ขอเตือนก่อนว่าการเที่ยวครั้งนี้จะทำให้คุณกลับบ้านด้วยเท้าที่เมื่อยล้า แต่อิ่มด้วยความสุขสำราญ
เราเป็นคนชอบเที่ยวมาก โดยเฉพาะในเมืองชั้นในของกรุงเทพฯ การได้เดินเข้าไปในย่านเก่า ไม่ใช่เพียงแค่มองดูตึกรามบ้านช่อง เข้าวัดเข้าวา หรือจับจ่ายใช้สอยเท่านั้น การค่อย ๆ ต่อจิ๊กซอว์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรุงเทพฯ ตั้งแต่สมัยเรียนวิชา ‘ท้องถิ่นของเรา’ (ใครทันขอให้ยกมือขึ้น) ซึ่งเป็นวิชาที่สนุกมากสำหรับเด็ก ม.1 (ในสมัยนั้น) อย่างเรา ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ท้องถิ่น และความเป็นมนุษย์กรุงเทพฯ สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตเป็นวิชา สปช. ยังไงก็อย่างงั้น
ทริปของเราเดินเยอะมาก เน้นการใช้ขนส่งมวลชน และหมดพลังมาก แต่เชื่อเถอะว่าคุณจะสนุกมากถ้ามือของคุณได้จับกล้อง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ กล้องโปร หรือกล้องฟิล์ม คุณจะเพลิดเพลินไปกับมันได้ไม่ยาก

ไปเดินเล่นสถานีกรุงเทพ โบกธงส่งปู่ทวดไอน้ำ
สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือที่เรียกกันจนชินว่าหัวลำโพง เป็นจุดเริ่มต้นของวัน การเข้ามาเดินดูสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟที่เป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางและสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองด้านการคมนาคมในช่วงรัชกาลที่ 6 ที่ต่อมาพื้นที่โดยรอบกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่เป็นเรื่องน่าสนุกในตอนเช้า
เราเริ่มต้นที่นี่เพราะเป็นจุดที่เดินทางง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็น MRT ที่เดินทะลุเข้าสถานีรถไฟกรุงเทพได้เลย หรือหากใครที่นั่งรถไฟปู๊น ๆ มาจากสายต่าง ๆ ก็ต้องมาสิ้นสุดที่นี่

สถานีที่มีความ Iconic โครงหลังคารูปโค้งขนาดใหญ่ที่ออกแบบโดยชาวเยอรมัน ระเบียงและอาคารหน้าสถานีที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลี นับเป็นศิลปะแห่งยุคสมัยที่สวยงาม เราแวะชมมินิมิวเซียมที่หน้าสถานีรถไฟก่อน แล้วค่อยเดินเข้าไปดูชีวิตของคนที่ชานชาลา ถ้าวันไหนคุณโชคดีตรงกับวันสำคัญที่มีขบวนรถจักรไอน้ำออกวิ่ง เหมือนกับเราที่เลือกวันเที่ยวเป็นวันที่ 23 ตุลาคม วันปิยมหาราช ก็จะได้เห็นขบวนรถไฟนำเที่ยวที่ใช้รถจักรไอน้ำสีดำทะมึนดูขึงขัง พ่นไอน้ำสีขาวคลุ้งไปทั่วชานชาลา เสียงหวีดเหมือนขลุ่ยผิวส่งเสียงดังไปทั้งชานชาลาให้ทุกสายตาหันมาจ้องมอง ก่อนที่เสียงฟืดฟาดของคันชักจะค่อย ๆ หมุนล้อลากทั้งขบวนมุ่งหน้าสู่ปลายทางท่ามกลางสายตาของคนนับร้อยที่ยืนมองด้วยความชื่นชม
ในสถานีรถไฟกรุงเทพ ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจและถ่ายรูปแนวสตรีท ไม่ว่าจะเป็นปลายสุดของชานชาลา โถงสถานี หรือแม้แต่ในโถงชานชาลาที่หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่ากระจกสีเหลืองบนนั้นเรียงตัวเป็นรูปครุฑแบบ 8 bit ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรมรถไฟที่ซ่อนอยู่
เราอาจจะได้เห็นจังหวะชีวิตของสถานีกรุงเทพที่สมบูรณ์แบบนี้แค่ไม่นานเท่านั้น ก่อนรถไฟส่วนใหญ่จะย้ายไปออกที่สถานีกลางกรุงเทพฯ และที่นี่ก็จะเหลือเพียงขบวนรถไฟชานเมืองและรถไฟบริการเชิงสังคมเข้ามารับส่งที่ชานชาลาเท่านั้น


ไปกินบะหมี่จับกัง ไหว้พระ ที่วัดมังกร
จากสถานีกรุงเทพ เราเดินลงรถไฟ MRT สถานีหัวลำโพงเพื่อนั่งรถไฟต่อไปที่สถานีวัดมังกร
การนั่ง MRT สะดวกมากขึ้นที่ใช้บัตรเครดิต (ทุกธนาคาร) และบัตรเดบิต (เฉพาะธนาคารกรุงไทย) แตะเข้าระบบรถไฟฟ้าได้เลยโดยไม่ต้องไปต่อคิวซื้อตั๋วหรือใช้บัตรแมงมุมที่หยากไย่ขึ้นแล้ว
รถไฟสายสีน้ำเงิน หรือที่เราเรียกว่า MRT นั้นต้องใช้สมาธิและสติในการดูทิศทางเป็นอย่างมาก เพราะเส้นทางรถไฟสายนี้วิ่งเป็นลักษณะวงกลมมีหางโดยมีท่าพระเป็นสถานีร่วม กล่าวคือหากเรานั่งรถไฟเริ่มต้นที่ท่าพระ แล้วนั่งไปเรื่อย ๆ เราจะผ่านบางโพ บางซื่อ พระรามเก้า สุขุมวิท สีลม หัวลำโพง สนามไชย แล้วกลับมาเจอท่าพระอีกรอบ และรถไฟก็จะวิ่งต่อไปเพชรเกษม ปลายทางที่หลักสอง นั่นหมายความว่าเราเลือกได้ว่าจะนั่งแบบวนตามเข็มนาฬิกาหรือทวนเข็มนาฬิกา เพื่อการเดินทางที่สั้นที่สุด ซึ่งไม่ว่าจะยังไงแล้ว MRT เขาจะคิดให้ราคาเดียวแม้จะวนผิดฝั่งก็ตาม

ที่ชานชาลามีแผนที่ให้เราดู วิธีการดูง่าย ๆ ถ้าวนตามเข็มนาฬิกา ปลายทางของรถจะเป็นหลักสอง แต่ถ้าวนทวนเข็มนาฬิกา ปลายทางจะเป็นท่าพระ ป้ายของสถานีก็จะบอก 3 สถานีสำคัญพร้อมปลายทาง หากยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ ป้ายเหนือประตูชานชาลาจะบอกเราว่าชานชาลาที่ยืนนั้นรถไฟมุ่งหน้าไปทางไหน โดยดูจากเส้นสีน้ำเงินซึ่งเป็นเส้นทางที่รถไฟมุ่งหน้าไป แต่หากสถานีที่ปรากฏอยู่ในแถบเส้นสีเทาหมายความว่ารถไฟวิ่งผ่านสถานีเหล่านั้นมาแล้ว
เรานั่ง MRT จากหัวลำโพงมาวัดมังกร ออกประตู 3 แล้วเลี้ยวซ้ายไปที่ซอยเจริญกรุง 23 ก็จะพบกับตรอกเล็ก ๆ ที่ด้านในจะเห็นร้านอาหารที่รู้สึกถึงความร้อนระอุจากเตาถ่านที่ไฟลุกโชติช่วงตลอดเวลา
เรามาถึงบะหมี่จับกังแล้ว

การสั่งนั้นไม่ยาก บอกแค่ว่าเอาแห้งหรือเอาน้ำ ก็จะได้บะหมี่ชามใหญ่ที่เส้นเยอะมาก ๆ พร้อมเนื้อหมูหั่นบาง ๆ และผักซึ่งบางวันก็จะเป็นผักกาดแก้ว บางวันเป็นกะหล่ำปลี และบางวันเป็นผักกาดหอม คงอยู่ที่ว่าวันนั้นร้านเขาได้ผักแบบไหนมา
อิ่มท้องแล้ว ก็ไปอิ่มบุญกันต่อ เป้าหมายถัดไปคือวัดมังกร
วัดมังกรกมลาวาส หรือที่เรียกกันว่า วัดเล่งเน่ยยี่ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย และเป็นสถานที่สำคัญในย่านเยาวราชที่มีคนหลั่งไหลเข้ามาไหว้พระ สวดมนต์ ทำบุญ รวมถึงแก้ปีชงกันอย่างหนาแน่น
เรามาในช่วงที่มีการก่อสร้างอยู่ ทางเข้าจึงดูซับซ้อนกว่าที่เคย ทางเดินมีป้ายบอกเป็นระยะ ๆ เข้าไปจนถึงวิหารด้านในที่เหมือนอยู่คนละโลกกับด้านนอก ในนี้คือวิหารท้าวโลกบาลทั้ง 4 มีเทวรูปเจ้า 4 องค์ในชุดนักรบจีน ถืออาวุธต่าง ๆ ที่เรียกว่า ‘ซี้ไต๋เทียงอ้วง’ หมายถึงเทพเจ้าที่ปกปักรักษาทั้ง 4 ทิศ เมื่อเดินเข้าไปอีกหน่อยเป็นพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระประธานของวัด คือ พระโคตมพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธะ พระไภษัชยคุรุพุทธะ พร้อมพระอรหันต์อีก 18 องค์
นอกจากพระแล้วก็ยังมีเทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาที่ชื่อคุ้นหูอย่าง ‘ไท้ส่วย เอี๊ยะ’ เทพเจ้าแห่งยา ‘หัวท้อเซียงซือกง’ และที่คนมักจะมาไหว้ขอพรมากที่สุดคือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ‘ไฉ่ชิงเอี๊ยะ’
ตอนนี้วัดมังกรไม่ให้จุดธูปด้านในแล้ว รู้สึกสบายจมูกสบายตามาก ในวัดเย็นเยียบมีเสียงสวดมนต์แบบพุทธมหายานก้องอยู่ด้านในฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ เราอยู่ที่นี่กันไม่นานก็เดินทางต่อไปอีกวัดที่น่าจะคุ้นเคยกันดี



ไปไหว้พระ ดูตำรายา เล่นท่าฤๅษีดัดตน เล่นกับแมว ที่วัดโพธิ์
จากสถานีวัดมังกร นั่ง MRT ต่อมาอีก 2 สถานีก็จะถึงสถานีสนามไชย สถานีที่เรียกได้ว่ามีความพิเศษมากมายซุกซ่อนอยู่ ทั้งเป็นสถานีที่ระดับอยู่ลึกมากที่สุดในสายสีน้ำเงิน เพราะเป็นจุดสุดท้ายของฝั่งพระนครที่ต้องมุดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อข้ามไปฝั่งธนบุรีเพื่อเจอกับสถานีอิสรภาพ หลายคนอาจเข้าใจว่าอุโมงค์รถไฟนั้นผ่ากลางแม่น้ำไปเลย จริง ๆ แล้วมันถูกขุดลึกลงใต้ก้นแม่น้ำลงไปอีก ซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับพื้นราว ๆ 40 – 50 เมตรได้
เมื่อเราขึ้นจากชานชาลาด้วยบันไดเลื่อนที่ไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ไหน ก็จะเริ่มเห็นการตกแต่งสถานีที่แปลกตา ฝ้าเพดานเป็นสีแดงมีลายไทยสีทอง มีลายดอกพิกุลบนกระเบื้อง เสาประดับด้วยบัวจงกลปิดทอง พร้อมแขวนแชนเดอร์เลียอันใหญ่ เหมือนท้องพระโรงในสมัยรัตนโกสินทร์ มุมนี้มีแต่คนหยุดถ่ายรูปจนกลายเป็นเหมือนแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งไปซะแล้ว
เดินออกมาจากเครื่องตี๊ดตั๋ว ก็จะเจอกับพิพิธภัณฑ์ใต้ดินที่บอกเล่าเรื่องราวของอดีตพื้นที่สถานีสนามไชย ซึ่งเคยเป็นฐานพระราชวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุขสวัสดี



เดินขึ้นบันไดเลื่อนมาอีกจนถึงระดับพื้น (สักที) ก็มาโผล่หน้ามิวเซียมสยามซึ่งเคยเป็นอดีตกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงเศรษฐการ แต่นั่นไม่ใช่ปลายทางของเรา เราเดินฝ่าแดดไปอีกระยะหนึ่งเพื่อไปที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือที่รู้จักกันว่าวัดโพธิ์
วัดโพธิ์เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยก็ว่าได้เพราะว่าเป็นแหล่งรวบรวมความรู้มากมายหลายแขนงที่เป็นตำรับโบราณ เช่น ตำรับยา แพทย์แผนไทย ฤๅษีดัดตน
วัดนี้มีสิ่งปลูกสร้างค่อนข้างแน่นทีเดียว ทั้งเจดีย์ วิหาร อาคาร ระเบียง รวมไปถึงรูปปั้นฤๅษีดัดตนที่กระจายอยู่เต็มบริเวณวัด ถ้าจะให้เลือกเส้นทางเดินนั้นก็คงเดินดูเจดีย์รายรอบ ๆ ก่อน แล้วเข้าไปในกำแพงแก้วที่มีรูปปั้นจีนแต่งกายแบบฝรั่งยืนเฝ้าอยู่ก็จะเป็นพื้นที่ของเจดีย์สี่รัชกาล รอบ ๆ ในระเบียงนั้นประดิษฐานพระพุทธรูปหลากหลายศิลปะที่มองดูแล้วเต็มไปด้วยปางห้ามญาติและปางห้ามสมุทร



เพราะมีจารึกต่าง ๆ ที่เป็นองค์ความรู้ทำให้วัดโพธิ์ได้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก (ไม่ใช่มรดกโลกนะ อันนั้นจะใช้เฉพาะสิ่งที่เป็นโบราณสถานและที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ) ตำราต่าง ๆ ถูกจารึกไว้บนหินอ่อนประดับไว้ตามศาลาราย คนที่จารึกนั้นมีหลากหลายตั้งแต่กษัตริย์จนถึงประชาชน ความรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาศาสตร์ วรรณกรรม ศาสนา แพทย์ ประติมากรรม สิ่งนี้เองจึงทำให้วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของคนไทย
ก่อนออกจากวัด มี 2 สิ่งที่เราพลาดไม่ได้ที่จะทำ สิ่งแรกคือการทดลองทำตามท่าของรูปปั้นฤๅษีดัดตน บางท่าก็ทำได้และยืดเส้นได้ดีมาก แต่บางท่าก็เกินกว่าจะทำได้จนคิดว่ามันทำได้จริง ๆ หรือ ส่วนสิ่งที่สองนั้นคือการส่องสายตาหาน้องแมวในวัดที่มีเยอะมากกกกกก แต่อาจเป็นเพราะเกือบทุกครั้งเรามาช่วงเย็นที่คนเริ่มน้อย น้องแมวเลยออกมาจากที่ซ่อนตัวมาเกลือกกลิ้งอยู่ตามสุมทุมพุ่มไม้ไม่ก็ฐานเจดีย์ แต่วันนี้คนคงเยอะมากไปจนแมวอาจจะรำคาญพวกมนุษย์ เลยเจออยู่ไม่กี่ตัวเท่านั้นเอง
มาวัดโพธิ์ไม่ได้เล่นแมว เหมือนมาไม่ถึง



ไปพักอิริยาบถที่คาเฟ่ริมน้ำย่านวังหลัง
ประเทศไทยมี 3 ฤดู ร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด การเดินแบบไม่หยุดคงทำให้การเที่ยวไร้ความสุขแน่นอน เราไปวัดไปวากันแล้วคงพ้นไม่ได้ที่ต้องพักผ่อนระหว่างวันด้วยเครื่องดื่มเย็น ๆ กับของว่างสักหน่อย (หยุดกินไม่ได้จริง ๆ ขอโทษด้วย)
จากวัดโพธิ์เดินตามถนนข้างวังมาเรื่อย ๆ ผ่านท่าช้างแล้วไปจบที่ท่ามหาราช เพื่อนั่งเรื่องข้ามฟากไปที่ท่าวังหลังฝั่งศิริราช มีร้านกาแฟอยู่ร้านหนึ่งที่เราชอบมาก เป็นพื้นที่เซฟโซนสำหรับการปั่นต้นฉบับของ The Cloud เกือบทุกเรื่องให้พวกคุณอ่าน เป็นคาเฟ่ที่วิวดี ร้านก็ดี ซุกตัวอยู่ใต้โรงแรมบ้านวังหลังริเวอร์ไซต์ ที่นี่ชื่อว่า N10
ร้าน N10 ตั้งชื่อเดียวกับรหัสท่าเรือวังหลังและพรานนก (N10) ซึ่งเป็นท่าเรือด่วนเจ้าพระยาลำดับที่ 10 ถ้านับจากท่าสาทร (CEN)


สิ่งที่ทำให้ร้านนี้เป็นร้านโปรดของเราคือ การมีพื้นที่อินดอร์ที่เป็นห้องปรับอากาศตกแต่งแบบบ้านเรือนไม้ มีโต๊ะกระจายอยู่ทั่วบริเวณ และที่ดีที่สุดคือชานชาลาที่ก่อขึ้นมาให้เราเอนตัวได้บนหมอนอิงสามเหลี่ยมจิบชา กาแฟ และของว่างยามบ่าย มองออกไปนอกกระจกเป็นส่วนเอาต์ดอร์ที่เรียกได้ว่าบรรยากาศดีมาก มันเป็นพื้นที่โล่งติดชิดแม่น้ำเจ้าพระยา มองไปทางซ้ายคือสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งตรงข้ามคือท่ามหาราช เยื้องขวาหน่อยคือพระบรมมหาราชวัง และมองไปขวาสุดคือคุ้งน้ำเจ้าพระยาที่ตวัดโค้งมีพระปรางค์วัดอรุณอยู่ลิบ ๆ
ยามบ่ายแก่พื้นที่เอาต์ดอร์นี้จะร่มจากเงาตึกของโรงแรม ทำให้เรานั่งชมวิวแม่น้ำพลางจิบเครื่องดื่มได้อย่างสบาย ลมเย็นๆ จากแม่น้ำ มองดูเรือลำแล้วลำเล่าผ่านไปมาช่วยให้ร่างกายได้พักก่อนเดินทางไปสถานที่ใหม่
ขอสารภาพว่า บทความรถไฟต่าง ๆ ใน The Cloud ที่คุณอ่านของเราตั้งแต่เรื่องแรก ๆ เขียนที่ร้านนี้นี่แหละ บรรยากาศมันดีจริง ๆ อย่าบอกใคร


ไปเยี่ยมสถานีรถไฟเก่า และเดินมิวเซียมที่ศิริราชพิมุขสถาน
เมื่อเช้าเราไปเริ่มต้นที่สถานีรถไฟ ตอนนี้เราก็มาอยู่กับอดีตสถานีรถไฟ
เมื่อเช้าเราอยู่ที่สถานีกรุงเทพ สถานีต้นทางของรถไฟฝั่งพระนคร ส่วนตอนนี้เราอยู่ที่อดีตสถานีรถไฟธนบุรี ต้นทางของรถไฟสายใต้ฝั่งธนบุรี
จากวังหลัง เดินลัดทะลุโรงพยาบาลศิริราชมาจนถึงโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ จะเจอตึกอิฐสีแดงมีหอนาฬิกาติดกับอาคารโรงพยาบาล นี่แหละคืออดีตสถานีรถไฟธนบุรีที่เราพูดถึง
เมื่อก่อนเวลาที่จะนั่งรถไฟลงใต้ก็ต้องใช้สถานีรถไฟธนบุรีเป็นสถานีต้นทาง ตัวสถานีนี้เป็นของใหม่ เดิมทีเป็นแค่อาคารไม้ธรรมดาซึ่งใช้งานมาจนสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนพรมระเบิดซะพรุน จึงต้องสร้างใหม่โดยได้รับการออกแบบให้เป็นรูปแบบของ Terminal Station โดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2493


สถานีธนบุรีใช้งานมาเรื่อย ๆ จนได้มีการมอบพื้นที่ของสถานีธนบุรีให้กับโรงพยาบาลศิริราชเพื่อสร้างศูนย์การแพทย์ สถานีธนบุรี (ริมน้ำ) จึงปิดตัวลงตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2546 โดยมีขบวนรถธรรมดาที่ 253 ธนบุรี – หลังสวน เคลื่อนออกจากสถานีเป็นขบวนสุดท้าย และการรถไฟฯ ก็ได้ย้ายสถานีธนบุรีไปอยู่ที่ใหม่ตรงตลาดศาลาน้ำร้อนและใช้จนถึงปัจจุบัน
พื้นที่ย่านสถานีธนบุรีทั้งหมดกลายเป็นอาคารของโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ส่วนอาคารสถานีธนบุรีและอาคารที่รับส่งสินค้าธนบุรี (ทรส.ธนบุรี) ก็ถูกปรับปรุงให้กลายเป็น ศิริราชพิมุขสถาน พิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ ประวัติศาสตร์ และโบราณคด


เข้ามาในพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน สิ่งแรกที่เจอคือที่ขายบัตรเข้าชม ใช้ห้องขายตั๋วของรถไฟจริง ๆ จนได้บรรยากาศเหมือนเราซื้อตั๋วรถไฟยังไงอย่างงั้น แถมที่นั่งรอก็เป็นเก้าอี้ไม้รูปวงรีของสถานีรถไฟจริง ๆ อีก สรุปแล้วนี่มาขึ้นรถไฟหรือเข้ามิวเซียมกันแน่นะ
ภายในแบ่งโซนการจัดแสดงเอาไว้ และทางเดินก็จะบังคับให้เป็นวันเวย์ เริ่มจากห้องแรก ศิริสารประพาส ที่จำลองเป็นห้องเรียนของนักศึกษาแพทย์ให้เราได้ดูภาพรวมเป็นการแนะนำก่อนที่จะพาเดินต่อไปที่ ศิริราชขัตติยพิมาน ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ กับการแพทย์ของประเทศไทย ตามมาด้วยห้องสถานพิมุขมงคลเขต ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เรื่องราวของวังหลัง พื้นที่วังหลัง และชุมชนปากคลองบางกอกน้อย
ห้องถัดมาคือโบราณราชศัตรา ที่รวบรวมอาวุธเก่าแก่ซึ่งรักษาได้ดีมาก ห้องที่เราชอบที่สุดคือ คมนาคมบรรหาร ใช้ชานชาลาสถานีรถไฟจริง ๆ มาทำเป็นห้องฉายหนังที่เห็นทางรถไฟของจริงใต้กระจก โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับรถไฟ การแพทย์ และศิริราช (ตอนที่เราไปล่าสุดห้องนี้ปิดปรับปรุง)

ออกจากห้องคมนาคมบรรหาร ทางเดินจะพาไปชั้นสองเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับด้านการแพทย์ทั้งหมด เราจะได้เห็นห้องผ่าตัดจำลอง การวิเคราะห์โรค กายวิภาค ร่างกายมนุษย์ ร้านขายยา และชุมชนบางกอกน้อย จากนั้นเป็นส่วนสุดท้ายของมิวเซียมคืออาคารรับส่งสินค้ารถไฟซึ่งเป็นอาคารไม้เรือนแถว ภายในจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชุมชนคลองบางกอกน้อยและซากเรือขนาดใหญ่มากที่ขุดค้นพบตอนสร้างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
จุดสุดท้ายของเดินเที่ยวของเราคือรถจักรไอน้ำแบบมิกาโด หมายเลข 950 ซึ่งเป็นญาติสนิทกับรถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิกที่เราเจอเมื่อเช้าที่สถานีกรุงเทพ เขาเป็นรถจักรไอน้ำ 2 รุ่นสุดท้ายที่สั่งเข้ามาใช้งานหลักสงครามโลกครั้งที่ 2 เพียงแต่ว่าหมายเลข 950 ไม่มีโอกาสได้มีชีวิตต่อ เขายุติบทบาทลงเมื่อ พ.ศ. 2525 เหลือทิ้งไว้แต่โครงสร้างภายนอกที่ยังดูสมบูรณ์ และตั้งอยู่ด้านหน้าอดีตสถานีรถไฟที่เขาเคยแล่นเข้ามาให้บริการ

ไปกินหมูกระทะ ดูพระอาทิตย์ตกที่ท่ามหาราช
พระอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำ ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี เท้าที่เดินมาทั้งวันเริ่มล้าขึ้นและร่างกายต้องการอาหารมาเติมเต็มในพลังงานที่เสียไป
จากท่าเรือวังหลังข้ามฟากมาท่ามหาราช เป็นคอมมูนิตี้มอลริมน้ำที่บรรยากาศดีอย่าบอกใคร ร้านอาหารมากมายมีให้เราเลือกสรร แต่ถ้าอยากจบวันด้วยการกินไปนั่งคุยไปกับบรรยากาศริมน้ำ ให้ขึ้นไปชั้นสองแล้วตบเท้าเข้าไปกินหมูกระทะเลย เป็นร้านกลางแจ้งที่มีระเบียงนั่งกินมองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างปิ้งหมูให้สุก ช่วงบรรยากาศที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นตั้งแต่สี่โมงเย็นเป็นต้นไปจนฟ้ามืด
เที่ยวแบบนี้ ต้องลอง
ใครไปแล้วก็มาเล่าให้ฟังบ้างนะ


ตะลอนเดินตะลอนถ่าย : วันวิสข์ เนียมปาน และ รัฐศิลป์ ภวันตพงศ์
เกร็ดท้ายขบวน
- MRT ไม่มีตั๋วเหมาวันแบบ BTS การเดินทางจะต้องซื้อตั๋วรายเที่ยว
- ถ้าอยากมาสถานีกรุงเทพแล้วเจอรถจักรไอน้ำ ต้องมาวันที่ 26 มีนาคม, 3 มิถุนายน, 28 กรกฎาคม, 12 สิงหาคม, 23 ตุลาคม, 5 ธันวาคม
- บริเวณท่าเตียนมีคาเฟ่และร้านขนมเยอะมาก ให้ลองเดินดูแล้วนั่งพักอิริยาบถก่อนเที่ยวต่อก็ได้นะ 🙂