24 กุมภาพันธ์ 2023
3 K

แซม ลิม เป็นชาวต่างชาติที่พูดภาษาไทยได้ชัดถ้อยชัดคำที่สุดคนหนึ่ง

หนุ่มสิงคโปร์คนนี้แบไต๋ให้ฟังว่า อยู่ไทยตั้งแต่ปี 2006 รวม ๆ แล้ว 17 ปี แรกเริ่มเขาตั้งใจมาอยู่เพียง 3 เดือน โดยเข้ามาเป็นมิชชันนารีประจำแม่สาย หลงรักงานช่วยเหลือชุมชน จึงเข้าไปสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนรัฐบาล คอยช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่หรือผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนเปลี่ยนแผนอยู่ยาว เพราะหลงรักทั้งเมืองไทยและภรรยาคนไทยที่สร้างครอบครัวเล็ก ๆ ด้วยกัน 

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

เราพอเข้าใจทันทีถึงความเป็นไทยที่แฝงอยู่ในตัวเขา และทราบเหตุผลว่าทำไมแซมถึงรักและอยากทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงราย จังหวัดที่เขาและครอบครัวอาศัยอยู่ซึ่งกลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่เขาพร้อมฟูมฟักและผลักดันให้ไปไกลกว่าเดิม

TonCedar’ หรือ ‘ต้นซีดาร์’ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่จดทะเบียนในปี 2020 เป็นสิ่งที่แซมก่อร่างสร้างขึ้นมาอย่างตั้งใจ หลังจากเขาทำงานเป็นที่ปรึกษาธุรกิจหรือพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการด้านการตลาดและโฆษณาซึ่งเป็นสิ่งที่เขาร่ำเรียนมา จนเกิดความคิดอยากทำมันอย่างจริงจังมากขึ้น

ต้นซีดาร์ เปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ วางตัวอยู่กลางชุมชนเชียงราย คอยรวบรวมสตาร์ทอัปและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่แฝงตัวในจังหวัด แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักหรือยังคิดไม่ออกว่าจะผลักดันธุรกิจของตัวเองให้เติบโตขึ้นได้อย่างไร มาเข้าร่วมทีม ระดมความคิด โดยให้ต้นซีดาร์เป็นเพื่อนคอยเคียงบ่าเคียงไหล่

ที่นี่เป็นแหล่งพักพิง คอยให้ความรู้ ร่วมคิดค้นไอเดียเจ๋ง ๆ และเติบโตไปด้วยกัน

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

“ในจังหวัดเชียงรายมีคนเก่งและมีความสามารถเยอะมาก แต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก พวกเขาเป็นทั้งเมกเกอร์ ช่างฝีมือ และมีความชำนาญด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะตัว ผมตั้งใจอยากอยู่ที่นี่ เพื่อให้คนอื่น ๆ รวมถึงนักลงทุนต่างประเทศรู้จักและเห็นเสน่ห์ของเชียงรายและคนเชียงรายเหมือนที่ผมเห็น”

สำหรับแซม การช่วยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ไปถึงฝั่งฝัน หัวใจหลักไม่ได้อยู่ที่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว นอกเหนือจากนั้น เขาอยากสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ ‘สร้างคนให้เป็นคน’ คน ในที่นี้หมายถึง คนที่สร้างสรรค์บางอย่างขึ้นมา โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อชุมชนและผู้อื่นอยู่เสมอ

ต้นซีดาร์ลงมือ-ลงแรง สร้าง Ecosystem นี้ขึ้นมาอย่างไร คำตอบของแซมรออยู่แล้ว

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

ประกาศก้องว่าคนเชียงรายเจ๋งแค่ไหน

แซมตัดสินใจมาแม่สายครั้งแรกด้วยเหตุผลเรียบง่าย เขามีเพื่อนคนไทยอยู่ที่นี่ พอลองนับนิ้วดูก็พบว่าตัวเองอยู่ที่นี่มา 10 กว่าปีแล้ว แซมชัดเจนว่าตัวเองหลงรักที่แห่งนี้ และเห็นคนเก่ง ๆ ที่สร้างสรรค์สิ่งดี ๆ มากมาย แต่กลับมีช่องว่างปัญหาบางอย่างที่หากเป็นไปได้ เขาก็อยากยื่นมือเข้าไปช่วย

“มีทุนหลายอย่างที่เข้าสู่ธุรกิจรูปแบบเทคโนโลยี เพราะสิ่งเหล่านี้เพิ่มสเกลและการเติบโตที่เร็วกว่า แต่คนในพื้นที่ที่มีความสามารถ มีความชำนาญ กลับไม่มีโอกาสให้โลกข้างนอกรู้จักกับไอเดียหรืองานของเขาเลย พวกเขาต้องการทั้งโอกาสที่จะเชื่อมกับตลาดนอกและเชื่อมกับคนไทยด้วยกันเอง

“ผมมานั่งคิดว่าผมทำอะไรได้บ้าง แล้วผมก็ทำเลย” ชายตรงหน้าเล่าด้วยความมุ่งมั่น

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

หลายคนอาจเคยได้ยินคนพูดติดตลกว่า จังหวัดเชียงใหม่คล้ายกรุงเทพฯ สาขาภาคเหนือ ทั้งด้านความเจริญก็ดี ร้านรวงกิ๊บเก๋ก็มากมี หรือธุรกิจที่ดีก็หลากหลาย แซมเองยกตัวอย่างสิ่งนี้ขึ้นมา 

“ผมคิดว่าที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่มีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้น และผู้คนหาโอกาสจากการประกอบธุรกิจของตัวเองได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับเชียงราย แม้ผู้คนจะมีศักยภาพมากมาย แต่กลับยังไม่ค่อยมีคนรู้จัก ต้นซีดาร์เลยอยากเป็นคนแรก ๆ ที่เริ่มผลักดันไอเดียใหม่ ๆ ร่วมกับพวกเขา”

First Mover Strategy การเป็นคนแรกที่ริเริ่มทำบางสิ่ง เป็นสิ่งที่แซมอยากให้เกิดขึ้นในเชียงราย อย่างที่บอก เขาในฐานะคนสิงคโปร์ที่หลงเสน่ห์ที่นี่ จึงอยากให้คนอื่นเห็นสิ่งนี้เหมือนกันกับเขา

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

แซมเล่าเรื่องของ ซาน-สุนทร มิ่งสิริเจริญ คนรุ่นใหม่ที่ลาออกมาทำฟาร์มในหมู่บ้าน เพื่อสร้าง ‘Magpie Farm’ ธุรกิจสวนกาแฟและอะโวคาโดที่ต้นซีดาร์เป็นส่วนหนึ่งและช่วยดูแลอยู่เบื้องหลัง

“ครั้งแรกที่ซานพาผมกลับไปที่หมู่บ้านของเขา มันแทบเป็น Ghost Town มีแค่คนแก่กับเด็ก เพราะคนวัยทำงานพากันออกจากดอยไปทำงานในเมืองกันหมด ป่าที่นั่นแห้งแล้งมาก ซานเลยมีความคิดอยากกลับไปดูแลสิ่งแวดล้อม ซานจึงตั้งต้นปลูกต้นไม้ให้กลับมาเขียว หลังจากนั้น ผมถามซานว่าอยากทำอะไร เขาบอกว่าอยากทำกาแฟและอะโวคาโด ผมจึงช่วยสนับสนุนทุนบางส่วนเพื่อเริ่มต้นทำฟาร์ม จนฟาร์มเป็นรูปเป็นร่าง

“แรก ๆ ซานใช้เวลาแค่เสาร์-อาทิตย์ เพราะเขายังไม่ออกจากงานประจำ ผมแนะนำเขาว่า ถึงเวลาแล้วนะ คุณต้องกล้าออกมาเต็มที่กับฟาร์ม ผมเข้าใจดีว่ามันเป็นเส้นทางที่น่ากลัวมากสำหรับเขา แต่ผมพยายามบอกเสมอว่า ต้นซีดาร์จะอยู่เบื้องหลัง คอยผลักดัน หาคนมาลงทุน เพื่อให้ธุรกิจไปต่อได้

“สุดท้าย เขากล้าเดินทางกับผม ความประทับใจคือ เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่ริเริ่มพัฒนาชุมชน ทำให้คนรุ่นเดียวกับเขาในหมู่บ้านมีความคิดอยากกลับมาช่วยเหลือหมู่บ้านเช่นกัน พวกเขานัดคุย ปรึกษากันถึงหนทางข้างหน้า ผมเชื่อว่าถ้ามีคนหนึ่งริเริ่ม คนอื่นก็จะตามมา และมันจะกลายเป็นพลังที่ดีครับ” 

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม
TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

ผ้าทอมือโบราณ ร้านงานคราฟต์เครื่องหนัง ขนมปังจากวัตถุดิบที่ใส่ใจคนกินและธรรมชาติ สวนกาแฟ และฟาร์มอะโวคาโดบนดอย ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจจากฝีมือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในจังหวัดเชียงราย ที่ต้นซีดาร์ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลุกปั้นและพัฒนาให้พวกเขากล้ากระโดดออกจากพื้นที่ปลอดภัย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่งธุรกิจที่ผู้คนจะได้เห็นความสามารถอันเก่งกาจของพวกเขา

ธุรกิจสร้างความยั่งยืนและสร้างคนให้เป็นคน

ที่นี่มีโปรแกรม TonCedar Fellowship ให้คำปรึกษาและสนับสนุนธุรกิจ เพื่อบ่มเพาะหัวใจของนักธุรกิจ และให้เจ้าของธุรกิจมีโอกาสขายงานกับนักลงทุนต่างชาติ แต่ต้นซีดาร์ไม่ได้เลือกทุกธุรกิจ เขาคำนึงจากไอเดียของธุรกิจว่ายั่งยืนได้จริงไหม กระบวนการที่ทำกำลังทำร้ายหรือช่วยสิ่งแวดล้อม หากธุรกิจเป็นมิตรต่อชุมชน แซมจะเร่งเครื่องลุย เพื่อให้ธุรกิจของพวกเขาช่วยเหลือชุมชนและคนรอบข้างมากขึ้น

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

“ธุรกิจที่เรากำลังมองหา เขาต้องต้องการความช่วยเหลือและต้องมีความคิดอยากสร้างอิมแพคต่อชุมชนหรือสังคม สิ่งที่ผมเรียนรู้ตลอด 3 ปี คือไม่ใช่คนมีไอเดียเจ๋งทุกคนจะเป็นผู้ประกอบการที่ดี บางคนเก่งมาก แต่ไม่มีดีเอ็นเอผู้ประกอบการ หากเขาไม่มีมันเลย เราก็ผลักดันทำแทนเขาไม่ได้

“ปีนี้ต้นซีดาร์เพิ่งปรับโปรแกรมที่ได้การรับรองจากประเทศสวีเดน เราจะเริ่มหลักสูตรใหม่นี้เดือนมิถุนายน เพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น โปรแกรมนี้จะนำแผนธุรกิจไว้ขั้นตอนสุดท้าย อาจแปลกจากที่คุ้นเคยกัน เพราะแผนธุรกิจควรอยู่ขั้นตอนแรก พอไปคุยกับนักลงทุนหลายคน ทำให้รู้ว่าสตาร์ทอัปไม่ค่อยเอาแผนธุรกิจที่วางไว้แต่ต้นไปทำจริง ๆ สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นจึงเป็นการลองตลาดให้รู้ หรือพูดง่าย ๆ คือการลงมือทำจริง ในกระบวนการของเรา เราจึงเอามันไว้สุดท้าย และเน้นการลงมือทำมากกว่า

“เรามีทีมงานซึ่งเป็นเทรนเนอร์ที่ผ่านการรับรอง มีโค้ชทั้งในและต่างประเทศช่วยคุณทำโปรเจกต์ต่าง ๆ เพราะเราเข้าใจดีว่าหน่วยงานเล็ก ๆ ไม่มีคอนเนกชันไปขอทุนจากรัฐหรือหน่วยงานในประเทศ มันยากมาก ต้นซีดาร์อยากเป็นคนกลาง เชื่อมผู้ประกอบการคนไทยกับโลกนักลงทุนต่างชาติ”

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

หลักสูตรบ่มเพาะธุรกิจของต้นซีดาร์ ผู้ประกอบการไม่ได้เป็นเพียงเจ้าของธุรกิจ แต่ต้องเรียนรู้ว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างในชุมชนหรือสังคม และต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ตรงจุดทั้งด้าน Design Thinking และ Creative Thinking แน่นอนว่าไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเท่านั้นที่ต้นซีดาร์อยากช่วยดันหลัง แต่สิ่งสำคัญที่ต้นซีดาร์อยากเห็น คือผู้ประกอบการเป็นคนใจกว้าง และอยากช่วยเหลือสังคมจริง ๆ 

“พวกเราพยายามสอนเขาว่า คุณต้องเรียนรู้ที่จะให้ เรียนรู้ที่จะช่วย เรียนรู้ที่จะยอมตัดสินใจ บางครั้ง คุณต้องเรียนรู้ที่จะเสียสละเพื่อคนอื่นบ้าง เราอยู่ในวงของการเอาเปรียบอย่างเดียวไม่ได้

“ถ้าเขาเป็นผู้ประกอบการ ตอนเขามีรายได้ 20 บาท แต่เขาไม่ยอมให้คนอื่น 5 บาท ในวันที่เขามี 20 ล้านบาท เขาก็จะไม่ยอมให้เงินหลักหมื่นกับคนอื่นด้วยเหมือนกัน” แซมยกตัวอย่างให้ฟัง

แซมเล่าให้ฟังถึง Birdbread แบรนด์ขนมปัง Home Baker จุดเด่นคือความอร่อยและใช้วัตถุดิบปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อคนกินและเป็นมิตรต่อธรรมชาติ ซึ่งเจ้าของธุรกิจตัดสินใจเดินไปบอกพ่อแม่ที่เป็นข้าราชการว่าจะมาเป็นคนอบขนมปัง แต่ครอบครัวรับไม่ได้ เขาจึงไม่รู้ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

“ผมเรียนรู้จากเรื่องราวของ Birdbread และบอกเขาว่า ต้นซีดาร์เข้ามาเป็นทีมของคุณได้นะ เราจะเริ่มต้นไปด้วยกัน และผมเข้าใจความกลัวเหล่านั้นดี ซึ่งไอเดียของเรา คือผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ธุรกิจสำเร็จได้ ระบบงานก็สำคัญ โปรดักต์ก็ต้องดีจริง และคนก็ต้องเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ 

“เราตั้งใจทำให้เขารู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจตัวเอง หลายคนพอรู้จุดอ่อน ก็เร่งพัฒนาจุดอ่อน แต่จริง ๆ แล้ว เราบอกผู้ประกอบการทุกคนตลอดว่า ถ้าอยากเติบโต คุณต้องทำให้จุดแข็งของตัวเองแข็งแรงจริง ๆ เสียก่อน แล้วค่อยไปพัฒนาจุดอ่อน อย่าง Birdbread จุดอ่อนคือไม่มีทีม จุดแข็งคือการอบขนมปัง เราต้องเข้ามาเป็นทีมให้เขา เชียร์ให้เขาพัฒนาสกิลการอบขนมปังให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น จนตอนนี้จุดแข็งที่เขาทำขนมปังให้มีคุณภาพ ทำให้นักลงทุนสนใจธุรกิจของเขา และผมก็ดีใจที่เขาเป็นผู้ประกอบการคนหนึ่งที่ให้โอกาสคนชายขอบมาทำงานร่วมกับเขา มันตรงกับสิ่งที่ผมพยายามขับเคลื่อน”

TonCedar หนุ่มสิงคโปร์สร้างชุมชนผู้ประกอบการ จ.เชียงราย สอนทำธุรกิจที่อิมแพคต่อชุมชน-สังคม

Project Samart สร้างโอกาสทำงานให้คนชายขอบ

การสร้างคนให้เป็นคนในมุมของแซม คือการทำให้ผู้ประกอบการรู้จักแบ่งปันและให้โอกาสคนอื่นที่ได้รับโอกาสไม่เท่าเทียมกันในสังคม ‘Project Samart’ หนึ่งในโปรเจกต์ที่เขาทำมีที่มาจากคำว่า สามารถ มีความสามารถ เป็นโครงการช่วยเหลือการจ้างงานของคนชายขอบที่ถูกผลักออกจากสังคม

นิยามคำว่าคนชายขอบในที่นี้ มีตั้งแต่กลุ่มคนที่เคยติดยาเสพติด กลุ่มคนที่มีบาดแผลทางใจ เช่น เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือโดนหลอกไปค้ามนุษย์ ซึ่งพอออกสู่สังคม หลายครั้งผู้คนยังมีกำแพงอคติมากมายที่ทำให้การจ้างงานเกิดขึ้นได้ยาก รวมถึงกลุ่มคนไร้สัญชาติ ซึ่งไม่มีสิทธิ์ไม่มีเสียงในสังคม โปรเจกต์นี้ต้องการมอบโอกาสให้พวกเขาพัฒนาทักษะการทำงาน ไปพร้อม ๆ กับสื่อสารให้เจ้าของธุรกิจต่าง ๆ เปิดใจยอมรับเข้าทำงานในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง นั่นเป็นสิ่งที่แซมผลักดันอยู่เสมอ

ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม

“เท่าที่ผมสังเกต ประเทศไทยมีมูลนิธิหรือองค์กรที่ทำงานด้านการฟื้นฟูจิตใจและช่วยบำบัดผู้คน แต่คนกลุ่มนี้ เขายังรู้สึกว่ามันยากที่จะเข้าไปใช้ชีวิตในสังคมอยู่ดี เพราะไม่มีใครให้โอกาสเขาจริง ๆ”

ต้นซีดาร์ลงมือเทรนคนชายขอบหลายทักษะและพัฒนาความมั่นใจในตัวเอง โดยการสร้างพื้นที่ฝึกงานสำหรับคนกลุ่มนี้ ทุก 2 เดือน ต้นซีดาร์รวบรวมกลุ่มคนชายขอบเข้ามาฝึกอบรบภาษา ทักษะเข้าสังคม และการบริการ รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้พวกเขาที่เคยถูกเอาเปรียบ ได้รู้ถึงสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะสิทธิในการกลับเข้าสู่สังคมการทำงาน นี่จึงเป็นโอกาสดี

“นอกจากพัฒนากลุ่มคนชายขอบ อีกด้านหนึ่งคือการช่วยสื่อสารให้บรรดานักธุรกิจเปิดใจกับพวกเขา บางครั้งนักธุรกิจคิดว่า ถ้าเขามีเงินหลักหมื่นที่จะจ้างใครสักคน เขาจะจ้างคนที่มีปัญหาทำไม ซึ่งมันเป็นเรื่องยากในการคุยกับนักธุรกิจมาก ผมเลยตัดสินใจออกเงินเอง เป็นเงินช่วยลดหย่อนด้วยการจ่ายครึ่งหนึ่งของเงินเดือนในอัตรา 50 : 50 เพื่อให้ธุรกิจนั้น ๆ รับน้อง ๆ เข้าไปทำงาน

“ยอมรับเลยครับว่าต้องใช้ความอดทนในการพูดคุยมาก บางคนเคร่งเรื่องผลกำไร บอกว่าจ้างงานคนชายขอบไม่คุ้ม แต่ผมเชื่อว่าถ้าเราหวังให้สังคมดีขึ้น เราต้องยอมเสียสละบางอย่าง จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทุกสังคมควรมี และผมเชื่อว่าผู้ประกอบการที่ได้ฟังผม เขาจะเรียนรู้การใช้วิธีนี้ในอนาคต”

ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม

รวมถึงการเปิด ‘co:lab space’ คอมมูนิตี้กลางเมืองเชียงราย มีตั้งแต่สตูดิโอ ทีมงานด้านครีเอทีฟ Co-working Space ให้นั่งคุย ปรึกษาธุรกิจโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หากใครต้องการห้องประชุมทาวน์ฮอลล์ที่เป็นส่วนตัวขึ้นมาหน่อย ที่นี่ก็เปิดให้เช่าห้องเพื่อแบ่งปันไอเดียซึ่งกันและกัน ด้วยจุดประสงค์คืออยากสร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้บานสะพรั่ง และใครที่แวะเวียนเข้ามาใน co:lab space ก็อุดหนุนร้านค้าของผู้ประกอบการในเชียงรายได้ โดยต้นซีดาร์ช่วยเล่าเรื่องผ่านการทำคอนเทนต์และแพ็กเกจจิ้งโปรดักต์ ซึ่งเป็นการทำให้ผู้ประกอบการฟรี ๆ เพราะต้นซีดาร์อยากให้พวกเขามีโอกาสได้ตั้งตัวบ้าง 

หลายหัวไอเดียบรรเจิดกว่าหัวเดียว 

ไม่ใช่แค่พูดคุย Case by Case กับผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว ต้นซีดาร์ยังเชื่อว่าการสร้างพื้นที่ให้ผู้ประกอบการเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ แบ่งปันแนวคิดการทำธุรกิจซึ่งกันและกัน จะทำให้เกิดเครือข่ายและพันธมิตรที่ช่วยเหลือกันได้ แซมย้ำว่า ไม่มีผู้ประกอบการคนไหนอยากอยู่เหงา ๆ คนเดียว

ฉะนั้น ต้นซีดาร์จึงสร้างกิจกรรม Creative Circle ขึ้นมา

ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม

“การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ บางครั้งเส้นทางก็โดดเดี่ยว ต้องเริ่มทำเองคนเดียว การมี Creative Circle เป็นการรวมตัวที่ทำให้เขารู้สึกว่า เขามีครอบครัวหนึ่ง เมื่อแชร์ประสบการณ์อะไรก็จะมีคนรับฟังและเข้าใจกัน ก่อนหน้านี้ผมจัดให้ทุกคนเข้ามาโดยไม่แบ่งสาขาอาชีพ มีคนทำน้ำสับปะรด มีคนทำฟาร์มกาแฟ มีคนทำฟาร์มอะโวคาโด มีคนย้อมผ้าสีธรรมชาติ ซึ่งมันทำให้เกิดการติดต่อหรือร่วมงานกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่ถ้าอยากได้การพูดคุยที่ลึกขึ้น ผมว่าคงต้องให้คนคอเดียวกันมาคุยกัน 

“ช่วงหลังโควิด-19 ผมจึงปรับแผนใหม่ รวบรวมคนที่ทำงานด้านดีไซน์มาอยู่ด้วยกัน คนทำเบเกอรี่อยู่ด้วยกัน คนทำสวน ทำฟาร์มอยู่ด้วยกัน คนสนใจกาแฟอยู่ด้วยกัน นั่นทำให้พวกเขาพูดคุยกันอย่างลึกซึ้ง และสร้างการติดต่อสื่อสารที่หนักแน่นขึ้น แต่การรวบรวมหลาย ๆ อาชีพมารวมกัน ผมก็ไม่ได้ยุบทิ้ง เพียงแต่เปลี่ยนมาทำปีละครั้ง เพื่อให้ผู้ประกอบการในเชียงรายได้พบปะและแลกเปลี่ยนกัน” แซมพูดอย่างภูมิใจ เพราะเขาเห็นผลลัพธ์ว่า การรวมกลุ่มครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้บรรดาผู้ประกอบการได้พูดคุยและนัดหมายกันนอกรอบเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าเดิม โดยมีต้นซีดาร์เป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการสนับสนุน

ส่งกล่องสุ่มจากโปรดักต์ชุมชนถึงหน้าบ้าน

Many Hands เป็นโปรเจกต์ที่นำโปรดักต์จากช่างฝีมือและคนในเชียงรายมาเผยแพร่เพื่อส่งเสริมทักษะของพวกเขา พร้อมกระจายให้ผู้คนเห็นแบรนด์ของเขามากขึ้นผ่าน ‘กล่องสุ่ม’ แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราคงเห็นหลายร้านค้าขายกล่องสุ่มกันมากมาย แต่ยังไม่ค่อยเห็นกล่องสุ่มที่อัดแน่นไปด้วยโปรดักต์ของคนตัวเล็ก ๆ จากในชุมชนหรือรวมมิตรของเจ๋ง ๆ ในจังหวัดให้เราลุ้นกันเสียเท่าไหร่

แซมผุดไอเดียนี้ขึ้นมาเพราะมองเห็นปัญหาของ Small Makers ว่าพวกเขาไม่มีพื้นที่ตลาด แม้พวกเขาจะมีสกิลเก่งกาจก็ตาม คำว่าไม่มีพื้นที่ตลาด คือการไม่มีเงินลงทุนวางขายในตลาด แซมจึงอยากช่วยเหลือด้วยการสั่งออร์เดอร์พวกเขาทุกเดือน เพื่อให้พวกเขามั่นใจว่า 3 เดือนข้างหน้าจะมีรายได้เข้ากระเป๋าประมาณเท่าไหร่ เป็นตัวเลขที่แน่นอน จนเกิดกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานต่อ

ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม
ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม

ไอเดียของกล่องสุ่มคือ “ถ้าผมสั่งออร์เดอร์เดือนละ 50 ชิ้น เอามาใส่รวมในกล่อง แล้วส่งกล่องสุ่มไปยังบ้านของคนที่สั่งกับเรา โดยที่ลูกค้าไม่รู้ว่าข้างในมีอะไร ตั้งคอนเซปต์ไปเลยว่า กล่องนี้สำหรับผู้หญิง กล่องนี้สำหรับผู้ชาย อย่างช่วงวาเลนไทน์ก็ทำกล่องสุ่มวาเลนไทน์ขึ้นมา ซึ่งเขามั่นใจได้เลยว่า ของที่เราส่งไปเป็นสินค้าที่เป็นมิตรต่อคนและสิ่งแวดล้อม เช่น สบู่ธรรมชาติ ผ้าทอสีธรรมชาติ เทียนหอมธรรมชาติ งานไม้จากช่างไม้ในชุมชน เป็นต้น ซึ่งเราจะเล่าให้เขาฟังด้วยนะว่าแต่ละไอเทมมีที่มาที่ไปอย่างไร”

ความน่ารักไม่ได้มีแค่นั้น นอกจากกล่องสุ่ม แซมยังทำตะกร้ารวบรวมผักสดจากแต่ละหมู่บ้านที่แม่ ๆ ปลูกมารวมกันเป็นเซตเดียว พร้อมทั้งทำวิดีโอประกอบให้ดูด้วยว่า จากผักในตะกร้า แตกยอดไปทำเมนูอร่อยอะไรได้บ้าง เพื่อสนับสนุนสินค้าจากเกษตรกรในชุมชน มั่นใจได้เลยว่า สดแน่นอน!

ต้นซีดาร์ ต้นไม้ที่เป็นแหล่งพักพิงของทุกคน

ผ่านมาเกือบครบ 1 ชั่วโมงเต็มที่เรานั่งฟังแซมพูดคุยถึงความตั้งใจและการหย่อนเมล็ดพันธ์ุต้นซีดาร์ไว้ทั่วเมืองเชียงราย ในวันที่เรานั่งสัมภาษณ์กัน เขาเพิ่งกลับจากประเทศเคนยามาไม่กี่วัน เนื่องจากได้รับเลือกเป็นตัวแทนภาคธุรกิจประจำทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในงาน Forge Conference เพื่อประชุมเสริมสร้างขีดความสามารถสำหรับการทำธุรกิจกับนักลงทุนรายใหญ่จากหลากหลายประเทศ 

“ตอนไปเคนยา ผมเกิดคำถามขึ้นมาในหัวว่า ผมมาถูกทางไหม การเริ่มต้นทำไมมันยากขนาดนี้ ผมต่อสู้กับความเชื่อแบบเดิม ๆ ระบบเดิม ๆ รูปแบบเดิม ๆ มาอย่างหนัก ผมเองมาจากคริสต์ศาสนาที่บางคนในชุมชนคิดว่าการช่วยเหลือสังคมต้องเกิดขึ้นในกำแพงของคริสตจักรหรือโบสถ์อย่างเดียว 

“แต่ผมก็ยึดมั่นที่จะออกมาทำเองข้างนอก พอกลับจากเคนยาก็รู้สึกว่า ผมมาถูกทางแล้ว เพราะอนาคตของเชียงรายหรือของประเทศล้วนขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ สังคมปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบางอย่างได้ หากมีคนริเริ่มจะเปลี่ยนมัน” ชายชาวสิงคโปร์คนนี้บอกกับเราด้วยแววตาสุกสกาว

ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม

ในฐานะเจ้าขององค์กร เขาไม่ลืมดูแลคนในองค์กรที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของต้นซีดาร์ทุกชีวิต

“ผมจะนั่งทำงานกับทุกคนในห้องเดียวกัน ไม่มีห้องแยกที่ระบุว่านี่คือห้องของ CEO และผมเลือกไม่จำกัดวันลาหรือวันหยุด น้อง ๆ ในทีมจะลากี่วันก็ได้ เพราะก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นเจ้านายที่ตั้งวันลาไว้ แล้วมานั่งคิดเล็กคิดน้อย ทำไมคนนี้มาช้า ทำไมคนนี้ลาบ่อย ทำให้บรรยากาศตอนนั้นเครียดมาก

“ผมเลยเปลี่ยนมุมมอง ควรมองว่างานหลักของเราเป็นงานสร้างสรรค์ การครีเอทีฟจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขามีอิสระ แต่ความอิสระก็ต้องอยู่บนความรับผิดชอบด้วยนะ เมื่อเรายึดมั่นในการเชื่อใจซึ่งกันและกันของคนในทีม ผมนำสิ่งนี้ไปใช้เวลาเราพัฒนาธุรกิจกับผู้ประกอบการคนอื่น ๆ เพราะผมเชื่อว่าเราต้องทำงานร่วมกัน ตัวเราคนเดียวไปได้เร็วนะ แต่ถ้าไปด้วยกัน เราไปได้ไกล และไปได้นานกว่า”

ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม

ชื่อของต้นซีดาร์ แซมตั้งจากต้นสน ที่อิงไอเดียในพระคัมภีร์คริสเตียน โดยต้นสนนั้นใหญ่โตมาก และนกทุกชนิดเข้ามาหาที่ลี้ภัยหรือพักพิง ต้นซีดาร์ของแซมจึงอยากเป็นสถานที่แห่งนั้น ที่ที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในเชียงรายจะรู้สึกอุ่นใจทุกครั้งที่มี TonCedar เป็นเพื่อนร่วมเดินในเส้นทางธุรกิจ

ในอนาคต แซมจะทำให้ต้นซีดาร์ต้นนี้แผ่กิ่งก้านสาขาไปยังจังหวัดอื่น ๆ ที่ยังมีผู้ประกอบการมากฝีมือ แต่ขาดโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อทำให้พวกเขาได้เติบโตไปพร้อม ๆ กับธุรกิจที่รัก 

เติบโตไปพร้อม ๆ กับชุมชนบ้านเกิดที่รัก โดยมี ต้นซีดาร์ เพื่อนรักคอยเคียงข้าง

ต้นซีดาร์ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สร้างชุมชนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ จ.เชียงราย ให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอิมแพคที่ดีต่อชุมชนและสังคม
TonCedar
  • 628 ถนนอุตรกิจ รอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย (แผนที่)
  • 09 0332 3752
  • toncedar.org
  • TonCedar

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographer

Avatar

ทรงธรรม ศรีนัครินทร์

ช่างภาพสายอุปกรณ์ที่ชอบวลี “กระบี่อยู่ที่ใจ”