คำถามที่เราโดนถามบ่อยที่สุดน่าจะเป็น “ชอบนั่งรถไฟสายไหนที่สุด” 

เอาจริง ๆ หาคำตอบยากเหมือนกันนะ เพราะเราชอบทุกสายเลย แต่ละสายมีอะไรไม่เหมือนกัน ถ้าชอบภาพที่ราบก็ต้องสายตะวันออก ถ้าชอบความปศุสัตว์หรือที่ราบสลับเนินก็ต้องสายอีสาน ถ้าชอบป่าเขียว ๆ ภูเขาทรงแปลก ๆ อาหารอร่อย ๆ ก็ต้องสายใต้ หรือชอบทิวทัศน์ภูเขาสลับซับซ้อนกับอากาศเย็น ๆ ก็ต้องสายเหนือ 

แต่ถ้าหากลดคำถามลงให้เหลือแค่ว่า “ชอบรถไฟที่วิ่งเข้าจังหวัดไหนมากที่สุด” อันนี้ตอบได้ไม่ยากสำหรับเรา เพราะชื่อของ ‘แพร่’ จะผุดขึ้นมาเป็นลำดับแรก ชนิดที่เรียกได้ว่าถามปุ๊บตอบปั๊บเป็นอับดุลกันเลย

10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น

แล้วจังหวัดแพร่กับรถไฟมันมีอะไรดี

ถ้าเราบอกว่ามันคือความพิเศษที่แสนจะธรรมดาล่ะ ยังจะสนใจมันอยู่หรือเปล่า เพราะนับตั้งแต่ที่ทางรถไฟสายเหนือเข้าเขตจังหวัดแพร่ที่เขาพลึง จนออกจากเขตจังหวัดที่ปางป๋วย มันไม่ได้มีความพิเศษหรือความท้าทายทางวิศวกรรมในการก่อสร้างที่เป็นตำนานเหมือนกับอุโมงค์ขุนตาน ไม่มีแม้กระทั่งสะพานข้ามหุบเหวที่ลำปาง แต่มันเป็นสิ่งธรรมดาที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะกลายเป็นความพิเศษ ด้วยเรื่องราวและสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานี อุโมงค์ หรือแม้แต่แค่เนินเขาธรรมดาเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เรากำลังจะเล่าต่อไปนี้สร้างแรงดึงดูดมหาศาลให้กับ Railfan ที่นั่งรถไฟผ่าน ให้ลุกจากที่นั่งมารอคอยจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นด้วยตา

พร้อมแล้วก็ขึ้นขบวนรถไฟไปด้วยกันเลย

1. อุโมงค์เขาพลึง

10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น

ถ้ามาจากกรุงเทพฯ นี่คืออุโมงค์ที่ 2 ที่ขบวนรถไฟต้องลอด ห่างจากอุโมงค์ปางตูบขอบไปแค่ 3 กิโลเมตร และเป็นอุโมงค์ที่อยู่ตรงรอยต่อจังหวัดอุตรดิตถ์กับแพร่พอดิบพอดี 

สันเขาพลึงซึ่งเป็นกำแพงธรรมชาติที่กั้นอุตรดิตถ์กับแพร่ไว้ ทำให้เส้นทางหลวงหมายเลข 11 คดเคี้ยวอยู่ไม่น้อย ส่วนทางรถไฟก็ไม่ต่างกัน กำแพงเขาหนาประมาณ 300 เมตร ถูกเจาะออกเป็นถ้ำให้รถไฟลอดผ่าน ภายในตัวอุโมงค์ เป็นเนื้อหินตะปุ่มตำป่ำชัดเจน ไม่ได้ฉาบด้วยคอนกรีตราบเรียบเหมือนอุโมงค์ขุนตานหรืออุโมงค์รถไฟอื่น ๆ ปากอุโมงค์ทั้งสองฝั่งซ่อนอยู่ในหลืบเขา 

ทางฝั่งทิศใต้เป็นโค้งมีทัศนวิสัยกว้าง ส่วนฝั่งทิศใต้อยู่ในซอกเขาที่แคบพอจะทำให้ปากอุโมงค์เหลือพื้นที่อยู่เพียงนิดเดียว และด้วยความชื้นแฉะที่เรียกได้ว่าน่าจะมีตลอดทั้งปี จึงทำให้ปากอุโมงค์ทางด้านทิศเหนือมีตะไคร่เกาะอยู่เต็มตัวผนังปากอุโมงค์ 

ถ้าจะว่าไปแล้ว อุโมงค์นี้ก็เหมือนกับเป็นประตูที่ต้อนรับสู่จังหวัดแพร่

2. ที่หยุดรถแม่พวก

10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น

ที่หยุดรถแม่พวก เดิมเคยเป็นสถานี ปัจจุบันลดระดับลงเป็นเพียงแค่ที่หยุดรถ ซึ่งไม่ต้องมีนายสถานีประจำการ ถ้าเรียกแบบเข้าใจง่ายก็น่าจะเป็น Unmanned Station ซึ่งยังมีรถไฟจอดรับส่งอยู่นั่นแหละ แล้วไปซื้อตั๋วบนรถไฟเอา

ดูแล้วก็เป็นแค่อดีตสถานีรถไฟธรรมดา ๆ แต่ความไม่ธรรมดาอยู่ที่อาคารสถานีเป็นเอกลักษณ์ในแง่ของการวางผังสถานีที่ไม่มีสถานีไหนในประเทศไทยเหมือนเลย 

มีตัวอาคารไม้สองชั้นวางตัวบนชานชาลาคู่กัน และเชื่อมกันด้วยพื้นที่รอการโดยสาร ทำให้มองดูละม้ายคล้ายกับเป็นสถานีแฝดสยามที่มีส่วนเชื่อมต่อกันอยู่ 

หลังจากที่การรถไฟฯ ลดระดับจากสถานีเป็นที่หยุดรถนั้น ปกติมักจะรื้อถอนตัวอาคารออกไปด้วยเพราะเมื่อไม่มีคนประจำการก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวอาคารแล้ว เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซ่อมบำรุงไปอีกด้วย แต่ชาวบ้านไม่ยอม เพราะนอกจากความพิเศษของตัวอาคารแล้ว สถานีแม่พวกนั้นในอดีต สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ก็เคยเสด็จทางรถไฟมาที่สถานีแห่งนี้ ชาวบ้านแม่พวกจึงอนุรักษ์และดูแลอาคารไม้แห่งนี้ นอกจากนั้นแล้วชุมชนแม่พวกก็ยังเป็นสวนอนุรักษ์ต้นสักอีกด้วย

3. ทางรถไฟสไลเดอร์

10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น

มันเป็นแค่ทางรถไฟลงเนินและขึ้นเนินใหม่ เพื่อลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงก่อนเข้าสถานีรถไฟเด่นชัย แต่เผอิญว่าความชันที่ขึ้น ๆ ลง ๆ เห็นชัดมาก จนสายถ่ายรูปรถไฟเขาชอบกันเพราะมันดูแปลกดี 

ถ้าเราอยู่ในขบวนและมองไปข้างหน้า จะเห็นว่าหัวรถจักรจะเชิดขึ้นแล้วลอดใต้สะพาน แต่ถ้ามองจากท้ายขบวน จะเห็นชัดว่าเหมือนสไลเดอร์ที่ลงจากเนินหนึ่ง แล้วพุ่งขึ้นอีกเนินหนึ่งโดยทันที แถมพอขึ้นเนินปั๊บก็หักโค้งอีกเลย ทำให้รูปของทางมันดูแปลก ๆ 

ถ้าถึงตรงนี้เมื่อไหร่ ให้รู้ไว้เลยว่ากำลังจะถึงสถานีเด่นชัยแล้ว

4. สถานีเด่นชัย

10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น

ไปแพร่ต้องลงเด่นชัย

เพราะทางรถไฟสายเหนือไม่ได้เข้าตัวเมืองแพร่ เด่นชัยจึงกลายเป็นสถานีประจำจังหวัดแพร่ไปโดยปริยาย ในยุคเดิมพบการสะกดชื่อ 2 แบบ คือ เด่นใจ และ เด่นไชย ก่อนที่จะเปลี่ยนการสะกดเป็น ‘เด่นชัย’ อย่างปัจจุบัน

ก่อนเข้าสถานีเด่นชัย ถ้ามาจากกรุงเทพฯ นั้นจะมีโค้งอยู่โค้งหนึ่ง ถือได้ว่าแคบและหักศอกพอสมควร ถ้ารถไฟของเราเป็นขบวนยาว จะมองเห็นหัวขบวนหรือท้ายขบวนได้อย่างชัดเจน เมื่อพ้นโค้งนั้นไปรถไฟก็จะเทียบชานชาลาอย่างสวยงาม ซึ่งสถานีเด่นชัยนั้นเป็นจุดที่ต่อรถเข้าอำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ หรือไปจังหวัดอื่น ๆ เช่นจังหวัดน่าน 

ในอนาคตที่ไม่ไกลจะมีทางรถไฟสายใหม่เกิดขึ้น โดยแยกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีเด่นชัยนี้นี่แหละ เข้าไปตัวเมืองแพร่ ผ่านอำเภองาว จังหวัดลำปาง ผ่านพะเยา ผ่านเชียงราย และไปสุดสายที่เชียงของ สถานีเด่นชัยจะไม่ใช่สถานีประจำจังหวัดแพร่อีกต่อไป แต่เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็น ‘สถานีชุมทาง’ ซึ่งหมายถึงสถานีที่อยู่ตรงจุดแยกสายของรถไฟ

ถ้าโดยสารรถไฟมาในช่วงหน้าหนาว และเป็นขบวนที่มาถึงเด่นชัยในตอนเช้า หากคุณโชคดีที่สภาพอากาศพอเหมาะ คุณจะพบสถานีเด่นชัยถูกหมอกปกคลุมจนขาวโพลน เหมือนเป็นสถานีรถไฟที่อยู่กลางสายหมอก และแทรกด้วยสีทองระเรื่อของแสงตะวันยามเช้า

5. แก่งหลวง

10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่

แก่งหลวงคือทางรถไฟเลียบแม่น้ำยมระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร และไม่มีชุมชนใด ๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

ลองจินตนาการภาพของโตรกเขาที่มีแม่น้ำไหลเชี่ยวอยู่ข้างล่าง และบนตีนเขาฝั่งหนึ่งของแม่น้ำมีทางรถไฟคดเคี้ยวไปตามกายภาพของภูเขานั้นเป็นทางโค้งรูปตัว S ไปไม่รู้จบ การนั่งรถไฟที่ผ่านช่วงแก่งหลวงซึ่งอยู่ระหว่างสถานีปากปานกับแก่งหลวงเชื้อเชิญให้มองออกไปนอกหน้าต่างได้ ซึ่งทัศนียภาพในแต่ละช่วงฤดูก็แตกต่างกันไป

หน้าร้อน ฟ้าใส ต้นไม้เป็นสีเหลือง น้ำลดจนเห็นแก่งชัดเจน

หน้าฝน ฟ้าขุ่น ต้นไม้เขียวชอุ่ม มีหมอกยอดต้นไม้ และน้ำเยอะไหลเชี่ยว

หน้าหนาว ฟ้าใส บางช่วงมีหมอกจับหนาจนทั่วบริเวณเต็มไปด้วยความขาวโพลนของหมอก เผยให้เห็นร่องน้ำอยู่ด้านล่างของโตรกเขานั้น

6. สะพานห้วยแม่ต้า

สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่
สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่
สะพานข้ามแม่น้ำยมถูกทิ้งระเบิดเสียหาย
ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นตอม่อสะพานเก่าอยู่ข้างสะพานใหม่ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน

สะพานรถไฟเหล็กสีดำที่ดูธรรมดาและธรรมดามาก มันซ่อนสะพานเดิมที่เหลือเพียงแค่ซากเอาไว้ข้าง ๆ

สะพานนี้ข้ามแม่น้ำยมใกล้กับป้ายหยุดรถห้วยแม่ต้า ดูเผิน ๆ คือสะพานรถไฟธรรมดา หากให้พิจารณาด้านข้างทางซ้ายมือ หากหันหน้าไปทางเชียงใหม่ จะมองเห็นสิ่งปลูกสร้างที่เหมือนตอม่อสะพานรถไฟอยู่ข้างสะพานนี้ และมีร่องรอยความเสียหายอยู่บนผิวของตอม่อนั้น นั่นคือสะพานรถไฟเดิมที่ถูกระเบิดตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสะพานขาดและเสียหายมาก การทำให้รถไฟยังคงวิ่งต่อได้จึงต้องแก้แนวเส้นทางและสร้างสะพานแห่งใหม่ข้าง ๆ กัน และทิ้งสะพานเดิมให้เหลือเพียงแค่ตอม่อ

ต้องอาศัยตาไวนิดหนึ่งถึงจะสังเกตเห็น

7. สถานีรถไฟบ้านปิน

สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่
สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่
สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่

สถานีรถไฟที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียน ดูมีความเป็นกระท่อมในยุโรป เพราะคนที่ออกแบบคือนายช่างชาวเยอรมันนี่แหละที่ตั้งใจทำให้อาคารมีความเป็นตึกแบบพื้นถิ่นในสไตล์ Half Timber หลังคาทรงจั่ว และสอดแทรกลวดลายฉลุแบบล้านนาเข้าไปตามช่องระบายอากาศ เหนือบานประตู และหน้าต่าง

สถานีบ้านปินจึงมีฉายาว่า ‘ฝรั่งกลางป่า’ เพราะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใครในประเทศนี้ เหมือนกับบ้านในต่างประเทศที่ซ่อนตัวอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นป่า สถานีบ้านปินเองก็มีคนขึ้นลงรถไฟไม่น้อยเลย มันคือสถานีรถไฟประจำอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่เป็นอำเภอเล็ก ๆ ในหุบเขานี้

8. อุโมงค์ห้วยแม่ลาน

สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่
สถานีในหมอก บ้านฝรั่งกลางป่า ทางรถไฟสไลเดอร์ แก่งเลียบแม่น้ำ และวิวเด็ดที่คุณจะเห็นผ่านหน้าต่างรถไฟในเขตจังหวัดแพร่

อุโมงค์รถไฟแห่งที่ 2 ของจังหวัดแพร่ และมีความสั้นเป็นอันดับ 2 ของประเทศด้วย ความยาวของมันมีไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น และเป็นทางโค้งตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งก็ดูเหมือนอุโมงค์ทั่ว ๆ ไป แต่ไม่เหมือนตรงที่ปากอุโมงค์ทางด้านทิศเหนือนั้นอยู่ติดกับลาดเชิงเขามาก จนไม่มีพื้นที่พอให้ก่อผนังเป็นรูปสี่เหลี่ยมครอบปากอุโมงค์เหมือนที่อื่น ๆ เลยกลายเป็นรูปสามเหลี่ยมที่แปลกตาและไม่เหมือนอุโมงค์ไหนเลยในประเทศนี้

9. สถานีรถไฟผาคัน

10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น
10 ที่เที่ยว Unseen จังหวัดแพร่ ที่คุณจะเห็นได้เมื่ออยู่บนรางรถไฟเท่านั้น

ผาคัน เป็นสถานีรถไฟเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในทางโค้งรูปตัว S ปกติแล้วการสร้างสถานีรถไฟในไทยจะไม่ค่อยนิยมตั้งบนทางโค้ง เพราะเมื่อเวลารถจอดจะมองว่าผู้โดยสารขึ้นรถครบแล้วหรือยังได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าหากภูมิประเทศมันบีบบังคับก็จำเป็นต้องทำล่ะน่า

เสน่ห์ของสถานีผาคันอาจไม่ได้ดึงดูดกับผู้โดยสารทั่วไปมากเท่าไหร่นัก แต่ดึงดูดสายตาของ Railfan ที่ชื่นชอบการมองดูรถไฟเข้าโค้ง และโค้งที่นี่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง นอกจากมันจะตีวงแคบชนิดว่าได้ยินเสียงล้อรถไฟเบียดรางดังเอี๊ยดอ๊าดแล้ว มันยังหักเป็นรูปตัว S ในพื้นที่สถานีอีกด้วย ซึ่งเมื่อไหร่ที่รถไฟถึงสถานีผาคันนั้น จะเห็น Railfan ยื่นกล้องออกมาไม่ถ่ายรูปก็วิดีโออยู่ร่ำไป 

เรียกได้ว่าเป็นโค้งมหาชนแห่งหนึ่งของสายเหนือเลยก็ว่าได้ ถ่ายรูปกันโดยมิได้นัดหมาย

10. เนิน 588

ปิดท้ายพื้นที่สุดท้ายก่อนจะออกจากจังหวัดแพร่และเข้าสู่ลำปางอย่างเป็นทางการ เนิน 588 หมายถึง เนินเขา (จริง ๆ คือยอดของสันเขา) อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 588 จากกรุงเทพมหานคร ถ้าเราจำสถานีบ้านปินได้ ทางรถไฟจะไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ แทบจะไม่เจอทางลงเลยจนมาถึงเนิน กม. 588 นี่แหละ

เนิน 588 คือ Summit Point ของทางรถไฟที่ตัดผ่านเทือกเขาที่ขวางระหว่างแพร่และลำปาง อยู่ระหว่างสถานีผาคันและปางป๋วย ถ้าอยู่ในรถสังเกตยากอยู่ แต่เราจะสัมผัสได้ว่าตั้งแต่ออกจากสถานีผาคันมาเสียงรถจักรจะดังกระหึ่มตลอดทาง และรถไฟก็จะวิ่งเอื่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดนี้เสียงรถจักรจะเบาลงจนเหมือนไม่ได้เร่งเครื่อง และรถไฟจะวิ่งไวขึ้นพร้อมได้ยินเสียงเบรคเป็นระยะ ๆ 

หากเรามองผ่านห้องขับรถไฟ หรือมุมมองท้ายขบวน เนิน 588 เป็นหลังเต่าอย่างเห็นได้ชัด และมีป้ายใหญ่ข้างทางบอกว่า ‘เข้าเขตจังหวัดลำปาง’ เป็นอันสิ้นสุดทางรถไฟในเขตจังหวัดแพร่

ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือความพิเศษแสนธรรมดาของรถไฟที่ผ่านจังหวัดแพร่ จังหวัดที่อาจจะเป็นเพียงทางผ่าน แต่เมื่อลองพิจารณาลึก ๆ แล้ว เสน่ห์และเรื่องราวของมันก็ดึงดูดให้เราอยากลงรถไฟที่จังหวัดนี้ และเจาะเที่ยวไปในแต่ละที่ เพื่อทำความรู้จักให้มากกว่าเดิมก็เป็นได้

เกร็ดท้ายขบวน

  1. ขบวนที่เหมาะกับการชมวิวรถไฟเมืองแพร่มากที่สุด คงไม่พ้นด่วน 51 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) รถเร็ว 102 (เชียงใหม่-กรุงเทพฯ) และขบวนรถท้องถิ่น 407/408 (นครสวรรค์-เชียงใหม่-นครสวรรค์)
  2. หากทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงของ สร้างเสร็จ แพร่จะมีอุโมงค์รถไฟเพิ่มมาอีกที่อำเภอสอง และยาวมาก ๆ ด้วย
  3. สำหรับอุโมงค์เขาพลึงนั้น ไม่แนะนำให้ไปท่องเที่ยว เพราะค่อนข้างเป็นจุดอับจากภูมิประเทศ และจะฟังเสียงรถไฟได้ลำบากด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายจากรถไฟได้

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ