13 กุมภาพันธ์ 2023
2 K

สินทรัพย์อย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น คือ ชื่อครอบครัว หรือ นามสกุล

ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากใช้นามสกุลของผู้ก่อตั้งเป็นชื่อแบรนด์สินค้า นามสกุลจึงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงจิตวิญญาณและชื่อเสียงของทั้งครอบครัวและธุรกิจที่สั่งสมมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

นามสกุลยังเป็นสิ่งที่ยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวธุรกิจกับ Stakeholders ต่าง ๆ ทั้งลูกจ้าง ผู้จำหน่ายวัตถุดิบ ลูกค้า ตลอดจนชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ช่วยส่งเสริมการประกอบกิจการของธุรกิจครอบครัว

ตระกูล Toyoda ผู้ก่อตั้งธุรกิจรถยนต์โตโยต้า เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า นามสกุลเป็นสินทรัพย์ที่สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้ เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทายาทของตระกูลยังมีบทบาทสำคัญในธุรกิจ แม้ครอบครัวไม่ได้ถือครองหุ้นเป็นเจ้าของมากดังเช่นในอดีตแล้วก็ตาม

จากเครื่องทอผ้า สู่อุตสาหกรรมรถยนต์

ต้นกำเนิดของรถยนต์โตโยต้าเริ่มต้นที่โรงงานผลิตเครื่องทอผ้าชื่อ Toyoda Automatic Loom Works ซึ่งก่อตั้งโดย Sakichi Toyoda ที่เมืองนาโกยา ประเทศญี่ปุ่นในปี 1926

เคล็ดวิชาฝ่าวิกฤตของ Toyata Motor บริษัทมหาชนที่ยังเชื่อมั่นในหลักการธุรกิจครอบครัว

Sakichi มีลูกเขยชื่อ Risaburo ที่เขารับมาเป็นลูกบุญธรรม และกลายเป็นลูกคนโตของครอบครัว และมีลูกชายแท้ ๆ ชื่อ Kiichiro Toyoda ซึ่งกลายเป็นลูกคนรองไป

Kiichiro ได้ชักจูงให้มีการตั้งแผนกผลิตรถยนต์ขึ้นใน Toyoda Automatic Loom Works โดยผลิตรถยนต์คันแรกขึ้นในปี 1936 ในช่วงแรกนั้น รถยนต์ที่ผลิตออกมาใช้ชื่อแบรนด์ว่า Toyoda ตามชื่อตระกูล แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น Toyota ซึ่งเขียนง่ายกว่าในภาษาญี่ปุ่น

ในปีถัดมา แผนกรถยนต์นี้ได้แยกออกมาเป็นบริษัทชื่อ Toyota Motor Corporation โดยมี Risaburo เป็น President คนแรก ก่อนที่ Kiichiro จะมารับตำแหน่งต่อในปี 1941 และอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 10 ปี

ทั้ง Risaburo และ Kiichiro ผู้นำรุ่นหนึ่งของ Toyota Motor เสียชีวิตในอีก 2 ปีถัดมา

ทายาทรุ่นสอง

เมื่อ Kiichiro วางมือจากธุรกิจนั้น ทายาทรุ่นต่อมาของตระกูล Toyoda ยังไม่พร้อมที่จะรับช่วงสืบทอดธุรกิจ คนนอกครอบครัวจึงเข้ามาเป็นผู้นำในการบริหารกิจการต่อกัน 2 คน เป็นเวลากว่า 17 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังฟื้นฟูประเทศจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

จนกระทั่งปี 1967 Eiji Toyoda หลานของ Kiichiro ทายาทรุ่นสอง จึงเข้ามารับตำแหน่ง President ซึ่งในช่วงเวลา 15 ปีที่ Eiji เป็นผู้นำของ Toyota Motor นั้น เป็นช่วงเดียวกับที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มพุ่งทะยาน เขาได้ขยายการผลิตและส่งออกรถยนต์ไปหลายสิบประเทศ จนในที่สุด รถยนต์โตโยต้ารุ่น Corolla ขึ้นแท่นเป็นรถขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์โลก

สิ่งหนึ่งที่ Eiji สร้างเป็นมรดกไว้ให้กับวงการอุตสาหกรรมการผลิตของโลก ก็คือการริเริ่มระบบการผลิตแบบ ‘Just-in-time’ ที่มีการบริหารจัดการซื้อขายและโลจิสติกส์ระหว่างโรงงานโตโยต้ากับผู้ผลิตชิ้นส่วนและลูกค้าตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบนี้จึงรู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Toyota Production System’ หรือระบบการผลิตแบบโตโยต้า

เคล็ดวิชาฝ่าวิกฤตของ Toyata Motor บริษัทมหาชนที่ยังเชื่อมั่นในหลักการธุรกิจครอบครัว

นอกจากการผลิตที่มีประสิทธิภาพแล้ว Eiji ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพรถยนต์ หลังจากที่บริษัทเผชิญปัญหาเรื่องความปลอดภัยของรถโตโยต้า Corona ในปี 1969 Eiji ออกแถลงการณ์ให้พนักงานยึดมั่นในคุณภาพ รวมถึงตั้งแผนกตรวจสอบคุณภาพ จนทำให้ในปีถัดมาโตโยต้าได้รางวัล Japan Quality Medal เป็นบริษัทแรก

หลังจากที่ Eiji วางมือจากธุรกิจในปี 1981 Shoichiro Toyoda ลูกชายของ Kiichiro ลูกพี่ลูกน้องของ Eiji ซึ่งเป็นทายาทรุ่นสองอีกคนได้รับช่วงธุรกิจต่อไปอีก 11 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ Toyota Motor ได้เริ่มพัฒนารถยนต์หรูแบรนด์ Lexus และรถยนต์ไฮบริดที่ต่อมาก็คือ Toyota Prius

ผู้นำคนต่อมาของ Toyota Motor คือ Tatsuro Toyoda น้องชายของ Shoichiro แต่เขาป่วยกะทันหันหลังจากรับตำแหน่งได้เพียง 3 ปี ซึ่งขณะนั้นทายาทตระกูล Toyoda ยังไม่พร้อมที่จะรับช่วงธุรกิจต่อ โตโยต้าจึงตั้งคนนอกครอบครัวมาเป็นผู้นำบริษัทต่อกันถึง 3 คน 

เคล็ดวิชาฝ่าวิกฤตของ Toyata Motor บริษัทมหาชนที่ยังเชื่อมั่นในหลักการธุรกิจครอบครัว

จนกระทั่ง 14 ปีต่อมา ทายาทตระกูล Toyoda จึงได้กลับมากุมบังเหียนกิจการ Toyota Motor อีกครั้งในปี 2009 แต่เป็นการกลับมาในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์รุนแรงที่สุดตั้งแต่ตั้งบริษัทมา

The Recall Crisis

ในปี 2009 นั้น Toyota Motor มีปัญหาที่รุมเร้าอยู่หลายด้าน ทั้งราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องกันหลายปีก่อนหน้านั้น จนกระทบยอดขายรถยนต์ขนาดใหญ่ รถ SUV และรถบรรทุก 

นอกจากนี้ วิกฤตการเงินโลกที่คุกรุ่นอยู่ในขณะนั้นทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ตกฮวบไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่หนักหนาสาหัสที่สุด คือการที่รถยนต์บางรุ่นของโตโยต้ามีปัญหาคันเร่งค้างจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ มีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน จนบริษัทต้องเรียกคืนรถยนต์กว่า 9 ล้านคันทั่วโลก

วิกฤตการเรียกรถคืนหรือ The Recall Crisis นี้ ไม่ได้เป็นแค่ปัญหาด้านการผลิตเท่านั้น แต่เป็นวิกฤตศรัทธาของบริษัทเลยทีเดียว เพราะชื่อเสียงของโตโยต้าในเรื่องการผลิตรถยนต์คุณภาพสูงที่สั่งสมมายาวนานถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ

ในห้วงวิกฤตนี้ Toyota Motor จึงต้องการผู้นำที่มีคุณสมบัติที่จะพาบริษัทให้ผ่านพ้นความยากลำบากต่าง ๆ เหล่านี้ไปได้ และคนคนนั้นก็คือ Akio Toyoda

เคล็ดวิชาฝ่าวิกฤตของ Toyata Motor บริษัทมหาชนที่ยังเชื่อมั่นในหลักการธุรกิจครอบครัว

Akio เริ่มทำงานที่ Toyota Motor มาตั้งแต่ปี 1984 และได้เป็นกรรมการบริษัทในปี 2000 

เขามีความสามารถ มีประสบการณ์ และมีความมุ่งมั่น ที่สำคัญ เขามีสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารคนอื่นไม่มี นั่นก็คือ นามสกุล Toyoda เพราะเขาเป็นลูกชายของ Shoichiro และหลานปู่ของ Kiichiro ผู้ก่อตั้งบริษัท Toyota Motor Corporation หรือเป็นทายาทรุ่นสามของตระกูลนั่นเอง

การที่กรรมการบริษัท Toyota Motor ตั้งคนในตระกูล Toyoda มาเป็น President ในยามวิกฤตนี้เป็นการส่งสัญญาณว่า ครอบครัว Toyoda ได้กลับมาเป็นผู้นำกิจการอีกครั้ง บริษัทมุ่งที่จะฟื้นฟูจิตวิญญาณดั้งเดิมที่เน้นคุณภาพ และกอบกู้ชื่อเสียงที่สั่งสมมาหลายชั่วอายุคนกลับมา

ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ Akio เมื่อเขารับตำแหน่งว่า การเน้นการขยายการผลิตและยอดขายอย่างรวดเร็วในยุคผู้บริหารที่มาจากภายนอกครอบครัวนั้น ทำให้โตโยต้าขาดความผูกพันกับลูกค้าและมองข้ามเรื่องคุณภาพไป Akio จึงเริ่มจัดการกับวิกฤตจากปัญหาคันเร่งค้างด้วยการขอโทษต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต แสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ และให้คำมั่นสัญญาต่อสาธารณชนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

Akio เป็น President ของ Toyota Motor นาน 14 ปีก่อนก้าวลงจากตำแหน่งในปี 2023 ในช่วงที่เขาเป็นผู้นำนี้ โตโยต้าพลิกกลับจากบริษัทที่ขาดทุน เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูง ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ อีกหลายระลอก ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นที่กระทบการผลิตรถยนต์ในปี 2011 และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ผลงานของ Akio สะท้อนให้เห็นจากราคาหุ้นโตโยต้าที่พุ่งสูงขึ้นถึง 3 เท่านับตั้งแต่เขารับตำแหน่งในปี 2009

ส่วนผู้มาเป็น President คนต่อไปคือ Koji Sato ผู้รับผิดชอบแบรนด์ Lexus ซึ่งถือเป็นการเอาคนนอกมาเป็นผู้นำบริษัทอีกครั้งหนึ่ง

การเปลี่ยนผ่านของ Toyata Motor ธุรกิจที่ยังไม่ทิ้งรากของธุรกิจครอบครัว แม้ทายาทไม่ได้ถือหุ้นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม

บริษัทมหาชนที่ทำตนเป็นธุรกิจครอบครัว

บริษัท Toyota Motor เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาตั้งแต่ปี 1949 แล้ว ทำให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นจำนวนมากมายจากภายนอกครอบครัว ในขณะเดียวกัน สัดส่วนหุ้นของตระกูล Toyoda ก็ลดลงจนแทบไม่เหลือ Shoichiro กับ Akio เองก็ถือหุ้นรวมกันไม่ถึง 1% ของหุ้นทั้งหมด

การที่บริษัท Toyota Motor ยังให้ตระกูล Toyoda มีบทบาทสำคัญในการบริหารประหนึ่งว่ายังเป็นธุรกิจครอบครัวอยู่ แม้จะเหลือความเป็นเจ้าของแต่เพียงเล็กน้อยแล้วก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทได้รับประโยชน์จากการบริหารงานของคนในครอบครัว Toyoda

ซึ่ง Akio เองก็บอกว่า เขาเป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายเล็ก ๆ รายหนึ่งในบริษัทเท่านั้น หากเขาทำงานได้ไม่ดี เขาจะถูกไล่ออกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ในฐานะผู้บริหารที่มาจากครอบครัวผู้ก่อตั้งบริษัท เขาย้ำว่าธุรกิจนี้จะต้องไม่จบลงที่รุ่นของเขาซึ่งเป็นทายาทรุ่นสาม ดังที่ ‘กฎ 3 รุ่น’ พยากรณ์ไว้ว่าธุรกิจครอบครัวจะปิดฉากลงในรุ่นนี้

Akio จึงมุ่งมั่นจะสานต่อธุรกิจโตโยต้าที่ผู้นำตระกูล Toyoda รุ่นก่อน ๆ ทั้ง Eiji, Shoichiro และ Kiichoro สร้างตำนานไว้

การเปลี่ยนผ่านของ Toyata Motor ธุรกิจที่ยังไม่ทิ้งรากของธุรกิจครอบครัว แม้ทายาทไม่ได้ถือหุ้นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม

ความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างครอบครัวและธุรกิจนี้ ทำให้อดีตผู้จัดการของโตโยต้าคนหนึ่งถึงกับนิยาม Toyota Motor ว่า เป็นบริษัทมหาชนที่ยังทำตนเป็นธุรกิจครอบครัว

เมื่อชื่อคือสินทรัพย์

ถึงแม้ว่า Akio Toyoda จะเป็นคนที่ไม่ชอบโอ้อวดนามสกุลและตระกูลที่โด่งดังของตนเอง แต่เขาเห็นคุณค่าและความสำคัญของนามสกุล Toyoda ต่อธุรกิจ

เขาให้คำแนะนำ Daisuke Toyoda ลูกชายของเขาที่เริ่มเข้ามาทำงานที่ Toyota Motor เมื่อปี 2018 ว่า Diasuke ไม่จำเป็นต้องปิดบังนามสกุลหรือหลบซ่อนตัวตน ให้เป็นตัวของตัวเอง เพราะครอบครัวเป็นที่มาของความภาคภูมิใจและความแข็งแกร่ง

การเปลี่ยนผ่านของ Toyata Motor ธุรกิจที่ยังไม่ทิ้งรากของธุรกิจครอบครัว แม้ทายาทไม่ได้ถือหุ้นส่วนใหญ่แล้วก็ตาม

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เพราะผู้บริหารและพนักงานที่เป็นสมาชิกครอบครัวมักมีแรงจูงใจในการรักษาจิตวิญญาณ คุณภาพสินค้า และชื่อเสียงของธุรกิจมากกว่าคนนอกตระกูล โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้นามสกุลของครอบครัวเป็นชื่อบริษัทหรือชื่อแบรนด์

ดังที่เห็นได้จากคำพูดตอนหนึ่งของ Akio Toyoda เมื่อเขาไปชี้แจงรับผิดชอบในปัญหาความปลอดภัยของรถโตโยต้าต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2010 ระหว่างวิกฤตการเรียกคืนรถยนต์ว่า

“ผมเป็นหลานของผู้ก่อตั้งบริษัท และรถยนต์โตโยต้าทุกคันมีชื่อผมแปะอยู่ สำหรับผมแล้ว ถ้ารถยนต์เหล่านี้เสียหาย ผมก็เสียหายด้วยเช่นกัน”

ประสบการณ์จากตระกูล Toyoda และธุรกิจรถยนต์โตโยต้า ชี้ให้เห็นว่าการรักษาชื่อเสียงของตระกูลกับการรักษาแบรนด์ของธุรกิจครอบครัวนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน แม้ว่าทายาทของตระกูลอาจจะแทบไม่ได้ถือหุ้นในธุรกิจแล้วก็ตาม

ข้อมูลอ้างอิง
  • amp.scmp.com/business/article/1896009
  • europe.autonews.com/automakers/toyota-its-not-easy-being-toyoda
  • www.reuters.com/business/autos-transportation
  • www.bloomberg.com/news/articles/2022-06-15
  • www.toyota-global.com/company/history_of_toyota
  • www.nytimes.com/2013/09/18/business
  • www.nytimes.com/2018/01/07/obituaries/tatsuro-toyoda-dead.html
  • www.pressroom.toyota.com
  • www.topgear.com/car-news/tgs-guide-japan
  • asia.nikkei.com/Spotlight/Society

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต