12 สิงหาคม 2020
4 K

เสียงเพลงประกอบภาพยนตร์แอนิเมชันชื่อดังดังขึ้นในขณะที่ผู้เขียนกำลังขับรถไปพร้อมกับลูกสาว ลูกสาวร้องคลอตาม ขณะที่ผู้เขียนก็ร้องตามไปด้วย 

“ดาเรกะ กา โคโอตะโซรี 

โคะมิชิ นิ โคะโนมิ อุซึเมะเต 

ชิสะนะ เมะ ฮาเอะตาระ ฮิมิซึ โนะ อังโก

โมริ เอ้ โน พาสซึปอดโตะ 

ซึเทะคินะ โบเกน ฮะจิมารู้~ 

โทนาริ โนะ โต๊ดโตโหล่….. โต๊ดโตโร่…… โต๊ดโตโหล่…… โต๊ดโตโร” 

ซึ่งขอแปลความหมายง่ายๆ ไม่ตรงทำนองให้เข้าใจดังนี้

“มีใครสักคนแอบฝังเมล็ดลูกไม้ไว้ริมทาง เมื่อต้นกล้าเล็กๆ งอกขึ้นมา คือรหัสลับเป็นพาสปอร์ตพาเราไปยังป่า ที่เริ่มต้นการผจญภัยอันแสนวิเศษ เพื่อนเรา… โต๊ดโตโหล่… โต๊ดโตโร่… โต๊ดโตโหล่… โต๊ดโตโร่” 

ไม่ว่าอายุมากขึ้นเท่าไร แต่ความเป็นเด็กมีอยู่ในตัวเราทุกคน ภาพยนตร์แอนิเมชัน My Neighbor Totoro น่ารักจนเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ได้ดูต้องหลงรัก เรื่องที่ผู้เขียนจะเล่านี้เกิดขึ้นขณะที่ลูกสาวอายุประมาณ 8 ขวบ (ตอนนี้เธอกำลังย่าง 10 ขวบ) เด็กแทบทุกคนรู้จักตัวการ์ตูนตัวนี้-โตโตโร่ ซึ่งเป็นตัวละครอะนิเมะที่มีของใช้ของสะสมมากมาย หลายคนชอบเพลงประกอบเพลงนี้ที่เปิดกันแพร่หลาย ร้องกันง่ายๆ 

ลูกสาวดิฉันเป็นหนึ่งในแฟนตัวยงของผลงานสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ทุกวันนี้เธอดูไปแทบทุกเรื่องแล้วขาดแค่ 2 เรื่อง ซึ่งมีเนื้อหาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาจึงพักไว้ก่อน เรื่องแรกๆ ที่เธอเริ่มดู ก็คือ My Neighbor Totoro กับ Spirited Away ที่ดูซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง ร้องเพลงทั้งประกอบได้หลายเพลง คนส่วนใหญ่คิดว่าอะนิเมะของจิบลิเหมาะสำหรับเด็กเป็นหลัก แต่จริงๆ ไม่ใช่ ไม่ว่าใครก็ดูได้ เนื้อเรื่องแฝงปรัชญาข้อคิดต่างๆ สำหรับคนทุกเพศทุกวัย บางเรื่องดิฉันคิดว่าทำให้ผู้ใหญ่ที่มีความทรงจำในวัยเด็กเป็นผู้ดูเสียด้วย ทุกเรื่องนำเสนอผ่านตัวการ์ตูนน่ารัก มีการเดินเรื่องเพลิดเพลินด้วยฉากในธรรมชาติที่สวยงาม อย่างป่าเขาลำเนาไพร พร้อมแทรกแนวคิดให้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

วันหนึ่งขณะที่ดิฉันนั่งอ่านนิตยสารฟรีก็อบปี้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่โรงเรียนภาษาญี่ปุ่นของลูก เล่มนี้กล่าวถึงการท่องเที่ยวคิวชู แยกเป็นเมืองต่างๆ สถานที่น่าสนใจหลายที่ บางที่เราเคยไปแล้ว พอดีเหลือบไปเห็นมุมเล็กๆ เล่าถึงต้นการบูรยักษ์แห่งเมืองทาเคโอะ (ทาเคโอะ โนะ โอคุสึ) ที่มีอายุกว่า 3,000 ปี ในนั้นกล่าวไว้ว่าต้นการบูรนี้ เป็นแรงบันดาลใจของคุณมิยาซากิ โดยผู้ก่อตั้งสตูดิโอจิบลินำมาใช้ในเรื่อง My Neighbor Totoro 

My Neighbor Totoro กล่าวถึงครอบครัวหนึ่งที่คุณพ่อพาลูก 2 คนย้ายไปพักบ้านเก่าในชนบทเพราะภรรยาสุขภาพไม่แข็งแรง ขณะนั้นแม่กำลังพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ลูกๆ จึงได้ใช้ชีวิตในธรรมชาติ พี่คนโตไปเรียนโรงเรียนแถวนั้นได้ ส่วนน้องวิ่งเล่นตามประสาในท้องนาป่าเขา วันหนึ่งคนน้องชื่อ Mei วิ่งเล่นอยู่พบโตโตโร่ตัวเล็กๆ จึงวิ่งไล่ตามโตโตโร่ตัวเล็กเข้าไปในอุโมงค์ต้นไม้ แล้วเจอต้นไม้ยักษ์ซึ่งมีโพรง

เด็กมุดลงโพรงไหลตกไปบนของนิ่มๆ ซึ่งก็คือท้องของโตโตโร่ตัวใหญ่ เด็กน้อยดีใจ เล่น และนอนหลับไปด้วยกันกับโตโตโร่ตัวใหญ่นั้น ตกเย็นพ่อหาลูกไม่เจอ จึงพาลูกสาวคนโตไปตามหาจนพบลูกสาวคนเล็กนอนอยู่แถวพุ่มไม้ใกล้ๆ ลูกสาวตื่นมาพบพ่อรีบเล่าว่าเจอโตโตโร่ตัวใหญ่ ลูกสาวคนเล็กพาพ่อและพี่สาวไปดูต้นไม้ใหญ่ซึ่งทางปกติจะต้องเดินขึ้นเนินเขาผ่านเสาโทเรอิ ผ่านป่าไม้จนถึงต้นไม้ยักษ์มีศาลเจ้าเล็กๆ อยู่ตรงนั้น ซึ่งพ่อเชื่อว่า ‘โตโตโร’ ก็คือ เทพเจ้าที่ปกป้องผืนป่าตรงนั้น 

จากที่เราได้เดินทางไปมาแล้ว ได้เห็นทัศนียภาพในเรื่องและภูมิประเทศ  ต้นไม้ใหญ่มีโพรงนั้นก็เหมือนกับ ทาเคโอะ โนะ โอคุสึ ทุกอย่างเลย 

จากนิตยสารเล่มนั้น ดิฉันชี้ให้ลูกสาวดูว่า 

“นี่ดูสิ เราลองไปหาโตโตโร่ที่ต้นไม้ยักษ์สามพันปีกันดูมั้ย”

 “ไปสิ! แต่โตโตโร่มีจริงหรือแม่” ลูกสาวตอบ แต่อยากเที่ยวจึงไม่คิดนาน

“ไม่รู้สิ แต่ไปดูกัน” แม่ว่าอย่างนั้น ลูกสาวพยักหน้าตอบ

“คิเมะตะ!!” (แปลว่าตัดสินใจแล้ว) 

นั่นเป็นที่มาให้เราเริ่มต้นผจญภัยเพื่อไปตามหาโตโตโร่ด้วยกันสองคนแม่ลูก ซึ่งอันที่จริงคุณแม่เคยไปใช้ชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นหลายพื้นที่มาก่อน เคยอยู่คิวชูประมาณ 1 เดือน มีโอกาสไปหลายที่ตามไกด์บุ๊กทั่วไปแนะนำมาก่อน คิวชูมีสถานที่เที่ยวเชิงธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพรมากมายอยู่แล้ว และเป็นเมืองสงบไม่วุ่นวายมาก เหมาะจะพาเด็กไปตามหาแรงบันดาลใจของตนเองได้สบายๆ

คราวนี้ดิฉันบอกเป้าหมายแก่ลูกว่าเพื่อไปตามหาโตโตโร่ด้วยกัน แต่มีความหมายเชิงนัยยะมากมาย คนส่วนใหญ่มักจะพาลูกหลานไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยการไปกับทัวร์ นั่งรถบัสที่เขาจัด ไม่เคยได้ให้เขาทดลองวางแผนการเดินทาง ส่วนใหญ่จึงได้ไปแค่ดูไปกินและช้อปปิ้งของเล่นต่างๆ มากมาย สุดท้ายเด็กที่ไป กลับมาก็ได้แค่พูดว่าได้ไปญี่ปุ่นแต่ไม่ได้แนวคิด ทั้งที่ข้อดีของเขามีมาก ไม่ว่าเรื่องวินัยและแนวคิดอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจะได้เรียนรู้ตลอด ถ้าเราได้เดินทางออกนอกเมือง รวมถึงพบความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อแก่คนต่างชาติในพื้นที่ชนบท ครั้งนี้จึงตัดสินใจพาลูกไปคิวชู

ผู้อ่านคงสงสัยว่า คุณพ่อไปไหนคะ ทำไมไม่ไปด้วยกัน คุณพ่อต้องทำงานค่ะ งานเขารับผิดชอบเยอะ ลางานก็ยาก หรือลาไปเราก็อึดอัดเพราะรับโทรศัพท์ทั้งวัน คุณแม่เองทำงานอิสระ เคยทั้งไปเรียนเคยไปทำงานที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว คุณพ่อไม่กังวลอะไร ไปกันเองได้เลย 

สำหรับท่านที่สนใจจะพาลูกๆ ท่องเที่ยวด้วยตนเอง การเดินทางไปญี่ปุ่นในเมืองที่สงบๆ เป็นธรรมชาติไม่ลำบากอะไร แค่ศึกษาเส้นทางสักหน่อย คนที่นั่นก็มีน้ำใจมากต่างจากคนในเมืองใหญ่ การเดินทางไปไหนล้วนเรียกว่า Slow Life ได้เลย ปกติดิฉันกับลูกสาวก็เดินทางทั้งในและนอกประเทศด้วยกันบ่อยๆ บางทริปมีคุณสามีไปด้วยค่ะ แต่ครั้งนี้สามีไม่สะดวก เราก็ไปกันได้ นับว่านี่คือทริปญี่ปุ่นครั้งแรกของลูกสาวในตอนที่เขามีวัยเพียง 8 ขวบ (เอาจริงเธอยังไม่ครบ 8 ขวบบริบูรณ์ด้วยซ้ำ)

เมื่อวันเดินทางมาถึง ดิฉันให้ลูกนอนพักกลางวันก่อน เพราะไฟลท์เดินทางไปคิวชูประมาณเที่ยงคืน และเราจะมีเวลานอนบนเครื่องน้อยมาก ด้วยระยะเวลาเดินทางน้อยกว่าภูมิภาคอื่นของญี่ปุ่น ช่วงที่เราเดินทางเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้กำลังเปลี่ยนสีสวยงาม เรามาถึงสนามบินฟุกุโอกะ ประมาณ 8 โมงเช้า โดยเวลาที่นั่นเร็วกว่าบ้านเรา 2 ชั่วโมง เวลาที่เครื่องกำลังลงจอด เห็นแสงอาทิตย์ที่ขอบฟ้าสวยงามมาก เมืองฟุกุโอกะเป็นเมืองท่า เราจึงเห็นบ้านเมืองเขาริมทะเลชัดเจน 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

ครั้งนี้แม่นัดเพื่อนคนญี่ปุ่นซึ่งเขามารับเราที่สนามบินเลย หลังจากให้ลูกสาวปรับสภาพ ทักทายกับเพื่อนกันดีแล้ว เพื่อนพาเราไปไหว้ศาลเจ้าประจำเมืองฟุกุโอกะ คือศาลเจ้าดาไซฟุเทนมังกุ (Dazaifu Tenmangu) ไกลออกมาจากเมืองหน่อย แต่ถ้านับจากสนามบินก็ถือว่าไม่ไกล ซึ่งไม่ว่าใครๆ ก็ควรต้องมาเพื่อสักการะขอพรเทพเจ้าแห่งปัญญา นักเรียนนักศึกษาทั่วไปต่างมาไหว้ขอพรเพื่อให้สอบผ่านกันทั้งนั้น ดิฉันบอกลูกว่าแม่ก็เคยขอท่านมาก่อน สอบผ่านตามตั้งใจจริงๆ นะ ลูกสาวตาโตดีใจที่เราไปกัน 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

ใครมาที่นี่นอกจากมาสักการะศาลเจ้าแล้ว เราต้องมาทานขนม ‘อุเมะกะเอะโมจิ’ ลักษณะเป็นแป้งห่อไส้ถั่วแดงแต่ใช้วิธีย่างในพิมพ์ เวลาเคาะออกมาจากพิมพ์มีลายเป็นรูปดอกบ๊วยเกรียมๆ ตามชื่อภาษาญี่ปุ่นที่เรียกดอกบ๊วยว่า ‘อุเมะ’ ทานกับชาร้อนหอมๆ ชื่นใจ ทุกร้านที่ขายขนมนี้ในระหว่างทางเดินเข้าศาลเจ้าจะมีชาร้อนให้ดื่มฟรีทุกร้าน 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

เพื่อนพาไปทานร้านดั้งเดิม บอกว่าต้องร้านนี้ถึงจะเด็ด แม่ได้กินขนมมีความสุข แต่ลูกสาวมีความสุขที่ได้เจอร้าน ‘ดงกุริเคียววะโคขุ’ นั่นคือร้านขายของที่ระลึกจาก Ghibli Studio นั่นเอง แต่แม่ให้เข้าไปไหว้ศาลเจ้าและออกมาค่อยซื้อ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียนิสัย แม่อนุญาตให้ซื้อได้แค่ 2 ชิ้นที่ราคาไม่แพงเกินไป ลูกสาวเลือกของในร้านนานมาก เธอซื้อดินสอและของเล่นในลูกบอลมาแล้ว แต่ยังไปลูบคลำแมวดำจากเรื่อง Kiki’s Delivery Service อยู่นานมาก สุดท้ายเพื่อนสงสาร ซื้อให้เป็นของขวัญให้เลย เธอดีใจมากกอดเล่นตลอดเวลา 

ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ธรรมชาติสวยงาม ต้นเมเปิ้ลผลัดใบเปลี่ยนสีเป็นสีส้มแดงรอบๆ ศาลเจ้า

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

วันแรกเราวนอยู่ในตัวเมืองฟุกุโอกะ ซึ่งคนที่นี่เขาจะเรียกเมืองตนเองว่า ฮากาตะ (Hakata) ใช้เรียกสถานีหลักในการเดินทางออกไปต่างจังหวัด ซึ่งแถวนั้นเป็นย่านทำงาน มีบริษัทและสำนักงานเต็มไปหมด ส่วน ฟุกุโอกะ (Fukuoka หมายถึงสถานีรถไฟของบริษัท Nishitestsu ซึ่งอยู่ในย่านเทนจิน (Tenjin) เป็นหลัก ย่านเทนจินที่ว่านี้เป็นย่านทันสมัย เป็นแหล่งรวมของวัยรุ่น มีห้างสรรพสินค้าชื่อดังของให้ช้อปปิ้งมากมาย และมีร้านรวงสินค้าแบรนด์เนมต่างๆ ใครที่สนใจมาตรงนี้ก็ใช้รถใต้ดินเดินทางไปได้ แต่คนที่นี่นิยมใช้รถบัสในการเดินทางกัน ถ้าจะไปสถานที่เฉพาะต้องใช้รถบัส เช่น ห้างบางห้างอย่าง Canal City ก็ควรไปด้วยรถบัสถึงจะพอดี ถ้าศึกษาเส้นทางเสียหน่อย ก็เดินทางได้ไม่ลำบากค่ะ 

อ้อ เขามีรถบัสราคาถูก 100 เยน ไม่ว่าคุณจะลงที่ไหนก็ตาม แต่ถ้าอากาศดี การเดินเท้าในย่านหลักก็ไม่ลำบากอะไร ตอนที่ไม่มีลูกไปด้วยดิฉันก็ชอบเดินเล่นในเมืองเสมอค่ะ

หลังจากไหว้ศาลเจ้า ดิฉันไปรับ JR Pass สำหรับท่องเที่ยว 3 วัน สำหรับตนเองและลูกที่ซื้อไว้จากเคาน์เตอร์ จองตั๋วที่สถานีฮากาตะ ราคาถูกมากถ้านับค่ารถไฟต่อเที่ยวในการเดินทางออกต่างจังหวัด ดังนั้นแค่นำมาใช้เดินทางไปกลับวันเดียวก็นับว่าคุ้มแล้ว แต่ดิฉันนี่คิดจะออกต่างจังหวัดกันทั้ง 3 วันตาม Pass กำหนดเลย 

ทริปแรกที่ตั้งใจคือ เราจะไปหาโตโตโร่อย่างที่ตั้งใจไว้ที่เมืองทาเคโอะ (Takeo) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดซากะ (Saga ) ลงที่สถานี Takeo Onsen เมืองนี้มีชื่อเรื่องออนเซ็น แต่เมื่อศึกษาดู พบว่ามีเมืองน่าสนใจใกล้ๆ อีกเมืองที่เราควรไป คือเมืองอะริตะ (Arita) ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดซากะเช่นกัน หลายคนคงเคยดูเรื่อง STAY ซากะ..ฉันจะคิดถึงเธอ มาก่อน ที่นี่มีอะไรน่าสนใจเยอะค่ะ จึงเอาเป็นว่า ช่วงเช้าเราจะแวะเมืองอะริตะก่อน แล้วช่วงบ่ายจะมาแวะเมืองทาเคโอะ

เช้าวันรุ่งขึ้นเรานั่งรถขบวน Midori ออกจากสถานีฮากะตะ ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 10 นาที ก็ถึงเมืองอะริตะ ที่นี่มีชื่อเรื่องเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ระดับโลก ด้วยลักษณะดินเหมาะสมกับการทำงานเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่สมัยโบราณ เนื่องด้วยคิวชูเป็นเกาะที่มีนักเดินเรือต่างประเทศมาเทียบท่ากันมากในอดีต จึงรับเทคนิคเครื่องปั้นดินเผาจากต่างชาติ มาพัฒนาทำเครื่องเคลือบและเซรามิคที่มีลายเฉพาะตามแบบเมืองอะริตะเอง เรียกว่า ‘อะริตะยากิ’ คาดว่าคงคล้ายกับชามสวรรคโลกเรา

การจัดการและการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของแบบญี่ปุ่นของเขาอยู่ในสายเลือดจริงๆ  เราไป Arita Porcelain Park และเมืองจำลอง Zwinger Palace (พระราชวังสวิงเจอร์) จากเมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน รู้สึกตื่นเต้นเหมือนได้เข้าไปอยู่ในเมืองเก่าแก่แบบเยอรมนี มีอาคารที่เป็นสำนักงาน แต่ทำเป็นรูปทรงตามศิลปะแบบยุโรปสวยงามข้างในพระราชวังใช้เป็นแกลเลอรี่แสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบและเซรามิกลวดลายต่างๆ แปลกตา เราเดินชมศิลปะและพระราชวังรวมทั้งสวนด้านหลังอยู่หลายรอบ ในพระราชวังมีขายสินค้าแบบอาริตะยากิด้วย เรายังซื้อมีดตัดเล็บมาฝากคุณยายที่บ้าน ซึ่งมีลายแบบอะริตะสวยแปลกดี  ในร้านขายของที่ระลึกด้านนอกก็มีเครื่องแก้วน่าสนใจมากมาย 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

จะว่าไปสถานที่อาจไม่เหมาะกับเด็กก็ได้นะคะ แต่ลูกสาวของดิฉันสนใจ ดูมีความสุขมาก ใช้เวลาอยู่ที่นั่นนานมาก ผู้อ่านอาจจะขำว่าลูกน้อยอายุ 8 ขวบของดิฉันสนใจได้อย่างไร ตอนนั้นเธอกำลังเรียนภาษาต่างประเทศหลายภาษาค่ะ ทั้งภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น อีกทั้งเธอยังเรียนเยอรมนีด้วย เลยรู้สึกตื่นเต้นมากได้มาสัมผัสประสบการณ์แบบยุโรปที่ญี่ปุ่น 

เมืองอะริตะมีหมู่บ้านทำเครื่องปั้นดินเผา มีบริการให้ลูกค้าทำจานชามเครื่องปั้นและเขียนลายได้ เราอยากทดลองทำ จึงให้ลุงแท็กซี่พาไปร้านชื่อ ‘มารุเค’ เห็นคันจิเขียนว่า 丸兄商社 เป็นร้านขายเครื่องปั้นดินเผาที่ดูเหมือนโรงงานขนาดใหญ่ มีที่แสดงสินค้าและโรงเผาด้านหลัง ดิฉันเพิ่งทราบว่าเขามีเว็บไซต์ให้เราเขาไปเลือกซื้อสินค้าได้ด้วย

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

เราไม่มีเวลาปั้นเครื่องปั้นดินเผา แต่ถ้าแค่เขียนลายลงบนเครื่องปั้นคงจะไหว เขาให้เลือกภาชนะที่ต้องการทั้งจานและชาม ลูกสาวเลือกชามค่ะ ราคาที่ทำคือ 1,000 เยน ซึ่งตอนนั้นคือ 300 บาทโดยประมาณ  จากนั้นก็มีครูมาสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น เป็นครั้งแรกที่ดิฉันต้องกลายเป็นล่ามแปลภาษาญี่ปุ่นเพื่อให้ลูกทำงานคราฟต์

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

พอทำเสร็จเขานำไปเผาแล้วส่งมาให้เราที่ประเทศไทย ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คิดว่าถ้าท่านอื่นสนใจ แม้ฟังภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ก็ทำได้ เพราะเขามีอุปกรณ์ให้ พร้อมสาธิตให้ดูไปด้วย ทำเสร็จมาคิดค่าส่ง จำได้ว่า 1,800 เยน ค่าส่งแพงกว่าค่าทำเสียอีก ทุกวันนี้ ชามลูกนั้นยังเอาไว้ใส่น้ำจิ้มใช้กันอยู่เลยค่ะ 

ออกจากร้านมารุเค เราจะกลับไปที่สถานีอะริตะ ระหว่างทางที่นั่งรถกลับผ่านตัวเมือง เรามองเห็นความเป็นอะริตะยากิอยู่เต็มไปหมด บางบ้านเอาเครื่องถ้วยชามประดับตามกำแพง ตามรั้วประตูบ้าน มีความแปลกที่สวยงามมีคุณค่ามาก เรามีการขอลงระหว่างทางก่อนถึงสถานีนิดหน่อยด้วย 

ด้วยความอยากชมร้านรวงตัวเมืองแบบโบราณ พาลูกค่อยๆ เดินกันไป ซึ่งเวลานั้นได้เวลาอาหารกลางวันพอดี ดิฉันพาลูกแวะทานอาหารร้านคุณยายคนหนึ่ง ในร้านมีอาหารเส้นๆ ได้แก่ อุด้ง โซบะ แถมยังมีโอเด้งให้เลือกทานด้วย ดิฉันสั่งอุด้งให้ลูกสาว และสั่ง ‘จัมปง’ ให้ตนเอง สั่งโอเด้งมาทานเล่น 2 ไม้ด้วย 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

จัมปงมีลักษณะเหมือนเหมือนราดหน้าหมี่กรอบของเรา เส้นคือเส้นราเม็งทอดกรอบ แต่บางครั้งเห็นไม่ทอดแต่ผัดเอาก็มี แล้วเขาจะราดด้วยน้ำข้นๆ จากผักต่างๆ ได้แก่ กระหล่ำปลี เห็ด แครอท คล้ายราดหน้าเจของเรามาก เคยได้ยินว่าจัมปงเป็นอาหารของจังหวัดนางาซากิ แต่จากตรงนี้ไปนางาซากิก็ไม่ไกลเท่าไร วัฒนธรรมการกินอาหารคงแผ่มาได้กระมัง กินอิ่มท้องแล้ว พร้อมเดินทางต่อไปเมืองทาเคโอะได้แล้ว 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

จากนั้นเรานั่งรถไปสถานีทาเคโอะออนเซ็นเป็นสถานีแบบทันสมัยใหญ่โต อาจเพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวมีออนเซ็น ส่วนสถานีอะริตะเป็นอาคารไม้เก่าแก่ ซึ่งจริงๆ เขาอาจอนุรักษ์ให้เป็นแบบนี้ตามธีมเมืองแบบศิลปวัฒนธรรม เรานั่งแท็กซี่ไปศาลเจ้าบนเนินเขา ที่นี่มีชื่อเสียงเรื่องขอพรด้านความรัก เพราะด้านหลังมีต้นไซปรัสคู่รัก 2 ต้นขึ้นติดกัน เห็นว่าปีหนึ่งเขาถึงจะเปิดให้เข้าไปชม เรามาไม่ใช่เวลาก็ผ่านไปก่อนนะ ด้วยเป้าหมายของเราว่าจะไปหาโตโตโร่ จึงพากันเดินต่อไปยังด้านหลัง ซึ่งมีเส้นทางเหมือนในภาพยนตร์อะนิเมะ My Neighbor Totoro ทุกประการ ผ่านเสาโทเรอิสีขาวไป มีทางเดินนำไปผ่านซุ้มต้นเมเปิ้ล ผ่านป่าไผ่แกว่งไกวและแล้วเราก็มาถึงต้นไม้โตโตโร่ของเรา 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

ต้นการบูรยักษ์อายุกว่า 3,000 ปียืนตระหง่านราวกับเป็นคุณทวดของคุณทวดที่น่าเกรงขามมองดูหลานๆ ที่มาเยี่ยม ตรงโคนของต้นการบูรยักษ์มีโพรงใหญ่ มีบันไดขั้นเล็กๆ ที่เขาทำไว้ให้เดินไปยังโพรงนั้น แต่รอบต้นมีรั้วไม้ล้อมไว้ไม่ต้องการให้ใครเข้าไป เรายืนชมกันสักพักหนึ่ง รู้สึกสงบเยือกเย็น ลูกสาวพูดขึ้นมาว่า “ถ้าลงไปในโพรงนี้ สงสัยจะไม่ได้เจอโตโตโร่ คงจะได้เจองูเหลือมแทน” แม่จึงขำ พากันเดินกลับ

ขาออกจากศาลเจ้า เราเดินลงเขาไปห้องสมุดประจำเมืองทาเคโอะ (Takeo City Library) กันเอง ระหว่างเดินไปลูกสาวบ่นไปว่าทำไมแม่ไม่เรียกแท็กซี่ เลยพาเธอร้องเพลงประกอบเรื่องโตโตโร่อีกเพลงชื่อเพลง Arukou แปลว่าเดินกันเถอะ ร้องไปเดินไปจนในที่สุดก็ถึงห้องสมุดจนได้ 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู
แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

ประวัติกล่าวว่าห้องสมุดนี้เดิมทีก็เป็นห้องสมุดธรรมดาทั่วไปเพราะเมืองนี้มีประชากรไม่มาก แต่เมื่อมีโครงการปรับปรุงห้องสมุดใน ค.ศ. 2013 ทำให้ห้องสมุดเป็นที่สนใจ มีคนมาเยี่ยมชมมากกว่าประชากรในเมืองถึง 3 เท่า ซึ่งเราเองก็เป็นหนึ่งในนั้น 

ภายในห้องสมุดทำเหมือน Book Cafe ขนาดใหญ่ มีร้าน Starbucks ให้บริการ มีมุมของกระจุกกระจิกและเครื่องเขียนขาย มีสินค้างานคราฟต์ด้วย เราแม่ลูกสั่งเครื่องดื่มและขนมมานั่งทานกันเล็กน้อยเพื่อพักขาจากการเดิน จากนั้นก็เดินชมหนังสือ ยังไม่อยากกลับเลย อยากจะอยู่นานๆ ชั้นสองจัดเป็นบริเวณที่อ่านหนังสือและมีมุมของเด็ก ยังไม่ทันได้เข้าไปดูให้ทั่วก็ถึงแก่เวลาต้องกลับแล้ว เราจึงไปเลือกซื้อหนังสือเด็กกลับมาหลายเล่ม จากนั้นเราก็นั่งรถไฟด่วนกลับสถานีฮากาตะกันด้วยความเพลิดเพลิน 

วันถัดไปดิฉันพาลูกไป Theme Park แบบฮอลแลนด์ในเขตจังหวัดนางาซากิ ซึ่งสวยงาม มีพรรณพืชน่าสนใจมาก ภาพถ่ายที่ได้ก็ราวกับไปเนเธอร์แลนด์มากกว่าญี่ปุ่น มีกังหันลมเป็นแบกกราวน์ และพาไปเก็บสตรอว์เบอรี่ในฟาร์มไม่ไกลจากตัวเมืองฟุกุโอกะนัก 

ที่คิวชูเขามีพันธุ์สตรอว์เบอรี่ของเขาเองชื่อ ‘อะมาโอ” ซึ่งลูกใหญ่หอมหวาน แต่ตอนที่ไปอะมาโอยังไม่ออก แต่พันธุ์อื่นก็หอมหวานไม่แพ้กัน มีทริปตามใจเด็กพาไปสวนสนุกตัวละครแบบ Sanrio ด้วย นอกจากนั้นก็พาศึกษาในตัวเมืองฟุกุโอกะ พาไป Robosquare เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องหุ่นยนต์ที่แสนน่ารักอยู่ที่ตึก TNC TV Big Pevera ใกล้ๆ Fukuoka Tower มีพาเดินชมย่านเทนจิน และไปร้านคาเฟ่มูมินที่ Canal City 

สถานที่แห่งหนึ่งซึ่งอยากเล่าให้ฟัง ด้วยว่าที่นี่ไม่ได้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวตามปกติ คือเราไปเดินเล่นที่ตึก Acros แถวย่านเทนจิน ซึ่งตึก Acros ที่ว่านี้มีเทคนิคการออกแบบที่แปลกตา ตึกด้านหนึ่งมีลักษณะเป็นขั้นบันไดปลูกต้นไม้ตามลำดับ มองไกลๆ เหมือนมีป่าไม้ห้อมล้อมอยู่ข้างตึก เราจึงพาลูกไปเดินชมกัน เขามีบันไดให้บุคคลที่สนใจเดินขึ้นมาได้ เราแม่ลูกไม่มีพลาด แต่ยิ่งเดินขึ้นยิ่งสูงขึ้น รู้สึกว่าวนตามขั้นบันไดได้สัก 20 รอบแล้ว แม่เริ่มไม่ไหว ลูกพยายามช่วยดันแม่ขึ้นไป สุดท้ายแม่ขอนั่งพักใต้ต้นไม้นิดหนึ่งเถอะนะ ซึ่งที่ตรงนั้นเหมือนอยู่ในสวนเต็มด้วยต้นไม้จริงๆ 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

ถามลูกว่า “พอแค่นี้ได้มั้ย แม่ไม่ไหวแล้ว” ลูกสาวบอกว่า “ให้แม่พักสักหน่อย แล้วแม่ค่อยพยายามต่อเถอะ แม่” กลายเป็นว่าคนที่ไม่ท้อคือเด็กน้อยนั่นเอง การเดินทางครั้งนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้เจอโตโตโร่ตามที่เราตั้งใจ (เจอสิแปลกเนอะ) แต่ดิฉันคิดว่าโตโตโร่สอนวิธีเลี้ยงลูกให้ดิฉันเรียบร้อยแล้ว การสั่งสอนลูกเสมือนการฝังเมล็ดพันธุ์ไว้ในตัวเขา ทริปเดินทางนี้ฝึกให้เขารักธรรมชาติและมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้เขามีความสุขในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้เขามีความมานะอดทนไม่ย่อท้ออะไรง่ายๆ ซึ่งต่อไปเมล็ดพันธุ์นี้ก็จะเจริญงอกงามในตัวของเด็กน้อยเมื่อเติบโตขึ้น ซึ่งเขาจะเอาชนะอุปสรรคในชีวิตของเขาได้เอง 

แม่และลูกสาวตะลุยตามหาโตโตโร่ ที่ต้นไม้ยักษ์ 3,000 ปีในคิวชู, ที่เที่ยวตามรอยโตโตโร่ คิวชู

เพิ่มเติมจากเนื้อเรื่อง

ดิฉันมีทัศนคติในการเลี้ยงลูกต่างจากพ่อแม่สมัยนี้ที่ว่าจะต้องผลักดันทางการศึกษาให้ลูกมากๆ ด้วยการส่งลูกไปเรียนพิเศษหนักๆ ซึ่งในความคิดของดิฉันแบบนั้นก็ไม่เคยดีกับเด็กเลย ดิฉันชอบที่จะฝึกให้ลูกคิดและรับผิดชอบตนเอง สิ่งหนึ่งคือการฝึกผ่านการเดินทาง ที่เราหัดวางแผนการเดินทางเองได้บ้าง หัดให้เจอข้อผิดพลาดบ้าง หัดแก้ปัญหาด้วยตนเอง ให้เขามีโอกาสได้ใช้ความคิดของตนเอง เรียนรู้ในสิ่งที่มีประโยชน์ ให้ได้ใช้ชีวิตในธรรมชาติ ก็จะส่งเสริมการใช้ชีวิตที่ดีในอนาคต 

สำหรับดิฉันนอกจากฝึกลูกในชีวิตประจำวัน ดิฉันใช้การเดินทางฝึกเขาตลอดมา ทุกวันนี้ ดิฉันไม่เคยต้องลำบากในการเลี้ยงลูกเลย ลูกน้อยของดิฉันจะรับผิดชอบงานและเรื่องเรียนของตนเองสม่ำเสมอ ดิฉันแทบไม่ต้องไม่ยุ่งจัดสรรอะไรให้เขาเลย ถ้าเขาต้องการอะไรเกี่ยวกับการเรียนจะแจ้งให้ทราบ 

ปกติดิฉันไม่ส่งเสริมให้เธอไปเรียนกวดวิชาหนักๆ เลย แต่มักจะซื้อหนังสือแบบฝึกหัดมาให้เธอไว้ เมื่อถึงเวลาสอบเธอก็นำบทเรียนและแบบฝึกหัดที่ซื้อไว้มาทบทวนเองโดยที่เราไม่ต้องบังคับด้วย เธอสอบได้คะแนนดีเสมอ เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีมาก ครูที่โรงเรียนชื่นชมที่เธอมีความคิดเป็นผู้ใหญ่และมีความเป็นผู้นำ เธอเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้ดีมากโดยเฉพาะการเรียนทางภาษา ซึ่งใช้ฟังพูดได้คล่องเกินระดับทั้งภาษาอังกฤษและญี่ปุ่น

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

ณัฐพร ผลพูล

เป็นคนฉะเชิงเทรา ทุกวันนี้เป็นคุณแม่ Full-time แต่มีงานเสริมเป็นล่ามและนักแปลอิสระ มีงานอดิเรกปลูกแคคตัสและไลท็อป ชอบทำงานคราฟต์และชอบเดินทางมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ มักพาคุณยาย (แม่) หรือลูกไปด้วย แต่ทริปที่พาไปช่างระหกระเหินเกินกว่าที่คนแก่และเด็กควรไปเสมอ