ข่าวคราวก่อนถึงพิธีเปิด Tokyo Olympic 2020 ครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีแต่ปัญหา แม้กระทั่งในช่วงพิธีเปิดก็ยังมีการชุมนุมคััดค้านการจัดอยู่หน้าสนาม

เมื่อมองไปที่งานโฆษณา ซึ่งเกี่ยวข้องกับโอลิมปิกของเหล่าผู้สนับสนุนหลักก็ค่อนข้างเงียบเหงา แล้วบรรยากาศก็หงอยยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อโตโยต้า แบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่อยู่เคียงข้างโอลิมปิกครั้งนี้มาตั้งแต่การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ประกาศข่าวช็อกวงการว่า จะไม่มีการเผยแพร่โฆษณาโตโยต้าในสื่อช่วงโอลิมปิกครั้งนี้ และซีอีโอก็จะไม่เข้าร่วมพิธีเปิดด้วย

เหตุผลหลักก็คือ การจัดโอลิมปิกท่ามกลางโควิด-19 ที่วิกฤตขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่เห็นด้วย ถึงขนาดว่าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง Asahi Shimbun ก็ยังแสดงจุดยืนเรียกร้องให้เลิกจัด โตโยต้าก็เลยเกรงว่า การออกตัวว่าสนับสนุนการจัดการแข่งขันครั้งนี้ จะสร้างความไม่พอใจให้พี่น้องชาวญี่ปุ่น เลยตัดสินใจถอยออกมาหนึ่งก้าว

แต่ถึงอย่างนั้น หลายแบรนด์ที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกหนนี้ในประเทศต่างๆ ก็ทยอยปล่อยแคมเปญโฆษณาเด็ดๆ ออกมา ถึงแม้ว่าจะไม่ฮือฮาเท่าโฆษณาในซูเปอร์โบวล์ แต่โอลิมปิกและพาราลิมปิก 2 ครั้งที่ผ่านมา แบรนด์ใหญ่อย่าง P&G และสถานีโทรทัศน์ Channel 4 ของอังกฤษก็สร้างงานโฆษณาระดับกรังปรีซ์ได้แบบต่อเนื่อง รวมไปถึงงานที่ถือว่าฮือฮามากในปีนี้ด้วย

คอลัมน์ Best AD ตอนนี้ก็เลยขอรวมงานโฆษณาที่เกี่ยวกับ Tokyo Olympic 2020 ที่ผลิตในช่วงปีนี้มาให้ชมกัน ลองไปดูกันว่า ท่ามกลางปัญหามากมายที่เกิดขึ้นทั่วโลก แบรนด์ต่างๆ มองและแสดงท่าทีต่อโอลิมปิกครั้งนี้อย่างไรกันบ้าง

01

What Agnes Saw

The International Olympic Committee

USA

เราเริ่มต้นกันที่งานของผู้จัดอย่าง The International Olympic Committee (IOC) โอลิมปิกรอบนี้ IOC ปล่อยหนังออกมาในแคมเปญ Strong Together งานที่ดูเหมือนจะเป็นตัวหลักคือ What Agnes Saw เป็นการเล่าภาพรวมของโอลิมปิกในรอบศตวรรษที่ผ่านมาผ่านสายตาของ แอกเนส เคเลติ (Agnes Keleti) นักกีฬาโอลิมปิกวัย 100 ปี ซึ่งถือว่ามีอายุมากที่สุด ว่าเธอเห็นอะไรบ้าง แล้วก็มาจบลงตรงเรื่องของ สกาย บราวน์ (Sky Brown) นักสเก็ตบอร์ดชาวสหราชอาณาจักร ผู้เป็นเจ้าของสถิตินักกีฬาโอลิมปิกที่อายุน้อยที่สุด สื่อถึงพลังของเยาวชนที่เปรียบเหมือนแสงไฟ ท่ามกลางความมืดมนของปัญหาซึ่งโลกกำลังเผชิญ

เราเห็นหลายแบรนด์หยิบยืมสไตล์อนิเมะ มาทำแคมเปญในช่วงโตเกียวโอลิมปิก IOC ก็มีเหมือนกัน เป็นการทำซีรีส์อนิเมะประวัติฮีโร่โอลิมปิกสไตล์การ์ตูนญี่ปุ่นที่เราคุ้นเคย ออกมา 4 ตอนแล้ว ไปตามชมกันได้

02

Countdown to the Opening Ceremony for the Olympic Games Tokyo 2020

Tokyo 2020

Japan

ต่อด้วยงานวิดีโอของเจ้าภาพกันบ้าง ถึงวันนี้ (22 ก.ค.) เจ้าภาพยังคงเงียบมาก ไม่ปล่อยสื่อโฆษณาเด็ดๆ ออกมาเลย (รวมไปถึงเหล่าพาร์ตเนอร์เกือบทั้งหมดด้วย) สื่อส่วนใหญ่ที่ผู้จัดปล่อยออกมา เป็นงานเรียบๆ ที่ค่อนข้างเป็นทางการ แต่เราก็แอบเชื่อว่า เจ้าภาพต้องมีของดีซ่อนอยู่ เพราะ 4 วันก่อนงาน เขาเริ่มทยอยปล่อยวิดีโอนับถอยหลังพิธีเปิด เป็นการตัดภาพการเตรียมงานเบื้องหลังที่ถ่าย ตัด และวางดนตรีประกอบได้เท่มาก แต่ปล่อยออกมาได้ 3 วันวิดีโอชุดนี้ก็ถููกถอดออกไป สุดท้ายไม่กี่ชั่วโมงก่อนงาน ก็ถูกตัดต่อใหม่ออกมาแบบนี้ จากนั้นเราคงต้องลุ้นกันต่อว่า หลังจากพิธีเปิดแล้ว จะมีงานอะไรเด็ดๆ มาอวดชาวโลกอีกบ้าง

และเมื่อดูุจากพิธีเปิดแล้ว โชว์ชุุดที่เล่าว่า Tokyo Olympic 1964 เป็นครั้งแรกในโลกที่ให้กำเนิด Pictogram สำหรับโอลิมปิก (สัญลักษณ์มนุษย์ที่ทำท่าเล่นกีฬาต่างๆ)​ ครั้งนี้พวกเขาก็เลยสร้างความฮือฮาด้วยการสร้าง Pictogram แบบสามมิติขึ้นเป็นครั้งแรก แล้วก็เอาทั้ง 50 ประเภทกีฬา มาโชว์ลีลาการเคลื่อนไหวด้วยนัักแสดงในพิธีเปิดแบบรายการ Kasou Taisho ถ้ามีการตัดวิดีโอตัวนี้ออกมา มันจะเป็นตำนานอย่างแน่นอน!

03

Sumo

France.TV

MullenLowe

France

France TV เป็นสถานีโทรทัศน์ช่องแรกที่เปิดตัวหนังโฆษณาถ่ายทอดโอลิมปิก พวกเขาชวนนักวาดภาพประกอบชื่อดัง สเตฟาน เลอวัลลัว (Stéphane Levallois) มาวาดภาพ โดยมีบรมครูอย่าง คัตสึชิกะ โฮกูไซ (Katsushika Hokusai) เป็นต้นแบบ ทั้งสไตล์ และองค์ประกอบของภาพวาดดังๆ จากนั้นก็ทำให้ภาพวาดสไตล์ภาพพิมพ์ญี่ปุ่นโบราณกลายมาเป็นแอนิเมชัน เล่าเรื่องนักซูโม่ที่เดินทางไปทั่วญี่ปุ่น ผ่านการเล่นเซิร์ฟ สเก็ตบอร์ด แล้วก็แวะเล่นกีฬาต่างๆ ไปตลอดทาง ถือเป็นหนังที่ต้องยืนปรบมือให้ในความคราฟต์ เสียดายว่าหนังตัวนี้เปิดตัวได้ไม่เท่าไหร่ ก็โดนหนัง BBC มาขโมยซีนไปจนเกลี้ยง

04

Let’s Go There

BBC

BBC Creative

UK

หนังที่ได้รับคำชมมากที่สุดในตอนนี้คือ งานโปรโมตการถ่ายทอดโอลิมปิกของช่อง BBC ซึ่งดึงเอาสารพัดป๊อปคัลเจอร์แบบโตเกียวมายำรวมกับนักกีฬาของทีมสหราชอาณาจักร รวมไปถึงผู้ประกาศของ BBC ได้เฟี้ยวมาก อาร์ตไดเรกชันชนะขาด ประดังทุกอย่างลงไปได้แน่นและแม่นมาก

05

Super. Human.

Channel 4

4Creative

UK

หลังจากจบโอลิมปิกก็จะเข้าสู่มหกรรมกีฬาพาราลิมปิกกันต่อ จุดเปลี่ยนสำคัญก็คืองาน Meet the Superhumans ของ Channel 4 ผู้ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอด London Paralympic 2012 ในอังกฤษ งานนั้นเล่าเรื่องนักกีฬาพิการได้แปลกใหม่และจับใจ จนคว้ารางวัลกรังปรีซ์ได้จากคานส์ไลออนส์ จากนั้นก็พาราลิมปิกที่ริโอ Channel 4 ก็มีหนังโฆษณาภาคต่อ แต่อาจจะไม่ได้เปรี้ยงปร้างนัก

ปีนี้ Channel 4 กลับมากับหนังในแคมเปญ Super. Human. แนวทางในการเล่ายังเหมือนเดิมคือ พูดถึงชีวิตนักกีฬาพาราลิมปิกทีมสหราชอาณาจักร โดยมองว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง เห็นสาเหตุของปัญหาความพิการ เห็นความทุ่มเทฝึกซ้อมไม่ต่างจากนักกีฬาชั้นยอด และสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือการใช้ชีวิต มีฉากแสบๆ อย่างเจ้าของร้านอาหารที่ไม่แยแสกับการทำพื้นเอียงให้รถวีลแชร์ และช็อตที่เท่ที่สุดในเรื่องคงเป็นตอนจบ ที่บอกทุกอย่างของแคมเปญนี้ได้เป็นอย่างดี

06

Few Seconds Before…

France.TV

MullenLowe Group

France

France TV ก็ทำหนังโฆษณาโปรโมตการถ่ายทอดพาราลิมปิกเช่นกัน หนังเรื่องนี้พูดถึงบรรดานักกีฬาที่เคยได้รับเหรียญทั้งหลาย เช่น ฟันดาบ ไตรกีฬา ยิงปืน กระโดดไกล และฟุตบอล พวกเขาจะกลับมาลงสนามอีกครั้ง เป็นการมองนักกีฬาคนพิการในมุมที่ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากนักกีฬาปกติ

07

Change the Game

Facebook

Droga5

USA

เฟซบุ๊กตั้งใจทำแคมเปญ Change the Game ขึ้นมาเพื่อลงโฆษณาทางช่อง NBC ในระหว่างการถ่ายทอดโอลิมปิก ไม่ต่างจากบรรดาโฆษณาซูเปอร์โบวล์ เฟซบุ๊กเลือกเล่าถึงกีฬาชนิดเดียว นั่นก็คือ สเก็ตบอร์ด (เช่นเดียวกับหนังโฆษณาหลายเรื่อง) เหตุผลสำคัญก็คือ เป็นกีฬาที่เพิ่งบรรจุเข้ามาในโอลิมปิกเป็นครั้งแรก นักกีฬาส่วนใหญ่เป็นเด็ก และเป็นกีฬาที่เป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์แบบสตรีท ซึ่งเป็นที่นิยมไปทั่วโลก

เฟซบุ๊กเล่าถึงชุมชนคนเล่นสเก็ตบอร์ดใน 4 ทวีป และพยายามบอกว่า คนรักสเก็ตบอร์ดทั้งโลกเชื่อมถึงกันผ่านเฟซบุ๊ก และวงการเก็ตบอร์ดพัฒนาขึ้นโดยการมีของเฟซบุ๊กอย่างไร หนังเรื่อง Skate Nation Ghana เล่าเรื่องนักสเก็ตบอร์ดชาวกานาที่หัดเล่นจากการดูวิดีโอ ส่วนเรื่อง No Comply ก็เล่าว่าอินสตาแกรมทำให้นักสเก็ตบอร์ดทั่วโลกแลกเปลี่ยนทริคและแรงบันดาลใจกันได้ยังไง

08

When you play a little, you help our athletes a lot

National Lottery

adam&eveDDB

UK

มาถึงกลุ่มหนังโฆษณาจากแบรนด์ที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของนักกีฬาแต่ละชาติกันบ้าง National Lottery นำเงินที่ได้จากการขายล็อตเตอรี่ไปสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมมากมาย รวมถึงสนับสนุนทัพนักกีฬาสหราชอาณาจักรด้วย หนังที่เล่าด้วยอารมณ์ขันเรื่องนี้ก็เลยแสดงให้เห็นว่า เมื่อนักกีฬาประเภทต่างๆ ออกมาซ้อม เหล่าพี่น้องประชาชนก็แห่กันออกมาช่วยเหลือด้วยวิธีการแบบบ้านๆ แบบเต็มที่ แล้วก็จบลงตรงข้อความที่ว่า ถ้าคุณเล่น (ล็อตเตอรี่) สักเล็กน้อย คุณจะช่วยทัพนักกีฬาของเราได้มหาศาล

09

Birds Eye Green Cuisine Proud to Power Team GB

Birds Eye

Elvis

UK

ความน่าสนใจของหนังเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวความคิดสร้างสรรค์หรือโปรดักชัน แต่มันทำให้ได้เห็นวิธีคิดที่น่าสนใจของแบรนด์ นั่นก็คือ การที่ Bird Eye ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร Plant-based เข้าเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการให้ทีมนักกีฬาสหราชอาณาจักร โดยเรื่องนี้มีพรีเซนเตอร์เป็น ลาเวีย นีลเซน (Laviai Nielsen) นักวิ่งหญิงที่อยากจะข้ามขีดจำกัดของตัวเอง Bird Eye ก็จะส่งพลัง (โปรตีนจากพืช) ให้เธอพิชิตเป้าหมายนี้ให้ได้

10

Time To Let Yourself Fly

United

USA

ข้ามฝั่งมาที่อเมริกากันบ้าง United เป็นสายการบินผู้สนับสนุนการพาทัพนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกของอเมริกาเดินทางไปแข่งขันมาตลอด 40 ปี หนังโฆษณาเรื่องนี้ก็สื่อสารเนื้อหาง่ายๆ ว่าพวกเขาพร้อมจะพานักกีฬาบินไปแล้ว แต่ความน่าสนใจในโปรดักชันอันเรียบง่ายที่ถ่ายในโรงเก็บเครื่องบิน โดยมีนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกมาเป็นผู้แสดงก็คือ การบิดความหมายของคำว่า บิน ให้หมายถึงการที่นักกีฬาได้โลดแล่นในสังเวียนการแข่งขัน เพียงแค่นี้โจทย์ที่แสนธรรมดาก็มีเสน่ห์ขึ้นมาได้

11

Thumbs Up Tokyo 2020

Coca-Cola

Ogilvy

India

Coca-Cola เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของโอลิมปิก ที่ประเทศอินเดีย Coca-Cola มีแบรนด์โคล่าที่ชื่อ Thumbs Up พวกเขาเลือกทำแคมเปญโอลิมปิกผ่านแบรนด์นี้ หนังโฆษณาที่ออกมาเป็นการฉลองที่อินเดียเข้าร่วมโอลิมปิกมาครบ 100 ปี เล่าถึงนักกีฬาประเภทต่างๆ และประโยคปลุกเร้าให้ลุกขึ้นมามีความฝัน และสู้เพื่อชัยชนะ ผ่านแคมเปญ #PalatDe ส่งพลังใจให้นักกีฬาทีมชาติ ไปพร้อมๆ กับการให้กำลังใจนักสู้ตัวจริงที่กำลังต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 ด้วย

12

VS

SK-II

Grey

China

SK-II เป็นเครื่องสำอางสัญชาติญี่ปุ่น แต่ก็อยู่ภายใต้เครือ P&G ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของโตเกียวโอลิมปิก SK-II ในจีนก็เลยทำวิดีโอสไตล์อนิเมะญี่ปุ่นออกมา 4 เรื่องในชื่อซีรีส์ VS เพื่อเล่าเรื่องนักกีฬาโอลิมปิกสุภาพสตรีชื่อดัง หลากหลายชนิดกีฬา ซึ่งหลักๆ แล้วเป็นนักกีฬาชาวจีนและญี่ปุ่น ทั้งกีฬาเดี่ยวแบบว่ายน้ำ กีฬาคู่แบบแบดมินตัน และกีฬาทีมแบบวอลเลย์บอล เนื้อเรื่องต้องการจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงทุกคน มีพลังเพื่อเปลี่ยนโชคชะตาของตัวเอง

13

Love Leads to Good

P&G

Wieden+Kennedy

USA

P&G ทำให้การเข้ามาเป็นสปอนเซอร์โอลิมปิกของกลุ่มสินค้าสำหรับแม่บ้าน กลายเป็นสิ่งที่ลงตัวมากได้อย่างไม่น่าเชื่อ เริ่มจากหนังโฆษณาเรื่อง Best Job ในลอนดอนโอลิมปิก ต่อด้วย Thank You Mom ในริโอโอลิมปิก เนื้อหานั้นใกล้เคียงกัน คือพูดถึงเบื้องหลังความสำเร็จของนักกีฬาโอลิมปิก ว่ามาจากความรัก ความเข้าใจ และการดูแลของคุณแม่ คนที่พาไปซ้อม พาไปแข่ง ปลอบหลังพ่ายแพ้ ก็แม่ทั้งนั้น และเมื่อนักกีฬาคว้าเหรียญมาได้ คนที่น้ำตาไหลด้วยความดีใจ ก็ไม่ใช่ใครนอกจากแม่ 

หนังโฆษณาเรื่อง Love Leads to Good สำหรับโตเกียวโอลิมปิกยังอยู่บนแนวคิดนี้ เพียงแต่ไปอยู่ในแคมเปญใหญ่ในปีนี้ของ P&G อีกที ชื่อ Lead with Love ที่บอกว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับความรู้สึก 8 อย่าง แต่อยากให้เราใช้ความรักเป็นตัวนำ

14

Best Day Ever

Nike

Wieden+Kennedy

USA

ไนกี้ปล่อยหนังโฆษณาเรื่อง Best Day Ever ออกมาในช่วงโอลิมปิกนี้ ภายในแคมเปญใหญ่ Play New เรื่องนี้เล่าถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวงการกีฬาโลก ทั้งผู้หญิงที่วิ่งได้ต่ำกว่า 10 วินาที นักเทนนิสบนวีลแชร์ที่มีสปอนเซอร์เซ็นสัญญาเอาชื่อไปทำเกมคอมพิวเตอร์ หรือการได้ประกาศต่อผู้นำทั่วโลกว่า กีฬา ถือเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง แล้วก็สรุปว่า พรุ่งนี้อาจจะเป็นวันที่ดีที่สุดของวงการกีฬาก็ได้ ถ้าเราจินตนาการถึงมัน โดยสื่อสารแบบอ้อมๆ ว่า ไนกี้จะเอาเทคโนโลยีและแรงบันดาลใจ มาช่วยให้นักกีฬาทุกคนก้าวไปสู่ศักยภาพใหม่ของมนุษย์ เพื่อให้ความฝันทุกสิ่งเป็นจริงได้

15

Start Your Impossible

Toyota Global

USA

ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นหนังโฆษณาโตโยต้าเรื่องใหม่ที่ทำมาเพื่อฉายในโอลิมปิกหนนี้ แต่ก็ขอเดาว่าน่าจะไปในแนวทางเดียวกับที่ Toyota Global ทำเมื่อปีที่ผ่านมา นั่นก็คือทำภายใต้แคมเปญใหญ่ Start Your Impossible เป็นเรื่องของนักยิมนาสติกชาวเม็กซิโกคนแรกที่คว้าเหรียญโอลิมปิกได้สำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ทำออกมาในรสชาติแบบอินเตอร์ ถ้าเป็นเวอร์ชันแบบญี่ปุ่น เราอาจจะได้เห็นอะไรที่สนุกกว่านี้ก็เป็นได้

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป