“ผมไม่เคยตกหลุมรักอาชีพนี้ และไม่มีอะไรทำให้เป็น ถึงวันนี้ก็ไม่เป็น ไม่เคยมีภาพอย่างนั้นในชีวิตเลย” คือความในใจของ ต๋อย-ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ที่มีต่องานพิธีกรซึ่งทำมานานเกือบ 40 ปี

หลายคนฟังแล้วคงรู้สึกแปลกใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ชายคนนี้คือสุดยอดพิธีกรแห่งยุคที่สร้างปรากฏการณ์บนจอแก้วจนกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

ฝันที่เป็นจริง รายการพูดคุยผสมละครที่บอกเล่าชีวิตและการต่อสู้ของคนดีที่ขาดโอกาส

ทไวไลท์โชว์ วาไรตี้ทอล์กโชว์ที่นักร้อง นักแสดง ต่างใฝ่ฝันจะไปออกสักครั้งหนึ่งในชีวิต

เกมเศรษฐี ควิซโชว์ 16 คำถามที่อาจเปลี่ยนชีวิตคนธรรมดาให้กลายเป็นเศรษฐีเงินล้าน

ครัวคุณต๋อย รายการทำครัวที่ช่วยให้ร้านอาหารฝีมือเยี่ยมเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้าง

แน่นอนทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ จนตกผลึกความคิด และกลั่นกรองออกเป็นงานสร้างสรรค์ได้อย่างไม่รู้จบ

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้รับโอกาสดีจากพิธีกรมือเก๋า ให้มาร่วมพูดถึงเส้นทางการทำงานอันยาวนาน ตั้งแต่ก้าวแรกถึงปัจจุบัน ท่ามกลางโลกที่วงการโทรทัศน์ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ย้อนความจำ ‘ไตรภพ ลิมปพัทธ์’ ทนายผู้กลายเป็นตำนานพิธีกร ครองจอแก้วเกือบ 4 ทศวรรษ
01

พิธีกรราชรถมาเกย

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2525 ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ยังเป็นทนายความอยู่ที่สำนักกฎหมาย มณี เทพภักดี

ตลอดชีวิตเขาไม่เคยคิดที่จะเข้าสู่ถนนสายบันเทิงเลย แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดเหตุการณ์พลิกผัน หลังตกกะไดพลอยโจน รับปากลูกพี่ลูกน้องว่าจะมาร่วมออกรายการโทรทัศน์

“น้องสาวคนนี้เป็นลูกของป้า เรียนเก่งเป็นพิเศษ พอจบ มศ.5 ก็สอบเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้เป็นที่ 1 ผมก็ถามเขาว่าอยากได้ของขวัญอะไร เดี๋ยวซื้อให้ เขาก็บอกจริงนะ ไม่โกหก แล้วเขาก็บอกให้ไปเล่นเกมกับเขา ชื่อ เกมล้มเค้า ทางช่อง 5 เป็นเกมที่เอาสองครอบครัวมาแข่งกัน ผมก็บอกว่าไม่เอา เล่นไม่เป็น เขาก็บอกสัญญาแล้วไง ก็เลยต้องไป”

สมัยนั้นการออกหน้าจอสำหรับคนทั่วไปเป็นเรื่องใหญ่มาก หลายคนกลัวกล้อง ไม่กล้าพูดหรือแสดงออกมากเกินไป แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาของคนที่ทำงานอยู่หน้าบัลลังก์ศาลมาตลอด เพราะเขาพูดจาฉะฉาน ชัดถ้อยชัดคำ กล้าสื่อสาร กล้าตอบโต้ แถมก่อนจบรายการ ยังถามพิธีกรด้วยว่า ถ้าอยากพูดกับผู้ชมต้องพูดกับกล้องไหน พอพิธีกรบอกว่า ถ้าเห็นกล้องไหนที่มีไฟแดงขึ้นให้พูดกับกล้องนั้น เขาก็พูดประโยคสั้นๆ ว่า “สวัสดีคุณยาย ต๋อยออกทีวีแล้วนะ” 

หลังถ่ายเสร็จ ไตรภพกลับมาเป็นทนายความตามเดิม แต่เรื่องกลับไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะลีลาอันโดดเด่นดันไปเข้าตา ต้น-ลาวัลย์ ชูพินิจ ผู้บริหาร JSL เจ้าของรายการ จึงเชิญมาพูดคุยด้วย แวบแรกเขาคิดว่าบริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่อยากปรึกษาเรื่องกฎหมาย แต่ปรากฏว่าลาวัลย์ยื่นข้อเสนอให้เขามาเป็นพิธีกรในรายการใหม่ของ JSL แทน

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนาน ‘ไตรภพ ลิมปพัทธ์’ ผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

“พอพี่ต้นถามว่ามาเป็นพิธีกรไหม ผมก็บอกว่าไม่เป็น ไม่เอา พอกลับมาบ้านเล่าให้ภรรยาฟัง ดูสิเรื่องนี้ตลกมาก อยู่ดีๆ เรียกฉันให้เป็นพิธีกร ภรรยาผมตอบกลับมาว่า ไม่เห็นตลกเลย และบอกว่า เธอรู้ไหม คนบางคนเขาหาโอกาสอย่างนี้มาชั่วชีวิต เธอนี่ราชรถมาเกย แต่ไม่เอา เราก็แปลกใจ งงมากกว่า ตามหลักผู้หญิงไม่ควรจะอยากให้สามีมาอยู่ในวงการบันเทิง แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร

“พอหลังจากนั้นประมาณหนึ่งเดือน พี่ต้นก็โทรมาอีก พูดเหมือนเดิม แต่ว่าหนักแน่นขึ้น แล้วก็พูดว่าเวลาของเราไม่เสียนะ เพราะเดือนหนึ่งจะอัดแค่สองวันเท่านั้นเอง วันอะไรก็ได้กำหนดมาเลย ขอให้กรุณาไปตัดสินใจใหม่อีกที ผมก็เลยคิดถึงคำพูดของภรรยาขึ้นมา จึงบอกเขาว่า ลองดูก็ได้”

รายการแรกที่ไตรภพเป็นพิธีกร คือ พลิกล็อค มีกติกาง่ายๆ ให้ผู้เข้าแข่งขันทายว่าตัวเลขต่อไปนั้น มากกว่าหรือน้อยกว่า โดยครั้งนั้นมีพิธีกรร่วมอีก 2 คน คือ วาสนา สิทธิเวช นางเอกสาวคนดังของยุค และ ดี๋ ดอกมะดัน ตลกแถวหน้าของเมืองไทย

ความยากของบทบาทใหม่ ไม่ใช่การทำหน้าที่ แต่คือการเอาชนะความตื่นเต้นของตัวเอง

ไตรภพเล่าว่า ตอนถ่ายทำเทปแรก เขาแทบเอามือจับโพเดียมไม่ได้เลย เพราะถ้าจับแล้วโพเดียมจะสั่นทันที แต่บุคคลที่เข้ามาช่วยให้คลายกังวล คือ ตุลชัย ธรรมดุษฎี พิธีกรมือเก๋าซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้กำกับเวที

“ตอนนั้นคุณตุลชัยเดินมาพูดว่า คุณไตรภพเก่งมาก ทำงานครั้งแรกไม่สั่นเลย ผมทำงานมาเจ็ดแปดเดือน ถึงจะเริ่มจับทางตัวเองได้ว่าเป็นยังไง และต้องใช้เวลาอีกเป็นปีถึงไม่รู้สึกกังวล ผมก็เลยบอก ผมเองก็ตื่นเต้น เอามือจับโพเดียมไม่ได้เลย เขาก็บอกว่าไม่จริง ดูยังไงก็ไม่เห็นเป็นแบบนั้น เราก็ไม่ได้ตอบเขา แต่นึกในใจว่าคุณดูไม่เห็นหรอก เพราะผมเป็นทนาย ถ้าคุณเห็นอะไรจากข้างนอกแล้วรู้ไปถึงข้างใน ผมคงมีอาชีพแบบนี้ไม่ได้

“ก่อนกลับเข้าฉาก คุณตุลชัยก็พูดขึ้นมาว่า ถึงอย่างไรคุณไตรภพช่วยจำไว้นิดหนึ่ง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบนนั้น มีคนคนหนึ่งที่อยู่หลังม่าน หลังเวทีตรงนี้เป็นกำลังใจให้คุณตลอดเวลา ผมมองหน้าเขาแล้วมันก็ยูเรก้าเดี๋ยวนั้น มีคนแบบนี้ในโลกด้วยเหรอ ทำไมดีอย่างนี้ แล้วตั้งแต่วันแรกที่ผมทำงานจนถึงปัจจุบัน ผมไม่เคยตื่นเต้นเลยแม้แต่หนเดียวในชีวิต เพราะไม่ว่าจะขึ้นเวทีที่ไหน ผมก็มีคุณตุลชัยอยู่ในใจเสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลายเป็นบทบาทเบื้องต้นที่สำคัญของชีวิตผมเรื่อยมา”

แม้จะไม่ได้รู้สึกรัก แต่ไตรภพก็เชื่อว่าการทุ่มเทอย่างเต็มที่ เป็นหัวใจสำคัญของการทำงานใดๆ ก็ตาม

เขาสังเกตและศึกษากระบวนการผลิต เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ บนเวที ตำแหน่งกล้อง ตำแหน่งไฟ ตำแหน่งการยืนที่เหมาะสม ไปจนถึงวิธีการพูด การเว้นวรรค รวมถึงปรับพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์แต่อาจไม่เหมาะสมกับหน้าจอโทรทัศน์ เช่น การพยักหน้าตอบผู้ร่วมรายการ ซึ่งช่วงแรกเขาทำเยอะเกินไป ถึงขั้นที่ลาวัลย์เคยทักว่า “ต๋อยเหมือนนกกระเด้าลมเลย”

“พี่ต้นพูดแค่นี้ แต่ทำให้เราเข้าใจเลยว่า บางทีจะใช้ Respond ปกติของมนุษย์ไม่ได้ มันต้องสร้างสิ่งใหม่ที่แตกต่างออกไป เหมือนอยู่ในศาล ก็จะมีกระบวนการในการพูด การจัดการ การเรียงลำดับ การวรรค การผ่อนคลาย การมองผู้พิพากษาว่าสนใจไหม คู่ต่อสู้ คู่ความรู้สึกยังไง เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนเป็นฟังสักสิบคำถึงพยักหน้าสักที หรือเรายิ้มแทนได้ เพราะการยิ้มก็เป็น Respond ที่ดีอย่างหนึ่งเหมือนกัน”

ไตรภพใช้เวลาอยู่นานร่วมปี ทุกอย่างจึงเข้าที่เข้าทาง สำหรับเขาแล้ว งานพิธีกรโดยเฉพาะเกมโชว์ ไม่ใช่เรื่องยาก หากจับทางถูก เพราะสิ่งที่เกมโชว์ต้องการจากผู้ดำเนินรายการ คือทักษะในการควบคุมเกมนั่นเอง

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนาน ‘ไตรภพ ลิมปพัทธ์’ ผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

“เกมโชว์กับทนายเหมาะกันที่สุด เพราะเกมโชว์ไม่ได้ต้องการอะไรจากพิธีกรมาก แค่ความเฉียบคม แล้วก็จังหวะของการเป็นตัวไกด์และสร้างแรงกระตุ้น สมมติเขาทายถูกต้อง เราก็ไล่ต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ถูก เราก็เสียใจกับเขา เช่น เล่นมาถึงตัวสุดท้าย ถ้าถูกจะได้หนึ่งแสน ปรากฏว่าทายผิด เราก็อาจบอกว่า ‘เสียใจด้วยจริงๆ ครับ ถ้าผมเป็นคุณนะ ป่านนี้ผมตายไปแล้ว แต่เห็นคุณยังยืนอยู่ได้ คุณยอดคนจริงๆ’ แล้วก็ปรบมือให้ เขาต้องการแค่นั้น ไม่ได้ต้องการมากกว่านั้น

“แต่การจะพูดอะไรได้นั้น มาจากการเห็นจากเขา ถ้าเขานิ่ง ก็พูดอย่างเมื่อกี้ แต่ถ้าไม่นิ่ง แล้วเขารู้สึกเสียอกเสียใจ ก็บอกไปว่า ‘ช่างมันเถอะครับ นี่เสี้ยวหนึ่งในชีวิตของเรา’ เพราะฉะนั้น มันไม่ยากหรอก เขาไม่ได้ต้องการคุณมาก ผมเป็นแค่ MC เป็นแค่คนคุมเกม คอยสร้างความตื่นเต้น เมื่อถึงจังหวะที่ควรตื่นเต้น และสร้างความน่าเสียใจ เมื่อถึงจังหวะที่ควรเสียใจ”

หลังทำรายการ พลิกล็อค ทาง JSL ก็ได้เปลี่ยนพิธีกรเป็น ปัญญา นิรันดร์กุล ส่วนไตรภพก็ไปช่วยบุกเบิกรายการใหม่ๆ อย่างเช่น ลาภติดเลข และ ชิงหลัก เขาทำผลงานโดดเด่นถึงขั้นคว้ารางวัลเมขลา ประจำ พ.ศ. 2526 สาขาพิธีกรบันเทิงชายดีเด่นมาครอบครอง

แต่แล้วใน พ.ศ. 2527 ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ตัดสินใจลาออก และหันกลับไปเป็นทนายความอย่างเดียว

“ผมลาออกด้วยเหตุหลายประการ หนึ่งด้วยความเหมาะสม เนื่องจากมีรายการบางรายการที่ผมอยากทำ และคิดว่าทำแล้วดี ทำแล้วจะประสบความสำเร็จ แต่ความเห็นไม่ตรงกัน อีกส่วนคืองานของเขาต้องการคนแบบหนึ่ง แต่ผมเป็นคนอีกแบบ ก็เลยไม่เหมาะ คือไม่ได้ทะเลาะกัน ทุกวันนี้เจอพี่ต้น พี่หน่อย (จำนรรค์ ศิริตัน) ก็ยังกราบ เจอ พี่สมพงษ์ (สมพงษ์ วรรณภิญโญ) ก็ยังกราบ แต่เมื่อมันไม่เหมาะสมก็ออกแค่นั้นเอง แล้วตอนนั้นก็ตั้งใจว่าจะเลิกเลย ไม่ได้คิดว่าจะทำกับที่อื่น เพราะผมไม่ได้อินเลิฟกับอาชีพนี้อยู่แล้ว”

02

หนทางสู่ตำนาน

แม้ไม่คิดหวนกลับมาสู่วงการบันเทิง แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะลิขิตไว้แล้วให้เขาต้องเลือกเส้นทางสายนี้

เพราะช่วงปลายปีเดียวกัน สองผู้บริหารจากค่ายกันตนา คือ กิตติ โรจน์ชลาสิทธิ์ และ จาฤก กัลย์จาฤก เชิญไตรภพไปพูดคุย ด้วยหวังจะชักชวนให้มาทำงานร่วมกัน เขาจึงเล่าไอเดียที่คั่งค้างตั้งแต่สมัยอยู่ที่ JSL ให้ทั้งคู่ฟัง

 “ผมบอกเขาว่ามีรายการที่อยู่ในใจ คิดไว้ตั้งนานแล้ว รูปร่างหน้าตาเป็นแบบนี้ เขาก็บอกว่าช่อง 3 ยังไม่เคยมีเกมโชว์เลย ถ้าเอาไปเสนอก็น่าจะได้ แต่ถ้าเสนอได้คุณไตรภพต้องทำนะ ผมก็พูดว่าไม่เป็นไร คุณเอาไปก็ได้ ผมไม่ว่า เพราะผมคิดว่ารายการแบบนี้ดี เขาบอกไม่ได้ เราต้องทำด้วยกัน แล้วก็มาเป็นหุ้นส่วนกัน เปิดเป็นบริษัทบอร์นฯ ขึ้นมา”

รายการแรกที่ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ ผลิตเอง ชื่อ เอาไปเลย เป็นเกมโชว์ทายราคาข้าวของ 

“สมัยก่อนมีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ไม่กี่ห้าง หนึ่งในนั้นก็มีเซ็นทรัล เราก็เลยทำ เอาไปเลย บาย เซ็นทรัล เอาของในห้างเซ็นทรัล เช่น สเกตบอร์ด เสื้อ น้ำหอม มาทายราคา ถ้าคุณทายถูกก็จะได้เล่นแจ็กพอต แล้วเวลาเล่น คือไปเข้าตู้ ก็จะมีตู้ให้เลือก ถ้าคุณเข้าตู้ถูก ดึงแล้วไม่โดนน้ำ ไม่โดนแป้ง ก็รอดตัวได้รางวัล เราเป็นเจ้าแรกของประเทศ ไม่เคยมีใครทำ”

แล้วความเชื่อของเขาก็ได้รับการพิสูจน์ เอาไปเลย ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้ชม ส่งผลให้ไตรภพได้เวลาจากช่อง 3 เพิ่มขึ้น เกิดรายการเกมโชว์ใหม่ๆ ตามมาอีกเพียบ ตั้งแต่ เกมละครปริศนา, อะไรเล่า, 50/50, รวยอุตลุด, คุณขอมา ฯลฯ จนเขาต้องหยุดอาชีพทนายความ เพื่อทุ่มเวลากับงานบันเทิงเต็มตัว

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนาน ‘ไตรภพ ลิมปพัทธ์’ ผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

หากแต่รายการที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และกลายเป็นภาพจำติดตัวผู้ชายที่ชื่อไตรภพเรื่อยมา คงต้องยกให้ ฝันที่เป็นจริง ซึ่งเริ่มออกอากาศเทปแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2531

คอนเซปต์ของ ฝันที่เป็นจริง คือทุกคนมีความฝัน แต่การจะทำฝันให้เป็นจริงได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีโอกาสด้วย

โดยไอเดียนี้เริ่มมาจากบทสนทนาในออฟฟิศเกี่ยวกับความฝันว่า บางครั้งคนเราก็แยกไม่ออกระหว่างความฝันกับฝันที่เป็นจริง เพราะหากเราแยกออก ชีวิตก็จะมีความสุข

“อย่างผมฝันมาตั้งแต่เด็กว่าอยากเป็นซูเปอร์แมน แต่ฝันของผมเป็นเรื่องที่ Impossible หมดเลย สำหรับผม มนุษย์ควรฝันแบบนั้น เพราะฝันแล้วมีความสุข แต่ถ้าอยู่ในชีวิตจริงๆ ฝันนั้นต้องเป็นจริงได้ ต้องเกิดจากกระบวนการที่ทำได้จริง อย่างผมอยากเป็นซูเปอร์แมน แต่ไปหัดเหาะทุกวัน หัดจนตายก็เหาะไม่ได้ แต่ถ้าผมอยากจะผัดกับข้าวเก่ง อยากเป็นเชฟที่เก่ง ผมก็หัดผัดกับข้าวทุกวัน เดี๋ยวสักวันผมก็จะมีฝันที่เป็นจริง

“พอได้ไอเดีย ผมก็เล่าให้หุ้นส่วนฟัง เขาก็บอกว่าคอนเซปต์นี้นำไปเสนอได้ เพราะเราเอาฝันของคนที่ทำมาหากิน คนรากหญ้าที่เขาอยากมีฝันที่เป็นจริง แต่ไม่มีทางมีได้เพราะขาดโอกาส สำหรับผมแล้ว โอกาสเป็นสิ่งสำคัญ เช่น เขาผัดกับข้าวเป็น อร่อยเลย แต่ให้ไปทำค้าขายไม่มีทาง เพราะต้องมีทุนเริ่มต้นสี่หมื่นบาท ต่อให้เก่งขนาดนั้น ถ้าจะทำแบบนี้ได้ เขาต้องมีทุน ถึงจะมีฝันที่เป็นจริงได้”

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนานพิธีกรผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

จุดเด่นของ ฝันที่เป็นจริง อยู่ที่บุคคลต้นเรื่อง ซึ่งเป็นคนดีที่น่ายกย่อง ดังคำพูดปิดท้ายรายการที่เขามักกล่าวเสมอว่า เหตุผลที่แต่ละคนได้มานั่งเล่าเรื่องราวของตัวเองได้ ‘เพราะคุณเป็นคนดี’

“ตอนแรกเราไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้ แต่พอเราคุยไป ก็นึกในใจว่า ดีจริงๆ ทำไมเขาถึงดีได้ขนาดนี้ ถ้าเขาเป็นคนมีเล่ห์เหลี่ยมสักนิด ไม่มีทางที่เขาจะคิดหรือทำแบบนี้ได้ เช่น เขาควรจะมีชีวิตที่ดีของตัวเองคนเดียว แต่เขาทำไม่ได้ เพราะต้องเอาเงินมาให้แม่ที่ยังอยู่ด้วยกัน ต้องแอบเอาเงินให้พ่อที่แยกออกไป ต้องดูแลลูกเองเพราะผัวทิ้งไปแล้ว ทั้งหมดนี้มันเกิดจากเขา คอนเซปต์ของผมคือให้โอกาส ให้เขาไปทำฝันให้เป็นจริง แต่คุณรู้ไหม คุณได้เพราะอะไร เพราะคุณเป็นคนดี หลังเทปแรกออกไป ผมเรียกประชุมลูกน้องเลย แล้วบอกว่า ถ้าไม่ใช่คนดี ต่อให้เรื่องสวยหรูขนาดไหน ไม่ต้องทำ อย่าฆ่าตัวตาย นี่เลยกลายเป็นคอนเซปต์ของเราเรื่อยมา”

นอกจากคนต้นเรื่องแล้ว รูปแบบการนำเสนอก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญมาก โดยตัวรายการจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก คือ สารคดี ละคร และสัมภาษณ์ แต่ช่วงที่โดดเด่นสุดคือละคร เพราะเป็นช่วงที่ทำให้ผู้ชมเห็นภาพและเข้าใจชีวิตของผู้ร่วมรายการได้ชัดเจนที่สุด

ว่ากันว่ากว่าจะได้มาแต่ละเรื่อง ทีมงานต้องลงพื้นที่อย่างหนัก คลุกคลีอยู่ในสลัมนานร่วมเดือน จากนั้นจึงค่อยๆ กลั่นกรองฉากที่น่าสนใจออกมาเป็นบทที่สั้นแต่ทรงพลัง ซึ่งคนเขียนหลัก คือ ปริ้นซ์-มรุธา รัตนสัมพันธ์ มือเบสวง วงตาวัน และเมื่อบทเสร็จเรียบร้อยก็จะถูกส่งต่อให้ ฉลวย ศรีรัตนา ผู้กำกับภาพยนตร์คนดัง

“บทของเขาแค่อ่านอย่างเดียวก็ร้องแล้ว ยิ่งมีอาหลวยเป็นคนกำกับ ถ้าเป็นคนเก่าๆ จะรู้ว่าอาหลวยเก่งแค่ไหน เพราะอาถ่ายละครเหมือนถ่ายหนัง ก็เลยได้ภาพที่คุณต้องการออกมาตลอดเวลา อีกอย่างคือ นักแสดงที่เล่นนั้นเก่งโคตรๆ ถ้าย้อนดูมีไม่กี่คนหรอกที่เล่นประจำ อย่างบทไอ้เมาคือ โกวิท วัฒนกุล พวกนี้เก่งมาก เพราะโดนอาหลวยตบ ตี ผลัก ด่า จนกลายเป็นมืออาชีพ

“พอดูเสร็จ ละครก็จะมาจบที่ว่า แล้วเราจะทำยังไงกันดีล่ะลูก คือจบแบบชีวิตแบบหม่นเลยนะ จากนั้นก็จะโยนกลับมาที่ผม พบกับตัวจริง ป้าสำรวย จิตมั่น ป้าสำรวยก็ออกมา แล้วผมก็บอก ‘ป้าเห็นภาพนั้นแล้ว ยังจำได้ใช่ไหม’ เท่านี้แกก็ร้อง เดี๋ยวนั้นเลย เราไม่ต้องไปสร้างอารมณ์ให้เขา แล้วแกก็เล่าของแกไป จากนั้นเราก็เสริม ‘รู้ไหม ป้าเหนื่อยขนาดนี้ ถ้าเป็นคนอื่นเขาเลิกไปแล้ว ทำไมป้ายังรับไหว’ เราถามคำถามง่ายๆ แบบนี้ แกก็บอก ‘เพื่อลูกไงคะ’ จากนั้นเราก็เชิญลูกสาวออกมา พอลูกออกมาก็ร้องอีก แค่นั้นแหละ มันก็ประสบความสำเร็จ 

“เพราะการทำทีวี มันต้องมีลีลาและความหมาย บังเอิญผมโชคดีที่ได้ทำงานที่มีลีลาและความหมายที่เป็นเรื่องจริง ไม่ต้องแต่งเติมหรือเสริมสร้าง ซึ่งทีมงานของผมทุกคนก็มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเขาไม่ได้ทำสิ่งที่ตั้งใจจะมาเรียกอารมณ์ผู้ชม แต่เราทำสิ่งที่เป็นจริง”

ในยุคนั้น ฝันที่เป็นจริง ถือเป็นรายการที่โด่งดังมาก กวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆ มานับไม่ถ้วน จนช่อง 3 ต้องขยายเวลาออกอากาศจากครึ่งชั่วโมงเป็น 1 ชั่วโมง และเพิ่มวันฉายจากวันอาทิตย์ เป็นทุกวันเสาร์-อาทิตย์

สำหรับไตรภพแล้ว รายการนี้เป็นเสมือนบทเรียนที่ช่วยตักเตือนว่า อย่าหลงลืมเรื่องดีๆ ของมนุษย์ เขาได้เห็นแง่มุมมากมาย ทั้งเรื่องเศร้า เรื่องประทับใจ ตลอดจนต้องพึงระลึกว่า การทำอะไรก็ตามจำเป็นต้องรอบคอบ 

เรื่องหนึ่งที่พิธีกรคนดังจำได้ไม่ลืมคือ ก่อเกียรติ ลิมปพัทธ์ น้องชายของเขาไปถ่ายงานในสลัม แล้วก็ดื่มน้ำอัดลมไปด้วย พอดีลูกชายของเจ้าของเรื่องนั่งอยู่ด้วย แล้วก็มองที่น้ำขวดนั้น เขาก็เลยยกให้เด็ก ปรากฏว่าพอแม่เด็กเดินเข้ามาเห็นก็ปัดขวดทิ้งทันที แล้วก็ตีลูก ก่อเกียรติจึงรีบบอกว่า เด็กไม่ได้ขอ เขาให้เอง แม่เด็กหันกลับมาตวาดทันทีว่า “เวลาคุณไม่อยู่แล้วใครจะเป็นคนให้” ซึ่งเป็นแง่มุมที่พวกเขาไม่เคยมองเห็นมาก่อนเลย

แม้แต่การมอบรถเข็นช่วงท้ายรายการ ผู้ชมส่วนใหญ่อาจไม่รู้ว่า นี่เป็นเสี้ยวเดียวของการช่วยเหลือเท่านั้น

“การจะช่วยคนรากหญ้า คุณจะเอาหม้อ เอาไห แล้วไม่มีที่ขายได้ยังไง ความจริงเราไปติดต่อหาพื้นที่ขายให้ด้วย บางคนไปตั้งหน้าโรงงาน ผู้จัดการฝ่ายโรงอาหาร ให้วางตรงนี้ แต่พอเจ้าของโรงงานรู้ บอกไม่ต้องเข็นแล้ว ไม่ต้องขายแล้ว ต่อไปเธอรับผิดชอบคนงานพันคนไปเลย.. คุณเชื่อไหม คนพวกนี้ที่ผมให้เงินไปสี่ห้าหมื่นบาท เขาได้รับเงินช่วยเหลืออีกเท่าไหร่ บางคนได้เป็นล้าน บางคนตอนนี้เป็นเศรษฐีของประเทศ เป็นเจ้าของโรงงานก็มี”

และนี่คือปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ผ่านรายการเล็กๆ ที่ไตรภพสร้างสรรค์ขึ้นสู่ผู้ชมทั่วเมืองไทย

03

รายการแห่งความทรงจำ

ทไวไลท์โชว์, คู่รัก, ลับเฉพาะคนรู้ใจ, เฉียด, ใครผิดใครถูก, จู๊คบ็อกซ์เกม, เกมเศรษฐี คือตัวอย่างเพียงเล็กน้อยของรายการที่ผู้ชายคนนี้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งหลายรายการได้กลายเป็นหมุดหมายและตำนานของวงการโทรทัศน์เมืองไทย

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนานพิธีกรผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

ไตรภพเล่าว่า หลักคิดสำคัญที่ช่วยให้งานของเขาเข้าไปอยู่ในใจผู้ชมคือ “คนดูก็เหมือนผม เขาต้องการอย่างเดียวกับที่ผมต้องการ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นกับจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย

“เวลาเป็นเรื่องสำคัญ สมมติต่อไปในอนาคตข้างหน้าผู้ชายจะไม่ใส่ขายาวอีกเลย จะใส่แต่ขาสั้น แต่คุณใส่เลยปีนี้ คุณอาจจะดับ ดังนั้นต้องดูให้เป็นว่ามันจะ Beyond ไหม คุณอาจได้เป็นประวัติศาสตร์ที่เขาพูดแค่ว่า มีคนเคยทำแล้วนะ เมื่อสิบปีที่แล้ว แต่เขาไม่ได้จำคุณหรอก เพราะตอนนั้นมันยังไม่ถึงเวลา แต่คุณดันทำ”

ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก คือ ทไวไลท์โชว์ วาไรตี้ทอล์กโชว์ซึ่งเคยครองอันดับ 1 มานานหลายสิบปี

ความจริงหุ้นส่วนของเขา อยากให้ทำรายการประเภทนี้ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่เปิดบริษัท แต่ไตรภพรู้สึกว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม จึงชะลอความคิดนี้ไว้นานถึง 5 ปีเต็ม

“เขาถามตลอดว่าทำไมไม่ทำ แต่ผมก็ตอบว่า หนึ่ง คนจะทำทอล์กโชว์ ต้องถึงที่ที่จะทำได้ ถึงที่ของการยอมรับ สอง เมื่อจะทำคุณมีความสามารถแค่ไหน มีความรู้กว้างขวางเพียงใด ผมคิดว่าตัวเองไม่ถึง จึงยังไม่ทำ จนถึงอายุสามสิบห้า ผมถึงคิดว่าทำได้แล้ว ก็เลยทำ แล้วก็บอกสถานีว่า ขอเป็นตอนเย็นวันอาทิตย์ ถ้าไม่ได้เวลานี้ผมก็ไม่ทำ โชคดีที่ผมมีนายที่ดีมาก นายผมชื่อ ประวิทย์ มาลีนนท์ เวลาพูดอะไรแกก็จะหมั่นไส้ผมมาก แต่แกเชื่อในผม Believe in me”

ความน่าสนใจของ ทไวไลท์โชว์ คือความหลากหลาย ครบรส และเต็มอิ่ม

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนานพิธีกรผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

อย่างช่วงทอล์กโชว์ ถือเป็นช่วงที่ทุกคนห้ามพลาด เพราะนอกจากจะมีดารา นักแสดง คนดังมาพูดคุยแล้ว บางครั้งก็มีแขกรับเชิญสุดพิเศษที่ไม่เคยยอมออกทีวีมาก่อน แต่กลับเลือกมาสนทนากับไตรภพเป็นที่แรก

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ คำถามที่ป้อนให้ผู้ร่วมรายการนั้น เจาะลึกไปถึงเส้นทางชีวิตของแต่ละคน ทำให้ผู้ชมได้เห็นถึงการต่อสู้ การฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนมีวันนี้ ซึ่งหลายอย่างก็นำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตตัวเองได้

ที่สำคัญ แม้ในรายการไตรภพจะถามตรงไปตรงมาเพียงใด แต่เขาก็ยังคงยึดหลักที่ว่า ไม่ฆ่าใครออกจอ และถ้าเป็นไปได้ก็จะพยายามยกเรื่องดีๆ ของแขกรับเชิญมาคุยให้มากที่สุด จนใครหลายคนยกให้เขาเป็น จอมอวย หรือ ป๋าดัน

“เป็นความตั้งใจ เพราะงานทุกอย่างที่ผมทำเกิดจากการศึกษาพระธรรมทั้งสิ้น แล้วสิ่งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าสอนคือ เวลาจะพูดถึงใคร ให้พูดถึงความดีของเขา ถ้ามีสิ่งไม่ดี ไม่ต้องพูดถึงเลยก็ได้ อีกอย่างมาจากสิ่งที่คุณตุลชัยเคยพูดกับผม ผมคิดว่า การให้สิ่งดีๆ นั้นมีค่าและมีประโยชน์มาก แล้วการที่คุณบอกเขาว่า คุณเป็นคนดีและกตัญญู คุณก็จะถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นคนกตัญญู ซึ่งคงยากมากที่คุณจะออกจากรายการแล้วไปตบแม่ แต่ผมไม่ได้หมายความว่า คนนี้จะดีทุกเรื่อง เพราะมนุษย์ก็ดีคนละแบบ เช่นกันมนุษย์ก็เลวคนละแบบ แต่รายการผมไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อตีแผ่ความเลวของคน ผมทำรายการเพื่อส่งเสริมสังคม”

นอกจากช่วงทอล์กโชว์ที่โดดเด่น ทไวไลท์โชว์ ยังเป็นรายการแรกที่เปิดเวทีให้ตลกคาเฟ่บนจอแก้ว ผ่านช่วง ไลฟ์โชว์ จนหลายคณะโด่งดังกลายเป็นตลกระดับประเทศ

ในมุมของไตรภพ ตลกคือความบันเทิงที่เสพง่ายที่สุด เรียกรอยยิ้ม เรียกความสุขได้มหาศาล

แต่กว่าที่รายการจะเข้ารูปเข้ารอยได้ บอกเลยว่าไม่ง่าย โชคดีที่เขามีตัวช่วยสำคัญอย่าง ดี๋ ดอกมะดัน และ จุ๋มจิ๋ม เข็มเล็ก แห่งคณะซุปเปอร์โจ๊ก คอยเป็นสื่อกลางประสานตลกทั่วฟ้าเมืองไทยมาร่วมรายการ

“ผมกับพี่ดี๋รู้จักกันมาตลอดอยู่แล้ว พอบอกว่าจะทำ แกก็พูดเลยว่า มึงทำอะไร กูเอาด้วย ส่วนพี่จุ๋มจิ๋ม แกรักผมมาก จำทุกซีนในรายการผมได้ พอบอกว่าจะทำช่วงตลก แกก็ช่วยเต็มที่ อย่างข้อแม้ที่ว่า ตลกทุกคนต้องใส่สูทเข้ารายการ ก็จะมีตลกบางคนบอกว่า ทำไมต้องใส่ด้วย เพราะยุคนั้นไม่มีใครใส่เลย แต่พี่จิ๋มพูดง่ายๆ คำเดียวว่า เขาบอกให้ทำก็ทำ มึงไม่ทำมึงมาเจอกับกู ก็จบเลย” อาต๋อยเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

อีกไฮไลต์หนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ ทไวไลท์ไทยลูกทุ่ง เพราะก่อนหน้านั้นตลาดเพลงลูกทุ่งเมืองไทยซบเซาสุดขีด ศิลปินหลายคนเลิกวง หันไปประกอบอาชีพอื่น ไตรภพจึงพูดคุยกับ ผ่องศรี วรนุช ศิลปินแห่งชาติ ให้ช่วยเอาวงมาออกรายการ จนเกิดกระแสตื่นตัวไปทั่ว หลังจากนั้นก็ควานหาลูกทุ่งเก่าๆ มานำเสนอ บางคนเขาต้องบุกไปเชิญตัวถึงต่างจังหวัด จนในที่สุดเพลงลูกทุ่งก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ตลอดเวลาเกือบ 20 ปีที่ ทไวไลท์โชว์ อยู่คู่จอโทรทัศน์ ถือเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จสูงสุด จนไม่มีช่องไหนอยากทำรายการแข่งในช่วงเวลาเดียวกัน แถมช่อง 3 ยังขยายเวลาออกอากาศจากชั่วโมงเดียวกลายเป็น 3 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของรายการประเภทนี้

เช่นเดียวกับศิลปินที่เชิญมาออกรายการก็เกิดแทบทุกราย เช่น โลโซ หรือ โมเดิร์นด็อก ซึ่งเดิมทีรู้จักแค่ในกลุ่มวัยรุ่น แต่พอออก ทไวไลท์โชว์ ผู้ใหญ่ เด็ก หรือชาวบ้านทั่วไปก็เริ่มรู้จัก เนื่องจากสมัยนั้นโทรทัศน์เป็นสื่อกระแสหลักที่มีอิทธิพลกับผู้ชมมากเป็นลำดับต้นๆ

หาก ทไวไลท์โชว์ คือตำนานทอล์กโชว์ คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า เกมเศรษฐี เมื่อ พ.ศ. 2543 คือสุดยอดควิซโชว์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วเมืองไทย

รูปแบบของ เกมเศรษฐี คือการตอบคำถามประเภทความรู้รอบตัวจำนวน 16 ข้อ โดยผู้ร่วมรายการก็คือ บุคคลทั่วไปนั่นเอง แต่สิ่งที่กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดคือ เงินรางวัล 1,000,000 บาท สำหรับผู้เข้าแข่งขันที่ตอบคำถามถูกทุกข้อ โดยระหว่างนั้นรายการจะมีตัวช่วย 3 ข้อ คือ เปลี่ยนคำถาม โทรศัพท์ถามใครก็ได้ และตอบได้ 2 ครั้ง

ไตรภพบอกว่า แก่นคิดของรายการนั้นง่ายมาก เพราะความจริงแล้วก็ไม่ต่างกับรายการ ตอบปัญหาภาษาอังกฤษกับเชลล์ ในอดีตเลย แต่สิ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จคือ จังหวะเวลา รูปแบบ และรางวัลที่จูงใจ

“ถ้าได้ถ้วยอย่างเดียวไม่พอหรอก ต้องมีเงินด้วย สมัยนั้นถ้าจุใจก็ต้องล้านหนึ่ง แล้วก็มีตัวช่วยอีกสามตัว แต่จริงๆ ยังมีตัวช่วยอีกตัวที่แฝงอยู่ ก็คือ น้ำใจ เช่น เขาจะตอบแล้ว สมมติตอบข้อสอง ซึ่งเรารู้อยู่แล้วว่าผิด ถ้าเขาพูดว่า ‘เป็นคำตอบสุดท้าย’ คือจบเลยนะ แต่ถ้ายังไม่พูด ผมก็จะบอกคุณยังมีตัวช่วยนะ นี่คือตัวช่วยตัวที่สี่ คือน้ำใจ มึงใช้เถอะ มึงผิดแน่ๆ แต่มีเหมือนกันที่มั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ แล้วสุดท้ายก็ผิด ต้องออกจากรายการไป”

ในยุคนั้น เกมเศรษฐี ฮอตฮิตมากถึงขั้นทุกเย็นวันเสาร์-อาทิตย์ บนถนนแทบไม่มีรถวิ่ง เช่นเดียวกับเรตติ้งของรายการ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์คือ 30 มากกว่าละครดังๆ ร่วมยุคเกือบเท่าตัว

และเมื่อจัดสัญจรในต่างจังหวัด ก็ยังได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม เช่น ตอนไปเชียงใหม่ มีคนมาต่อคิวสมัครร่วมเล่นเกมถึง 20,000 คน นับเป็นปรากฏการณ์ที่น้อยคนนักจะทำได้

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนานพิธีกรผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

อีกรายการที่ฉายภาพของนักสร้างสรรค์อย่างชัดเจน คือ ครัวคุณต๋อย เพราะเป็นครั้งแรกที่ร้านอาหารทั่วประเทศยอมออกทีวีมาสอนสูตรเด็ดต่อหน้าผู้ชมทั่วประเทศ

ไตรภพเล่าว่า ไอเดียเกิดจากข้อสังเกตที่ว่า ทำไมรายการครัวในบ้านเราถึงมีพ่อครัวเป็นผู้ดำเนินรายการ ไม่มีพิธีกร และต่อให้พ่อครัวคนนั้นจะเก่ง แต่เขาก็ไม่เชื่อว่า คนๆ เดียวจะทำอาหารทุกอย่างอร่อยหมด เพราะฉะนั้น แทนที่จะใช้เชฟคนเดียวมาทำ ก็ไปตามหาสุดยอดฝีมือของอาหารแต่ละชนิดมาสอนดีกว่า ซึ่งก็คือบรรดาร้านอาหารต่างๆ นั่นเอง

แต่แน่นอน สมัยนั้นสูตรอาหารถือเป็นความลับที่ไม่มีใครยอมเปิดเผย ไตรภพจึงไปเกลี้ยกล่อม ณชนก แซ่อึ้ง แห่งครัวเจ๊ง้อ ซึ่งมีจานเด็ดคือผัดผักบุ้ง มาเป็นตัวเปิดรายการ

“ปกติผักบุ้ง ผัดแล้วต้องไม่กรอบ แต่เจ๊ง้อผัดยังไงไม่รู้ถึงยังกรอบอยู่ ก็ไปหาแก ขอให้มาออกรายการสอนทำอาหาร เจ๊ง้อบอกสอนไม่ได้ เป็นความลับ เลยบอกแกว่า ถ้าคนที่ดูเจ๊ง้อ บางคนมาทานที่ร้านไม่ได้ เพราะอยู่ต่างจังหวัด อีกส่วนมาไม่ได้ เพราะว่าจน เขาควรได้กินสิ่งดีๆ บ้าง และอีกส่วนเขาจะไม่มีวันทำเองเลย เขาจะมาที่ร้านเจ๊ง้อ แล้วต่อให้ใครทำเหมือน เขาก็จะไปโฆษณาต่อว่าเหมือนเจ๊ง้อ ยิ่งส่งเสริมขึ้นไปอีก อีกอย่างเจ๊ง้อก็ไม่รู้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ควรสร้างอนุสาวรีย์แห่งการให้ ทำให้วงการอาหารมีค่า พอพูดเสร็จ เจ๊ก็บอกว่า ลื้อพูดเยอะ อั๊วตามไม่ทัน ทำให้ก็ได้ 

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนานพิธีกรผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

“พอเทปเจ๊ง้อออกอากาศวันนั้น ผักบุ้งทั้งตลาดทุกตลาดหมดเลย เพราะคนมาลองผัดแบบเจ๊ง้อ แล้วพอดีช่วงนั้นโซเชียลมันเริ่มมาแล้ว คนก็ลงกันว่า อร่อยจริงๆ มันก็ดังไปทั่วประเทศ หลังเจ๊ง้อมาออก เยาวราชจะไม่มาได้ยังไง แล้วถ้าเยาวราชมาแล้ว ในประเทศนี้จะเหลือที่ไหนจะไม่มา”

ตลอด 8 ปี มีร้านอาหารมาร่วม ครัวคุณต๋อย นับพันร้าน เขาได้พบเพชรเม็ดงามของวงการนับไม่ถ้วน อาทิ เจ๊เตี้ยขนมหวานเมืองเพชร โชติมา เจ๊ดำคลองสิบ เกิดการต่อยอดไปสู่การทำนิตยสาร แอปพลิเคชัน รวมถึงเทศกาลอาหาร ครัวคุณต๋อย Expo และครัวคุณต๋อยยกทัพ ซึ่งงานหลังนี้ได้บุตรชายคนโตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ

อย่างไรก็ดี การสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องเดียวที่คนผลิตรายการโทรทัศน์ต้องคำนึง การปรับเปลี่ยนรูปแบบและยุติรายการให้เป็นก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ที่ผ่านมา ไตรภพเลิกรายการมาแล้วมากมาย แม้จะยังได้รับความนิยมอยู่ 

“รายการไหนที่ขี้เกียจทำ เราก็พอ คนเราควรจะอยู่แค่พอ เหมือนอัศวินม้าขาวไม่ควรอยู่จนแก่ตายที่หมู่บ้านนั้น ควรออกไปแล้วตายที่ไหนก็ไปเถอะ อย่างน้อยคุณจะยังเป็นอัศวินไปตลอด เชื่อไหม เกมเศรษฐี มีคนมาขอให้ทำทุกวันเลย แต่เราไม่ทำแล้ว หรือ ฝันที่เป็นจริง ยุคนี้คนขอกันบ้าคลั่งเลย เพราะทำยังไงก็ประสบความสำเร็จ”

04

ชีวิตที่เพียงพอ

ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของไตรภพ แน่นอนว่าความสามารถคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่อีกส่วนคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากอิทธิพลของโทรทัศน์ที่มีต่อสังคมไทย หากแต่หลายปีที่ผ่านมา มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาดึงความสนใจของผู้คนออกจากหน้าจอ ส่งผลให้ผู้ผลิตจำนวนมากต้องปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์

เส้นทางเกือบ 40 ปีของพิธีกรระดับตำนานพิธีกรผู้ทำให้รายการโทรทัศน์มีเรตติ้งเหนือละคร และสร้างปรากฏการณ์สู่หน้าจอมาแล้วนับไม่ถ้วน

อย่างไตรภพเองก็เช่นกัน ทุกวันนี้เขาเหลือรายการบนหน้าจอเพียง 2 รายการคือ ทูเดย์โชว์ กับ ครัวคุณต๋อย ซึ่งอาจเทียบไม่ได้เลยกับยุครุ่งเรืองที่เคยมีถึง 28 รายการ แต่เขาก็พอใจและไม่เคยมองว่าเป็นปัญหา เพราะสุดท้ายแล้ว นี่ก็คือสัจธรรมของชีวิตมนุษย์

“ผมเป็นคนช่างคิด สมองผมใช้ไปแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ ผมยังทำได้อีกเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์ แต่ผมไม่ทำเอง ทำแค่นี้ ถามว่าอะไรเป็นแรงผลักดัน ไม่มีหรอก เหมือนกับพอถึงจุดจุดหนึ่ง ก็จะรู้สึกว่าปีนี้บริษัทต้องใช้เงินเท่านี้ เลี้ยงลูกน้องเท่านี้ เราก็ทำเท่านี้ หรืออย่างตอนนี้เกิด COVID-19 ขึ้นมา แล้วจะเอาเงินตรงไหนมาเลี้ยง ผมถึงจะคิดงานใหม่ แต่ถ้าอยู่ในภาวะปกติ ผมไม่ทำหรอก ไม่ทำจริงๆ”

เช่นเดียวกับงานพิธีกร ซึ่งไตรภพก็ยังคงทุ่มเท และมุ่งมั่นผลิตผลงานที่ดีที่สุดออกมาเหมือนเช่นเคย แม้ไม่ได้รัก หรือสนุกที่จะทำก็ตาม เพราะสำหรับเขาแล้วหน้าที่และความรับผิดชอบคือ สิ่งที่สำคัญที่สุด

“มันก็เหมือนคนกวาดถนน ผมถามคำเดียวว่า มีใครบ้างที่รักและอยากเกิดเป็นคนกวาดถนน แต่ทำไมถนนถึงสะอาดแบบนี้ เพราะเขารู้จักหน้าที่ ผมทำงานเพราะเป็นหน้าที่ ไม่ใช่เพราะความรัก ผมเริ่มงานในชีวิตมาด้วยกลไกนี้ ดังนั้นผมจะไม่เปลี่ยนแปลงหน้าที่เป็นความรักเด็ดขาด เพราะเท่าที่ผมเห็นคนในอาชีพนี้หรือธุรกิจอื่น คนที่ใช้ความรักเป็นที่ตั้งมักพบกับความปวดร้าว พบกับความผิดหวังเมื่อไม่ได้อย่างใจ แต่ผมไม่เป็น เพราะผมไม่ได้รักมัน 

“อธิบายง่ายๆ ก็คงเหมือนคุณเป็นช่างปั้น ซึ่งทำงานออกมาสวยมากเลย หากคุณรักมันมาก แล้วมีคนเดินมา แล้วบอกไม่สวย ไม่เห็นดีเลย ถ้าคุณรักก็คงต้องเป็นบ้าไปแล้ว แต่ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองมีหน้าที่ปั้น เมื่อปั้นออกมาแล้ว ต่อให้คุณจะชอบมันมาก แต่อย่างน้อย คุณก็ยังเข้าใจว่า ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะชอบเหมือนกันหมด”

และนี่เองคือเหตุผลว่าทำไม ไตรภพ ลิมปพัทธ์ จึงหยัดยืนบนเส้นทางจอแก้วได้อย่างมั่นคงมานานเกือบ 4 ทศวรรษ และยังกลายเป็นต้นแบบแก่ผู้คนอีกมากมายจนถึงปัจจุบัน

Writer

Avatar

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา

เพจเล่าเรื่องที่เชื่อว่าคนธรรมดาทุกคนต่างมีความเป็นยอดมนุษย์อยู่ในตัว