‘United by Emotion’ คำขวัญของ Tokyo Olympic 2020 เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยต้องการสื่อถึงพลังของกีฬาที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน

Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน
Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน
Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน
Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน
ภาพจากคลิป United by Emotion

ทั้งๆ ที่เหลืออีกไม่กี่เดือนจะเข้าสู่ช่วงเวลาที่ทุกคนรอคอยมาตลอด 4 ปี แต่ความรู้สึกที่ทุกคนมีร่วมกันทั่วโลกตอนนี้กลับไม่ใช่ความตื่นเต้น น่าจะเป็นความตื่นกลัวเสียมากกว่า เพราะการแพร่กระจายอันรวดเร็วของไวรัสวายร้าย Covid-19 เชื่อมโยงพวกเราไว้เข้าด้วยกันอย่างเหนียวแน่น 

อย่างที่ทราบกันดี สถานการณ์ในญี่ปุ่นนั้นหนักหนาสาหัสเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นโยบายการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดบนเรือสำราญหละหลวม คนที่ได้รับการปล่อยตัวและเจ้าหน้าที่เองตรวจพบว่าติดเชื้อกันหลายคน ยังไม่รวมผู้ที่ไม่แสดงอาการแต่เป็นพาหะ ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกระจายไปทั่วประเทศแบบหาต้นตอไม่ได้ หน้ากากอนามัย เจลล้างมือต่างๆ ยังคงขาดแคลน แม้รัฐบาลจะอัดฉีดงบประมาณมหาศาลเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากแล้วก็ตาม

คำถามคือ ญี่ปุ่นจะยังจัดโอลิมปิกที่แค่จำนวนนักกีฬาไม่รวมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและผู้ชมจากทั่วโลกก็มากกว่า 10,000 ชีวิตแล้วหรือไม่

คำตอบ (ในตอนนี้) คือ จัด!

ดิก พอนด์ (Dick Pound) หนึ่งในคณะกรรมการของ International Olympic Committee (IOC) ให้สัมภาษณ์ว่า ทาง IOC จะตัดสินใจอีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยดูจากสถานการณ์และให้ World Health Organization เป็นผู้ตัดสินใจเพราะพวกเขาไม่มีความถนัดเรื่องโรคระบาด ในขณะเดียวกันเขาก็เชื่อมั่นว่าญี่ปุ่นและจีนจะทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรับมือวิกฤตนี้

ญี่ปุ่นซึ่งลงทุนไปกับงานนี้แล้วถึง 12.6 พันล้านดอลลาร์ (เท่าที่ยอมบอกออกสื่อ) จะทำอย่างไรบ้างเพื่อกอบกู้สถานการณ์ภายใน 2 เดือนก่อนโดนลงดาบ

13 กุมภาพันธ์ มีประชุมหารือเรื่องการรับมือกับ Covid-19 โดยกำหนดช่องทางการสื่อสาร สร้างเน็ตเวิร์กระหว่างรัฐบาลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อเผยแพร่และสอบถามข้อมูลได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีรายงานสรุปสถานการณ์และมาตรการการรับมือของแต่ละหน่วยงาน เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการท่องเที่ยว กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงต่างประเทศ 

Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน
แผนผังการประสานงานของแต่ละหน่วยงาน
Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน
มาตรการยับยั้งการแพร่กระจายของไวรัสโคโรน่าของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ต่อมามีประกาศของรัฐบาลเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ว่าในช่วง 2 สัปดาห์ต่อไปนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการหยุดการแพร่ระบาด ซึ่งน่าจะมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว รัฐบาลประกาศขอความร่วมมือให้ลด เลื่อน หรือเลิก การชุมนุม งานอีเวนต์ต่างๆ ที่รวมผู้คนจำนวนมาก ส่งผลให้หลายอีเวนต์ยกเลิกหรือเลื่อนไปก่อน เช่น J. League (ฟุตบอล) และ Top League (รักบี้) ประกาศเลื่อนการแข่งขัน W League (การแข่งขันบาสเกตบอลหญิง) งานแฟชั่นโชว์ประกาศเดินแบบไลฟ์สดให้คนชมจากทางบ้าน งานคอนเสิร์ตวง Perfume ที่จัด 2 วันก็โดนขอร้องให้ยกเลิกหลังจัดไปแล้ว 1 วัน แต่ก็มีการแข่งขันบางรายการที่เดินหน้าต่อแบบไม่ให้มีผู้ชม เช่น การแข่งขันเทนนิส Davis Cup รอบชิงชนะเลิศระหว่างญี่ปุ่นกับเอกวาดอร์

จัดการเรื่องการแข่งขันและอีเวนต์ต่างๆ ไปแล้ว ต่อมานายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ขอให้โรงเรียนระดับประถมและมัธยมทั่วประเทศปิดตลอดช่วงปิดเทอมของฤดูใบไม้ผลิ (ส่วนมากจะยาวจนถึงต้นเดือนเมษายน) หลายมหาวิทยาลัยก็เริ่มออกมาตรการต่างๆ เอง เช่น มหาวิทยาลัยวาเซดะ (Waseda University) สั่งยกเลิกพิธีจบการศึกษา (เดือนมีนาคม) และพิธีปฐมนิเทศ (เดือนเมษายน) รวมถึงสั่งเลื่อนกิจกรรมที่รวมผู้คนจำนวนมาก และห้ามใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัย เช่น หอประชุม จัดกิจกรรม 

เลื่อน ลด เลิก เกือบทุกอย่าง แต่การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 26 มีนาคมนี้ ทาง Tokyo Organising Committee of the Olympic and Paralympic Games ยังยืนยันว่า 

“ไม่คิดเรื่องยกเลิกเลยแม้แต่นิดเดียว”

การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกครั้งนี้ใช้เวลาถึง 121 วัน เพราะไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นที่จังหวัดฟุกุชิมะ ลงไปทางใต้จรดโอกินาว่า แล้วตีขึ้นเหนือไปยังฮอกไกโด ก่อนจะกลับมาจบที่โตเกียว แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักคือการอวดของดีวิวเด่นในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉพาะการบอกเล่าถึงความพยายามฟื้นฟูเมืองที่ประสบภัยธรรมชาติครั้งใหญ่อย่างฟุกุชิมะหรือคุมาโมโตะ จึงเป็นที่มาของคอนเซปต์ ‘Hope lights our way’

Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน

ทางคณะกรรมการอาจคิดว่าอุตส่าห์ออกแบบคบเพลิงเป็นรูปทรงดอกซากุระให้สอดคล้องกับช่วงที่วิ่งคบเพลิง จะขอความร่วมมือดอกไม้ให้เลื่อนช่วงที่บานก็ทำไม่ได้ เขาจึงออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัดดำเนินการอย่างรัดกุมแทน

จริงๆ แล้วการวิ่งคบเพลิงญี่ปุ่นน่าสนใจมาก คบเพลิงดีไซน์เป็นดอกซากุระ สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และใช้เทคโนโลยีสุดล้ำสมัยในการขึ้นรูปแบบไร้รอยต่อด้วยแผ่นเหล็กแผ่นเดียว ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการสร้างรถไฟชินคันเซ็น อีกหนึ่งสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันโดดเด่น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) มาก เช่น 30 เปอร์เซ็นต์ของวัสดุที่ใช้ทำคบเพลิงเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งรีไซเคิลมาจากที่อยู่อาศัยชั่วคราวตอนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ค.ศ. 2011 แม้แต่เสื้อผ้าของผู้ถือคบเพลิงก็ทำมาจากเส้นใยที่รีไซเคิลจากขวดพลาสติก ส่วนโลโก้ที่เท่แบบเรียบๆ ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการไล่สีแบบอูกิโยะ (Ukiyo-e) ศิลปะเก่าแก่ที่พิมพ์ภาพด้วยบล็อกไม้

Covid-19 vs Tokyo 2020 ส่องมาตรการสยบไวรัสเพื่อ #savetokyo2020 ภายใน 2 เดือน

ถ้าการวิ่งคบเพลิงกลายเป็นการเผยแพร่โรคภัยมากกว่าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและความตั้งใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย

ในวันเดียวกันกับที่คณะกรรมการให้สัมภาษณ์กับสื่อเพื่อยืนยันว่าจะวิ่งส่องไฟแห่งความหวังทั่วประเทศแน่นอน เขายังประกาศในเว็บไซต์ด้วยว่า จะตัดสินใจเรื่องการจัดงานโอลิมปิกในเดือนกรกฎาคม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของทุกคน และบอกแนวทางในการรับมือกับโรคระบาดนี้ในกรณีที่เดินหน้า Tokyo Olympic 2020 ต่อว่า

  • จะจัดการเรื่องการล้างมือ การกำหนดมารยาทในการไอจามอย่างเข้มงวด 
  • จะจัดเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและที่ล้างมือไว้ตามจุดต่างๆ ให้ทั่วถึง 
  • จะติดต่อให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเตรียมหน้ากากอนามัยกันมาเอง
  • ใครมีไข้ ไอ จาม หรืออาการอื่นๆ จะไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขัน (หรือมาทำงาน)
  • เมื่อรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายในระหว่างที่อยู่ในพื้นที่จัดงาน คนร่วมงานทั่วไปขอให้กลับบ้านทันทีถ้ามีไข้ ส่วนเจ้าหน้าที่ แจ้งหัวหน้าแล้วกลับบ้านได้เลย

อ่านแล้วไม่รู้สึกอุ่นใจเลยแม้แต่น้อย แต่เชื่อว่าถ้าสถานการณ์ไม่สดใส แม้ทางญี่ปุ่นจะยื้อขอจัดตามเดิมแค่ไหน ทาง IOC น่าจะไม่ใจอ่อน เหมือนตอนที่แม้เจ๊ผู้ว่าโตเกียวจะยืนยันออกสื่อหลายรอบว่าไม่ย้าย ย้ายไม่ได้ ฉันเตรียมงานไว้หมดแล้ว แต่ทาง IOC หักดิบย้ายการแข่งวิ่งมาราธอนจากโตเกียวไปซัปโปโร เพราะอากาศช่วงนั้นร้อนมาก อาจเป็นภัยต่อสุขภาพนักกีฬา

ตอนนี้ได้แต่ภาวนาขอให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นในเร็ววัน มาถึงขนาดนี้แล้ว ไม่ใช่แค่ผู้จัด แต่นักกีฬา อาสาสมัคร และคนดูทุกคน ต่างเอาใจช่วยอยากให้ได้จัดงานอย่างสมศักดิ์ศรีแดนอาทิตย์อุทัย ถ้าพวกเรามองเห็นความหวัง ทุกคนย่อมพร้อมสะบัดความกลัวมุ่งหน้าสู่ Tokyo Olympic 2020 ไปด้วยกัน

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ