“เรือใบไม่ใช่แค่กีฬา แต่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของชาวตราด”

นี่คือมุมมองของ ภูเขา-บรรพต วิถี สถาปนิกที่ออกเดินทางจากบ้านเกิดตั้งแต่วัยหนุ่ม เพื่อมาใช้ชีวิตอยู่ในจังหวัดตราด ดินแดนที่อยู่สุดเขตชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย รายล้อมด้วยเกาะนับครึ่งร้อย อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งทางบกและทะเล ประชาชนจึงประกอบอาชีพประมง และสัญจรไปไหนมาไหนด้วยเรือใบมาแต่โบราณกาล

สำหรับภูเขา เรือใบไม่ใช่แค่เครื่องมือประกอบอาชีพของชาวประมงในอดีต แต่ยังเป็นศาสตร์สร้างคน ที่ให้สอนให้พวกเขาคิดเอง แก้ปัญหาเอง ด้วยการเรียนรู้จากธรรมชาติ และพึ่งพาตนเองได้แม้อยู่บนเรือใบที่เผชิญกับคลื่นลม ทั้งยังเป็นโปรดักต์ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับเมืองตราดในอนาคต 

ช่างน่าเสียดายที่มันกำลังจะถูกพัดพาไปด้วยกระแสทุนนิยม

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี, แล่นเรือใบตราด

เช้านี้อากาศแจ่มใส คลื่นลมเป็นใจ เราจึงขอชวนทุกคนสวมเสื้อชูชีพแล้วกระโดดขึ้นเรือใบไปฟังภูเขาเล่าถึงที่มาของการคืนลมหายใจให้เรือใบ ด้วยการก่อตั้ง ชมรมแล่นใบตราด (Trart Sailing Club) เพื่อเผยแผ่และผลักดันให้ศาสตร์เรือใบได้รับการบรรจุในหลักสูตรการศึกษา ให้เยาวชนตราดได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน 

ต่อยอดไปสู่โครงการวิสัยทัศน์ตราดเมืองเรือใบ รณรงค์ให้คนหันมาใช้ใบเรือที่ใช้พลังลมธรรมชาติแทนพลังงานน้ำมันจากเครื่องยนต์ เพื่อลดต้นทุนและมลภาวะ พร้อมทั้งอนุรักษ์ศาสตร์การต่อเรือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ผ่านโครงการต่อเรือได้แล่นใบเป็น และกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวด้วยแผนการเปลี่ยนเมืองตราดให้เป็น Sailing Destinations อีกแห่งในประเทศไทย 

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี, แล่นเรือใบตราด

01

เบื้องหน้าเรือใบ เบื้องหลังภูเขา

“เรารู้สึกว่าเรือใบเป็นสิ่งไกลตัว ดูหรูหรา แต่พอได้มาอยู่ที่นี่ มองไปทางไหนก็เห็นแต่ใบเรือ เลยสงสัยว่ามันเกี่ยวข้องยังไงกับชีวิตคนที่นี่” เพราะทราบว่าภูเขาไม่ใช่ชาวตราดโดยกำเนิด เราเลยขอให้เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่หันมาทำความรู้จักเรือใบ

ภูเขาเล่าย้อนไปว่า เขาเป็นสถาปนิกที่ย้ายมาลงหลักปักฐานและทำงานออกแบบตามโรงแรมกับรีสอร์ตอยู่ที่เกาะช้างตั้งแต่ยุคบุกเบิก ด้วยพื้นฐานทางอาชีพและอุปนิสัยที่ช่างสังเกต ภูเขาจึงค้นคว้าข้อมูลและสอบถามคนในท้องถิ่นเพื่อคลายความสงสัย

“ที่ตราด เรานิยมสัญจรทางน้ำไม่ว่าจะเป็นระหว่างเกาะหรือเมือง เราจะใช้เรือ รูปเรือใบแล่นในทะเลกับโป๊ะของชาวประมง มีเกาะเป็นเบื้องหลัง ที่อยู่บนตราประจำจังหวัดนั้นสื่อความหมายว่า ตราดมีเกาะจำนวนมาก มีพื้นที่ติดกับทะเล ชาวบ้านจึงทำประมงเป็นอาชีพหลัก ซึ่งตอนนั้นเรือมันยังไม่มีเครื่อง สิ่งเดียวที่เขาจะใช้ได้คือไม้พายกับใบเรือ แต่กิจกรรมทุกอย่างที่มันเกินแรงคนพาย ก็ต้องใช้แรงลมถึงจะไปได้” ภูเขาเล่าถึงที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างเรือใบและวิถีชีวิตชาวตราด

วันเวลาผ่านไป เรื่องราวของเรือใบก็วนกลับมาอยู่ในความสนใจของภูเขาอีกครั้ง เมื่อเขาพาลูกๆ ไปเข้าร่วมการอบรมแล่นเรือใบเบื้องต้นที่เกาะช้าง ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ 

“พอเด็กๆ ลงไปในเรือ เราก็เกิดคำถามว่า ทำไมเรากล้าปล่อยลูกไปขนาดนั้น ระหว่างนั้นก็สังเกตแววตาของผู้ปกครองคนอื่นเหมือนกันนะ บางคนต้องชะเง้อคอมอง ถือแก้วน้ำเดินตามลงไป เหมือนทุกคนกังวลว่า มันจะปลอดภัยไหม

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี, แล่นเรือใบตราด

“แต่พอเรามองกลับมาที่เด็กๆ ตอนที่อยู่ในทะเล เจอคลื่น เจอลม พวกเขาไม่มีความกลัวหรือกังวลเลย เหมือนธรรมชาติสอนเขาให้ตัดสินใจและควบคุมสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง

“นั่นทำให้ผมนึกถึงพระราชดำรัสที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ท่านเคยตรัสไว้ว่า การแล่นเรือสอนให้คนคิดเองทำเอง เมื่อลมแรง คุณฝืนคุณจะล่ม เวลาไม่มีลมคุณก็ต้องรู้จักรอ ถ้าเด็กไทยได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ แล้วดึงไปใช้ในชีวิตได้ จะไม่ขาดทุน เพราะรู้เทคนิคการใช้ชีวิต” ภูเขาเล่าถึงสิ่งที่เขาและลูกๆ ได้เรียนรู้จากการอบรม 

 ภูเขามองว่าการแล่นเรือใบให้อะไรกับเด็กๆ มากกว่าแค่ความสนุก พวกเขาควรได้เรียนรู้เรื่องนี้ก่อนไปต่อยอดในรายวิชาอื่น แต่น่าเสียดาย เพราะศาสตร์นี้ไม่มีสอนในห้องเรียนน่ะสิ 

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี, แล่นเรือใบตราด

02

ศาสตร์สร้างคน

เพราะเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่เด็กๆ จะได้รับจากการแล่นเรือใบ ซึ่งเป็นสิ่งผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวตราดมาแต่โบราณ บวกกับปัจจัยด้านลักษณะภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ภูเขาจึงก่อตั้ง ‘ชมรมแล่นใบตราด’ โดยมีหมุดหมายที่ไปไกลกว่าการปั้นนักกีฬาเรือใบ นั่นคือการเผยแผ่และปลูกฝังปรัชญากีฬาเรือ พร้อมทั้งผลักดันให้ศาสตร์เรือใบได้บรรจุในหลักสูตรการศึกษา

“เราอยากให้ความสนใจนั้นเกิดขึ้นจากตัวเขาเอง ถ้ามีคนสนใจ แต่ไม่ได้เดินไปถึงจุดที่เป็นนักกีฬา เขาก็ยังได้เรียนรู้ต่อ ได้นำความรู้นี้ไปใช้ประกอบอาชีพ หรือจะทำเป็นแค่กิจกรรมสันทนาการ แค่ให้พอสนุกก็ทำได้ เป็นแบบนี้มันยั่งยืนกว่า”

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี, แล่นเรือใบตราด

ภูเขาเริ่มต้นด้วยการรวมกลุ่มกับชาวตราดที่มีแนวคิดเดียวกัน เพื่อระดมทุนในการจัดเตรียมกิจกรรมและเช่าเรือใบ

ต่อมาจึงเริ่มมีหลายหน่วยงานเข้ามาให้การสนับสนุน เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน (อพท.) ที่ให้การสนับสนับสนุนงบประมาณ สมาคมกีฬาแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยฯ เครือข่ายเรือใบตามเกาะต่างๆ ที่ให้ความอนุเคราะห์เรื่องอุปกรณ์ในการทำกิจกรรม รวมถึงผู้คนในวงการเรือใบ ไม่ว่าจะเป็นโค้ชและครูระดับประเทศที่มาอบรมและให้ความรู้แก่สมาชิกจนเป็นครูพี่เลี้ยงได้ 

 ภูเขาเล่าว่า ช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมเผยแผ่ศาสตร์เรือใบนั้นอิงตามการเปิด-ปิดภาคเรียนของเด็กๆ

“ในช่วงเปิดเทอม เราจะเข้าไปเผยแผ่ศาสตร์เรือใบตามโรงเรียนต่างๆ เช่น ที่โรงเรียนบ้านไม้รูด(วิสิทธิ์ประชาสรรค์) ซึ่งมีบริเวณติดกับชายหาดสวยงาม เหมาะกับการจัดกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะต่างๆ ผ่านกิจกรรมวาดรูปเรือใบ เรียนรู้พระราชดำรัสเรือใบ แข่งขันคัดลายมือ และทฤษฎีเรือใบเบื้องต้น 

“ส่วนในช่วงปิดเทอม เราจะเชิญชวนเด็กๆ ให้นำทักษะที่ได้เรียนรู้ไปมาใช้ในกิจกรรมการแข่งขัน ‘แล่นใบสุดฟ้าทะเลตราด’ ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่หาดบานชื่น” 

ในขณะเดียวกัน ภูเขาก็เข้าพบบุคลากรทางการศึกษา พูดคุยเกี่ยวกับประโยชน์ของศาสตร์เรือใบ เพื่อนำไปบรรจุเป็นรายวิชา ให้เยาวชนตราดได้เรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง 

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี, แล่นเรือใบตราด

“บางโรงเรียนเขาก็สนใจอยากให้ศาสตร์เรือใบไปอยู่ในหลักสูตรการสอน เพราะมันเป็นหลักสูตรที่ประเมินผลได้เลย ฝึกวันสองวัน ลงน้ำไป กลับขึ้นมาก็ประเมินผลได้เลยว่าเขาทักษะเขาพัฒนาขึ้นอย่างไร ไม่ต้องรอหมดภาคเรียนหรือปีการศึกษา

“เรื่องนี้เป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะการบรรจุวิชาใดวิชาหนึ่งลงในหลักสูตร เราต้องมีรายละเอียดที่สมบูรณ์ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา ความเกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติทั้งบนบกและในน้ำ อาจเริ่มที่วิชาเลือก แต่ทุกคนจะต้องผ่านการเข้าค่ายก่อน” ภูเขาเล่าถึงกระบวนการผลักดันศาสตร์เรือใบเข้าสู่หลักศูตรการศึกษา

ภูเขาอธิบายเสริมว่า การบรรจุวิชาเรือใบลงหลักสูตรนั้นให้ผลดีกว่ากิจกรรมได้แค่ปีละ 1 – 2 ครั้ง เพราะมีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมเพียงแค่ 50 – 60 คน แต่ถ้ารายวิชานี้เกิดขึ้น จะเผยแผ่ได้ปีละหลายพันคน 

เราที่ฟังภูเขาเล่าก็อดคิดตามไม่ได้ว่า หากศาสตร์นี้ได้รับถ่ายทอดไปสู่คนนับพัน ใน 1 ปี จะมีนักกีฬาเรือใบกับบุคลากรด้านวิชาการและการท่องเที่ยวที่มีความรู้เรื่องเรือใบเพิ่มขึ้นอีกกี่คนนะ แค่คิดก็ตื่นเต้นแล้ว 

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี

03

วิสัยทัศน์ตราดเมืองเรือใบ

จากการเผยแผ่และวางรากฐานศาสตร์เรือใบให้เยาวชน ภูเขาก็เริ่มร่างภาพใหม่ที่ใหญ่ขึ้นเป็น ‘โครงการวิสัยทัศน์ตราดเมืองเรือใบ’ โดยมีเป้าหมายคือการพัฒนาเมืองตราดให้กลายเป็นเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยมีเรือใบเป็นตัวชูโรง

อย่างที่ภูเขากล่าวไว้ข้างต้นว่า ในอดีตชาวตราดใช้เรือใบเพื่อทำอาชีพประมง แต่เมื่อมีเครื่องยนต์เข้ามา ผู้คนจึงเริ่มล้มเสาลง เอาใบเรือออก แล้วใส่เครื่องยนต์เข้าไป เพราะทำให้เดินทางได้รวดเร็ว สะดวกสบายกว่า เลยทำให้การทำประมงด้วยเรือใบค่อยๆ สูญหายไป 

แม้จะส่งผลดีในแง่ความสะดวกสบาย แต่ก็ต้องแลกมาด้วยมลพิษจากน้ำมันเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ที่รั่วไหลปนอยู่ในทะเล ไอเสียจากเครื่องยนต์ที่ก่อมลภาวะในอากาศ และต้นทุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งเฉียดราคาทอง 

เพื่อกลับไปอยู่ในยุคที่ดีที่สุด โลกเห็นด้วยที่สุด และตอบโจทย์เรื่องงบประมาณ ภูเขาจึงชักชวนชาวประมงเปลี่ยนเรือเครื่องยนต์ติดหางที่มีให้กลายเป็น ‘เรือใบเพื่อการประมง’ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 แบบตามลักษณะของใบเรือ 

แบบที่ 1 เป็นใบเรือแบบสามเหลี่ยม 2 ใบ ติดตั้งที่เสาใบ โดยโยงไปที่ทางด้านหัวเรือ 1 ใบ และทางท้ายเรือ 1 ใบ ซึ่งเป็นลักษณะใบที่นิยมใช้ในการแข่งกีฬาและการท่องเที่ยว 

แบบที่ 2 เป็นใบสี่เหลี่ยม ติดตั้งที่ด้านหน้าของเสาใบ โดยขวางกับลำเรือ ซึ่งเป็นแบบที่ชาวประมงไทยใช้กันในอดีต

แบบที่ 3 เป็นลักษณะสี่เหลี่ยมคางหมู ติดตั้งอยู่ที่เสาใบเรือด้านหลัง เป็นแบบที่ชาวประมงไทยใช้กันในอดีตเช่นกัน

“การประดิษฐ์ใบเรือใช้เองนั้นไม่ได้มีต้นสูงอย่างที่คิด เพราะเราทำจากวัสดุที่หาได้ง่าย ต้นทุนต่ำ อย่างผ้าใบคลุมรถผืนเก่าหรือผ้าทอเก่าๆ ผืนใหญ่ก็ได้

“เรือใบทั้งสามแบบนี้ได้รับการทดสอบโดยกรมประมงแล้วว่า มีประสิทธิภาพเพียงพอในการเดินทางไป-กลับ วันละหนึ่งเที่ยวเรือ ช่วยประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้วันละเจ็ดสิบห้าถึงร้อยห้าสิบบาท แถมได้รอยยิ้มจากธรรมชาติคืนมาอีกด้วย เพราะเมื่อเราใช้เรือใบ เราก็ใช้น้ำมันน้อยลง ไอเสียจากเครื่องยนต์ที่เคยก่อมลพิษรบกวนธรรมชาติก็จะกลายเป็นตำนานไปในที่สุด” ภูเขาเล่าถึงการนำแนวคิดเรื่องเรือใบเพื่อการประมงมาประยุกต์ในโครงการ 

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี
ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี

04

ต่อเรือได้แล่นใบเป็น

เมื่อมีผู้สนใจเรียนศาสตร์เรือใบ แต่ไม่มีมีผู้สอนต่อเรือใบมันก็กระไรอยู่ ภูเขาจึงผุดแนวคิดใหม่ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานศาสตร์การต่อเรือใบให้คงอยู่ต่อไป โดยใช้ชื่อว่า ‘โครงการต่อเรือได้แล่นใบเป็น’

ภูเขาเล่าที่มาของแนวคิดนี้ให้เราฟังว่า นอกจากตราดจะมีเรือใบเป็นส่วนหนึ่งในตราประจำจังหวัด ยังเป็นแหล่งต่อเรือเพื่อต่อเครื่องไปหาปลา ในเมื่อผู้คนท้องถิ่นที่นี่ต่อเรือยนต์ได้ พวกเขาก็ต้องต่อเรือใบได้เช่นกัน จึงอยากให้ช่างไม้ ช่างเรือ ผู้ที่ความรู้ในแขนงและรายผลิตนี้มาช่วยกันสานต่อศาสตร์ต่อเรือใบให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ก่อนที่มันจะสูญหายไป

“บางคนที่อายุเจ็ดสิบแปดสิบปีขึ้นไปอาจจะเคยต่อเรือใบมาแล้วด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันเขาก็เล่นได้ และถ่ายทอดวิชาเหล่านั้นให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยเห็น ไม่เคยต่อเรือแบบเดียวกับเขา

“ตั้งแต่กระบวนการหาประเภทของเปลือกไม้ เพื่อนำมาตัดตามรูปแบบและขนาดที่เหมาะสมและสมดุลกับผู้ใช้ จากนั้นนำไปประกอบร่างกับแผ่นปิดท้ายเรือและชิ้นส่วนต่างๆ สู่ขั้นตอนทาสีเพื่อไม่ให้ไม้ดูดซึมน้ำและเพิ่มน้ำหนักเรือ แล้วปิดแผ่นดาดฟ้าเรือเพื่อขัดแต่งผิวและพ่นสีเรือ ตลอดจนขั้นตอนประกอบอุปกรณ์แล่นใบ” ภูเขากล่าวเสริม

 แนวคิดนี้ไม่เพียงสอนให้คนรุ่นหลังสานต่อศาสตร์การต่อเรือใบด้วยการเรียนรู้ที่วิธีสร้างเรือใบขึ้นมาใหม่ แต่ยังช่วยให้เรือที่ติดเครื่องแต่ละลำถูกจอดทิ้งไว้เนื่องจากวิกฤตการประมงผิดกฎหมายได้รับการซ่อมบำรุง และนำกลับมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนในชุมชนกว่าเดิม 

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี

05

Sailing Destinations 

นอกจากนี้ ชมรมแล่นใบตราดยังมีแผนร่วมกับหน่วยงานในจังหวัดตราด เพื่อปักหมุดให้ตราดกลายเป็น Sailing Destinations อีกแห่งของประเทศไทย โดยการร่างเส้นทางท่องเที่ยวด้วยเรือใบทั้งในระยะใกล้และไกล 

“จริงๆ นี่เป็นแผนของ พ.ศ. 2565 แต่ทางจังหวัดอยากจะดึงมาใช้เป็นแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวใน พ.ศ. 2564 เลย โดยอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน หลังจากพ้นช่วง COVID-19 ไปเลยอยากหยิบขึ้นมาดำเนินการต่อ

“ในของส่วนของเส้นทางระยะใกล้นั้นเราร่างไว้เสร็จแล้ว กำลังอยู่ในช่วงเสนอไปในแผนของจังหวัดปี โดยปีแรกจะใช้ชื่อว่า ‘มหกรรมกีฬาทางทะเลและชายหาด’ เพราะเราจะไม่เอาแค่เรือใบอย่างเดียว แต่รวมเรือพาย เซิร์ฟบอร์ด แคนู คายัค คือเรือที่ไม่ติดเครื่องทั้งหลายก็จะมารวมกันที่นี่ นอกจากนี้ก็มีกิจกรรมบนชายหาดด้วย

“ส่วนเส้นทางระยะไกลนั้น ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการร่าง งานนี้มีสเกลค่อนข้างใหญ่ เลยต้องอาศัยความร่วมมือตั้งแต่กลุ่มจังหวัด เช่น ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เชื่อมไปจนถึงเกาะฟูก๊วกที่ประเทศเวียดนาม” ภูเขาอธิบายแผนการฟื้นฟูและกระตุ้นการท่องเที่ยวโดยเรือใบ 

ภูเขาเล่าว่า ภาพที่เขาอยากเห็นจากโครงการนี้ คือกลุ่มคนที่เดินทางมาตราดด้วยจุดประสงค์อยากเรียนรู้เรื่องเรือใบ เพราะที่นี่มีทั้งประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ สถานที่ที่เอื้อต่อการทำกิจกรรม และทรัพยากรบุคคลที่พร้อมให้องค์ความรู้ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ระหว่างทางที่จะไปถึงจุดนั้น โครงการนี้ยังเป็นการสำรวจธรรมชาติ ช่วยสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ทั้งชาวเมืองตราดและผู้มาเยือน 

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี

06

แล่นไปในตราด

เป็นเวลา 3 ปีแล้ว นับจากที่ภูเขาและชาวตราดเริ่มต้นประกอบร่างเพื่อสร้างชมรมแล่นใบตราด เพื่อคืนชีพเมืองเรือใบ และเผยแผ่ศาสตร์เรือใบให้แก่ผู้ที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์

ปัจจุบันเรือใบลำน้อยได้ออกแล่นไปในท้องทะเล เพื่อเสนอทางออกในการพัฒนาเมืองตราดให้กลายเป็นเมืองสิ่งแวดล้อม พร้อมก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางของคนรักเรือใบ

ภูเขาทิ้งท้ายไว้ว่า “สิ่งที่ต้องเตรียมมามีแค่ความกล้าเท่านั้น เพราะหลักการเรือใบที่ไหนมีน้ำกับลมก็เล่นได้ ไม่ว่าจะเป็นในอ่างเก็บน้ำ เขื่อน แม่น้ำ ทะเล แค่เห็นว่ามีลมก็เล่นได้หมด หากอยู่ที่ต่างประเทศอาจไปนำศาสตร์นี้ไปประยุกต์ใช้ได้ อย่างทะเลทรายหรือที่ราบต่างๆ ก็พลิกแพลงใส่ล้อแล้วใช้แรงลม

“อีกอย่างเรามีเซฟตี้ให้ เมื่อมาถึงก็ตั้งไข่กันที่ทฤษฎีเบื้องต้นทั้งบนบกและในน้ำก่อน ฝึกนั่งบนเรือใบจำลองที่อยู่บนบกก่อน เพื่อฝึกความคุ้นเคยในการย้ายตัว เมื่อลงไปในทะเลก็มีพี่เลี้ยงคอยดูแลก่อน พอเริ่มเป็นพี่เลี้ยงเขาก็จะโดดน้ำว่ายกลับมา พวกเขาจะเป็นไปโดยปริยาย หลังจากนี้ก็อยู่ที่การฝึกฝน แต่ถ้าเป็นแล้วรับรองว่ารักเรือใบทุกคน”

ภารกิจแล่นเรือใบอนุรักษ์ทะเลและหลักสูตรศึกษาธรรมชาติผ่านคลื่นลมของ ชมรมแล่นใบตราด, ภูเขา-บรรพต วิถี

ภาพ : ชมรมแล่นใบตราด

Writer

Avatar

อมราวดี วงศ์สุวรรณ

นักหัดเขียนสายใต้ที่ไม่รังเกียจรอยหมึกที่เปื้อนมือ พึงใจกับการสดับจังหวะการลงน้ำหนักนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ และกลิ่นกระดาษบนหน้าหนังสือ