11 กุมภาพันธ์ 2021
12 K

นี่จะถึงวันตรุษจีนหรือวันปีใหม่จีนแล้ว ตรุษจีนไม่ใช่แค่วันเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ เป็นวันดีมีความหมายหลายอย่าง อย่างหนึ่งแสดงถึงความกตัญญู เรื่องนี้คนจีนถือที่สุด ที่เห็นๆ ก็คือการเซ่นไหว้บูชา จะไหว้เจ้าที่ในบ้าน ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้เจ้าที่นอกบ้าน ไหว้เทพยดาที่วัด หรือศาลเจ้าที่ตัวเองนับถือ การเซ่นไหว้บูชาสิ่งทั้งหลายนี้ เพราะเป็นผู้มีบุญคุณ อยู่ดีกินดีมาโดยตลอดรอดฝั่งก็จากสิ่งเหล่านี้

พอเซ่นไหว้แล้ว วันต่อมาก็เป็นตรุษจีนหรือปีใหม่ นี่ถือว่าเป็นวันมงคล เป็นวันแห่งการให้ อย่างแรกให้ตัวเองสงบ มีสติ จะอยู่นิ่งๆ เพื่อทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาแล้ว ทำบุญ ทำทาน เพื่อเป็นบุญกุศลต่อไปในชีวิตข้างหน้า โดยรวมๆ เป็นความสำคัญของวันตรุษจีน 

อาหารไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษ จากรุ่นอาม่าทำ สู่รุ่นเครื่องเซ่นไหว้สำเร็จรูป

อาหารเซ่นไหว้ตอนตรุษจีน ไหว้เจ้าที่ในบ้าน นอกบ้าน อาจจะเป็นเรื่องของความเชื่อและพิธีกรรม แต่เซ่นไหว้บรรพบุรุษ นี่เหมือนเป็นการไหว้จากใจแท้ๆ เมื่อตั้งเครื่องเซ่นไหว้ จุดธูป จุดเทียน จะตั้งจิตอธิษฐาน บอกกล่าวขอให้บรรพบุรุษมารับอาหารทุกอย่างที่ทำนี้ด้วยความตั้งใจ ทำจากสูตรบ้านใครก็บ้านนั้น เคยทำกันมาตั้งแต่รุ่นต้นตระกูล ส่งต่อมาถึงยาย ถึงแม่ ถ้าแม่มีกำลังทำไหว ก็ยังได้ทำตามสูตรดั้งเดิมที่สืบทอดมา เหมือนกับว่าไหว้บรรพบุรุษด้วยอาหารต้นตำหรับของตระกูลนั่นแหละ

การสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนเป็นการรักษาไว้เพื่อการระลึกถึง ก็ระยะห่างเป็นปีจึงจะได้ทำครั้งหนึ่ง พอไหว้เสร็จสรรพก็กินกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว สมมติใครในสมัยนี้ทำเองกับมือ แม่บอกว่าเหมือนที่ย่าทำ นี่ก็เท่ากับ 3 รุ่นเข้าไปแล้ว ยังเหมือนเดิมก็จะดีใจ แต่ถ้ารสหย่อนๆ ลงไปคงไม่ว่ากัน แต่รู้ว่าหย่อนตรงไหน ต่างกันอย่างไร

นั่นเป็นเพียงอาหารเซ่นไหว้ปีละครั้ง ถ้ารวมอาหารประจำบ้านอื่นๆ ที่คนรุ่นปัจจุบันยังจำได้ แล้วยังทำต่อเนื่องอยู่ อาหารของบ้านก็ยังอยู่ แต่ถ้าถอยห่างจากการทำอาหารเป็นเวลานานๆ อาหารจะหายตามบรรพบุรุษไป แล้วจะเป็นอย่างนั้นไหม นั่นเป็นคำถาม และพอจะเห็นคำตอบบ้างแล้ว

ถ้าจะดูการสืบทอดอาหารของบ้านเป็นมาอย่างไร เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ต้องดูโครงสร้างวิถีจีนย้อนหลังไปนานๆ เอาตั้งแต่อพยพมาเมืองไทย คนจีนนั้นมองเมืองไทยเหมือนเมืองแห่งอนาคตใหม่ ก็มาจากที่เคยได้ยินปากต่อปาก หรืออาจจะได้เห็นเรือสำเภาที่เอาสินค้ามาขาย แล้วมีผู้โดยสารมาด้วยเต็มเรือ กี่ลำๆ ก็เป็นอย่างนั้น อีกทั้งเห็นว่าเมืองไทยไม่อยู่ห่างเกินไป เดินทางตอนปลอดมรสุมใช้เวลาไม่นานก็ถึง ดีกว่าเมืองเป้าหมายที่ดูวิเศษ แต่ต้องเดินทางไกลๆ ก็ไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในทะเล อยู่บ้านตัวเองอดอยากอยู่แล้ว ไปเสี่ยงเอาที่เมืองไทยชีวิตอาจจะดีขึ้นก็ได้ พอตั้งใจแล้วต้องอดออมเงินเป็นปีกว่าจะได้ค่าโดยสารเรือ

อาหารบนโต๊ะไหว้เจ้า จากรุ่นอาม่าทำ สู่รุ่นเครื่องเซ่นไหว้สำเร็จรูป

ที่มาแรกๆ เป็นคนหนุ่มวัยฉกรรจ์ เข้ามากรุงเทพฯ มากที่สุด แต่ชีวิตในกรุงเทพฯ ลำบากยากเย็น เพราะมีคนจีนอยู่ก่อนแล้วเยอะแยะ อาชีพมีน้อย ที่เหลือมีแต่งานหนักๆ แบกหามสารพัดก็ต้องทำ มีเยอะที่เจ็บป่วย ตายแบบอนาถา ถ้าโชคดีพอเห็นช่องทาง เห็นอนาคตที่ดี ก็คิดถึงคนที่เมืองจีน หลายคนบอกกลับไปให้พี่ชาย น้องชาย ลูก เมีย หรือญาติๆ ในหมู่บ้านเดียวกัน หรือแม้กระทั่งเมียที่ยังค้างเติ่งอยู่ที่เมืองจีนให้ตามมา แน่นอนว่าทางเลือกใหม่ที่ดูไว้ มีทั้งอยู่กรุงเทพฯ และตามต่างจังหวัดต่างๆ

เมื่อมาอยู่ในเมืองไทยต้องเกาะกลุ่มตามกลุ่มภาษาไว้เป็นหลัก จะได้ช่วยเหลือกันได้ กลุ่มภาษาแต้จิ๋วที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดและกระจายไปทั่ว กลุ่มภาษาไหหลำ ภาษากวางตุ้ง ก็เกาะกลุ่มเป็นย่านๆ ไป แต่มีบางกลุ่มอย่างชาวฮกเกี้ยนที่นิยมลงผ่านไปทางใต้

นั่นเป็นการมาของคนจีน ก็มาถึงเรื่องวิถีชีวิตประจำวัน การอยู่อาศัยแรกๆ คับแคบ การกินต้องประหยัด ต้องง่ายๆ เพราะไม่มีเนื้อที่จะทำอะไรได้มาก อุปกรณ์ก็มีเท่าที่จำเป็น ของกินอย่างถั่วลิสงคั่วใส่เกลือ หนำเลี๊ยบ เต้าหู้ยี้ กินกับข้าวต้ม ถ้ามีหมูสามชั้นก็ต้มใส่เกลือใส่ถั่วลิสง เคี่ยวจนเปื่อย เก็บได้นาน กินได้หลายวัน เครื่องในหมูต้มผักกาดดองใส่เกลือ ถ้าพอมีเงินก็กินปลา แล้วสมัยก่อนนั้นจะกินปลาทะเล นั่นมีมากที่สุด ราคาถูก เพราะเป็นปลาด้อยค่าของคนไทยที่ไม่ชอบกินปลาทะเล เช่น ปลาใบขนุน ปลาน้ำดอกไม้ ปลากุเลา ปลาดาบยาว ทาเกลือแล้วนึ่ง ผักกาดดอง บ๊วยดอง ต้องทำเป็นทุกคน

อาหารบนโต๊ะไหว้เจ้า จากรุ่นอาม่าทำ สู่รุ่นเครื่องเซ่นไหว้สำเร็จรูป

วันตรุษจีนถึงจะรู้ว่าเป็นวันสำคัญ แต่ครั้งแรกๆ อาจไม่พร้อมไหว้ในบ้าน ไปไหว้ที่ศาลเจ้า ในละแวกชุมชน ซึ่งผู้ที่มาก่อนสร้างเล็กๆ เป็นแบบชั่วคราวไว้ ความเชื่อต่อศาลเจ้าของคนจีนในไทยลึกซึ้งมาก เพราะตอนมาเมืองไทยนั้นมีแต่ความหวัง จะผจญอะไรบ้างไม่รู้ ก็ไปเอาทราย ผงธูป ในกระถางธูปที่ศาลเจ้าของตำบลที่ตัวเองอยู่ ห่อเล็กๆ ติดตัวมา ไหว้ขออำนาจเทพผู้เป็นเจ้าช่วยคุ้มครองการเดินทางให้ด้วย นี่เป็นกำลังใจ เมื่อมาถึงเมืองไทยแล้วก็เอาทราย ผงธูป เทใส่ที่ศาลเจ้า เมื่อถึงตรุษจีนก็ไปไหว้ พร้อมผลไม้ที่พอหาได้เป็นของบูชา

ครอบครัวเริ่มเติบโตขึ้น มีลูกๆ เป็นรุ่นที่ 2 ตามธรรมเนียมจีน ถ้าลูกสาวแต่งงานต้องออกไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ถ้าลูกชายแต่งงาน ฝ่ายผู้หญิงที่เป็นสะใภ้จะเข้าบ้าน ไม่เหมือนธรรมเนียมไทยที่ฝ่ายชายต้องออกจากบ้านไปเป็นลูกเขยในบ้านฝ่ายหญิง

ระบบครอบครัวจีน สะใภ้ทำงานหนักมาก ต้องทำตามกฎระเบียบของบ้าน อาหารการกินต้องยึดรูปแบบที่แม่ของบ้านฝ่ายชายทำมาก่อน ถึงมีความรู้จากบ้านเดิมติดตัวมาก็ทำเสริมไปบ้าง และถ้าในบ้านนั้นมีสะใภ้หลายคน จะมีระบบจัดวันทำงานหรือแบ่งงานให้รับผิดชอบไป

แม่ของบ้านที่เป็นคนประหยัด การกินก็ต้องประหยัดตามด้วย แต่ก็ยังผ่อนคลายและปรับตัว เมื่อฐานะดีขึ้น การรู้แหล่งวัตถุดิบทางอาหารกว้างขวางขึ้น อาหารการกินก็ดีขึ้น ถึงจะเป็นอาหารพื้นๆ แต่ยังเป็นอาหารจีน เมื่อถึงวันตรุษจีน ครอบครัวใหญ่ก็ต้องทำอาหารเป็นเรื่องเป็นราว มากชนิดขึ้น ในปริมาณมากขึ้น เพราะเมื่อเซ่นไหว้แล้ว ต้องให้พอกินกันทั้งครอบครัว 

อาหารบนโต๊ะไหว้เจ้า จากรุ่นอาม่าทำ สู่รุ่นเครื่องเซ่นไหว้สำเร็จรูป

เครื่องเซ่นไหว้ ผลไม้ต้องครบจำนวนตามความเชื่อ ขนมต้องทำเอง เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู ส่วนอาหารคาวมีเป็ด ไก่ หมู ปลา กุ้ง ปลาหมึกแห้ง

อาหารอื่นๆ ที่ทำในวันนั้นมีหลายอย่าง แล้วแต่บ้านใครก็บ้านนั้น ตัวอย่างเช่นหน่อไม้จีนแห้งจากเมืองจีน ต้มกับโครงไก่ น่องไก่ ซี่โครงหมู บางบ้านมีเทคนิคต้องต้มหน่อไม้หลายๆ น้ำ เวลาต้มใส่เกลือใส่ซีอิ๊ว ปรุงรสตามชอบ ยิ่งเคี่ยวนานๆ ยิ่งดี 

อีกอย่างที่ต้องทำเป็นผัดหมี่ซั่วกับผัก เพื่อคติความเชื่อว่าให้อายุยืนยาวเหมือนเส้นหมี่ แต่อีกอย่างคือหมี่ซั่วเป็นของกินที่บรรพบุรุษใช้ประทังชีวิตในเรือเมื่อตอนมาจากเมืองจีน หมี่ซั่วมีความแห้ง น้ำหนักเบา ไม่เสียง่าย เพราะเค็มเกลือ ทำกินง่ายเพียงต้มกับน้ำ เป็นอาหารที่มีความหมาย การผัดหมี่ครั้งแรกๆ แค่ผัดกับดอกกุยช่าย ต่อมาก็ใส่กุ้ง ใส่หมู ใส่ผักหลายๆ อย่างตามชอบของบ้านนั้น

สำหรับปลาที่เป็นส่วนหนึ่งของเซ่นไหว้ สมัยแรกๆ ใช้ปลาทะเลสารพัดทาเกลือแล้วนึ่ง ปลาช่อนก็ดี ใช้ทาเกลือนึ่งที่เรียกว่า ปลาช่อนแป๊ะซะ ตอนหลังๆ ปรับปรุงใส่โน่น ปรุงนี่ จนถูกใจ ปลาอื่นๆ ก็เหมือนกัน มีปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว ปลากระพงทอดราดขิงปรุงรส ถ้าบ้านไหนเป็นปลาจาระเม็ดขาวนึ่งบ๊วย นั่นแสดงว่ามีฐานะแล้ว

อาหารบนโต๊ะไหว้เจ้า จากรุ่นอาม่าทำ สู่รุ่นเครื่องเซ่นไหว้สำเร็จรูป
อาหารบนโต๊ะไหว้เจ้า จากรุ่นอาม่าทำ สู่รุ่นเครื่องเซ่นไหว้สำเร็จรูป

สมัยก่อนกินคุ้ม เซ่นไหว้แล้ว ไก่ เป็ด กินไม่หมดก็รวนเค็ม นี่เป็นสไตล์แต่ละบ้านจะรวนแบบไหน บางบ้านรวนแบบใส่น้ำมัน บางบ้านรวนน้ำใส่ซีอิ๊ว กินไม่หมดอีก ตอนนี้ทำจับฉ่ายเลย ใส่ผักเยอะๆ ต้มหน่อไม้ หมูสามชั้น กินไม่หมด ก็ใส่หม้อจับฉ่ายสถานเดียว

พอมองออกแล้วว่าอาหารเซ่นไหว้ แล้วอาหารที่กินในครอบครัว มีสูตรของครอบครัวที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น แล้วคำถามว่าจะยังเป็นอย่างนั้นอยู่อีกหรือไม่ คำตอบคือน้อยลงมาก คนรุ่นแม่ที่เคยทำ อาจจะไม่อยู่หรือไม่มีแรงที่จะทำแล้ว คนรุ่นใหม่เป็นคนทำงาน ชีวิตประจำวันถูกบังคับให้กินนอกบ้าน ให้ซื้อกินมากกว่าทำกิน การทำกินเริ่มน้อย แล้วตรุษจีนไม่ใช่วันหยุดราชการ การตั้งเครื่องเซ่นไหว้อาจจะยุ่งยาก ถ้ามีคนช่วยก็ถือว่ายังเซ่นไหว้ได้ การตั้งเครื่องเซ่นไหว้ตรุษจีนทำได้ 2 อย่างแรก เอาตัวเองเป็นตัวตั้งชอบกินอะไรก็ไหว้ตามนั้น กินเป็ดพะโล้มาทุกปีน่าเบื่อ ก็เปลี่ยนเป็นห่านพะโล้เจ้าดัง ไก่ต้มเปลี่ยนเป็นไก่ทอดทั้งตัวพอกด้วยซอสกระเทียม หมูสามชั้นเคาหยก ปลาบู่นึ่งซีอิ๊ว กุ้งขาวนึ่งเกลือ หรือปลากระบอกฮ่องกงนึ่งเกลือ กินกับน้ำจิ้มซีฟู๊ด 

อาหารบนโต๊ะไหว้เจ้า จากรุ่นอาม่าทำ สู่รุ่นเครื่องเซ่นไหว้สำเร็จรูป

อย่างที่ 2 ซื้อเครื่องเซ่นไหว้ชุดสำเร็จรูป นั่นมีครบทุกอย่าง หาซื้อง่าย มีขายทั่วไป มีให้เลือกทุกราคา นั่นสะดวก น่าซื้อ มีเหตุจูงใจ เพราะทุกเจ้าที่ทำเครื่องเซ่นไหว้ขายจะเน้นคำว่าเป็นชุด เฮงๆ รวยๆ นั่นเป็นความจริง ที่ผู้ทำขายนั้นจะรวยๆ จากเทศกาลตรุษจีน 

สุดท้าย ไม่ว่าอย่างไรวันตรุษจีนยังเป็นวันสำคัญ แต่ในความหมายในการปฏิบัติแบบดั้งเดิมคงต่างไปแล้ว

Writer

Avatar

สุธน สุขพิศิษฐ์

ศิลปะ-ดนตรี-อาหาร ที่มีอยู่ในโลกนี้ ไม่มีพรมแดน ไม่มีภาษา ไม่มีการเมือง ไม่มีการกีดกัน ไม่มีรวยหรือจน เข้าถึงง่าย มีความสุขเท่าเทียมกัน เอาสามอย่างเท่านี้ก็พอ