6 สิงหาคม 2022
30 K

“เดือนที่แล้วมีดาราไทยมานะ ให้ผมนำเที่ยว เนี่ยเดี๋ยวเดือนหน้าก็จะมีดาราไทยมาอีก” 

จันตาเอ่ยถึงดาราหญิงชายชื่อดังของไทย ลูกค้าหมาด ๆ ของเขาเมื่อเดือนก่อน มือก็บังคับพวงมาลัยรถตู้พาเราออกจากท่าอากาศยานนานาชาติวัตไต (Wattay International Airport) มุ่งหน้าไปยังสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์อีกฟากหนึ่งของเมือง

ตั้งแต่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เปิดประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศก็ทยอยเดินทางเที่ยวไม่ขาดสาย รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยบ้านใกล้เรือนเคียง เศรษฐกิจการท่องเที่ยวที่ซบเซาของลาว (เช่นเดียวกันกับไทย) ก็ค่อย ๆ กระเตื้องขึ้น ดูจากแววตาและน้ำเสียงของจันตาก็พอจะบอกได้ 

ก่อนโควิด จันตาเป็นผู้นำทัวร์ของบริษัทท่องเที่ยวสำหรับชาวยุโรป บางครั้งก็ลงมือเป็นไกด์เอง ทั้งยังขยายธุรกิจเป็นเจ้าของรถบัสขนาดใหญ่ 3 คัน ถือเป็นผู้มีประสบการณ์คนหนึ่งในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวลาว แต่ก็อย่างที่รู้กัน โควิด-19 ซัดทุกอย่างเสียราพณาสูร

จากรถบัสสู่รถตู้ คือ ชีวิตในวันนี้ของจันตา รถตู้ของเขาคันใหญ่ ตกแต่งใหม่เอี่ยมทั้งคัน สำหรับพานักท่องเที่ยวทัศนาจรในลาว แม้ธุรกิจจะลดขนาดลง แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือประสบการณ์ชีวิตอันโชกโชน บวกด้วยความเป็นมืออาชีพในสายงาน 

จากสนามบินวัตไตถึงสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ใช้เวลาประมาณ 40 นาที แนะนำว่าให้เผื่อเวลาเดินทางไว้สักหน่อย จันตาบอกว่ามีนักท่องเที่ยวตกรถไฟมาหลายคนแล้ว บางคนเที่ยวบินดีเลย์ บางคนเจอรถติด แต่บางคนก็ชิลล์ไปหน่อย ประมาณว่าแวะกินข้าวเคล้าเบียร์นานเกินไป

“นี่ครับตั๋วรถไฟ เก็บไว้ให้ดี ห้ามหายเลยนะครับ เพราะว่าพอถึงปลายทาง เจ้าหน้าที่เขาจะขอตรวจอีกครั้ง ถ้าไม่มีเขาไม่ให้ออกจากสถานี ต้องซื้อตั๋วใหม่อย่างเดียว” จันตากำชับและยื่นตั๋วหรือปี้ในภาษาลาวให้เราเมื่อถึงสถานีรถไฟ

อาคารสถานีรถไฟเวียงจันทน์ใหญ่โตอลังการ สมศักดิ์ศรีกันดีกับขบวนรถไฟลาว-จีน ใหม่เอี่ยมป้ายแดง เชื่อมต่อระหว่างนครหลวงเวียงจันทน์กับจีนตอนใต้ ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2564 ความจริงแล้วทางรถไฟสายนี้ยาวนับพันกิโลเมตร แต่ส่วนที่อยู่ในเขต สปป.ลาว นั้นยาว 414 กิโลเมตร เชื่อมสองชาติที่ด่านบ่อหาน ประเทศจีน เข้าสู่ลาวที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา และวิ่งผ่านเมืองท่องเที่ยว เช่น หลวงพระบาง วังเวียง และสิ้นสุดที่เวียงจันทน์

นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม

ทริปนี้เริ่มขึ้นก็เพราะรถไฟสายใหม่นี้แหละ หลังจากลาวเปิดประเทศให้ท่องเที่ยวอีกครั้ง ภาพรถไฟหน้าตาล้ำสมัย และภาพนักเดินทางนั่งสบายในตู้โดยสารโอ่โถงก็เริ่มมีออกมายั่วใจมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมวิ่งผ่านเมืองมรดกโลกอย่างหลวงพระบาง ที่แต่ก่อนหากเดินทางโดยรถยนต์ต้องใช้เวลาร่วม 6 – 7 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นรถไฟขบวนใหม่ที่วิ่งด้วยความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เวลาจึงหดสั้นเหลือเพียง 1 ชั่วโมง 50 นาที ดีขนาดนี้แล้วจะรออะไร อ๋อ รอซื้อตั๋วไง!

ตั๋วรถไฟสายใหม่นี้ต้องฟาดฟันแย่งกันซื้อ และเราจะนั่งจิ้มซื้อแบบออนไลน์ก็ไม่ได้ ตอนนี้เขายังไม่มีบริการในส่วนนั้น ถ้าคุณไม่มีเพื่อนคนลาวไปต่อคิวซื้อให้ ก็เหลือทางเดียวคือให้บริษัทนำเที่ยวจัดการเหมือนที่เราพึ่งพาจันตานี่แหละ และขณะนี้ความต้องการตั๋วพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ระบบการจัดการต่าง ๆ ยังไม่เสถียรนัก มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง ดูความอลหม่านการซื้อตั๋วและประกาศอัปเดตต่าง ๆ เกี่ยวกับรถไฟลาว-จีน ได้ที่นี่

สนนราคาค่าตั๋วเวียงจันทน์-หลวงพระบาง ที่นั่งชั้น 1 อยู่ที่ 313,000 กีบ คิดเป็นเงินไทยก็ 700 กว่าบาท ส่วนที่นั่งชั้น 2 ราคาอยู่ที่ 198,000 กีบ หรือเกือบ 500 บาท (ค่าเงินไว้คำนวณคร่าว ๆ คือ 450 กีบ เท่ากับ 1 บาท หรือจำในใจง่าย ๆ 10,000 กีบ เท่ากับประมาณ 20 บาท) อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวที่ซื้อตั๋วผ่านบริษัทท่องเที่ยวต้องจ่ายเพิ่มอีกประมาณ 50,000 กีบต่อตั๋ว เป็นค่ายืนต่อแถวที่แว่วว่าบางทีต้องยืนรอขาแข็งกว่า 2 ชั่วโมงกว่าจะได้มา แล้ว 1 คน ซื้อตั๋วได้มากสุด 3 ที่นั่งเท่านั้น

นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม

รถไฟเคลื่อนตัวออกจากเวียงจันทน์ตรงตามเวลาเป๊ะ ตู้โดยสารสะอาดโอ่โถง เก้าอี้ตัวใหญ่ เบาะหนานุ่ม เสียงประกาศในรถที่ดังเรื่อย ๆ บอกว่าผู้โดยสารต้องใส่ผ้าอัดปากหรือหน้ากากตลอดการเดินทาง นอกจากเสียงประกาศนี้และเสียงประกาศว่าเรากำลังอยู่ในขบวนรถไฟลาว-จีน EMU ซึ่งย่อมาจาก Electric Multiple Unit เราก็ไม่ได้ยินเสียงอื่นอีก เพราะรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามันเงียบเรียบลื่นดีจริง

ถามว่าตู้โดยสารชั้น 1 และชั้น 2 ต่างกันอย่างไร ต้องบอกว่าต่างกันที่จำนวนที่นั่ง แน่นอนว่าชั้น 1 ก็หลวม ๆ กว่า เก้าอี้เป็นแบบคู่ แบ่ง 2 ฟากซ้ายขวา ในขณะที่ชั้น 2 ฟากหนึ่งเป็นเก้าอี้แถว 3 คน อีกฟากเป็นเก้าอี้คู่ แต่ละตู้มีห้องน้ำบริการ หน้าตาเหมือนห้องน้ำบนเครื่องบิน สะอาดสะอ้านดี ส่วนใครที่ห่วงใยเรื่องอาหารการกิน (เช่นเรา) ก็จงแวะซื้อหรือกินมาให้เรียบร้อยก่อน เพราะที่สถานีและบนรถไฟไม่มีอาหารขาย มีเฉพาะเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นตู้โดยสารเบอร์อะไรต้องคอยฟังเขาประกาศบอก

นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
วิวนอกหน้าต่าง

1 ชั่วโมงจากเวียงจันทน์ ขบวนรถก็เข้าเทียบชานชาลาสถานีรถไฟวังเวียง อีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวยอดนิยม ตลอดการเดินทางเราใช้เวลาเงียบ ๆ ละเลียดวิวนอกหน้าต่างที่พาดผ่านเทือกเขาสูง ทางรถไฟยกระดับเผยภาพงาม ทั้งสีเขียวของทุ่งนาและภูผาสูงใหญ่ คนชอบถ่ายรูปคงจะถ่ายสนุกแบบไม่ต้องกลัวแบตเตอรี่หมด เพราะทุกที่นั่งเขามีที่ชาร์จโทรศัพท์พร้อม และอีกราว 1 ชั่วโมงต่อมาเราก็มาถึงหลวงพระบาง

หลวงพระบางที่คิดถึง

หลวงพระบางต้อนรับเราด้วยคลื่นความร้อนปนความชื้นในอากาศ จินตนาการถึงแก้วน้ำเย็นที่วางทิ้งในห้องร้อนอ้าว เหงื่อที่ผุดพรายข้างแก้วเป็นอย่างไร เหงื่อบนร่างกายเราก็ประมาณนั้น ไม่เป็นไร คนเราต้องปรับตัวให้เข้ากับโลก ไม่ใช่ให้โลกปรับตัวเข้ากับเรา ว่าแล้วก็ลากกระเป๋าไปหารถเข้าเมือง นักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งมีรถโรงแรมหรือรถส่วนตัวมารอรับ สำหรับคนที่ไม่มีใครมารับก็มีทางเลือกทั้งแท็กซี่แบบเหมา หรือรถตู้นั่งแชร์กับคนอื่น แน่นอน เราเลือกหนทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและดีกับงบประมาณ (แต่ดีกับตัวเองหรือเปล่า ไม่แน่ใจ) นั่นคือรถตู้ที่ละ 35,000 กีบ หรือประมาณ 85 บาท นั่งหวานเย็นกันไป แวะส่งเพื่อนร่วมทางไปเรื่อย ๆ ซึ่งยังไง ๆ ทุกคนก็ลงในเมืองใกล้ ๆ กันนั่นแหละ

นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
สถานีหลวงพระบาง

หลวงพระบางเป็นเมืองท่องเที่ยวที่หลายคนมามากกว่า 1 ครั้ง บางคนบอกว่าเมืองน้อยนี้มีเสน่ห์หนักหนา ทั้งบ้านเรือนอาคารโคโลเนียล ลูกผสมระหว่างศิลปะพื้นถิ่นกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส วัดวาอารามงดงาม ธรรมชาติทั้งน้ำโขงน้ำคานขนาบพื้นที่ อาหารการกินก็บริบูรณ์​ งามสงบในร่มเงาของวัฒนธรรมอันหลากหลาย แต่เมื่อโควิด-19 มาเยือน ทำเราสงสัยเสียจริง ๆ ว่า เมืองที่พึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลักจะผันเปลี่ยนไปมากเพียงใด

นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม

แล้วเราก็ได้เห็นถนนศรีสว่างวงศ์​ (Sisavangvong) เส้นหลักกลางเมือง แล่นผ่านอาคารโคโลเนียลสองฟากฝั่ง ยาวไปถึงหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบางและทางขึ้นพระธาตุพูสี ในอดีตเคยครึกครื้นเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร คาเฟ่ บัดนี้กว่าครึ่งปิดประตูเงียบ ความงามของอาคารโบราณยังคงอยู่ แต่โรคระบาดได้พรากชีวิตชีวาของผู้คนและธุรกิจท่องเที่ยวส่วนหนึ่งไปอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ร้านที่ยังอยู่ได้ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของตึกเอง ไม่ต้องเสียค่าเช่าให้ใคร ส่วนที่ปิดไว้ก็มักมีป้ายแขวนบอกให้เช่าแทบทั้งสิ้น

นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม

แม้สีสันของการเป็นเมืองท่องเที่ยวจะจางลงไปบ้าง แต่จิตวิญญาณแท้จริงของหลวงพระบางที่แฝงฝังในพุทธสถาน อาหารการกิน ชีวิตของผู้คน และมหานทีอย่างลำโขง ยังอยู่ครบถ้วน จุดท่องเที่ยวสำคัญของหลวงพระบางที่อาจจะเคยไปแล้วก็ยังมีเสน่ห์ให้อยากไปอีก โดยเฉพาะในวันที่เพื่อนร่วมโลกต่างต้องการกำลังใจจากกัน

3 วันคืออย่างน้อยที่สุดที่คุณจะใช้เวลาเที่ยวหลวงพระบาง แต่ถ้าคุณไม่รีบ 5 วันคือจำนวนวันที่คุณจะเอื่อยไปได้เรื่อย ๆ ในเมืองน้อยนี้ จุดหมายเอื่อย ๆ แห่งแรกที่เราไปคือ ‘วัดเชียงทอง’ ไม่ได้คิดถึงแค่ความงามของสิมหรืออุโบสถที่ถือเป็นศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางเท่านั้น แต่คิดถึงบันไดสีขาวสูงชันหน้าวัดที่ลาดลงสู่ริมโขงด้วย สายน้ำ แมกไม้ และสิ่งปลูกสร้างที่ผ่านกาลเวลา เป็นส่วนผสมที่อลังการใจเสมอ

นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
วัดเชียงทอง
นั่งรถไฟลาว-จีน ไปสะบายดีหลวงพระบาง เพราะอยากรู้ว่า หลวงพระบาง เธอยังสบายดีอยู่ไหม
งานประดับกระจกหอไหว้สีกุหลาบ

วัดเชียงทองคือพุทธสถานเก่าแก่ประจำเมืองที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรล้านช้างและล้านนา เป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.​ 2101 – 2103 สิ่งโดดเด่นและต้องไปชมให้ได้คือสิมหลังคาซ้อน 3 ตับ ดัดเส้นสายโค้งอ่อนและแอ่นแผ่ลงเกือบจรดพื้น เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่ทำให้สิมแห่งนี้ต่างจากที่ไหน ๆ ด้านหลังสิมตกแต่งด้วยงานประดับกระจก เป็นลวดลายต้นทองเต็มผนังงามน่าทึ่ง เยื้องมาด้านหลังของสิมคือหอไหว้สีกุหลาบ ผนังด้านนอกเคลือบสีชมพูอ่อนหวาน ความโดดเด่นอยู่ที่งานประดับกระจกชิ้นเล็ก ๆ นับไม่ถ้วนแปะเรียงเป็นลวดลาย เล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านที่แฝงคติสอนใจ

จากวัดเชียงทอง เรามุ่งไปอีกสองสถานที่สำคัญ หนึ่งคือ ‘พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง’ ซึ่งอดีตคือพระราชวังหลวงของเจ้ามหาชีวิตแห่งราชอาณาจักรลาว และสองคือ ‘พระธาตุพูสี’ ซึ่งทางขึ้นตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์

อดีตพระราชวังหลวงไม่ใหญ่โตโอฬารมากมาย แต่อะไรบางอย่างทำให้สถานที่แห่งนี้มีบรรยากาศขรึมขลังเข้มข้น อาจจะเพราะตั้งแต่ทางเดินยาวที่ทอดสู่ตัววัง ซึ่งถูกขนาบด้วยแนวต้นตาลสูงใหญ่เรียงเป็นระเบียบ ไปจนถึงตัวอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูง ปลูกสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างฝรั่งเศสสมัยอาณานิคมกับศิลปะล้านช้าง ตัวอาคารเรียบนิ่ง ไม่มีการประดับประดาอะไรจนพราวตา เว้นแต่เพียงตราสัญลักษณ์รูปช้างสามเศียรที่ประดับบนหน้าบันของพระราชวังหลวง

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง

ผู้สร้างพระราชวังนี้คือ เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ ในระหว่าง ค.ศ. 1904 – 1909 อนุสาวรีย์ของพระองค์ประดิษฐานตระหง่านสูงอยู่กลางแจ้งใกล้บริเวณที่ซื้อปี้หรือบัตรเข้าชม เมื่อซื้อบัตรแล้วสิ่งที่ต้องทำลำดับต่อมาคือฝากข้าวของในตู้ล็อกเกอร์ จะทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ด้วยก็ได้ เพราะภายในพิพิธภัณฑ์ห้ามถ่ายรูป

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติหลวงพระบาง

แม้พิพิธภัณฑ์ไม่ใหญ่โต แต่หากใครเป็นคอประวัติศาสตร์ ก็อาจใช้เวลาละเลียดอดีตของลาวในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์ไปเป็นระบอบสังคมนิยมได้ไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง บัลลังก์ที่เตรียมไว้สำหรับใช้ในพิธีบรมราชาภิเษกเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาที่ไม่เคยถูกใช้ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในขึ้นเสียก่อน เครื่องราชูปโภค ของส่วนพระองค์ของพระราชวงศ์ พระพุทธรูป ตลอดจนภาพเขียนวิถีชีวิตคนหลวงพระบาง โดยฝีมือศิลปินชาวฝรั่งเศส จัดแสดงอยู่ในห้องต่าง ๆ ที่ส่วนใหญ่ยังจำลองบรรยากาศของห้องในอดีตไว้ เช่น ท้องพระโรง ห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม ห้องรับรองแขก

ก่อนออกจากเขตพระราชวัง แวะกราบ ‘พระบาง’ ที่หอพระบางซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าใกล้ประตูใหญ่ทางเข้าพระราชวัง พระบางเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร สูงประมาณ 1.14 เมตร ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลาวนับตั้งแต่พระเจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์แห่งล้านช้างทรงอัญเชิญมาจากเขมรในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ตามตำนานบอกไว้ว่า พระบางสร้างขึ้นที่อินเดีย ทำจากทองคำบริสุทธิ์ ประดิษฐานอยู่ที่ลังกา เขมร จนกระทั่งพระเจ้าฟ้างุ้มมีพระราชประสงค์จะเผยแผ่พุทธศาสนาให้มั่นคงในราชอาณาจักร จึงทูลขอพระบางจากพระเจ้าแผ่นดินเขมรให้มาประดิษฐาน ณ เมืองเชียงทอง (หรือหลวงพระบางในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างทางเกิดเหตุอัศจรรย์หลายประการ ทำให้พระบางประดิษฐานอยู่ที่เวียงจันทน์นานกว่า 100 ปี กว่าจะได้มาประดิษฐานที่หลวงพระบางในที่สุด

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
หอพระบางและตลาดมืด

ถนนหน้าพิพิธภัณฑ์ถือเป็นถนนเส้นหลักของเมือง พอแดดร่มลมตก พ่อค้าแม่ขายก็จะกางเต็นท์เตรียมตลาดมืดซึ่งหมายถึงตลาดกลางคืน จำหน่ายสินค้าของที่ระลึกจากหลวงพระบาง ตลอดจนงานหัตถกรรมชนเผ่า มีทั้งเครื่องเงิน ผ้าพื้นเมือง งานศิลปะ ไปจนถึงเสื้อผ้าแฟชั่นของจิปาถะต่าง ๆ เป็นสีสันเล็ก ๆ สำหรับราตรีที่ค่อนข้างเงียบสงบของหลวงพระบาง แต่ก่อนฟ้าจะมืดและก่อนตลาดมืดจะเปิดทำการ ยังมีอีกหนึ่งจุดหมายที่ท้าทายข้อเข่ารอทุกคนอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามพิพิธภัณฑ์

328 คือจำนวนขั้นบันไดที่ต้องปีนไต่ขึ้นไปสักการะพระธาตุจอมสีสีทองสุกปลั่งบนยอดเขาพูสี แม้ต้นจำปาลาวและดวงดอกของมันที่ขึ้นเรียงขนาบสองข้างทางจะดูสวยโรแมนติกเพียงใด ก็ไม่อาจบดบังความจริงที่ว่าเรากำลังเดินขึ้นบันไดคดเคี้ยวเชิดขึ้นที่สูง เหนื่อยต้องมี เหงื่อต้องมา เป็นของธรรมดาที่ต้องเตือนว่าก็ไม่ใช่ทุกคนจะไหว โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือผู้มีปัญหาสุขภาพ รวมถึงคนที่เพิ่งกินข้าวมาอิ่ม ๆ แต่ถ้าคุณไหวก็ขอให้ไปต่อ เพราะวิวหลวงพระบางมุมสูงนั้นควรค่าแก่การทอดสายตามองจริง ๆ

บนยอดพูสีเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกยอดนิยมของหลวงพระบาง วิวสองฟากฝั่งพระธาตุก็ต่างกัน ด้านหนึ่งจะมองเห็นตัวเมืองหลวงพระบางอยู่ในโอบกอดของลำโขงสีน้ำตาลอ่อน ส่วนอีกฝั่งจะเห็นตัวเมืองอยู่ในอ้อมแขนของแม่น้ำคานสีเขียว แต่สิ่งที่เหมือนกันคือสภาพอาคารบ้านเรือนของหลวงพระบางที่ผสมผสานศิลปะตะวันตกและพื้นถิ่นเข้าด้วยกัน หลังคาจั่วปูกระเบื้องสีธรรมชาติ สอดแทรกท่ามกลางต้นไม้สลับสล้าง ไกลออกไปคือปราการขุนเขาที่โอบล้อมเมืองนี้ไว้ เป็นภาพสะอาดตาอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มาจากเมืองที่มีแต่ตึกสูง

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
วิวฝั่งแม่น้ำโขง
นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
วิวฝั่งแม่น้ำคาน

ทางเลือกในการชมพระอาทิตย์ตกไม่ได้มีแต่ที่พูสีเท่านั้น หากถามชาวหลวงพระบางที่ยืนโต๋เต๋อยู่ริมโขง ร้อยทั้งร้อยจะตอบแกมเชิญชวนว่า “ล่องเรือน้ำโขงชมพระอาทิตย์ตกก็ได้” จากนั้นเขาจะกุลีกุจอร่ายโปรแกรมทัวร์ที่ฟังดูก็น่าสนใจ เช่น ล่องเรือ 2 ชั่วโมง ระหว่างทางแวะเที่ยวบ้านจันเหนือ เมืองจอมเพ็ด อีกฝั่งหนึ่งของลำโขง บ้านจันเหนือโด่งดังเรื่องหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่คนในหมู่บ้านทำสืบทอดกันมานับร้อยปี ถามว่าแล้วเราซื้อทัวร์เขามั้ย ตอบเลยว่าซื้อ!

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
หมู่บ้านหัตถกรรมจันเหนือ

หยิบเงิน 400,000 กีบ จ่ายไปสำหรับล่องเรือ 2 ชั่วโมง คิดเป็นเงินไทยก็หย่อน 1,000 ไปไม่กี่บาท พอเห็นเรือก็ร้องอู้หู เรือสวยสะอาด ด้านในมีเก้าอี้เดี่ยวเรียง 2 แถว ด้านหน้าใกล้คนขับเรือเป็นเบาะยาว ปูผ้าขาวโรยดอกไม้ต้อนรับ ใครใคร่นั่งตรงไหนก็นั่งตามสบาย ล่องเรือไปเรื่อย ๆ ชมธรรมชาติสองข้างทางที่เขียวชอุ่ม จากในเรือก็มองเห็นเขาพูสีและองค์พระธาตุเจดีย์สีทองอยู่ลิบ ๆ แอบมองคนขับเรือหน้าละอ่อนผู้ทำหน้าที่ขมีขมัน สอบถามได้ความว่าเขานั้นดีใจเหลือหลายที่เห็นนักท่องเที่ยวกลับมา ตอนโควิดปิดเมือง เขาไร้งานไร้เงิน ต้องไปทำงานก่อสร้างบ้าง งานรับจ้างอื่น ๆ บ้าง ตอนนี้ได้กลับมาขับเรืออีกครั้งรู้สึกสุขหัวใจ

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง

ทริปหลวงพระบางคราวนี้ ถามว่าพาตัวเองไปเที่ยวอะไรแปลกใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อนหรือไม่ ก็เห็นจะต้องตอบว่าไม่ แต่จะให้บอกว่าทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่มีอะไรว้าว ก็พูดอย่างนั้นไม่ได้อีกเหมือนกัน อย่างน้อย ๆ ก็มีรถไฟหนึ่งอย่างที่ใหม่ถอดด้าม และเอาเข้าจริง การได้ออกเดินทางอีกครั้งและมาเยี่ยมเยือนจุดหมายที่คิดถึง มาเห็นว่าเพื่อนร่วมทุกข์จากโรคระบาดในบ้านเมืองอื่นเขาเป็นอย่างไรกันบ้าง มันมีความหมายกับหัวจิตหัวใจที่แห้งผากได้มากกว่าการอัปเดตเทรนด์ใหม่ ร้านดัง และความ Unseen ใด ๆ เป็นไหน ๆ

เราละเลียดเวลา 5 วันที่หลวงพระบางอย่างเต็มอิ่ม เดินทุกตรอกออกทุกซอย แวะห้องสมุด ร้านกาแฟ เบเกอรี่ เจ้าที่ยังยืนยงฝ่าโควิดมาได้ เราได้รู้ว่าขนมอบที่ร้าน Joma ยังอร่อยเหมือนเดิม ได้รู้ว่าตำหมากหุ่ง ไส้อั่ว เบียร์ลาว เคล้าวิวโขง ยังไงก็จะเป็นมื้อที่ดีงามเสมอ ได้รู้ว่าค่ำคืนเมื่อฝนโปรยสายบาง ค็อกเทลเบา ๆ ที่โต๊ะหน้าอาคารโคโลเนียลแสนสวยมันโรแมนติกเพียงใด และจะยิ่งโรแมนติกหนักถ้ามีไคแผ่นหรือสาหร่ายน้ำจืดตำรับหลวงพระบางแท้ เสิร์ฟพร้อมเครื่องจิ้มอย่างแจ่วบองมาแกล้มด้วย

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
ร้านอ้ายหนูน้อย

บางบ่ายขณะแดดกำลังร้อนร้าย ก็พลันได้เจอจุดหมายเหนือความคาดหมาย ร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่ทำสิ่งยิ่งใหญ่ ‘อ้ายหนูน้อย (Big Brother Mouse)’ ร้านหนังสือที่ทำหนังสือ ขายหนังสือ เพื่อเอาเงินมาพิมพ์หนังสือ 2 ภาษาลาว-อังกฤษ และแจกเด็ก ๆ ที่เข้าถึงการอ่านยาก โดยใช้นักท่องเที่ยวเป็นผู้กระจายหนังสือ ที่นี่เขาจะจัดชุดหนังสือที่เหมาะกับเด็กเมืองและเด็กในพื้นที่ห่างไกลไว้เรียบร้อย ที่นักท่องเที่ยวต้องทำก็คือบริจาคเงินตามราคาชุดหนังสือที่ตัวเองเลือก แล้วก็หิ้วหนังสือชุดนั้นติดตัวไปด้วย ทำหน้าที่เป็นไปรษณีย์ที่มีชีวิตและอบอุ่นที่สุด อยากรู้รายละเอียดเพิ่ม ตามไปดูได้ที่ www.bigbrothermouse.com

อีกทั้งในบางเช้าเราก็ได้ตื่นมารอตักบาตรข้าวเหนียว เพื่อจะพบกับความอ่อนหวานของเอื้อยแม่ค้าที่กุลีกุจอเอาผ้ามาพาดไหล่ ส่งกระติ๊บข้าวเหนียวและถาดขนมให้ พาไปนั่งเก้าอี้รอพระบิณฑบาต และตอนสุดท้ายแจ้งราคาชุดใส่บาตรทั้งหมดที่ 100,000 กีบ หรือเกือบ ๆ 250 บาท ที่ทำเราเกือบตกเก้าอี้ และต้องจำไว้ในใจว่าก่อนจะรับของจากใครให้ถามราคาเขาก่อนนน (ฮ่า ๆๆ) แต่ก็นั่นแหละนะ ขึ้นชื่อว่าการเดินทาง มันต้องค้นหา เรียนรู้ ผิดพลาด ขำก๊ากเป็นบางเวลา และโกรธาเป็นบางที เพื่อที่ในที่สุดมันจะกลายเป็นความทรงจำให้เราได้นึกถึงอย่างเช่นในตอนนี้

นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง
นั่งรถไฟความเร็วสูงไปสะบายดีหลวงพระบาง เยี่ยมเมืองเก่าที่แสนคิดถึง และหลงเสน่ห์เมืองลาวอีกครั้ง

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

แพร ปุโรทกานนท์

นักเขียนอิสระที่ทำงานประจำ อยากรู้อยากเห็นประวัติศาสตร์ สนใจศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเรื่องอาหารการกิน