คำถามที่เราโดนถามบ่อยที่สุดน่าจะเป็น “ชอบนั่งรถไฟสายไหนที่สุด”
เอาจริง ๆ หาคำตอบยากเหมือนกันนะ เพราะเราชอบทุกสายเลย แต่ละสายมีอะไรไม่เหมือนกัน ถ้าชอบภาพที่ราบก็ต้องสายตะวันออก ถ้าชอบความปศุสัตว์หรือที่ราบสลับเนินก็ต้องสายอีสาน ถ้าชอบป่าเขียว ๆ ภูเขาทรงแปลก ๆ อาหารอร่อย ๆ ก็ต้องสายใต้ หรือชอบทิวทัศน์ภูเขาสลับซับซ้อนกับอากาศเย็น ๆ ก็ต้องสายเหนือ
แต่ถ้าหากลดคำถามลงให้เหลือแค่ว่า “ชอบรถไฟที่วิ่งเข้าจังหวัดไหนมากที่สุด” อันนี้ตอบได้ไม่ยากสำหรับเรา เพราะชื่อของ ‘แพร่’ จะผุดขึ้นมาเป็นลำดับแรก ชนิดที่เรียกได้ว่าถามปุ๊บตอบปั๊บเป็นอับดุลกันเลย

แล้วจังหวัดแพร่กับรถไฟมันมีอะไรดี
ถ้าเราบอกว่ามันคือความพิเศษที่แสนจะธรรมดาล่ะ ยังจะสนใจมันอยู่หรือเปล่า เพราะนับตั้งแต่ที่ทางรถไฟสายเหนือเข้าเขตจังหวัดแพร่ที่เขาพลึง จนออกจากเขตจังหวัดที่ปางป๋วย มันไม่ได้มีความพิเศษหรือความท้าทายทางวิศวกรรมในการก่อสร้างที่เป็นตำนานเหมือนกับอุโมงค์ขุนตาน ไม่มีแม้กระทั่งสะพานข้ามหุบเหวที่ลำปาง แต่มันเป็นสิ่งธรรมดาที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะกลายเป็นความพิเศษ ด้วยเรื่องราวและสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสถานที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานี อุโมงค์ หรือแม้แต่แค่เนินเขาธรรมดาเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่เรากำลังจะเล่าต่อไปนี้สร้างแรงดึงดูดมหาศาลให้กับ Railfan ที่นั่งรถไฟผ่าน ให้ลุกจากที่นั่งมารอคอยจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นด้วยตา
พร้อมแล้วก็ขึ้นขบวนรถไฟไปด้วยกันเลย
1. อุโมงค์เขาพลึง


ถ้ามาจากกรุงเทพฯ นี่คืออุโมงค์ที่ 2 ที่ขบวนรถไฟต้องลอด ห่างจากอุโมงค์ปางตูบขอบไปแค่ 3 กิโลเมตร และเป็นอุโมงค์ที่อยู่ตรงรอยต่อจังหวัดอุตรดิตถ์กับแพร่พอดิบพอดี
สันเขาพลึงซึ่งเป็นกำแพงธรรมชาติที่กั้นอุตรดิตถ์กับแพร่ไว้ ทำให้เส้นทางหลวงหมายเลข 11 คดเคี้ยวอยู่ไม่น้อย ส่วนทางรถไฟก็ไม่ต่างกัน กำแพงเขาหนาประมาณ 300 เมตร ถูกเจาะออกเป็นถ้ำให้รถไฟลอดผ่าน ภายในตัวอุโมงค์ เป็นเนื้อหินตะปุ่มตำป่ำชัดเจน ไม่ได้ฉาบด้วยคอนกรีตราบเรียบเหมือนอุโมงค์ขุนตานหรืออุโมงค์รถไฟอื่น ๆ ปากอุโมงค์ทั้งสองฝั่งซ่อนอยู่ในหลืบเขา
ทางฝั่งทิศใต้เป็นโค้งมีทัศนวิสัยกว้าง ส่วนฝั่งทิศใต้อยู่ในซอกเขาที่แคบพอจะทำให้ปากอุโมงค์เหลือพื้นที่อยู่เพียงนิดเดียว และด้วยความชื้นแฉะที่เรียกได้ว่าน่าจะมีตลอดทั้งปี จึงทำให้ปากอุโมงค์ทางด้านทิศเหนือมีตะไคร่เกาะอยู่เต็มตัวผนังปากอุโมงค์
ถ้าจะว่าไปแล้ว อุโมงค์นี้ก็เหมือนกับเป็นประตูที่ต้อนรับสู่จังหวัดแพร่
2. ที่หยุดรถแม่พวก


ที่หยุดรถแม่พวก เดิมเคยเป็นสถานี ปัจจุบันลดระดับลงเป็นเพียงแค่ที่หยุดรถ ซึ่งไม่ต้องมีนายสถานีประจำการ ถ้าเรียกแบบเข้าใจง่ายก็น่าจะเป็น Unmanned Station ซึ่งยังมีรถไฟจอดรับส่งอยู่นั่นแหละ แล้วไปซื้อตั๋วบนรถไฟเอา
ดูแล้วก็เป็นแค่อดีตสถานีรถไฟธรรมดา ๆ แต่ความไม่ธรรมดาอยู่ที่อาคารสถานีเป็นเอกลักษณ์ในแง่ของการวางผังสถานีที่ไม่มีสถานีไหนในประเทศไทยเหมือนเลย
มีตัวอาคารไม้สองชั้นวางตัวบนชานชาลาคู่กัน และเชื่อมกันด้วยพื้นที่รอการโดยสาร ทำให้มองดูละม้ายคล้ายกับเป็นสถานีแฝดสยามที่มีส่วนเชื่อมต่อกันอยู่
หลังจากที่การรถไฟฯ ลดระดับจากสถานีเป็นที่หยุดรถนั้น ปกติมักจะรื้อถอนตัวอาคารออกไปด้วยเพราะเมื่อไม่มีคนประจำการก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวอาคารแล้ว เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซ่อมบำรุงไปอีกด้วย แต่ชาวบ้านไม่ยอม เพราะนอกจากความพิเศษของตัวอาคารแล้ว สถานีแม่พวกนั้นในอดีต สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ก็เคยเสด็จทางรถไฟมาที่สถานีแห่งนี้ ชาวบ้านแม่พวกจึงอนุรักษ์และดูแลอาคารไม้แห่งนี้ นอกจากนั้นแล้วชุมชนแม่พวกก็ยังเป็นสวนอนุรักษ์ต้นสักอีกด้วย
3. ทางรถไฟสไลเดอร์



มันเป็นแค่ทางรถไฟลงเนินและขึ้นเนินใหม่ เพื่อลอดใต้ทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงก่อนเข้าสถานีรถไฟเด่นชัย แต่เผอิญว่าความชันที่ขึ้น ๆ ลง ๆ เห็นชัดมาก จนสายถ่ายรูปรถไฟเขาชอบกันเพราะมันดูแปลกดี
ถ้าเราอยู่ในขบวนและมองไปข้างหน้า จะเห็นว่าหัวรถจักรจะเชิดขึ้นแล้วลอดใต้สะพาน แต่ถ้ามองจากท้ายขบวน จะเห็นชัดว่าเหมือนสไลเดอร์ที่ลงจากเนินหนึ่ง แล้วพุ่งขึ้นอีกเนินหนึ่งโดยทันที แถมพอขึ้นเนินปั๊บก็หักโค้งอีกเลย ทำให้รูปของทางมันดูแปลก ๆ
ถ้าถึงตรงนี้เมื่อไหร่ ให้รู้ไว้เลยว่ากำลังจะถึงสถานีเด่นชัยแล้ว
4. สถานีเด่นชัย



ไปแพร่ต้องลงเด่นชัย
เพราะทางรถไฟสายเหนือไม่ได้เข้าตัวเมืองแพร่ เด่นชัยจึงกลายเป็นสถานีประจำจังหวัดแพร่ไปโดยปริยาย ในยุคเดิมพบการสะกดชื่อ 2 แบบ คือ เด่นใจ และ เด่นไชย ก่อนที่จะเปลี่ยนการสะกดเป็น ‘เด่นชัย’ อย่างปัจจุบัน
ก่อนเข้าสถานีเด่นชัย ถ้ามาจากกรุงเทพฯ นั้นจะมีโค้งอยู่โค้งหนึ่ง ถือได้ว่าแคบและหักศอกพอสมควร ถ้ารถไฟของเราเป็นขบวนยาว จะมองเห็นหัวขบวนหรือท้ายขบวนได้อย่างชัดเจน เมื่อพ้นโค้งนั้นไปรถไฟก็จะเทียบชานชาลาอย่างสวยงาม ซึ่งสถานีเด่นชัยนั้นเป็นจุดที่ต่อรถเข้าอำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ หรือไปจังหวัดอื่น ๆ เช่นจังหวัดน่าน
ในอนาคตที่ไม่ไกลจะมีทางรถไฟสายใหม่เกิดขึ้น โดยแยกจากทางรถไฟสายเหนือที่สถานีเด่นชัยนี้นี่แหละ เข้าไปตัวเมืองแพร่ ผ่านอำเภองาว จังหวัดลำปาง ผ่านพะเยา ผ่านเชียงราย และไปสุดสายที่เชียงของ สถานีเด่นชัยจะไม่ใช่สถานีประจำจังหวัดแพร่อีกต่อไป แต่เปลี่ยนหน้าที่ไปเป็น ‘สถานีชุมทาง’ ซึ่งหมายถึงสถานีที่อยู่ตรงจุดแยกสายของรถไฟ
ถ้าโดยสารรถไฟมาในช่วงหน้าหนาว และเป็นขบวนที่มาถึงเด่นชัยในตอนเช้า หากคุณโชคดีที่สภาพอากาศพอเหมาะ คุณจะพบสถานีเด่นชัยถูกหมอกปกคลุมจนขาวโพลน เหมือนเป็นสถานีรถไฟที่อยู่กลางสายหมอก และแทรกด้วยสีทองระเรื่อของแสงตะวันยามเช้า
5. แก่งหลวง




แก่งหลวงคือทางรถไฟเลียบแม่น้ำยมระยะทางเกือบ 10 กิโลเมตร และไม่มีชุมชนใด ๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้
ลองจินตนาการภาพของโตรกเขาที่มีแม่น้ำไหลเชี่ยวอยู่ข้างล่าง และบนตีนเขาฝั่งหนึ่งของแม่น้ำมีทางรถไฟคดเคี้ยวไปตามกายภาพของภูเขานั้นเป็นทางโค้งรูปตัว S ไปไม่รู้จบ การนั่งรถไฟที่ผ่านช่วงแก่งหลวงซึ่งอยู่ระหว่างสถานีปากปานกับแก่งหลวงเชื้อเชิญให้มองออกไปนอกหน้าต่างได้ ซึ่งทัศนียภาพในแต่ละช่วงฤดูก็แตกต่างกันไป
หน้าร้อน ฟ้าใส ต้นไม้เป็นสีเหลือง น้ำลดจนเห็นแก่งชัดเจน
หน้าฝน ฟ้าขุ่น ต้นไม้เขียวชอุ่ม มีหมอกยอดต้นไม้ และน้ำเยอะไหลเชี่ยว
หน้าหนาว ฟ้าใส บางช่วงมีหมอกจับหนาจนทั่วบริเวณเต็มไปด้วยความขาวโพลนของหมอก เผยให้เห็นร่องน้ำอยู่ด้านล่างของโตรกเขานั้น
6. สะพานห้วยแม่ต้า


ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นตอม่อสะพานเก่าอยู่ข้างสะพานใหม่ที่ใช้อยู่ปัจจุบัน
สะพานรถไฟเหล็กสีดำที่ดูธรรมดาและธรรมดามาก มันซ่อนสะพานเดิมที่เหลือเพียงแค่ซากเอาไว้ข้าง ๆ
สะพานนี้ข้ามแม่น้ำยมใกล้กับป้ายหยุดรถห้วยแม่ต้า ดูเผิน ๆ คือสะพานรถไฟธรรมดา หากให้พิจารณาด้านข้างทางซ้ายมือ หากหันหน้าไปทางเชียงใหม่ จะมองเห็นสิ่งปลูกสร้างที่เหมือนตอม่อสะพานรถไฟอยู่ข้างสะพานนี้ และมีร่องรอยความเสียหายอยู่บนผิวของตอม่อนั้น นั่นคือสะพานรถไฟเดิมที่ถูกระเบิดตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสะพานขาดและเสียหายมาก การทำให้รถไฟยังคงวิ่งต่อได้จึงต้องแก้แนวเส้นทางและสร้างสะพานแห่งใหม่ข้าง ๆ กัน และทิ้งสะพานเดิมให้เหลือเพียงแค่ตอม่อ
ต้องอาศัยตาไวนิดหนึ่งถึงจะสังเกตเห็น
7. สถานีรถไฟบ้านปิน



สถานีรถไฟที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาวาเรียน ดูมีความเป็นกระท่อมในยุโรป เพราะคนที่ออกแบบคือนายช่างชาวเยอรมันนี่แหละที่ตั้งใจทำให้อาคารมีความเป็นตึกแบบพื้นถิ่นในสไตล์ Half Timber หลังคาทรงจั่ว และสอดแทรกลวดลายฉลุแบบล้านนาเข้าไปตามช่องระบายอากาศ เหนือบานประตู และหน้าต่าง
สถานีบ้านปินจึงมีฉายาว่า ‘ฝรั่งกลางป่า’ เพราะเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใครในประเทศนี้ เหมือนกับบ้านในต่างประเทศที่ซ่อนตัวอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นป่า สถานีบ้านปินเองก็มีคนขึ้นลงรถไฟไม่น้อยเลย มันคือสถานีรถไฟประจำอำเภอลอง จังหวัดแพร่ ที่เป็นอำเภอเล็ก ๆ ในหุบเขานี้
8. อุโมงค์ห้วยแม่ลาน


อุโมงค์รถไฟแห่งที่ 2 ของจังหวัดแพร่ และมีความสั้นเป็นอันดับ 2 ของประเทศด้วย ความยาวของมันมีไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้น และเป็นทางโค้งตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งก็ดูเหมือนอุโมงค์ทั่ว ๆ ไป แต่ไม่เหมือนตรงที่ปากอุโมงค์ทางด้านทิศเหนือนั้นอยู่ติดกับลาดเชิงเขามาก จนไม่มีพื้นที่พอให้ก่อผนังเป็นรูปสี่เหลี่ยมครอบปากอุโมงค์เหมือนที่อื่น ๆ เลยกลายเป็นรูปสามเหลี่ยมที่แปลกตาและไม่เหมือนอุโมงค์ไหนเลยในประเทศนี้
9. สถานีรถไฟผาคัน



ผาคัน เป็นสถานีรถไฟเล็ก ๆ ตั้งอยู่ในทางโค้งรูปตัว S ปกติแล้วการสร้างสถานีรถไฟในไทยจะไม่ค่อยนิยมตั้งบนทางโค้ง เพราะเมื่อเวลารถจอดจะมองว่าผู้โดยสารขึ้นรถครบแล้วหรือยังได้ค่อนข้างยาก แต่ถ้าหากภูมิประเทศมันบีบบังคับก็จำเป็นต้องทำล่ะน่า
เสน่ห์ของสถานีผาคันอาจไม่ได้ดึงดูดกับผู้โดยสารทั่วไปมากเท่าไหร่นัก แต่ดึงดูดสายตาของ Railfan ที่ชื่นชอบการมองดูรถไฟเข้าโค้ง และโค้งที่นี่ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง นอกจากมันจะตีวงแคบชนิดว่าได้ยินเสียงล้อรถไฟเบียดรางดังเอี๊ยดอ๊าดแล้ว มันยังหักเป็นรูปตัว S ในพื้นที่สถานีอีกด้วย ซึ่งเมื่อไหร่ที่รถไฟถึงสถานีผาคันนั้น จะเห็น Railfan ยื่นกล้องออกมาไม่ถ่ายรูปก็วิดีโออยู่ร่ำไป
เรียกได้ว่าเป็นโค้งมหาชนแห่งหนึ่งของสายเหนือเลยก็ว่าได้ ถ่ายรูปกันโดยมิได้นัดหมาย
10. เนิน 588

ปิดท้ายพื้นที่สุดท้ายก่อนจะออกจากจังหวัดแพร่และเข้าสู่ลำปางอย่างเป็นทางการ เนิน 588 หมายถึง เนินเขา (จริง ๆ คือยอดของสันเขา) อยู่บริเวณกิโลเมตรที่ 588 จากกรุงเทพมหานคร ถ้าเราจำสถานีบ้านปินได้ ทางรถไฟจะไต่ระดับขึ้นมาเรื่อย ๆ แทบจะไม่เจอทางลงเลยจนมาถึงเนิน กม. 588 นี่แหละ
เนิน 588 คือ Summit Point ของทางรถไฟที่ตัดผ่านเทือกเขาที่ขวางระหว่างแพร่และลำปาง อยู่ระหว่างสถานีผาคันและปางป๋วย ถ้าอยู่ในรถสังเกตยากอยู่ แต่เราจะสัมผัสได้ว่าตั้งแต่ออกจากสถานีผาคันมาเสียงรถจักรจะดังกระหึ่มตลอดทาง และรถไฟก็จะวิ่งเอื่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ จนมาถึงจุดนี้เสียงรถจักรจะเบาลงจนเหมือนไม่ได้เร่งเครื่อง และรถไฟจะวิ่งไวขึ้นพร้อมได้ยินเสียงเบรคเป็นระยะ ๆ

หากเรามองผ่านห้องขับรถไฟ หรือมุมมองท้ายขบวน เนิน 588 เป็นหลังเต่าอย่างเห็นได้ชัด และมีป้ายใหญ่ข้างทางบอกว่า ‘เข้าเขตจังหวัดลำปาง’ เป็นอันสิ้นสุดทางรถไฟในเขตจังหวัดแพร่
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือความพิเศษแสนธรรมดาของรถไฟที่ผ่านจังหวัดแพร่ จังหวัดที่อาจจะเป็นเพียงทางผ่าน แต่เมื่อลองพิจารณาลึก ๆ แล้ว เสน่ห์และเรื่องราวของมันก็ดึงดูดให้เราอยากลงรถไฟที่จังหวัดนี้ และเจาะเที่ยวไปในแต่ละที่ เพื่อทำความรู้จักให้มากกว่าเดิมก็เป็นได้
เกร็ดท้ายขบวน
- ขบวนที่เหมาะกับการชมวิวรถไฟเมืองแพร่มากที่สุด คงไม่พ้นด่วน 51 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) รถเร็ว 102 (เชียงใหม่-กรุงเทพฯ) และขบวนรถท้องถิ่น 407/408 (นครสวรรค์-เชียงใหม่-นครสวรรค์)
- หากทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงของ สร้างเสร็จ แพร่จะมีอุโมงค์รถไฟเพิ่มมาอีกที่อำเภอสอง และยาวมาก ๆ ด้วย
- สำหรับอุโมงค์เขาพลึงนั้น ไม่แนะนำให้ไปท่องเที่ยว เพราะค่อนข้างเป็นจุดอับจากภูมิประเทศ และจะฟังเสียงรถไฟได้ลำบากด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายจากรถไฟได้