ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับสามของโลก และเมื่อตั้งใจจะไม่เพิ่มกำลังการผลิตจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่น ๆ เพื่อชดเชย ทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทย (ณ วันที่ 10 มีนาคม 2565) ได้ทุบสถิติน้ำมันเบนซินทะลุ 50 บาทต่อลิตร 

เมื่อเดินในเมืองไม่ได้ วัฒนธรรมการใช้รถยนต์จึงเป็นสิ่งปกติที่เราคุ้นชินในชีวิตประจำวัน

เมื่อเมืองขับเคลื่อนด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจึงกลายเป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องยอมรับ อย่างไรก็ดี วิกฤตราคาน้ำมันสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวด้านวิสัยทัศน์ของนโยบายการพัฒนาและการออกแบบผังเมือง ที่ไม่ได้ทำขึ้นเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่กลับบีบบังคับให้ผู้คนต้องเดินทาง ยังไม่นับถึงปัญหาสะสมของระบบรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ถูกพัฒนาและตั้งให้เป็นระบบเดียวกัน

สถาปัตยกรรมสะท้อนปัญหาน้ำมันแพงและการใช้รถของมนุษย์ในหนังฝรั่งเศส Trafic

เราอาจมีภาพจำเชิงลบกับการใช้รถใช้ถนน หากคิดถึงปัญหามลพิษทางอากาศและสิ่งแวดล้อม ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า รถยนต์ – ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์และน้ำมัน เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสถาปัตยกรรม ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เนื้อเมือง (Urban Fabric) และอัตลักษณ์ของเมืองไปอย่างสิ้นเชิง 

คอลัมน์ Set Design ครั้งนี้อยากชวนผู้อ่านย้อนกลับไปยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของรถยนต์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ผ่านมุมมองของ Jacques Tati ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นทั้งนักแสดงตลก ละครใบ้ และยังเป็นหนึ่งในทีมผู้เขียนบท ในภาพยนตร์คอเมดี้สุดคลาสสิก เรื่อง ‘Trafic’ จากปี1971 หนังขบขันขายหัวเราะเรื่องอุตสาหกรรมรถยนต์ วงจรการผลิตและซื้อขายรถยนต์ การจราจร สัญลักษณ์จราจร การสัญจรของรถยนต์ และการล้อเลียนพฤติกรรมของผู้ขับขี่

สถาปัตยกรรมสะท้อนปัญหาน้ำมันแพงและการใช้รถของมนุษย์ในหนังฝรั่งเศส Trafic

01
Jacques Tati – Monsieur Hulot

มุกตลกล้อเลียนวิถีชีวิตยุคโมเดิร์นที่ได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบดั่งเดิม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเสน่ห์ของภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของ Tati ไม่ว่าจะเป็น Mon Oncle ในปี 1961 ที่บอกเล่าเรื่องราวของบ้านยุคโมเดิร์นอันเต็มไปด้วยอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติ วิถีชีวิตของผู้คนที่ยึดโยงและผูกติดกับมันมากจนเกินไป หรือเรื่อง Play Time ในปี 1967 บอกเล่าฉากออฟฟิศในยุคโมเดิร์นที่โต๊ะทำงานของพนักงานถูกแบ่งเป็นล็อก ๆ ด้วยฉากกั้นรูปทรงสี่เหลี่ยมสูงมิดหัว จนเป็นการทำงานที่มนุษย์กลายเป็นเหมือนเครื่องจักร  

เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งในหนังของ Tati คือการสร้างตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินเรื่อง ชื่อ Monsieur Hulot ที่เขานำแสดงด้วยตัวเอง 

‘Hulot’ เป็นชายวัยกลางคน ผู้หลงยุคหลงสมัยเข้าไปอยู่ผิดที่ผิดทางในหนังหลาย ๆ เรื่องของเขา ด้วยบทบาทที่แตกต่างกันไป ท่าทางเก้งก้าง เสื้อกันฝนสีแทน หมวกสีน้ำตาล ร่มคู่ใจ กับไปป์ยาสูบไม้ คือเอกลักษณ์ของ Hulot ที่แฟนหนังจดจำได้เป็นอย่างดี

สถาปัตยกรรมสะท้อนปัญหาน้ำมันแพงและการใช้รถของมนุษย์ในหนังฝรั่งเศส Trafic
สถาปัตยกรรมสะท้อนปัญหาน้ำมันแพงและการใช้รถของมนุษย์ในหนังฝรั่งเศส Trafic

ในหนังเรื่อง ‘Trafic’ เมอซิเออร์ Hulot ได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้ออกแบบรถยนต์ของบริษัท Altra เขาออกแบบรถตั้งแคมป์ ยานพาหนะแฟนตาซีที่แปลงส่วนประกอบต่าง ๆ ของรถยนต์ให้กลายเป็นอุปกรณ์แฝงความตลกขบขัน อย่างเก้าอี้นั่งที่กางออกจากกันชนท้ายรถ ตะแกรงหน้ารถที่พับออกมาปรุงสเต๊กได้ รวมถึงเครื่องใช้ในบ้านห้องครัว เช่น เตาแก๊ส ฝักบัวอาบน้ำ เตาบาร์บีคิว เตียงนอน และอื่น ๆ ที่นำเข้ามาไว้ในรถปิกนิกคันนี้ เหมือนเป็นการแซะกลาย ๆ ถึงจำนวนชั่วโมงที่ผู้คนใช้เวลาอยู่ในรถยนต์ในหนึ่งวัน ราวกับเป็นบ้านตัวเองอย่างไรอย่างนั้น

แน่นอนว่ารถยนต์ที่ออกโดย Hulot นั้นสวนทางกับยุคสมัยที่บริษัทอื่น ๆ กำลังขายรูปทรงล้ำสมัยและเทคโนโลยียานยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งแสดงถึงศักยภาพและประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่ ความเร็ว ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย พื้นที่เก็บของที่กว้างขวาง อุปกรณ์และวิทยุโทรทัศน์ในรถยนต์ 

02
ออโต้โทเปีย (Autopia)

เรื่องราวของความวุ่นวายเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง ‘รถตั้งแคมป์’ คันนี้ไปยังงานเแสดงรถยนต์มอเตอร์โชว์ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ผ่านทางหลวงและทางด่วนปารีสและถนนในเบลเยียม โดยตลอดทางรถขนส่งพบอุปสรรคมากมาย ทำให้การเดินทางล่าช้า เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์สะท้อนให้เห็นโครงสร้างพื้นทางของตัวเมือง และสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้รถยนต์โดยเฉพาะ

ทั้งถนนทางหลวงและทางด่วนยกระดับที่แผ่กิ่งก้านสาขายาวออกไปจนสุดลูกหูลูกตา อุโมงค์ถนน สะพานถนนข้ามแม่น้ำตัดผ่านภูเขาที่สร้างภูมิทัศน์ใหม่ให้กับเมือง โครงสร้างพื้นฐานที่การก่อสร้างไม่มีวันสิ้นสุด ตราบใดที่ความต้องการใช้รถใช้ถนนยังคงมีอยู่

เส้นแบ่งทาง รั้วกันชน ป้าย และสัญญาณไฟจราจรที่ผุดขึ้นเป็นระยะ ๆ ควบคู่กับถนนหนทาง คอยกำกับควบคุมผู้ขับขี่ 

เมื่อผู้คนต้องใช้เวลาอยู่ในรถมากขึ้น ป้ายโฆษณาชื่อห้างร้านต่างสร้างให้สูงเท่ากับระดับสายตาของผู้ใช้รถ บ้างสูงขึ้นไปกว่าระดับทางด่วน บ้างติดบนหน้าของอาคารตึกสูง (Façade) 

สถาปัตยกรรมสะท้อนปัญหาน้ำมันแพงและการใช้รถของมนุษย์ในหนังฝรั่งเศส Trafic
ย้อนดูสถาปัตยกรรมในหนังฝรั่งเศส Trafic ปี 1971 ที่สะท้อนสะท้อนปัญหาการใช้รถและน้ำมันแพง

เริ่มมีปั๊มน้ำมันขึ้นตามสองข้างทางของถนนเพื่อเติมเชื้อเพลิงให้กับการเดินทางระยะไกล ปั๊มน้ำมันคือตัวอย่างของรูปแบบทางสถาปัตยกรรม (Typology) ที่ถือกำเนิดขึ้นจากรถยนต์หรือคนขับโดยแท้ 

ท้ายที่สุด ลานจอดรถกลายเป็นโปรแกรมบังคับของการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เหล่าสถาปนิกต้องตอบสนองต่อกฎทางกายภาพของตัวรถ ไม่ว่าจะเป็นขนาด สัดส่วน รัศมีการตีวง หรือกระทั่งความชันของทางลาดเข้าที่จอดรถ

หนึ่งซีนของหนังเรื่องนี้ถ่ายทอดอุบัติเหตุบนมอเตอร์เวย์กลางสี่แยก ซึ่งมีตำรวจจราจรคอยให้สัญญาณมือกำหนดทิศทางของรถที่สัญจรไปมา วุ่นวายจนเกิดอุบัติเหตุโดยรถบรรทุกขนส่งรถ Altra ประสานงาเข้ากับรถเก๋งที่วิ่งมาจากอีกทางหนึ่ง การชนนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ ทำให้รถยนต์อีกหลายสิบคันไหลไปชนกันอย่างต่อเนื่อง เมื่อรถทุกคันหยุดนิ่ง ความตลกที่ Tati แทรกเข้าไปในฉากนี้คือ การที่ผู้โดยสารและคนขับโผล่ออกมาบนท้องถนนและเริ่มยืดเส้นยืดสาย บิดขี้เกียจ ผ่อนกลายอิริยาบถหลังจากที่อยู่บนรถเป็นเวลานานนั่นเอง

03
มอเตอร์โชว์ (Motor Show)

ภาพยนตร์ตลกล้อเลียนของ Tati เป็นเหมือนกระจกหลังรถที่สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมขณะนั้น อย่างที่หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ได้ค่อนข้างครบถ้วน ตั้งแต่ฉากเปิดหนังในโรงงานผลิตรถยนต์ ให้เราเห็นกระบวนการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ของรถยนต์แบบ Mass-production ขั้นตอนการทำซ้ำ ๆ ที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักร

ต่อมาในฉากงานมอเตอร์โชว์ ก็ได้ถ่ายทอดให้เราเห็นบรรยากาศของการซื้อขายรถยนต์ในยุคนั้น มีเหล่าเซลส์แมนขายรถจากแบรนด์ต่าง ๆ พยายามขายจุดเด่นรถตัวเอง ผ่านเสียงการเปิดปิดกระโปรงหน้า กระโปรงหลัง ประตูรถ ไปจนถึงท่าทางของผู้เข้าชมที่เข้าไปสัมผัสและทดลองนั่งในตัวรถ 

ฉากเหล่านี้ถ่ายทำจากสถานที่จริงในห้องโถงของสถานที่จัดงานในอาคาร Europa-hal ของศูนย์การประชุมและนิทรรศการ RAI ที่เก่าแก่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีงานจัดแสดงรถยนต์ครั้งที่ 64 หรือที่เรียกว่า AutoRAI ประจำปี 1971 นั่นหมายความว่ามีคนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่ากำลังถ่ายภาพยนตร์ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องกลายเป็นเหมือนสารคดีที่ถ่ายทอดเหตุการณ์จริงในสมัยนั้น 

ย้อนดูสถาปัตยกรรมในหนังฝรั่งเศส Trafic ปี 1971 ที่สะท้อนสะท้อนปัญหาการใช้รถและน้ำมันแพง
ย้อนดูสถาปัตยกรรมในหนังฝรั่งเศส Trafic ปี 1971 ที่สะท้อนสะท้อนปัญหาการใช้รถและน้ำมันแพง

ด้วยโครงสร้างเหล็กทรัส (Truss) ของหลังคาที่แผ่ออกออกไปโดยไม่มีเสาระหว่างกลาง สร้างห้องโถงเพดานสูงและลานพื้นที่กว้างขนาดใหญ่ที่จุคนได้ถึง 12,900 คน วัสดุเหล็กสีเทาและกระจกถ่ายทอดกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ที่ตัวผู้กำกับมักวิจารณ์ถึงความแข็งกระด้างไร้ตัวตน เหมือนกับห้องโถงแห่งนี้เป็นเหมือนเปลือกนอก พื้นที่ภายในห้องโถงจะปรับเปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้ หรือแม้แต่อาคารนี้จะย้ายไปวางที่ไหนก็คงไม่มีอะไรแตกต่างออกไป 

มากกว่าไปนั้น คอมเพล็กซ์แห่งนี้รองรับรถยนต์ได้กว่า 4,000 คัน ซึ่งทำให้เห็นความสำคัญของลานจอดรถที่เข้ามามีอิทธิพลต่อออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างมากในสมัยนั้น

04
Traffic

ย้อนดูสถาปัตยกรรมในหนังฝรั่งเศส Trafic ปี 1971 ที่สะท้อนสะท้อนปัญหาการใช้รถและน้ำมันแพง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า รถยนต์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันอย่างมีนัยยะสำคัญ นอกเหนือจากอิทธิพลเชิงสถาปัตยกรรมและเมือง ความเร็วในการเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังหมุดหมาย ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก คิดง่าย ๆ ถ้าในหนึ่งวัน เราย่นระยะเวลาในการเดินทางได้เพียงวันละ 15 นาที ก็คงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะนั่นอาจหมายถึงเวลาพักผ่อนที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละวัน 

ปัจจุบันประเทศในแถบยุโรปกำลังสร้างมาตรการส่งเสริมการลดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคลในท้องถนน ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโครงสร้างรถสาธารณะ และการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า การออกแบบเมืองให้เป็นเมืองที่เดินได้ ลดรัศมีการเดินทางของผู้คน เพราะปัญหารถติด ไม่ว่าเกิดจากการกระจุกตัวของความเจริญในเมืองหลวง หรือการวางผังในรูปแบบของชานเมืองที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไป (Urban Sprawl) คงไม่สามารถแก้ไขโดยการสร้างถนนให้ยาวออกไปเรื่อย ๆ

ในขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ คงถึงเวลาแล้วที่เราควรวางแผนระยะยาวเพื่อลดปริมาณการพึ่งพาน้ำมันให้น้อยลง โดยสถิติการใช้น้ำมันสำเร็จรูปของประเทศไทยใน พ.ศ. 2564 อยู่ที่ 120 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งวิกฤตราคาน้ำมันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก คำถามคือเราเรียนรู้อะไรจากวิกฤตแต่ละครั้ง

ย้อนดูสถาปัตยกรรมในหนังฝรั่งเศส Trafic ปี 1971 ที่สะท้อนสะท้อนปัญหาการใช้รถและน้ำมันแพง

การหาจุดสมดุลระหว่างการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล รถขนส่งสาธารณะ รถไฟระหว่างเมือง หรือแม้แต่การเดินเท้า น่าจะเป็นคำตอบที่แฝงอยู่ในฉากปิดท้ายในภาพยนตร์ Trafic ของ Tati ที่ท้ายที่สุดแล้ว ผู้คนต่างเดินเท้าแทรกไปตามช่องว่างระหว่างตัวรถที่จอดแน่นิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน ขณะที่ฝนกำลังโปรยลงมา

Citation and Image References :

Tati, J. (Director). (1971). Traffic [Film]. Les Films Gibé, Selenia Cinematografica, Les Films Corona.

Bellos, D. (1999). Jacques Tati : his life and art. London: Harvill.

สถิตการใช้น้ำมัน ปี พ.ศ. 2564, สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

www.criterion.com

cinematicamsterdam.wordpress.com

www.atlasofplaces.com

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ