“สมัยนั้นหนูยังไม่เกิด หนูจะรู้อะไร” คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ (ไปจนถึงรุ่นปู่รุ่นย่า) มักจะตัดเพ้อเช่นนี้ เมื่อฉันพูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในอดีต โดยเฉพาะเรื่องพื้นที่ในทรงจำของเขาอย่าง ‘ราชดำเนิน’
แถมช่วงนี้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยกำลังกลับมาเป็นพื้นหลังของปรากฏการณ์ทางสังคมในวงสนทนาของพวกเราอีกครั้ง ยิ่งชวนให้ฉันตั้งคำถามถึงความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ ความผูกพันของมันกับชีวิตผู้คนแต่ละรุ่น และที่สำคัญ การส่งต่อความหมายเชิงสัญลักษณ์จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ว่า ‘ราชดำเนิน’ ในภาพจำของพวกเขานั้น เหมือนหรือต่างจาก ‘ราชดำเนิน’ ในสายตาของฉันหรือไม่ อย่างไร
ประจวบเหมาะเหลือเกินที่มิวเซียมสยามพึ่งเปิดตัวนิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่ ‘ล่องรอยราชดำเนิน : นิทรรศการผสานวัย’ ที่ชวนผู้ชม ‘ล่อง’ ไปตาม ‘รอย’ ของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ของฉันได้อย่างดีเยี่ยม แถมงานนี้มียังกระบวนการวิธีเล่าเรื่องที่ไม่ธรรมดา อย่างที่เราไม่เคยพบเห็นในพิพิธภัณฑ์ที่ไหนมาก่อน นั่นคือการมอบตำแหน่งหน้าที่ภัณฑารักษ์ให้กับกลุ่มคนสุดพิเศษกลุ่มหนึ่ง…

ภัณฑารักษ์วัยเก๋า
“มิวเซียมเซียมสยาม ในฐานะห้องปฏิบัติการทางพิพิธภัณฑ์กำลังหาวิธีใหม่ๆในการรับมือกับภาวะสังคมสูงวัย คงจะดีไม่น้อยหากผู้สูงวัยซึ่งเต็มเปี่ยมด้วยประสบการณ์ ความทรงจำ และศักยภาพ จะเป็นผู้เล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์…”
ทวีศักดิ์ วรฤทธิ์เรืองอุไร ภัณฑารักษ์ของมิวเซียมสยามเล่าให้เราฟังว่า เมื่อทีมงานได้รับโจทย์นี้ แทนที่จะคิดเองทำเองทั้งหมด พวกเขาเปิดรับสมัครผู้สูงอายุเพื่อมาร่วมกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘ภัณฑารักษ์วัยเก๋า เล่าเรื่องราชดำเนิน’ โดยสุดท้ายได้ผู้เข้าร่วมวัยเกษียณ 16 ท่าน แต่ละท่านล้วนเข้ามาช่วยแบ่งปันเรื่องเล่าของตนเองที่เกี่ยวข้องกับราชดำเนินในความทรงจำ อีกทั้งยังต่อยอดด้วยการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อนำมาคัดกรองและออกแบบเป็นนิทรรศการที่อัดแน่นไปด้วยสาระที่พวกเขาอยากรักษาและส่งต่อ
“เราคาดไม่ถึงมากๆ ที่กลุ่มผู้สูงวัยเสนอเลยว่า ต้องมีผัสสะที่หลากหลาย ไม่เอาแค่ตัวหนังสือ คือต้องมี กลิ่น เสียง รส ลูกเล่นต่างๆ ที่จะถูกนำมาช่วยเล่าเรื่อง คือเขาคำนึงถึงการเข้าถึงที่หลากหลาย ทั้งๆ ที่ตอนแรกเราคิดว่าจะทำเป็นนิทรรศการเพื่อผู้สูงวัยด้วยซ้ำ แต่พวกเขาอยากทำนิทรรศการให้ทุกคน”
นอกจากนี้ คุณทวีศักดิ์ยังชี้ให้เห็นอีกว่า อีกหนึ่งความน่าสนใจของการร่วมงานกับกลุ่ม ‘ภัณฑารักษ์วัยเก๋า’ นั้นคือการที่ทุกคนมีทักษะหรือความชำนาญของตนเองอยู่แล้ว แต่นำมาปรับใช้กับส่วนต่างๆ ของนิทรรศการได้ด้วย อาทิ วรพรรณ พันธ์พัฒนกุล ผู้เคยมีประสบการณ์ร่วมทำหนังสือ จุฬาฯ ร้อยปี ก็ได้นำทักษะของท่านมาต่อยอดเป็นการนำเสนอเส้นเวลา ‘Timeline ทำ’ไร 121 ปีของราชดำเนิน’ ที่อยู่ตรงทางเข้าเป็นต้น (แหม่ ภาษาวัยรุ่นได้อีก)

เวทีการประชัน
หากดูตามโซนจัดแสดงหลักๆ จะเห็นว่านิทรรศการนี้มีการแบ่งพื้นที่ด้วยจุดสำคัญหรือแลนด์มาร์กต่างๆ ของพื้นที่ราชดำเนิน แต่เมื่อค่อยๆ ซึมซับข้อมูลในแต่ละจุด ฉันจึงถึงบางอ้อว่า การนำเสนอนั้นมากกว่าแค่เท้าความประวัติศาสตร์ แต่เป็นการนำเสนอการตีความในแง่ ‘พื้นที่การประชัน’ (Contested Space)
กล่าวคือ ราชดำเนินเป็นพื้นที่ของการประชันระหว่างสองขั้วตรงข้ามเสมอมา บางกรณีเป็นการปะทะที่มีผู้แพ้ผู้ชนะ บางสิ่งคงอยู่บางสิ่งถูกทำลายไป บางกรณีเป็นการประสมแทรกแซงของสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเก่าที่มีอยู่มาก่อน บ้างก็ประนีประนอมกันไป
เริ่มตั้งแต่ตัวถนนราชดำเนินเองที่เป็นเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงพระนครในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยพระองค์ได้แบบมาจากถนนควีนส์ วอล์ก (Queen’s walk) ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ และอธิบดีกรมสุขาภิบาล เป็นพนักงานจัดสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2442


ในการจัดสร้างนั้น มีพระราชประสงค์ให้ถนนราชดำเนินกว้างที่สุดเท่าที่เคยมีมา สองข้างถนนนั้นยังเรียงรายไปด้วยห้างร้านทันสมัย สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ชาวเกาะรัตนโกสินทร์สมัยก่อนอย่างยิ่ง
หรืออีกพิกัดที่นำเอาความโมเดิร์นมาเปลี่ยนแปลงความดั้งเดิมอย่างชัดเจน คือ ‘เวทีมวยราชดำเนิน’ โดยเป็นเวทีที่ทำให้มวยไทยมีมาตรฐาน จากเมื่อก่อนที่ชกกันในงานวัด หรือชกกัน 8 ยกบ้าง 11 ยกก็มี แต่ละยกก็ 5 นาทีบ้าง 4 นาทีบ้าง แต่เวทีนี้เป็นเวทีแรกที่โฆษณาถึงมาตรฐานในการแข่ง ต้องใส่นวม เวทีกว้างยาวเท่าไร แต่ละยกแข่งกันนานเท่าไร ฯลฯ ซึ่งสิ่งนี้ไปผสานกับเวทีมวยอื่นๆ ทั้งประเทศ จนเดี๋ยวนี้ใช้กติกาเดียวกันหมด ทางภัณฑารักษ์เชื่อว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่กีฬามวยไทยนำไปต่อยอดในเวทีสากลได้ดั่งปัจจุบัน


สิ่งที่น่ารักมากๆ อย่างหนึ่งที่มีให้เห็นทุกโซนคือ ‘กล่องแคปชัน’ หรือตัวข้อความคำอธิบายวัตถุจัดแสดงในโซนต่างๆ ที่ออกแบบให้มีตัวหนังสือขนาดใหญ่และอ่านง่ายสำหรับผู้เข้าชมทุกรุ่น แต่ยังคงขนาด A6 ที่ไม่รบกวนตัววัตถุ แทนที่จะอัดคำบรรยายของทุกอย่างอยู่บนกระดาษแผ่นเดียว เขากลับเลือกแบ่งเนื้อหาเป็นหลายๆ แผ่น เรียงกันในกล่อง ใครใคร่อ่านสิ่งของชิ้นไหน ก็เลือกหยิบคำอธิบายของชิ้นนั้นในกล่องไปอ่านได้เลยไม่ยุ่งยาก
มุมมองของหลายชีวิต
กระบวนการที่น่าสนใจที่สุดในโชว์นี้สำหรับฉัน คือนอกจากจะชมแลนด์มาร์กทีละโซนๆ ได้แล้ว เขายังมีอีกวิธีให้ชม (ฟัง )นิทรรศการผ่าน ‘เส้นทางเรื่องราว’ ถึง 8 เส้นทาง โดยผู้ชมใช้มือถือสแกน QR Code แล้วเลือกให้เสียงที่เราสนใจ เป็นผู้นำชมของเรา พาเดินลัดเลาะไปตามความทรงจำของพวกเขาแต่ละคนที่มีต่อราชดำเนิน
แต่ละเสียงล้วนแตกต่างกันสุดขั้ว เช่น เส้นทาง ‘เกิดวังปารุสก์’ อ้างอิงจากชีวประวัติของเจ้านายในวังตระกูลจักรพงษ์ ‘ราชดำเนินเปอร์สเปกทีฟ’ ที่เล่าเรื่องถนนเส้นนี้ผ่านมุมมองสถาปนิก ไปจนถึง ‘คนไร้บ้าน ราชดำเนินถนนแห่งการดิ้นรน’ ที่ตีแผ่เรื่องชีวิตของคนที่กินนอนอยู่ข้างถนน เป็นต้น ซึ่งเส้นเรื่องเหล่านี้ถูกปะติดปะต่อจากข้อมูลของคนจริงๆ ในพื้นที่ทั้งสิ้น

เส้นทางเหล่านี้นอกจากจะทำให้เรารู้สึกว่ามีผู้นำชมส่วนตัวแล้ว ยังช่วยให้เราย่อยและเลือกเสพข้อมูลในปริมาณที่ไม่เยอะเกินไป ฉันเลือกฟังสองเส้นเรื่องในงาน คือ ‘รสชาติแห่งราชดำเนิน’ ที่เป็นเส้นทางรวมร้านเด็ดชวนน้ำลายสอจากย่านนี้ (เด็ดทั้งแง่รสชาติและความเป็นมา) คัดสรรโดย โอภาส สุภอมรพันธ์ หนึ่งในสมาชิกทีมภัณรักษ์วัยเก๋า “ที่นี่ คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะได้รื้อฟื้นอดีต ผ่านอาหารร้านดั้งเดิมที่เล่าโยงกับประวัติศาสตร์ได้ เช่น ร้านนี้เคยไปออกร้านที่งานวชิราวุธ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อาจชวนคุณตาคุณยายไปร้านกาแฟสมัยใหม่ ลองกินเมนูใหม่ๆ เกิดการแลกเปลี่ยนบนโต๊ะอาหาร”


กับอีกเส้นเรื่องที่ฉันเดินตาม คือ ‘อย่าได้อ้างว่าฉันเป็นผู้หญิงของเธอ’ ที่เล่าเรื่องราชดำเนินผ่านมุมมองของเฟมินิสต์ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เรียบเรียงจากคำบอกเล่าของอีกหนึ่งภัณฑารักษ์วัยเก๋าที่เราอินเป็นพิเศษด้วย
ขอแอบบอกว่า ใครที่อยากจะทำความรู้จักราชดำเนินในมุมมองใหม่จากเส้นเรื่องทั้ง 8 ในนิทรรศการ เข้าไปฟังทางออนไลน์ได้ด้วย
อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย Recycle
แม้ว่าแต่ละเส้นเรื่องจะพาเราเดินไปในทางที่ต่างกันตามความสัมพันธ์ของผู้เล่ากับราชดำเนิน แต่ทุกเส้นจะมาบรรจบกัน ณ โซนไฮไลต์ของนิทรรศการอย่างปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือแบบจำลองอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
อย่างที่เราทราบกันดีว่า อนุเสาวรีย์นี้ถูกสร้างขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ตัวดีไซน์มีลักษณะผสมระหว่างศิลปะโมเดิร์นและความเป็นไทย อีกทั้งยังมีนัยต่างๆ อาทิ ครีบ 4 ด้าน สูงจากแท่นพื้น 24 เมตร มีรัศมียาว 24 เมตร หมายถึง วันที่ 24 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พานทูนฉบับรัฐธรรมนูญตรงกลาง สูง 3 เมตร หมายถึง เดือน 3 หรือ เดือนมิถุนายน (ขณะนั้นนับเมษายนเป็นเดือนแรกของปี) และอำนาจอธิปไตยทั้งสามภายใต้รัฐธรรมนูญ (นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ) พระขรรค์ 6 เล่ม ที่รายล้อมรอบป้อมกลางตัวอนุสาวรีย์ หมายถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อ่างตรงฐานปีกทั้งสี่ด้านเป็นรูปงูใหญ่ หมายถึงปีที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นปีมะโรง ฯลฯ

วัตถุจัดแสดงในโซนนี้ก็มีเรื่องราวร้อนแรงมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์จากเหตุการณ์ ‘ตุลามหาวิปโยค’ ใน พ.ศ. 2516 หนังสือปรัชญาการเมืองฝ่ายซ้ายของคาร์ล มาร์ก (Karl Marx) ซึ่งกลายมาเป็น ‘หนังสือต้องห้าม’ มือตบและนกหวีดที่ถูกใช้จนกลายเป็นเสียงสัญลักษณ์ของการขับไล่รัฐบาลอยู่ช่วงหนึ่ง ฯลฯ แถมยังมีการตั้งตู้รับบริจาควัตถุเพิ่มเติม ทำให้เห็นว่า การใช้อนุสาวรีย์นี้เพื่อเป็นเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำๆ ในรอบชีวิตของประชนคนไทย ทั้งแต่รุ่น ‘เบบี้บูมเมอร์’ มาถึงรุ่น ‘แฮมเตอร์’ อย่างฉันเอง

พูดถึงการทำซ้ำ ยังมีวัตถุอีกชิ้นหนึ่งในโซนนี้ที่ฉันประทับใจ นั่นคือ ภาพวาด ‘ความทรงจำในอดีต ที่วาด (ฝัน) ใหม่’ เป็นภาพราชดำเนินยามค่ำคืนของ เขตนิธิ สุนนทะนาม หนึ่งในภัณฑารักษ์วัยเก๋า เขาเล่าว่า การอบรมกับมิวเซียมสยาม ทำให้เขากลับมาจับพู่กันวาดรูปอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้วาดรูปมาหลายสิบปี โดยเมื่อก่อนย้อนไปในสมัยที่เขาเรียนเพาะช่างภาคค่ำ เขาจะแอบมาวาดรูปที่มุมนี้บนถนนราชดำเนิน และด้วยราคาอุปกรณ์ศิลปะที่แพงจนเขาเข้าไม่ถึง เขาจึงจึงใช้กิ่งไม้ ใบไม้ หรือบัตรนักศึกษา เป็นเครื่องมือในการวาด ส่วนภาพที่มาวาดใหม่ในครั้งนี้ยังคงใช้เทคนิคเดิม แต่หันมาใช้บัตรเอทีเอ็มแทน

ราชดำเนิน ไลฟ์สไตล์
เยื้องๆ กับอนุสาวรีย์จำลอง ยังมีการจัดแสดงเรื่องราวของแลนด์มาร์กต่างๆ ผ่านวิธีที่น่าสนใจอย่างมากมาย อาทิ เสียงกดชักโครกของโรงแรมรัตนโกสินทร์ (Royal Hotel) ที่เคยเป็นโรงแรมระดับห้าดาวแห่งแรกของย่านนี้ แต่ในปัจจุบันมีคนไม่น้อยจดจำมันในฐานะ ‘ห้องน้ำ’ ของราชดำเนิน เพราะเขาเปิดให้ผู้ชุมนุมในหลายวาระไปเข้าห้องน้ำที่นั่นได้ อีกทั้งยังถูกใช้เป็นสถานที่กักตัวผู้โดยสารจากอินเดีย ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา
ภาพการเปิดตัวของห้าง ‘ไทยนิยม’ ศูนย์รวมร้านตัดเสื้อ ร้านทำผมสตรี และคลังแม่บ้าน ซึ่งก่อตั้งโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือเป็นห้างฯ ที่แสดงถึงมุมมองต่อผู้หญิงที่เปลี่ยนไป มองพวกเธอเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองที่มาจับจ่ายใช้สอย ชวนให้เปรียบราชดำเนินกับถนน Champs-Élysées ที่กรุงปารีส
เสียงร้องเพลงจากคลับโลลิต้าของ สำราญ วงศ์สาธิตกูล ภัณฑารักษ์วัยเก๋าผู้มาเล่าเรื่องความสำราญยามค่ำคืนในสมัยที่ราชดำเนินเป็นแหล่งรวมความเฟี้ยวฟ้าวของวัยโก๋ หรือแหวนตาเสือหมอดูโรงเรียนสนามหลวง และปูนพิมพ์รอยกระสุนจากร้านข้าวต้มระดับตำนาน ‘สกายไฮ’ เป็นต้น
บอกเลยว่า ถึงโซนนี้ขนาดมันจะไม่ใหญ่ไม่โต แต่ฉันเพลินมากกับการเดินละเมียดค่อยๆ อ่านเรื่องราวของคนนั้นทีคนนี้ที บางเรื่องก็มาแค่ประโยคหนึ่ง บางเรื่องก็มาเป็นหนังสือนิยายเล่มหนา ทั้งหมดนี้ใช้เวลาไปเกือบชั่วโมง ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ คิดตาม
บทสรุปในหีบ
“การทำงานกับผู้สูงอายุนั้นไม่ง่ายเสมอไป โดยเฉพาะการทำงานกลุ่มที่มีการเห็นด้วย และขัดแย้งกัน” ทวีศักดิ์เล่าให้เราฟังว่าทีมภัณฑารักษ์วัยเก๋าทั้ง 16 ท่านนั้นใช้เวลานานกว่าจะเลือกข้อสรุปของนิทรรศการนี้ บางคนต้องการโชว์แค่เรื่องดีๆ แต่ก็มีไม่น้อยที่ต้องการส่งต่อประวัติศาสตร์ที่สะเทือนใจ บางคนต้องการเปลี่ยนเรื่องเล่าของตัวเองนาทีสุดท้าย ฯลฯ

“ในโซนด้านหลังเราเลยมีจุดในแต่ละท่านนำเสนอไอเดียของตัวเองในรูปแบบ Kiosk เป็นหีบเปิดที่มีทั้งภาพร่าง และโมเดลการจัดแสดง เรื่องที่เขาสนใจในแบบที่เขาพอใจจากคอร์สการอบรมกับทางมิวเซียม”
ในบรรดาหีบที่เรียงรายกันทำให้ฉันเห็นว่า แต่ละท่านมีความคิดสร้างสรรค์ที่บรรเจิดมาก อย่าง ดาราณี เวชพงศา เลือกที่จะส่งต่อแรงบันดาลใจที่ท่านได้จากการสะสมโปสการ์ดของคุณพ่อ ในรูปแบบแอปพลิเคชัน Tiktok ออกมาเป็น @postcardcafe ที่ท่านแชร์ภาพถ่ายจากมุมมองของท่านเอง เป็นต้น


ฉันไม่ทราบว่าดาราณีใช้ Tiktok ตั้งแต่ก่อนเข้าโปรเจกต์นี้ หรือเป็นความพยายามที่ต้องการจะสื่อสารกับเจเนอเรชันใหม่ อย่างไรก็ตาม มันทำลายภาพจำของผู้สูงอายุที่ยืนย่ำอยู่กับวันวานในหัวของฉันไปอย่างสิ้นเชิง
วงล้อเวียนวน (อะหรือว่า…?)
ตรงทางออกของนิทรรศการมีวงล้อขนาดใหญ่ให้ผู้ชมเข้าไปเดินถีบได้ เป็นสัญลักษณ์แทนวงล้อของประวัติศาสตร์ที่เวียนวนของราชดำเนินตลอด 121 ปี มีนัยว่าถ้าเรารู้อดีต เราก็จะรู้อนาคตได้ด้วย ในวงล้อฉันได้เห็นคำต่างๆ ที่เหมือนผู้จัดพยายามจะสื่อว่าเป็น ‘คีย์เวิร์ด’ ของพื้นที่ราชดำเนิน อาทิ การเปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตย รัฐประหาร ฯลฯ แต่คำที่ฉันคิดว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่แท้จริงของนิทรรศการนี้ คือ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ตามที่ทวีศักดิ์เล่าให้เราฟังว่า

“ส่วนตัวผมเองชอบเส้นเรื่อง ‘บทเพลงแห่งราชดำเนิน’ มันทำให้ผมเข้าใจมุมมชีวิตของคุณพี่ที่ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงอายุ 72 ที่เขาผ่านมาหลายอย่าง ตั้งแต่เขาเป็นเด็กอยู่ที่วัดบวรฯ จนถึงการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้ผมเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนนั้นเกิดขึ้นได้ ซึ่งถ้าเราเจอในโซเชียลมีเดีย เราอาจจะด่าเขาไปแล้วนะ แต่การที่ได้มาคุยกัน การได้รับฟัง ทำให้เราเข้าใจเขามิติความเป็นคนมากขึ้น มันทลายอคติของเราลง”
ฉันเดินออกมาจากนิทรรศการด้วยความรู้สึกที่อยากขอบคุณภัณฑารักษ์วัยเก๋าทั้ง 16 ท่านด้วยตัวเอง ขอบคุณที่เล่าเรื่องราชดำเนินในหลายมุมมองให้ฉันได้เรียนรู้จากทั้งเหตุการณ์ที่ดีงามและเลวร้าย ให้ฉันได้เอาตัวเองไปใส่ในอดีตของพวกเขาได้ครู่หนึ่ง
อีกทั้งยังเตือนสติฉันว่า ในเวลาแห่งการต่อสู้ ไม่ว่าฉันจะเลือกอยู่ฝ่ายไหน ฉันก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจความเป็นคนของฝ่ายตรงข้าม ต้องมองให้เห็นความต้องการและการมีอยู่ของเขาในภาพรวมของสังคมให้ได้ ฉันปฏิเสธหรือขับไล่คนอื่นไม่ได้ ไม่ว่าเขาจะแตกต่างจากฉันมากขนาดไหน เพราะสังคมเราก็คงเหมือนกับพื้นที่ ‘ราชดำเนิน’ ที่เป็นของทุกๆ คน ทุกๆ รุ่น เท่าเทียมกัน

นิทรรศการ ‘ล่องรอยราชดำเนิน: นิทรรศการผสานวัย’ จะจัดแสดงที่มิวเซียมสยามตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม หลังจากนั้นจะย้ายไปจัดแสดงที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร ถนนราชดำเนินกลาง ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน – 31 ตุลาคม ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่นี่