ในช่วง 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา COVID-19 อาละวาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วจนสั่นสะเทือนแทบทุกวงการ นอกจากความกังวลที่แวะเวียนมาทุกครั้งที่เริ่มเจ็บคอนิดๆ แถมไอหน่อยๆ ว่า ติดรึยัง อีกเรื่องที่ทั่วโลกลุ้นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวญี่ปุ่นก็น่าจะเรื่องจะจัดโอลิมปิกรึเปล่า

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่น้อยลง ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ในยุโรปและอเมริกาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ญี่ปุ่นก็ยังยืนหยัดประกาศเดินหน้าจัดงานอย่างไม่แคร์โควิดมาตลอด ท่ามกลางความกังวลและเสียงคัดค้านของประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกประเทศ

“โอลิมปิกจะต้องเพอร์เฟกต์” นายกอาเบะ ชินโซ เพิ่งย้ำกับสื่อมวลชนไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา

ในที่สุด ช่วงตอนค่ำของวันอังคารที่ 24 มีนาคม นายกอาเบะและประธาน IOC (International Olympic Committee) เห็นพ้องต้องกันว่าควร ‘เลื่อน’ โดยอย่างช้าที่สุดคือจะจัดในช่วงฤดูร้อนปีหน้า

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นกับโอลิมปิกชะตาไม่ต้องกัน ครั้งนี้โดนเลื่อนถือว่ายังดี ย้อนกลับไปแปดสิบกว่าปีก่อนหน้านี้ โอลิมปิกที่ญี่ปุ่นเคยถูก ‘ยกเลิก’ มาแล้ว 

การยกเลิกในครั้งนั้นทำให้เกิดคำว่า ‘โอลิมปิกมายา’ (มะโบะโระชิโนะโอลิมปิก) ซึ่งหมายถึง Tokyo 1940 หรือการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกที่ญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพแต่ไม่ได้จัดนั่นเอง

อาถรรพ์ TOKYO 1940 ถึง TOKYO 2020 ย้อนอดีตประเทศญี่ปุ่นดูโอลิมปิกที่เคยไม่ได้จัด

ความฝันที่กลายเป็นจริงก่อนจะสลายเป็นฟองสบู่

คนที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการคว้าตำแหน่งเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก ค.ศ. 1940 คือ จิโกโร คาโน (Jigoro Kano) ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งโอลิมปิก นอกจากเขาจะคิดค้นกีฬายูโด ก่อตั้งสมาคมนักกีฬาสมัครเล่นญี่ปุ่น เป็นสมาชิกกรรมการ IOC เขายังเป็นคนผลักดันให้ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดงาน ด้วยความหวังให้โอลิมปิกได้มาจัดในทวีปเอเชียบ้าง จะได้เติมเต็มความเป็นตะวันออกให้การแข่งขันระดับนานาชาติซึ่งสมัยนั้นยังมีขับเคลื่อนด้วยชาติตะวันตกเป็นหลัก และกลายเป็นวัฒนธรรมระดับโลกที่แท้จริง

จิโกโรเป็นป๋าดัน แต่คนที่จุดประกายความทะเยอทะยานของประเทศเกาะเล็กๆ ในเอเชียที่ต้องนั่งรถไฟต่อเรือเป็นเดือนไปแข่งขันที่ต่างประเทศคือ ฮิเดะจิโร นากาตะ (Hidejiro Nagata) ผู้ว่าฯ โตเกียวในสมัยนั้น

อาถรรพ์ TOKYO 1940 ถึง TOKYO 2020 ย้อนอดีตประเทศญี่ปุ่นดูโอลิมปิกที่เคยไม่ได้จัด

แม้ญี่ปุ่นได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกตั้งแต่ ค.ศ. 1912 แต่การแข่งขันผ่านไป 3 – 4 ครั้ง ก็ยังแทบไม่มีใครรู้จักประเทศญี่ปุ่นเลยด้วยซ้ำ เพราะผลงานไม่โดดเด่น ได้เหรียญบ้างนิดๆ หน่อยๆ เริ่มสร้างชื่อได้บ้างจากการตีไข่แตก คว้าเหรียญทองเหรียญแรกมาได้ใน ค.ศ. 1928 

ใครจะไปคิดว่า 4 ปีถัดมา ญี่ปุ่นจะแจ้งเกิดในระดับโลกได้อย่างเปรี้ยงปร้าง ด้วยการส่งนักกีฬาไปแข่ง 142 คน และคว้า 18 เหรียญกลับบ้านจากโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิสใน ค.ศ. 1932 ซึ่งเยอะกว่าประเทศอังกฤษด้วยซ้ำ จากประเทศเล็กๆ ทางตะวันออกอันแสนไกล ญี่ปุ่นกลายเป็นที่รู้จัก โลกตะวันตกถึงกับชื่นชมในพัฒนาการ เริ่มมองเห็นศักยภาพ และยกย่องให้เป็นม้ามืดจากเอเชียที่น่ากลัว

ความสำเร็จที่เซอร์ไพรส์ผู้คนทั่วโลกรวมถึงคนญี่ปุ่นเองในครั้งนั้นกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ฮิเดะจิโรกล้าคิดการณ์ใหญ่ จะพาโอลิมปิกไปโตเกียว! 

ฮิเดะจิโรรู้ดีว่าคนที่จะสานฝันเขาให้เป็นจริงได้มีเพียง จิโกโร ชาวญี่ปุ่นเพียงหนึ่งเดียวในคณะกรรมการ IOC แถมยังครองตำแหน่งหลายปี รู้จักหัวใจของโอลิมปิก องค์กร IOC และ อ็องรี เดอ บาแย-ลาตูร์ (Henri de Baillet-Latour) ประธาน IOC ดีกว่าใคร แน่นอนว่าจิโกโรเห็นดีเห็นงามด้วยกับความคิดนี้ และไม่ปล่อยให้กระแสนี้จางหายไปโดยเปล่าประโยชน์ ชายวัย 72 ที่ยังเก๋าและว่องไวเริ่มเดินเกมตั้งแต่ในงานเลี้ยงฉลองวันสุดท้ายของการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิส ซึ่งเขาได้รับเลือกให้พูดสปีชในงาน จิโกโรเริ่มหยอดเรื่องการจัดการแข่งขันในเอเชีย เพื่อสร้างสะพานสู่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของโลกตะวันตกและตะวันออก

อาถรรพ์ TOKYO 1940 ถึง TOKYO 2020 ย้อนอดีตประเทศญี่ปุ่นดูโอลิมปิกที่เคยไม่ได้จัด

ทุกคนมองเห็นความเป็นไปได้

เรื่องราวเหมือนจะไปได้สวย จิโกโรเตรียมข้อมูลเดินสายโน้มน้าวใจคณะกรรมการ จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นพยายามใช้ทางลัด เช่น ยื่นขอเสนอหยุดขายอาวุธให้เอธิโอเปียแลกกับการที่มุสโสลินีถอนโรมออกจากการชิงตำแหน่งเจ้าภาพงาน 1940 ซึ่ง IOC มองว่าญี่ปุ่นมี Hidden Agenda ทางการเมืองซึ่งขัดกับหัวใจของโอลิมปิกที่ต้องการสร้างสันติภาพ

จิโกโรวิ่งรอกแก้ไขความขุ่นเคืองนั้นจนได้ และในที่สุด โตเกียวก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกของทวีปเอเชีย 

อาถรรพ์ TOKYO 1940 ถึง TOKYO 2020 ย้อนอดีตประเทศญี่ปุ่นดูโอลิมปิกที่เคยไม่ได้จัด

จังหวะกำลังดี นักกีฬากำลังฮึกเหิม ชาวเมืองกำลังคึกคัก แต่แล้วรัฐบาลญี่ปุ่นกลับตัดสินใจ ‘ยกเลิก’ การแข่งขันไปใน ค.ศ. 1938 หลังจากได้รับเลือกแค่เพียง 2 ปี เพราะญี่ปุ่นในช่วงนั้นกำลังง่วนกับสงคราม Sino-Japanese War งบประมาณเกินกว่าครึ่งถูกนำไปทุ่มเทให้กับสงคราม 

Legacy ที่จับต้องได้จากโอลิมปิกมายา

นอกจากจะมีโอลิมปิกที่ไม่ได้จัด โตเกียวยังมีสนามกีฬาและหมู่บ้านโอลิมปิกที่ไม่ได้สร้างเป็น Legacy เสริมความมายาอีกอย่างจาก Tokyo 1940 ด้วย

Komazawa Golf Course เคยถูกหมายมั่นปั้นมือให้เป็นสนามกีฬาหลักในการจัดงาน Komazawa Olympic Village แทนการรีโนเวต Meiji Jingu Gaien Stadium ที่สร้างเสร็จ ค.ศ. 1924 และเป็นดาวเด่นมาตลอด สนามกีฬาใหม่ที่ไม่ได้สร้างแห่งนี้จะจุผู้ชมได้ถึง 100,000 คนและเป็นที่แข่งขันกรีฑา ฟุตบอล แฮนด์บอล ขี่ม้า และยิมนาสติก ในความน่าเสียดาย โตเกียวก็ยังได้ความเจริญติดมือมาบ้าง คือ Kachidoki สะพานยกอันแรกของฝั่งตะวันออกนั่นเอง

ส่วนเรื่องงานดีไซน์ ต้องขอบคุณคณะกรรมการโอลิมปิกของโตเกียวที่ขยับตัวไว ชิงจัดประกวดออกแบบโปสเตอร์ก่อนรัฐบาลจะตัดสินใจบุกไปทำสงครามกับประเทศจีน เราจึงมีโอกาสชมอาร์ตเวิร์กสวยๆ จากสมัยนั้น โจทย์ในการออกแบบโปสเตอร์ คือความภาคภูมิใจและความตื่นเต้นของชาวญี่ปุ่นที่จะได้จัดโอลิมปิก มีคนเดาว่าที่โปสเตอร์หลักออกมาดูแนวกรีก เพราะต้องการฉลองความงดงามของร่างกายมนุษย์ด้วยสไตล์คลาสสิคดั้งเดิม

จะว่าบอกว่าสิ่งที่เตรียมเก้อและคั่งค้างไม่มีประโยชน์เลยก็ไม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านั้นก็ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการเตรียมพรีเซนต์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพ จนได้เป็นเจ้าภาพอย่างสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1964 

อาถรรพ์ TOKYO 1940 ถึง TOKYO 2020 ย้อนอดีตประเทศญี่ปุ่นดูโอลิมปิกที่เคยไม่ได้จัด
อาถรรพ์ TOKYO 1940 ถึง TOKYO 2020 ย้อนอดีตประเทศญี่ปุ่นดูโอลิมปิกที่เคยไม่ได้จัด

กลยุทธ์ที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จคือการเน้นเรื่องจิตวิญญาณของโอลิมปิกที่อยู่ประชาชนคนญี่ปุ่นทุกคนแม้จะยังไม่เคยได้เป็นเจ้าภาพสักครั้ง ว่ากันว่าประโยคที่มัดใจกรรมการในตอนนั้นคือ

“จิตวิญญาณของโอลิมปิกถูกเขียนไว้ในหนังสือเรียนของเด็กประถมญี่ปุ่นด้วยซ้ำ พวกเขาจะอยากเห็นโอลิมปิกด้วยตาของตนเองมากแค่ไหนกันนะ” 

โอลิมปิกเกิดขึ้นมาครั้งแรกเพราะ ปีแยร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin) อยากสร้างมิตรภาพ รวมใจคนทั้งโลกให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียวกัน หลังแบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างชัดเจนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 Core Value 3 ประการของโอลิมปิกจึงได้แก่ 

Excellence – การทำให้ดีที่สุดทั้งในการแข่งขันและชีวิตจริง สิ่งสำคัญไม่ใช่ชัยชนะแต่เป็นการมีส่วนร่วม พัฒนาตนเองทั้งทางกายและจิตใจและสามารถรวมทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว 

Respect – ความเคารพตนเอง ร่างกาย คนอื่น กฎกติกาและมารยาทในการแข่งขัน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม

Friendship – หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนโอลิมปิก เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามองเห็นกีฬาเป็นสื่อในการสร้างความเข้าใจระหว่างกันในระดับบุคคลและประเทศ

สถานการณ์ในตอนนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับสงครามโลก เรามีศัตรูคนเดียวกันคือโรคระบาด ซึ่งต้องใช้ทั้ง Excellence Respect Friendship ในการเอาชนะศึกครั้งนี้ การเลื่อนไปจัดการแข่งขันปีหน้าหลังการต่อสู้จบลงถือเป็น Tribute ให้การจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่งดงามมาก เมื่อเทียบกับการดึงดันจัดโดยมองข้ามสุขภาพนักกีฬา กรรมการ คนดู ฯลฯ รวมไปถึงความไม่พร้อมทางอารมณ์และจิตใจของคนส่วนมาก ยิ่งมีหลายชาติออกตัวชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมโอลิมปิกปีนี้แน่ๆ เห็นได้ชัดเลยว่า Tokyo 2020 ขาดทั้ง 3 Core Value 

ถึงแม้จะต้องรอไปอีก 1 ปี เสียค่าใช้จ่ายและสะสางความวุ่นวายต่างๆ นานา แต่ต้องมีครบทั้งสามอย่างนี้ถึงจะเรียกได้ว่าเป็นโอลิมปิกที่เพอร์เฟกต์

อาถรรพ์ TOKYO 1940 ถึง TOKYO 2020 ย้อนอดีตประเทศญี่ปุ่นดูโอลิมปิกที่เคยไม่ได้จัด

ภาพ : theolympians.co และ www.alphabetilately.org

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ