The Cloud x Museum Siam

200 ปี บนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา จากเคยถูกสร้างมาเพื่อหน้าที่หนึ่ง กลับถูกพลิกบทบาทไปเป็นอีกหน้าที่หนึ่ง เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ฟังก์ชันเดิมไม่ตอบโจทย์การใช้งาน สถานที่เหล่าจึงนี้ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึง ได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น 

จากวังเก่าสู่มหาลัยวิทยาลัย จากโรงพิมพ์สู่พิพิธภัณฑ์ จากคุกสู่สวนสาธารณะ และพื้นที่อีกมากมายที่รอทุกคนมาเปิดมุมมองผ่านประวัติศาสตร์พื้นที่เก่าบนเรื่องราวบทใหม่

มหาวิทยาลัยศิลปากร

วังเก่าสู่มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งแรกของไทย

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร มหาวิทยาลัยศิลปากร

วังท่าพระ วังรุ่นแรกๆ ในช่วงสถาปนาพระนคร เคยเป็นที่ประทับของเจ้านายหลายพระองค์ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม พระองค์ประทับอยู่จนถึงสมัยรัชกาลที่ 8 ก่อนย้ายไปประทับที่บ้านปลายเนิน พระองค์ทรงขายวังท่าพระแก่รัฐบาล ก่อนจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปัจจุบัน โดยในรั้วมหาวิทยาลัยยังมีร่องรอยของวังท่าพระ และมีการอนุรักษ์อาคารเก่า ทั้งประตู กำแพงวัง ท้องพระโรง ศาลาในสวนแก้วที่ประทับฟังดนตรีของรัชกาลที่ 5 รวมถึงตำหนักกลาง และตำหนักพรรณรายที่กลายเป็นที่ตั้งของหอศิลป์และหน่วยงานของมหาวิทยาลัย

ที่อยู่ : 31 ถนน หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน ตามเวลาราชการ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (พระราชวังบวรสถานมงคล)

วังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์สู่พิพิธภัณฑ์รวบรวมประวัติศาสตร์

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองในพระนคร มหาวิทยาลัยศิลปากร

 ‘วังหน้า’ มีความหมายถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และยังหมายถึงสถานที่ที่ประทับของผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้า จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้าไป ทำให้วังหน้าถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่ใช้สอยเพื่อตอบสนองสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งกลายมาเป็น ‘พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร’ พิพิธภัณฑ์จัดแสดงสมบัติทางประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่า และเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของวังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อ่านเรื่องราวของประวัติศาสตร์วังหน้าเพิ่มเติมได้ที่นี่

ที่อยู่ : 4 ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร

เวลาทำการ : 09.00 – 16.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ตึกโดม

ทางเชื่อมโรงทหารสู่สัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองในพระนคร

เดิมเคยเป็นเขตฝ่ายในของพระราชวังบวรสถานมงคล จนกระทั่งรัชกาลที่ 5 ทรงยกเลิกตำแหน่งวังหน้าไป จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อการใช้สอยส่วนใหญ่มาเป็นโรงทหาร ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการปรับเปลี่ยนอีกขั้นหนึ่ง โดยสร้างโรงทหารและที่ทำการเพื่อใช้ในกิจการทหารเรื่อยมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 8 เมื่อก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงออกแบบอาคารขึ้นใหม่โดย จิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกที่เรียนจบจากฝรั่งเศส โดยปรับโรงทหารทั้งหมดให้เชื่อมต่อเป็นหลังคาเดียวกันด้วยหอคอยหลังคาทรงดินสอ ภายใต้ศิลปะรูปแบบ Art Deco ที่สวยงาม

ชมเรื่องราวของพื้นที่วังหน้าก่อนเปลี่ยนบทบาทมาเป็นอาคารของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ที่นี่ 

ที่อยู่ : 2 ถนนพระจันทร์ แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน ตามเวลาราชการ

พิพิธบางลำพู 

โรงพิมพ์สู่พื้นที่เล่าเรื่องบางลำพู

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร พิพิธบางลำพู

‘พิพิธบางลำพู’ อาคารที่ได้รับการซ่อมแซมจากโรงพิมพ์คุรุสภา โรงพิมพ์แบบเรียนและงานข้าราชการที่หมดสัญญาเช่าและกำลังจะถูกรื้อถอน แต่ชาวบ้านมองเห็นความสำคัญของตัวอาคารและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของย่านการค้าเก่าแก่ จึงรวมกลุ่มกันคัดค้านและผลักดันให้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ทำให้อาคาร 2 ชั้น ริมถนนพระอาทิตย์กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่บอกเล่าเรื่องราวของบางลำพู ย่านเก่าทรงเสน่ห์ ที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรมและผู้คนมาอย่างยาวนาน 

ที่อยู่ : ถนนพระสุเมรุ แขวงชนะสงคราม

เวลาทำการ : อังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)

เว็บไซต์ : http://banglamphumuseum.treasury.go.th/

สวนรมณีนาถ

คุกเก่าสู่สวนสาธารณะ

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร สวนรมณีนาถ
12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร สวนรมณีนาถ

พื้นที่นี้เคยเป็นคุกกองมหันต์โทษ สถานที่กักขังนักโทษในสมัยรัชกาลที่ 5 จนกระทั่ง พ.ศ. 2535 กระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรว่า ควรย้ายเพราะพื้นที่คับแคบและขยายไม่ได้แล้ว จึงปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับบรรยากาศของกรุงรัตนโกสินทร์ ปรับเปลี่ยนมาเป็นสวนสาธารณะชื่อ ‘สวนรมณีนาถ’ เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดย่อม สร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นสวนสาธารณะที่เปิดให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ และยังหลงเหลือสิ่งก่อสร้างของคุกในอดีตให้ได้ชม เช่น ป้อมยามรักษาการณ์โดยรอบ อาคารเรือนนอนผู้ต้องขัง และตึกรักษาการ

‎ที่อยู่ : ถนนมหาชัย แขวงสำราญราษฏร์ 

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 05.00 – 21.00 น.

สวนสราญรมย์

สวนส่วนพระองค์สู่สวนของทุกคน

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร สวนสราญรมย์

สวนสราญรมย์ ปอดสีเขียวแห่งพระนครที่ผู้คนต่างแวะมาเยี่ยมเยือน เดิมทีเป็นพระราชอุทยานในพื้นที่วังสราญรมย์ โดยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ตกแต่งอย่างฝรั่ง ทั้งสระน้ำพุโลหะสไตล์ยุโรป สวนไม้ดอกไม้ประดับ รวมถึงศาลาทรงแปดเหลี่ยมอันโดดเด่น ใช้เป็นทั้งสวนส่วนพระองค์และสวนรับรองแขกบ้านแขกเมือง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ถูกใช้เป็นสถานที่ฝึกซ้อมทหาร ทำให้มีศาลาเรือนกระจกและศาลากระโจมแตร ซึ่งเป็นที่บรรเลงดนตรีหรือแตรวงของทหาร จนกระทั่งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลจึงส่งมอบให้กรุงเทพมหานครดูแล และปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะที่แบ่งปันพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ทำกิจกรรมแก่ประชาชนทั่วไป 

ที่อยู่ : บริเวณถนนเจริญกรุง และถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง

เวลาทำการ : ทุกวัน เวลา 05.00 – 21.00 น.

นิทรรศรัตนโกสินทร์

อาคารพาณิชย์สู่นิทรรศการประวัติศาสตร์

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร นิทรรศรัตนโกสินทร์

อาคารนิทรรศรัตนโกสินทร์ เป็นส่วนหนึ่งของอาคารบริเวณถนนราชดำเนินกลาง นับเป็นสถาปัตยกรรมประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การสร้างถนนราชดำเนินตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 โดยใช้ต้นแบบจากถนนชองป์ เซลิเซ่ (Champs-Élysées) ใน พ.ศ. 2480 ที่ดิน 2 ฝั่งถนนถูกเวนคืนเพื่อสร้างอาคาร 15 หลัง เป็นโรงแรม สำนักงาน และอาคารพาณิชย์ทั่วไป หนึ่งในอาคารเหล่านั้นปัจจุบันบูรณะตกแต่งจนกลายเป็นนิทรรศรัตนโกสินทร์ แหล่งเรียนรู้ขุมทรัพย์ทางข้อมูลของรัตนโกสินทร์ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ภายในมีการจัดแสดงอย่างทันสมัยด้วยเทคนิคที่หลากหลาย และยังคงรักษาสภาพดั้งเดิมของโครงสร้างอาคารภายนอกไว้อย่างสวยงาม

ที่อยู่ : 100 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ 

เวลาทำการ : อังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. (ปิดวันจันทร์)

ติดต่อ : 0 2621 0044

เว็บไซต์ : http://www.nitasrattanakosin.com/ 

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 

ห้างเก่าสู่พิพิธภัณฑ์ รัชกาลที่ 7

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองในพระนคร

อาคารยุโรปสไตล์นีโอคลาสสิกสีเขียวพาสเทลย่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดดเด่นด้วยโครงสร้างอาคารที่สวยงามและลวดลายปูนปั้นประดับ ที่นี่เคยเป็นห้างยอนแซมสัน ขายสินค้านำเข้าจากประเทศอังกฤษ ทั้งเสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องหนัง ต่อมาในรัชกาลที่ 6 เปลี่ยนเป็นห้างสุธาดิลก จำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ เรื่อยมาจนเป็นที่ทำการกรมโยธาเทศบาล กรมโยธาธิการ จนกระทั่งในปัจจุบันเปลี่ยนบทบาทหน้าที่มาเป็น พิพิธภัณฑ์ของรัชกาลที่ 7 สะสมเรื่องราวพระราชประวัติและข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์และของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ที่อยู่ : 2 ถนนหลานหลวง แขวงวัดโสมนัส

เวลาทำการ : อังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.00 – 16.00 น. (ปิดวันจันทร์)

ติดต่อ : 0 2280 3413-4 

สยามเฮ้าส์ โคโลเนียล

บ้านคุณหญิงอนุกูลสยามกิจสู่สถานจัดงานวิวาห์โรแมนติก

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองในพระนคร

สยามเฮาส์ โคโลเนียล เดิมชื่อบ้านผ่านฟ้า บ้านของคุณเผื่อน (อำแดงเผื่อน) อนุกูลสยามกิจ ภรรยาพระยาอนุกูลสยามกิจ ข้ารับใช้ในสมัยรัชกาลที่ 4 – 5 บ้านผ่านฟ้ามีความสวยงามทางสถาปัตยกรรม โดดเด่นด้วยบานหน้าต่างไม้และลวดลายปูนปั้นสีสดใส ด้วยการตกแต่งสถานที่ที่สวยงาม ทำให้บ้านผ่านฟ้ากลายเป็นสถานที่รับจัดงานเลี้ยงวิวาห์และพิธีการต่างๆ สำหรับคู่รักที่อยากดื่มด่ำบรรยากาศบ้านโบราณแบบตะวันตกในวันพิเศษ

ที่อยู่ : 591 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ 

ติดต่อ : 0 2282 0311

เฟซบุ๊ก : สยามเฮาส์  

หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา 

พื้นที่ประวัติศาสตร์สู่พื้นที่ศิลปะ

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา

บ้านเจ้าพระยา สถาปัตยกรรมเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ใกล้กับสวนสันติชัยปราการและป้อมพระสุเมรุ เปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อาคารทรงปั้นหยาที่ยังคงอยู่อย่างครบถ้วนทั้งเสา คาน ซุ้มประตู หน้าต่าง และช่องลม เดิมพื้นที่นี้เคยเป็นวังของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ (พระนามเดิม พระองค์เจ้าชายนวรัตน์) พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุลนวรัตน ก่อนเปลี่ยนบทบาทจากพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานทางศิลปะ มีทั้งงานศิลปะถาวรและงานศิลปะหมุนเวียน รวมถึงกิจกรรมเวิร์กช็อปประจำเดือนต่างๆ สำหรับทุกคนที่สนใจ 

ที่อยู่ : 49/1 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม

เวลาทำการ : 10.00 – 19.00 น. (ปิดวันอังคาร)

เฟซบุ๊ก : หอศิลป์ ณ บ้านเจ้าพระยา Arts Gallery at Ban Chao Phraya

สถานีสามยอด

ตึกเก่าสู่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร สถานีสามยอด

หากมองผ่านๆ อาจไม่ทันได้สังเกตว่าตึกเก่า 3 หลังย่านวังบูรพาแห่งนี้ เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะการตกแต่งที่หยิบเอาดีไซน์ตึกเก่าในสมัยรัชกาลที่ 6 มาใช้ควบคู่กับสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โคโลเนียลให้กลมกลืนไปกับอาคารและสิ่งก่อสร้างอื่นในบริเวณรอบข้าง นำประตูบานเฟี้ยม รูปแบบของประตูในอดีตมาใช้ รวมถึงนำรูปทรงและลักษณะของซุ้มประตูสามยอดมาตกแต่ง เพื่อสื่อให้เห็นถึงความเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ ภายในสถานียังติดภาพย้อนยุคไว้ตามผนัง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแก่คนรุ่นหลัง

สถานีสนามไชย

พื้นที่อนุรักษ์สู่สถานีพาคนเข้ากรุง

12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร สถานีสนามไชย
12 การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่น่าจับตามองใน พระนคร สถานีสนามไชย

สถานีสนามไชย พิกัดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ มีการขุดค้นพบโบราณวัตถุขณะก่อสร้าง เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินแห่งใหม่ที่เปิดใช้เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่เมือง ออกแบบด้วยการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเข้ามาใช้ โดยพื้นและผนังจำลองมาจากกำแพงเมือง เสามีการประดับบัว ตกแต่งด้วยลวดลายไทยตามจุดต่างๆ ใช้โทนสี แดง ขาว และทอง เพื่อสร้างความรู้สึกให้เหมือนกับท้องพระโรงในอดีต

Writer & Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน