ท็อป จ่างตระกูล

เราพิมพ์ชื่อนี้ในช่องค้นหาของ Google 

About 493,000 results 

กูเกิลบอกจำนวนผลลัพธ์ 

…และบอกเรื่องราวของเขา

ท็อปในวัยเลข 2 จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาประติมากรรม จาก University of San Francisco และปริญญาโทสาขา Video Performance จาก San Francisco Art Institute

ท็อปในวัยเลข 3 เป็น New Yorker คนไทยรุ่นใหม่ยุคแรกที่คนจับตามอง เขาโลดแล่นในวงการศิลปะในสหรัฐอเมริกา เป็นคนอีกเจนที่สร้างกระแสของคนที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ สร้างความเคลื่อนไหวและงานนอกกรอบให้ผู้ชมตื่นเต้น ตกใจ ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ มีผลงานแสดงในต่างประเทศ ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม และ Installation Art โดยเฉพาะผลงานสไตล์ Conceptual Art ที่มีเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว 

ท็อปในวัยเลข 4 กลับมาอยู่เมืองไทย หลังจากใช้ชีวิตในแวดวงศิลปะสหรัฐอเมริกามานานกว่า 30 ปี เริ่มปักหมุดหมายแรกเรื่องศิลปะในบ้านเกิดด้วยการทำรายการสัมภาษณ์ศิลปิน Art Scene TV ในช่อง YouTube ก่อนจะผันตัวมาเป็นหนึ่งในผู้บริหาร Farmgroup – Creative & Design Consultancy ที่อยู่เบื้องหลังการสร้างแบรนด์ให้บริษัทชั้นนำหลายแห่ง หรือผลงานที่คุ้นหูกว่านั้น คือเป็นคลื่นใต้น้ำเบื้องหลัง Hotel Art Fair งานโชว์ศิลปะในโรงแรมที่เปลี่ยนห้องพักให้เป็นแกลเลอรี่ ช่วยดันให้ศิลปินคลื่นลูกใหม่หลายต่อหลายคนได้แจ้งเกิดและต่อให้เหล่าอาร์ตแกลเลอรี่ได้ไปถึงยอดคลื่น

ท็อปในวัยเลข 5 ลาออกจากการเป็นผู้บริหาร กลับมาอยู่บ้าน ออกกำลังกาย ดูแลลูกสาว เลี้ยงหมา 1 ตัวชื่อดู๊ด เลี้ยงปลาทอง 1 ตัวชื่อทอง และตื่นมาวาดภาพในสตูดิโอหลังเล็กในรั้วบ้านทุกเช้า ภาพที่เขาบอกว่า ใช้ความคิดล้วนๆ ไม่มีเบสิกปน ภาพที่ไม่ต่างจากภาพวาดสมัยเด็ก แค่ขยายใหญ่ขึ้น 10 เท่า แต่จุประสบการณ์ทั้งชีวิต

เหมือนกูเกิลจะยังบอกเราไม่หมด 

แต่ไม่เป็นไร ให้ภาพมันเล่าเรื่อง

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

งานศิลปะที่คุณทำตอนนี้เรียกว่าสไตล์อะไร

สไตล์นี้ฝรั่งจะเรียกว่า Naïve Art ตอนอยู่ซานฟรานซิสโกเราเคยไปสอนหนังสือเด็กพิเศษ เขาไม่ได้เรียนอาร์ต แต่เขาชอบศิลปะ ภาษาอังกฤษเรียกศิลปะแบบนี้ว่า Outsider Art ซึ่งโยงกับสิ่งที่เราชอบ เป็นแพสชันจริงๆ เพราะลายเส้นของเขาไม่เหมือนชาวบ้าน เหมือนเด็กวาดรูป มันจะมีอะไรที่ใสๆ และตรงไปตรงมา เราก็เลยมีจุดนั้นเป็นแรงบันดาลใจทำชุดนี้ที่เราวาด จริงๆ มันไม่มีอะไรมากเลย แค่วาดรูปเล่นเหมือนตอนเด็กๆ ขยายให้มันใหญ่ขึ้นมาสิบเท่า ใช้สีเทียน แล้วก็พาไอ้ตัวนี้เที่ยวไปเรื่อยๆ

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

ทำไมคุณถึงไม่เลือกวาดภาพเหมือน ฯลฯ

ตอนนี้ศิลปินไทยฝีมือดีมากนะ วาดภาพเหมือนเกือบจะ 6D แล้วอะ (หัวเราะ) จะชัดไปไหน เราก็แบบไปสายนั้นนี่กูตายแน่ๆ สาย Abstract กูยิ่งตาย เพราะมีตัวพ่อ ตัวแม่ เยอะมาก ทั้งพี่สมบูรณ์ (สมบูรณ์ หอมเทียนทอง) พี่สมยศ (สมยศ หาญอนันทสุข) เดี๋ยวนี้คนก็ลุกขึ้นมาทำ Abstract เพราะมันใช้คำอธิบายเดียวไง What you see is what you feel. อ้าว มันก็พูดไปได้เรื่อยๆ ไง คนดูก็ซื้อ เราเลยคิดว่ามาแนวนี้ดีกว่า 

อะไรคือแรงผลักดันให้วาดภาพพวกนี้ออกมา

เราพยายามคิดและวิเคราะห์ ส่วนมากงานอาร์ตแรงผลักดันได้มาจากวัยเด็กเยอะมากเลย อาจเป็นหนัง Sci-fi ที่ดู ไอ้ตู้ๆ พวกนี้มันมาจากตู้ปลา ไม่มีอะไรหรอก มันเหมือนตู้ปลาในห้องเรา งูนี่ก็เราวาดทีเร็กซ์ไม่เป็นไง (หัวเราะ) จะวาดตัวอะไรที่ดูมีความ Primitive หน่อย มีความน่ากลัวหน่อย มีเส้น มี Curve งูก็วาดง่าย 

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

ส่วนรูปนี้เราทำตอนมีไฟป่าที่เชียงใหม่ และมีอยู่รูปหนึ่งที่เราทำไว้ตอนพะยูนตาย เราดูในอินเทอร์เน็ต ล่าสุดมีปลาโลมาที่ตายที่ญี่ปุ่น มันก็น่าเศร้า หรือมีเสือตัวหนึ่งเดินวนเป็นวงกลมในสวนสัตว์แล้วมันก็ตายเพราะมันเครียด เราคิดว่าข่าวพวกนี้มันก็กลับเข้ามาในรูป 

เรื่องไฟป่า การสูญพันธุ์ของสัตว์ เป็นงานของศิลปินเหรอ

มันก็จะมีวอยซ์เล็กๆ ไอ้วาดรูปมันไม่เท่าไหร่หรอก แต่เราต้องคิดว่าไอ้สามแผ่นนี้มีเมสเสจอะไรในแต่ละตอน อย่างนิทรรศการล่าสุดที่ชื่อว่า Other Worldly มันก็คือโลกอีกโลกหนึ่ง โลกในจิตนาการของเรา ว่าคนพวกนี้ไปทำอะไร เป็นตอนๆ มีรูปตอนหนึ่งที่นักบินอวกาศมาที่ดาวดวงนี้ ทำการทดลองกับสัตว์ต่างๆ เล่าให้ง่ายที่สุดคือมันก็เหมือนตอนเราเด็กๆ แล้ววาดรูปเล่น มันก็จะมีพระเอกกับผู้ร้าย มันก็เหมือนกัน แค่เราทำให้มันเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น หน้าที่ของศิลปินคือ Make a big deal out of nothing. ซึ่งพวกเราแม่งเก่งเรื่องนี้อยู่แล้ว 

เราคิดว่าศิลปินทุกคนมีวอยซ์ เขาอยากจะบอกเล่าเรื่องราวของเขา เมื่อวานเราดูคลิปของ Art Basel ที่มีกรกฤต (กรกฤต อรุณานนท์ชัย) เขาบอกว่า Every artist is a story teller. ซึ่งมันก็ถูก เราอยากจะบอกเล่าเรื่องของเรา 

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

ถ้าให้บอก งานศิลปะของ ท็อป จ่างตระกูล ยุคนี้ต้องเป็นยังไง

เป็นแนวเด็กผู้ชาย Perspective หลุด เรามีปัญหาเรื่องวาดนิ้วไม่ค่อยได้ คนของเราต้องใส่รองเท้าทุกคน เพราะเราวาดนิ้วไม่เป็น (หัวเราะ) ใส่ถุงมือปิดไว้หมด หูเหอปิดไว้หมด แต่เราไม่บอก เพราะเราถือว่านี่เป็นคอนเซปต์ อย่ามาฝันว่าจะเขียน Light and Shadow ชาติหน้าตอนบ่ายๆ เหอะ เราก็แม่งปิดให้หมด 

และต้องเป็นไซส์นี้เท่านั้น เพราะเราอยากให้ภาพเราดูใหญ่เหมือนดูทีวีจอยักษ์ที่บ้าน เราไม่อยากวาดเล็กๆ ตาเราไม่ค่อยดี มันอิมแพคดีและชัดดี และเราต้องวาดบนกระดาษสีน้ำตาล เพราะมันเหมือนตอนเราเรียนหนังสือ แคนวาสมันดูเป็นเรื่องเป็นราวมากสำหรับเรา แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นหลังเปิดเมืองคือเราจะไปเรียน Art Class เพิ่ม เพราะมันคงถึงเวลาแล้วว่ะท็อป (หัวเราะ)

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ
ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

ถ้าเรียนแล้ว…

น่าจะวาดเท้าได้ เพราะตอนนี้ต้องปิดหมดเลย 

เมสเสจของงานคุณคืออะไร

เราไม่ได้บอกใครนะ เราบอกตัวเองมากกว่า ว่าคนเรามี Second Life ได้ เปลี่ยนตัวเองไปตลอดเวลาได้ ไม่จำเป็นต้องมี Label ให้ตัวเอง และอยากบอกว่ามันไม่มีผิดไม่มีถูก แต่ทุกอย่างจะมีผลที่ตามมา เราก็ต้องยอมรับมัน ถ้าเจตนาของเราไม่ได้ทำร้ายใคร มันก็น่าจะโอเค แต่ยังไงเราก็ป้วนเปี้ยนกับวงการศิลปะอยู่แล้ว คงไม่ได้ทำอย่างอื่น 

ตอนแรกเราชอบวาดรูปพวกนี้เพราะมันห่วยดี มันดูอินโนเซนส์ ดูตรงไปตรงมา ไม่มีข้อแม้ ไม่มีอะไรมาก เป็นตัวของตัวเองดี พอวาดมาสักพักเราก็คิดว่าถึงเวลาแล้วนะที่ยูต้อง Step up และ Deliver ถึงต้องไปเรียนเพิ่มเพื่อสร้างมิติให้มันได้อีก

ใช้เวลาวาดชุดนี้นานแค่ไหน

อันนี้เป็นงานที่วาดตอนกลับมาอยู่บ้านหลังออกจาก Farmgroup เราวาดทุกวันเลย ไม่ได้ทำอย่างอื่น ห้าสิบรูปใช้เวลาสี่ห้าเดือน เราตื่นตีห้ามาทำถึงสี่ทุ่ม ทำทุกวัน หนึ่งรูปสี่ห้าวันก็เสร็จ เสร็จแล้วก็วาดต่อๆ วาดจนหลังจะโก่ง 

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

คุณจริงจังกับการลาออกมาเป็นศิลปินมากนะ

ใช่ เมื่อก่อนอ้วนกว่านี้ ตอนนี้ผอมลง เล่นกล้ามท้อง กลับมาฟิตดูแลตัวเองเพื่อให้มีแรงที่จะวาดรูป

การกลับมาอยู่บ้านเป็นศิลปินแบบ 24/7 คุณทำอะไรบ้าง

เราใช้เวลาของเราใหม่ หนึ่งคือ ทำอะไรให้มัน Productive สองคือ เรื่องรายได้ ทำยังไงจะสร้างเงินได้ 

พอออกจากงานก็มีเวลา ตื่นเช้ามาเราจะดื่มกาแฟก่อน พอเสร็จก็อ่านหนังสือ มันใกล้เคียงเวลาออฟฟิศมาก อ่านหนังสือชั่วโมงหนึ่ง เล่นหมากรุกสักสองสามเกม แล้วก็ไปว่ายน้ำนิดหน่อย พยายามทำให้เป็นรูทีน แล้วเข้ามาในสตูดิโอ เราจะเข้ามาที่นี่ทุกวัน มีไอเดียหรือไม่มีไอเดียก็จะเข้ามา พยายามใช้เวลากับมัน สเก็ตช์ที่นี่บ้าง ในบ้านบ้าง ถ้าไม่มีไอเดียก็ไปรอรับลูก หรืออ่านหนังสือไปเรื่อยๆ เรารู้ว่าเราเป็นคนใจร้อน พอออกจากงานแล้วเจอช่วงโควิดมันก็เหมือนทำให้เราได้พอส พอไม่มีงานก็ทำให้ปรับตัวกับวิถีชีวิตได้

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

การทำงานศิลปะของคุณจึงเบลนด์อยู่ในชีวิตประจำวัน

ใช่ เราคิดว่าปีหนึ่งอยากจะทำโปรเจกต์ใหญ่โปรเจกต์เดียว แล้วก็มีเงินเลี้ยงตัวเองไปทั้งปี เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตฟู่ฟ่าอยู่แล้ว แล้วใช้เวลาที่เหลือทำอะไร Explore ของเราไป ไปทำกิจกรรม ไปคุยกับคนที่เราชอบ

การอ่านหนังสือเลยเป็น Input ในการทำงานศิลปะแบบหนึ่ง

เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ส่วนมากเราชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับชีวิตคน ไม่ใช่บุคคลสำคัญแบบ Elizabeth Taylor, George Washington นะ แต่เป็นหนังสือเรื่องคนที่อยู่ในค่ายกักกัน สั่งมาจากอเมซอน หนังสือสมัยใหม่มันไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยก่อนมันจะหนามาก ใช้เวลายี่สิบปีกว่าจะอ่านจบ (หัวเราะ) พอเราได้อ่านพวกนี้เยอะๆ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตคนอื่นภายในสองอาทิตย์ แล้วเราก็จะมีไอเดีย แล้วก็ชอบอ่านหนังสือเรื่องคนที่ติดอยู่ในเกาหลีเหนือ เพราะชีวิตเขาลำบาก เราเลยได้เห็นมุมมองที่ทำให้เรามีทัศนคติเปลี่ยนไป 

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

เหมือนชีวิตธรรมดาไม่น่าสนใจ 

ใช่ ใช่มาก เพราะชีวิตธรรมดาในกรุงเทพฯ มันน่าเบื่อมาก อยู่ที่เมืองไทยมันน่าเบื่อในหลายๆ มิติ หลายๆ อย่างมันไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ยี่สิบปีที่แล้วที่เรากลับมาจากเมืองนอกมันก็ยังเหมือนเดิม เหมือนนั่งเครื่องบินไม่ลงสักที แม่งอึ้งอะ มันเป็นบรรยากาศที่อึ้งมาก ไม่ค่อยเห็นอะไรใหม่ๆ เราไม่ได้เปรียบเทียบนะ เพราะเดี๋ยวนี้ใครๆ เขาก็เดินทางกันเยอะมาก ไม่ใช่แค่เราคนเดียว 

เวลาเราเดินทางไปประเทศที่ชอบ เฮ้ย ปีนี้มันเปลี่ยนไปว่ะ แต่เมืองไทยเปลี่ยนแค่ช้อปปิ้งมอลล์อย่างเดียว อย่างอื่นมันไม่ได้เปลี่ยน ยกตัวอย่างนะ รถไฟฟ้าความเร็วสูงควรจะเป็นเรื่องปกติเหมือน ATM น้ำสะอาด Free Education ควรจะมีเหมือน ATM มันควรจะมีสแตนดาร์ดพวกนี้ได้แล้วทุกที่ เพราะเมื่อเรามีสแตนดาร์ดที่ดูแลเรา คนที่เป็นครีเอทีฟจะได้เอาเวลาไปคิดเรื่องอื่นเพื่อทำให้โลกมันดีขึ้น 

แต่เราก็เชื่อว่าเรื่องศิลปะในเมืองไทยยังไปไกลไม่ได้ เพราะคนยังหิวอยู่เลยไง อันนี้มันเป็น The Norm อย่างหนังสือเกาหลีเหนือที่เราอ่าน ลูกกับแม่ทะเลาะกันเรื่องอาหารอะ แม่ทำอาหารไว้ให้ลูก ลูกหิวมาก กินอาหารของแม่ที่แม่เก็บไว้ในตู้ แม่กลับมาจากโรงงานไม่มีข้าวกิน เพราะลูกกินไป เนี่ย คนยังหิวอยู่อะ มันก็ไม่มีเวลาจะไปคิดเรื่อง Creativity 

คุณบอกว่าพื้นฐานบ้านเมืองเราไม่เอื้อต่อการเป็นศิลปิน แต่คุณกลับหันมาเป็นศิลปินเต็มตัว

เราเป็นศิลปิน ก็คงต้องทำ Side Project ด้วย เราไม่ได้บอกว่างานออฟฟิศไม่ดีนะ งานออฟฟิศเป็นงานที่ดีและมั่นคง แต่พอสักพักเราอยากจะมีเวลาที่ไม่ต้องอยู่หน้าคอมฯ Pretend that you have to work. แล้วก็ไป On schedule เราก็เลยอยากออกมา แล้วลองดูสิว่ามันจะดันเราไปได้แค่ไหน ถ้าเกิดมันขายไม่ได้ก็คงเศร้าๆ หงอยๆ งานยังเต็มห้องอยู่เลยเนี่ย (หัวเราะ) 

แต่ด้วยความที่เราอยู่ในวงการนี้มาสักพัก แม้เราจะหายไปทำงานบริษัทดีไซน์ แต่เราก็ยังมีเพื่อนอยู่ มันก็ไม่ได้แห้งเหมือนเดิม เราเริ่มรู้จักคนแล้ว งานมันก็ไปต่อได้ ไม่เหมือนยี่สิบปีที่แล้วมันลำบากมากถ้าเป็นศิลปินแล้วไม่รู้จักใคร มันไม่มีช่องทางอะ พอคราวนี้ก็เริ่มโอเค เริ่มมีคนที่เขา Afford ได้ เขาก็ซื้องานไปแต่งบ้าน อย่างที่เราทำ Art Fair เราก็รู้จักแกลเลอรี่ แกลเลอรี่ก็แนะนำให้เราไปต่อ

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

เสียงตอบรับของงานชุดล่าสุดเป็นยังไงบ้าง

ฟีดแบ็กดีนะ เราห่างวงการศิลปะไปนาน คนยังงงว่าพี่ท็อปทำอะไร อาจต้องย้ำหน่อย เขาจะได้มั่นใจมากขึ้น กลับไปเรียนวาดมือวาดเท้า (หัวเราะ) พอวาด Perspective ได้มันจะไปไกล นี่ยังเหมือนอียิปต์โบราณ เราก็ เออ ใช่ๆ ไถไป อันนี้เป็นสิ่งที่กูแต่งขึ้นไง ไม่ใช่ข้อแก้ตัว แต่เราใช้ Weakness เป็น Strength ก็ไม่ได้อยากจะวาดเหมือนอียิปต์หรอก ถึงบอกว่าออกจากงานก็ดีแล้ว จะได้มีเวลาไปเรียน เราคงจะไปเรียนตั้งแต่เบสิกใหม่กับติวเตอร์ที่ติวเด็กเข้ามหา’ลัย น่าจะดีสำหรับเราด้วยซ้ำไป ได้ใช้เวลาวาดรูป Light and Shadow ป้วนเปี้ยนกับดินสอเทียนที่ซื้อมาเต็มบ้าน ไม่งั้นขาก็จะไม่เท่ากันสักที และแขนจะเป็นยังงั้นตลอดเวลา

แล้วเราอยากทำเพื่อเสนอมุมมองหนึ่งที่ว่า Passion is not enough. บางทีแพสชันไม่พอ แต่มันต้องมีสกิลล์ด้วย โอเค แพสชัน สกิลล์ เราก็มีในระดับหนึ่ง แพสชันมันลงตัวพอดี เป็นเรื่องราวการวาดรูปตอนเด็กๆ ถ้าจะให้ไปไกลกว่านี้ โอเค มันมีคอนเซปต์ มีไอเดีย แต่มันก็ต้องสกิลล์ด้วยไง ซึ่งอาจจะไม่ต้องวาดถูกต้องมาก แต่ถ้าออปชันแขนมันทำได้เยอะ ให้มันไปหยิบอะไรได้บ้าง นี่มันวางแปะอย่างเดียว (หัวเราะ) บางทีเราอยากให้มันไปจับปืน อยากให้มันล้วง ซึ่ง โอเค ซีรีส์แรกมันดูสนุก แต่ซีรีส์สองเราก็อยากให้มันมีแอคชันขึ้น แต่ก็จะยังใช้สีเทียน เพราะว่าไม่อยากให้สกิลล์ของเราลิมิตจินตนาการ

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ
ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

สำหรับคุณ ความเป็นศิลปินคืออะไร

ถ้าเกิดดูจากภาพใหญ่มันอาจเป็นแค่การใช้เวลามากกว่า ความจริงเราอาจจะไม่ได้อยากออกจากงานก็ได้ มันมึนอะ ความจริงมันอาจจะไม่มีวิกฤตอะไรเลย ทุกอย่างที่เราคิดมันอาจ Just make believe 

เราก็จะอินๆ กับหนังสือที่เราอ่าน ก่อนหน้านี้เราอ่านเรื่อง Big Magic ยิ่งไปกันใหญ่เลย มันพูดว่าศิลปินหลายคนชอบคิดว่า Creativity หรือช่วงไฮไลต์ของตัวเองหายไปแล้ว เพราะต้องไปทำงาน เข้าออฟฟิศ มีลูก มันก็เลยบอกว่าลองกลับเข้ามาในสตูดิโอมั้ย ลองใช้เวลากับมันวันละสองสามชั่วโมง สิ่งพวกนี้ที่เธอคิดว่ามันหายไป มันอยู่ในตัวของเธอ ก็ค่อยๆ เอาออกมา 

เราอ่านแล้วก็ เออ เดี๋ยวกูจะลองทำแบบที่มึงพูดซิ เราก็ตื่นมาตั้งแต่ตีห้า แต่ก่อนจะมาวาดรูปนี้เราไปวาดรูปอื่นที่มันห่วยมาก ซึ่งก็โอเค มันก็เป็น Part of the process เพราะมึงไม่ได้วาดมาตั้งนาน มันยังไม่ลิงก์อะ เราวาดมาสักเดือนสองเดือนก็กลายมาเป็นรูปนี้ รูปนี้จะเหมือนรูปที่เราวาดตอนเด็กๆ แค่ขยายใหญ่ขึ้นและใช้สีเทียน เราไม่ชอบใช้พู่กันกับสีที่ต้องเดินไปก๊อกน้ำ ผสมสีแม่งเหนื่อยอะ หาพู่กันก็งงแล้ว (หัวเราะ) เราก็เลยใช้สีเทียน วาดเยอะมาก พอมาเป็นสไตล์นี้ก็ เออ แฮปปี้ดีนะ 

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ
ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

คุณเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปินมั้ย

ก็มีช่วงสงสัยเหมือนกันนะ อย่างช่วงที่วาดงานเยอะๆ แล้วมันยังขายไม่ได้ ก็คิดว่า แม่ง มาผิดทางเปล่าวะ ไม่น่าออกจากงานเลย 

แต่เรามีอีกมุมหนึ่งคือ Every decision in life is either right or wrong. มันแค่มีผลลัพธ์ตามมาเท่านั้นเอง พอคิดแบบนั้น เราก็พอจะหายใจได้มากขึ้น เพราะไม่อย่างนั้นเราจะจมกับคำว่า Regret เราก็เลยคิดว่าก็เป็นตอนใหม่ของชีวิต เมื่อก่อนยูก็เป็น Nobody อยู่แล้วนี่ ยังนั่งขายเสื้อยืดอยู่เลย ไม่ได้รู้จักใคร เราก็ทำ Art Scene TV ของเราไป ตอนทำงาน Framgroup ก็ได้ประสบการณ์ ตอนนี้เราเลยอยากเปลี่ยนให้ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิตบ้าง ถ้าทำงานไปก็ดี แต่คงอยู่ไปเรื่อยๆ 

ไหนๆ ก็ลาออกจากงานประจำแล้ว นอกจากวาดภาพ เรียนศิลปะเพิ่ม คุณอยากทำอะไรอีก

เราอยากทำโปรเจกต์เกี่ยวกับอาร์ต ไม่ได้บอกว่าอยากทำอะไรเพื่อสังคมนะ แต่เราชอบมูลนิธิ ณ กิตติคุณ (มูลนิธิที่ค้นคว้าหาวิธีการพัฒนาบุคคลพิเศษ และฟื้นฟูใจเด็กป่วยเรื้อรังด้วยดนตรีและศิลปะ) ที่สร้าง Outsider Art ของไทย เป็นตลาดที่ใหม่มาก ไม่เคยมีมาก่อน ที่ Creativity Explore ซานฟรานซิสโก ซึ่งเราเคยไปทำงาน หรือที่โอ๊กแลนด์ก็มีเหมือนกันคือ Creative Growth เป็นศูนย์ให้คนพิการ โฮมเลส มาทำงานศิลปะ ซึ่งงานพวกนี้เป็น One of a kind เราคิดว่างานที่ยังเพียวร์อยู่คืองานของ Outsider 

อย่าง ณ กิตติคุณ ถ้าเมืองไทยมีศูนย์แบบนั้นก็จะดีมาก ยกตัวอย่างเช่นคนที่วาดรูปใต้สะพาน คุณเสมอ เพื่อนเราพยายามหาตัวแกเพื่อทำสารคดี ก็หาไม่เจอ คนนั้นน่ะ รูปที่เขาวาดเป็นรูปที่เราพยายามวาดสิบปี พันปี ก็วาดได้ไม่เหมือนเขา

เราไม่รู้ว่าคนอื่นดูยังไง แต่พอศิลปินมาดู คือลายเส้น Composition การวางรูป ตำแหน่ง Proportion มันได้หมด แล้วก็จะมีคำที่ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่มันเหมือนเป็น Hidden Language เราว่ามันมีค่ามาก ไม่ได้เปรียบว่าเขาเป็น Banksy เมืองไทยนะ แต่ก็กึ่งๆ อะ ซึ่งสร้างมูลค่าได้หากจัดสรรให้ถูก เพราะงานเขามันเป็น Site-specific Installation ถ้าเกิดเรามีคนแบบนี้ในศูนย์ของเราหลายๆ คน เราคิดว่าจะดี มันคล้ายๆ เป็น Learning Center ที่เราอยู่ซานฟรานซิสโกหกปี ศิลปินทำงานสักพักมันก็จะตันๆ พอมาอยู่กับคนเหล่านี้จะมีไอเดียขึ้นมาทันที เพราะพวกเขาไม่คิดมาก

มีเงื่อนไขในการสร้างบรรยากาศการทำงานมั้ย

หนังสือ Big Magic บอกเรื่องวิธีเรียก Creativity ว่าถ้าเกิดยูเข้าสตูดิโอแบบยังไม่ได้อาบน้ำ ไม่ได้แปรงฟัน ตัวเหม็นๆ เข้ามา Creativity มันก็ไม่มา ถ้าเราเข้าสตูดิโอแบบได้อาบน้ำหน่อย โกนหนวด ทาน้ำหอม ไอเดียมันก็เริ่มจะมา นั่นอาจจะเป็นเทคนิคที่จะช่วยเรียก Creativity 

เหมือนแต่งตัวมาทำงาน

Creativity คล้ายเป็น Magical force ไม่รู้มาจากที่ไหนอะ เพราะฉะนั้น เราต้อง Dress up to attract it หนังสือเล่มนี้มันทลายขอบเขตของศิลปินเยอะมาก

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

ทำไมตู้ปลาต้องอยู่ในสตูดิโอ ไม่แต่งด้วย นี่มันงานศิลปะชัดๆ

เราชอบดูตู้ปลามาก เลยอยากจะมี ก่อนหน้านี้เลี้ยงปลาทองตัวใหญ่หลายตัว แต่มันก็ตายหมด ตอนหลังเราเลยเลี้ยงแค่ตัวเดียว ตั้งชื่อว่า ทอง แล้วตัวนี้มันทนมาก สามปีแล้วนะ ซึ่งเราว่ามันแฮปปี้ที่อยู่ตัวเดียว เราก็ดูแลมันเป็นพิเศษหน่อย เปลี่ยนน้ำบ่อยหน่อย อยู่ชิลล์ๆ ที่โล่งๆ ไม่ต้องมีอะไรเยอะ เราจะนั่งวาดรูปอยู่ตรงนี้ ถ้าไอ้ดู๊ด (หมา) มามันก็จะป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้ 

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

ช่วงชีวิตตอนนี้ของ ท็อป จ่างตระกูล เป็นยังไง

เป็นช่วงเวลาที่เราชอบความนิ่งเงียบของเรามาก ไม่ต้องพีกมากก็ได้ ขอให้ทำเรื่อยๆ อยู่ที่เราพอใจแค่ไหน เป็นสิ่งที่ดีที่สุด

จะรู้ได้ยังไงว่าแค่ไหนถึงพอใจ

อยู่ที่ Attitude พูดตรงๆ เลยนะ ตอนนี้เราอยากทำอะไรที่ตัวเองอยากจะทำ ใช้ทัศนคติหรือความสุขของเราเป็นตัวตัดสินว่าสิ่งที่เราทำไปตอนนี้เราแฮปปี้ พอใจ กับมันรึเปล่า แล้วก็สิ่งที่อยากจะขายมากที่สุดคือ Personality และ Charisma คาแรกเตอร์ของตัวเอง เวลาทำงานเราก็ต้องขายตัวอีกแบบหนึ่ง พูดกับเขาอีกแบบหนึ่ง แต่ตอนนี้เราอยากจะเป็นศิลปินในสไตล์ของเรา และเริ่มทำงานแบบที่เราชอบ

เริ่มคิดแบบนี้ตอนไหน

ปีที่แล้ว เราทำงานที่ Farmgroup มาเจ็ดแปดปี เราคิดว่า โอเค มันไม่ได้เกี่ยวที่อายุห้าสิบนะ เราไม่ได้คิดถึงตรงนั้น พอถึงช่วงที่มันอิ่มแล้วมันก็อยากจะทำอะไรอีกอย่างเปล่าวะ อยากจะลองทำอย่างอื่นมั้ย ถ้าอยากจะลอง ก็ออกมาสิ สิ่งแรกที่อยากจะทำคือ อาร์ตของเรามันยังไม่สุด เราก็อยากจะดันอีกทีหนึ่ง พอมาวาด เออ ยังไม่สุดจริงๆ (หัวเราะ) แต่มันก็ได้ความเก๋อีกแบบหนึ่งนะ มันก็เป็นเสน่ห์ของมัน เราไม่เถียง แต่ก็จะทำมันให้สวย 

ถ้างานขายไม่ได้จะยังพอใจอยู่มั้ย

คงพอใจน้อยลง แต่เราคิดว่างานขายได้ ไม่ได้ ในฐานะคนทำงานศิลปะ เราต้องถามตัวเองว่าเราทำดีแล้วรึยัง ตอนนี้เราว่าเราทำดีแล้วในสิ่งที่เรามี แต่ถามว่าดีกว่านี้ได้รึเปล่า ดีกว่านี้มันได้อยู่แล้ว แต่มันก็ต้องมีคนมาพัฒนาเรา คล้ายๆ ว่าเปลี่ยนไมโครชิป เราจะได้ทำอะไรได้มากขึ้น เราวาดรูปเป็นสองแบบ ไม่วาด Theories Drawing ก็ Helmet People ซึ่งรูปนี้ความพิเศษของมันคือ เวลาเราเห็นเด็กปอสามปอสี่วาดรูป เธอก็ไม่เคยไปวิจารณ์เขาอยู่แล้วว่านิ้วไม่ครบนะ คอยาวไปนะ 

เราก็ใช้กฎเดียวกัน คือสกิลล์ฉันแปดขวบอะ ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร สกิลล์แปดขวบแล้วผิดหรอ เธอจะหวังว่าเด็กแปดขวบจะวาดเหมือนราฟาเอล มันทำไม่ได้อยู่แล้ว เราว่าสกิลล์สิบสามขวบแล้วกัน เราไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย เหมือนโดนแช่แข็ง แต่สิ่งที่พัฒนาคือประสบการณ์ชีวิต การเล่าเรื่องราวที่มันซ่อนอยู่ 

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ
ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

งานชุดนี้สร้างแรงกระเพื่อมอะไร

ให้คนหันมามองว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะ Creativity is your right. มันเป็นสิทธิของเธอที่เธออยากครีเอต เราไม่อยากให้คนต้องมาคิดมากว่าทำงานศิลปะมันต้องยากมาก ฉันต้องวาดรูปเหมือนเป็น ทำนู่นทำนี่เป็น แต่ถ้าเป็นก็ดี (หัวเราะ)

ชีวิตท็อปก่อนเป็น ท็อป จ่างตระกูล อย่างทุกวันนี้

เราเป็นคนที่ห่วยมากเลย ห่วยที่สุด ไปเรียนอาร์ตเมืองนอกก็ไม่สนใจ Figure Drawing, Still Life ไอ้เรื่องภาพ โรงเรียนมีให้เลือกว่าจะเรียน Conceptual หรือเรียนพื้นฐานการวาดภาพ เราก็รีบๆ ทำเบสิกให้เสร็จ เพราะชอบจินตนาการ ชอบไปโม้มากกว่า Conceptual มันสนุกอะ ไม่ต้องทำงาน มึงแค่ไปโกหกเขาว่าทำไมเอาอันนี้มา แล้วงาน Conceptual ลึกๆ ยิ่งมาจากเมืองไทยยิ่ง Exotic ยิ่งหลอกฝรั่งได้ เครื่องทุกอย่างที่เราวาดเป็นแบบโดราเอมอนเลย เครื่องมือติดต่อชาติที่แล้ว ฝรั่งแม่งไม่เคยเห็นแน่ๆ Past Life Machine นี่มึงอึ้ง 

คุณบอกว่าที่โรงเรียนนี้สอน Visual Art และตดก็เป็นงานศิลปะได้

ใช่ นั่งคุยสองชั่วโมงหน้ามืดเลย เป็นโรงเรียนที่คล้ายเป็นห้องแล็บ แล้วครูไม่สอน เหมือนไม่ค่อยได้เรียนด้วยซ้ำไป ไปทำอะไรก็ได้ เพราะ It depends on you. แล้วก็ห้ามทำอะไรที่มันอยู่ในหนังสือ มันเลยบังคับให้เราคิดอะไรใหม่ๆ 

รู้สึกว่าโรงเรียนจะปิดตัวปีนี้ หลายคนก็เสียดาย

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ
ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

แล้วตอนนั้นคุณเรียนอะไร

Video Performance คล้ายๆ Prank มันเป็นไปได้หมด เขาคิดกันแบบนั้นที่โรงเรียนเรา วันๆ หนึ่งก็จะประสาทแดก คิดอะไรแบบนี้ทุกวัน (หัวเราะ) แต่เขาวัดไอเดียด้วยเกณฑ์ว่างานมันไปต่อได้แค่ไหน เป็นซีรีส์ได้แค่ไหน ถ้าคนคนหนึ่งทำแบล็กเมลมาแล้ว What’s the next piece? ถ้าไม่มี แสดงว่างานชิ้นนั้นมันไปต่อไม่ได้ ถ้ามันตัน แสดงว่าไม่ใช่ 

ทำไมถึงเลือกเรียนสิ่งนี้ล่ะ

ตอนนั้นอยู่ University of San Francisco เรียน Business เป็นเมเจอร์ แล้วเรียน Sculpture เป็นไมเนอร์ไปด้วย บิสิเนสเรียนไปเพราะพ่ออยากให้เรียน แต่ก็เรียนไปไม่ผ่าน เลยต้องเรียน Sculpture พอเรียนไปเรียนมา บิสิเนสก็กลายเป็นรอง 

เรียน Sculpture ปั้นเสร็จก็ไปอธิบาย ได้เอมาง่ายกว่าไง บิสิเนสมันต้องไปนั่งเปิดตำรานู่นนี่นั่น 

ตอนนั้นช่วง 90s พ่อบอกแล้วว่าทำไมยูไม่เรียนอินเทอร์เน็ต เราก็ไม่เชื่อพ่อ ไปเรียนอาร์ต พ่อมาหาที่สตูอิโอ งงเลย เดี๋ยวนี้คนเขานั่งกดคอมพิวเตอร์ มึงยังทุบค้อนอยู่อีก (หัวเราะ) พ่อโมโหมาก พ่อบอกว่า รู้งี้พ่อส่งยูไปเรียนละครใบ้ไม่ดีกว่าหรอ แต่เขาก็แฟร์ Whatever เรื่องของยู พ่อก็พูดถูกนะ เพราะเขาเป็น Business Man คือเราก็พยายามเรียนอินเทอร์เน็ตนะ แต่พื้นฐานเลขเรามันห่วย เรียนโค้ดแล้วมันงงอะ คืออะไร

ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ
ท็อป จ่างตระกูล วัย 50 ที่ลาออกมาเป็นศิลปิน ใช้ประสบการณ์ชีวิตวาดภาพแบบเด็ก 13 ขวบ

ตอนเด็กฝันอยากเป็นศิลปินรึเปล่า

ตอนเด็กเราอยากเป็นสถาปนิก เราคิดหลายครั้งว่าส่วนมากเด็กผู้ชายที่อยากเป็นศิลปิน เราว่าเขาชอบสถาปนิก เพราะมันเป็นอะไรที่จับต้องได้ มันเป็นอาคาร มี Light and Shadow มันดูสวย อาคิเท็กของเราก็เลยกลายมาเป็นรูป Structure พวกนั้น 

ตอนเด็กเราต่อเลโก้ วาดรูป เยอะอะ เพราะมันไม่มีอะไรทำ มันทำให้เรากระวนกระวายต้องหาอะไรทำ ขนาดเขียน ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ยังโดนครูด่าทุกวันเลย ลายมือไม่เหมือนกันสักวัน เพราะอยากจะทดลอง เมื่อก่อนเราควรจะเป็นคนเก่งเลขมากกว่านี้ แต่เลขมันดันไปเร็วมาก เรายังสนุกไม่พอมันก็ไปแล้ว ยิ่งเจอโจทย์ว่ารถไฟออกจากกรุงเทพฯ แปดโมง ใช้เวลาหกชั่วโมง ถึงเชียงใหม่กี่โมง เราก็แบบ ไม่มีตารางเวลาหรอวะ แม่ง ตอนนั้นเราคิดว่าทำไมมึงต้องคิดวะ มันต้องมีตารางเวลาสิ เราเลยไม่ชอบเลข ก็เลยมาทางศิลปะ

ถ้าย้อนกลับไปตอนเด็ก วาดรูปเหมือนตอนนี้เป๊ะเลยมั้ย

คล้ายๆ นะ จำได้แม่นเลยตอนอยู่ปอหก เราเป็นคนทำข้อสอบเร็วมาก ไม่ได้อ่านอะไรเยอะ รีบๆ ทำ แล้วจะเริ่มพลิกกระดาษวาดรูป เสร็จปุ๊บพอครูเก็บกระดาษคำตอบเราไม่อยากให้เลยอะ เสียดายรูป

แล้วผ่านมั้ย

รูปหรือข้อสอบ

ข้อสอบ

ตก (หัวเราะ) เราเป็นคนไม่คิด ยิ่ง Multiple Choice ยิ่งทำเร็ว เป็นคน Go by instinct จะเลือกชอยส์นี้เมื่อมัน Looks good, feels right.

Writer

Avatar

ศกุนตลา แย้มปิ๋ว

นักเรียนวรรณคดีที่มักเรื่องอาหาร ท้องถิ่น วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การเดินทาง และเด็กจิ๋ว มีความฝันสามัญว่าอยากมีเวลาทำอาหารรสที่ชอบด้วยตัวเอง ตัวอยู่กรุงเทพฯ อัมพวา หรือเมืองกาญจน์ แต่ใจและภาพอินสตาแกรมอยู่ทุกที่ที่ไปเที่ยว

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ