวอาคารใหม่ เพราะระฆังในหอชั้นสองมีเสียงดังก้องมากไป ก็เลยเพิ่มชั้นบนสุดบวกหลังคากลายเป็น 3 ชั้นไปอย่างที่เห็น ซึ่งน่าเสียดายมากที่วิหารนี้เปิดเฉพาะวันศุกร์ เราเลยอดเห็นด้านในว่าจะสวยขนาดไหน

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง

การโต๋เต๋ไปตาม ‘ย่านเมืองเก่า’ มันสนุกมาก ตึกเก่ามีเสน่ห์ในตัวของมัน สายตาหันซ้ายขวามองไปก็เจอตึกสไตล์ชิโนยูโรเปียนที่มีซุ้มโค้งทางเดินหลบซ่อนตัวอยู่ตามที่ต่างๆ ของถนนกันตัง ถนนราชดำเนิน ไปจนถึงแถบหน้าศาลากลาง ถ้าวกเข้าไปทางตลาดเทศบาล ก็จะมีสตรีทอาร์ทแฝงตัวอยู่ตามกำแพงบ้านเก่าประปราย อาจเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ทำการบ้านมาก่อนเดินด้วยแหละว่ามันมีภาพพวกนี้ตรงไหนบ้าง เลยอาศัยเหมือนเล่นเกมซ่อนหา เจอตรงไหนค่อยถ่ายรูปตรงนั้น

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง

เราสังเกตว่าโซนเมืองเก่านี้ไม่มีสายไฟรกรุงรัง (มิน่าเลยถ่ายรูปสนุก) เลยค้นข้อมูลพบว่า ตรังเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่มีการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดินตั้งแต่ พ.ศ. 2545 นั่นแน่ะ!

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง, นั่งรถไฟไปตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

เจ้าของโครงการคือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) โปรเจกต์นี้เริ่มได้เพราะว่าตรังเป็นเมืองที่มีกำลังการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น ผนวกกับเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญจึงต้องการเปิดทัศนียภาพของสถาปัตยกรรมเมืองที่สวยงาม รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด 

เจ้าระบบไฟฟ้าใต้ดินเนี่ย เขาใช้สายตัวนำหุ้มฉนวน ทนแรงดันได้สูง มีความปลอดภัย ซึ่งวิธีการเอาสายไฟลงใต้ดินนั้นจะขุดเจาะใต้ดินลึกประมาณ 4 – 5 เมตร แล้วเอาสายไฟฟ้าและสายเคเบิลลงใต้ดิน สอดไปในท่อยางกันน้ำและความชื้นขนาดใหญ่ที่ต่อกันยาวๆ ท่อแบบนี้มีคุณสมบัติรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี พอสายไฟฟ้าและสายเคเบิลอยู่ในท่อยางเรียบร้อยแล้วก็จะฝังท่อลงไว้ใต้ดิน เป็นอันเสร็จกระบวนการ

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

ความดีงามของการเอาสายไฟฟ้าลงดินอันแรกที่เห็นเลย คือทำให้ทัศนียภาพของตัวเมืองตรังเป็นระเบียบ สวยงาม สองคือมีความปลอดภัยกับการใช้งาน ไม่ต้องกังวลเรื่องไฟดับจากฝนตกลมแรงหรือรถชนเสาไฟ แถมยังรับกับต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกให้ร่มเงาข้างทางได้อย่างดีด้วย 

พอองค์ประกอบทุกอย่างมันรวมกัน การเดินชมเมืองเก่าและถ่ายรูปยิ่งชูให้ตึกเก่าที่กระจายตัวอยู่ตามถนนหนทางมันสวยเด่นสง่า ตรังเลยกลายเป็นเมืองสวยไร้สายที่น่าหลงเสน่ห์เข้าไปอีก นอกจากตรังแล้วก็ยังมีเมืองใหญ่อีกหลายที่ที่เอาสายไฟลงดินเพื่อปรับภูมิทัศน์อีก ไม่ว่าจะเป็นน่าน เชียงใหม่ นครพนม ขอนแก่น หาดใหญ่ พัทยา

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

ตอนนี้ก็ 10 โมงกว่าแล้ว จาก ‘วงเวียนพะยูน’ แถวจวนผู้ว่า ผ่าน ‘ศาลากลางจังหวัด’ สองเท้าพาเราเดินโต๋เต๋ผ่าน ‘หอนาฬิกา’ สัญลักษณ์เมืองตรังที่เมื่อก่อนเป็นหอกระจายข่าวของเมือง ผ่านถนนพระรามหกซึ่งเป็นถนนสี่เลนมุ่งหน้าตรงไปที่สถานีรถไฟตรัง นั่นคือที่หมายถัดไปซึ่งเราจะจับรถไฟไปกันตัง

‘สถานีรถไฟตรัง’ เป็นสถานีหลักประจำจังหวัด เดิมทีสถานีนี้ชื่อว่า สถานีทับเที่ยง ตามตำบลที่ตั้ง ยุคที่มีการเปิดเดินรถไฟแต่แรกนั้นตัวเมืองตรังตั้งอยู่ที่กันตัง ต่อมา พระวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว.สุทัศน์ สุทธิสุทัศน์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ตได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 ไปว่า เมืองตรังนั้นตั้งอยู่ที่กันตังตรงริมทะเล ไม่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เกรงว่าจะถูกโจมตีเช่นเดียวกับปีนัง จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานบรมราชานุญาตย้ายที่ว่าการจังหวัดไปตั้งที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรัก ใน พ.ศ. 2459

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

ผลจากการย้ายตัวเมืองตรังนั้น สถานีทับเที่ยงจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีตรัง และสถานีตรังเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีกันตัง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2460 ตามพระบรมราชวินิจฉัย

จังหวัดตรังเองเป็นเมืองที่เติบโตได้จากระบบการคมนาคม ด้วยโลเคชันที่ตั้งอยู่ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย มีท่าเรือที่ใช้ขนถ่ายวัสดุจากยุโรปในการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ ถ้าหากมาจากฝั่งญี่ปุ่นก็จะไปส่งที่ท่าเรือสงขลา 

ดังนั้น การก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ส่วนแรกจึงเริ่มต้นมาจากตรัง อีกส่วนเริ่มมาจากสงขลา แล้วค่อยๆ สร้างมาเจอกันที่ทุ่งสง ก่อนขึ้นเหนือไปเจอกับทางรถไฟสายใต้ตอนบนที่สร้างต่อจากเพชรบุรี ผ่านหัวหิน ลงมาป๊ะกันที่ชุมพร ทำให้ทางรถไฟสายใต้ตลอดสายนั้นสร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ในขณะที่ทางรถไฟสายเหนือยังสร้างไปถึงแค่ลำปาง และสายอีสานยังไปถึงแค่โคราช

ทางรถไฟสายแรกของตรังเริ่มต้นที่สถานีตรัง (สถานีกันตังในปัจจุบัน) ผ่านทับเที่ยง ห้วยยอด ไปถึงทุ่งสง เปิดเดินรถตามลำดับ จากตรังไปห้วยยอด เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2456 และส่วนที่สองจากห้วยยอดไปทุ่งสงบรรจบกับทางสายใหญ่ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2456 (นับตามปีปัจจุบันคือ พ.ศ. 2457)

นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ที่นำความเจริญผ่านเข้ามาที่จังหวัดตรังด้วย ซึ่งเพชรเกษมนั้นวิ่งตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยมาตั้งแต่กรุงเทพฯ จนถึงชุมพร แล้วถนนก็เบี่ยงออกไปฝั่งอันดามัน ผ่านระนอง พังงา กระบี่ เข้ามาถึงตรัง ก่อนจะเบนทิศผ่านเขาพับพ้าไปฝั่งอ่าวไทย ผ่านพัทลุงและเข้าสงขลาที่หาดใหญ่ ซึ่งถนนสายนี้นับเป็นการเชื่อมจังหวัดภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันถึงกันได้อย่างสะดวกไม่ต่างกับเส้นทางรถไฟ จึงพูดได้เต็มปากว่า ระบบคมนาคมขนส่งทั้งทางรถไฟ ถนน และน้ำ ส่งผลต่อความเจริญของเมืองตรังได้อย่างดีทีเดียว

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

ไปกันตัง

รถไฟขบวน 167 กรุงเทพฯ-กันตัง พาเรามาถึงสถานีกันตังในเวลาเกือบเที่ยง สถานีนี้ก็นับเป็นอีกจุดที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาเที่ยวจังหวัดตรัง สถานีรถไฟไม้สักทองสีเหลืองมัสตาร์ด-น้ำตาล สร้างด้วยสถาปัตยกรรมที่หรูหราและโดดเด่น เป็นโบราณสถานสำคัญที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของจังหวัดตรังและรถไฟ นักท่องเที่ยวหลายคนเดินทางมาที่นี่ด้วยรถยนต์รับจ้าง บ้างก็นั่งรถไฟมา แต่ถ้าจะให้บรรยากาศจริงๆ การมากันตังต้องนั่งรถไฟเท่านั้น วิวสองข้างทางเป็นป่ายางสลับกับบ้านคน ยิ่งใกล้ถึงกันตังจะเห็นภูเขาขนาบใกล้ๆ ทางรถไฟ แถมค่าโดยสารยังเป็นมิตรมากๆ ในราคาเพียง 5 บาท เท่านั้น

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

เสน่ห์ของเมืองกันตังคือยังคงมีความสงบ กันตังเป็นอำเภอเล็กๆ ที่เคยเป็นที่ตั้งของตัวเมืองตรังมาก่อนตั้งแต่ดั้งแต่เดิม ด้วยความที่อยู่ติดกับทะเลและปากแม่น้ำตรังมากเกินไป ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการบุกรุกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงได้มีการพิจารณาย้ายศูนย์กลางของเมืองตรังจากกันตังไปที่ทับเที่ยง ตามที่เราได้เล่าไปในประวัติของสถานีรถไฟตรังนั่นแหละ

หลักฐานชิ้นสำคัญที่เห็นได้ถึงความเจริญในยุคนั้น คงไม่พ้นตึกเก่าสไตล์ชิโนยูโรเปียนคล้ายๆ ในภูเก็ตที่แฝงตัวอยู่ตามจุดต่างๆ และอีกที่เลยคือสถานีรถไฟกันตัง ที่เราจะเห็นถังเติมน้ำรถจักรไอน้ำสูงดำทะมึน ข้างๆ คือวงเวียนกลับทิศของรถจักรไอน้ำที่ใช้หมุนให้หัวรถไฟหันหน้าไปทางทิศที่จะวิ่งไป ซึ่งเราจะพบวงเวียนแบบนี้เฉพาะสถานีรถไฟที่มีความสำคัญด้านการเดินรถเท่านั้น และถ้าหากสังเกตตรงข้ามอาคารสถานีกันตัง จะเห็นลานโล่งขนาดใหญ่ที่เคยเป็นย่านรับส่งสินค้าจากท่าเรือกันตังมาก่อน ซึ่งได้กลายเป็นลานสาธารณะ พร้อมเอาหัว ‘รถจักรดีเซลไฮดรอลิกยี่ห้อเฮนเชล’ ของเยอรมนี ที่เคยวิ่งโลดแล่นบนทางสายนี้มาตั้งแสดงเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้

ว่าแต่ใครทำสีคุณป้ารถจักรเป็นสีนี้ น้ำตาไหลเลย ฮืออออออ

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

จุดมุ่งหมายวันนี้ของเราไม่ใช่สถานีกันตัง แต่เป็น ‘บ้านพระยารัษฎา’ หรือพิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ซึ่งเป็นจวนของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังที่พัฒนาเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองในหลายด้าน ที่เด่นชัดมากคือส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟและยางพารา จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ชื่อของท่าน ‘ซิมบี๊’ เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลว่าผู้มีจิตใจดีงาม

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง
นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎาฯ เป็นเรือนไม้ 2 ชั้นมีระเบียงโดยรอบอยู่ชั้นบน ตรงกลางเป็นโถงมีหุ่นขี้ผึ้งของท่านนั่งอยู่กลางบ้านนั้น ข้างในจัดแสดงภาพเก่า เครื่องมือเครื่องใช้ยุคโบราณ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่เป็นสมบัติเก่าของท่านจัดแสดงไว้เหมือนกับพิพิธภัณฑ์ทั่วไป ทั้งห้องรับแขก ห้องนอน ห้องทำงาน ข้างๆ มีเรือนแยกออกมาเป็นครัว ส่วนที่เราชอบที่สุดคือระเบียงด้านบนของบ้านที่แยกมาจากห้องนอน มันให้อารมณ์บ้านโบราณที่พักผ่อนได้จริงๆ โดยมีธรรมชาติโอบล้อมแบบรอบทิศทาง

ที่นี่เข้าชมฟรี แต่บริจาคลงกล่องได้ เราชอบความสงบของบ้านหลังนี้ บ้านใหม่หลังใหญ่ทำให้เรานึกถึงบ้านยาย การเดินทุกฝีก้าวในบ้านต้องค่อยๆ เดินอย่างเงียบเชียบและเบาเท้าให้ได้มากที่สุด เพราะถ้าเดินลงส้นเมื่อไหร่ ยายจะปรากฏตัวพร้อมเสียงดุว่าเดินตีนหนัก พี่ที่เป็นคนดูแลถึงกับถามว่าน้องเดินดูครบหมดทั้งบ้านแล้วหรือเพราะไม่ได้ยินเสียงเท้าเดินบนบ้านเลย

ก็ผมเกรงใจน่ะพี่ อยู่บ้านไม้ก็เดินย่องจนชิน

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

การมาตรังในครั้งนี้ค่อนข้างแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ที่มุ่งหน้ามาแล้วเที่ยวนอกเมือง หรือไปดำน้ำตามเกาะต่างๆ อย่างเดียว แต่ครั้งนี้เป็นการมองผ่านการเดินทาง การคมนาคม ความเป็นอยู่ และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งทำให้เรารู้จักตรังได้มากกว่าที่เคยเป็น ยิ่งได้ลองปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ในอดีตแล้ว ยิ่งน่าทึ่งว่าจังหวัดเล็กๆ ในฝั่งอันดามันนี้มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ช่วยเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเมืองจริงๆ รากฐานถูกวางไว้อย่างดี ทั้งท่าเรือ ทางรถไฟ ถนนหลวง รวมถึงการเอาสายไฟฟ้าลงดินเป็นที่แรกๆ ของประเทศไทย บวกกับเรื่องเล่าต่างๆ ของเมือง อาหารอร่อยๆ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โบราณสถาน มันยิ่งทำให้ตรังกลายเป็นอีกจุดหมายในฝันของนักเดินทางได้ไม่ยาก

อ่านจบแล้วก็ไปตรังกัน แล้วก็อย่าลืมแวะไปกันตังด้วยนะ

นั่งรถด่วนตรัง ขวัญใจคนนั่งรถไฟสายใต้ตอนบน ไปเที่ยวเมืองตรังและทางรถไฟสายแรกของตรัง, ที่เที่ยว ตรัง

เกร็ดท้ายขบวน

  1. เดิมเลยทางรถไฟสายกันตังมีแค่ขบวนรถท้องถิ่นและรถรวมจากทุ่งสง-กันตัง สงขลา-กันตัง วิ่งเท่านั้น ก่อนจะมีรถเร็วจากกรุงเทพฯ-ตรัง ในเวลาต่อมา หลังจากนั้นรถเร็วกรุงเทพฯ-ตรังก็กลายร่างเป็นรถด่วนตรัง และเปิดขบวนรถเร็วกรุงเทพฯ-กันตัง เข้ามาเพิ่มอีกขบวน พร้อมยกเลิกรถท้องถิ่นทั้งหมด เพราะการเดินทางด้วยถนนเพชรเกษมรวดเร็วและสะดวกกว่า ทำให้ทางรถไฟสายนี้มีความเงียบเหงาประมาณหนึ่ง ซึ่งมีรถโดยสารวิ่งวันละ 4 เที่ยว และรถสินค้าจากทุ่งสง-กันตัง อีกนิดๆ หน่อยๆ
  2. จังหวัดตรังเป็นเพียงจังหวัดเดียวในชายฝั่งอันดามันที่ทางรถไฟมาถึง
  3. ยานพาหนะท้องถิ่นที่เป็นซิกเนเจอร์ของตรัง นั่นคือสามล้อหัวกบ มาเที่ยวแล้วก็อย่าลืมนั่งเจ้าหัวกบเที่ยวรอบเมืองตรังแทนการเดินก็ได้นะ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ