ในวัยเยาว์ ผมรู้จัก ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ครั้งแรกจากบทบาทการเป็นผู้บรรยายการถ่ายทอดสดพระราชพิธีต่างๆ

สิบกว่าปีต่อมา ถึงรู้ว่าท่านเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และเห็นบทบาทในการทำงานด้านกฎหมายอื่นๆ

เวลาผ่านไปอีกสิบกว่าปี ผมเจออาจารย์อีกครั้งบนเวทีเสวนา อาจารย์เล่าว่าในช่วง COVID-19 มีโอกาสได้อยู่กับบ้าน แล้วหยิบจับเอาข้าวของมากมายในบ้านมาเขียนถึงบนเฟซบุ๊ก เริ่มจากเรื่องราวของสิ่งของนั้นทั้งประสบการณ์ส่วนตัวไปจนถึงประวัติศาสตร์ด้านต่างๆ

แค่ฟังก็สนุกแล้ว

อาจารย์เล่าต่อว่า พอเขียนครบจำนวนก็รวมเล่ม พิมพ์เอง ขายเอง ในชื่อ ธงทองของเยอะ -ยิ่งสนุกขึ้นไปอีก

จากนั้นอาจารย์ก็เล่างานด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ทำ-สนุกจนผมต้องขอนัดสัมภาษณ์

“ถ้าอยากเห็นของต้องมาคุยกันที่บ้าน” อาจารย์ธงทองว่าอย่างนั้น แล้วก็เป็นอย่างนั้น อาจารย์พาเดินชมห้องในบ้านประมาณ 4 – 5 ห้อง (เหลือแค่ห้องนอนที่ไม่ได้เข้า) ทุกห้องผมไม่เห็นผนัง เพราะมันกลายเป็นชั้นหนังสือเต็มพื้นที่ แล้วก็ยังเก็บหนังสือไม่พอ จนต้องทำชั้นหนังสือเป็นเกาะวางไว้กลางห้องเพิ่มอีก ถึงขนาดต่อเติมบ้านใหม่เพื่อทำห้องหนังสือเพิ่ม

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

อาจารย์ธงทองเป็นคนเล่าเรื่องสนุกมาก ใครได้คุยกับอาจารย์คงทราบเรื่องนี้

ผมเลยขอใช้เวลาช่วงสั้นๆ ก่อนที่อาจารย์จะออกจากบ้านไปประชุม (ทุกวันนี้อาจารย์มีประชุมทุกวัน) ฟังอาจารย์เล่าเรื่องข้าวของและเอกสารต่างๆ ที่อาจารย์เก็บไว้ในบ้าน

ฟังจบก็คิดเหมือนชื่อหนังสือ

ธงทองของเยอะ

ไม่ใช่สิ่งของนะครับ

แต่เป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สนุกมาก ซึ่งอาจารย์เก็บสะสมไว้มากมายเหลือเกิน

อาจารย์ยังไปอ่านภาพที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติอยู่ไหมครับ

ถ้าผมว่าง ผมก็ยังไปทำอยู่เสมอนะ มันมีภาพเก่าเป็นหมื่นๆ ภาพ เราต้องไปอ่านว่ามันคือภาพอะไร ไปเขียนคำอธิบาย ถ้าเราแน่ใจก็บอกว่าแน่ใจ ถ้าไม่แน่ใจก็บอกว่า สันนิษฐานว่า วันข้างหน้ามีคนมาอ่านซ้ำรูปเดียวกัน เขาอาจจะพูดเป็นอย่างอื่นก็ได้ ไม่ได้แปลว่าผมต้องถูกคนเดียวนะ วิธีการคือ มีน้องคนหนึ่งเอาภาพขึ้นจอมาดูกัน บางทีเป็นภาพหน้าวัดสุทัศน์ แต่เราเห็นรถลาก รถราง ก็ไม่ได้อ่านแค่ภาพลานหน้าวัดสุทัศน์ อาจจะพูดเรื่องรถลากรถรางเพิ่มไปด้วย

ผมเป็นกรรมการอ่านภาพมาหลายครั้งแล้ว ไม่ได้อ่านแค่ภาพ แต่อ่านไปถึงเอกสารเก่า เช่น พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ห้า คนสมัยนี้อาจจะไม่เข้าใจว่าท่านมีพระราชดำรัสถึงใคร เช่น พูดถึงสมเด็จกรมพระฯ ก็ต้องนึกว่าในปีนั้นคือใคร หรือคำย่อ คำที่คนยุคนี้ไม่รู้จักแล้ว เราก็ต้องอธิบายให้ได้

ผมเป็นกรรมการทำเชิงอรรถของ สาส์นสมเด็จ ที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนโต้ตอบกัน แต่มันแปดสิบปีมาแล้ว คนอ่านก็จะงงว่าท่านหมายถึงใคร หมายถึงอะไร บางคนบางอย่างเรารู้ บางเรื่องกรรมการคนอื่นรู้ บางอย่างไม่มีใครรู้เลย ก็ต้องหาต่อไป บางทีเป็นคำสแลง หรือคำที่มีรากมาจากภาษาจีน ก็ต้องไปหาสมาชิกของราชบัณฑิตยสภาที่รู้ภาษาจีนว่ามีคำไหนที่ใกล้เคียงกันไหม ผมทำงานแบบนี้เป็นความเพลิดเพลินหลังเกษียณ

ภาพเก่าจำนวนมากยังเผยแพร่ไม่ได้เพราะยังไม่ได้อ่าน เราให้คนโหลดภาพไปใช้ก่อนไม่ได้เหรอครับ

ถ้ามีแต่ภาพ เป็นภาพอะไรก็ไม่รู้ ไม่มีการอ้างอิงและสอบทานมาเลย ใครคนหนึ่งซึ่งอาจจะมีประสงค์ดีเอาไปสื่อความหมาย แต่ข้อมูลพลาดไป ก็จะกลายเป็นการแต่งประวัติศาสตร์ใหม่ มันจะยุ่งไปกันใหญ่ แก้ไม่ได้เลย ต้องระมัดระวังเรื่องนี้

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

หอจดหมายเหตุฯ เก็บภาพเก่าถึงยุคไหน

เขาต้องเก็บไปเรื่อยๆ ถึงปัจจุบัน ผมพยายามชวนเขา รณรงค์ให้คนส่งภาพตามบ้านของแต่ละคนมาด้วย คนคิดว่าต้องเป็นภาพคนสำคัญ เปล่าเลย ภาพใครก็สำคัญ ทุกเหตุการณ์สำคัญหมด วิถีชีวิตคนกินอย่างไร อยู่อย่างไร แต่งตัวอย่างไร บ้านเรือนเป็นอย่างไร บ้านใหญ่บ้านเล็ก มันมีความหมายในแง่การเก็บรักษาประวัติศาสตร์ของเรา

เคยมีคนทำวิจัยส่งมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ เขาอยากรู้ว่าตอน พ.ศ. 2519 นิสิตนักศึกษายุคนั้นแต่งตัวยังไง ขามอส ขาเดฟ เป็นยังไง ผมต้องไปหารูปตอนที่ผมเป็นนิสิตปีสี่มาให้เขา มันเป็นภาพที่ตลกมากเมื่อเราย้อนดู แต่ก็เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัย รูปภาพเล่าได้หลายอย่าง แล้วแต่ว่าคุณจะเห็นอะไรในนั้น

หอจดหมายเหตุฯ เก็บอะไรที่เราคิดไม่ถึงบ้างครับ

นอกจากภาพแล้ว เขาเก็บเอกสารด้วยนะ จากกระทรวงทบวงกรมทั้งหลาย ตอนนี้มีปัญหาอีกอย่างคือ เอกสารกลายเป็นดิจิทัลแล้วจะเก็บยังไง อันนี้เป็นปัญหาของเขา แต่ที่ผมเกี่ยวข้องด้วยคือ ในหอจดหมายเหตุฯ มีเอกสารอยู่ชนิดหนึ่งเรียกว่า เอกสารส่วนบุคคล มาจากคนที่มีเรื่องน่าสนใจ เช่น ม.ล.ปิ่น มาลากุล ท่านเก็บไว้เยอะเลย ทั้งเอกสารประชุม ลายมือเขียนของท่าน ต้นฉบับหนังสือ ตำรา รูปภาพที่ท่านไปทำงาน สิ่งเหล่านี้ทายาทนำมามอบให้ งานที่ท่านทำมีเรื่องการศึกษาของชาติ เอกสารของท่านก็มีเรื่องการตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วถ้าเราไปดูข้อมูลฝั่งศิลปากร ก็จะเห็นว่ามันเชื่อมกัน เป็นการเติมเต็มข้อมูลทั้งหมด

กล่องแบบนี้มีของหลายคนนะ หอจดหมายเหตุฯ ก็มาชวนว่า ถ้าจะเก็บของผมจะขัดข้องไหม ผมก็ลองดู เก็บตั้งแต่ตอนผมเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ประมาณ พ.ศ. 2542 วิธีการคือ ผมจะไปเอากล่องกระดาษจากหอจดหมายเหตุฯ มา ผมอยากให้อะไรอยู่ในหอจดหมายเหตุฯ ก็เอาใส่กล่องนั้น พอครบสามกล่องก็เอาไปส่งแล้วรับกล่องใหม่มา เฉลี่ยแล้วกล่องละเดือนก็เต็ม

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

อาจารย์ใส่อะไรลงไปบ้างครับ

เป็นเอกสารประชุมซะเยอะ เขาก็จะได้เรื่องที่ผมเป็นกรรมการทั้งหลาย เอาไปชนกับข้อมูลอื่นเพื่อเชื่อมข้อมูลถึงกัน ผมส่งไปทั้งหมดให้เขาไปแยกเอง เขาก็จะได้เอกสารประชุมสภามหาวิทยาลัยของจุฬาฯ แบบมีลายมือผมขีดโน่นเขียนนี่ แปดปีช่วงที่ผมเป็นกรรมการ มันก็น่าสนใจ คนในวันข้างหน้าจะได้รู้ว่ามีการแก้รายงานการประชุมแบบนี้ เป็นวิธีทำงานของคนสมัยเรา

ผมใส่ลงไปทุกอย่าง เมนูอาหารในงานเลี้ยงทั้งหลาย บัตรเชิญแต่งงาน บัตรงานศพ จะได้เห็นว่าสมัยนี้เขามีเทคนิคการพิมพ์แบบนี้ ตัวหนังสือแบบนี้ ผมมีหน้าที่เก็บให้คุณดู ในวันข้างหน้าคุณอยากรู้อะไรก็มาค้นเอาเอง มาอ่านเองว่าเห็นอะไร

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

มีสิ่งที่อาจารย์ตั้งใจบันทึกเองบ้างไหมครับ

บางทีในโอกาสสำคัญผมไปเห็นอะไรก็เขียนไว้ สมัยนี้ใช้วิธีพูดใส่ไอแพด แล้วพรินต์ออกมาเป็นกระดาษเก็บใส่กล่อง เป็นความทรงจำของผมเอง เช่นผมอยู่ในเหตุการณ์วันที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้วสิ้นพระชนม์ ผมเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตอนเช้ารู้แล้วว่าพระอาการไม่ดี เราต้องคิดว่าใครต้องทำอะไรบ้าง ผมไปที่วัดบวรฯ ดูการเตรียมสถานที่ ถ้าเกิดเหตุวันนี้พรุ่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง พอถึงเวลาค่ำที่สิ้นพระชนม์ ผมไปถึงโรงพยาบาลจุฬาฯ ผมต้องประสานหรือได้รับมอบหมายให้ทำอะไรบ้าง พรุ่งนี้จะมีการเชิญพระศพ ใครต้องทำอะไรบ้าง ต้องแต่งกายยังไง ผมก็จดเก็บไว้ เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่เราเห็นเรารู้

ผมไปเฝ้าอยู่ข้างถนนตอนงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินก่อน จากศิริราชมาพระบรมมหาราชวัง นึกย้อนหลังไปว่าคุณชายคึกฤทธิ์เขียนเรื่อง สี่แผ่นดิน ฉากแม่พลอยนั่งร้องไห้ริมถนน ก็ได้อาศัยบันทึกของ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ที่เห็นทหารร้องไห้ มาถึงเหตุการณ์ทำนองเดียวกันในช่วงชีวิตของเราบ้าง วันนั้นคนไปเป็นแสน เรามีรูปภาพจำนวนมาก แต่จะมีสักกี่คนที่ได้จดบันทึกความรู้สึก ว่าตัวเองไปถึงกี่โมง นั่งตรงไหน เห็นอะไรบ้าง บรรยากาศเป็นอย่างไร ผมจึงกลับมาเขียนสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐาน

อาจารย์บันทึกเหตุการณ์เล็กๆ ในชีวิตประจำวันไหมครับ

ผมไปเที่ยวต่างจังหวัด ไปเขื่อนเชี่ยวหลานก็เขียนนะ เป็นเรื่องเดียวกับที่ผมเขียนลงเฟซบุ๊ก ถ้าเขาเอาไปชนกับภาพเขื่อนเชี่ยวหลานในวันนั้นก็จะอธิบายอะไรได้อีกเยอะ ผมเขียนค่อนข้างละเอียด กินอะไรก็เขียน ผมสนใจการกินการอยู่ การกินการอยู่ใครไม่สู้พ่อ การพายการถ่อพ่อไม่สู้ใคร (หัวเราะ)

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

อาจารย์เลือกใส่รูปถ่ายประเภทไหนลงในกล่องครับ

ผมต้องทำคำอธิบายก่อนครับ มีเยอะเหมือนกัน ช่วง COVID-19 ทำให้ได้เริ่มทำคำอธิบายประจำอัลบั้ม รายรูปยังทำไม่ไหว มีเป็นหมื่นรูปแน่ะ เมื่อก่อนเป็นฟิล์มนะ แต่พักหลังผมพรินต์ออกมาจากโทรศัพท์มือถือ ผมเลือกภาพที่ผมมีคนเดียว เช่น เมื่อ พ.ศ. 2554 ผมเป็นโฆษก ศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย) การทำงานใน ศปภ. ทุกคนจ้าละหวั่น ใครมีภาพการทำงานในนั้นบ้าง ไม่มีใครเก็บหรอก เขาประชุมกันอย่างไร มีใครมาบ้าง

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

ทูตเยอรมนีมาพบ ผอ. ศปภ. บัน คีมุน (Ban Ki-moon) มาขึ้นเฮลิคอปเตอร์ดูสภาพน้ำท่วม ผมก็ถ่ายรูปไว้ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) จะไปเยี่ยมศูนย์พักพิงที่รัชมังคลาฯ ผมก็ต้องไปดูสถานที่ล่วงหน้า ได้เห็นการทอดปลาทูเลี้ยงคนห้าพันคน มันน่าตื่นเต้นนะ มีคนทำร้านซักผ้า ร้านตัดผม ผมก็ถ่ายไว้ ก็จะมีรูปแปลกๆ เหล่านี้อยู่ในคอลเลกชันของผม รูปพวกนี้อาจจะมีคนอื่นถ่ายแต่มันจะเข้าไปในระบบของหอจดหมายเหตุฯ หรือไม่ อาจจะตกหล่นซะมากกว่า วันข้างหน้าถ้าพูดถึงน้ำท่วม เราจะได้ไม่ได้มีแต่รูปน้ำท่วม

หรืออัลบั้มนี้ ผมเขียนคำบรรยายว่าเป็น ‘น้องๆ นิติศาสตร์รุ่น 25’ (เข้า พ.ศ. 2525) ไปเล่นเทนนิสที่สนามเทนนิสแห่งหนึ่งในพระนคร มันเป็นไลฟ์สไตล์ของคนกรุงเทพฯ ยุคหนึ่งที่ฮือฮามาก ใครๆ ก็ต้องเล่นเทนนิส

ในคอลเลกชันของอาจารย์มีภาพอะไรเด็ดๆ อีกครับ

ผมมีอัลบั้มภาพพ่อไปสงครามเวียดนาม พ่อผมเป็นนายทหารพระธรรมนูญ ไม่ได้ไปรบนะ ไปอยู่ศาลอาญาศึก ทำงานด้านกฎหมาย เป็นภาพบรรยากาศที่ทำงานของทหารไทยในเวียดนาม ถ้าเป็นภาพคอลเลกชันที่เก่ามากของปู่ย่ามีไม่มาก เพราะสมัยก่อนการถ่ายรูปไม่ใช่เรื่องง่าย ภาพดึกดำบรรพ์มากๆ ผมให้หอจดหมายเหตุฯ สแกน แล้วผมก็อ่านภาพให้เขาเรียบร้อยแล้ว เริ่มมีภาพของผมอยู่ในระบบบ้างแล้ว

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

บันทึกที่คนยุคนี้เขียนบนเฟซบุ๊กจะถูกหอจดหมายเหตุฯ เก็บเหมือนที่คนยุคก่อนเขียนบนกระดาษไหม

นั่นเป็นปัญหาหรือเป็นคำถามที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติน่าจะคิด บางทีผมก็แคปหน้าจอไลน์แล้วพรินต์เก็บนะ เพราะมันเป็นการสนทนาที่เป็นประวัติศาสตร์ คนสำคัญบางคนไลน์มาถามบางเรื่อง ผมก็ทำคำตอบส่งให้ทางไลน์ แล้วแลกเปลี่ยนความเห็นกัน อีกห้าสิบปีมันจะมีคุณค่าแน่ๆ ถ้าไม่พรินต์ไว้มันก็หายหมด

ลงกล่องหรือยังครับ

ยังไม่ลงในเวลานี้ แต่แยกไว้สำหรับลงในวันข้างหน้า ผมมีเงื่อนไขกับหอจดหมายเหตุฯ ว่า ผมยังไม่เปิดเผยจนกว่าผมจะตาย เพราะผมไม่สามารถไปรับผิดชอบกับอะไรก็ไม่รู้ที่อยู่ในกล่อง จะมีคนนำไปใช้ไปติไปชมยังไงก็ไม่รู้ ผมตายแล้วก็จบเรื่องไป

ประวัติศาสตร์ในมุมมองของอาจารย์สนุกจัง

ใช่ สนุกจะตายไป (หัวเราะ)

มันต่างจากเรื่องประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปมองว่าน่าเบื่อตรงไหน

ประวัติศาสตร์สำหรับผมไม่ใช่เรื่องแบนๆ แค่มิติเดียว ฟังใครพูดแล้วจบแค่นั้น แต่เป็นสีสันของชีวิต ให้ความสุข บทเรียน บางทีก็ทำให้เราซึมไปเหมือนกัน มาในหลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่มิติของตำราเรียนกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น ประวัติศาสตร์อยู่ในทุกที่ ในจดหมายที่เขียนโต้ตอบกัน รูปภาพที่แขวนอยู่ฝาบ้าน บทสนทนากับเพื่อนในงานคืนสู่เหย้าก็ใช่นะ เป็นชีวิต บรรยากาศของโรงเรียน การศึกษาเมื่อสี่สิบปีก่อน เขาเรียนอะไรกัน ครูดุขนาดไหน

ระบบการศึกษาต้องแบ่งพื้นที่ให้รู้จักประวัติศาสตร์ชุมชนด้วย ต้องปลูกฝังให้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องพระนเรศวรชนช้างเท่านั้น แต่ยังมีเรื่อง ฉันคือใคร ชุมชนที่ฉันอยู่เคยมีใครมาอยู่บ้าง มีคนไทยกับจีนอยู่ด้วยกัน มีมัสยิด มีโบสถ์ฝรั่งด้วย

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

เรื่องของคนธรรมดาก็ควรถูกบันทึกไว้

ทุกคนสำคัญทั้งนั้นแหละ อย่างน้อยก็สำคัญสำหรับครอบครัวเขา ถ้าเขารู้จักครอบครัวตัวเองดี รู้ว่าครอบครัวตัวเองมีความสำเร็จและล้มเหลวอะไรบ้าง อาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาคิดอะไรต่ออะไรได้อีกหลายอย่าง

อาจารย์มองหนังสืองานศพยังไงครับ

มีคุณค่ามากเลยนะ เป็นวัฒนธรรมเฉพาะของเมืองไทย ประเทศอื่นไม่มี มันเล่าเรื่องอะไรหลายอย่าง วิถีชีวิต ประสบการณ์ มีภาพเก่า เป็นคลังข้อมูลที่สำคัญ วัดบวรนิเวศฯ พยายามทำห้องสมุดหนังสืองานศพอยู่ ก็น่าสนใจ บางยุคเฟื่องฟู บางยุคก็ฟุบๆ แต่ตอนนี้เข้าใจว่ากำลังกลับมาใหม่ มีการเชื่อมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดทำเป็นดิจิทัลให้คนเข้าถึงได้ง่าย

ผมอยากให้หนังสืองานศพมีสีสันหรือเล่าอะไรบ้าง ฟังดูบาปกรรมเต็มที แต่ไม่ควรพิมพ์แค่กัณฑ์พระไตรปิฎกแล้วแปะประวัติ วันที่ชาตะมรณะ ผมสนุกกับการทำหนังสืองานศพ ไปช่วยเขาทำหลายเล่ม เล่มที่ตัวเองมีอำนาจมากที่สุดคือ งานศพแม่ตัวเอง ผมเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งเพื่อแจก เป็นประวัติคุณแม่ตั้งแต่เกิดจนตาย แม่ผมชื่อสุคนธ์ หนังสือชื่อ ยังหอมมิรู้หาย อีกอย่างที่ต้องทำคือ หนังสืองานศพตัวเอง ใครจะมารู้เรื่องผมเท่าผม (หัวเราะ)

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

มันจะออกมาเป็นยังไงครับ

ผมอยากเห็นหนังสืองานศพผมเล่าตัวตนที่แท้จริงของผมให้คนฟัง เห็นผมเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีทั้งความสำเร็จและล้มเหลว มีทั้งความสุขและความทุกข์ในชีวิต บางทีคนดูจากหลายมุมมอง ตอนผมเป็นปลัดสำนักนายก ถือเป็นข้าราชการประจำ แต่ด้วยการเมืองที่ร้อนแรงในเวลานั้น ผมถูกด่าซะอ่วมเลย แต่ผมยังไม่มีเวลาและโอกาสอธิบายให้ใครฟังว่าผมวางตัวอย่างไร

ถ้าพิมพ์ตอนนี้คนก็จะมาเถียงว่าผมโกหกอีก นึกออกไหม (หัวเราะ) แต่ช่างมันเถอะ ผมอยากบอกว่า ผมเป็นผมแบบนี้แหละ สิ่งเหล่านี้คนที่มางานศพผมจะได้อ่าน เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ ผมตายแล้ว คุณจะไม่เชื่อก็เรื่องของคุณ ผมไม่ห้ามคุณ (หัวเราะ)

หลังจากคนที่มีชื่อเสียงเสียชีวิตไปแล้ว มักจะมีการนำบันทึกส่วนตัวมาพิมพ์เผยแพร่ อาจารย์มองการนำสิ่งที่คนคนหนึ่งตั้งใจบันทึกไว้แบบส่วนตัวมาเผยแพร่ต่อสาธารณะยังไง

ความจริงบางอย่างควรรู้เฉพาะคนที่มีหน้าที่ต้องรู้เท่านั้น เราต้องเคารพต่อคนที่บันทึก ถ้าเราเป็นลูกหลานต้องคิดให้มาก สวมหัวใจปู่ย่าตายาย ที่น่ากังวลกว่านั้นคือ ไม่ใช่ปู่ยาตายายเรา แล้วเราไปได้มา เรามีความชอบธรรมเพียงใดในการพิมพ์เผยแพร่

ถ้ามีคนบอกว่า ต้องเผยแพร่ข้อมูลทั้งหมด สังคมจะได้รับรู้ความจริงที่ถูกต้องไปด้วยกัน

เขาก็ทำแบบนั้นกับชีวิตของเขา แต่เขาไม่มีสิทธิ์ไปสั่งให้คนอื่นทำตามสิ่งที่เขาเชื่อ ทุกคนมีความเชื่อ มีระบบความคิดของตัวเอง

คนจำนวนมากรู้ว่าอาจารย์เป็นนักกฎหมาย…

ผมเป็นนักกฎหมายจริงๆ ครับ (หัวเราะ)

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

แล้วมาทำงานด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้ยังไงครับ

งานที่เป็นสาระจริงๆ ที่ผมได้เปิดโลกให้กว้างไกลคือ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรู้จักผม พอผมกลับมาจากเมืองนอก พ.ศ. 2523 ท่านทรงเป็นประธานซ่อมวัดพระแก้วเพื่อฉลองกรุงเทพมหานครครบสองร้อยปี ท่านทรงทราบว่าผมสนใจเรื่องไทย ทุกวันอาทิตย์ท่านต้องไปตรวจงานซ่อมวัดพระแก้ว ก็โปรดให้ผมเป็นผู้ตามเสด็จ จดรายงานการซ่อมวัดร่วมกับกองราชเลขา ต้องจดให้ถูกว่าท่านพูดอะไรกับใคร ใครทูลว่าอะไร

บางทีต้องไปสองสามคน เพราะเวลานายช่างกำลังกราบบังคมทูล เราอยู่ใกล้ได้ในรัศมีหนึ่ง จะเข้าไปร่วมในวงสนทนานั้นใกล้ชิดก็ผิดมารยาท แต่เราก็ได้ยินสาระพอสมควร แต่รายละเอียดเราอาจจะตกจึงต้องสลับผลัดเปลี่ยนกัน พอท่านเดินต่อ คนหนึ่งต้องเดินตามเสด็จไป อีกคนต้องทิ้งท้ายเพื่อคุยกับคนเมื่อกี้ว่าเรื่องเป็นยังไง จะได้จดให้ละเอียด สลับขึ้นลงแบบนี้ กลับมาก้ต้องนั่งเขียนให้แล้วเลขาฯ พิมพ์ทูลเกล้าถวายก่อนที่ท่านจะไปตรวจงานสัปดาห์หน้า

ท่านก็จดของท่านเองด้วย เราก็จดด้วย เอามายันกัน เพราะรับสั่งว่า ตอนที่ทำงานคราวนั้นยากลำบากมาก เพราะตอนฉลองพระนครร้อยห้าสิบปีไม่มีหลักฐานให้รู้เลยว่าเขาทำอะไรกัน เราไม่ควรให้คนข้างหน้าลำบาก ต้องทำทุกอย่างไว้ให้ดี ผมก็ได้ความรู้สิ เราเคยอ่านเรื่องวังหลวงหรือวัดพระแก้วมามาก แต่ไม่เคยเห็น ตอนนั้นได้เห็นทุกอย่าง ได้เข้าไปในที่ที่ไม่มีทางได้เห็นตามปกติ

ปลายปีมีการซ่อมแซมพระที่นั่งวิมานเมฆ ผมก็ไปเป็นอาสาสมัครจัดของ ทำพิพิธภัณฑ์ วางระบบเข้าชม ฝึกมัคคุเทศก์ เขียนหนังสือนำชม ทำของที่ระลึก

หลายคนจำชื่ออาจารย์ได้จากการเป็นผู้บรรยายในพระราชพิธี อาจารย์เข้าไปทำได้ยังไงครับ

งานพระเมรุ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พ.ศ. 2527 เป็นงานใหญ่ของบ้านเมือง ผมต้องค้นข้อมูลเยอะมาก เพื่อทำบทสำหรับสารคดีทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ช่วงถ่ายทอดสดก็ได้รับคำสั่งว่า ถ้าสื่อมวลชนอยากได้อะไรก็จัดให้เขา ผมไปคุยกับโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เขาบอกว่า อาจารย์จัดมาเขาก็พูดไม่ถูกอยู่ดี อาจารย์มาพูดเองก็แล้วกัน ผมก็ไปพูดให้เขา

การเป็นผู้บรรยายงานพระราชพิธีแบบถ่ายทอดสด ถือว่าโหดมากสำหรับคนที่ไม่เคยทำงานโทรทัศน์มาก่อน

การเป็นอาจารย์หรือคนสอนหนังสือช่วยให้เราย่อความและขยายความได้ตามต้องการ ถ้าภาพเดินไปเรื่องใหม่แล้วเราต้องสรุปลงให้ได้นะ ถ้าเหตุการณ์ไม่เปลี่ยน ภาพแช่อยู่อย่างนั้น เราต้องแก้ปัญหาให้ได้ อีกอย่างคือ เราต้องมีคลังข้อมูลที่มากพอ ต้องอ่าน ซึ่งผมอ่านมาตลอดชีวิต หลักสำคัญคือ เรื่องไหนไม่แน่ใจอย่าพูด งานนั้นผู้บรรยายมือใหม่อีกคนคือ อาจารย์วิษณุ เครืองาม ตอนนั้นอาจารย์เป็นอาจารย์นิติศาสตร์ที่เดียวกันกับผม ทำงานอาสาสมัครพระที่นั่งวิมานเมฆด้วยกัน เป็นไกด์ให้ด้วย เรารู้จักกันมาแต่เก่าก่อนแล้ว เจอกันก็คุยแต่เรื่องพวกนี้ ไม่ค่อยได้คุยเรื่องกฎหมายกันนะ

อาจารย์สนใจประวัติศาสตร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

ตั้งแต่เด็ก อาจจะสนใจมากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ ผมชอบภาษาไทย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี มาตั้งแต่เด็ก อยู่ประถมสี่อ่านเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนหอกโมกขศักดิ์แล้วสนุกดี ไปยึดรถพระอาทิตย์ พ่อแม่เห็นว่าผมสนใจก็ซื้อ รามเกียรติ์ ทั้งชุดให้ ปีต่อมาก็ซื้อ พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ราชาธิราช ได้ไปเที่ยวโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

ครอบครัวผมเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ทั้งข้างพ่อและข้างแม่ ผสมผสานกันทั้งไทยจีน เป็นจีนที่ทำราชการด้วย ผมมีเครือญาติหลายนามสกุล ผมนามสกุลจันทรางศุ แม่ผมเป็นสุวรรณทัต ยายผมเป็นฮุนตระกูล ทวดผมเป็นเปาโรหิตย์ ผมมีญาติจำนวนมหาศาล บ้านคุณปู่ก็มีหนังสือเก่าเยอะ ช่วงเสาร์อาทิตย์เวลาพ่อแม่ผมไปนั่งคุยกับคุณย่า ผมก็นั่งอ่านหนังสือ อ่านไม่จบผมก็ไปกราบคุณย่าขอหนังสือเล่มนั้นกลับ ตกลงว่าเราได้มาทั้งตู้ เป็นกาลักน้ำ กองทัพมด เอามาทีละเล่ม (หัวเราะ)

แล้วทำไมเลือกเรียนนิติศาสตร์ล่ะครับ

ผมควรจะเลือกเรียนประวัติศาสตร์ โบราณคดี แต่ พ.ศ. 2516 เมืองไทยแคบกว่านี้มาก ความเป็นไปได้ในการเลือกอาชีพน้อยกว่านี้มาก นึกไม่ออกเลยว่าจะจบออกมาทำอะไร ครอบครัวผมมีคนเรียนกฎหมายเยอะ พ่อผมเป็นนายทหารพระธรรมนูญ คุณตาเป็นผู้พิพากษา คุณทวดเป็นผู้พิพากษา พ่อเลยถามว่าเรียนกฎหมายไหม ลองให้หนังสือกฎหมายมาอ่านสองสามเล่ม อ่านแล้วก็รู้เรื่องนะ เลยเลือกเรียนนิติศาสตร์

เข้ามหาวิทยาลัยไปแล้วยังได้ทำเรื่องประวัติศาสตร์ วรรณกรรมไหมครับ

ผมอยู่ชมรมวรรณศิลป์ เป็นนักกลอนของคณะ มีเรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจและมีผลต่อมาถึงทุกวันนี้คือ มีการทำหนังสือวันรพี เป็นหนังสือที่ระลึกวันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ผมอยู่ปีหนึ่ง มีรุ่นพี่คนหนึ่งที่ชอบเขียนเหมือนกันอยู่ปีสอง คือ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เขาบอกผมว่า ประวัติที่ลงตอนต้นของเล่มลอกกันมาทุกปี ควรจะมีอะไรใหม่ๆ บ้าง ให้ผมลองไปค้นที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ เกิดมาผมไม่เคยไปเลยนะ ตอนนั้นยังอยู่หน้าวัดมหาธาตุตรงสนามหลวง เข้าไปแล้วตื่นเต้นมาก เหมือนอยู่ในคลังสมบัติ แค่หนังสือก็ตื่นเต้นแล้ว นี่เห็นลายมือจริงๆ การโต้ตอบกันเรื่องโน้นเรื่องนี้ ผมได้เรียนรู้ว่ามีขุมทรัพย์อยู่ที่นี่ ยังเป็นปิยมิตรกับหอจดหมายเหตุแห่งชาติจนถึงวันนี้

อาจารย์ได้เริ่มเขียนหนังสือยังไง

แม่ผมเป็นนักเขียนนวนิยายให้นิตยสาร ศรีสัปดาห์ คุณพ่อเป็นนายทหารก็มีเงินเดือนแบบทหาร การเลี้ยงลูกสองคนทำให้แม่ต้องมีรายได้เสริม ก็เขียนนิยายส่ง ศรีสัปดาห์ ตอนหลังพอมีชื่อเสียงก็เขียนให้นิตยสาร สกุลไทย กุลสตรี ช่วงที่พีกสุดต้องส่งให้สามฉบับ ผมจึงเห็นแม่เขียนหนังสือ แล้วแม่ก็ต้องอ่านหนังสือ ผมก็ได้อ่านหนังสือเหล่านั้นด้วย แม่มีเพื่อนนักเขียนที่สนิท เป็นเพื่อนเจ้าสาวด้วยคือ น้าสุกัญญา (กฤษณา อโศกสิน) ผมก็เลยได้รู้จักนักเขียนทั้งหลาย

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

ตอนไปเรียนเมืองนอกพอเขียนจดหมายเล่าเรื่องทุกวัน ก็คุ้นกับการเขียนหนังสือ เป็นอาจารย์ก็ต้องเขียนตำรา บทความวิชาการ ยุคนั้นมีนิตยสาร ลลนา มี ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์ เขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ให้สนุก เขาแนะนำ พี่น้อย (นันทวรรณ หยุ่น) ให้ชวนผมเขียนเรื่องประวัติศาสตร์

ผมก็ขอพระราชานุญาตจากกรมกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ก่อนว่า จะเอาเรื่องในพระที่นั่งวิมานเมฆและเรื่องอื่นๆ ไปเขียนเป็นตอนๆ ลง ลลนา พอเบื่อแล้วก็ไปเขียนเรื่องอื่นบ้าง ลองหารูปภาพเก่าเจ้านายผู้หญิงมาเขียนเป็นซีรีส์ชื่อ ในกำแพงแก้ว บางทีก็ไปหารูปเก่ามาเขียน ชื่อ ภาพงามของความหลัง

ผมก็มาเขียนอีกทีตอนใกล้ๆ เกษียณ เขียนเป็นเล่มโดยไม่ได้ลงที่ไหนมาก่อน เรื่องแรกคือ ผมอยากรู้เรื่องปู่ของตัวเอง อำมายต์เอก พระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ (ทอง จันทรางศุ) เพราะปู่ผมตายตอนพ่อผมอายุสามขวบ พ่อก็ไม่เคยเล่าเรื่องปู่ให้ฟังได้เลย ผมเลยรู้เรื่องปู่บางเต็มที แต่ถ้าไปค้นในหอจดหมายเหตุฯ ดีๆ ค้นเอกสารราชการทั้งหลาย อาจจะได้เรื่องดีๆ ผมมีไดอารี่ของปู่ที่ได้มาด้วย ผมเลยลองต่อจิ๊กซอว์ดู เขียนออกมาเป็นหนังสือเรื่อง นายทองมหาดเล็ก

หนังสือเรื่อง ธงทองของเยอะ เริ่มต้นมาจากอะไรครับ

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

ช่วง COVID-19 ได้หยุดเดือนหนึ่ง ผมก็นั่งอ่านรูปภาพในบ้านตัวเองไป เลยเจอกระดาษทั้งปวงในบ้าน เมนูอาหารที่สะสมไว้ รูปเก่า ของโน่นนี่ ผมไม่เคยหยุดอยู่บ้านนานเท่านี้มาก่อน เลยคิดว่าเอามาเขียนหนังสือดีกว่า แล้วแต่ว่าวันนั้นอะไรจะหลุดเข้ามาสู่สายตาของผม ผมก็เขียนขยายความให้ได้เรื่องหนึ่ง แล้วเอาไปลงในเฟซบุ๊ก เขียนแก้เหงาวันละตอน

พอเขียนได้สามสิบกว่าตอนก็คิดว่าจะให้ใครพิมพ์ สำนักพิมพ์มติชนเขารับพิมพ์อยู่เสมอ แต่ผมตระหนักดีว่า เวลานั้นสำนักพิมพ์ทั้งหลายอยู่ในสถานะที่ต้องดูแลกิจการตัวเองให้ผ่านพ้นพายุโหมกระหน่ำ ผมก็คิดว่า อย่าเพิ่งไปทำให้เขาลำบากใจเลย จะขายได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ พอดีผมอ่านเรื่องท่องเที่ยวในเฟซบุ๊ก มีคนหนึ่งที่ผมไม่รู้จักมาก่อนเขาใช้ชื่อว่า นัทแนะ (กัปตันนัท-ธราพงษ์ รุ่งโรจน์) เขียนเรื่อง สวัสดีไนจีเรีย แล้วขายออนไลน์ ผมก็ซื้อเขา เกิดมาไม่เคยซื้อหนังสือแบบนี้มาก่อนเลย

ผมก็คิดว่า ถ้าเอามาพิมพ์เป็นหนังสือน่าจะมีคนสนใจบ้าง เลยไปขอให้คนช่วยทำ Google Forms มาแปะในเฟซบุ๊กว่า ใครอยากอ่านก็มาจอง ก็ได้ผลดี พิมพ์ไปพันเล่ม ขายในระบบออนไลน์ประมาณเจ็ดร้อยเล่ม ก็เยอะพอสมควร ตอนแรกตั้งชื่อแบบโบราณ ประมาณ วันวานยังหวานอยู่ ลูกศิษย์บอกใครเขาจะซื้อ ชื่อ ธงทองของเยอะ ดีกว่า เป็นภาษาเด็กสมัยนี้

อาจารย์เขียนถึงอะไรบ้างครับ

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

สมุดพก แม่ผมเก็บสมุดพกของผมตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงเรียนจบ สูจิบัตรละคร สมุดประสาทพรพ่อแม่แต่งงาน มีฎีกานิมนต์ผมเป็นนาคหลวงไปรับพุ่มเทียนเข้าพรรษา พ่อไปสงครามเวียดนาม สุสานประจำตระกูล ตรงตึกมหานครเคยเป็นสุสานของครอบครัวผมมาก่อน แล้วก็ตอนที่ผมไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก ผมเขียนจดหมายถึงบ้านทุกวันยกเว้นวันสอบ แล้วแม่เก็บไว้หมดเลย ปีครึ่ง

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ
ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

มีเรื่องอะไรให้เล่าได้ทุกวันครับ

ไม่รู้ แต่ผมเขียนได้ทุกวันนะ เป็นมุมมองของเด็กใน พ.ศ. 2521 บรรยายทุกอย่างที่เจอในแต่ละวัน รวมทั้งโต้ตอบสิ่งที่แม่เขียนมาจากเมืองไทย ความรู้สึกกับบ้านเมืองในเวลานั้นด้วย แม่ก็ตอบเกือบทุกวัน เพราะแม่เป็นนักเขียนด้วย แต่ผมไม่ได้ขนจดหมายแม่กลับมาด้วย

น่าเสียดาย

แล้วผมก็ได้เอกสารมาชุดหนึ่ง น้าผม จรรจา สุวรรณทัต ไปเรียนปริญญาเอกที่เมืองนอกเมื่อ พ.ศ. 2498 คุณตาและญาติพี่น้องทุกคนเขียนจดหมายไปเล่าเรื่องเมืองไทยให้ฟัง กับเรื่องเหตุการณ์ในบ้าน มีเรื่องผมเกิดอยู่ในนั้นด้วย บรรยากาศการเกิดของผม เรื่องบ้านเมืองก็อย่าง จอมพล ป. พิบูลสงคราม จัดให้มีไฮปาร์ก คุณตาบอกว่าของแพง สังกะสีขึ้นราคา มีหนังเรื่องนี้เข้ามาฉาย ชูศรี (ชูศรี มีสมมนต์) ตลกเหลือเกิน

เพื่อนที่เป็นนักประวัติศาสตร์บอกว่า เอกสารเหล่านี้เราหาไม่ค่อยได้ พอพูดถึงประวัติศาสตร์เราจะคิดถึงเอกสารที่เป็นทางการ มันขาดชีวิต ขาดเรื่องราวที่เป็นมนุษย์ มีมุมมองความรู้สึกของคนว่าคิดเห็นอย่างไร ต่อไปคอลเลกชันจดหมายนี้ก็จะไปอยู่ที่หอจดหมายเหตุฯ เหมือนกัน เรื่องพวกนี้จะเขียนอีกสามเล่มห้าเล่มก็ได้ ของยังมีอีกเยอะ แต่ตอนนี้พอไม่ปิด COVID-19 แล้ว มันก็ยากหน่อย

ในม้วนวิดีโอพวกนี้คืออะไครับ

เรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่ผมทำ ม้วนนี้งานเลี้ยงพระที่คณะนิเทศศาสตร์ พ.ศ. 2535 ผมเคยสอนหนังสือที่คณะนิเทศฯ วิชาพระราชพิธีและพิธีต่างๆ วิธีสอบของผมคือ ให้เด็กจัดเลี้ยงพระ ห้ามไปเลี้ยงที่วัด ให้เลี้ยงที่คณะหรือที่บ้านก็ได้ คุณจะไปนิมนต์พระยังไงก็ได้ ไปทำมาให้ถูกต้องก็แล้วกัน ผมจะไปเป็นแขกนั่งให้คะแนน ดูเขาจุดธูป จุดเทียน ประเคนของพระ อาราธนาศีล อาราธนาธรรม นี่คือเป็นหลักฐานในการสอบครั้งหนึ่ง ถ้าผมสอนให้เขาจำ แต่เขาปฏิบัติไม่เป็นก็ไม่มีประโยชน์อันใดเลย

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

ตอนที่อาจารย์เขียนเรื่องความทรงจำย่านสุขุมวิทในหนังสือเรื่อง วานนี้ที่สุขุมวิท สนุกมาก เราจะเห็นเรื่องแบบนั้นอีกไหมครับ

อาจารย์คณะสถาปัตย์เขาชอบนะ บอกให้ผมทำอีกเพราะเล่าถึงวิวัฒนาการของเมือง ตอนเขียนผมนึกถึงหนังสือเรื่อง ฟื้นความหลัง ของ เสฐียรโกเศศ แต่ผมไม่อาจไปเทียบกับท่านได้นะ ท่านเล่าว่าในวัยเด็กท่านเห็นอะไรบ้างละแวกบ้าน วิถีชีวิตคนยุคนั้นเป็นอย่างไร คนแต่ละยุคควรเขียนเรื่องของตัวเองเก็บไว้ วันข้างหน้าจะได้อ้างอิงได้ว่าคนเขาอยู่เขากินกันยังไง เป็นพัฒนาการของเมือง

ผมไม่ใช่คนที่วิเศษที่สุด แต่ผมเสียดายว่างานชนิดนี้มีน้อยเหลือเกินในปัจจุบัน ทั้งที่คนที่รู้มากกว่าผม หรือรู้เท่าผม ควรจะเขียนได้อีกตั้งเยอะแยะ แต่อาจจะไม่สันทัดในการถ่ายทอด ถ้าผมทำได้ ผมก็อยากทำ เวลาเขียนก็สนุก โทรไปถามเพื่อนที่อยู่ละแวกเดียวกันว่า ใช่หรือเปล่า เขียนไปแล้วก็มีคนอ่านมาช่วยเติม ช่วยแก้ให้

อาจารย์มีแผนจะเขียนเล่มใหม่หรือยังครับ

ตอนนี้เล่มที่อยู่ในคิวคือ วานนี้ที่สามย่าน ผมอยู่สามย่านมาตั้งแต่เรียนสาธิตปทุมวันเมื่อ พ.ศ. 2508 เห็นสยามสแควร์มาตั้งแต่ยังไม่สร้าง ผมคิดว่าเรื่องสามย่านจะสนุก เพราะมีสีสัน มีชีวิตนิสิตจุฬาฯ ด้วย เป็นเรื่องตั้งแต่สามย่าน โรงหนังสามย่าน สยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์

ทุกวันนี้ผมก็ยังไปสามย่านอยู่ ได้เห็นสามย่านมิตรทาวน์โผล่ขึ้นมาแล้ว ร้านข้าวหมูแดงของผมก็ต้องเข้าไปในตรอกเล็กๆ จีฉ่อยก็ถอยร่นจากถนนเข้าไปอยู่ในซอย ถนนบรรทัดทองก็เปลี่ยนไป มีอุทยานจุฬาฯ ร้อยปี เชียงกงไม่เหลือแล้ว โรงพักยังย้าย มีเรื่องเล่าได้เยอะเลย

เราจะได้อ่านเมื่อไหร่ครับ

ผมมีอีกเล่มที่อาจจะต้องเขียนก่อน คือการประชุมที่มีประสิทธิภาพ ผมประชุมมาเยอะ เลยอยากเขียนว่า อะไรคือการประชุม กรรมการควรมีองค์ประกอบอย่างไร เอกสารประกอบการประชุมต้องเป็นยังไง ตอนนี้ไปถึงประชุมออนไลน์แล้วนะ

การแสดงความเห็นในที่ประชุมโดยเคารพความเห็นคนอื่น หน้าที่ของประธาน การประสานงานของเลขาฯ จะกินอะไร จอดรถที่ไหน สำคัญไปหมดเลยนะ เพราะกรรมการหงุดหงิดแล้วจะไม่มาเลย (หัวเราะ) ผมรู้รายละเอียดจากประสบการณ์ทั้งหลายครบถ้วนพอสมควร เลยอยากเขียนเหมือนเล่า มีตัวอย่างสนุกๆ ประกอบ อ่านได้ความรู้ด้วย เขียนเป็นหนังสือดีๆ เป็นตำรา เป็นเคล็ดวิชาในการประชุม ของคนจำนวนมากได้ น้องๆ บอกว่าเขียนเถอะ เขาอยากเอาไปใช้งานแล้ว (หัวเราะ)

ประวัติศาสตร์ไทยในมุม ธงทอง จันทรางศุ ที่อยู่ในทุกที่ ทุกคน ไม่ใช่แค่พระนเรศวรชนช้าง, ธงทองของเยอะ

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ