ใครที่เคยนั่งรถไฟบ่อยๆ หรือระหว่างการรอรถไฟที่ชานชาลาในสถานีตามต่างจังหวัด จะสังเกตเห็นเสาสูงประมาณ 2 เมตร มีโคมไฟและแขนยื่นออกมาขนานไปกับทางรถไฟ ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่ามันคือเสาไฟส่องสว่างบนชานชาลา แต่ทำไมมันถึงมีแค่ 2 เสาเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อรถไฟเข้าออกสถานี ยิ่งเห็นสิ่งที่ทำให้เกิดคำถามหนักเข้าไปใหญ่ เมื่อคนขับรถไฟยื่นตัวออกมาจากหน้าต่างหัวรถจักรแล้วโยนอุปกรณ์หน้าตาเหมือนห่วงลงไปบนเสาแรก แล้วคว้าจากเสาที่ 2 ไปอีก 

เราเชื่อว่ามันเป็นคำถามที่ค้างคาใจหลายๆ คนมานานว่าห่วงนั้นคืออะไร และทำไมต้องคว้ามันไป ทำไมต้องมีมันด้วย

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่ รถไฟไทย

สิ่งนี้เรียกว่า ‘ห่วงทางสะดวก’ หลักฐานชิ้นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและการจัดการเดินรถไฟในพื้นที่ที่ขบวนรถไม่หนาแน่น และไม่ได้ใช้การควบคุมระบบอาณัติสัญญาณด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งถ้าหากรถไฟขบวนไหนไม่ได้ห่วงนี้ไปก็จะไม่มีสิทธิ์ได้เคลื่อนตัวออกจากสถานี ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเดินรถไฟด้วยระบบลูกตราทางสะดวก

ตอนสมบูรณ์

สมมติให้มีสถานีรถไฟอยู่ 2 สถานี คือ A และ B

ระยะทางจากสถานี A ไปสถานี B เราเรียกว่า ‘ตอน’

สถานี A เรียกว่า ‘ต้นตอน’ และสถานี B เรียกว่า ‘ปลายตอน’

การปล่อยรถไฟเข้าไปในตอน ต้องมั่นใจว่าระหว่างทางนั้นไม่มีรถไฟขบวนไหนตกค้าง หรือไม่มีการปล่อยรถสวนเข้ามา ถ้าทุกอย่างเคลียร์ เราเรียกว่า ‘ทางสะดวก’

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

การเดินรถไฟนั้นมีข้อกำหนดว่า ถ้ารถไฟขบวนแรกออกจากสถานี A ไปแล้ว และมีขบวนที่ 2 ตามมา หากขบวนแรกยังไปไม่ถึงสถานี B ซึ่งเป็นปลายตอน จะปล่อยขบวนที่ 2 ออกจากสถานี A ไม่ได้เป็นอันขาด

เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ตอนสมบูรณ์’

รถไฟไทยยึดหลักตอนสมบูรณ์สำหรับการเดินรถไฟมาช้านาน ซึ่งมันเป็นระบบที่ปลอดภัยที่สุดนั่นแหละ แต่ข้อเสียของมันก็คือ ถ้าหากว่าเป็นช่วงสถานีที่ห่างกันมากๆ ขบวนที่ตามมาก็จะต้องรอนานเข้าไปด้วย

วิธีการแก้ปัญหาในยุคนั้น คือการเพิ่มสถานีเข้าไปเพื่อลดความยาวของตอนให้สั้นลงตามจำนวนความหนาแน่นของรถไฟที่วิ่ง เราจะสังเกตได้ว่าทำไมบางสถานีถึงตั้งอยู่กลางทุ่งอย่างอ้างว้างและโดดเดี่ยว ไม่มีบ้านคนให้เห็นในรัศมีรอบสถานีเลยสักหลัง ซึ่งภารกิจของสถานีแบบนี้ไม่ได้เน้นการโดยสารหรอกครับ ถ้ามีคนมาขึ้นก็เหมือนวันนั้นสถานีมีชีวิตขึ้นมาหน่อย แต่ชีวิตจริงๆ คือการเป็นสถานีให้ทางสะดวกกับรถไฟที่วิ่งผ่านไปมาในแต่ละวันนั่นแหละ

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

การที่รถไฟจะผ่านแต่ละสถานีไปจนถึงปลายทางนั้น สถานีทางสะดวกมีหน้าที่ให้และคืนทาง เพื่ออนุญาตให้รถไฟผ่านทุกๆ สถานี โดยระบบที่ใช้ในปัจจุบันมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ไฮเทคที่สุดอย่างการใช้ระบบคอมพิวเตอร์จัดแจงรูทวิ่ง หรือรองลงมาอย่างระบบไฟฟ้ารีเลย์ที่ใช้แผงควบคุม และระบบลูกตราทางสะดวกซึ่งเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติที่มีเสน่ห์ทั้งวิธีการและอุปกรณ์

วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับการจัดการเดินรถไฟด้วยระบบลูกตราทางสะดวกกัน หวังว่าคงตอบคำถามในใจหลายๆ คนได้เป็นอย่างดี ว่าการห้อยโหนของคนขับรถไฟและห่วงในมือของเขามันคืออะไรกันแน่

สามทหารเสือ

อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ขอทาง ให้ทาง และคืนทางกับรถไฟขบวนหนึ่งด้วยระบบลูกตราทางสะดวกนั้น มีด้วยกัน 3 อย่างหลักๆ เป็นสามทหารเสือ นั่นคือ เครื่องตราทางสะดวก ลูกตราทางสะดวก และห่วงทางสะดวก

มาทำความรู้จักกับมันกันก่อน

เครื่องตราทางสะดวก

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

เครื่องตราทางสะดวกเป็นตู้เหล็กขนาดใหญ่เท่าทีวีเครื่องย่อมๆ มีสีเขียวเข้ม ในแต่ละสถานีจะมีอยู่ 2 เครื่อง ใช้ติดต่อกับสถานีก่อนหน้าและสถานีถัดไป โดยการสื่อสารและกลไกต่างๆ เกิดจากระบบไฟฟ้าที่ไหลผ่านสายทองแดง

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

เครื่องทั้งสองถูกจับคู่เป็นฝาแฝดกันกับสถานีที่ต้องการติดต่อสื่อสารด้วย

เครื่องซ้ายจับคู่กับสถานีก่อนหน้า เครื่องขวาจับคู่กับสถานีถัดไป มีชื่อสถานีที่เครื่องนั้นจับคู่อยู่ประดับไว้ด้านบน

ไม่ใช่จับคู่แค่การสื่อสาร แต่ยังรวมถึงหน้าตาของลูกตราทางสะดวก หรือแม้แต่เสียงกระดิ่งที่ดังจากการทำงานของเครื่องด้วย ซึ่งนายสถานีจะสามารถแยกเสียงได้ว่าเครื่องที่จับคู่กับสถานีใดส่งเสียงดังออกมา

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

ด้านหน้าของเครื่องตราทางสะดวกมีมือบิดสีดำ ตรงมือบิดนั้นมีป้ายกำกับสถานะอยู่ 3 อย่าง คือทางปิด ขบวนรถจะถึง และขบวนรถออกแล้ว 

ถ้าให้เราอธิบายง่ายๆ เครื่องตราทางสะดวกมันเหมือนตู้กาชาปอง

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

ลูกตราทางสะดวก

มีเครื่องกาชาปอง ก็ต้องมีลูกกาชาปอง

จริงๆ แล้วแต่ละสถานีจะมีโทรศัพท์ในการสื่อสารถึงกัน แต่มันไม่มีหลักฐานที่เป็นชิ้นเป็นอัน แน่นอนว่าเรื่องความปลอดภัยระดับนี้ต้องมีสิ่งที่สามารถตรวจสอบได้เป็นเครื่องยืนยัน โดยสามารถตรวจสอบได้แม้ในตอนที่เกิดอุบัติเหตุ ลูกตราทางสะดวกจึงทำหน้าที่เป็นหลักฐานการอนุญาตให้รถไฟสามารถออกเดินทางได้

ลูกตราทางสะดวกทำด้วยโลหะ มีทั้งแบบกลมและแบน เนื้อผิวของมันถูกสลักเป็นชื่อสถานีที่เครื่องนั้นถูกจับคู่เอาไว้ พร้อมตัวเลขที่แสดงว่าลูกตรานั้นคือหมายเลขอะไร เอาไว้ตรวจสอบทั้งสถานีต้นตอนและสถานีปลายตอน

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่
ลูกตราทางสะดวกแบบแบนของสถานีอรัญประเทศ-ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก
ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่
ลูกตราทางสะดวกแบบกลม ของสถานีบ้านปิน-ผาคัน

ความพิเศษอีกอย่างของลูกตราทางสะดวกคือรูปร่างของร่องบนตัวลูกตรา ซึ่งหากเป็นลูกกลมจะมีทั้งเป็นเครื่องหมายบวก กากบาท ดอกจัน สี่เหลี่ยม วงกลม ส่วนลูกตราแบนก็จะมีความเว้าของขอบที่แตกต่างกันไป ทำให้ลูกตราไม่สามารถใช้ปนกันได้ แม้แต่จะมั่วนิ่มเอาลูกอื่นมาใส่ก็ไม่ได้

ซึ่งเจ้าลูกตราทางสะดวกก็เหมือนลูกกาชาปองในตู้นั่นเอง

ห่วงทางสะดวก

ห่วงทางสะดวกมีหน้าตาเหมือนกระเป๋าเงินที่มีห่วงกลมๆ ผูกติดเอาไว้ หน้าที่ของมันคือบรรจุลูกตราทางสะดวกลงไปในกระเป๋านั้น และห่วงคือสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนขับรถไฟคว้าไปได้อย่างสะดวก

ห่วงทางสะดวกในบ้านเราเป็นห่วงหวายหุ้มหนัง (ถ้าเป็นรุ่นใหม่ๆ จะใช้ลวดหุ้มหนัง) ซึ่งในแต่ละประเทศนั้นห่วงทางสะดวกมีหน้าตาแตกต่างกัน อย่างในอังกฤษมีรูปร่างคล้ายของบ้านเรามากแต่วัสดุเป็นโลหะ 

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่
ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่
ห่วงทางสะดวกของรถไฟในอังกฤษ (ยังมีใช้งานอยู่) ภาพ : Georg Trüb

เรารู้จักสามทหารเสือกันแล้ว ต่อไปเรามาดูกันว่าเจ้าสามทหารเสือนี้ทำงานกันเป็นทีมยังไงเพื่อให้รถไฟวิ่งไปอีกสถานีหนึ่งได้

ท่องจำขั้นตอนง่ายๆ ตามเรานะ

ขอทาง > ให้ทาง > เดินทาง > คืนทาง

ขอทาง > ให้ทาง > เดินทาง > คืนทาง

ถ้าเป็นการควบคุมการเดินรถไฟด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบมันจะจัดการให้หมดทุกขั้นตอน

แต่กับระบบลูกตราทางสะดวกนั้นไม่ใช่

กระบวนการมันเยอะกว่านั้นมากและต้องอาศัยทีมเวิร์กและการสื่อสารที่จะผิดพลาดไม่ได้ ณ ปัจจุบัน เส้นทางรถไฟที่ยังใช้ระบบลูกตราทางสะดวกอยู่จะไม่ใช่พื้นที่ที่มีรถวิ่งหนาแน่น โดยในเส้นทางหลักนั้น สายเหนือจะเริ่มตั้งแต่สถานีศิลาอาสน์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ไปจนถึงสถานีเชียงใหม่

สายอีสานจะเริ่มเห็นที่สถานีชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา มุ่งหน้าไปทางสถานีอุบลราชธานี และจากสถานีขอนแก่นตลอดถึงสถานีหนองคาย

สายใต้เริ่มเห็นตั้งแต่ชุมพรไปจนสุดทางสุไหงโก-ลก และปาดังเบซาร์

ส่วนสายตะวันออกเริ่มที่สถานีชุมทางคลองสิบเก้า ไปสุดที่สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก

และในทางแยกเส้นสั้นๆ ทุกสายก็ยังใช้ห่วงทางสะดวกอยู่เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสายสุพรรณบุรี สายกาญจนบุรี สายคีรีรัฐนิคม สายกันตัง สายนครศรีธรรมราช และสายสวรรคโลก

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่ รถไฟไทย

ขอทาง ให้ทาง

ติ๊ต่างว่าตอนนี้เราอยู่ที่สถานีบางซื่อ

สถานีก่อนหน้าเราคือสามเสน และสถานีต่อไปคือบางเขน

รถไฟขบวนหนึ่งออกมาจากสถานีกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่สถานีสามเสน และจะวิ่งต่อไปที่สถานีบางซื่อ บางเขน ตามลำดับ

ในตอนนั้นเอง สถานีสามเสนจะใช้เครื่องทางสะดวก ‘เคาะเรียก’ สถานีบางซื่อ โดยการกดลงไปบนมือบิดที่อยู่บนเครื่องเพื่อติดต่อกันเหมือนส่งรหัสมอร์ส จังหวะที่สามเสนเคาะเครื่องทางสะดวกนั้น เครื่องจะส่งสัญญาณไปตามสายทองแดงเกิดเสียง ‘แก๊ง’ ดังขึ้นที่สถานีบางซื่อซึ่งเป็นปลายตอน

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

บางซื่อก็จะรู้โดยทันทีว่าสามเสนเรียกหา เขาเรียกมา จะไม่ตอบก็ไม่ได้ หน้าที่คือต้องส่งสัญญาณกลับไป

หลังจากที่บางซื่อตอบกลับไปแล้ว สามเสนก็เคาะเครื่องขอทางอีกครั้งเพื่อ ‘ขอทาง’ พอบางซื่อได้สัญญาณ ‘ขอ’ ปั๊บ ก็บิดมือหมุนไปจาก ‘ทางปิด’ ไปที่ ‘ขบวนรถจะถึง’ เพื่อ ‘ให้ทาง’ ซึ่งการให้ทางนั้นคือการยืนยันว่าทางระหว่างสามเสนและบางซื่อสะดวก 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสิ่งอันใดขวางกั้นแน่นอน

และในจังหวะเดียวกันนั้น สามเสนก็จะบิดมือหมุนจาก ‘ทางปิด’ ไปที่ ‘ขบวนรถออกแล้ว’ เพื่อปลดล็อกให้ลูกตราทางสะดวกออกมาจากเครื่อง หลังจากที่บางซื่อให้ทางสะดวก

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

เมื่อลูกตราร่วงออกมาจากเครื่องตราทางสะดวก อารมณ์เดียวกับกาชาปองออกมาจากตู้ นายสถานีสามเสนต้องเอาลูกตรานั้นไปให้กับสถานีบางซื่อ

ไม่น่าเชื่อว่ากระบวนการที่ดูซับซ้อนนั้นเกิดขึ้นภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที

เดินทาง

รถไฟต้องรับลูกตราทางสะดวกเพื่อเป็นตั๋วผ่านสถานีไปบางซื่อ เจ้าลูกตราถูกจับยัดลงไปในห่วงทางสะดวก ซึ่งจะปกป้องลูกตราทางสะดวกแบบไข่ในหิน มันถูกแขวนไว้บนเสาตรงชานชาลา รอเวลาที่รถไฟวิ่งผ่านมาและคนขับคว้าไป

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่ รถไฟไทย

เขาบอกว่าคนมีห่วงจะไม่ดี

แต่ถ้ารถไฟมีห่วงอันนี้ดี ปลอดภัย

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่ รถไฟไทย

คนขับรถไฟสามารถมองเห็นห่วงที่แขวนไว้ได้อย่างชัดเจน เขาจะยื่นตัวออกไปนอกหน้าต่างตามสัญชาตญาณ แล้วคว้าห่วงหมับในเวลาไม่กี่วินาที หากกระพริบตาอาจจะพลาดช็อตเด็ดได้

ในขณะที่ลูกตราทางสะดวกกำลังเดินทางอยู่นั้น สถานีบางซื่อก็ต้องขอทางไปสถานีบางเขนโดยใช้วิธีเดียวกับที่สถานีสามเสนเพิ่งขอมาเมื่อสักครู่ และเพื่อความต่อเนื่องของการเดินรถไฟ กระบวนการขอทางทั้งหมดต้องเสร็จก่อนรถไฟไปถึง

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

ตอนนี้รถไฟพร้อมห่วงเดินทางมาถึงบางซื่อแล้ว คนขับจะยื่นตัวออกไปนอกหน้าต่างเพื่อส่งห่วงคืนที่เสาต้นแรก การส่งคืนไม่ค่อยยากเท่าไหร่ แค่กะจังหวะให้พอดีแล้วปล่อยมือ เมื่อส่งเรียบร้อยก็รับห่วงใหม่จากเสาอีกต้น ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงปลายทาง

แต่ถ้าสมมติว่ารถจอดที่สถานี ก็สามารถรับกับมือนายสถานีได้เช่นกัน

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่ รถไฟไทย
ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่ รถไฟไทย

คืนทาง

ห่วงถูกส่งแล้วไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะจบ เพราะสถานะของทางรถไฟระหว่างสามเสนและบางซื่อตอนนี้ ยังเสมือนมีรถไฟถือครองอยู่ เราต้องทำให้ทางกลับไปสู่สภาวะปกติ

บางซื่อจะต้องเอาลูกตรากลับคืนเข้าเครื่อง โดยหย่อนลูกลงไปในช่องหยอดเหนือหัว อารมณ์คล้ายหยอดเรียญลงกระปุกออมสิน พร้อมเคาะสัญญาณกลับไปหาสามเสนเพื่อบอกว่า “รถไฟมาถึงฉันแล้วนะเธอ” เมื่อสามเสนได้ยินสัญญาณเคาะก็จะตอบกลับเพื่อเริ่มกระบวนการสุดท้ายที่เรียกว่า ‘คืนทาง’

บางซื่อกดเครื่องทางสะดวกค้างไว้เพื่อให้สามเสนบิดมือหมุนกลับไปที่ท่า ‘ทางปิด’ เมื่อสามเสนทำเรียบร้อย บางซื่อก็ต้องทำแบบเดียวกัน และกระบวนการคืนทางจะสิ้นสุดเมื่อทั้งเครื่องทางสะดวกทั้งสองสถานีที่จับคู่กันกลับไปสู่ท่า ‘ทางปิด’

เรียบร้อย!

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่

บทสรุป

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันรถไฟไทยจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมเพิ่มมากขึ้น ตามการขยายตัวของรถไฟทางคู่ที่จะต้องมีปริมาณการเดินรถไฟถี่ขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัยและปลอดภัยขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป รวมถึงมีการเพิ่มระบบควบคุมการเดินรถและระบบป้องกันการชนกันของขบวนรถเข้ามาด้วย 

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่
การควบคุมเดินรถของรถไฟไทยยุคใหม่ในโซนทางคู่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และสามารถควบคุมได้จากศูนย์กลาง เรียกว่า CTC

ซึ่งอนาคตของระบบลูกตราทางสะดวกนั้นก็จะเริ่มลดน้อยลงและถูกแทนที่ด้วยระบบที่ทันสมัยขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะหายไปหมด 100 เปอร์เซ็นต์ มันยังคงมีการใช้อยู่ในเส้นทางที่ขบวนรถน้อย เพราะต้นทุนการติดตั้งระบบที่ทันสมัยในเส้นทางที่รถวิ่งน้อยมากๆ นั้นย่อมไม่คุ้มค่าอยู่แล้ว

การใช้ระบบลูกตราทางสะดวกที่ยังคงความปลอดภัยในแบบกึ่งอัตโนมัติก็ทำให้รถไฟเดินทางถึงปลายทางได้อย่างปลอดภัยเช่นเดียวกัน แม้แต่ในต่างประเทศที่ระบบรถไฟล้ำหน้า เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย ไต้หวัน ก็ยังมีเส้นทางสั้นๆ หลายเส้นทางที่ใช้ระบบลูกตราทางสะดวก

ระบบคลาสสิกนั้นไม่มีวันตาย ตราบใดที่มันยังสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ห่วงทางสะดวก ห่วงสัญญาณตามสถานีรถไฟแบบคลาสสิกที่ยังเหลือในยุคการรถไฟฯ โฉมใหม่ รถไฟไทย

อีกนิดอีกหน่อย

  1. เส้นทางที่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดที่จะเห็นการรับ-ส่งห่วงทางสะดวกคือทางรถไฟสายกาญจนบุรี
  2. ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ สถานีกรุงเทพฯ มีเครื่องตราทางสะดวกให้เราลองไปทดสอบเล่นกัน แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่นะ เพราะว่าถ้าบิดผิดจังหวะจะทำให้เครื่องล็อกได้ คิดดูสิว่าของจริงเขาต้องชำนาญขนาดไหนถึงจะใช้ได้
  3. มีคนอาจสงสัยว่าถ้ารับห่วงพลาดแล้วทำไง อ๋อ ถอยหลังกลับมารับใหม่ครับ นี่คือข้อเสียอย่างหนึ่งของระบบลูกตราทางสะดวก แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะความผิดพลาดนั้นมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ