ติ๊ง!

เสียงแจ้งเตือนไลน์เด้งเข้ามาตอนดึกของคืนหนึ่งที่เจ้าของโทรศัพท์สะโหลสะเหลเหมือนกับว่ามีเพียงกายละเอียดที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ในโลกใบนี้ 

เพื่อน : เสาร์-อาทิตย์หน้าว่างไหม อยากชวนไปพักผ่อนที่หัวหิน

เรา : เหมือนรู้เลยเนอะว่าอยากพัก 

เพื่อน : อยากนั่งรถไฟนำเที่ยวไปนอนหัวหินซักคืน ไปนอนโรงแรมเงียบ ๆ แล้วก่อนกลับก็ไปหาอะไรทำ 

เรา : ไม่ออกไปไหนเลยเหรอ

เพื่อน : ไม่อะ อยากได้ฟีลแบบคนสมัยก่อน เขานอนบ้านตากอากาศกันเฉย ๆ เลย

ตัดสินใจไม่ยาก หลังจากหมดพลังไปกับสารพัดงานในช่วงเดือนที่ผ่านมา เราตอบตกลงทันที สมาชิกที่ฝ่าฟันกับความเหนื่อยของมรสุมการงานรวมตัวกันได้ 6 คนพอดิบพอดี เราทุกคนลงความเห็นกันว่าอยากไปนอนเฉย ๆ ริมทะเลกันจริง ๆ ต้นมูลเหตุคือเจ้าหล่อนหนึ่งในนั้นดันไปอ่านนิยายปริศนา ก็เลยอยากชวนกันจับรถไฟไปนอนโรงแรมมู้ดย้อนยุคแถว ๆ บ่อฝ้าย

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

ปกติแล้วถ้านั่งรถไฟไปหัวหิน รถไฟจะออกจากกรุงเทพฯ ในช่วงบ่ายถึงค่ำ แต่ถ้าไปรถเช้าก็จะอุดมไปด้วยบรรดารถไฟพัดลม มีเพียงด่วนพิเศษดีเซลรางที่เรียกกันติดปากว่า ‘สปรินเตอร์’ ปลายทางสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นรถแอร์เพียงหนึ่งเดียวที่พาพวกเราทุกคนไปถึงหัวหินได้ในช่วงก่อนเที่ยง

จากสภาพอากาศที่เหมือนซ้อมเลี้ยงอูฐตลอดเวลา รถไฟหวานเย็นจอดเรียบทุกสถานีอย่างรถธรรมดาหลังสวนหรือรถธรรมดาหัวหิน เป็นอันถูกกาทิ้งจากตัวเลือกตั้งแต่ยังไม่ทันอ้าปาก ส่วนรถด่วนพิเศษแอร์นั้น ราคาต่อเที่ยวหลายร้อยอยู่ เราเลยเสนอว่าไม่งั้นเราซื้อตั๋วรถไฟนำเที่ยว กรุงเทพฯ-สวนสนประดิพัทธ์ ที่วิ่งทุกวันเสาร์-อาทิตย์ก็ได้นี่ ราคาถูกกว่ารถด่วนพิเศษมาก จาก 400 กว่าบาท เหลือแค่ 240 บาท 

แต่ด้วยความที่รถขบวนนี้เป็นรถนำเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ การซื้อตั๋ว 240 บาทนั้นถือว่าเป็นตั๋วไปกลับในวันเดียว ทำให้เราต้องซื้อตั๋ว 2 วัน เพื่อใช้ขาไปวันเสาร์และขากลับวันอาทิตย์ ​โดยในวันเสาร์เราทั้ง 6 คนไม่ได้กลับกับขบวนด้วย

ทุกคนเซย์เยส มันเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ไม่ต้องนั่งร้อนในราคาไม่กี่สิบบาทแต่ลงรถแล้วเอือดเหงื่อโซก ไม่ต้องจ่ายในราคาที่เกินครึ่งพันไป-กลับ 2 วัน แต่ควักกระเป๋าเพียงแค่ 480 บาท ก็ได้นั่งรถไฟตู้แอร์สบายจากกรุงเทพฯ ไปหัวหินในวันเสาร์ และกลับจากหัวหินเข้ากรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

รถไฟนำเที่ยวขบวนเลขที่ 911 ออกจากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ในช่วงเช้าของวันเสาร์ 

ด้วยความที่เป็นรถไฟนำเที่ยวราคาประหยัดที่ครองใจคนนั่งรถไฟมานานแสนนานนับ 10 ปี ทำให้เราเจอนักท่องเที่ยวที่มากันเป็นกลุ่มเต็มไปหมด (รวมถึงพวกเราด้วย) ประชากรส่วนใหญ่ในรถไม่ค่อยมีใครมาคนเดียวหรือมาแค่เป็นคู่ บางคนทำการบ้านมาดีมาก ปูเสื่อนั่งตรงแก๊งตัวเองกันอย่างรื่นรมย์สมกับการนั่งรถไฟไปพักผ่อนชายทะเล

รถไฟเคลื่อนตัวออกจากชานชาลาสถานีผ่านพื้นที่ที่คุ้นตา แม้ว่าการย้ายรถไฟประเภทรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนพิเศษไปออกต้นทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือที่คุ้นชื่อเดิมกันว่าสถานีกลางบางซื่อ ชานชาลาอาจดูเงียบเหงา แต่ก็ยังมีรถไฟสายตะวันออก รถไฟนำเที่ยว และรถไฟระยะชานเมือง ยังคงมาแวะเวียนส่งคนที่หัวลำโพงแห่งนี้อยู่ 

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

ชั่วโมงกว่า ๆ ผ่านไป รถไฟซิ่งมาถึงสถานีนครปฐม (ใช้คำว่าซิ่งคือเหมาะมาก เพราะวิ่งไวจริง ๆ) 

ขบวนรถนำเที่ยวจอดให้เราลงไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ 40 นาที แต่ด้วยความที่พวกเราเป็นคนรีบ 2023 การยกมือไหว้ผ่านระบบ Wireless เพื่อนมัสการองค์พระเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่หลังสถานี ซึ่งมองออกไปก็ป๊ะกับองค์พระเลย หลังจากนั้น 35 นาทีที่เหลือคือการหาอาหารเช้าลงท้อง และกักตุนอาหารหลาย ๆ อย่างที่อยากกินขึ้นไปกินบนรถไฟ 

สถานีนครปฐมก็เหมือนกับหลายสถานีของตัวจังหวัด ที่ตลาดและร้านรวงยามเช้าอยู่ไม่ไกลจากสถานี การมาถึงของรถไฟย่อมนำความเจริญเข้ามาถึงด้วย ย่านการค้ามากมายเกิดขึ้นรายล้อมสถานีรถไฟ จะเรียกว่าสถานีรถไฟเป็นศูนย์กลางของชุมชนก็คงไม่ผิดนัก และแน่นอนว่าเมื่อเกิดพื้นที่การค้า ก็ย่อมดึงดูดผู้คนมาให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัน จนกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่อยู่คู่กับสถานีรถไฟของเมืองนั้น ๆ

เวลาของการกินข้าวเช้าหมดไปอย่างรวดเร็วพอ ๆ กับความเร็วในการโกยทุกอย่างเข้าปาก เรากลับขึ้นรถไฟขบวนเดิมและเดินทางต่อ เส้นทางรถไฟที่เรากำลังมุ่งหน้าไปคือทางรถไฟสายใต้ที่ทอดยาวจากกรุงเทพฯ ไปจนถึงหาดใหญ่ เข้ามาเลเซีย ผ่านช่องแคบยะโฮร์ ไปสุดสายปลายทางที่ประเทศสิงคโปร์

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

ทางรถไฟสายใต้มีความยาวนับพันกิโลเมตร มันสร้างขึ้นอย่างชาญฉลาด โดยในช่วงแรกเริ่มต้นจากสถานีบางกอกน้อยไปถึงเพชรบุรี และหลังจากนั้นการก่อสร้างขยายต่อไปเรื่อย ๆ แตกต่างจากทางรถไฟสายเหนือและอีสานที่ค่อย ๆ สร้างต่อจากจุดสุดท้ายที่สร้างเสร็จ เติมไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายทาง แต่สายใต้นั้นเริ่มสร้างจากทางฝั่งมลายู สงขลา กันตัง ขึ้นไปทางเหนือ และฝั่งเพชรบุรีลงไปทางใต้ จนทางรถไฟทั้ง 2 ฝั่งสร้างมาชนกันที่ชุมพร จึงทำให้ทางรถไฟสายใต้เป็นสายแรกที่สร้างเสร็จตลอดทั้งแนวก่อนใครเพื่อนตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย
สถานีชุมทางเขาชุมทอง (นครศรีธรรมราช) 
ภาพ : เพจโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ

สิ่งที่ปรากฏชัดเจนสำหรับทางรถไฟสายใต้ นอกจากการได้รับอิทธิพลจากอังกฤษที่เนื่องมาจากการก่อสร้างเส้นทางแล้ว ยังปรากฏรูปแบบสถาปัตยกรรมที่สอดแทรกความเป็นท้องถิ่นและอาคารไม้อย่างตะวันตกเอาไว้ โดยเฉพาะสถานีที่อยู่ค่อนไปทางจังหวัดชายแดนมลายู หรือแม้แต่สถานีรถไฟหลักที่อยู่กระจายตามเส้นทางต่าง ๆ 

การใส่องค์ประกอบหลังคาแบบปั้นหยาหรือหลังคาแบบมะนิลา บวกกับเสาค้ำยันอาคารที่มีลวดลายสวยงามประดับท้าวแขน (คันทวย) ยื่นมารับน้ำหนักคานหรือหลังคาไว้ มีชายคาฉลุลาย มีช่องระบายอากาศที่ดูแปลกตา หรือแม้แต่บางสถานีก็ปรากฏเสาสะระไนยอยู่บนหลังคา ถ้านับความเอกอุของสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าในเส้นทางสายใต้ คงนึกถึงสถานีสงขลา ชุมทางเขาชุมทอง กันตัง 

และแน่นอน ถ้าติดตาติดใจคนไทยมากที่สุด จนรูปแบบสถานีได้รับอิทธิพลไปถึงการออกแบบเป็นอัตลักษณ์ประจำเมือง จะเป็นที่ไหนไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ ‘หัวหิน’ 

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย
แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย
แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

เรามาถึงสถานีหัวหินตามเวลาเป๊ะ

อาคารไม้ที่มีลวดลายของไม้ประดับอาคารสีแดงสดตัดกับตัวอาคารสีครีม หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว มีป้ายชื่อสถานีที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำให้สถานีรถไฟหัวหินนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานีขนส่ง แต่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเพียงแค่ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก 

สถานีหัวหินที่เราเห็นนี้ไม่ใช่อาคารต้นตำรับดั้งเดิม ของเดิมเป็นอาคารไม้ไซซ์มินิมอลที่ไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรเลย อาคารสถานีที่สะสวยนั้นเป็นพลับพลาของงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไม่ได้จัดเพราะรัชกาลที่ 6 สวรรคต เลยนำพลับพลาที่สร้างไว้แล้วนั้นมาประกอบใหม่ กลายเป็นสถานีรถไฟหัวหิน ซึ่งอันนี้เราก็บอกไม่ได้ว่ามันคือรูปทรงพลับพลาเดิมหรือไม่ หรือว่าแค่เอาบางส่วนมาประกอบ

ด้านทิศเหนือของสถานีเป็นพลับพลาทรงไทยสีสันคล้ายกัน นั่นคืออาคารสถานีสนามจันทร์เดิมที่ยกมาประกอบใหม่ที่นี่ อาจเป็นเพราะรัชกาลที่ 7 ได้มาสร้างวังไกลกังวลที่นี่ และมีโรงแรมรถไฟหัวหินระดับ 5 ดาวด้วยมั้ง สถานีจึงต้องแปลงโฉมให้สมเกียรติขนาดนี้

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย
แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

เราเดินทางต่อไปโรงแรมที่อยู่ค่อนไปทางสนามบินหัวหิน พวกเราตั้งใจเลือกที่นี่ไว้เพราะความสงบเป็นสิ่งแรก – ใช่ นั่นเป็นเพราะพวกเราเจอความวุ่นวายมามากพอแล้ว จึงอยากใช้ชีวิตแบบเรื่อยเปื่อย นั่งคุยกัน เอาเท้าแช่น้ำ แล้วก็เดินชายหาด แค่นั้นก็พอ

‘เทวาศรม’ คือชื่อโรงแรมนั้น ตอนแรกที่จิ้มเลือกกันยังแซวกันอยู่เลยว่าจะเอาไปหาที่บำเพ็ญเพียรกันหรือไง

เทวา ก็คือเทพ

อาศรม ก็คือที่อยู่ของนักพรต

แต่พอเข้ามาถึง… เออ จริงอย่างที่เขาตั้งชื่อ เพราะมันสงบมาก

โรงแรมนี้ไม่ได้ใหญ่มาก มีส่วนที่เป็นตึกพักและส่วนบ้านพัก ตรงกลางเป็นสระว่ายน้ำและต้นไม้ใหญ่ ปลายสุดคือชายหาดน้ำทะเลสีคราม ตัดกับฟ้าใสสวยงามมีปุยเมฆน้อย ๆ

เอาล่ะ ฉันจะได้พักทั้งตัวและสมองจริง ๆ แล้ว

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

เราสังเกตว่า โรงแรมนี้ใช้สีอยู่เพียง 2 สีเท่านั้นสำหรับตัวอาคาร มันคือสีขาวสะอาดและสีฟ้าหม่นที่เข้ากันอย่างลงตัว บวกกับสีเขียวของต้นไม้ที่สบายตา ทำให้รู้สึกสมองปลอดโปร่งอย่างบอกไม่ถูก จนอยากจำสีไปทาที่บ้านเสียเหลือเกิน

ฟรอนต์เล่าให้ฟังระหว่างรอเข้าห้องว่า โรงแรมนี้เน้นการนำอัตลักษณ์ของท้องถิ่นทั้งประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรีเข้ามาประกอบร่วมกัน น้ำสมุนไพร Welcome Drink ปรุงมาด้วยความประณีต อาหารที่นำมาเสิร์ฟคือของดีของจังหวัด โดยเฉพาะขนมหวานเมืองเพชรที่นำบางเมนูมาให้เราได้ชิมกัน ทั้งหมดผ่านการปรุงด้วยเชฟที่เข้าใจอาหารท้องที่เป็นอย่างดี เพื่อให้คนที่มาพักรู้สึกว่าเขากำลังอยู่ในสถานที่ที่สงบ เหมาะกับการพักผ่อน มิหนำซ้ำยังรู้สึกสัมผัสบรรยากาศในยุครุ่งเรืองของการพักผ่อนตากอากาศชายทะเลของผู้คนยุคนั้น 

แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย
แฟนพันธุ์แท้ชวนจับรถไฟไปพักกายใจที่หัวหิน และเกร็ดสนุกในเส้นทางสายใต้ที่น่าไปตามรอย

เราได้บ้านพักคู่ระเบียงเดียวกัน เหมาะกับการออกมานอนตากอากาศเย็น ๆ ตอนกลางคืน (กลางวันอาจจะขอผ่านเพราะกลัวสุก) เราสังเกตว่าบ้านพักแต่ละหลังมีสถาปัตยกรรมคล้ายกับอาคารสิ่งปลูกสร้างในช่วงยุครัชกาลที่ 6 หลังคาแต่ละหลังเป็นแบบมะนิลาสไตล์ ชายคามีฉลุลวดลายสวยงาม หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว และมีเสาสะระไนยอยู่ปลายหลังคาทั้ง 2 ฝั่ง 

จะว่าไปแล้ว สถานีรถไฟที่สะสวยของไทยก็ไม่ได้ต่างจากนี้เท่าไหร่ อิทธิพลของอาคารไม้สไตล์วิกตอเรียนถูกนำมาเป็นบ้านพักได้อย่างลงตัว นอกชานขนาดใหญ่มีเก้าอี้ไม้โยกให้ได้เอนหลัง ห้องพักมีเตียง 4 เสาขนาดใหญ่ที่ฟูกนุ่มมากจนเหมือนดูดวิญญาณไปทั้งหมด แถมด้วยอ่างอาบน้ำขาสิงห์ที่หัวฝักบัวและก๊อกเป็นทองเหลือง เหมือนกับหลุดไปอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ไม่ปาน

ในยุคที่การตากอากาศชายทะเลเฟื่องฟู บ้านพักสไตล์โคโลเนียลถูกสร้างขึ้นมามากมายที่ชายหาดหัวหิน รวมถึงบ้านพักรถไฟและโรงแรมรถไฟด้วย ความนิยมในการพักผ่อนยาว ๆ ในบ้านพักส่วนตัว พร้อมการบริการที่เรียกได้ว่ามีระดับคือหนึ่งในบริการชั้นเลิศของโรงแรมรถไฟในยุคนั้น เราเคยอ่านเจอมาว่าบัตเลอร์ของโรงแรมรถไฟนั้นเป๊ะมาก เครื่องใช้ต่าง ๆ ถูกเลือกสรรมาอย่างดี แก้วคริสตัลใส ผ้าลินินขาว ช้อนส้อมมีดทองเหลือง พร้อมด้วยเครื่องเซรามิกอย่างดี 

เราประทับใจชุดน้ำชายามบ่ายมาก

น้ำชายามบ่ายประกอบด้วยขนมคาวหวานแบบไทย ทั้งอาลัวสีเดียวกับโรงแรม ขนมโคที่อยู่ในน้ำกะทิโรยด้วยงา ข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ ในกระทงใบตอง ขนมกลีบลำดวน ล่าเตียง ประทัดลม แตงโมปลาแห้ง จัดวางมาอย่างสวยงามชวนให้ถ่ายรูป การทำอาหารของไทยจริง ๆ ก็เป็นหนึ่งในงานศิลปะที่ทรงคุณค่า เทคนิคในการจัดวางที่ทำให้น่ากิน การเอาวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ผสมกันเป็นรสชาติที่ลงตัว นี่คงเป็นเรื่องที่เรายกให้เป็นอันดับ 1 ของไทย ก็คือความละเมียดละไมในอาหารการกินนี่แหละ 

เราไม่เคยกินข้าวแช่มาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่ได้กิน เพื่อน ๆ บอกว่าการกินข้าวแช่ที่ถูกต้องไม่ได้ใส่เครื่องเคียงลงในข้าวแบบข้าวต้มกุ๊ย แต่เขาจะค่อย ๆ กินเครื่องเคียงไปทีละอย่าง แล้วตามด้วยข้าวที่แช่ในน้ำลอยดอกไม้ เราลองกินตามนี้ดู เออ อร่อยเหมือนกันแฮะ แถมข้าวในน้ำลอยดอกไม้ที่มีกลิ่นควันเทียนหอมฟุ้งก็เข้ากันดี เปิดประสบการณ์การกินใหม่เหมือนกัน

ชีวิตในโรงแรมไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการพักผ่อนจริง ๆ พอแดดร่มลมตกก็ไปเดินชายหาด ไปลองขี่ม้า น้องม้าที่พวกเราไปรุมขี่น้องกันชื่อว่า ‘เจ้าหนูลีโอ’ เป็นม้าสีน้ำตาลที่เชื่องมาก ขนนุ่มมาก แถมหน้าม้าของน้องดูสุขภาพดีกว่าหัวเราซะอีก พี่คนเลี้ยงบอกว่าต้องบำรุงอย่างดีทั้งอาหารและการดูแลขน ลีโอถูกฝึกให้เชื่องและเชื่อฟังคำสั่ง ซึ่งม้ากับชายหาดหัวหินนั้นก็เป็นของคู่กันมาแต่ไหนแต่ไร พี่ ๆ เขาเลี้ยงดูน้องได้ดียิ่งกว่าลูกตัวเองเสียอีก

ตะวันเริ่มลับฟ้า กิจกรรมสุดท้ายของค่ำคืนคือการกินข้าวใต้หมู่ดาวที่ระเบียงหน้าบ้าน พร้อมคุยกันสัพเพเหระเรื่องชีวิตของแต่ละคน การใช้ชีวิตแบบให้เวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ให้ความสัมพันธ์ มิตรภาพ เสียงคลื่น และเวลา ทำงานด้วยกันในบรรยากาศที่ดี สถานที่ที่เหมาะ ลองหยุดตัวเองกับช่วงเวลาที่ผ่านไปอย่างเชื่องช้า ก็เป็นการ Retreat ทั้งกายและใจไม่น้อยเลย

แสงแดดยามเช้าปลุกทุกคนขึ้นมาจากการพักผ่อน อากาศสดชื่นในตอนเช้าทำให้สมองปลอดโปร่งอย่างบอกไม่ถูก พวกเรายังติดใจกับเรื่องศิลปะกันอยู่ เลยวางแผนกันว่าจะไปที่ ‘บ้านศิลปิน’ อยู่แถว ๆ เขาหินเหล็กไฟ 

บ้านศิลปิน เป็นพื้นที่รวมงานศิลปะทั้งภาพวาด งานปั้น งานประติมากรรม งานไม้ และอีกมากมาย ที่นี่เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2543 โดย คุณชุมพล ดอนสกุล นักสะสมงานศิลปะ และต่อมาจนถึง อาจารย์ทวี เกษางาม และครอบครัว 

เข้ามาถึงที่นี่ก็พบกับบรรยากาศร่มรื่นและงานศิลปะเต็มไปหมด เรียกได้ว่าละลานตา มองไปทางไหนก็เจอแต่ความสวยความงาม เราเลือกเดินดูแกลเลอรีไปเรื่อย ๆ เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องงานศิลปะมากมายขนาดสืบสาวไปถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ ถ้าจะเลือกเสพงานศิลป์ อันดับแรกต้องปล่อยใจให้ว่างก่อน แล้วค่อย ๆ ดู ค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับงานนั้นไป 

หลายภาพ ถ้าลองดูรายละเอียดแล้วถือว่าจิตรกรมีความสามารถระดับเทพ โดยเฉพาะรูปดอกบัวที่งานละเอียดยิบและมีขนาดใหญ่เท่าฝาบ้าน งานนี้ชื่อว่า ‘ราชินีดอกไม้ที่เกิดจากโคลนตม’ ถ้าดูดี ๆ จะพบว่าเป็นงานสีน้ำ ซึ่งแน่นอนว่าเรายังจำได้ดีสมัยเด็ก ๆ การวาดภาพระบายสีด้วยสีโปสเตอร์ง่ายกว่าสีน้ำที่ต้องมาผสมน้ำให้มีความข้นพอเหมาะ ต้องค่อย ๆ ปาด ค่อย ๆ วาดพู่กันลงไป สรุปว่างานเละเทะไม่เป็นท่า

มีงานต่าง ๆ ที่เราชอบเยอะมาก แต่ที่ยืนดูนานเป็นพิเศษ เป็นภาพวาดเรือนไทยหลังหนึ่งซึ่งไม่ใช่เรือนไทยภาคกลาง ดูจากองค์ประกอบของงานแล้วเป็นภาคเหนือแน่นอน ทั้งข้าวของเครื่องใช้ การวางโอ่งน้ำเพื่อให้เพื่อนบ้านมาตักดื่มได้ รวมถึงส่วนประกอบของบ้านชาวบ้านในสมัยก่อนที่มีอุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ หรือของใช้ที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ อาจไม่ทันเห็นหรือไม่เข้าใจว่ามีไว้ทำไม

เราส่งท้ายบ้านศิลปินด้วยการเป็นศิลปินซะเลย เราได้เข้าเวิร์กช็อปศิลปะกับ พี่นาง ซึ่งเป็นภรรยาของอาจารย์ทวี พี่นางหยิบกระดาษวงกลมแผ่นใหญ่ที่มีลวดลายอะไรไม่รู้เต็มไปหมด พี่นางเล่าว่าศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด มันคือการสรรสร้างของผู้คน ภาพนี้พี่นางเริ่มจากวาดตาตัวเอง แล้วให้เพื่อน ๆ คนรู้จัก หรือใครก็ตามแต่ที่แวะเวียนมาค่อย ๆ ต่อลาย ต่อภาพออกไป จนกระดาษ A4 แผ่นเล็กค่อย ๆ ขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นแผ่นวงกลมขนาดมหึมา พี่นางให้เราหยิบสีมาระบายตามใจชอบ อยากวาดตรงไหนก็วาด อยากระบายตรงไหนก็ทำ ศิลปะคือจินตนาการของคนที่สะบัดพู่กันหรือดินสอสีลงไป

เครื่องติด เริ่มสนุกแล้ว พี่นางพาพวกเราไปเวิร์กช็อปที่ที่ 2 ตรงที่นั่งกลางลานนั้นมีผ้าใบแคนวาสสีขาวสะอาด ก้านไม้ปาด และสีอะคริลิกอีกหลายเฉด

พี่นางให้เราหยดสีเพื่อทำเป็นแบ็กกราวนด์ก่อน แล้วใช้ไม้ปาดบนแคนวาสให้ทั่ว จากนั้นใช้สีที่ชอบหยดลงไปตามแบบที่อยากให้เป็น แล้วพี่นางให้ใช้ปลายแหลมของไม้ปาด ทำเทคนิคเดียวกับลาเต้อาร์ตเขี่ยให้เกิดลวดลาย และจบท้ายด้วยการเอาถุงกระดาษที่จะบรรจุงานศิลป์ชิ้นนี้กลับบ้านทาบบนงานให้เกิดเป็นลายแปลก ๆ บนตัวแคนวาสและบนถุงกระดาษด้วย 

เราถึงกับเหวอ ไม่คิดว่าจะมาไม้นี้ เพราะเราดันวาดแบบเป็นระเบียบเรียบร้อย พี่นางบอกว่า อยากให้งานศิลปะชิ้นนี้ละลายตัวตน ละลายกรอบ และทำให้เราไม่ยึดติดกับแบบแผน อย่าไปเสียดาย เพราะงานชิ้นนี้คือตัวตนและความรู้สึกของเรา พอได้ฟังปุ๊บ เราเลยปาดสีที่วาดไว้เป็นเส้นสายสวยงาม (แบบกัดฟันเสียดายเล็ก ๆ) เออ มันก็สวยเหมือนกันนี่หน่า 

รถไฟขากลับจากหัวหินเข้ากรุงเทพฯ ออกในช่วงบ่ายคล้อย ขากลับคงไม่ทำอะไรมากนอกจากนอนหลับพักผ่อน เตรียมพร้อมสำหรับการไปทำงานในวันต่อไปที่ต้องเผชิญกับความเหนื่อยอยู่ แต่ความเหนื่อยคงเบาบางลงมากแล้วล่ะ เพราะหัวหินกับงานศิลปะในครั้งนี้ชาร์จพลังของเราขึ้นมาจริง ๆ

เราได้นั่งรถไฟที่เราชอบ

เราได้นอนพักในโรงแรมที่ทั้งงดงามและสงบ

เราได้กินข้าวแช่ครั้งแรก

เราได้ขี่ม้า

เราได้จับพู่กันในรอบเกือบ 10 ปี

เราได้มีงานศิลปะชิ้นหนึ่งเป็นของตัวเอง

เราได้มีประสบการณ์เพิ่มเติมจากเดิมที่ไปหัวหินก็แค่นั่งรถไฟ ไปตลาดโต้รุ่ง ไปเล่นน้ำทะเล ไปกินซีฟู้ด กลายเป็นการไปสัมผัสกับแง่มุมของความเป็นเมืองศิลปะอย่างแท้จริง

หัวหินไม่ใช่แค่เมืองตากอากาศชายทะเลสำหรับเราอีกต่อไป 

เกร็ดท้ายขบวน

  1. ในหัวหินมี Grab เป็นหนึ่งในตัวเลือกการเดินทางได้
  2. รถไฟไปหัวหินออกจากกรุงเทพฯ มีหลากหลายตัวเลือก ตรวจสอบการเดินทางได้ที่ www.railway.co.th แต่ถ้าอยากลองไปแบบเรา ก็เลือกรถไฟนำเที่ยว ‘ชายทะเลหัวหินสวนสนประดิพัทธ์’ 

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ