ขอเกริ่นก่อนว่าเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเลยยยยยแม้แต่นิด แต่เกี่ยวกับรถไฟล้านเปอร์เซ็นต์

เรามีของเล่นคู่ชีวิตคือรถไฟเด็กเล่นที่ซื้อตามตลาดนัดในราคากล่องละ 200 – 300 บาท มันเป็นรถไฟ 1 ชุด ประกอบไปด้วยรถจักรไอน้ำพร้อมรถลำเลียงและตู้โดยสาร 1 ตู้ ถ้ายี่ห้อแพงขึ้นมาหน่อยก็มีตู้โดยสารเพิ่มมาอีก 1 ตู้ พร้อมกับรางรถไฟพลาสติกสีดำ มีทางโค้ง ทางตรง ต่อรางได้เป็นรูปวงกลมกับวงรี ถ้าราคาแพงขึ้นมาหน่อยก็มีทางรถไฟแบบตัดเหมือนตัว X แถมมาด้วยเพิ่มอีกออปชันให้ทางรถไฟเป็นรูปเลข 8

นี่คือรถไฟของเล่นในวัยเด็กน้อยของเรา พอโตขึ้นมาหน่อยก็ได้รู้จักกับรถไฟ TOMY ผลิตภัณฑ์ของเล่นจากประเทศญี่ปุ่น มีลายเซ็นเป็นรางรถไฟสีน้ำเงินซึ่งดูไม่เป็นรางรถไฟ ออกจะเหมือนร่องอะไรสักอย่างให้รถไฟวิ่งไปมากกว่า อะ แต่ไม่เป็นไร มีรถไฟหลากหลายให้ฉันก็พอ

รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
ภาพ : We Love Hobby

รถไฟ TOMY เป็นเหมือนการสานฝันรถไฟจำลองวัยเยาว์ของเด็กหลายคน เล่นได้ทั้งเด็กหญิงเด็กชาย รางรถไฟมีมากมายหลายแบบ ทั้งทางตรง ทางโค้ง เนินสะพาน ชุดประแจที่ไว้สับราง รวมถึงสถานีจำลองที่ไม่ได้มีหลักตายตัวว่า เธอต้องต่อเป็นวงกลม วงรี หรือเลข 8 เท่านั้นนะ เพราะถ้าเราคิดว่ารางที่มีอยู่ไม่สาแก่ใจก็ไปซื้อเพิ่มได้ ต่อกันเป็นมหานคร ต่อกันเป็นเมืองแห่งรถไฟ จนต้องเสียสละห้องไปหนึ่งห้องเพื่อรถไฟเท่านั้น 

แต่ว่าสิ่งที่ทำให้รถไฟ TOMY ครองใจและทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งของรถไฟของเล่นที่ต้องมีเกือบทุกบ้าน คงไม่พ้น ‘ตัวรถไฟ’ ที่เรียกได้ว่ายกมาเกือบทั้งเกาะญี่ปุ่น ทั้งรถไฟจักรไอน้ำ SL หัวรถจักรดีเซลรุ่นต่าง ๆ รถจักรไฟฟ้า รถดีเซลราง รถไฟฟ้าชุด รถไฟชินกันเซ็น หรือแม้แต่รถไฟฟ้า BTS Limited Edition จากประเทศไทยก็มีในคอลเลกชันเหมือนกัน

แต่ก็ยังดูเหมือนว่ารถไฟ TOMY ก็ลบแพสชันอันแรงกล้าต่อรถไฟของเล่นไม่ได้ จนกระทั่งเราได้รู้จักกับ ‘รถไฟจำลอง’ ที่ย่อส่วนรถไฟของจริงลงมาเพียงมือจับ รายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่รางที่เป็นเหล็กเหมือนของจริง ไปจนถึงตู้รถไฟที่เหมือนยันน็อตและท่อลม สร้างพลังความอยากมีไว้ในครอบครองจนปรอทแทบจะทะลุ

รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น

รถไฟจำลองเป็นงานอดิเรกที่ได้รับความนิยมมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะเหล่าบรรดา Geek รถไฟที่อยากเนรมิตเมืองจำลองที่มีแต่รถไฟเป็นของตัวเอง ความหลงใหลในตึกรามบ้านช่องไซส์มินิกับรถไฟ ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ของเล่นในรูปแบบงานศิลปะเข้ามา ใครที่มีความสามารถหน่อยก็สร้างโลกทั้งใบขึ้นมาได้ภายในหนึ่งห้อง

สำหรับประเทศไทย การเล่นรถไฟจำลองยังไม่แพร่หลายมากนัก ด้วยราคาค่อนข้างสูง ถึงขนาดบางคนเอ่ยปากด้วยซ้ำว่า ต้องมีต้นทุนและเป็นของเล่นของคนมีเงิน สิ่งนี้กลายเป็นกำแพงขนาดมหึมาที่กั้นความอยากมีของหลาย ๆ คนไว้ (รวมถึงเรา) แต่เราเชื่อเสมอว่า ถ้าแพสชันมี เงินที่มีก็ย่อมสร้างความสุขได้ จริงไหม!!

ไปค่ะพี่สุชาติ ไปทำความรู้จักกับรถไฟจำลองกัน

รถไฟจำลองมีหลายขนาด ตั้งแต่ใหญ่ขนาดคนขี่ได้จนถึงขนาดเล็กเท่านิ้วก้อย ก่อนจะเริ่มเล่นรถไฟจำลองได้นั้น เราต้องดูความพร้อมก่อนว่า ขนาดสถานที่ที่เราต้องต่อรางรถไฟมีมากแค่ไหน เนื่องจากยิ่งไซส์ใหญ่ คุณต้องใช้บ้านทั้งหลังเพื่อให้มันวนได้ หรือต้องเสียสนามหญ้าหน้าบ้านไปเลย ขนาดของรถไฟจำลองนั้นมีเยอะมาก แต่ถ้าขนาดแบบคร่าว ๆ ที่พบเห็นได้บ่อยจะมีตามนี้

รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
ภาพ : Wikipedia

ขนาดใหญ่ไซส์บึ้ม

G Scale อัตราส่วน 1 : 22.5 ขนาดรางรถไฟกว้าง 45 มม.

I Scale อัตราส่วน 1 : 32 ขนาดรางรถไฟกว้าง 45 มม.

อันนี้เหมาะกับการเป็น Garden Train ที่ต่อวนในสนามหญ้าหน้าบ้าน ซึ่งได้รับความนิยมมากในต่างประเทศที่มีพื้นที่ขนาดกว้างพอสมควร

รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
G Scale 
ภาพ : gpdtrains.org

ขนาดกลาง ๆ เล่นได้แบบกรุบกริบ

HO Scale อัตราส่วน 1 : 87 รางกว้าง 16.5 มม.

HO (OO) Scale อัตราส่วน 1 : 76 รางกว้าง 16.5 มม.

ขนาดนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมมาก เนื่องจากรถไฟยังมีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียดต่าง ๆ ทั้งนอกและในรถชัดเจน ถ้าจะดัดแปลงเติมไฟอะไรเข้าไปก็ย่อยทำได้ง่าย ๆ และไม่ทรมานสายตา แต่ด้วยขนาดของมันที่อาจจะต้องใช้พื้นที่เต็มห้องประมาณหนึ่ง คนที่จะเล่น Scale นี้ได้ต้องมีพื้นที่ในบ้านพอสมควร

รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
HO Scale

ขนาดเล็กแต่ใจใหญ่

N Scale อัตราส่วน 1 : 160 รางกว้าง 9 มม.

Z Scale อัตราส่วน 1 : 220 รางกว้าง 6.5 มม.

น้องตัวเล็กแต่ใจใหญ่ เหมาะกับคนที่พื้นที่น้อย แต่อยากเนรมิตให้ใหญ่โตได้ ซึ่งขนาด N Scale ค่อนข้างได้รับความนิยมที่ญี่ปุ่น ตัวรถไฟมีรายละเอียดที่อาจถูกลดทอนลงไปบ้าง แต่ยังถือว่าละเอียดอยู่ ถ้าจะเพนต์สีหรือดัดแปลงตัวรถก็ทรมานสายตานิดหนึ่ง ถึงขั้นต้องใช้ตัวช่วยเป็นแว่นขยาย ซึ่งนักเล่นรถไฟจำลองที่ชื่นชอบรถไฟญี่ปุ่นค่อนข้างเทใจรักให้กับ N Scale มาก ๆ ข้อดีของมันคือในขนาดพื้นที่ใหญ่ ๆ เราทำให้เหมือนจริงได้มากที่สุด ตั้งแต่ความยาวของขบวนรถ ไปยันภูมิประเทศที่ไซส์ไม่ใหญ่มาก แต่ต่อรางได้ยาวขึ้นมาก

รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
N Scale

นอกจากขนาดของรถไฟแล้ว อีกสิ่งที่คนเล่นรถไฟจำลองต้องรู้คือ รถไฟพวกนี้ไม่ได้ใส่ถ่านแต่วิ่งด้วยไฟฟ้า โดยการรับไฟจากไฟบ้านผ่านหม้อแปลงควบคุมแล้วต่อเข้ารางรถไฟ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมรางรถไฟจำลองถึงเป็นโลหะรวมถึงล้อของรถไฟด้วย ซึ่งต่างจากรถไฟใส่ถ่านที่ทั้งรางและล้อเป็นพลาสติก

รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น

ไฟที่ใช้นั้นมี 2 ประเภท คือ ระบบไฟ AC (กระแสสลับ) และระบบไฟ DC (กระแสตรง) เราต้องรู้ว่ารถไฟของเราใช้ไฟอะไร ยี่ห้อผู้ผลิตไหนใช้ไฟแบบไหน เอามาเล่นปนกันไม่ได้ มิฉะนั้นความวุ่นวายจะเกิดขึ้น ถึงขนาดรถไฟพังได้เลยเพราะไฟช็อต โดยส่วนมากรถไฟจำลองนิยมเล่นแบบไฟ DC มากที่สุด เข้าถึงง่ายมีหลายผู้ผลิต โดยไฟบ้านที่ใช้นั้นจะถูกแปลงโดย Controller ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญที่นอกจากจะมีหน้าที่แปลงไฟแล้ว ยังใช้ควบคุมขบวนรถไฟ เหมือนเราเป็นคนขับรถไฟจำลองขบวนนั้นจริง ๆ ด้วย

เนื่องจากรถไฟจำลองใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อน สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นคือการทำความสะอาดราง ขัดให้เงาอยู่เสมอ การมีฝุ่นอยู่บนตัวรางมากเกินไปก็ทำให้ไฟที่ไหลอยู่ไม่เสถียร รถไฟอาจติดขัดหรือทำให้ไฟฟ้าส่องสว่างในตัวรถกะพริบติด ๆ ดับ ๆ ได้

การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย

ส่วนที่น่าจะยากที่สุดสำหรับการเล่นรถไฟจำลอง คือการสร้างภูมิประเทศจำลอง หรือที่เราเรียกกันว่าเลย์เอาต์ (Layout) ขึ้นมา ใครไม่ซีเรียสก็ต่อรางวิ่งบนพื้นบ้านได้ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าถึงขั้นมีรถไฟจำลองที่เหมือนจริงมาก ๆ แล้ว ไอ้ครั้นจะต่อรางเปลือย ๆ เล่นบนพื้นบ้านนั้นดูจะไม่สวยงาม การสร้างภูเขา ต้นไม้ ใบหญ้า ตึกรามบ้านช่อง จึงเป็นงานช้างที่สนุก ปลุกเร้าความคิดสร้างสรรค์

ตึกรามบ้านช่องถ้าเราไม่ไหวที่จะเนรมิตขึ้นมา ก็มีขายตามร้านจำหน่ายรถไฟจำลองทั่วโลก หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์ประกอบสองข้างทาง ไม่ว่าจะเป็นชานชาลา สถานี เสาส่งไฟฟ้า สัญญาณไฟจราจร สะพาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องวุ่นวายสร้างด้วยสองมือ ซื้อเลยครับ งานดี สเกลตรง และสวยงาม แต่ภูมิประเทศนี่แหละตัวยากสุด มันไม่ต่างกับการสร้างงานสักชิ้นของนักศึกษาสถาปัตยกรรม เราต้องอาศัยความละเอียด ความชำนาญ และทักษะงานศิลปะประมาณหนึ่งเลย

การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย
การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย
การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย
การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย

ภูเขานั้นสร้างได้หลายวัสดุ เช่น กระดาษ ปูนปลาสเตอร์ หรือแผ่นโฟม จากนั้นก็ก่อให้เป็นภูมิประเทศที่ต้องการ และจบด้วยการตกแต่งพร้อมลงสีให้เหมือนธรรมชาติมากที่สุด ถ้าแอดวานซ์หน่อยก็จะใช้ขี้เลื่อยผสมกาวลาเท็กซ์ย้อมสีเขียว เพื่อทำให้เป็นหญ้าที่ดูมีเท็กซ์เจอร์ขึ้นมา หรือถ้าไม่อยากเป็นงานคราฟต์มาก แนะนำให้เดินเข้าร้านขายของทำโมเดล แล้วซื้อของสำเร็จมาทำได้เลยก็ไม่ติดขัดเช่นกัน

รายละเอียดที่เรียกได้ว่าขาดไม่ได้ คือการโรยหินบนรางรถไฟ แม้ว่าในยุคหลังจะมีผู้ผลิตทำรางประกอบพร้อมหินมาให้เลย แต่มันก็เป็นพลาสติกที่ดูไม่สมจริง การโรยหินบนรางรถไฟจำลองนั้น เราใช้หินของจริง หรือทรายที่มีขนาดเล็กและละเอียดมาก ๆ อาจจะกรองโดยใช้ตะแกรงก่อนก็ได้ จากนั้นให้โรยบนทางรถไฟตามความต้องการ แล้วเทกาวลาเท็กซ์ผสมน้ำลงไป กาวน้ำจะค่อย ๆ ซึมลงไปและเคลือบหินเอาไว้ไม่ให้ขยับไปไหน จนกลายเป็นหินรองรางรถไฟที่สมบูรณ์ เมื่อกาวแห้งแล้วก็อย่าลืมขัดหน้ารางให้เงาวับเสมอ เพื่อให้สื่อนำไฟฟ้าสมบูรณ์พร้อมให้รถวิ่ง

การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย

ผู้เล่นรถไฟจำลองในไทยยังไม่ได้เป็นวงกว้างขวางเท่าไหร่ สี่งที่น่าประทับใจที่สุด คือการดัดแปลงรถไฟของต่างประเทศให้กลายเป็นรถไฟไทยซึ่งไม่มีจำหน่าย ทำให้โมเดลรถไฟไทยนั้นกลายเป็นของ Limited Edition ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก จากการดัดแปลงด้วยมือ ความหลงใหลต่อรถไฟไทยและรถไฟจำลองสร้างพลังในการผลิตตู้รถไฟไทยออกมามากมาย จนในที่สุดเราก็ได้เห็นรถไฟไทยขนาดย่อส่วนวิ่งได้จริง

การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย
รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย

รถไฟจำลองอาจเป็นงานอดิเรกที่ใช้ต้นทุนค่อนข้างเยอะ ทั้งราคา เวลา สถานที่ แต่ก็เป็นหนึ่งในงานที่สร้างสรรค์ฝีมือทางด้านงานศิลป์ เป็นงานที่ต่อยอดความรู้เกี่ยวกับรถไฟได้ไม่ยาก ในประเทศที่รถไฟเป็นพระเอกอย่างในยุโรปหรือญี่ปุ่น งานอดิเรกนี้ได้รับความนิยมมากถึงขนาดมีร้านขายรถไฟจำลองที่เราเข้าไปเลือกซื้อหรือไปคุ้ยกระบะยามเซลส์ได้สบาย ๆ เป็นการปลูกฝังความผูกพันที่มีต่อรถไฟของคนประเทศนั้น ๆ ได้อย่างลึกซึ้งโดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ทำให้เกิดก้าวเล็ก ๆ ของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรถไฟ ต่อยอดไปสู่การพัฒนาระบบรถไฟ การพัฒนาคน และการพัฒนาองค์ความรู้ระบบรางไปพร้อม ๆ กัน

การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย
รถไฟจำลอง ขนาดเท่านิ้วก้อยจนใหญ่เท่าขา โลกย่อส่วนของคนรักรถไฟ ที่รถไฟไทยก็มีให้เล่น
การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย
การสร้างเมืองรถไฟจำลอง งานอดิเรกสุดคลาสสิกของคนรักรถไฟทั้งญี่ปุ่น ยุโรป และไทย

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ