21 มิถุนายน 2019
21 K

The Cloud X การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

หัตถกรรมจักสานนับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของประเทศไทย จากเครื่องจักสานสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ตอนนี้วัสดุสานทอได้รับการดัดแปลงอย่างโก้เก๋ร่วมสมัย พืชหลายชนิดสร้างรายได้ให้หลายชุมชนอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็น กก กระจูด ปอกระเจา และเตยปาหนัน พืชตระกูลปาล์มกอใหญ่ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติพบมากในภาคใต้ ไม่ว่าจะริมหาด ชายทะเลหรือป่าโกงกาง

เราไปจังหวัดตรังเพื่อเรียนรู้กระบวนการจักสานเตยปาหนันตั้งแต่กระบวนการแรกถึงกระบวนการสุดท้าย และสนทนากับ จันทร์เพ็ญ ปูเงิน ทายาทรุ่น 4 ของครอบครัวจักสานเตยปาหนัน ควบตำแหน่งประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรดุหุนสามัคคี ที่มีสมาชิกเป็นกลุ่มผู้หญิงมุสลิมมากถึง 40 คน

ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท

จักสานเตยปาหนันไม่เพียงเป็นการรักษาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเท่านั้น แต่ยังเป็นการบอกเล่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในชุมชนบ้านดุหุน ตลอดจนการส่งต่อความรักจากหัวใจถึงสองมืออย่างแท้จริง

ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท

ตั้งแต่เกิดจนตาย

“เกิดมาเราก็เห็นครอบครัวสานเสื่ออยู่แล้ว”

จันทร์เพ็ญ ทายาทรุ่น 4 ของครอบครัวจักสานเตยปาหนัน อาสาย้อนความสมัยเป็นเด็กหญิงให้เราฟัง เธอบอกว่าสมัยก่อนพื้นบ้านเป็นไม้ไผ่วางเรียงกัน จำเป็นต้องใช้เสื่อปูนอน โดยเสื่อเตยปาหนันยังเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในชุมชนบ้านดุหุนด้วย บางครั้งนำไปรองนั่งเวลาละหมาด ถ้าเสื่อทอลายสวยจะเอาไปให้บ่าวสาวปูเพื่อรับนิกะห์หรือรับขันหมากในพิธีของศาสนาอิสลาม ส่วนทางพิธีกรรมจะใช้เสื่อเตยปาหนันในการรองศพก่อนนำไปฝัง

ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท

“สมัยก่อนคนจะสานเสื่อเตยปาหนันของตัวเองเก็บไว้เสียด้วยซ้ำสำหรับวันที่เขาไม่อยู่แล้ว บางคนกลัวลูกหลานจะเอาอย่างอื่นมารองให้ เขาต้องการเสื่อเตยปาหนันเท่านั้นเหมือนบรรพบุรุษที่เขาเคยเห็น เราเองก็สานไว้บริจาคด้วยบางส่วน เพื่อจะได้ไม่ขลุกขลักเวลามีคนในชุมชนเสียชีวิต เพราะศาสนาอิสลามใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงในการทำพิธีศพ”

ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท
ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท

สานรัก สานเศรษฐกิจ

ย้อนไปยุคคุณปู่คุณย่าของจันทร์เพ็ญ มักสานเตยปาหนันไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ สานเสื่อ สำหรับรองนอนหรือใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม สานเฌอ สำหรับใส่ข้าวเปลือก และสานขมุกยา สำหรับใส่ยาเส้น ใบจาก และเศษสตางค์

ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท
ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท

“การสานเตยปาหนันเป็นการเชื่อมโยงวัฒนธรรมและส่งต่อความรัก อย่างขมุกยา เอาไว้ใส่ยาเส้นหรือใบจาก จะหาซื้อเองไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่คนสานทำให้กับคนในครอบครัวหรือคนรักด้วยความเสน่หาและความปรารถนาดี การรักษาภูมิปัญญาของบรรพชน นอกจากจะเป็นการส่งต่อความรัก ยังเป็นการส่งเสริมรายได้ให้กับผู้หญิงในชุมชนด้วย”

ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท
ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท

ประธานสาวเสริมต่อว่า สมัยคุณแม่ของเธอมีการค้าขายเตยปาหนันจากพ่อค้าชาวอินโดนีเซีย ล่องเรือมาเทียบท่าในทะเลอ่าวสิเกา แล้วขึ้นฝั่งเอาผ้าปาเต๊ะมาแลกกับขมุกยาของชาวบ้านบ้านดุหุน ส่วนพ่อค้าหัวดีเอาขมุกยาไปขายยังประเทศอินโดนีเซีย แลกเปลี่ยนกันอยู่ระยะหนึ่งจนปัจจุบันพ่อค้าแขกไม่ได้มาทำการค้ากับชาวบ้านดุหุนแล้ว

แต่หน่วยงานราชการตาดีเล็งเห็นว่าพืชท้องถิ่นก็สร้างรายได้ให้ชุมชน จึงสนับสนุนการรวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปผลิตภัณฑ์จากของใช้ในครัวเรือน เขยิบมาเป็นกระเป๋าสตรีใบสวยและของฝากสุดน่ารักตามสมัยนิยม

ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท

“เราพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับมูลค่าให้เข้ากับกลุ่มคนรุ่นใหม่ เราอยากให้เขามาสัมผัสว่าเส้นใยของเตยปาหนันสามารถทำเป็นผลิตภัณฑ์อื่นได้นอกจากสานเสื่อเพียงอย่างเดียว ให้เขาใช้แล้วรู้สึกว่าผลิตภัณฑ์ของเราทำให้บุคลิกเขาดูดีขึ้น อย่างน้อยก็เป็นการช่วยลดการใช้วัสดุที่ทำลายสิ่งแวดล้อม”

ทีละเส้น ทีละเส้น

จันทร์เพ็ญเล่าพลางพาเราเดินไปดูต้นเตยปาหนันบริเวณใกล้ชุมชน ลำต้นสูงเป็นกอ ใบเรียวยาวสีเขียว พกหนามริมใบมาด้วย 3 ด้าน ด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหลังตรงกลาง ความพิเศษของเตยปาหนัน บริเวณรากจะมีเดือย เป็นประโยชน์หากขึ้นริมชายหาดเพราะเดือยจอมแข็งแกร่งช่วยลดการกัดเซาะของน้ำทะเลได้บางส่วน

ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท

“การทำเตยปาหนันยากที่สุดคือการเตรียมเส้นใย” เธอบอก

กว่าจะเอาเส้นใยจากใบพร้อมหนามออกมาได้ต้องลิดหนามออกแล้วนำไปลนไฟจนใบนิ่ม จากนั้นใช้เล็บแมวหรือยาหาดมาดึงเส้นใบเพื่อให้ความกว้างของเส้นมีขนาดเท่ากัน แช่น้ำหมักไว้สัก 2 คืน ก่อนจะเอามาตากแห้งจนได้เส้นเตยปาหนันสีขาวคล้ายงาช้าง เอามารีดให้เรียบเพราะใบพืชเมื่อแห้งสนิทจะห่อตัว จากนั้นนำไปสานตามลวดลายได้ทันที

ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท
ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท

หากจะย้อมสี ต้องย้อมร้อนจนสีติดทั่วกันแล้วไปตากจนแห้งสนิท ถึงจะนำไปสานเป็นสารพัดของกุ๊กกิ๊กได้ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์กลุ่มแม่บ้านเกษตรดุหุนสามัคคีคือการย้อมสีแบบมัดย้อม เท่และแปลกตาจนอยากจับจอง! แอบกระซิบเลยว่าถ้านักออกแบบสนใจร่วมงาน พวกเธอยินดีอย่างมากและพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สวยจนต้องสะดุด

ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท
ดุหุนสามัคคี : 40 แม่บ้านมุสลิม จากตรังที่สร้างรายได้จาก เตยปาหนัน ราคา 0 บาท

มรดกชาวดุหุน

“ปัจจุบันเราส่งต่อภูมิปัญญาให้กับเด็กในชุมชนได้เรียนรู้ด้วย ถ้าเป็นเด็กละแวกบ้านเราให้เขามาช่วยงาน พยายามทำให้เขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่บอกเล่าความเป็นบ้านดุหุนของพวกเขา ช่วยกันหวงแหนสิ่งที่แม่ของพวกเขาทำ

ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท

“การทำงานของเราเป็นการส่งต่อความรักจากบรรพบุรุษ เหมือนเป็นมรดกล้ำค่าตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เราพยายามรักษาให้ได้มากที่สุดเพื่อให้คนภายนอกที่เขาไม่เคยรู้จักเตยปาหนันได้รู้จัก ได้ทดลองใช้ แล้วเขาจะเห็นคุณค่าของพืชมีหนาม ว่าความจริงมันก็มีความสวยงามซ่อนอยู่และคนทำก็ทำด้วยความรักจากใจจริง”

การรวมกันของหญิงวัยกระเตาะจนถึงคุณย่ายังสาววัย 80 ในชุนชมบ้านดุหุนพิสูจน์ให้เห็นว่าพลังหญิงมีอยู่จริง!

ดุหุนสามัคคี : แม่บ้านมุสลิม 40 คนจากตรังที่สร้างรายได้จากพืชมีหนามราคา 0 บาท

กลุ่มแม่บ้านเกษตรดุหุนสามัคคี

ที่อยู่ 90/2 หมู่ 3 ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150

ติดต่อ 081 777 5557 (หากสนใจทำกิจกรรมเวิร์กช็อปกรุณาติดต่อล่วงหน้า)

Facebook : PANAE CRAFT

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล