นี่คือครั้งแรกของเราทั้งประเทศญี่ปุ่นและรถไฟญี่ปุ่น

เราตั้งใจที่จะมาเหยียบที่นั่นสักครั้ง โดยมีหนังสือ ทางรถไฟสายดาวตก ที่เล่าเรื่องรถไฟท่องเที่ยวของคิวชูโดย พี่ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน เป็นสารตั้งต้น งานเปิดตัวหนังสือเล่มนั้นคือการพบกันกับพี่ก้องครั้งแรก และหนังสือเล่มนั้นพี่ก้องเขียนหน้าปกว่า “จะรออ่านเรื่องรถไฟของแฮม” 

หลายปีหลังจากนั้น เรามีเวลามากพอจะทำตามความฝันของตัวเองที่จะเอาก้นน้อย ๆ ไปนั่งบนรถไฟท่องเที่ยวหลากหลายขบวนนั้น จนในที่สุดเราก็มาเหยียบที่สถานีรถไฟฮากาตะ (Hakata Station) ที่เมืองฟุกุโอกะ เกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น 

เราวางแผนว่าจะนั่งรถไฟท่องเที่ยวให้ฉ่ำปอด แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นได้ ขอปฐมนิเทศตัวเองโดยการไปตั้งหลักที่พิพิธภัณฑ์รถไฟก่อนดีกว่า ไหน ๆ ประเทศไทยก็ไม่มีพิพิธภัณฑ์รถไฟเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว ก็ขอมาดูที่นี่ให้สาแก่ใจ

พิพิธภัณฑ์รถไฟในคิวชูอยู่ที่สถานีโมจิโกะ (Mojiko) ตั้งอยู่เหนือสุดของเครือข่ายรถไฟในเกาะนี้

จากสถานีฮากาตะ (Hakata) เรามุ่งหน้าสู่สถานีโมจิโกะ (Mojiko) ด้วยรถไฟ 2 ต่อ 

ต่อแรก จากสถานีฮากาตะ ไปสถานีโคคุระ (Kokura) เป็นรถไฟด่วน Sonic และต่อที่สอง เป็นการวิ่งปรู๊ดข้ามชานชาลาขึ้นรถไฟท้องถิ่นจากสถานีโคคุระไปโมจิโกะ 

จริง ๆ แล้วในแอป Japan Travel ที่โหลดใส่มือถือเอาไว้ก่อนไปบอกว่ามีรถไฟรวดเดียวถึง Mojiko แต่เป็นรถธรรมดาหวานเย็น จอดมันทุกสถานี เราเกรงว่าจะมีเวลาไม่พอ จึงขอจับรถด่วนต่อรถท้องถิ่นที่ประหยัดเวลาไปเกือบชั่วโมงแทน

เนิร์ดรถไฟไทยกับการไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก นั่ง JR Kyushu Rail Pass รถไฟความเร็วสูงคิวชู ชมความหรูหราของรถไฟ 7 ดาว เข้าพิพิธภัณฑ์แสนสนุก

สถานีฮากาตะ เป็นสถานีหลักขนาดใหญ่ที่มีชานชาลายุ่บยั่บมากมาย มีรถไฟวิ่งเข้าออกจนลายตา เนิร์ดรถไฟอย่างเราตื่นตาตื่นใจเป็นบ้า สิ่งที่เห็นแตกต่างจากสถานีในไทยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะการใช้สอยพื้นที่ที่เป็นเหมือนห้างร้านมากกว่าสถานีรถไฟ ไหนจะสารพัดของกินที่มีให้เลือกจนไม่รู้ว่าจะกินอะไรดี สถานีที่มีคนมากมายเดินเข้าออกยุ่บยั่บ เหมือนกับว่าเขาใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับรถไฟอย่างไรอย่างนั้น แล้วก็นอกจากผู้คนที่ใช้รถไฟแล้ว เรายังเจอคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกได้เต็มปากว่า เขาคือคนประเภทเดียวกับเรา

‘เนิร์ดรถไฟ’ นั่นแหละ

เนิร์ดรถไฟไทยกับการไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก นั่ง JR Kyushu Rail Pass รถไฟความเร็วสูงคิวชู ชมความหรูหราของรถไฟ 7 ดาว เข้าพิพิธภัณฑ์แสนสนุก

ทำไมจะไม่รู้ มันจะมีคนประเภทไหนกันล่ะที่ยืนอยู่บนชานชาลา มองรถไฟขบวนนั้นที ขบวนนี้ที แล้วถือกล้องหรือมือถือเตรียมยกถ่ายรูปเวลารถไฟเคลื่อนเข้ามาในชานชาลา 

ไม่รู้สิ ทำไมเราถึงรู้สึกว่าประเทศนี้ค่อนข้างเป็นพื้นที่ของคนที่มีความชอบ เป็นสนามเด็กเล่นที่ทรงคุณค่า

ก็คงเหมือนกับพิพิธภัณฑ์รถไฟที่เราจะไปนี่แหละมั้ง มันเป็นเหมือนชั้นเรียนเริ่มต้นของคนที่สนใจรถไฟ บางทีวงเวียนชีวิตของเนิร์ดรถไฟในญี่ปุ่นคงเริ่มมาจากดูรถไฟ ไปมิวเซียม แล้วก็ออกมาโลดแล่นอยู่ตามรางรถไฟนี่แหละ

เนิร์ดรถไฟที่นี่ดูเป็นจริงเป็นจังมาก กล้องที่เขาหอบหิ้วมามีเลนส์ขนาดใหญ่มโหฬารที่เอาไว้ซูมรถไฟที่อยู่ห่างไกลออกไป เพราะกฎระเบียบการอยู่ในระบบรถไฟที่นี่เคร่งครัดมาก ห้ามลงบนทางรถไฟ จะไม่มีการแอ็กท่าถ่ายรูปบนทางรถไฟเป็นอันขาด เพราะเป็นระเบียบสูงสุดว่าด้วยความปลอดภัย 

เราสงสัยอยู่ลึก ๆ ว่าวันนี้มันวันอะไร ทำไมเหล่าเนิร์ดถึงมารวมตัวกันเยอะขนาดนี้

ในที่สุดก็ถึงบางอ้อ เพราะรถไฟที่ปรากฏโฉมให้เห็นเช้านี้เป็นการต้อนรับสู่ประเทศญี่ปุ่นก็คือรถท่องเที่ยวสุดหรูระดับ 7 ดาว ที่ชื่อว่า ‘Seven Stars in Kyushu’ นั่นเอง

เนิร์ดรถไฟไทยกับการไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก นั่ง JR Kyushu Rail Pass รถไฟความเร็วสูงคิวชู ชมความหรูหราของรถไฟ 7 ดาว เข้าพิพิธภัณฑ์แสนสนุก

รถจักรดีเซลสีน้ำตาลเข้มเงาวับค่อย ๆ ลากชุดรถความยาว 7 คันที่มีสีน้ำตาลเข้มค่อย ๆ เข้ามาที่ชานชาลาพร้อมกับเหล่าเนิร์ดที่รัวชัตเตอร์กันไม่ยั้ง

ให้ตาย รถไฟคิวชูต้อนรับเราขนาดนี้เลยเหรอ นี่คือรถไฟที่ใครต่อใครก็อยากจะนั่งสักครั้งในชีวิต มันตกแต่งภายในด้วยงานไม้ที่ประณีต (ขนาดมองผ่านหน้าต่างยังขนลุกที่ได้เห็นงานออกแบบภายในที่เนี้ยบขนาดนี้) รถไฟความยาว 7 คัน คือ 7 จังหวัดในคิวชู หัวรถจักรที่อยู่ด้านหน้าก็เป็นสีเดียวกัน ซึ่งเคยเป็นรถจักรที่ใช้ลากรถสินค้ามาก่อนและมาทำสีให้เข้าชุดกัน พร้อมตกแต่งใหม่ให้กลายเป็นชุดรถไฟท่องเที่ยวสุดหรูหราแห่งคิวชู

สมแล้วกับที่เป็นรถไฟระดับ 7 ดาว 

Seven Stars ก็เลยกลายเป็นดาวเด่นของชานชาลาในเช้านั้น พร้อมกับเนิร์ดรถไฟชาวไทยที่กำลังยืนอึ้งแถมตบหน้าตัวเองเบา ๆ ว่าฝันไปหรือเปล่าที่ได้เห็นขบวนนี้ในระยะประชิด ก่อนที่จะถูกกระชากกลับมาสู่โลกจริงว่า รถไฟของตัวเองกำลังจะเข้าชานชาลาแล้ว

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

รถด่วนพิเศษ (Limited Express) Sonic ค่อย ๆ เคลื่อนมาจอดอยู่ข้างหน้าเรา มันเป็นรถไฟฟ้าชุด (Electric Multiple Unit : EMU) รุ่น Series 883 ใช้งานตั้งแต่ปี 1995 (พ.ศ. 2538) รุ่นราวคราวเดียวกับดีเซลรางแดวูของบ้านเรา ตัวถังของมันมีสีน้ำเงินเมทัลลิก หน้าตาโฉบเฉี่ยวพร้อมโลโก้รูปอะไรซักอย่างที่เหมือนหูมิกกี้เมาส์อยู่ตรงประตู 

‘Sonic’ ถือว่าเป็นรถด่วนคู่บ้านคู่เมืองของคิวชูที่วิ่งจากฮากาตะไปทางฝั่งตะวันออกของคิวชู ผ่านโคคุระ (Kokura) เบปปุ (Beppu) โออิตะ (Oita) ความพิเศษของรถด่วน Sonic คือมันมีเทคโนโลยีพิเศษที่ทำให้รถไฟยกเอียงตัวเวลาเข้าโค้งได้ หรือที่เรียกว่า Tilt Train สืบเนื่องจากว่าเส้นทางรถไฟของญี่ปุ่นเต็มไปด้วยโค้ง ซึ่งโค้งนั้นบางครั้งก็ใช้ความเร็วเต็มที่ไม่ได้ โดยเฉลี่ย รถไฟญี่ปุ่นที่วิ่งบนทางกว้าง 1.067 เมตร (กว้างกว่าไทย 6.7 ซม.) จะใช้ความเร็วอยู่ราว ๆ 80 – 110 กม. / ชม. จึงมีการคิดเทคโนโลยีให้รถยกเอียงเวลาเข้าโค้งได้โดยไม่ต้องลดความเร็ว จึงทำให้ Sonic ทะยานความเร็วได้ถึง 130 กม. / ชม. สบาย ๆ แข่งขันกับการเดินทางทางถนนที่เคยชิงความนิยมไปก่อนหน้า 

เวลาที่เรานั่งเจ้า Sonic ตอนเข้าโค้งจะรู้สึกว่ารถเอียงมากกว่าปกติ แต่จะไม่รู้สึกฝืนและนั่งสบายไปตามแรงที่รถวิ่งอยู่ นี่คือจุดแข็งที่ทำให้ Sonic ใช้เวลาเดินทางน้อยและมีความสบายบนความเร็วสูงที่สุดบนเกาะคิวชู สำหรับรถไฟความกว้างทาง 1.067 เมตร ซึ่งเป็นระบบหลักของประเทศญี่ปุ่น

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

เบาะนั่งของ Sonic ที่ใช้รถ Series 883 นั้นมีที่พิงหัวที่น่ารักน่าเอ็นดูสอดคล้องกับโลโก้ที่อยู่หน้าประตูรถ เหมือนเราสวมหูมิกกี้เมาส์เวลาที่นั่ง คุณสมบัติของมันทำให้เรานั่งสบาย หัวไม่พิงไปซบใครระหว่างเดินทาง และฟังก์ชันหนึ่งที่เก๋ไม่แพ้ใคร คือช่องเสียบตั๋วที่อยู่ตรงหัวเบาะ เมื่อนายตรวจเดินมาก็หยิบตั๋วให้นายตรวจอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องหยิบเข้าหยิบออกจากกระเป๋า

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต
เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

ประมาณ 40 นาทีจากฮากาตะก็มาถึงสถานีโคคุระ เราต้องเปลี่ยนชานชาลาไปขึ้นรถไฟอีกขบวนที่อยู่ข้างเคียง เป็นรถไฟ EMU เช่นกัน แต่ภายในเป็นเก้าอี้ยาวเหมือนรถไฟฟ้าบ้านเรา 

เราพุ่งตัวไปที่ตู้หน้าสุดเพื่อยืนดูทางจากด้านหลังห้องคนขับ สิ่งที่เราชอบมาก ๆ สำหรับรถไฟญี่ปุ่นคือตู้แรกสุดมองผ่านห้องคนขับดูทางรถไฟด้านหน้าได้เหมือนเราเป็นคนขับคนหนึ่ง ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจงใจออกแบบให้เห็นความโปร่งใสของการทำงาน หรือว่าเป็นการเอื้อให้คนที่ชอบใช้เป็นสารตั้งต้นในการศึกษารถไฟด้วย ซึ่งอันหลังน่าจะเป็นผลพลอยได้

รถไฟท้องถิ่นขบวนนี้เดินทางไม่นานก็มาจอดเทียบชานชาลาสถานีโมจิโกะ (Mojiko) ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง และเป็นสถานีที่อยู่ตอนเหนือสุดของเกาะคิวชู

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต
เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

สถานีโมจิโกะมีรูปแบบสถานีปลายทางตัน ตัวอาคารสถานีขวางทางรถไฟเอาไว้คล้ายกับสถานีกรุงเทพ คานหลังคาชานชาลาของสถานีน่าสนใจมากที่ใช้รางรถไฟเก่ามาทำเป็นโครงสร้าง ซึ่งสถานีรถไฟในไทยหลายแห่งก็ใช้แบบนี้ แต่สิ่งที่ต่างกันคือหลังคาและเสาเป็นไม้ซึ่งไม่ได้มีการทาสีใด ๆ เป็นโครงสร้างไม้แบบดิบ ๆ เลย ซึ่งมันสวยไปอีกแบบ

สถานีแห่งนี้เปิดใช้งานเมื่อปี 1891 หรือ พ.ศ. 2434 ก่อนรถไฟไทยของเราจะเกิดเสียอีก ตัวตึกด้านหน้าเป็นสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-เรเนสซองส์ ตามประวัติบอกว่าสร้างขึ้นในปี 1914 เมื่อมองจากด้านหน้าแล้วถือว่าเป็นอาคารที่มีเอกลักษณ์มาก มีความสมมาตรทั้งปีกซ้ายและขวา บริเวณช่องจำหน่ายตั๋วเดิมได้มีเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติมาติดตั้งแล้ว แต่ก็ยังคงคอนเซปต์เคาน์เตอร์ขายตั๋วแบบดั้งเดิมที่ประดับด้วยไม้เงาวับสวยจับใจ 

ตามฟังก์ชันการใช้งานของอาคารนั้น หากเราหันหน้าเข้าหาสถานี ด้านซ้ายมือเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และด้านขวาเป็นร้าน Starbucks ออกมาด้านหน้าเป็นลานน้ำพุขนาดใหญ่ มีที่นั่งพักผ่อนมองดูความโอ่อ่าของสถานีได้อย่างเต็มตา

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

ถัดจากสถานีมาหน่อยคือพิพิธภัณฑ์รถไฟของคิวชูกับย่านเก็บรถของสถานีโมจิโกะ บริเวณทางเข้า มีคุณทวดรถจักรไอน้ำหมายเลข 59634 ยืนต้อนรับเหล่าน้อง ๆ และเนิร์ด ๆ ที่พร้อมจะเข้าสู่อาณาจักรรถไฟ 

ถ้าสังเกตดี ๆ ทางรถไฟที่จอดรถไฟซึ่งตั้งแสดงนอกอาคารนั้นวางขนานตัวกับย่านเก็บรถของสถานี นั่นหมายความว่ามันเคยเป็นส่วนหนึ่งของสถานีมาก่อน แล้วแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์ น่าสนใจมากว่าการเป็นพิพิธภัณฑ์รถไฟที่ตั้งโดด ๆ อาจไม่ได้ดึงดูดคนมากเท่ากับการใช้ส่วนหนึ่งของสถานีรถไฟให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เราเห็นทั้งรถไฟที่ยังวิ่งได้อยู่ และรถไฟที่จอดนิ่งสงบแล้วอยู่ด้วยกัน อีกทั้งคนที่จะมาเที่ยวที่นี่ยังนั่งรถไฟที่มีชีวิตเข้ามาดูรถไฟที่ไม่มีชีวิตได้ นับเป็นการเชื่อมโยงเข้าหากันที่น่าสนใจทีเดียว

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

พื้นที่จัดแสดงรถไฟกลางแจ้ง (แบบมีหลังคาคลุม) นั้นมีรถไฟรุ่นเก่าที่ปลดระวางไปนานแล้ว ทั้งรถจักรไอน้ำ C59 ที่มี Headmark หรือเจ้าแผ่นกลม ๆ หน้ารถเป็นรูป Galaxy Express รถจักรไฟฟ้า EF35 หน้าตาแปลกตา ถัดมาเป็นรถจักรไฟฟ้า ED72 สีแดงที่เราเคยเห็นในเกม และที่เราชอบมาก ๆ คือรถด่วน Gekko สีครีม-น้ำเงิน เป็นรถด่วนตู้นอน เปิดให้เข้าไปดูห้องโดยสารภายในที่จัดแสดงรูปแบบเก้าอี้นั่งที่ปรับเป็นเตียงนอนได้ อันนี้เหมือนรถไฟไทยมาก ก็คงได้รับอิทธิพลมาจากที่ที่เดียวกันน่ะแหละ เพราะเมื่อก่อนเราก็สั่งซื้อตู้นอนจากญี่ปุ่นเหมือนกัน

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

จบจากตัวรถไฟกลางแจ้งแล้ว ต้องเดินเข้าไปในตึกอิฐ ข้อมูลที่ได้มาบอกว่าเคยเป็นออฟฟิศของรถไฟเก่าแล้วดัดแปลงให้เป็นมิวเซียม พอประตูเปิดเข้าไป เรารู้สึกได้ถึงความขนลุก เพราะมันคือที่รวบรวมหลากเรื่องราวของรถไฟในเกาะคิวชูที่เรียงร้อยไว้อย่างลงตัว  รถไฟโบราณขนาดเล็กสร้างด้วยไม้ต้อนรับเราที่หน้าประตูทางเข้าภายในอาคารอิฐที่โอ่โถง พื้นด้านหน้าจำลองเป็นชานชาลาที่มีพนักงาน มีผู้โดยสาร และมีคนขาย Ekiben (ข้าวกล่องรถไฟ) พร้อมเสียงบรรยากาศสถานีที่เปิดอยู่ ให้เรารู้สึกเหมือนกับได้เหยียบอยู่บนชานชาลารถไฟจริง ๆ

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

ถัดไปอีกนิดหน่อย เป็นเมืองจำลองรถไฟขนาดเล็กที่มีรถไฟจำลองไซซ์ HO Scale วิ่งอยู่ในภูมิประเทศที่จำลองจากเกาะคิวชูมาทั้งหมด ดูด้วยตาเห็นทั้งสะพานรถไฟ สถานีฮากาตะ สถานีโมจิโกะ ภูเขาที่มีทางรถไฟวนเป็นลูปขึ้นไปเหมือนที่ฮิโตโยชิ มีรถไฟดาวเด่นของคิวชูที่วิ่งวนอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็น Yufuin no Mori สีเขียวคาดทอง Aso Boy สีขาว-ดำ SL Hitoyoshi รถจักรไอน้ำท่องเที่ยวขบวนเดียวและขบวนสุดท้ายของคิวชู เจ้า Sonic ที่เรานั่งมา รวมไปถึงรถ Limited Express Kamome สีขาวที่เป็นน้องของ Sonic แล้วก็ยังมี Kyushu Shinkansen Tsubame เจ้านกนางแอ่นพระเอกของคิวชูอีกด้วย

เรานั่งอยู่ตรงนี้นานแสนนาน คอยมองดูรถไฟวิ่งวนไปวนมา มีเด็กน้อยมานั่งเป็นเพื่อน มีพ่อแม่ที่พาเด็ก ๆ มาดูรถไฟที่วิ่งในตู้กระจก แล้วก็นึกไปถึงตัวเองสมัยตัวน้อย ๆ ว่า ทำไมเด็กที่ชอบรถไฟอย่างเราถึงไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ในประเทศของตัวเองเลย ทำไมคนญี่ปุ่นเขาถึงได้ผูกพันกับรถไฟจังเลยนะ เพราะแบบนี้ใช่ไหมรถไฟบ้านเขาถึงได้มีความสัมพันธ์และความเกี่ยวโยงกับคนจนพัฒนาได้ถึงขนาดนี้

มาต่อกันที่ชั้น 2 ตรงนี้คือการอัดแน่นสาระกันแบบจุก ชนิดไม่อยากละสายตาแม้แต่โซนเดียว

ไทม์ไลน์ของรถไฟบนเกาะคิวชูไล่เรียงมาตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้น จนถึงวันที่ Nishi Shinkansen ระยะทางสั้น ๆ จาก ทาเคโอะ-ออนเซน > นางาซากิ (Takeo-Onsen > Nagasaki) รถไฟชินคันเซ็นสายล่าสุดของญี่ปุ่นได้เปิดใช้งานในปี 2022 ถัดมาเป็นการโชว์ขนาดของรางรถไฟที่ถูกใช้งานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่เส้นขนาดเล็ก ๆ ไปจนถึงขนาดใหญ่เบิ้มสำหรับรถไฟความเร็วสูง

มุมที่เราชอบอีกมุมคือการแสดง Headmark หรือป้ายหัวขบวนของรถไฟ ซึ่งรถไฟญี่ปุ่นมีการตั้งชื่อเอาไว้ในแต่ละสาย เพื่อให้เป็นแบรนดิ้งของขบวนนั้น ๆ เช่น Tsubame, Sakura, Kamome, Sonic, Nishirin

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต
เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

อย่าง ‘Tsubame’ (สึบาเมะ) ที่เป็นพระเอกของโซนนี้ สัญลักษณ์บนหน้า Headmark คือนกนางแอ่นที่มีหาง 2 แฉก คงเป็นเพราะว่าภูมิภาคคิวชูมีนกประเภทนี้เยอะมั้ง มันจึงถูกตั้งชื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือนกนางแอ่นคือสัญลักษณ์ของ JR Kyushu ซะด้วย

การตั้งชื่อรถไฟของญี่ปุ่นนั้นน่าสนใจมาก เพราะไม่ใช่แค่การบ่งบอกชื่อเสียงเรียงนามของขบวนให้จำได้ง่าย แต่ยังมีบริบทที่มีความหมายลึกซึ้ง เช่น Sakura คือดอกไม้ประจำชาติ Kamome แปลว่านกนางนวล เป็นนกที่มีอยู่เยอะมากในแถบนี้ หรือแม้กระทั่งไปทาง JR อื่น รถด่วนอย่าง Twilight Express ก็เป็นการบอกว่ารถไฟขบวนนี้วิ่งในเวลากลางคืน จริง ๆ ของไทยเราก็มีแบบนี้นะ เช่น รถด่วนตู้นอนไปเชียงใหม่เดิมเราชื่อ ‘นครพิงค์’ แล้วเปลี่ยนมาเป็น ‘ขบวนอุตราวิถี’ ซึ่งการใช้ชื่อสวยหรูมันก็ดี แต่ก็ขาดเสน่ห์ของชื่อที่จำง่ายเข้าปากไป 

พิจารณาจากชื่อรถไฟที่ตั้งโชว์อยู่ พบว่าบางขบวนได้กลายเป็นชินคันเซ็นไปแล้ว เช่น Tsubame, Sakura, Mizuho, Kamome โดย Headmark ของแต่ละขบวนจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองที่เห็นแล้วรู้ได้เลยว่านี่คือขบวนอะไร รวมถึงวิวัฒนาการของงานอาร์ตเวิร์กที่ปรับเปลี่ยนให้ Headmark มีความสวยงามไปตามแต่ละช่วงยุค

เที่ยวคิวชู ญี่ปุ่น แบบเนิร์ดรถไฟ ชมรถไฟ 7 ดาวระยะใกล้ และไปพิพิธภัณฑ์รถไฟที่มีชีวิต

มุมรถจักรไอน้ำถือว่าเด็ด เพราะนอกจากให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรไอน้ำแล้ว ยังมีโมเดลรถจักรไอน้ำรุ่นต่าง ๆ ให้ได้เห็นกันชัด ๆ พร้อมมุม ‘ฟังเสียง’ ที่ให้เรากดปุ่มเพื่อฟังเสียงของรถจักรไอน้ำได้ถึง 3 เสียง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเบรกของรถจักร เสียงการโกยถ่านหินเข้าไปในเตาเผา และที่ทำเอาขนลุกซู่คือเสียงหวีดของรถจักรไอน้ำ ที่รู้สึกว่าแตกต่างจากเสียงรถจักรไอน้ำของไทยพอสมควร แม้จะเป็นรถญี่ปุ่นเหมือนกันก็ตาม 

มุมนี้แหละที่ทำให้คนสูงวัยที่ทันรถจักรไอน้ำได้หวนระลึกถึงครั้งสมัยหนุ่มสาวที่รถจักรไอน้ำโลดแล่นอยู่บนรางเหล็ก และทำให้เด็กในวัยที่รถจักรไอน้ำเกษียณแล้วได้ทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยกับรถไฟที่เคยครองเส้นทางมาก่อน

ส่วนมุมท้าย ๆ นั้นค่อนข้างหวนระลึกถึงรถไฟไทยพอสมควร คือจริง ๆ ก็เป็นรายละเอียดที่เขาใช้เหมือน ๆ กันทั้งโลกนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นตั๋วรถไฟแบบการ์ดแข็งหรือที่เราเรียกว่าตั๋วหนา มุมเครื่องทางสะดวกที่มีห่วงทางสะดวกพร้อมเสาแขวนห่วงตัวเป็น ๆ มาให้เห็นในมิวเซียมกันเลย มีธงที่เอาไว้ให้นายสถานีโบก มีคีมตัดตั๋ว และจบด้วยป้ายสัญญาณต่าง ๆ

เนิร์ดรถไฟไทยกับการไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก นั่ง JR Kyushu Rail Pass รถไฟความเร็วสูงคิวชู ชมความหรูหราของรถไฟ 7 ดาว เข้าพิพิธภัณฑ์แสนสนุก

หลังจากที่เก็บเกี่ยวความรู้ของรถไฟกันอย่างเต็มอิ่มแล้ว จุดสุดท้ายที่เป็นตัวดักให้เราวนเวียนอยู่นานมาก (พร้อมดักเงิน) นั่นคือมุมของที่ระลึก เป็นมุมที่ทำใจลำบากมากที่จะไม่หยิบไปทุกอย่าง แต่สุดท้ายแล้วเราก็กวาดของกลับไทยมาพอสมควรตั้งแต่วันแรกจนแคชเชียร์ถึงกับอึ้ง นี่มันซอยละลายทรัพย์แท้ ๆ คิดดูว่าถ้ามีของที่ระลึกของรถไฟสวย ๆ ขนาดนี้ใครล่ะจะไม่ซื้อ แค่แฟ้มธรรมดาพิมพ์หน้ารถไฟลงไปก็ชวนให้เราหยิบมาจ่ายเงินโดยไม่ลังเลได้ เอาเป็นว่าใครผ่านตรงนี้ไปโดยไม่เสียทรัพย์ถือว่าใจแข็งยิ่งกว่าเพชร

นอกจากความรู้แล้ว ด้านนอกของมิวเซียมยังมีโซนรถไฟเล็กให้พนักงานขับรถจิ๋ว (หรือไม่จิ๋วก็ได้แต่ต้องย่อตัวหน่อย) ได้ลองขับรถไฟจำลองกันจริง ๆ แถมมีหัวรถไฟของจริงที่ตัดมาเฉพาะส่วนห้องคนขับให้เข้าไปดูข้างในทุกซอกทุกมุมกันอีกด้วย

เนิร์ดรถไฟไทยกับการไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก นั่ง JR Kyushu Rail Pass รถไฟความเร็วสูงคิวชู ชมความหรูหราของรถไฟ 7 ดาว เข้าพิพิธภัณฑ์แสนสนุก

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันนะว่าการมาถึงคิวชูวันแรกจะทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมขนาดนี้ เรารู้สึกเหมือนตัวเองเป็นเด็กชายแฮมที่ย้อนวัยตัวเองไปในวันที่ตื่นเต้นทุกอย่างกับรถไฟ แม้ว่าวัย 30 กว่านี้เราก็ยังตื่นเต้นอยู่ แต่การเข้ามาถึงดินแดนสรวงสวรรค์ของคนรักรถไฟ ยิ่งกระตุ้นให้อีก 10 กว่าวันที่เหลือเต็มไปด้วยความสุขกับเพื่อนใหม่อีกหลายขบวนที่รอให้เราไปทักทายและทำความรู้จัก

การมีพิพิธภัณฑ์รถไฟมันดีอย่างนี้นี่เอง และก็หวังว่าในประเทศไทยจะมีพิพิธภัณฑ์รถไฟดี ๆ ที่จะให้เนิร์ดรถไฟอย่างเราหวนกลับไปเป็นเด็ก ให้เด็กอีกหลาย ๆ คนได้ต่อยอดความฝันของตัวเอง และให้อีกหลาย ๆ คนได้รู้จักและเรียนรู้กับรถไฟ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนารถไฟในประเทศไทย

จากแค่จุดเล็ก ๆ จุดนี้ก่อนก็พอ

เนิร์ดรถไฟไทยกับการไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก นั่ง JR Kyushu Rail Pass รถไฟความเร็วสูงคิวชู ชมความหรูหราของรถไฟ 7 ดาว เข้าพิพิธภัณฑ์แสนสนุก

เกร็ดท้ายขบวน

  1. ถ้ามาถึงคิวชูแล้วอยากให้มาที่มิวเซียมก่อนเป็นที่แรก เพื่อเป็นการเริ่มเรียนรู้และทำความรู้จักไปเรื่อย ๆ น้อง ๆ หนู ๆ ต้องชอบแน่ ๆ
  2. ตรงกลางระหว่างมิวเซียมและสถานีโมจิโกะ มีรถไฟนำเที่ยวระยะทางสั้น ๆ ดำเนินการโดยเอกชนด้วย มันถูกลากด้วยรถจักรดีเซลขนาดจิ๋วพร้อมตู้โดยสาร 2 ตู้ ให้นั่งชมวิวเมือง Heritage ได้อย่างเนือย ๆ เพลิน ๆ ไปกับเมืองที่มีเสน่ห์นี้
เนิร์ดรถไฟไทยกับการไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก นั่ง JR Kyushu Rail Pass รถไฟความเร็วสูงคิวชู ชมความหรูหราของรถไฟ 7 ดาว เข้าพิพิธภัณฑ์แสนสนุก

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ