“ถ้าคนมาแล้วแฮปปี้ ก็ดีแล้วล่ะ”

คำพูดพร้อมเสียงหัวเราะของ ป้าตู๋-ธันยา จันทร์วิทัน ผู้บอกประวัติสั้น ๆ ของตัวเองว่า เป็นคนเชียงใหม่ เกิดที่นี่ โตที่นี่ เรียนหนังสือที่นี่ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของแปลงที่ดินอันเป็นที่ตั้งของ ‘กาดต๋องตึง’ หนึ่งในตลาดขนาดเล็กค่อนไปทางปานกลางของจังหวัดเชียงใหม่ เต็มไปด้วยชีวิตชีวาจากธรรมชาติที่เจ้าของต้องการมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้คน รวมถึงสร้างโอกาสให้แก่เหล่าพ่อค้าแม่ค้าไปพร้อม ๆ กัน

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

เอาเข้าจริง แรกเริ่มเดิมทีการกำเนิดเกิดมาของกาดแห่งนี้มีที่มาจากคำยุยงเชิญชวนของผู้อื่นเสียมากกว่า ป้าตู๋บอกว่า ที่ดินแปลงนี้เป็นหนึ่งในที่ดินของครอบครัว ค่อนข้างรกร้าง เนืองแน่นด้วยต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ และแหล่งอาศัยของเหล่าสัตว์เลื้อยคลาน จนเพื่อนคนหนึ่งเอ่ยปากด้วยความเสียดาย

“ทำไมปล่อยให้มันร้าง ทำไมไม่ลองคิดหรือทำอะไรดูสักอย่างหนึ่ง” 

ป้าตู๋ริเริ่มบุกเบิกสถานที่ด้วยการนำผักออร์แกนิคของตนเข้ามาขายเป็นการกรุยทาง พร้อมกับขอให้บริษัท Bangkok Tokyo Architecture ของลูกสาว ช่วยสร้างศาลากลางแจ้งขึ้นมาให้

โดยคอนเซ็ปต์ของที่นี่ คือ ยกให้ธรรมชาติเป็นพระเอก แกล้มด้วยสถาปัตยกรรม วิถีท้องถิ่น และ ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อหวังเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ของเชียงใหม่ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนที่มาเยือน

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

ความเป็นตัวของตัวเอง

“ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่ามีคนสนใจอยากจะมาของขายของที่นี่ด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาเป็น Weekend Market หรือตลาดเสาร์อาทิตย์ที่คนมาเดิน มากิน มาเที่ยว มาเสพ หรือมานั่งใต้ต้นไม้เงียบ ๆ แล้วก็ดูผู้คนเขาทำอะไรกัน จะมานั่งทำงาน จะมาทำอะไรก็ได้” 

ป้าตู๋บอกเล่าถึงความไป ๆ มา ๆ จนเกิดเป็นตลาดแห่งนี้ขึ้นมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ แม้กระทั่งเจ้าของพื้นที่อย่างเธอเองก็ยังไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า ผู้คนที่มาใช้บริการทางสุนทรียภาพของสถานที่แห่งนี้จะเอ็นจอยไปกับตลาดได้ขนาดนี้

ขณะเดียวกัน ป้าตู๋ยังพยายามยึดโยงความเป็นพื้นที่สีเขียวเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเอาธรรมชาติเป็นหลักสำหรับการตั้งฐาน แล้วจึงให้ตัวเองค่อย ๆ กลืนไปกับธรรมชาติเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ต้นไม้เก่าแก่ทุกต้นภายในตลาดจึงไม่มีต้นไหนถูกตัด ล้ม โค่น แม้เพียงต้นเดียว มีแค่การเล็มตัดแต่งเพื่อให้เกิดการแตกกิ่ง จนกลายเป็นร่มเงาทางธรรมชาติให้แก่ผู้คนที่มาใช้บริการตลาดแห่งนี้

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน
กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

กาดต๋องตึงเปิดทำการตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น ในทุก ๆ วันเสาร์และอาทิตย์ ความน่าขบขันที่ป้าตู๋เล่าให้ฟังเห็นจะเป็นการที่เธอมักถูกตั้งคำถามมากมาย และคำบอกเล่าจากคนรอบตัวที่ประดังประดาถาโถมใส่อย่างเอาแต่ใจ เช่น ทำไมถึงเปิด 8 โมง ทำไมไม่เปิด 7 โมงหรือ 9 โมง ไม่ก็บอกว่า เปิดถึงบ่าย 2 ก็พอแล้ว ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนไม่ได้มาจากคนขายในตลาดสักคนเดียว 

“มันขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้เวลาทำงานของเราคือเวลาไหน บางคนบอก ทำไมไม่เปิดถึงตอนเย็น เปิดเป็นบาร์เบียร์ ลานเบียร์ เราก็บอกว่า ไม่เอาค่ะ” 

ปักธงเลยว่าไม่จำหน่ายแอลกอฮอล์ ป้าตู๋เชื่อว่าการทำอะไรสักอย่างไม่จำเป็นต้องเหมือนกับคนอื่นไปเสียหมด ความแตกต่างอย่างตั้งใจเพื่อให้เกิดความรื่นรมย์ สบายกายและสบายใจ คือสิ่งที่เธอต้องการ 

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

ป้าตู๋ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนผ่านร้านเบเกอรี่แห่งหนึ่งบริเวณคูเมือง ประตูเชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านที่ไม่เสิร์ฟกาแฟแม้แต่แก้วเดียว ทางร้านขายเพียงแค่ชา ชาทุกชนิด 

“เขาบอก Sorry นะ We don’t serve coffee here.” เพราะว่าการเป็นร้านเบเกอรี่ไม่จำเป็นต้องเคียงคู่ด้วยกาแฟเสมอไป ป้าตู๋เองก็พอใจที่สถานที่ของเธอออกมาในรูปแบบที่เป็นอยู่นี้มากกว่า

ความเป็นนักธุรกิจ

ในแง่ธุรกิจ ป้าตู๋ยอมรับว่าการทำสถานที่แห่งนี้ย่อมมีเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ใจความสำคัญของเธอไม่ใช่การคืนทุน และความตั้งใจที่ตามมาหลังจากทำสิ่งนี้ไปสักพัก ก็ไม่ใช่การสร้างความรื่นรมย์ให้แก่ผู้คนเพียงอย่างเดียว แต่ยังสร้างอาชีพให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าด้วย 

เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยู่ในสภาวะย่ำแย่ ข้าวยากหมากแพง แม้แต่บัตรคอนเสิร์ตยังราคาแรง สวนทางกับค่าแรงและเงินเดือนที่เท่าเดิม อย่างเหตุการณ์เกือบล่าสุดที่กาดสวนแก้วปิดตัวลง มีร้านค้าไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นั้น และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเกิดขึ้นของกาดต๋องตึงช่วยเหลือและสร้างโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้ามากมายในระยะเวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

“พ่อค้าแม่ค้าที่ขายที่นี่ส่วนหนึ่งเป็นคนแถวนี้ เขาตัดสินใจมาขายของได้อย่างรวดเร็ว เพราะมันใกล้บ้านเขาดีจังเลย หรือบางคนได้รับผลกระทบจากการปิดตัวของกาดสวนแก้ว ทางนั้นเขายังเก็บของไม่เสร็จ ก็มาขอขายที่นี่ เขาบอกมันใกล้บ้านเขา ซึ่งมันเป็นการโยกย้ายที่ทำมาหากินของเขา ตลาดของเราทำให้คนในบริเวณมีโอกาสทำมาหากินมากขึ้น คนในหมู่บ้านก็เอาของในหมู่บ้านมาขายได้ด้วย”

สำหรับป้าตู๋ สิ่งตอบแทนที่เธอต้องการ คือความหวังว่าสถานที่นี้จะอยู่ต่อไปได้ 

ที่นี่ไม่เก็บค่าเช่าใน 3 เดือนแรก ป้าตู๋บอกว่า สิ่งนี้ถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่ง เป็นการให้เหล่าคนค้าขายมาทดลองก่อนว่าเขาจะอยู่ได้ไหม นอกจากนี้ป้าตู๋ยังเสริมว่า

“ไม่ได้เก็บค่าเช่าก็จริง แต่เราเก็บค่าสาธารณูปโภค 30 บาท เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ”

เมื่อมีการทำธุรกิจเกิดขึ้น การเติบโตและหวังผลตอบแทนจึงกลายเป็นสิ่งที่ตามมา แต่เธอรู้ตัวว่าจะไม่คืนทุนใน 1 หรือ 2 ปีแน่นอน แต่อย่างน้อย สถานที่ของเธอก็กระตุ้นเศรษฐกิจได้ แม้จะเพียงแค่เขยิบเดียวหรือเพียง 1 ก้าว ก็ถือว่ามีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในท้องถิ่นมากขึ้นแล้ว 

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

ต๋องตึง ชื่อนี้มีที่มา

สาเหตุของการตั้งชื่อว่า ‘กาดต๋องตึง’ ไม่ได้ไกลจากที่คาดคิดไว้สำหรับคนที่รู้ และอาจไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรนักสำหรับคนที่ไม่รู้ เนื่องจากที่มาของชื่อนั้นมาจากใบตองตึง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นวัสดุสำหรับมุงหลังคาศาลาประจำกาด ป้าตู๋เล่าให้ฟังอย่างครบถ้วนว่า แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีพื้นฐานมาจากภูมิปัญญาของคนโบราณที่นำใบตองตึงแห้งแล้วมาเย็บสานกันเป็นแพเพื่อนำไปมุงหลังคา 

ในปัจจุบันสังเกตเห็นได้ตามทุ่งนา เพราะมันคือวัสดุที่นำไปใช้สร้างกระต๊อบ 

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

เพื่อให้ล้อไปกับความเป็นธรรมชาติ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นของบริษัท บริษัท Bangkok Tokyo Architecture เล็งเห็นถึงความน่าอัศจรรย์ของการนำวัสดุทางธรรมชาติมาปรับใช้กับงานสถาปัตยกรรม ป้าตู๋เองก็ต้องการรักษาความเป็นธรรมชาติของพื้นที่เอาไว้อย่างครบถ้วน การจะใช้แผ่นเหล็ก (Metal Sheet) กระเบื้อง หรือสังกะสี ก็ดูจะหลุดจากความตั้งใจของตัวเองไปสักหน่อย แถมใบตองตึงยังระบายอากาศได้ดีกว่า เมื่อถูกน้ำฝน ยิ่งแนบแน่นทนทานขึ้นกว่าเก่า การใช้ใบตองตึงจึงมากับแนวคิดที่ว่า เปรียบเสมือนการนั่งอยู่ภายใต้กองใบไม้ เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดกับธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

ตัวศาลาเองก็มีการออกแบบที่แปลกไปกว่าศาลาสำหรับตลาดทั่วไป เนื่องจากหลังคาทรง Slope หันด้านปิดมาทางข้างหน้า และหันด้านเปิดไปทางข้างหลัง เพราะการออกแบบในครั้งนี้ยืนอยู่บนแนวคิดที่ว่า ต้องการให้เกิดความแตกต่างไปจากภาพจำเดิม ๆ ของตลาดที่ผู้คนเคยเห็นมา รวมถึงการนำด้านต่ำมาอยู่ข้างหน้า เพื่อให้ผู้คนได้เห็นการทำงานของใบตองตึงที่นำมาใช้ และความรู้สึกแง้ม ๆ ของด้านต่ำ ยิ่งเชิญชวนให้เกิดความรู้สึกสงสัยใคร่รู้ อยากมุดเข้าไปภายใน ก่อนจะเปิดกว้างออกไปในด้านหลัง

“แต่ไม่ทราบว่าคนอื่นเขาจะเข้าใจหรือเปล่านะ” ป้าตู๋เปรยติดตลก

กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน
กาดต๋องตึง เชียงใหม่ ตลาดฟรีค่าเช่า 3 เดือน ศาลาถอดได้ และอยากเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคน

ขณะเดียวกัน การใช้ใบตองตึงมาเป็นวัสดุก็ยังเสริมด้วยความแยบคายของการแทรกเสริมความคิดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่แล้วแต่คนจะตีความกันไป การย่อตัวก้มหัวเพื่อเข้าไปยังภายในศาลา อาจหมายถึงการรู้จักยอมก้มหัวให้กับผู้อื่นบ้างเพื่อลดทิฐิของตน โดยมีธรรมชาติเป็นผู้สอนสั่ง หรืออีกแง่หนึ่ง การที่ใบตองตึงมีอายุการใช้งาน 2 – 3 ปี อย่างมากที่สุดคือ 4 ปี ก็มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งผืน สำหรับป้าตู๋แล้ว สิ่งนี้ถือเป็นการเรียนรู้ว่า ไม่มีอะไรที่อยู่ยงคงกระพัน เมื่อถึงเวลาของมัน มันก็ต้องไป

“สิ่งที่สถาปนิกออกแบบมันแตกต่างจากอาคารอื่น ๆ ตรงที่ตราบใดที่เราเลิกทำ ข้อต่อทุกข้อถอดออกจากกันได้หมด อาคารนี้แพงมาก” ป้าตู๋หัวเราะ “แพงเท่ากับตึก แพงเท่ากับห้องแถว 1 ห้อง แต่ละอันแต่ละชิ้นที่ผูกอยู่ข้างบน ใช้ช่างคนเดียวผูก เขาเป็นช่างเฟอร์นิเจอร์ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะขึ้นมาผูก เขาค่อย ๆ ผูกทีละอัน ๆๆ ใช้เวลา 3 เดือน ข้อต่อแต่ละข้อก็มีการคำนวณและออกแบบมาอย่างดี ศาลาแห่งนี้เลยไม่จำเป็นต้องทิ้งให้เป็นอนุสาวรีย์ไว้กับที่นี่” เจ้าของตลาดเล่าพร้อมรอยยิ้ม

(ห้องสมุด) มนุษย์ (ห้อง) สละ (ห้อง) สลวย

‘ห้องสละ’ เป็นร้านรับบริจาคของใช้แล้วสภาพดี หากใครต้องการของชิ้นไหนก็หยิบได้ตามใจอยาก เพียงแต่ว่าต้องใส่เงินเข้าไปในโถที่เตรียมไว้ให้ ใส่เท่าไหร่ก็ได้ตามจิตศรัทธา โดยเงินจะนำไปสนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มรักดี เป็นกลุ่มจิตอาสากลุ่มที่ดูแลเรื่องไฟไหม้ป่า ถางป่า การทำแนวกันไฟ ปลูกต้นไม้ ปลูกป่า เก็บขยะบนดอยสุเทพ ถือเป็นการสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน เครื่องดื่ม ที่มาจากการสละสิ่งของเหล่านั้น เพื่อให้พวกเขามีแรงสำหรับออกไปสละแรงกายแรงใจทำจิตอาสาต่อไป

กาดต๋องตึง จ.เชียงใหม่ ตลาดเช้าเดินสบาย ๆ ที่ธรรมชาติมาบรรจบกับสถาปัตยกรรม วิถีท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์
Tong Tung Market จ.เชียงใหม่ ตลาดเช้าเดินสบาย ๆ ที่ธรรมชาติมาบรรจบกับสถาปัตยกรรม วิถีท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์

ส่วน ‘ห้องสลวย’ เป็น Workshop Space ที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านต่าง ๆ ในคราวที่แล้วมีคลาสสอน ‘การใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปยังไงให้ออกมาสวย’ โดยเพื่อนพ้องที่รู้จักกัน

“เพราะเรามองเห็นความสามารถพิเศษของเพื่อนคนใดคนหนึ่ง งั้นมาเวิร์กชอปกันมั้ย เช่น คนนี้พับดอกไม้เป็นดอกกุหลาบเก่งมาก ก็มาสอนได้นะ ส่วนใหญ่เป็นคนรู้จักกันที่เราเชิญมาให้ความรู้”

Tong Tung Market จ.เชียงใหม่ ตลาดเช้าเดินสบาย ๆ ที่ธรรมชาติมาบรรจบกับสถาปัตยกรรม วิถีท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์

Human Library หรือ ‘ห้องสมุดมนุษย์’ เป็นไอเดียที่เกิดจากความเชื่อว่า มนุษย์แต่ละคนเปรียบเสมือนหนังสือ 1 เล่ม ทุกการเติบโตไม่ต่างอะไรจากบทต่าง ๆ ที่ถูกบันทึกเอาไวในหนังสือแห่งชีวิต เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็เอาประสบการณ์มาแบ่งปันกันได้ เลยเกิดเป็นมุมเล็ก ๆ ที่คนมานั่งคุยกัน 

กลายเป็นการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ เหมือนกำลังอ่านหนังสือ ป้าตู๋ยกตัวอย่างให้ฟังว่า

 “สมมติเราสนใจเรื่องดาราศาสตร์ ถ้ามีใครสักคนมานั่งคุยเรื่องดาราศาสตร์กับเรา มันก็เหมือนเรากำลังเปิดหนังสือ แต่เป็นหนังสือที่เล่าโดยประสบการณ์ และได้สนทนากับคนที่รู้จริงด้านนั้น ๆ”

ประโยชน์ของสถานที่ ความสุขของผู้คน

“มันคงไม่โตไปกว่านี้แล้ว” ประโยคนี้ของป้าตู๋ไม่ใช่การแสดงความเศร้าโศกแต่อย่างใด

แต่ด้วยขนาดที่ดินของตลาดแห่งนี้ โตไปมากกว่านี้แล้วไม่ได้จริง ๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไปเห็นจะเป็นเรื่องอันไกลตัวสำหรับตลาดที่เพิ่งมีอายุเพียง 4 เดือน ทว่าความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ป้าตู๋บอกกับเรา คือ ถ้าหากพื้นที่ตรงนี้เลิกทำหน้าที่เป็นตลาด และศาลาที่ถอดประกอบได้ถึงเวลาปลดประจำการ ป้าตู๋ก็มีความคิดจะทำให้ที่ดินผืนนี้กลายเป็นสวนสาธารณะแห่งหนึ่งไปโดยปริยาย 

Tong Tung Market จ.เชียงใหม่ ตลาดเช้าเดินสบาย ๆ ที่ธรรมชาติมาบรรจบกับสถาปัตยกรรม วิถีท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์
Tong Tung Market จ.เชียงใหม่ ตลาดเช้าเดินสบาย ๆ ที่ธรรมชาติมาบรรจบกับสถาปัตยกรรม วิถีท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์

การเปลี่ยนแปลงข้างต้นที่อาจเกิดขึ้นและไม่เกิดขึ้น ถือว่ายังคงแนวคิดเดิมของสถานที่แห่งนี้เอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ทั้งเป็นสถานที่ใกล้บ้านอันแสนดี เพื่อให้ผู้คนได้ออกมาใช้ชีวิต ใกล้ชิดธรรมชาติ และการเป็นพื้นที่สาธารณะในละแวกใกล้บ้านสำหรับทุกคน, กาดต๋องตึง ไม่ว่าจะในตอนนี้หรือภายภาคหน้า ก็จะยังคงเป็นสถานที่สำหรับหย่อนกาย คลายใจ ดื่มน้ำสักแก้ว นั่งดูดนตรีสด พร้อมบรรยากาศธรรมชาติ

ป้าตู๋กล่าวทิ้งท้ายว่า เธออาจไม่ใช่นักการเมืองหรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่สร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนสังคมให้เกิดแรงกระเพื่อมระดับจังหวัด สถานที่นี้เป็นเพียงหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเธอ สถานที่ซึ่งมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีต่อการใช้ชีวิตของผู้คน และหวังอย่างยิ่งว่า ที่แห่งนี้จะทำให้ทุกคนมีความสุข หากใครจะทำเลียนแบบก็เรียนเชิญตามสบายใจ (ป้าตู๋ยินดีจ๊าดหนัก) 

Tong Tung Market จ.เชียงใหม่ ตลาดเช้าเดินสบาย ๆ ที่ธรรมชาติมาบรรจบกับสถาปัตยกรรม วิถีท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์

กาดต๋องตึง

ที่อยู่ : 309 ซอยหมู่บ้านริมน้ำ ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

เปิดให้บริการวันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 08.00 – 16.00 น.

Facebook : กาดต๋องตึง บ้านริมน้ำ Tong Tung Market

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ