12 กุมภาพันธ์ 2025
3 K

‘กาญจนบุรี’ จังหวัดภาคตะวันตกของไทยที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางไม่น้อย จริง ๆ แล้วเมืองกาญจน์ฯ เป็นอีกจังหวัดที่เรานั่งรถไฟไปเที่ยวได้สบาย ๆ จะค้างคืนก็ได้ ไปเช้าเย็นกลับก็ดี มีรถไฟให้เลือกทั้งแบบรถธรรมดาหวานเย็นจอดทุกสถานีรับผู้โดยสารทุกป้าย ไปจนถึงรถไฟนำเที่ยววันหยุดที่มีทั้งตู้แอร์และพัดลมให้จิ้มเลือกได้เลยว่าอยากไปแบบไหนให้เที่ยวได้สบายตัวสบายกระเป๋าที่สุด 

รถไฟนำเที่ยว เป็นรถไฟขบวนพิเศษที่วิ่งนอกเหนือจากรถไฟขบวนปกติที่ครองเส้นทาง ปกติแล้วสายกาญจนบุรีมีรถไฟธรรมดาออกจากสถานีธนบุรี ตรงศาลาน้ำร้อนศิริราชเช้ารอบหนึ่ง บ่ายรอบหนึ่ง ไปปลายทางที่สถานีน้ำตก ปลายรางที่อำเภอไทรโยคโน่น แล้วก็ยังมีขบวนท้องถิ่นสายสั้นที่ต้นทางจากสถานีกาญจนบุรีไปน้ำตกด้วย ซึ่งขบวนพวกนี้ขึ้นได้ทุกวัน ราคาสบายกระเป๋าไม่กี่สิบบาท (ย้ำ ไม่กี่สิบบาท) แต่ที่นั่งอาจจะไม่ค่อยหรรษาเท่าไหร่ เพราะเป็นรถไฟชั้น 3 ตู้พัดลม ขบวนเหล่านี้ต้องซื้อตั๋วรายเที่ยว อยากไปกลับวันเดียวกันก็ได้ แต่ต้องเป็นมนุษย์ที่มีความปรารถนาแรงกล้าในการแค่นั่งรถไฟเที่ยวอย่างเดียว ไม่ได้แวะเที่ยวที่อื่น นอกจากจะนอนค้างคืนที่กาญจนบุรีเท่านั้น 

แต่ถ้าเป็นวันหยุด วันเสาร์-อาทิตย์ ก็มีรถไฟนำเที่ยวแบบพิเศษใส่ไข่เข้ามาออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) พาเราปุเลง ๆ ไปสถานีน้ำตก ผ่านกาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว ที่ไม่ใช่แค่พาไป แต่ยังพากลับมากรุงเทพฯ ด้วยแบบไม่ต้องวางแผนอะไรมาก แค่กลับมาขึ้นรถไฟให้ทันก็พอ เพราะจุดประสงค์ของขบวนนี้คือพาคนไปเที่ยวแบบไปเช้ากลับเย็นใน 1 วัน 

รถไฟนำเที่ยวสาย ‘น้ำตกไทรโยคน้อย’ จึงเป็นหนึ่งในขบวนยอดนิยมที่ไม่ว่าจะคนไทย คนต่างชาติ อยากตีตั๋วมานั่งกันทั้งนั้น เพราะเส้นนี้เป็นรวมมิตรรักแฟนเพลงของสายเที่ยวมากที่สุด ทั้งสายธรรมชาติ สายประวัติศาสตร์ สายกิน แล้วอีกอย่างหนึ่งคือหลาย ๆ คนก็อยากจะมาได้เห็นเส้นทางรถไฟที่โด่งดังไปทั่วโลกด้วยตาตัวเองสักครั้ง

รถไฟนำเที่ยวน้ำตกไทรโยคน้อยเป็นที่นั่งแบบต้องจองทั้งขบวน ไม่มีตั๋วยืน ต่อให้มีเงินแต่ที่เต็มก็มาขึ้นไม่ได้ ด้วยความป๊อปปูลาร์จึงเต็มทุกสัปดาห์ ถ้าใครอยากลองเสี่ยงมาซื้อวันเดินทางก็อาจจะได้แหละ แต่ไม่เคยแนะนำให้ทำแบบนี้เลย นอกเสียจากว่าจะเป็นคนที่ทำบุญมาดี มีบุญญาธิการ และสั่งสมบุญบารมีมาเป็นอย่างดี อีกอย่างคนที่นั่งรถไฟขบวนี้มักจะมากันเป็นกลุ่มใหญ่ ทำให้ที่นั่งก็พลอยหมดเร็วไปด้วย

วิธีการแก้ปัญหาในการเที่ยว คือจองตั๋วจ้ะ จองเลยง่าย ๆ จากสถานีรถไฟก็ได้ เว็บไซต์ก็ได้ แอปพลิเคชันก็ได้ หรือไม่สันทัดเทคโนโลยีก็จองผ่านคอลเซนเตอร์ที่น่ารักและเป็นมิตร (ไม่มิจแน่นอนรับประกัน) 

ส่วนของที่นั่งในขบวนก็มี 2 แบบ ใครอยากประหยัดและรับลม มีรถพัดลมแบบหันหน้าเข้าหากัน มากลุ่มก็นั่งคุยกัน มาคู่ก็ยิ้มให้กัน สนนราคาอยู่ที่ 120 บาทต่อหัว 

กับอีกแบบคือรถนั่งชั้น 2 แอร์ อันนี้มีตู้เดียว ต้องแย่งกันหน่อย ที่นั่งปรับเอนหลังได้ มีแอร์เย็น ๆ ราคาอยู่ที่ 240 บาท ที่สำคัญก็คือราคา 120 กับ 240 บาทนั้นน่ะ เป็นราคาเหมาไปกลับแล้ว ถูกยิ่งกว่ากินชาบูเสียอีก

รถนั่งชั้น 3
รถนั่งชั้น 2 ปรับอากาศ

รถไฟนำเที่ยวน้ำตกไทรโยคน้อยออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ไม่ใช่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 

นี่เป็นข้อดีหนึ่งของรถไฟนำเที่ยวที่ยังคงยึดสถานีกรุงเทพได้อย่างเหนียวแน่น อาจเป็นเพราะว่าสถานีคลาสสิกคือจุดขายที่ทำให้เราตื่นเต้นก่อนออกเดินทางก็ได้ ซึ่งรถไฟมีกำหนดเวลาออกตอน 6 โมงครึ่ง ถ้ามาถึงตั้งแต่ 6 โมงก็ยังพอมีเวลาไปถ่ายรูปเล่นในสถานีก่อนขึ้นรถไฟก็ได้ 

โปรดจำรหัสขบวนเอาไว้ เลข 909 คือขบวนของเรา 

ทำไมเราต้องจำ ก็เพราะว่ารถไฟนำเที่ยวที่ออกจากชานชาลาที่ 11 มี 2 ขบวนจูงมือไปด้วยกันยังไงเล่า

ขบวน 909 ปลายทางน้ำตกไทรโยคน้อย ส่วนขบวน 911 ปลายทางสวนสนประดิพัทธ์ ทั้ง 2 ขบวนเป็นรถไฟนำเที่ยวยอดนิยมทั้งคู่ อีกอย่างเขาทั้ง 2 วิ่งไปบนเส้นทางเดียวกันจนถึงสถานีหนองปลาดุก ต้องจอดแวะนครปฐมเหมือนกัน จอดรับคนเหมือนกัน ก็เลยจับมัดมาเป็นขบวนเดียวกันเสียเลย 

หลังเสียงระฆังให้สัญญาณดัง 6 โมงครึ่งเป็นเวลาล้อหมุน ช่วงเช้าที่ออกจากหัวลำโพงคนจะยังไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ ส่วนใหญ่ขึ้นกันระหว่างทาง ขบวนนี้จอดรับคนที่สามเสน บางซื่อ บางบำหรุ ศาลายา ช่วงเช้า ๆ อากาศค่อนข้างดี ช่วยกระตุ้นความรู้สึกสนุกกับการเที่ยวได้สักนิดสักหน่อย

ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา รถไฟเดินทางมาถึงสถานีนครปฐม 

นครปฐม เป็นเมืองที่อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ เท่าไหร่ ถ้าพูดถึงนครปฐมเราก็จะต้องนึกถึงพระปฐมเจดีย์ ทุกคนจะได้เห็นพระปฐมเจดีย์องค์สูงเท่านกเขาเหินสีเหลืองอร่ามต้อนรับจากหน้าต่างรถไฟ ด้วยความใหญ่โตขององค์พระจึงโดดเด่นมาก ชนิดว่าหากวันไหนฟ้าเปิดจัด ๆ และเราอยู่บนตึกสูงในกรุงเทพฯ ย่านฝั่งธนฯ และส่องกล้องทางไกลไปทางทิศตะวันตก จะเห็นองค์พระปฐมเจดีย์อยู่ในสายตาได้ไม่ยากเลย

รถไฟเราจะหยุดที่สถานีนครปฐมประมาณ 40 นาที จังหวะนี้ใครจะเดินไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ก็ได้ หรือถ้าไม่อยากเดินไปก็ลองหาของกินอร่อย ๆ หลังสถานีก็เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจไม่น้อย ร้านอาหารแบบรถเข็นตั้งอยู่สองข้างถนนจากสถานีไปจนถึงคูน้ำรอบองค์พระ มีอาหารมากมายให้เราเลือกสรรได้ตามความสามารถในการซื้อของและความสามารถในการเอาทุกสิ่งเข้าปากสู่กระเพาะ เพราะคนไทยเรื่องกินเรื่องใหญ่ สารพัดอาหารอย่าง ข้าวเหนียวหมู ข้าวเหนียวเนื้อ ข้าวหลาม บ๊ะจ่าง ผลไม้ตามฤดูกาลเย็นฉ่ำ กาแฟเย็น นมเย็น ชาเย็น ข้าวต้มปลากะพง โจ๊กหมูใส่ไข่… เอาเป็นว่าอย่าลืมเวลาขึ้นรถไฟก็พอ

40 นาทีผ่านไป หมดเวลาของนครปฐม ได้เวลาเดินทางต่อ 

จากสถานีนครปฐมจุดต่อไปที่รถไฟจะจอดคือสถานีหนองปลาดุก แต่ไม่ได้จอดให้เราลงนะ แค่แยกขบวนออกจากกัน รถนำเที่ยวที่ไปหัวหิน สวนสนประดิพัทธ์ ก็จะแยกกับเราที่นี่ เมื่อจัดการแยกร่างแล้วเขาก็จะเดินทางต่อ ส่วนเราก็เดินทางต่อเช่นกันไปที่ทางรถไฟสายประวัติศาสตร์กาญจนบุรี ตรงนี้จะมีเรื่องสนุก ๆ ให้ดูด้วย เพราะรถไฟทั้ง 2 ขบวนที่เพิ่งแยกจากกันจะวิ่งขนานคู่กันไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดแยกแล้วก็เซย์บ๊ายบาย 

นับตั้งแต่สถานีชุมทางหนองปลาดุกมา เราเข้าสู่ ‘ทางรถไฟสายมรณะ’

ชื่อดูน่ากลัว แต่มีที่มา 

ทางรถไฟสายนี้สร้างขึ้นเพื่อการสงครามโดยเฉพาะ มันเริ่มต้นสร้างขึ้นโดยแรงงานชาวเอเชีย ยุโรป แรงงานเชลย คุมการก่อสร้างโดยฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อสร้างทางลำเลียงอาวุธและเสบียงผ่านไทยเข้าไปพม่า ไปอินเดีย ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา 

ทางรถไฟเลาะตามแม่น้ำแม่กลองไปจนถึงเมืองกาญจนบุรี ข้ามแม่น้ำแควใหญ่ เลาะไปตามแม่น้ำแควน้อย เมื่อถึงตำบลท่าเสาทางรถไฟก็เริ่มขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ จนถึงชายแดนไทย-พม่า และเข้าสู่ทางรถไฟของพม่าที่สถานีตันบูซายัต

เอาจริง ๆ ทางรถไฟสายนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาอย่างมั่นคง การเร่งสร้างเพื่อใช้ในภารกิจสงครามนั้นทำให้เส้นทางรถไฟสายนี้ (ในยุคนั้น) ต่ำกว่ามาตรฐานมาก เหมือนแค่สร้างทางให้ผ่าน ๆ ไปได้ ให้แค่รถไฟวิ่งไปได้ มีรถไฟตกรางระหว่างการขนส่งบ่อยมาก ตั้งแต่ตกรางเล็กน้อยจนไปถึงกลิ้งหลุน ๆ ลงไปอยู่ตีนเขา

ทางรถไฟสายไทย-พม่า
ภาพ : Facebook ประวัติศาสตร์สยาม

ในช่วงแรกนั้นทางรถไฟสายนี้ถูกเรียกว่า ‘ทางรถไฟสายไทย-พม่า’ แต่ที่เรียกว่าทางรถไฟสายมรณะเกิดขึ้นหลังสงครามสิ้นสุด จากเรื่องเล่าปากต่อปากบอกไว้ว่า การสร้างทางรถไฟในพื้นที่ทุรกันดาร โรคภัยเยอะ โรคติดต่อจากสุขอนามัยในค่ายเชลยที่ต่ำ ทำให้มีคนตายในเส้นทางสายนี้เยอะมาก มากจนถ้าให้พูดแบบเกินจริงก็คงพูดได้ว่า คนที่ตายเท่ากับจำนวนไม้หมอนรถไฟ (ซึ่งจริง ๆ ก็ไม่เท่าหรอก) ตามข้อมูลกล่าวไว้ว่าแรงงานที่มีมากที่สุดคือชาวเอเชีย ซึ่งเสียชีวิตไปมากกว่า 60,000 คน รองลงมาคือชาวอังกฤษ ตัวเลขนับได้ 6,540 คน ตามมาด้วยชาวฮอลันดา ออสเตรเลีย อเมริกัน และมีชาวญี่ปุ่นกับเกาหลีอีกนิดหน่อย ซึ่งจุดที่สูญเสียแรงงานมากที่สุดคือบริเวณช่องไฟนรก (Hell-fire Pass) ซึ่งเส้นทางสายนี้ใช้เวลาสร้างเพียง 17 เดือน และรวมเวลาใช้งานเพียง 21 เดือนเท่านั้น

รถไฟผ่านสถานีกาญจนบุรีมาแค่ไม่เท่าไหร่เราก็ถึงสะพานข้ามแม่น้ำแคว หนึ่งในสะพานรถไฟที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ ไม่สิ ต้องบอกว่ามีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในโลก สะพานเหล็กสีดำสนิทที่ประกอบร่างขึ้นเพื่อข้ามแม่น้ำแควใหญ่ที่ตำบลท่ามะขามด้วยแรงงานซึ่งทำงานกันทั้งวันทั้งคืน 

สะพานนี้มีเอกลักษณ์ โครงสะพานส่วนใหญ่เป็นรูปโค้งครึ่งวงกลม ส่วนกลางแม่น้ำเป็นโครงรูปสี่เหลี่ยมคางหมูที่แปลกไปจากพวกอยู่ 2 โครง มันไม่ได้เป็นการจงใจ แต่เป็นส่วนที่เคยเสียหายจากการโดนระเบิด

แต่เดิมสะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นโครงเหล็กรูปครึ่งวงกลมทั้งสะพาน เมื่อวันที่เครื่องบินทิ้งระเบิดทำลายสะพานนั้น ส่วนตรงกลางขาดลงจำนวน 3 ช่วงตอม่อ พอถึงคราวที่ต้องบูรณะสะพานก็ได้ปรับเปลี่ยนตำแหน่งตอม่อใหม่ให้มีช่วงกว้างขึ้น และเปลี่ยนโครงสะพานให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูเพื่อรับน้ำหนักได้ดีขึ้น จึงกลายเอกลักษณ์ของสะพานนี้ไปโดยปริยาย 

สะพานข้ามแม่น้ำแควดั้งเดิม
สะพานข้ามแม่น้ำแควถูกระเบิด

รถไฟนำเที่ยวจอดให้เราลงมาดูสะพานกันอย่างใกล้ชิดยันนอตสะพานเป็นเวลา 20 นาที ช่วงเวลานี้เดินไปถึงตรงกลางสะพานได้สบาย ๆ แต่ไม่แนะนำให้เดินไปไกลมาก เพราะช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ถ้าเราฝ่าคนกลับมาไม่ทันเวลาก็ตกรถไฟได้ 

เสียงหวีดรถไฟจะดังขึ้นเป็นสัญญาณ ครั้งแรกคือเตือนว่าเหลือเวลาอีกไม่เท่าไหร่รถไฟจะออกแล้ว กรุณากลับมาที่รถได้แล้ว ครั้งที่ 2 จะเตือนอีกครั้งเพื่อบอกว่า​ ‘ขึ้น รถ เดี๋ยว นี้ !’ และถ้าได้ยินครั้งที่ 3 อันนี้ต้องแสดงความเสียใจด้วยว่า คุณตกรถแล้วจ้า 

ออกจากสะพานข้ามแม่น้ำแคว เราเดินทางต่อไปบนทางรถไฟสายมรณะซึ่งวิวข้างทางเหมือนอยู่ในสวรรค์ สองข้างทางเต็มไปด้วยพื้นที่ราบเห็นเทือกเขาเป็นแนวขนานไปด้วย ส่วนใหญ่แล้วเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ซึ่งเป็นภาพที่จะได้เห็นไปตลอดราว ๆ 40 นาทีจากสะพานข้ามแม่น้ำแคว ก่อนจะเริ่มมองเห็นภูเขาใกล้กับทางรถไฟมากขึ้น ๆ และนี่เองก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของเส้นทาง นั่นคือ สะพานถ้ำกระแซ 

สะพานถ้ำกระแซมักถูกเรียกลำลองกันว่า ‘สะพานมรณะ’ 

ถ้ำกระแซ คือถ้ำหินปูนที่อยู่บนหน้าผาซึ่งติดอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ซ้ายเป็นแม่น้ำ ขวาเป็นหน้าผา ทำให้การสร้างทางรถไฟดูเหมือนจะเจอจุดวิกฤตเข้าแล้ว จะผ่านตรงนี้ไปอีกฝั่งได้นั้นไม่มีทางเลือกโดยสิ้นเชิงนอกจากต้องสร้างสะพานเลาะไปตามหน้าผา 

ตอม่อไม้ล่ำหนาวางตัวถี่ยิบรับน้ำหนักของสะพานรถไฟและตัวรถไฟที่ค่อย ๆ ทอดเลื้อยเหมือนงูไปตามหลืบหน้าผา ดูแล้วก็แปลกพิลึกเหมือนกันที่ต้องทำสะพานที่ดูชั่วคราวมากกว่าถาวรเพื่อผ่านตรงนี้ไปได้ 

สะพานถ้ำกระแซ
ภาพ : Facebook โรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

ระยะทาง 300 กว่าเมตรที่รถไฟคลานด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผ่านไปด้วยความตื่นเต้น ลุ้นระทึก เสียงล้อเบียดรางเอี๊ยดอ๊าด สายตาหลายคนมองลงไปด้านล่าง แต่จะมองให้หวาดเสียวทำไม มองออกไปด้านข้างและด้านหน้าสิ จะไม่เจอภาพหวาดเสียว

คุ้งแม่น้ำแควน้อยที่แซมด้วยรีสอร์ตที่ตั้งริมน้ำที่ไหลเชี่ยว รถไฟค่อย ๆ เลื้อยไป มีคนมากมายโบกไม้โบกมือให้รถไฟ มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษและสับสนดีนะว่าจะรู้สึกอะไรมากกว่ากันระหว่างหวาดเสียวกับสะพานไม้และตื่นเต้นกับวิวพร้อมบรรยากาศ

สะพานถ้ำกระแซถือว่าเป็นอีกจุดหมายหนึ่งของนักท่องเที่ยว ด้วยเพราะเอกลักษณ์ของสะพาน ความหวาดเสียวตอนรถไฟวิ่งผ่าน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยเขาดูแลสะพานได้ดีมาก มั่นใจได้เลยว่าปลอดภัย บวกกับถ้าเราอยู่ด้านล่างรถไฟและถ่ายรูปรถไฟที่กำลังเลื้อยมาตามสะพาน ก็จะได้ภาพที่สวยงามน่าประทับใจในอีกมุมมองหนึ่ง 

จากสะพานถ้ำกระแซไป อย่าเพิ่งละสายตาหรืออย่าเพิ่งหลับ สักประมาณ 10 นาทีเมื่อรถไฟออกจากสถานีวังโพจะเป็นอีกช่วงที่ทางรถไฟเลาะไปกับแม่น้ำแควน้อยอีกครั้ง มีสะพานเล็ก ๆ คล้าย ๆ กับสะพานถ้ำกระแซ มีชื่อเรียกลำลองว่า ‘สะพานถ้ำชะนี’ 

จุดนี้ทางรถไฟอยู่สูงมาก มีช่วงทางที่หักโค้งผ่านช่องเขาจนต้องลดความเร็ว มองลองไปข้างล่างคือป่าไผ่รกทึบและโค้งตวัดของแม่น้ำแควน้อยที่มีฉากหลังเป็นภูเขาลูกมหึมา บริเวณนี้ถือว่าเป็น Unseen ได้ เพราะถ้าคุณไม่ได้นั่งรถไฟมา ก็ไม่มีทางที่จะได้เห็นวิวนี้อย่างแน่นอน

สวยอย่าบอกใคร 

อ้าว เราบอกไปแล้ว….

เราเดินทางมาถึงปลายทางแล้ว นั่นคือน้ำตกไทรโยคน้อย แต่เดิมนักท่องเที่ยวต้องลงที่สถานีรถไฟน้ำตกและนั่งรถสองแถวมา แต่ตอนหลังสบายขึ้นเยอะมาก เพราะการรถไฟแห่งประเทศไทยเขาทำทางรถไฟต่อจากสถานีน้ำตกขึ้นไปถึง (เกือบ) หน้าน้ำตกไทรโยคน้อยเลย 

ต้องบอกก่อนว่าสมัยดั้งเดิมทางรถไฟสายนี้ไม่ได้สุดแค่สถานีน้ำตก มันเป็นทางรถไฟยาวข้ามเขาไปจนถึงด่านเจดีย์สามองค์เข้าไปในพม่า พอสงครามสิ้นสุดทางรถไฟก็โดนยึดและรัฐบาลไทยได้ไถ่เส้นทางกลับมา เพื่อให้เส้นทางนี้เป็นโครงข่ายทางรถไฟในประเทศ 

แต่อย่างที่บอกไปว่าทางรถไฟสายนี้สร้างแบบลวก ๆ หลายจุดจึงมีความสุ่มเสี่ยงว่าถ้าเปิดเดินรถไฟก็คงต้องตกรางกันรายวัน กลิ้งลงเขาสนุกแน่นอน และยิ่งสำรวจเส้นทางก็พบว่าสภาพทางที่สมบูรณ์จริง ๆ แบบเปิดทางรถไฟแล้วไม่มีปัญหามีเพียงแค่ช่วงสถานีชุมทางหนองปลาดุกจนถึงสถานีท่าเสาเท่านั้น เลยไปจากท่าเสาจนถึงสถานีนิเกะ (ทองผาภูมิ) ยังพอลุ้น ๆ อยู่บ้าง พอการรถไฟฯ ได้รับทางกลับมาก็เปิดให้บริการไปจนถึงสถานีนิเกะ แต่ปรากฏว่ามันก็มีปัญหาจริง ๆ เกิดอุบัติเหตุบ่อย เลยตัดสินใจตัดระยะทางให้เหลือแค่ส่วนที่ปลอดภัยที่สุดเท่านั้น คือไม่เกินสถานีรถไฟท่าเสา ส่วนทางรถไฟที่เลยจากนั้นไปอันตรายแบบอย่าไปยุ่งกับมันเลย การรถไฟฯ จึงตัดสินใจให้ปลายทางรถไฟสิ้นสุดเพียงสถานีท่าเสา และเปลี่ยนชื่อเป็นสถานีน้ำตกในเวลาต่อมา เพราะสถานีนี้อยู่ไม่ห่างจากน้ำตกเขาพัง (ไทรโยคน้อย) 

จากสุดปลายรางน้ำตกไทรโยคน้อย เราจะเห็นทางเดินยาวเข้าไปที่น้ำตก ถ้ามองดี ๆ จะเห็นว่าลักษณะทางไม่ได้เหมือนการกรุยทางไว้เพื่อเข้าน้ำตก ลักษณะทางที่ค่อนข้างตรง มีความกว้างของทางเดินพอสมควร ใช่ครับ มันคือแนวทางรถไฟเก่า สังเกตได้จากซากทางรถไฟที่ยังคงเหลือไว้ให้เห็นเป็นต่างหน้าพร้อมหัวรถจักรไอน้ำ 1 หัว และพอจะเดาได้ไม่ยากว่าถ้าทางรถไฟเส้นนี้ยังยาวต่อไปจนถึงพม่า ตรงจุดนี้คือสะพานรถไฟที่ข้ามน้ำตกไปเลย อยากจินตนาการภาพว่าถ้ารถไฟสายนี้ยังยาวไปถึงพม่า ความรู้สึกตอนนั่งรถไฟแล้วข้ามผ่านหน้าน้ำตกจะเป็นยังไงกันนะ 

น้ำตกไทรโยคน้อย เดิมชื่อว่าน้ำตกเขาพัง เป็นน้ำตกที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร มีต้นกำเนิดมาจากลำธารเล็ก ๆ ด้านบนเขาแล้วไหลมาถึงหน้าผา ก่อนจะเทตัวลงมาเป็นน้ำตก 2 ชั้น แล้วไหลลอดใต้ถนนแสง-ชูโตออกไปลงแม่น้ำแควน้อยที่อยู่ห่างไปไม่ไกลมาก 

บรรยากาศของน้ำตกไทรโยคน้อยก็ไม่ได้ต่างอะไรกับน้ำตกที่คนทั่วไปท่องเที่ยว มันเข้าถึงง่าย ผู้คนจำนวนมากมายมาเล่นน้ำคลายร้อนกันจนพื้นที่หลายจุดเต็มไปด้วยเสื่อ สาด ข้าวเหนียว ส้มตำ น้ำตก ไก่ย่าง ราวกับเป็นอาหารสูตรสำเร็จในการผ่อนคลายอิริยาบถในวันหยุดสุดสัปดาห์ 

ถ้าเรายังเป็นเด็กก็คงกระโดดลงไปเล่นน้ำแล้ว แต่ด้วยวัยที่ปาไปอีกไม่กี่ปีจะ 40 ควรอยู่เฉย ๆ แล้วเดินชมธรรมชาติดีกว่า 

จากตรงหัวรถจักรไอน้ำเก่ามีบันไดขึ้นไปที่ตาน้ำตกได้ บริเวณนั้นเรียกว่า หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ อว.3 (วังบาดาล) ระยะทางประมาณกิโลเมตรกว่า ๆ น่าจะไม่ไกลมากสำหรับไปที่แหล่งกำเนิดน้ำตก ตรงจุดนั้นเป็นตาน้ำที่เงียบสงบลึกเข้าไป ทางเดินเป็นถนนลูกรังยาวไปเกือบตลอดทาง ถ้าไม่คิดอะไรมากการเดินเท้าชมธรรมชาติไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าหากว่าเดินไม่ไหวก็ยังมีซาเล้งของชาวบ้านที่ช่วยย่นระยะเวลาเดินทางได้ในราคา 20 บาท

ที่ตาน้ำตกเป็นแอ่งน้ำขนาดกลาง ๆ ตื้นจนมองเห็นก้นแอ่งได้ จุดที่เป็นตาน้ำเป็นซอกหินที่มีน้ำไหลออกมาตลอดเวลา ด้วยความที่เป็นต้นน้ำธรรมชาติจริง ๆ ไม่มีการรบกวนจากสิ่งปลูกสร้าง ทำให้แอ่งน้ำนั้นใส ไม่ขุ่น เห็นปลาที่ว่ายในน้ำอย่างชัดเจน น้อยคนมากที่จะมาถึงตรงนี้ อากาศที่ร้อนของกาญจนบุรียังพอเบาบางไปด้วยร่มเงาไม้ที่คลุมแอ่งน้ำไปจนทั่วบริเวณ 

กลับบ้าน

รถไฟนัดเวลาบ่าย 2 ครึ่งเพื่อตีรถเข้ากรุงเทพฯ หลายคนที่เหนื่อยจากการเล่นน้ำขึ้นรถมาก็ได้นอนยาว พอถึงช่วงเย็นรถไฟก็จอดแวะที่สถานีกาญจนบุรี 1 ชั่วโมง เพื่อให้คนไปเที่ยวที่สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก 

ตอนขามา รถไฟขบวนนี้ได้มีการพรีออร์เดอร์อาหารขึ้นและของฝากของกาญจนบุรีไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้นนึ่ง ทอดมันปลา เป็ดย่าง รวมไปถึงก๋วยเตี๋ยวราชบุรี น้ำตาลโตนดเพชรบุรี ของหวานเพชรบุรี ซึ่งของฝากพวกนี้เราจะได้รับตอนขากลับ ซึ่งบรรยากาศก็เริ่มเป็นใจให้เปิดหน้าต่างจนสุดบาน ดูพระอาทิตย์ที่ค่อย ๆ ลับขอบฟ้าลงไปเรื่อย ๆ แสงธรรมชาติเริ่มหายไปและแทนที่ด้วยแสงไฟถนนยามค่ำคืน

โปรแกรมนำเที่ยวรถไฟแบบไปเช้าเย็นกลับถือว่าเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่อยากลองนั่งรถไฟ ไม่เคยนั่งรถไฟแล้วอยากลองไปไหนสักที่ที่ไม่ต้องวางแผนอะไรมาก ด้วยราคาถูกแสนถูก สบายกระเป๋าที่สุด จึงน่าจะเป็นโปรแกรมเริ่มต้นสำหรับมือใหม่หัดนั่งรถไฟ ถ้าสนใจก็ลองสักครั้ง แล้วครั้งต่อ ๆ ไปก็จะตามมา ไม่แน่นะ คุณอาจจะได้กลายเป็นนักนั่งรถไฟเที่ยวอีกคนหนึ่งเหมือนกับเราก็ได้

เกร็ดท้ายขบวน

  1. การจองตั๋วล่วงหน้าสำหรับรถไฟนำเที่ยวจองได้สูงสุดถึง 180 วัน วางแผนเดินทางกันล่วงหน้ายาว ๆ ได้
  2. กาญจนบุรีเป็นจังหวัดที่อากาศร้อนจัดมากในช่วงฤดูร้อน ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเที่ยวเส้นทางนี้คือช่วงเดือนพฤษภาคม-กุมภาพันธ์
  3. มุมที่สวยที่สุดคือด้านซ้ายมือของขบวนรถไฟ

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ