“สมัยนั้นหนูยังไม่เกิด หนูจะรู้อะไร” คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ (ไปจนถึงรุ่นปู่รุ่นย่า) มักจะตัดเพ้อเช่นนี้ เมื่อฉันพูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในอดีต โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ในทรงจำของเขาอย่าง ‘ราชดำเนิน’ 

แถมช่วงนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกำลังกลับมาเป็นพื้นหลังของปรากฏการณ์ทางสังคมในวงสนทนาของพวกเราอีกครั้ง ยิ่งชวนให้ฉันตั้งคำถามถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ความผูกพันของมันกับชีวิตผู้คนแต่ละรุ่น และที่สำคัญ การส่งต่อความหมายเชิงสัญลักษณ์จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ว่า ‘ราชดำเนิน’ ในภาพจำของพวกเขานั้น เหมือนหรือต่างจาก ‘ราชดำเนิน’ ในสายตาของฉันหรือไม่ อย่างไร

ประจวบเหมาะเหลือเกินที่มิวเซียมสยามพึ่งเปิดตัวนิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่ ‘ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย’ ที่ชวนผู้ชม ‘ล่อง’ ไปตาม ‘รอย’ ของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ของฉันได้อย่างดีเยี่ยม แถมงานนี้มียังกระบวนการวิธีเล่าเรื่องที่ไม่ธรรมดา อย่างที่เราไม่เคยพบเห็นในพิพิธภัณฑ์ที่ไหนมาก่อน นั่นคือการมอบตำแหน่งหน้าที่ภัณฑารักษ์ให้กับกลุ่มคนสุดพิเศษกลุ่มหนึ่ง…

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

ภัณฑารักษ์วัยเก๋า

“มิวเซียมเซียมสยาม ในฐานะห้องปฏิบัติการทางพิพิธภัณฑ์กำลังหาวิธีใหม่ๆในการรับมือกับภาวะสังคมสูงวัย คงจะดีไม่น้อยหากผู้สูงวัยซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์ ความทรงจำ และศักยภาพ จะเป็นผู้เล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์…” 

ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร ภัณฑารักษ์ของมิวเซียมสยามเล่าให้เราฟังว่า เมื่อทีมงานได้รับโจทย์นี้ แทนที่จะคิดเองทำเองทั้งหมด พวกเขาเปิดรับสมัครผู้สูงอายุเพื่อมาร่วมกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘ภัณฑารักษ์วัยเก๋า เล่าเรื่องราชดำเนิน’ โดยสุดท้ายได้ผู้เข้าร่วมวัยเกษียณ 16 ท่าน แต่ละท่านล้วนเข้ามาช่วยแบ่งปันเรื่องเล่าของตนเองที่เกี่ยวข้องกับราชดำเนินในความทรงจำ อีกทั้งยังต่อยอดด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาคัดกรองและออกแบบเป็นนิทรรศการที่อัดแน่นไปด้วยสาระที่พวกเขาอยากรักษาและส่งต่อ 

“เราคาดไม่ถึงมากๆ ที่กลุ่มผู้สูงวัยเสนอเลยว่า ต้องมีผัสสะที่หลากหลาย ไม่เอาแค่ตัวหนังสือ คือต้องมี กลิ่น เสียง รส ลูกเล่นต่างๆ ที่จะถูกนำมาช่วยเล่าเรื่อง คือเขาคำนึงถึงการเข้าถึงที่หลากหลาย ทั้งๆ ที่ตอนแรกเราคิดว่าจะทำเป็นนิทรรศการเพื่อผู้สูงวัยด้วยซ้ำ แต่พวกเขาอยากทำนิทรรศการให้ทุกคน”

นอกจากนี้ คุณทวีศักดิ์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า อีกหนึ่งความน่าสนใจของการร่วมงานกับกลุ่ม ‘ภัณฑารักษ์วัยเก๋า’ นั้นคือการที่ทุกคนมีทักษะหรือความชำนาญของตนเองอยู่แล้ว แต่นำมาปรับใช้กับส่วนต่างๆ ของนิทรรศการได้ด้วย อาทิ วรพรรณ พันธ์พัฒนกุล ผู้เคยมีประสบการณ์ร่วมทำหนังสือ จุฬาฯ ร้อยปี ก็ได้นำทักษะของท่านมาต่อยอดเป็นการนำเสนอเส้นเวลา ‘Timeline ทำ’ไร 121 ปีของราชดำเนิน’ ที่อยู่ตรงทางเข้าเป็นต้น (แหม่ ภาษาวัยรุ่นได้อีก)

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

เวทีการประชัน

หากดูตามโซนจัดแสดงหลักๆ จะเห็นว่านิทรรศการนี้มีการแบ่งพื้นที่ด้วยจุดสำคัญหรือแลนด์มาร์กต่างๆ ของพื้นที่ราชดำเนิน แต่เมื่อค่อยๆ ซึมซับข้อมูลในแต่ละจุด ฉันจึงถึงบางอ้อว่า การนำเสนอนั้นมากกว่าแค่เท้าความประวัติศาสตร์ แต่เป็นการนำเสนอการตีความในแง่ ‘พื้นที่การประชัน’ (Contested Space) 

กล่าวคือ ราชดำเนินเป็นพื้นที่ของการประชันระหว่างสองขั้วตรงข้ามเสมอมา บางกรณีเป็นการปะทะที่มีผู้แพ้ผู้ชนะ บางสิ่งคงอยู่บางสิ่งถูกทำลายไป บางกรณีเป็นการประสมแทรกแซงของสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเก่าที่มีอยู่มาก่อน บ้างก็ประนีประนอมกันไป 

เริ่มตั้งแต่ตัวถนนราชดำเนินเองที่เป็นเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงพระนครในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยพระองค์ได้แบบมาจากถนนควีนส์ วอล์ก (Queen’s walk) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  และโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam
ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

ในการจัดสร้างนั้น มีพระราชประสงค์ให้ถนนราชดำเนินกว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมา สองข้างถนนนั้นยังเรียงรายไปด้วยห้างร้านทันสมัย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ชาวเกาะรัตนโกสินทร์สมัยก่อนอย่างยิ่ง 

หรืออีกพิกัดที่นำเอาความโมเดิร์นมาเปลี่ยนแปลงความดั้งเดิมอย่างชัดเจน คือ ‘เวทีมวยราชดำเนิน’ โดยเป็นเวทีที่ทำให้มวยไทยมีมาตรฐาน จากเมื่อก่อนที่ชกกันในงานวัด หรือชกกัน 8 ยกบ้าง 11 ยกก็มี แต่ละยกก็ 5 นาทีบ้าง 4 นาทีบ้าง แต่เวทีนี้เป็นเวทีแรกที่โฆษณาถึงมาตรฐานในการแข่ง ต้องใส่นวม เวทีกว้างยาวเท่าไร แต่ละยกแข่งกันนานเท่าไร ฯลฯ ซึ่งสิ่งนี้ไปผสานกับเวทีมวยอื่นๆ ทั้งประเทศ จนเดี๋ยวนี้ใช้กติกาเดียวกันหมด ทางภัณฑารักษ์เชื่อว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่กีฬามวยไทยนำไปต่อยอดในเวทีสากลได้ดั่งปัจจุบัน 

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam
ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

สิ่งที่น่ารักมากๆ อย่างหนึ่งที่มีให้เห็นทุกโซนคือ ‘กล่องแคปชัน’ หรือตัวข้อความคำอธิบายวัตถุจัดแสดงในโซนต่างๆ ที่ออกแบบให้มีตัวหนังสือขนาดใหญ่และอ่านง่ายสำหรับผู้เข้าชมทุกรุ่น แต่ยังคงขนาด A6 ที่ไม่รบกวนตัววัตถุ แทนที่จะอัดคำบรรยายของทุกอย่างอยู่บนกระดาษแผ่นเดียว เขากลับเลือกแบ่งเนื้อหาเป็นหลายๆ แผ่น เรียงกันในกล่อง ใครใคร่อ่านสิ่งของชิ้นไหน ก็เลือกหยิบคำอธิบายของชิ้นนั้นในกล่องไปอ่านได้เลยไม่ยุ่งยาก

มุมมองของหลายชีวิต

กระบวนการที่น่าสนใจที่สุดในโชว์นี้สำหรับฉัน คือนอกจากจะชมแลนด์มาร์กทีละโซนๆ ได้แล้ว เขายังมีอีกวิธีให้ชม (ฟัง )นิทรรศการผ่าน ‘เส้นทางเรื่องราว’ ถึง 8 เส้นทาง โดยผู้ชมใช้มือถือสแกน QR Code แล้วเลือกให้เสียงที่เราสนใจ เป็นผู้นำชมของเรา พาเดินลัดเลาะไปตามความทรงจำของพวกเขาแต่ละคนที่มีต่อราชดำเนิน

แต่ละเสียงล้วนแตกต่างกันสุดขั้ว เช่น เส้นทาง ‘เกิดวังปารุสก์’ อ้างอิงจากชีวประวัติของเจ้านายในวังตระกูลจักรพงษ์ ‘ราชดำเนินเปอร์สเปกทีฟ’ ที่เล่าเรื่องถนนเส้นนี้ผ่านมุมมองสถาปนิก ไปจนถึง ‘คนไร้บ้าน ราชดำเนินถนนแห่งการดิ้นรน’ ที่ตีแผ่เรื่องชีวิตของคนที่กินนอนอยู่ข้างถนน เป็นต้น ซึ่งเส้นเรื่องเหล่านี้ถูกปะติดปะต่อจากข้อมูลของคนจริงๆ ในพื้นที่ทั้งสิ้น

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

เส้นทางเหล่านี้นอกจากจะทำให้เรารู้สึกว่ามีผู้นำชมส่วนตัวแล้ว ยังช่วยให้เราย่อยและเลือกเสพข้อมูลในปริมาณที่ไม่เยอะเกินไป ฉันเลือกฟังสองเส้นเรื่องในงาน คือ ‘รสชาติแห่งราชดำเนิน’ ที่เป็นเส้นทางรวมร้านเด็ดชวนน้ำลายสอจากย่านนี้ (เด็ดทั้งแง่รสชาติและความเป็นมา) คัดสรรโดย โอภาส สุภอมรพันธ์ หนึ่งในสมาชิกทีมภัณรักษ์วัยเก๋า “ที่นี่ คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะได้รื้อฟื้นอดีต ผ่านอาหารร้านดั้งเดิมที่เล่าโยงกับประวัติศาสตร์ได้ เช่น ร้านนี้เคยไปออกร้านที่งานวชิราวุธ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อาจชวนคุณตาคุณยายไปร้านกาแฟสมัยใหม่ ลองกินเมนูใหม่ๆ เกิดการแลกเปลี่ยนบนโต๊ะอาหาร” 

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam
ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

กับอีกเส้นเรื่องที่ฉันเดินตาม คือ ‘อย่าได้อ้างว่าฉันเป็นผู้หญิงของเธอ’ ที่เล่าเรื่องราชดำเนินผ่านมุมมองของเฟมินิสต์ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของอีกหนึ่งภัณฑารักษ์วัยเก๋าที่เราอินเป็นพิเศษด้วย

ขอแอบบอกว่า ใครที่อยากจะทำความรู้จักราชดำเนินในมุมมองใหม่จากเส้นเรื่องทั้ง 8 ในนิทรรศการ เข้าไปฟังทางออนไลน์ได้ด้วย 

อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย Recycle

แม้ว่าแต่ละเส้นเรื่องจะพาเราเดินไปในทางที่ต่างกันตามความสัมพันธ์ของผู้เล่ากับราชดำเนิน แต่ทุกเส้นจะมาบรรจบกัน ณ โซนไฮไลต์ของนิทรรศการอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือแบบจำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

อย่างที่เราทราบกันดีว่า อนุเสาวรีย์นี้ถูกสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี 

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

ตัวดีไซน์มีลักษณะผสมระหว่างศิลปะโมเดิร์นและความเป็นไทย อีกทั้งยังมีนัยต่างๆ อาทิ ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญตรงกลาง สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) และอำนาจอธิปไตยทั้งสามภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อ่างตรงฐานปีกทั้งสี่ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึงปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง ฯลฯ 

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

วัตถุจัดแสดงในโซนนี้ก็มีเรื่องราวร้อนแรงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์จากเหตุการณ์ ‘ตุลามหาวิปโยค’ ใน พ.ศ. 2516 หนังสือปรัชญาการเมืองฝ่ายซ้ายของคาร์ล มาร์ก (Karl Marx) ซึ่งกลายมาเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’  มือตบและนกหวีดที่ถูกใช้จนกลายเป็นเสียงสัญลักษณ์ของการขับไล่รัฐบาลอยู่ช่วงหนึ่ง ฯลฯ แถมยังมีการตั้งตู้รับบริจาควัตถุเพิ่มเติม ทำให้เห็นว่า การใช้อนุสาวรีย์นี้เพื่อเป็นเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำๆ ในรอบชีวิตของประชนคนไทย ทั้งแต่รุ่น ‘เบบี้บูมเมอร์’ มาถึงรุ่น ‘แฮมเตอร์’ อย่างฉันเอง

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

พูดถึงการทำซ้ำ ยังมีวัตถุอีกชิ้นหนึ่งในโซนนี้ที่ฉันประทับใจ นั่นคือ ภาพวาด ‘ความทรงจำในอดีต ที่วาด (ฝัน) ใหม่’ เป็นภาพราชดำเนินยามค่ำคืนของ เขตนิธิ สุนนทะนาม หนึ่งในภัณฑารักษ์วัยเก๋า เขาเล่าว่า การอบรมกับมิวเซียมสยาม ทำให้เขากลับมาจับพู่กันวาดรูปอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้วาดรูปมาหลายสิบปี โดยเมื่อก่อนย้อนไปในสมัยที่เขาเรียนเพาะช่างภาคค่ำ เขาจะแอบมาวาดรูปที่มุมนี้บนถนนราชดำเนิน และด้วยราคาอุปกรณ์ศิลปะที่แพงจนเขาเข้าไม่ถึง เขาจึงจึงใช้กิ่งไม้ ใบไม้ หรือบัตรนักศึกษา เป็นเครื่องมือในการวาด ส่วนภาพที่มาวาดใหม่ในครั้งนี้ยังคงใช้เทคนิคเดิม แต่หันมาใช้บัตรเอทีเอ็มแทน 

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

ราชดำเนิน ไลฟ์สไตล์

เยื้องๆ กับอนุสาวรีย์จำลอง ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวของแลนด์มาร์กต่างๆ ผ่านวิธีที่น่าสนใจอย่างมากมาย อาทิ เสียงกดชักโครกของโรงแรมรัตนโกสินทร์ (Royal Hotel) ที่เคยเป็นโรงแรมระดับห้าดาวแห่งแรกของย่านนี้ แต่ในปัจจุบันมีคนไม่น้อยจดจำมันในฐานะ ‘ห้องน้ำ’ ของราชดำเนิน เพราะเขาเปิดให้ผู้ชุมนุมในหลายวาระไปเข้าห้องน้ำที่นั่นได้ อีกทั้งยังถูกใช้เป็นสถานที่กักตัวผู้โดยสารจากอินเดีย ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา

ภาพการเปิดตัวของห้าง ‘ไทยนิยม’ ศูนย์รวมร้านตัดเสื้อ ร้านทำผมสตรี และคลังแม่บ้าน ซึ่งก่อตั้งโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นห้างฯ ที่แสดงถึงมุมมองต่อผู้หญิงที่เปลี่ยนไป มองพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองที่มาจับจ่ายใช้สอย ชวนให้เปรียบราชดำเนินกับถนน Champs-Élysées ที่กรุงปารีส

เสียงร้องเพลงจากคลับโลลิต้าของ สำราญ วงศ์สาธิตกูล ภัณฑารักษ์วัยเก๋าผู้มาเล่าเรื่องความสำราญยามค่ำคืนในสมัยที่ราชดำเนินเป็นแหล่งรวมความเฟี้ยวฟ้าวของวัยโก๋ หรือแหวนตาเสือหมอดูโรงเรียนสนามหลวง และปูนพิมพ์รอยกระสุนจากร้านข้าวต้มระดับตำนาน ‘สกายไฮ’ เป็นต้น

บอกเลยว่า ถึงโซนนี้ขนาดมันจะไม่ใหญ่ไม่โต แต่ฉันเพลินมากกับการเดินละเมียดค่อยๆ อ่านเรื่องราวของคนนั้นทีคนนี้ที บางเรื่องก็มาแค่ประโยคหนึ่ง บางเรื่องก็มาเป็นหนังสือนิยายเล่มหนา ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไปเกือบชั่วโมง ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ คิดตาม

บทสรุปในหีบ

“การทำงานกับผู้สูงอายุนั้นไม่ง่ายเสมอไป โดยเฉพาะการทำงานกลุ่มที่มีการเห็นด้วย และขัดแย้งกัน” ทวีศักดิ์เล่าให้เราฟังว่าทีมภัณฑารักษ์วัยเก๋าทั้ง 16 ท่านนั้นใช้เวลานานกว่าจะเลือกข้อสรุปของนิทรรศการนี้ บางคนต้องการโชว์แค่เรื่องดีๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องการส่งต่อประวัติศาสตร์ที่สะเทือนใจ บางคนต้องการเปลี่ยนเรื่องเล่าของตัวเองนาทีสุดท้าย ฯลฯ 

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

“ในโซนด้านหลังเราเลยมีจุดในแต่ละท่านนำเสนอไอเดียของตัวเองในรูปแบบ Kiosk เป็นหีบเปิดที่มีทั้งภาพร่าง และโมเดลการจัดแสดง เรื่องที่เขาสนใจในแบบที่เขาพอใจจากคอร์สการอบรมกับทางมิวเซียม” 

ในบรรดาหีบที่เรียงรายกันทำให้ฉันเห็นว่า แต่ละท่านมีความคิดสร้างสรรค์ที่บรรเจิดมาก อย่าง ดาราณี เวชพงศา เลือกที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจที่ท่านได้จากการสะสมโปสการ์ดของคุณพ่อ ในรูปแบบแอปพลิเคชัน Tiktok ออกมาเป็น @postcardcafe ที่ท่านแชร์ภาพถ่ายจากมุมมองของท่านเอง เป็นต้น 

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam
ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

ฉันไม่ทราบว่าดาราณีใช้ Tiktok ตั้งแต่ก่อนเข้าโปรเจกต์นี้ หรือเป็นความพยายามที่ต้องการจะสื่อสารกับเจเนอเรชันใหม่ อย่างไรก็ตาม มันทำลายภาพจำของผู้สูงอายุที่ยืนย่ำอยู่กับวันวานในหัวของฉันไปอย่างสิ้นเชิง 

วงล้อเวียนวน (อะหรือว่า…?)

ตรงทางออกของนิทรรศการมีวงล้อขนาดใหญ่ให้ผู้ชมเข้าไปเดินถีบได้ เป็นสัญลักษณ์แทนวงล้อของประวัติศาสตร์ที่เวียนวนของราชดำเนินตลอด 121 ปี มีนัยว่าถ้าเรารู้อดีต เราก็จะรู้อนาคตได้ด้วย ในวงล้อฉันได้เห็นคำต่างๆ ที่เหมือนผู้จัดพยายามจะสื่อว่าเป็น ‘คีย์เวิร์ด’ ของพื้นที่ราชดำเนิน อาทิ การเปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตย รัฐประหาร ฯลฯ แต่คำที่ฉันคิดว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่แท้จริงของนิทรรศการนี้ คือ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ตามที่ทวีศักดิ์เล่าให้เราฟังว่า

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

“ส่วนตัวผมเองชอบเส้นเรื่อง ‘บทเพลงแห่งราชดำเนิน’ มันทำให้ผมเข้าใจมุมมชีวิตของคุณพี่ที่ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงอายุ 72 ที่เขาผ่านมาหลายอย่าง ตั้งแต่เขาเป็นเด็กอยู่ที่วัดบวรฯ จนถึงการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้ผมเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนนั้นเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าเราเจอในโซเชียลมีเดีย เราอาจจะด่าเขาไปแล้วนะ แต่การที่ได้มาคุยกัน การได้รับฟัง ทำให้เราเข้าใจเขามิติความเป็นคนมากขึ้น มันทลายอคติของเราลง”

ฉันเดินออกมาจากนิทรรศการด้วยความรู้สึกที่อยากขอบคุณภัณฑารักษ์วัยเก๋าทั้ง 16 ท่านด้วยตัวเอง ขอบคุณที่เล่าเรื่องราชดำเนินในหลายมุมมองให้ฉันได้เรียนรู้จากทั้งเหตุการณ์ที่ดีงามและเลวร้าย ให้ฉันได้เอาตัวเองไปใส่ในอดีตของพวกเขาได้ครู่หนึ่ง

อีกทั้งยังเตือนสติฉันว่า ในเวลาแห่งการต่อสู้ ไม่ว่าฉันจะเลือกอยู่ฝ่ายไหน ฉันก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจความเป็นคนของฝ่ายตรงข้าม ต้องมองให้เห็นความต้องการและการมีอยู่ของเขาในภาพรวมของสังคมให้ได้ ฉันปฏิเสธหรือขับไล่คนอื่นไม่ได้ ไม่ว่าเขาจะแตกต่างจากฉันมากขนาดไหน เพราะสังคมเราก็คงเหมือนกับพื้นที่ ‘ราชดำเนิน’ ที่เป็นของทุกๆ คน ทุกๆ รุ่น เท่าเทียมกัน

ล่องรอยราชดำเนิน เมื่อผู้สูงอายุแท็กทีมกันทำนิทรรศการเล่าเรื่องราชดำเนินในวันวาน, มิวเซียมสยาม, Museum Siam

นิทรรศการ ‘ล่องรอยราชดำเนิน: นิทรรศการผสานวัย’ จะจัดแสดงที่มิวเซียมสยามตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม หลังจากนั้นจะย้ายไปจัดแสดงที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน – 31 ตุลาคม ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographers

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู