“เหลืออีกไม่ถึงสามร้อยวัน การแข่งขันกีฬา Tokyo Olympic 2020 จะเริ่มต้นขึ้นแล้ว”

พอได้รับเมลที่จั่วหัวมาแบบนี้ เราก็อดตื่นเต้นไปด้วยไม่ได้ ลองคำนวณดูดีๆ ก็อีกตั้งเกือบปี แต่ที่ญี่ปุ่นเขาเริ่มคึกคัก มีงานนิทรรศการ อีเวนต์ รายการโทรทัศน์ และสินค้าต่างๆ ให้ทยอยเสพและสะสมมาสักระยะ (ใหญ่มาก) ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ Tokyo 2020 จะเห็นว่าเขากำลังเคานต์ดาวน์กันหลักวินาทีเลยทีเดียว

แม้ Tokyo Olympic 2020 คือการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างดูฮึกเหิมเต็มที่ หันไปทางไหนก็เจอการก่อสร้างปรับปรุงอาคาร สนามกีฬา ถนนหนทางต่างๆ ชาวบ้านชาวช่องก็ตอบรับทุกอีเวนต์อย่างกระตือรือร้น เสียดายที่เราไม่มีโอกาสสำรวจบรรยากาศเมื่อ 56 ปีก่อนด้วยตนเองแบบนี้ แต่เชื่อว่าน่าจะลุยกันสุดหัวใจ เพราะสำหรับญี่ปุ่น Tokyo Olympic 1964 คือโอกาสสำคัญในการรีแบรนด์ภาพลักษณ์ของประเทศ หลังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945

เมื่อเป้าหมายที่ใฝ่ฝันซับซ้อนเกินกว่าชัยชนะและมิตรภาพ Tokyo Olympic 1964 จึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของญี่ปุ่นในหลายๆ แง่มุม เราขอยืมไทม์แมชชีนของโดราเอมอน Special Ambassador ของ Tokyo 2020 ย้อนอดีตไปดูว่า นอกจากจะเป็นการจัดการแข่งขันในเอเชียครั้งแรกและเป็นครั้งสุดท้ายที่กรรมการจับเวลาแบบ Hand Timing โตเกียวโอลิมปิก 1964 มอบอะไรให้ญี่ปุ่นบ้างดีกว่า

Global Identity คอนนิจิวะ

ว่ากันตามตรง ด้วยสถานภาพประเทศแพ้สงคราม ญี่ปุ่นในตอนนั้นทั้งจนและไม่มีคนรัก การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคือโอกาสทองในการประชาสัมพันธ์ให้ชาวโลกรับรู้ว่า ฉันเปลี่ยนไปแล้ว! ฉันเป็นประเทศที่ทันสมัย เป็นมิตร และรักสันติภาพนะ!

วิธีนี้ญี่ปุ่นไม่ได้ใช้อยู่คนเดียว เพื่อนร่วมรบอย่างอิตาลีและเยอรมนีก็เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกหลังสงครามสิ้นสุดลงเช่นเดียวกัน แต่ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่กวาดรางวัลจากการจัดงานมาได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ The Olympic Cup, The Count Alberto Bonacossa Trophy ซึ่งอธิบายง่ายๆ คือเป็นรางวัลที่มอบให้หน่วยงานและองค์กรที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาโอลิมปิก และ The Olympic Diploma of Merit รางวัลที่มอบให้แก่คนสร้างผลงานโดดเด่นด้านกีฬาหรือส่งเสริมโอลิมปิก ซึ่ง Kon Ichikawa ผู้กำกับดัง ชนะใจกรรมการด้วยผลงานสารคดีสร้างชื่ออย่าง Tokyo Olympiad ที่เล่าเรื่องราวของนักกีฬา

ไม่รู้ว่าตอนนั้นชาวโลกจะเริ่มมองญี่ปุ่นในแง่ดีขึ้นหรือยัง แต่พูดได้ว่าความสามารถในการจัดการเป็นที่ยอมรับในระดับโลกตั้งแต่ตอนนั้น

ความทันสมัยก็มา

เอาล่ะ เมื่อเป้าหมายคือการประกาศให้ชาวโลกรับรู้ถึงความเจริญของเรา สิ่งที่สื่อสารได้ง่ายที่สุดคือ โครงสร้างพื้นฐานของเมือง

ว่ากันว่าญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 282 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการจัดงานครั้งนี้ (แต่ข่าวเม้าบอกว่า จริงๆ ทุ่มเงินไปกว่าพันล้านแน่ะ) เดาไม่ยากว่าคงหมดไปกับการสร้างสนามกีฬา หมู่บ้านนักกีฬา การพัฒนาถนนและระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ เช่น มีรถไฟสายใหม่ถือกำเนิดขึ้นมากมาย สนามบินฮาเนดะถูกปรับปรุงให้ทันสมัย และที่ต้องร้องกรี๊ดและปรบมือให้รัวๆ คือ ชินคันเซ็น! ซึ่งเริ่มให้บริการเส้นทางจากโตเกียวไปโอซาก้าเพียง 9 วันก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น

พิธีเปิดการเริ่มใช้งานรถไฟชินคันเซ็นที่สถานีโตเกียวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 1964 | ภาพ : www.wsj.com
ภาพ : phys.org

ส่วนสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นในยุคนั้นคือ Yoyogi National Gymnasium ฝีมือของ Kenzo Tange ที่หล่อเกินหน้าเกินตาสนามกีฬาหลักและ Olympic Village นอกเหนือจากเรื่องดีไซน์หลังคาโค้งเท่ๆ ยังมีงานวิจัยที่บอกว่าสถานที่ตั้งของสนามกีฬาโยโยกิยังมีนัยสำคัญทางวัฒนธรรมด้วย เพราะตั้งใจสร้างใกล้กับศาลเจ้า Meiji แห่งฮาราจูกุ ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่ที่สื่อถึงความรักชาติของคนญี่ปุ่น ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ยุคโมเดิร์น เมื่อมองจากใจกลางศาลเจ้าผ่านประตูไปทางทิศใต้ จะเห็นสนามกีฬาแห่งนี้ได้อย่างพอดิบพอดี

Yoyogi National Gymnasium ผลงานออกแบบของ Kenzo Tange | ภาพ : archeyes.com
หอนักกีฬาหญิงใน Olympic Village | ภาพ : theolympians.co

นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องความสะอาด เขาส่งเสริมให้บ้านเมืองสะอาดกริ๊บ ซุมิดะ แม่น้ำสายหลักที่เป็นหน้าตาของกรุงโตเกียวก็ได้รับการฟื้นฟู จากที่เคยสกปรกส่งกลิ่นเหม็น ก็กลายเป็นแม่น้ำใสสะอาดให้นักท่องเที่ยวอย่างเราไปนั่งเรือชมวิว พายแคนูเล่นอย่างรื่นรมย์

เมื่อเนรมิตเมืองใหม่เสร็จแล้ว ชาวญี่ปุ่นเลือกโชว์ของดีให้นานาชาติเห็นแบบเนียนๆ ด้วยการวางรูทการวิ่งคบเพลิงและการแข่งขันมาราธอนที่ผ่านความเจริญที่ว่าทั้งหมด เขาบอกว่า แค่มีสื่อสักเจ้าถ่ายฟุตเทจติดภาพถนนยางมะตอยของทางด่วนที่เพิ่งสร้างใหม่ไปออกทีวีก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว

จัดงานก็ปัง ฮาราจูกุก็ป๊อป

ขอให้ล้างภาพความฮิป คูล ไฮแฟชั่น วัยรุ่นจี๊ดใจของฮาราจูกุในปัจจุบันออกไปก่อน สมัยก่อนนู้น ฮาราจูกุยังเป็นเพียงย่านเงียบสงบที่มีศาลเจ้าเมจิเป็นแลนด์มาร์ก

สืบเนื่องจากข้อที่แล้ว เมื่อสนามแข่งและหมู่บ้านนักกีฬามารวมตัวกันอยู่แถวย่านชิบุยะ ฮาราจูกุ จึงทำให้คนหลั่งไหลมาย่านนี้จำนวนมาก ทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างประเทศ ร้านรวงกรุบกริบก็เริ่มมาเปิดตัวแถวย่านนี้มากมาย ด้วยความหวังว่าจะถูกค้นพบและเป็นที่พูดถึงโดยสื่อหรือคนมีชื่อเสียงสักคนหนึ่ง ยิ่ง NHK สื่อยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น สร้างตึกออฟฟิศใหม่แถวนั้น ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้ย่านนี้ แม้การแข่งขันจบลงไปแล้ว ย่านนี้ก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง ศิลปินหน้าใหม่ไฟแรง ชาวคอสเพลย์ คนชิคสายแฟชั่น เลือกมารวมตัวกันแถวนี้ เพราะเป็นย่านที่มีโอกาสจะได้พบแมวมอง จนในที่สุด ฮาราจูกุก็กลายเป็นแหล่งรวม Subculture ที่โดดเด่นในยุค 90 

ฮาราจูกุในยุค 1970 | ภาพ : www.walkerplus.com

นักกีฬาได้เหรียญ ประเทศได้หน้า ประชาชนได้วันหยุด

พูดถึงแง่กีฬา ญี่ปุ่นในตอนนี้ก็นับได้ว่าแกร่งไม่หยอก ทั้งทีมฟุตบอล สเกตน้ำแข็ง ยูโด ฯลฯ ซึ่งก่อนเป็นเจ้าภาพอาจจะไม่โดดเด่นนัก (แต่ก็ไม่แย่นะ เพราะโอลิมปิก 1960 ญี่ปุ่นกวาดเหรียญทองไป 4 จากทั้งหมด 16 เหรียญที่คว้ามาได้) 

ในปี 1964 มีกีฬา 2 ประเภท ที่ถูกบรรจุเพิ่มคือ ยูโด (ชาย) และวอลเลย์บอล (ชายและหญิง) ซึ่งทีมวอลเลย์บอลหญิงสร้างผลงานได้ดีมาก นอกจากจะคว้าเหรียญทองมาได้ ยังถูกขนานนามว่า ‘แม่มดแห่งตะวันออก’ อีกต่างหาก รวมยอดโอลิมปิกปีนั้น ญี่ปุ่นกวาดเหรียญไปได้ทั้งหมด 29 เหรียญ ซึ่งเป็นเหรียญทองถึง 16 เหรียญ 

หลายคนบอกว่า เพราะเป็นเจ้าภาพไงล่ะ ซึ่งก็คงจริงบางส่วน แต่งบส่วนหนึ่งของเงิน 282 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ถูกนำมาทุ่มอัดฉีดให้นักกีฬาไม่น้อยเหมือนกัน บวกกับพลังความอดทนพยายามแบบเวรี่เจแปนนีสและความกดดันบนบ่าที่ต้องช่วยสร้างชื่อในทางที่ดีให้ประเทศ เราไม่แปลกใจเลยถ้านักกีฬาเหล่านั้นจะยิ่งกระหายชัยชนะและขัดเกลาทักษะของตัวเองมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว

แม้จะมีคำครหาบ้างและหลายคนยังชิงชัง แต่เอาเป็นว่าญี่ปุ่นค่อนข้างแฮปปี้กับผลที่ออกมา จึงประกาศให้วันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันจัดพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเป็นวันหยุดประจำชาติ โดยตั้งชื่อว่า Tai-Iku-No-Hi (แปลง่ายๆ ว่า วันกีฬาหรือวันพละศึกษา) ต่อมาในปี 2000 เปลี่ยนเป็นระบบ Happy Monday โดยใช้ชื่อเดิม แต่ให้หยุดทุกวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคมแทน และพิเศษสุดสำหรับปี 2020 รัฐบาลตัดสินใจเติมความโมเดิร์นให้ไทอิคุโนะฮิ ด้วยการเรียกว่า สปอร์ตเดย์ อย่างเป็นทางการ โดยเลื่อนจากวันจันทร์ที่ 2 ของเดือนมาเป็นวันพิธีเปิดโอลิมปิก 2020 คือวันที่ 24 ก.ค. แทน (เลื่อนวันที่เฉพาะปีหน้า แต่จะเปลี่ยนชื่อเรียกถาวร) ดังนั้น ปีหน้าชาวญี่ปุ่นยิ้มแป้นเลย เพราะจะมีวันหยุดยาวช่วงหน้าร้อน 4 วัน เป็น Silver Week ตั้งแต่ 23 – 26 ก.ค. 2020

Yoshinori Sakai นักวิ่งผู้ถือคบเพลิงคนสุดท้าย เขาได้รับเลือกเพราะเกิดวันที่ 6 ส.ค. 1945 ณ จังหวัดฮิโรชิม่า ซึ่งตรงกับวันที่ระเบิดปรมาณูถูกปล่อยที่นี่ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าญี่ปุ่นได้กลับมาอีกครั้งในฐานะประเทศที่รักสันติภาพ | ภาพ : olympics.nbcsports.com

ถ้ามองในแง่ของการล้างภาพจำในช่วงสงคราม การจัดโอลิมปิกแค่ครั้งเดียวอาจจะยังไม่ได้ผลทันใจขนาดนั้น แต่ถือเป็นก้าวสำคัญให้ญี่ปุ่นรีแบรนด์ได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การเลือกคนวิ่งคบเพลิงจากวันเกิดที่ตรงกับวันที่โดนระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า การใช้ดีไซเนอร์คนเดียวกันออกแบบสนามกีฬาและ Hiroshima Peace Memorial ซึ่งมีดีเทลบางอย่างที่สอดคล้องกัน รวมถึงการผลักดันให้ Hiroshima Peace Memorial เป็นมรดกโลกในปี 1999 (ซึ่งกระบวนการยื่น การอภิปรายต่างๆ ยืดเยื้อหลายปีและมีดราม่าไม่น้อย) ส่วนในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยว ถือว่าเห็นผลชัดและไวกว่า เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจาก 350,000 คน ในปี 1964 ทะลุ 800,000 คน ในปี 1970 เราว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นที่รักของนักท่องเที่ยวยาวนานถึงปัจจุบันก็เพราะความสะดวกสบายในการเดินทางนี่แหละ 

มารอดูกันต่อไปดีกว่าว่า Tokyo Olympic 2020 มีความหมายอย่างไรกับคนญี่ปุ่น ในปัจจุบันที่ภาพลักษณ์เรื่องเทคโนโลยี กีฬา และป๊อปคัลเจอร์ โดดเด่นกว่าภาพจำในอดีต

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ