12 พฤศจิกายน 2022
6 K

ขอเตือนก่อนว่าการเที่ยวครั้งนี้จะทำให้คุณกลับบ้านด้วยเท้าที่เมื่อยล้า แต่อิ่มด้วยความสุขสำราญ

เราเป็นคนชอบเที่ยวมาก โดยเฉพาะในเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ การได้เดินเข้าไปในย่านเก่า ไม่ใช่เพียงแค่มองดูตึกรามบ้านช่อง เข้าวัดเข้าวา หรือจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น การค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยเรียนวิชา ‘ท้องถิ่นของเรา’ (ใครทันขอให้ยกมือขึ้น) ซึ่งเป็นวิชาที่สนุกมากสำหรับเด็ก ม.1 (ในสมัยนั้น) อย่างเรา ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น และความเป็นมนุษย์กรุงเทพฯ สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเป็นวิชา สปช. ยังไงก็อย่างงั้น

ทริปของเราเดินเยอะมาก เน้นการใช้ขนส่งมวลชน และหมดพลังมาก แต่เชื่อเถอะว่าคุณจะสนุกมากถ้ามือของคุณได้จับกล้อง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ กล้องโปร หรือกล้องฟิล์ม คุณจะเพลิดเพลินไปกับมันได้ไม่ยาก

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

ไปเดินเล่นสถานีกรุงเทพ โบกธงส่งปู่ทวดไอน้ำ

สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกกันจนชินว่าหัวลำโพง เป็นจุดเริ่มต้นของวัน การเข้ามาเดินดูสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางและสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองด้านการคมนาคมในช่วงรัชกาลที่ 6 ที่ต่อมาพื้นที่โดยรอบกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่เป็นเรื่องน่าสนุกในตอนเช้า

เราเริ่มต้นที่นี่เพราะเป็นจุดที่เดินทางง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็น MRT ที่เดินทะลุเข้าสถานีรถไฟกรุงเทพได้เลย หรือหากใครที่นั่งรถไฟปู๊น ๆ มาจากสายต่าง ๆ ก็ต้องมาสิ้นสุดที่นี่

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

สถานีที่มีความ Iconic โครงหลังคารูปโค้งขนาดใหญ่ที่ออกแบบโดยชาวเยอรมัน ระเบียงและอาคารหน้าสถานีที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี นับเป็นศิลปะแห่งยุคสมัยที่สวยงาม เราแวะชมมินิมิวเซียมที่หน้าสถานีรถไฟก่อน แล้วค่อยเดินเข้าไปดูชีวิตของคนที่ชานชาลา ถ้าวันไหนคุณโชคดีตรงกับวันสำคัญที่มีขบวนรถจักรไอน้ำออกวิ่ง เหมือนกับเราที่เลือกวันเที่ยวเป็นวันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช ก็จะได้เห็นขบวนรถไฟนำเที่ยวที่ใช้รถจักรไอน้ำสีดำทะมึนดูขึงขัง พ่นไอน้ำสีขาวคลุ้งไปทั่วชานชาลา เสียงหวีดเหมือนขลุ่ยผิวส่งเสียงดังไปทั้งชานชาลาให้ทุกสายตาหันมาจ้องมอง ก่อนที่เสียงฟืดฟาดของคันชักจะค่อย ๆ หมุนล้อลากทั้งขบวนมุ่งหน้าสู่ปลายทางท่ามกลางสายตาของคนนับร้อยที่ยืนมองด้วยความชื่นชม

ในสถานีรถไฟกรุงเทพ ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจและถ่ายรูปแนวสตรีท ไม่ว่าจะเป็นปลายสุดของชานชาลา โถงสถานี หรือแม้แต่ในโถงชานชาลาที่หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ากระจกสีเหลืองบนนั้นเรียงตัวเป็นรูปครุฑแบบ 8 bit ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรมรถไฟที่ซ่อนอยู่

เราอาจจะได้เห็นจังหวะชีวิตของสถานีกรุงเทพที่สมบูรณ์แบบนี้แค่ไม่นานเท่านั้น ก่อนรถไฟส่วนใหญ่จะย้ายไปออกที่สถานีกลางกรุงเทพฯ และที่นี่ก็จะเหลือเพียงขบวนรถไฟชานเมืองและรถไฟบริการเชิงสังคมเข้ามารับส่งที่ชานชาลาเท่านั้น

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว
เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

ไปกินบะหมี่จับกัง ไหว้พระ ที่วัดมังกร

จากสถานีกรุงเทพ เราเดินลงรถไฟ MRT สถานีหัวลำโพงเพื่อนั่งรถไฟต่อไปที่สถานีวัดมังกร

การนั่ง MRT สะดวกมากขึ้นที่ใช้บัตรเครดิต (ทุกธนาคาร) และบัตรเดบิต (เฉพาะธนาคารกรุงไทย) แตะเข้าระบบรถไฟฟ้าได้เลยโดยไม่ต้องไปต่อคิวซื้อตั๋วหรือใช้บัตรแมงมุมที่หยากไย่ขึ้นแล้ว

รถไฟสายสีน้ำเงิน หรือที่เราเรียกว่า MRT นั้นต้องใช้สมาธิและสติในการดูทิศทางเป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางรถไฟสายนี้วิ่งเป็นลักษณะวงกลมมีหางโดยมีท่าพระเป็นสถานีร่วม กล่าวคือหากเรานั่งรถไฟเริ่มต้นที่ท่าพระ แล้วนั่งไปเรื่อย ๆ เราจะผ่านบางโพ บางซื่อ พระรามเก้า สุขุมวิท สีลม หัวลำโพง สนามไชย แล้วกลับมาเจอท่าพระอีกรอบ และรถไฟก็จะวิ่งต่อไปเพชรเกษม ปลายทางที่หลักสอง นั่นหมายความว่าเราเลือกได้ว่าจะนั่งแบบวนตามเข็มนาฬิกาหรือทวนเข็มนาฬิกา เพื่อการเดินทางที่สั้นที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะยังไงแล้ว MRT เขาจะคิดให้ราคาเดียวแม้จะวนผิดฝั่งก็ตาม

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

ที่ชานชาลามีแผนที่ให้เราดู วิธีการดูง่าย ๆ ถ้าวนตามเข็มนาฬิกา ปลายทางของรถจะเป็นหลักสอง แต่ถ้าวนทวนเข็มนาฬิกา ปลายทางจะเป็นท่าพระ ป้ายของสถานีก็จะบอก 3 สถานีสำคัญพร้อมปลายทาง หากยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ ป้ายเหนือประตูชานชาลาจะบอกเราว่าชานชาลาที่ยืนนั้นรถไฟมุ่งหน้าไปทางไหน โดยดูจากเส้นสีน้ำเงินซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟมุ่งหน้าไป แต่หากสถานีที่ปรากฏอยู่ในแถบเส้นสีเทาหมายความว่ารถไฟวิ่งผ่านสถานีเหล่านั้นมาแล้ว

เรานั่ง MRT จากหัวลำโพงมาวัดมังกร ออกประตู 3 แล้วเลี้ยวซ้ายไปที่ซอยเจริญกรุง 23 ก็จะพบกับตรอกเล็ก ๆ ที่ด้านในจะเห็นร้านอาหารที่รู้สึกถึงความร้อนระอุจากเตาถ่านที่ไฟลุกโชติช่วงตลอดเวลา

เรามาถึงบะหมี่จับกังแล้ว

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

การสั่งนั้นไม่ยาก บอกแค่ว่าเอาแห้งหรือเอาน้ำ ก็จะได้บะหมี่ชามใหญ่ที่เส้นเยอะมาก ๆ พร้อมเนื้อหมูหั่นบาง ๆ และผักซึ่งบางวันก็จะเป็นผักกาดแก้ว บางวันเป็นกะหล่ำปลี และบางวันเป็นผักกาดหอม คงอยู่ที่ว่าวันนั้นร้านเขาได้ผักแบบไหนมา

อิ่มท้องแล้ว ก็ไปอิ่มบุญกันต่อ เป้าหมายถัดไปคือวัดมังกร

วัดมังกรกมลาวาส หรือที่เรียกกันว่า วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย และเป็นสถานที่สำคัญในย่านเยาวราชที่มีคนหลั่งไหลเข้ามาไหว้พระ สวดมนต์ ทำบุญ รวมถึงแก้ปีชงกันอย่างหนาแน่น

เรามาในช่วงที่มีการก่อสร้างอยู่ ทางเข้าจึงดูซับซ้อนกว่าที่เคย ทางเดินมีป้ายบอกเป็นระยะ ๆ เข้าไปจนถึงวิหารด้านในที่เหมือนอยู่คนละโลกกับด้านนอก ในนี้คือวิหารท้าวโลกบาลทั้ง 4 มีเทวรูปเจ้า 4 องค์ในชุดนักรบจีน ถืออาวุธต่าง ๆ ที่เรียกว่า ‘ซี้ไต๋เทียงอ้วง’ หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักรักษาทั้ง 4 ทิศ เมื่อเดินเข้าไปอีกหน่อยเป็นพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์

นอกจากพระแล้วก็ยังมีเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาที่ชื่อคุ้นหูอย่าง ‘ไท้ส่วย เอี๊ยะ’ เทพเจ้าแห่งยา ‘หัวท้อเซียงซือกง’ และที่คนมักจะมาไหว้ขอพรมากที่สุดคือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ‘ไฉ่ชิงเอี๊ยะ’

ตอนนี้วัดมังกรไม่ให้จุดธูปด้านในแล้ว รู้สึกสบายจมูกสบายตามาก ในวัดเย็นเยียบมีเสียงสวดมนต์แบบพุทธมหายานก้องอยู่ด้านในฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ เราอยู่ที่นี่กันไม่นานก็เดินทางต่อไปอีกวัดที่น่าจะคุ้นเคยกันดี

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว
เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว
เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

ไปไหว้พระ ดูตำรายา เล่นท่าฤๅษีดัดตน เล่นกับแมว ที่วัดโพธิ์

จากสถานีวัดมังกร นั่ง MRT ต่อมาอีก 2 สถานีก็จะถึงสถานีสนามไชย สถานีที่เรียกได้ว่ามีความพิเศษมากมายซุกซ่อนอยู่ ทั้งเป็นสถานีที่ระดับอยู่ลึกมากที่สุดในสายสีน้ำเงิน เพราะเป็นจุดสุดท้ายของฝั่งพระนครที่ต้องมุดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อข้ามไปฝั่งธนบุรีเพื่อเจอกับสถานีอิสรภาพ หลายคนอาจเข้าใจว่าอุโมงค์รถไฟนั้นผ่ากลางแม่น้ำไปเลย จริง ๆ แล้วมันถูกขุดลึกลงใต้ก้นแม่น้ำลงไปอีก ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นราว ๆ 40 – 50 เมตรได้

เมื่อเราขึ้นจากชานชาลาด้วยบันไดเลื่อนที่ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ไหน ก็จะเริ่มเห็นการตกแต่งสถานีที่แปลกตา ฝ้าเพดานเป็นสีแดงมีลายไทยสีทอง มีลายดอกพิกุลบนกระเบื้อง เสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทอง พร้อมแขวนแชนเดอร์เลียอันใหญ่ เหมือนท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ มุมนี้มีแต่คนหยุดถ่ายรูปจนกลายเป็นเหมือนแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งไปซะแล้ว

เดินออกมาจากเครื่องตี๊ดตั๋ว ก็จะเจอกับพิพิธภัณฑ์ใต้ดินที่บอกเล่าเรื่องราวของอดีตพื้นที่สถานีสนามไชย ซึ่งเคยเป็นฐานพระราชวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว
เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว
เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

เดินขึ้นบันไดเลื่อนมาอีกจนถึงระดับพื้น (สักที) ก็มาโผล่หน้ามิวเซียมสยามซึ่งเคยเป็นอดีตกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงเศรษฐการ แต่นั่นไม่ใช่ปลายทางของเรา เราเดินฝ่าแดดไปอีกระยะหนึ่งเพื่อไปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่รู้จักกันว่าวัดโพธิ์

วัดโพธิ์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยก็ว่าได้เพราะว่าเป็นแหล่งรวบรวมความรู้มากมายหลายแขนงที่เป็นตำรับโบราณ เช่น ตำรับยา แพทย์แผนไทย ฤๅษีดัดตน

วัดนี้มีสิ่งปลูกสร้างค่อนข้างแน่นทีเดียว ทั้งเจดีย์ วิหาร อาคาร ระเบียง รวมไปถึงรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่กระจายอยู่เต็มบริเวณวัด ถ้าจะให้เลือกเส้นทางเดินนั้นก็คงเดินดูเจดีย์รายรอบ ๆ ก่อน แล้วเข้าไปในกำแพงแก้วที่มีรูปปั้นจีนแต่งกายแบบฝรั่งยืนเฝ้าอยู่ก็จะเป็นพื้นที่ของเจดีย์สี่รัชกาล รอบ ๆ ในระเบียงนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปหลากหลายศิลปะที่มองดูแล้วเต็มไปด้วยปางห้ามญาติและปางห้ามสมุทร

เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว
เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว
เที่ยวกรุงเทพฯ ชั้นในด้วยสารพัดรถไฟ ตะลุยกิน ตระเวนไหว้พระ และเล่นกับแมว

เพราะมีจารึกต่าง ๆ ที่เป็นองค์ความรู้ทำให้วัดโพธิ์ได้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (ไม่ใช่มรดกโลกนะ อันนั้นจะใช้เฉพาะสิ่งที่เป็นโบราณสถานและที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ) ตำราต่าง ๆ ถูกจารึกไว้บนหินอ่อนประดับไว้ตามศาลาราย คนที่จารึกนั้นมีหลากหลายตั้งแต่กษัตริย์จนถึงประชาชน ความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาศาสตร์ วรรณกรรม ศาสนา แพทย์ ประติมากรรม สิ่งนี้เองจึงทำให้วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของคนไทย

ก่อนออกจากวัด มี 2 สิ่งที่เราพลาดไม่ได้ที่จะทำ สิ่งแรกคือการทดลองทำตามท่าของรูปปั้นฤๅษีดัดตน บางท่าก็ทำได้และยืดเส้นได้ดีมาก แต่บางท่าก็เกินกว่าจะทำได้จนคิดว่ามันทำได้จริง ๆ หรือ ส่วนสิ่งที่สองนั้นคือการส่องสายตาหาน้องแมวในวัดที่มีเยอะมากกกกกก แต่อาจเป็นเพราะเกือบทุกครั้งเรามาช่วงเย็นที่คนเริ่มน้อย น้องแมวเลยออกมาจากที่ซ่อนตัวมาเกลือกกลิ้งอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้ไม่ก็ฐานเจดีย์ แต่วันนี้คนคงเยอะมากไปจนแมวอาจจะรำคาญพวกมนุษย์ เลยเจออยู่ไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง

มาวัดโพธิ์ไม่ได้เล่นแมว เหมือนมาไม่ถึง

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด
ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด
ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

ไปพักอิริยาบถที่คาเฟ่ริมน้ำย่านวังหลัง

ประเทศไทยมี 3 ฤดู ร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด การเดินแบบไม่หยุดคงทำให้การเที่ยวไร้ความสุขแน่นอน เราไปวัดไปวากันแล้วคงพ้นไม่ได้ที่ต้องพักผ่อนระหว่างวันด้วยเครื่องดื่มเย็น ๆ กับของว่างสักหน่อย (หยุดกินไม่ได้จริง ๆ ขอโทษด้วย)

จากวัดโพธิ์เดินตามถนนข้างวังมาเรื่อย ๆ ผ่านท่าช้างแล้วไปจบที่ท่ามหาราช เพื่อนั่งเรื่องข้ามฟากไปที่ท่าวังหลังฝั่งศิริราช มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งที่เราชอบมาก เป็นพื้นที่เซฟโซนสำหรับการปั่นต้นฉบับของ The Cloud เกือบทุกเรื่องให้พวกคุณอ่าน เป็นคาเฟ่ที่วิวดี ร้านก็ดี ซุกตัวอยู่ใต้โรงแรมบ้านวังหลังริเวอร์ไซต์ ที่นี่ชื่อว่า N10

ร้าน N10 ตั้งชื่อเดียวกับรหัสท่าเรือวังหลังและพรานนก (N10) ซึ่งเป็นท่าเรือด่วนเจ้าพระยาลำดับที่ 10 ถ้านับจากท่าสาทร (CEN)

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด
ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

สิ่งที่ทำให้ร้านนี้เป็นร้านโปรดของเราคือ การมีพื้นที่อินดอร์ที่เป็นห้องปรับอากาศตกแต่งแบบบ้านเรือนไม้ มีโต๊ะกระจายอยู่ทั่วบริเวณ และที่ดีที่สุดคือชานชาลาที่ก่อขึ้นมาให้เราเอนตัวได้บนหมอนอิงสามเหลี่ยมจิบชา กาแฟ และของว่างยามบ่าย มองออกไปนอกกระจกเป็นส่วนเอาต์ดอร์ที่เรียกได้ว่าบรรยากาศดีมาก มันเป็นพื้นที่โล่งติดชิดแม่น้ำเจ้าพระยา มองไปทางซ้ายคือสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งตรงข้ามคือท่ามหาราช เยื้องขวาหน่อยคือพระบรมมหาราชวัง และมองไปขวาสุดคือคุ้งน้ำเจ้าพระยาที่ตวัดโค้งมีพระปรางค์วัดอรุณอยู่ลิบ ๆ

ยามบ่ายแก่พื้นที่เอาต์ดอร์นี้จะร่มจากเงาตึกของโรงแรม ทำให้เรานั่งชมวิวแม่น้ำพลางจิบเครื่องดื่มได้อย่างสบาย ลมเย็นๆ จากแม่น้ำ มองดูเรือลำแล้วลำเล่าผ่านไปมาช่วยให้ร่างกายได้พักก่อนเดินทางไปสถานที่ใหม่

ขอสารภาพว่า บทความรถไฟต่าง ๆ ใน The Cloud ที่คุณอ่านของเราตั้งแต่เรื่องแรก ๆ เขียนที่ร้านนี้นี่แหละ บรรยากาศมันดีจริง ๆ อย่าบอกใคร

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด
ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

ไปเยี่ยมสถานีรถไฟเก่า และเดินมิวเซียมที่ศิริราชพิมุขสถาน

เมื่อเช้าเราไปเริ่มต้นที่สถานีรถไฟ ตอนนี้เราก็มาอยู่กับอดีตสถานีรถไฟ

เมื่อเช้าเราอยู่ที่สถานีกรุงเทพ สถานีต้นทางของรถไฟฝั่งพระนคร ส่วนตอนนี้เราอยู่ที่อดีตสถานีรถไฟธนบุรี ต้นทางของรถไฟสายใต้ฝั่งธนบุรี

จากวังหลัง เดินลัดทะลุโรงพยาบาลศิริราชมาจนถึงโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ จะเจอตึกอิฐสีแดงมีหอนาฬิกาติดกับอาคารโรงพยาบาล นี่แหละคืออดีตสถานีรถไฟธนบุรีที่เราพูดถึง

เมื่อก่อนเวลาที่จะนั่งรถไฟลงใต้ก็ต้องใช้สถานีรถไฟธนบุรีเป็นสถานีต้นทาง ตัวสถานีนี้เป็นของใหม่ เดิมทีเป็นแค่อาคารไม้ธรรมดาซึ่งใช้งานมาจนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนพรมระเบิดซะพรุน จึงต้องสร้างใหม่โดยได้รับการออกแบบให้เป็นรูปแบบของ Terminal Station โดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2493

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด
ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

สถานีธนบุรีใช้งานมาเรื่อย ๆ จนได้มีการมอบพื้นที่ของสถานีธนบุรีให้กับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ สถานีธนบุรี (ริมน้ำ) จึงปิดตัวลงตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2546 โดยมีขบวนรถธรรมดาที่ 253 ธนบุรี – หลังสวน เคลื่อนออกจากสถานีเป็นขบวนสุดท้าย และการรถไฟฯ ก็ได้ย้ายสถานีธนบุรีไปอยู่ที่ใหม่ตรงตลาดศาลาน้ำร้อนและใช้จนถึงปัจจุบัน

พื้นที่ย่านสถานีธนบุรีทั้งหมดกลายเป็นอาคารของโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ส่วนอาคารสถานีธนบุรีและอาคารที่รับส่งสินค้าธนบุรี (ทรส.ธนบุรี) ก็ถูกปรับปรุงให้กลายเป็น ศิริราชพิมุขสถาน พิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคด

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด
ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

เข้ามาในพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน สิ่งแรกที่เจอคือที่ขายบัตรเข้าชม ใช้ห้องขายตั๋วของรถไฟจริง ๆ จนได้บรรยากาศเหมือนเราซื้อตั๋วรถไฟยังไงอย่างงั้น แถมที่นั่งรอก็เป็นเก้าอี้ไม้รูปวงรีของสถานีรถไฟจริง ๆ อีก สรุปแล้วนี่มาขึ้นรถไฟหรือเข้ามิวเซียมกันแน่นะ

ภายในแบ่งโซนการจัดแสดงเอาไว้ และทางเดินก็จะบังคับให้เป็นวันเวย์ เริ่มจากห้องแรก ศิริสารประพาส ที่จำลองเป็นห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์ให้เราได้ดูภาพรวมเป็นการแนะนำก่อนที่จะพาเดินต่อไปที่ ศิริราชขัตติยพิมาน ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ กับการแพทย์ของประเทศไทย ตามมาด้วยห้องสถานพิมุขมงคลเขต ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เรื่องราวของวังหลัง พื้นที่วังหลัง และชุมชนปากคลองบางกอกน้อย

ห้องถัดมาคือโบราณราชศัตรา ที่รวบรวมอาวุธเก่าแก่ซึ่งรักษาได้ดีมาก ห้องที่เราชอบที่สุดคือ คมนาคมบรรหาร ใช้ชานชาลาสถานีรถไฟจริง ๆ มาทำเป็นห้องฉายหนังที่เห็นทางรถไฟของจริงใต้กระจก โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับรถไฟ การแพทย์ และศิริราช (ตอนที่เราไปล่าสุดห้องนี้ปิดปรับปรุง)

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

ออกจากห้องคมนาคมบรรหาร ทางเดินจะพาไปชั้นสองเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับด้านการแพทย์ทั้งหมด เราจะได้เห็นห้องผ่าตัดจำลอง การวิเคราะห์โรค กายวิภาค ร่างกายมนุษย์ ร้านขายยา และชุมชนบางกอกน้อย จากนั้นเป็นส่วนสุดท้ายของมิวเซียมคืออาคารรับส่งสินค้ารถไฟซึ่งเป็นอาคารไม้เรือนแถว ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชุมชนคลองบางกอกน้อยและซากเรือขนาดใหญ่มากที่ขุดค้นพบตอนสร้างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์

จุดสุดท้ายของเดินเที่ยวของเราคือรถจักรไอน้ำแบบมิกาโด หมายเลข 950 ซึ่งเป็นญาติสนิทกับรถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิกที่เราเจอเมื่อเช้าที่สถานีกรุงเทพ เขาเป็นรถจักรไอน้ำ 2 รุ่นสุดท้ายที่สั่งเข้ามาใช้งานหลักสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงแต่ว่าหมายเลข 950 ไม่มีโอกาสได้มีชีวิตต่อ เขายุติบทบาทลงเมื่อ พ.ศ. 2525 เหลือทิ้งไว้แต่โครงสร้างภายนอกที่ยังดูสมบูรณ์ และตั้งอยู่ด้านหน้าอดีตสถานีรถไฟที่เขาเคยแล่นเข้ามาให้บริการ

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

ไปกินหมูกระทะ ดูพระอาทิตย์ตกที่ท่ามหาราช

พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี เท้าที่เดินมาทั้งวันเริ่มล้าขึ้นและร่างกายต้องการอาหารมาเติมเต็มในพลังงานที่เสียไป

จากท่าเรือวังหลังข้ามฟากมาท่ามหาราช เป็นคอมมูนิตี้มอลริมน้ำที่บรรยากาศดีอย่าบอกใคร ร้านอาหารมากมายมีให้เราเลือกสรร แต่ถ้าอยากจบวันด้วยการกินไปนั่งคุยไปกับบรรยากาศริมน้ำ ให้ขึ้นไปชั้นสองแล้วตบเท้าเข้าไปกินหมูกระทะเลย เป็นร้านกลางแจ้งที่มีระเบียงนั่งกินมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างปิ้งหมูให้สุก ช่วงบรรยากาศที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นตั้งแต่สี่โมงเย็นเป็นต้นไปจนฟ้ามืด

เที่ยวแบบนี้ ต้องลอง

ใครไปแล้วก็มาเล่าให้ฟังบ้างนะ

ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด
ทัวร์กรุงเทพฯ ด้วยรถไฟอัปเดตปีล่าสุด ไปดูสถาปัตยกรรมเก่า ไหว้พระวัดสวย แวะคาเฟ่วิวดี และกินอาหารร้านเด็ด

ตะลอนเดินตะลอนถ่าย : วันวิสข์ เนียมปาน และ รัฐศิลป์ ภวันตพงศ์

เกร็ดท้ายขบวน

  1. MRT ไม่มีตั๋วเหมาวันแบบ BTS การเดินทางจะต้องซื้อตั๋วรายเที่ยว
  2. ถ้าอยากมาสถานีกรุงเทพแล้วเจอรถจักรไอน้ำ ต้องมาวันที่ 26 มีนาคม, 3 มิถุนายน, 28 กรกฎาคม, 12 สิงหาคม, 23 ตุลาคม, 5 ธันวาคม
  3. บริเวณท่าเตียนมีคาเฟ่และร้านขนมเยอะมาก ให้ลองเดินดูแล้วนั่งพักอิริยาบถก่อนเที่ยวต่อก็ได้นะ 🙂

Writer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ