27 สิงหาคม 2022
7 K

เราเคยคุยกับ โทล-เรืองยศ มหาวรมากร มาครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากที่เขาไปวิ่งที่โตเกียว มาราธอนจนจบด้วย Sub-3 หรือการวิ่งมาราธอนภายในเวลาไม่ถึง 3 ชั่วโมง 

จากนักวิ่งที่เริ่มวิ่งออกกำลังกายบนลู่วิ่งในฟิตเนส แล้วหลงรักการวิ่งจนสร้างเป้าหมายและพุ่งไปให้ถึงอยู่เรื่อย ๆ เป็นทั้งนักวิ่งมาราธอน จนล่าสุดโทล หรือในวงการวิ่งรู้จักกันดีในชื่อ Tollmahawk สร้างปรากฏการณ์ที่เข้าแข่งขันวิ่ง 100 กิโลเมตรเป็นครั้งแรกในชีวิต และยังสร้างสถิติสนามพร้อมสถิติประเทศไทย จนถูกเรียกให้ติดทีมชาติไทยไปแข่งขันรายการอัลตร้ามาราธอนชิงแชมป์โลกในวัย 46 ปี

การไปถึงเป้าหมายของโทลไม่มีทางลัด ทุกอย่างผ่านการฝึกซ้อมอย่างมีวินัย รวมถึงการฝึกซ้อมสำคัญที่หลายคนมองข้าม คือ การสร้างสภาพจิตใจ ความคิด และโภชนาการ

เราได้คุยกับโทลก่อนที่เขาจะบินไปลงแข่งรายการใหญ่ที่สุดในโลกของการวิ่งระยะอัลตร้ามาราธอน คุยกันถึงการสร้างทัศนคติและการซ้อมในแบบของเขา ไปจนถึงเขาจัดการกับความขี้เกียจแล้วลากตัวเองไปซ้อมได้อย่างไร

 โทล-เรืองยศ มหาวรมากร Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต แล้วสร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

มันทำยังไงวะ?

“ผมเป็นคนแบบที่มีคำถามในหัวว่า มันทำยังไงวะ”

“ตอนเล่นไตรกีฬา เห็นโปรที่ลงแข่งก็มีคำถามว่า ทำไมคนนั้นเขาวิ่งได้เร็ว ทั้ง ๆ ที่เพิ่งว่ายน้ำแล้วต่อด้วยปั่นจักรยานมาหนักมาก

“อะไรที่ทำให้เขาเป็นยอดมนุษย์ได้ขนาดนั้นวะ

“เราหาคำตอบด้วยการมีโค้ช แล้วมีคำถามว่าการซ้อมแต่ละครั้งทำไปเพื่ออะไร ให้เราออกไปวิ่งเร็วเพื่ออะไร” โทลเล่าถึงความเก่งกว่าของคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจของเขา ความอยากเป็นให้ได้แบบนั้นบ้างคือแรงกระตุ้นที่ดี อาจไม่ต้องทำได้ถึงขนาดเขา แต่มันต้องมีวิธี

“ตอนเริ่มวิ่งมาราธอนเราก็เริ่มรู้จักตัวเองมากขึ้น คิดว่าตัวเองน่าจะเหมาะกับการวิ่งระยะนี้ 

“โค้ชบอกผมว่า จะวิ่งมาราธอนให้ดีได้ พื้นฐาน 10 กิโลเมตรต้องดีก่อน แล้วก็จับผมวิ่งระยะสั้นให้เร็วขึ้น เคี่ยวเข็ญให้ยืนระยะบนความเร็วให้นานขึ้นอย่างมีรูปแบบการซ้อม และอธิบายได้ว่าแต่ละการซ้อมทำไปเพื่ออะไร แต่ละการซ้อมจะทำให้เกิดผลอะไรบ้าง โค้ชไม่ได้แค่วางโปรแกรมให้ แต่สอนผมด้วย เขาบอกว่าในอนาคตเขาไม่ต้องมาโค้ชให้ผมแล้ว ผมดูแลตัวเองได้ แล้วผมก็ได้ตรงนี้ติดตัวมา”

 โทล-เรืองยศ มหาวรมากร Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต แล้วสร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

จากมาราธอนสู่อัลตร้ามาราธอน

เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่ามาราธอนไม่ท้าทายอีกต่อไปแล้ว – เราถามนักวิ่งมาราธอนระดับต้น ๆ ของประเทศ

“มันมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมเริ่มคิดว่า ไม่เอาแล้วว่ะมาราธอน ตอนนั้นคิดว่าจะลดเวลาจาก 2 ชั่วโมง 53 นาที ให้เหลือ 2 ชั่วโมง 50 นาที แต่ผมคิดว่ามันไม่ต่างกันแล้ว เลยอยากกลับไปล่าฝันของตัวเองที่อยากไปแข่งไตรกีฬาระดับโลกที่ Kona Hawaii แต่พอจะเริ่มตั้งใจซ้อมไตรกีฬาอีกทีก็เจอโควิดระบาด สระว่ายน้ำก็ลงไม่ได้ จักรยานก็ไม่ได้ ได้แค่ซ้อมวิ่ง ตอนนั้นเลยกลายเป็นไม่มีเป้าหมายอะไรเลย บังเอิญไปเจอการแข่งขันวิ่งอัลตร้ามาราธอน 100 km ที่เขาใหญ่ ก็เลยสมัครไว้ก่อน” 

จากนักวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร ขยับไปไตรกีฬาก็ไม่แปลกนัก หรือจากแข่งไตรกีฬาไประยะมาราธอน ก็ดูเหมือนเป็นการขยับฝันทีละขั้นแบบค่อยเป็นค่อยไป 

แต่โทลผู้ที่วิ่งสูงสุดในชีวิตแค่ 42 กิโลเมตร กำลังจะก้าวไปสู่ระยะ 100 กิโลเมตร ซึ่งตามความรู้สึกของนักวิ่งถือเป็นก้าวที่ใหญ่มาก ต้องอาศัยความพร้อมของทั้งร่างกายและจิตใจที่แกร่งกว่าปกติ

“ตอนสมัครไม่ได้คิดว่าจะต้องไปชนะอะไรเลยนะ มีคิดอยู่เหมือนกันว่าจะวิ่งจบไหม แต่เห็นเส้นทางแล้วอยากวิ่ง ทางมันสวย วิ่งผ่านทุ่งเวิ้งว้างเนี่ยชอบเลย รู้สึกอิสระดี เลยตัดสินใจว่า เอาวะ ต้องลองดูเลยกดสมัครไป 

“แต่สถานการณ์ตอนนั้นก็ลุ้นว่าเขาจะเลื่อนแข่งไหม ปรากฏว่าเขาไม่เลื่อน แต่นับเวลาซ้อมแล้วมีเวลาแค่ 8 สัปดาห์ ปรึกษาโค้ชกับทีมแล้วเลยตกลงกันว่า เอาวะ ลองดู ซ้อมแข่ง 100 กิโลเมตรครั้งแรกในระยะเวลา 8 สัปดาห์กัน”

 โทล-เรืองยศ มหาวรมากร Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต แล้วสร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย
 โทล-เรืองยศ มหาวรมากร Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต แล้วสร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

ช้าให้เป็น

“การซ้อมในระยะที่ไม่เคยวิ่ง ทำให้เราต้องเทียบตัวเองกับคนอื่น เห็นเขาวิ่งกันที่ 9 ชั่วโมง เราก็คิดว่าเราก็น่าจะวิ่งได้ประมาณนั้น คนอื่นเขาวิ่งสะสมระยะทางกันหลายกิโลเมตรต่อเดือน แต่โค้ชให้เราซ้อมแบบวิ่งช้า ๆ ระยะไม่ได้มากอย่างที่คิด เราซ้อมแค่สัปดาห์ละร้อยโล ชักเริ่มไม่มั่นใจจนต้องถามโค้ชว่า ซ้อมแค่นี้มันจะพอเหรอ

“โค้ชบอกเราว่า เราต้องเชื่อใจ แล้วเขาก็อธิบายว่าการวิ่งระยะไกล ฐานแอโรบิกคือสิ่งสำคัญที่สุด ยังไม่ต้องวิ่งเร็ว แต่ต้องโฟกัสให้ถูกจุด ถ้าเราซ้อมสร้างฐานแอโรบิก แต่วิ่งโซนของร่างกายที่เกินโซนแอโรบิกขึ้นไป ร่างกายเราจะไม่ถูกกระตุ้นให้สร้างไมโทคอนเดรีย โครงสร้างในเซลล์ที่ใช้ออกซิเจนไปช่วยสร้างพลังงานในร่างกาย การซ้อมวิ่งในโซนที่ถูกต้องจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างไมโทคอนเดรียมากขึ้น ทำให้สร้างพลังงานจากการหายใจได้มากขึ้นไปด้วย 

“แต่คนส่วนใหญ่รวมถึงเรา มักใช้ความรู้สึกว่าวิ่งช้าอยู่ในโซนที่สบาย แต่การฝึกวิ่งช้ามันช้ากว่าที่คิด โค้ชบอกให้ลองวิ่งในโซนที่รู้สึกสบาย วิ่งเสร็จจับผมเจาะเลือดทันที ปรากฏว่าโซนที่เราบอกสบาย ๆ ค่าของกรดแลคติกในเลือดที่ทำให้เรารู้สึกล้าออกมาเกือบจะ Maximum แล้ว นั่นแปลว่าไม่ได้วิ่งอยู่ในโซนสบายจริง เราต้องวิ่งให้ช้ากว่านั้น

“เราถามโค้ชไปเลยว่าจะไหวเหรอ เราไม่เคยวิ่งช้าขนาดนี้เลยนะ (หัวเราะ)

“การวิ่งช้าก็มีความทรมานของมันเหมือนกัน กล้ามเนื้อที่ใช้จะเป็นอีกชุดหนึ่ง แต่ทีมของเราจะวัดผลตลอดเวลา พอซ้อมไประยะหนึ่ง ในระดับการเต้นของหัวใจเท่าเดิมแต่ความเร็วเราดีขึ้นชัดเจน เราก็เริ่มมั่นใจกับการซ้อมแล้ว มั่นใจในขั้นตอนของโค้ช และรู้เลยว่ามันไม่มีทางลัด”

Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต เรืองยศ มหาวรมากร สร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

สร้างเครื่อง

โทลผ่านการซ้อมวิ่งจนร่างกายปรับตัวให้มีความพร้อมที่จะวิ่งระยะไกลมากขึ้น 

“ถ้าเปรียบกับรถยนต์ การวิ่งระยะไกลก็เหมือนเราต้องการเครื่องใหญ่มากกว่า ไม่ใช่เครื่องเทอร์โบแรง ๆ เราต้องการเครื่องที่เวลาวิ่งไกล เมื่อความเร็วนิ่งแล้วประหยัดพลังงาน 

“พอเราซ้อมจนได้เครื่องที่ใหญ่แล้ว พวกวัสดุที่จะมาประกอบให้มันแข็งแกร่งต้องดีไปด้วย ร่างกายต้องไม่ใช่เหล็กที่หนักเทอะทะ แต่ต้องเบาและแกร่ง” เขาเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย

“บางทีเราซ้อมเอาระยะทาง อาจจะมองข้ามการสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย โค้ชฝรั่งหลายคนก็บอกว่า เราไม่จำเป็นต้องเล่นเวท เทรนนิ่ง ตอนแรกผมก็เชื่อนะ แต่ตอนหลังมาคิดว่าเราอาจจะมีพันธุกรรมที่ดีไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับร่างกายของฝรั่งที่มีกล้ามเนื้อตามพันธุกรรมที่ดีกว่า เลยไม่อยากให้นักวิ่งมองข้ามการสร้างความแข็งแกร่งด้วย 

“เวลาซ้อม เราแบ่ง 60 เปอร์เซ็นต์ให้การซ้อมวิ่ง อีกสัก 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ให้การสร้างกล้ามเนื้อ ส่วนที่เหลือคือการกินและการพักผ่อน ปรับไปตามแผนการซ้อมในแต่ละช่วง อย่างช่วงใกล้แข่ง การกิน การพัก ก็จะมีเปอร์เซ็นต์มากขึ้น

“พอเครื่องดี วัสดุดี น้ำมันที่ใช้ก็ต้องดี อาหารที่เรากิน คุณสร้างเครื่องดีขนาดนี้ แต่เติมของที่ไม่ได้ดีที่สุด มันก็เร่งไม่ไปอยู่ดี คุณต้องกินอาหารที่ดีควบคู่ไปด้วย เราซ้อมเยอะและใช้ออกซิเจนในการเผาผลาญ เพราะฉะนั้นของเสียมันก็มีในร่างกาย การกินสิ่งที่มี Antioxidant มาก ๆ จะไปช่วยกำจัดของเสียออกไปจากร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ สำหรับนักกีฬาที่ซ้อมหนัก

“บางคนซ้อมอย่างเดียว แต่ทำไมมันไม่พัฒนา บางวันล้า ไม่พร้อมที่จะซ้อม แน่นอนว่าของเสียยังเต็มตัวอยู่เลย ภาวะที่เป็นพิษจากกรดต่าง ๆ รวมถึงกรดแลคติกที่ร่างกายสร้างออกมาไม่ได้ถูกกำจัดออกไป และไม่ใช่แค่การเข้าห้องน้ำขับถ่ายแล้วจะออกไปด้วย”

Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต เรืองยศ มหาวรมากร สร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย
Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต เรืองยศ มหาวรมากร สร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

Just Smile

โทลบอกว่าการซ้อมไปวิ่งอัลตร้ามาราธอนของเขา เบากว่าการซ้อมมาราธอนที่ผ่าน ๆ มาเสียอีก แต่ก็ต้องฝึกสภาพจิตใจด้วย Mindset ที่สำคัญมาก ๆ เพราะระยะทางทั้งยาวและไกล

 เราถามเขาว่าจะต้องดีลกับระยะแบบนี้อย่างไร

“ยิ้ม” 

เขาตอบสั้น ๆ พร้อมกับยิ้มออกมาจริง ๆ

“เราเรียนรู้จากนักไตรกีฬาที่ชื่อ คริสซี่ เวลลิงตัน (Chrissie Wellington) ผมชอบเขามาก ถ้าลองไปหารูปดูจะเห็นว่าเขายิ้มอยู่ตลอดเวลา เคยอ่านสัมภาษณ์เขา เขาบอกว่าเขาเหนื่อยมาก แต่ต้องยิ้ม ต้องบอกตัวเองให้ยิ้ม บอกว่าเราสบาย เรามีความสุข เราทำได้ หลังจากนั้น เอลีอูด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) ก็พูดเหมือนกัน แล้วเขาก็ใช้วิธีเดียวกัน ผมเอามาลองบ้าง แล้วมันเวิร์กเว้ย 

“อย่างช่วงซ้อมที่เราต้องคุมพลังงานหรืออัตราการเต้นของหัวใจ แล้วเราไปมัวจดจ่อกับค่าต่าง ๆ มันไม่เวิร์กเลย ยิ่งทำให้ค่าการเต้นของหัวใจพุ่งสูงอีก เลยเปลี่ยนไปมองรอบ ๆ บอกตัวเองว่าไหว แล้วลองยิ้ม เออ มันช่วยได้จริง”

“ช่วงสองสามปีหลังที่เราเริ่มตกผลึกในการซ้อมใหม่ เราจะได้เรื่องนี้เยอะมาก มันต้องคิดบวก บอกว่าพร้อม ใครถามว่าพร้อมไหมก็ต้องบอกว่าพร้อม ถามว่าไหวไหมก็บอกว่าไหว ต้องบอกกับตัวเอง สร้างกำลังใจให้ตัวเอง”

Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต เรืองยศ มหาวรมากร สร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

ตามแผนไม่ตามคนอื่น

โทลวิ่งรายการ Khaoyai 100K Ultra Marathon 2021 เป็นการวิ่ง 100 กิโลเมตรครั้งแรกในชีวิต แม้จะเป็นนักวิ่งรุ่นใหญ่มากประสบการณ์ในระยะอื่น ๆ แต่ ณ เส้นสตาร์ท ถือว่าเขากลายเป็นน้องใหม่ในระยะนี้

“สนาม Khaoyai 100 KM เป็นสนามที่ผมได้เรียนรู้ว่าต้องปรับอะไรในการซ้อมบ้าง ปรับแม้กระทั่งเวลานอน รายการที่ปล่อยตัวตี 3 ผมต้องปรับเวลานอน เพื่อตื่นมาซ้อมวิ่งตอนตี 3 เพื่อให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามนั้นเลย เมื่อไปถึงวันนั้นมันเพอร์เฟกต์และรู้สึกว่าเป็นวันของเรา 

“ตอนแข่งเราอยู่กับตัวเรา ไม่รู้ว่าคนอื่นเขาวิ่งกันเท่าไหร่ มีกลุ่มหน้าที่ออกตัวไปด้วยความเร็ว เราจะตามให้อยู่ในกลุ่มก็ได้ แต่เราต้องอยู่ในแผนของตัวเอาเอง และคิดว่าเราอาจจะไปเจอกันในช่วงท้าย ๆ ก็ได้”

จากนักวิ่งหน้าใหม่ของสนาม โทลกลายเป็นม้ามืดคว้าอันดับหนึ่งในการแข่งขัน 100 กิโลเมตรครั้งแรกของตัวเองได้สำเร็จ ด้วยเวลา 7 ชั่วโมง 55 นาที กลายเป็นทั้งสถิติใหม่ของสนามและเป็นสถิติของประเทศไทยด้วย 

เป็นปรากฏการณ์ที่ถูกพูดถึงกันในวงการวิ่ง แต่ทั้งหมดเกิดจากวินัยในการซ้อม ความพร้อมของร่างกาย จิตใจ และการอยู่ในแผนของตัวเองอย่างดี

หลังจากคว้าแชมป์สนามนี้ เป็นช่วงที่รายการ IAU 100km World Championships การแข่งขันวิ่งอัลตร้ามาราธอนชิงแชมป์โลกที่เลื่อนจัดมา 2 ปี กลับมาจัดอีกทีในปีนี้ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี รายการนี้ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมจะถูกส่งไปในนามทีมชาติของแต่ละประเทศ และทางสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยก็ต้องการจะผลักดันให้ส่งนักกีฬาไทยไปแข่งขันด้วย 

โทลได้รับเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งในครั้งนี้ร่วมกับ ซอร์-ธนัต วิจิตรสุนทร นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนดาวรุ่งเบอร์ต้นอีกคนของประเทศไทย

โทลบอกว่าการติดทีมชาติและได้ร่วมรายการนี้มันยากกว่าความฝันรายการอื่น ๆ ที่ไปได้ด้วยตัวเอง แต่รายการนี้ประเทศต้องส่งไปเข้าร่วมในนามทีมชาติเท่านั้น

เหมือนเป็นความฝันที่ไม่เคยกล้าฝันมาก่อน

Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต เรืองยศ มหาวรมากร สร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

ทีมชาติไทย

“การซ้อมทีมชาติต้องละเอียดกว่าเดิม และใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าไปช่วยในการฝึกซ้อมเยอะ มีเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดแบบบอกผล ณ ขณะนั้น เพื่อรู้ค่าน้ำตาลในเลือดว่าควรอยู่ที่เท่าไหร่ในช่วงเวลาซ้อม เพื่อไม่ให้ระดับน้ำตาลต่ำเกินไป รู้ถึงขนาดว่าหลังจากที่เรากินอาหารเข้าไป เราควรเริ่มซ้อมเมื่อไหร่ เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้เรารู้จักตัวเองแบบละเอียดกว่าเดิม รู้อย่างถูกจุด และกระตุ้นในจุดที่ถูกต้อง

“การพักเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการฝึกซ้อม การเข้า Cryotherapy Chambers ห้องความเย็นติดลบ เพื่อช่วยให้ฟื้นฟูกล้ามเนื้อจากความความล้าได้เร็วขึ้น

“สิ่งที่เราอยากให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่องโภชนาการ ผมคิดว่าการซ้อมของหลายคนเป็นการคิดกลับหัว นักวิ่งมักให้ความสำคัญกับโปรแกรมการซ้อมอย่างหนักและเข้มข้น เป็นการใช้ร่างกายหนัก แต่ไม่ได้ดูแลร่างกายให้ดี ร่างกายทำให้คุณวิ่งได้ดีขนาดนี้ แต่การกินไม่ดีก็ทำให้ร่างการพัฒนาได้ไม่เต็มที่ 

“มันกลับหัวกันอยู่ เราควรเน้น Sport Nutrition การกินที่ดีเพื่อร่างกาย ควรรู้สาเหตุที่เมื่อร่างกายล้าต้องกินอาหารแบบไหนที่จะช่วยลดความล้าได้ การกินดี ๆ มีประโยชน์ อาจจะไม่อร่อยบ้างแต่คือการซ้อมแบบหนึ่ง กินอะโวคาโด ข้าวกล้อง และอีกหลายอย่าง บางทีเราก็อยากกินของทอด ทรมานแต่ก็ต้องห้ามใจ เพราะมีเป้าหมายอยู่

“เดี๋ยวนี้ดีขึ้นหน่อยที่มีการคัดสรรได้ มันมีของมีประโยชน์ที่อร่อยมากขึ้น ผมลองกินทั้งวีแกน มังสวิรัติ กินปลา กินไข่ แต่บางอย่างก็ไม่ได้มีผลพิสูจน์ อย่างเนื้อแดงที่ถ้าเราเลี่ยงได้ ก็เชื่อว่าน่าจะช่วยลดอาการอักเสบของร่างกายได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่อะไรเลย นักวิ่งระดับโลกเขาทำกันมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครออกมาบอก” 

Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต เรืองยศ มหาวรมากร สร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

ขี้เกียจแบบร่างกายฟ้องให้ขี้เกียจ

‘ตื่นไปซ้อมทุกวันยังไง’ เป็นคำถามคลาสสิกที่เราตั้งไว้ถามนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จหลาย ๆ คน 

“ต้องมีเป้าหมาย ผมถึงต้องหาเป้าหมายเรื่อย ๆ ไง 

“จะเป็นเป้าหมายใหญ่หรือไม่ใหญ่ก็ได้ แต่ต้องมี อย่างตอนนี้เรามีเป้าหมายว่า จะต้องไปวิ่ง 100 กิโลเมตรในนามทีมชาติ 

“ผมเป็นคนที่ใช้ชีวิตเหมือนคนปกตินะ มีดื่มบ้างในช่วงนอกฤดูกาลแข่ง ทำงาน มีครอบครัวที่ต้องดูแล แต่พอถึงวันที่รู้ว่ามีเป้าหมายมารออยู่ข้างหน้าแล้ว ผมตัดฉับเข้าสู่แผนทั้งหมดเลย

“มันมีวันที่ไม่อยากไปซ้อมเลย ตื่นมาแล้วขี้เกียจเลย ผมจะมีตัวเลือกให้ตัวเอง 2 ทาง คือจะนอนพัก หรือจะออกไปซ้อม แต่ต้องมีตัวชี้วัด คืออัตราการเต้นของหัวใจ 

“การเต้นของหัวใจแต่ละจังหวะความถี่มันจะไม่เท่ากันสม่ำเสมอ แล้วถ้าเราดูกราฟหัวใจบ่อย ๆ มันจับได้ว่าร่างกายเรากำลังสู้กับอะไรอยู่ไหม มันจะเป็นตัวชี้วัดที่บอกเราได้จริง ๆ

“อย่างวันนี้ตื่นมาแล้วรู้สึกล้า รู้สึกว่าวันนี้ร่างกายเราเครียด ดูค่าความถี่หัวใจแล้วมันก็บอกตามนั้น เลยเลือกที่จะพัก แต่ไม่ใช่ขี้เกียจนะ ถ้าเรารู้สึกขี้เกียจแต่ค่าทุกอย่างบอกว่าร่างกายเราพร้อม เราก็ต้องออกไปซ้อม การเป็นทีมชาติก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ผลักเราออกไปซ้อม มันต้องเป๊ะที่สุด ในเมื่อเราได้รับเกียรตินั้นแล้วก็ต้องทำเต็มที่ จะไม่มีข้ออ้างเลย

“การไปแข่งรอบนี้คงไปทำโอกาสที่ได้รับนี้ให้ดีที่สุด เต็มความสามารถ”

โทลจะลงแข่งขันในรายการ IAU 100 km World Championships ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ในวันที่ 27 สิงหาคม 2565 เวลา 11.30 น. ตามเวลาประเทศไทย

Tollmahawk : วิ่ง 100 km แรกในชีวิต เรืองยศ มหาวรมากร สร้างสถิติใหม่จนติดทีมชาติไทย

Writer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์