ญี่ปุ่นเขียนการ์ตูนกีฬาสนุก เข้มข้น เร้าอารมณ์ผู้อ่านด้วยภาพสองมิติได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แต่ย้อนกลับไปในอดีตอันแสนไกล ญี่ปุ่นผู้เป็นเจ้าภาพงานกีฬาโอลิมปิกถึง 2 ครั้งเคยเป็นประเทศที่ไม่รู้จัก ‘ความสนุก’ ของกีฬามาก่อน

สมัยก่อนกีฬาญี่ปุ่นมักจะผันตัวมาจากศิลปะการต่อสู้ มีความเป็นศิลปะและส่วนหนึ่งของพิธีกรรมมากกว่าการละเล่น เช่น การแข่งยิงธนู-การฆ่าเวลาของพวกขุนนางและซามูไร การชักเย่อ-การเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตทางการเกษตรหรือการประมง

ในสมัยเอโดะ กีฬาเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น แต่กีฬาของขุนนาง ซามูไร และชาวบ้าน ยังแบ่งแยกกันค่อนข้างชัดเจนและเกี่ยวข้องกับการพนันอยู่ไม่น้อย จนกระทั่งสมัยเมจิที่มีชาวต่างชาติเข้ามาเผยแผ่ความรู้และวัฒนธรรมต่างๆ ในญี่ปุ่น พวกเขาไม่ได้มาสอนแค่ภาษา แต่สอนกีฬาต่างๆ อย่างกรีฑา คริกเก็ต ฟุตบอลด้วย แต่นั่นก็ยังไม่ส่งผลในวงกว้างมากนัก

ญี่ปุ่นได้สัมผัสการกีฬาสมัยใหม่แบบจริงๆ จังๆ ก็ตอนที่ จิโกโร คาโน (Jigoro Kano) ผู้คิดค้นกีฬายูโดได้รับคำชวนให้ร่วมเป็นกรรมการใน International Olympic Committee (IOC) เมื่อปี 1909 จิโกโร่ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยและครูใหญ่ในโรงเรียนมัธยมจึงผลักดันให้กีฬาแพร่หลายด้วยการบรรจุกีฬาสมัยใหม่ต่างๆ ลงในหลักสูตรโรงเรียน และตั้งสมาคมกีฬาสมัครเล่นญี่ปุ่น

จิโกโร คาโน (Jigoro
จิโกโร คาโน (Jigoro
จิโกโร คาโน บิดาแห่งการศึกษาและบิดาแห่งโอลิมปิกของญี่ปุ่น

และแล้วญี่ปุ่นก็ได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1912 แต่ก็กลับบ้านมือเปล่าแบบเงียบๆ งงๆ 8 ปีผ่านไป อิชิยะ คุมากาเอะ (Ichiya Kumagae) นักเทนนิสหนุ่มดาวรุ่งถึงตีไข่แตก คว้าเหรียญเงินได้จากการแข่งขันประเภทเดี่ยวและคู่ในปี 1920

โอลิมปิก 1912
ญี่ปุ่นเข้าร่วมโอลิมปิกครั้งแรกที่สตอกโฮล์มในปี 1912
อิชิยะ คุมากาเอะ
อิชิยะ คุมากาเอะ
อิชิยะ คุมากาเอะ

นั่นคือครั้งแรกที่ญี่ปุ่นได้เหรียญจากการแข่งขันโอลิมปิก เป็นครั้งแรกที่พวกเขามีความหวังว่าจะชนะเหรียญทอง และอาจจะเป็นครั้งแรกที่คนดูทั้งประเทศเข้าใจความสนุกของการแข่งขันกีฬา

สิ่งที่ญี่ปุ่นเรียนรู้ต่อจากความสนุกคือ ‘ความพยายาม’ ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ญี่ปุ่นเหมือนจุดไฟติด มุ่งสร้างชื่อในเวทีระดับโลกด้วยกีฬาที่ไม่ค่อยจะญี่ปุ่น ด้วยวิธีที่แสนจะญี่ปุ่น

เราขอยก 3 กีฬาที่สะท้อนให้เห็นถึงห่วงโซ่สามัคคีที่ถ่ายทอดวิชาและพลังใจกันมาเกือบ 100 ปี

‘วิ่ง’ เบิกทาง

ในปี 1912 ยาฮิโกะ มิชิมะ (Yahiko Mishima) และ ชิโซ คานากุริ (Shizo Kanaguri) สองนักกรีฑาหนุ่มคือคู่ดูโอ Sprinter และ Marathoner ผู้เสียสละพาญี่ปุ่นไปเดบิวต์ในโอลิมปิกที่สตอกโฮล์ม

ที่บอกว่า ‘เสียสละ’ เพราะมันช่างเป็นการเดินทางที่เต็มไปด้วยความกดดันและความไม่รู้จนน่าหวาดหวั่น

หนึ่ง ไม่รู้จักโอลิมปิก สมัยนั้นการแข่งขันโอลิมปิกเพิ่งเริ่มได้ไม่นานและยังไม่แพร่หลายในเอเชีย ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องไปเจอกับอะไรบ้าง

สอง ไม่รู้วิชา นักกีฬาทั้งสองยังไม่มีประสบการณ์การแข่งขันในระดับนานาชาติ แม้แต่วิธีวิ่งออกตัวยังมาเรียนเอาปีที่ต้องไปแข่งโดยให้เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาช่วยสอนให้

สาม ไม่รู้จะรอดไหม การเดินทางไปยุโรปนั้นแสนลำบาก ต้องนั่งเรือต่อรถไฟซึ่งใช้เวลาเกือบ 3 สัปดาห์ นอกจากจะไม่ได้ซ้อมในช่วงเวลานั้น การเดินทางคงสร้างภาระให้ร่างกายไม่น้อย เจ้าหน้าที่ที่เดินทางไปด้วยกันถึงกับล้มป่วยและเสียชีวิตในที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่ยาฮิโกะและชิโซจะสร้างผลงานที่ดีไม่ได้ ยาฮิโกะบาดเจ็บ ไม่ได้ลงแข่ง ส่วนชิโซเป็นลมกลางทางและได้ชาวบ้านแถวนั้นช่วยไว้ แต่ก็วิ่งมาราธอนไม่จบอยู่ดี เขารู้สึกแย่มากจึงเดินทางกลับญี่ปุ่นเงียบๆ โดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้จัดการแข่งขัน

ทั้งสองพกความคับแค้นใจและประสบการณ์กลับมาพัฒนาวงการกีฬาของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิโซมุ่งมั่นปั้นนักกีฬาวิ่งระยะไกลอย่างมาก เขาเป็นผู้ก่อตั้งการแข่งวิ่งผลัดชื่อดัง Hakone Ekiden และได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘บิดาแห่งการวิ่งมาราธอน’ ญี่ปุ่นเลยทีเดียว

เวลาผ่านไปสิบกว่าปี ในที่สุด มิกิโอะ โอดะ (Mikio Oda) ก็คว้าเหรียญทองเหรียญแรกให้ญี่ปุ่นมาได้จากการแข่งเขย่งก้าวกระโดด (Triple Jump) ในปี 1928 ซึ่งญี่ปุ่นก็คว้าเหรียญทองจากกีฬาชนิดนี้ได้อีก 2 ครั้งติดกัน

นอกจากมิกิโอะ ในปี 1928 คินุเอะ ฮิโตมิ (Kinue Hitomi) ผู้หญิงญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกก็นำเหรียญเงินกลับบ้านจากการวิ่ง 800 เมตรด้วยเช่นกัน เรื่องราวของเธอถูกถ่ายทอดเป็นหนังสือหลายเล่มและสร้างแรงบันดาลใจให้นักกีฬาหญิงอีกจำนวนมาก จากวันนั้นถึงวันนี้ ญี่ปุ่นยังคงทำอันดับได้ดีและได้เหรียญกลับบ้านจากการวิ่งมาราธอนและวิ่งผลัดอยู่เรื่อยๆ

มิกิโอะ โอดะ
มิกิโอะ โอดะ ผู้คว้าเหรียญทองให้ญี่ปุ่นจากเขย่งก้าวกระโดด
นุเอะ ฮิโตมิ
นุเอะ ฮิโตมิ
คินุเอะ ฮิโตมิ (เสื้อหมายเลข 265) นักกีฬาหญิงคนแรกของญี่ปุ่นที่ได้เหรียญเงินจากการแข่งขันโอลิมปิก

ส่วนชิโซเอง หลังจากวางรากฐานให้นักกีฬารุ่นหลังเสร็จก็ได้จบตำนานของรุ่นบุกเบิกอย่างน่าประทับใจ

50 ปีหลังจากการแข่งขันที่สตอกโฮล์ม ทางสวีเดนที่นึกว่าชิโซหายตัวไปมาตลอดก็พบว่าเขากลับมาอาศัยอยู่ที่ญี่ปุ่นและสร้างคุณประโยชน์ให้วงการกรีฑาญี่ปุ่นมากมาย ชิโซจึงได้รับเชิญมาสตอกโฮล์มอีกครั้งเพื่อวิ่งให้จบ เขาจึงกลายเป็นบิดาแห่งมาราธอนญี่ปุ่น เจ้าของสถิติวิ่งนานที่สุดในโลกด้วยเวลา 54 ปี 8 เดือน 6 วัน 5 ชั่วโมง 32 นาที

ชิโซ คานากุริ
ชิโซ คานากุริ
ชิโซ คานากุริ สร้างสถิติวิ่งมาราธอนที่นานที่สุดในโลก

‘ว่าย’ เพื่อพลังหญิง

พูดถึงกีฬาว่ายน้ำ เราอาจจะนึกถึงฉลามหนุ่มผู้ขยันทำลายสถิติโลกอย่าง โคสุเกะ คิตาจิมะ (Kosuke Kitajima) เจ้าของ 4 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดงจากโอลิมปิกปี 2004, 2008 และ 2012

โคสุเกะ คิตาจิมะ
โคสุเกะ คิตาจิมะ
ฉลามหนุ่ม โคสุเกะ คิตาจิมะ

แต่นักกีฬาว่ายน้ำผู้เปิดตำนานเจ้าสระให้ญี่ปุ่นจริงๆ แล้วคือเงือกสาว ฮิเดโกะ มาเอฮะตะ (Hideko Maehata) ต่างหาก

ฮิเดโกะคว้าเหรียญทองจากกีฬาว่ายน้ำครั้งแรกให้ญี่ปุ่นในปี 1936 ที่เบอร์ลิน และเธอยังเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกที่ได้เหรียญทองด้วย

เงือกสาวผู้ถนัดท่ากบเคยได้เหรียญเงินมาแล้วจากโอลิมปิกปี 1932 ครั้งนั้นเธอแพ้ที่หนึ่งเพียง 0.1 วินาที แต่นั่นก็เป็นสถิติที่ดีมากพอให้ฮิเดโกะพอใจและอำลาสระไปแต่งงาน เพราะสมัยนั้นผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้เป็นแม่บ้าน ฝึกทักษะเย็บปักถักร้อยมากกว่า ฮิเดโกะเองก็เคยออกมาเล่าว่า การเป็นนักกีฬาว่ายน้ำหญิงสมัยนั้นลำบากมาก

แต่แล้วเธอก็ตัดสินใจฝ่าค่านิยมของสังคม กลับมาพยายามอีกครั้งด้วยคำถามที่เรียบง่ายจากผู้ใหญ่ในวงการ “แพ้แค่ 0.1 วินาที ไม่เจ็บใจเหรอ”

ช่วงเก็บตัวซ้อมแก้มือ ฮิเดโกะซ้อมว่ายน้ำวันละ 20,000 เมตร และทำลายสถิติโลกได้ถึง 3 ครั้งจากการว่ายท่ากบ 200 เมตร 400 เมตร 500 เมตร ก่อนจะกลับมาคว้าเหรียญทองอย่างสง่างามในปี 1936 นอกจากนี้ เธอยังได้รับเลือกให้เป็น Honor Swimmer ในปี 1979 ด้วย ฮิเดโกะบอกว่า “ฉันอยากสนับสนุนให้ผู้หญิงว่ายน้ำ มันเป็นกีฬาที่ดีและช่วยให้เราเป็นแม่ที่แข็งแกร่งในอนาคตด้วย”

ถึงแม้ญี่ปุ่นจะต้องรอถึง 36 ปีกว่าจะมีเงือกสาวพาเหรียญทองกลับบ้านอีกครั้ง แต่ฮิเดโกะก็ช่วยส่งเสริมให้ชีวิตนักกีฬาว่ายน้ำหญิงในสังคมญี่ปุ่นอยู่ง่ายขึ้นไม่น้อยทีเดียว

ฮิเดโกะ มาเอฮะตะ
ฮิเดโกะ มาเอฮะตะ
เงือกสาว ฮิเดโกะ มาเอฮะตะ

‘ยิมนาสติก’ สร้างซูเปอร์แมน

ยิมนาสติกก็ถือเป็นกีฬาที่ญี่ปุ่นทำได้ดีและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ญี่ปุ่นร่วมแข่งยิมนาสติกครั้งแรกในปี 1932 และได้ที่ 5

เหมือนจะเริ่มต้นได้ดี แต่จริงๆ แล้วแข่งกันแค่ 5 ทีม…

เสียหน้าแค่ไหนไม่รู้ แต่ญี่ปุ่นสู้ไม่ถอย และทำอันดับได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น ที่ 9 จาก 13 ในครั้งถัดมา และที่ 5 จาก 23 ในปี 1952 ในที่สุด ทาคาชิ โอโนะ (Takashi Ono) เจ้าชายแห่งวงการยิมนาสติกก็ล้างอายให้ญี่ปุ่นได้สำเร็จในปี 1956 ด้วย 1 เหรียญทองและ 3 เงิน

ทาคาชิ โอโนะ, ยิมนาสติก
ทาคาชิ โอโนะ
ทาคาชิ โอโนะ นักยิมนาสติกชายผู้กลายเป็นตำนาน

ทาคาชิแจ้งเกิดในฐานะซุป’ตาร์วงการยิมนาสติกโลกด้วยการกวาดเหรียญกลับบ้านเป็นกอบเป็นกำที่โอลิมปิกปี 1960 ตอนนั้นญี่ปุ่นได้ไป 18 เหรียญ ซึ่งมาจากกีฬายิมนาสติกทั้งหมดและเป็นผลงานของทาคาชิคนเดียวถึง 6 เหรียญ เขาพาทีมคว้าเหรียญทองอีกครั้งในปี 1964 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ก่อนจะแขวนห่วงตลอดช่วงชีวิตนักกีฬาของเขา ทาคาชิคว้าตำแหน่งแชมป์โลกมาได้ถึง 20 รายการ

ชีวิตหลังจากนั้นเขาเลือกที่จะเปิด ‘สปอร์ตคลับ’

ความเป็นเซเลบวงการกีฬาของทาคาชิทำให้การเปิดสปอร์ตคลับในญี่ปุ่นบูมขึ้นมา และวัฒนธรรมสปอร์ตคลับนี้เองที่สร้างนักยิมนาสติกและนักว่ายน้ำให้ญี่ปุ่นมากมายในภายหลัง รวมไปถึงนักกีฬาที่ทั่วโลกต่างยกย่องให้เป็นตัวท็อปตลอดกาลอย่าง โคเฮ อุจิมุระ (Kohei Uchimura)

โคเฮเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่ทำธุรกิจสปอร์ตคลับ เขาเริ่มเล่นยิมนาสติกมาตั้งแต่ 3 ขวบ โคเฮในวัยมัธยมปลายได้ดูการแข่งขันยิมนาสติกปี 2004 ซึ่งญี่ปุ่นคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งหลังผ่านไป 28 ปี นักยิมนาสติกเจ้าของฉายาซูเปอร์แมนคนนี้ได้รับแรงบันดาลใจเปี่ยมล้นและตั้งเป้าว่าจะไปโอลิมปิกให้ได้

4 ปีต่อมาโคเฮได้ไปโอลิมปิกสมใจและประเดิมด้วยเหรียญเงินทั้งแบบเดี่ยวและกลุ่ม เขาคว้าเหรียญทองได้ในปี 2012 โคเฮเป็นเจ้าของสถิติที่น่าประทับใจมาตั้งแต่ปี 2009 เขาได้ที่ 1 ติดต่อกัน 5 ครั้งในการแข่งขันแชมป์โลก เป็นนักยิมนาสติกคนแรกที่ได้เหรียญทุกครั้งจากการแข่งรวมอุปกรณ์เดี่ยวในโอลิมปิก

แต่การกวาดเหรียญจากโอลิมปิกมากมายทั้งแบบรวมอุปกรณ์ แบบทีม และฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ยังไม่ทำให้เขาพอใจ เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของเขาคือการได้เหรียญทองแบบทีมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ซึ่งเขาเพิ่งทำสำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิกปี 2016 ที่รีโอเดอจาเนโร

“ชนะด้วยกันห้าคน ความดีใจก็เพิ่มขึ้นห้าเท่านะครับ” นักยิมนาสติกหนุ่มเจ้าของฉายาคิง โคเฮ เคยให้สัมภาษณ์ไว้อย่างนั้น

โคเฮ อุจิมุระ
โคเฮ อุจิมุระ นักยิมนาสติกที่ทั่วโลกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักยิมนาสติกยอดเยี่ยมตลอดกาล

ญี่ปุ่นเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาเกือบ 100 ปี ทั้งในฐานะนักกีฬาและเจ้าภาพ จากทีมนักกีฬาตัวเล็กๆ ที่กลับบ้านมือเปล่าอย่างเงียบๆ ค่อยๆ พัฒนาเป็นทีมที่แข็งแกร่งในกีฬาหลายประเภทและสามารถแย่งแสงไฟมาจากประเทศที่คนตัวใหญ่กว่าและมีจำนวนคนเยอะกว่าได้

ในปี 1912 อาจจะไม่มีใครสนใจ แต่ในปี 2020 นี้ญี่ปุ่นจะถูกจับตามองยิ่งกว่าใคร

ถ้าจะต้องสรุปวิวัฒนาการทางกีฬาของญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลจากการแข่งขันโอลิมปิก คงต้องขอยืมคำพูดของมิกิโอะ โอดะ ผู้คว้าเหรียญทองแรกให้กับญี่ปุ่น

“ความพยายามคือพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ