ย้อนกลับไปสิบกว่าปีก่อน วัยรุ่นยุคเว็บบอร์ดและ MSN ไม่มีใครไม่รู้จัก เต้ย-จรินทร์พร จุนเกียรติ เด็กสาวผมม้ารอยยิ้มกว้างสดใส เน็ตไอดอลยุคแรกที่ติดทุกลิสต์สาวน่ารักประจำโรงเรียน 

ปี 2007 ชีวิตของเต้ยเปลี่ยนไปในหลากหลายแง่มุม 

อย่างแรก เธอชนะการประกวด Utip Freshy Idol ปี 2007 ทำให้ชื่อเสียงของเธอเริ่มขยายวงกว้างขึ้น เธอเริ่มรับงานโฆษณา เลือกเรียนต่อปริญญาตรีสาขาการแสดง และโลดแล่นอยู่ในวงการบันเทิงจนถึงทุกวันนี้

อย่างที่สอง เธอเริ่มเรียนดำน้ำลึก (Scuba Diving) จากที่สนใจเรื่องสัตว์ต่างๆ อยู่แล้ว การได้ออกสำรวจโลกอีกใบใต้ท้องทะเล ทำให้เต้ยค้นพบว่าเธออินเรื่องธรรมชาติ และนำมาสู่การร่วมก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย หรือ EEC Thailand (Environmental Education Center) องค์กรเล็กๆ อายุ 5 ปีที่เชื่อว่าความรู้คือการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนที่สุด

บทบาทนักแสดงสาวผู้พิสูจน์ตัวเองด้วยฝีมือคือหมวกใบที่ทุกคนคุ้นเคยของเต้ย แต่น้อยคนจะรู้ว่า หมวกอีกใบที่หญิงสาวคนนี้เลือกสวมใส่อย่างตั้งใจ คือบทบาทการเป็นนักวิจัยและนักอนุรักษ์ ผู้ Take Action เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ถ้าติดตามเต้ยในอินสตาแกรม คงเห็นภาพเธอไปกลับกรุงเทพฯ-พังงา หลายต่อหลายรอบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อย่าเข้าใจผิดว่าเธอไปเที่ยว จริงๆ แล้วเธอลงใต้ไปทำวิจัยเรื่องพฤติกรรมการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองของคนท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นวิทยานิพนธ์ในฐานะนักศึกษาปริญญาโท สาขาสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อมของเธอ 

ปี 2020 เต้ยบอกว่า เป็นปีที่ดี สัตว์ทะเล 4 ชนิด ถูกประกาศให้เป็นสัตว์คุ้มครองในรอบ 27 ปี เต่ามะเฟือง เต่าทะเลใกล้สูญพันธุ์ที่หายากที่สุดในประเทศไทยขึ้นมาวางไข่มากที่สุดในรอบ 20 ปี สิ่งเหล่านี้ชุบชูจิตใจคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อมให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง

ในวัย 30 ปี สำหรับคนที่โตมาพร้อมกับเธอคงรู้สึกใจหาย เวลาช่างผ่านไปไว เต้ยในวันนี้ยังมีรอยยิ้มกว้างสดใสเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือประสบการณ์ชีวิตและทัศนคติที่ไม่ธรรมดาของอดีตเน็ตไอดอลคนนี้ 

01

บทเรียนจากโลกใต้ทะเล

เต้ย จรินทร์พร, EEC, อเล็กซ์, เต่า มะเฟือง

เต้ยดำน้ำมานานมาก เธอบอกว่าเธอชอบทะเลมาตั้งแต่เด็กๆ และด้วยความที่ครอบครัวสนับสนุนให้เธอเรียนรู้และใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ทำให้เธอไม่ลังเลที่จะแบกแท็งก์ออกซิเจน กระโจนลงน้ำ ตั้งแต่ก่อนที่กิจกรรมนี้จะฮิตในหมู่คนไทยเสียอีก

“เอาจริงๆ เมื่อก่อนเราก็ดำน้ำเพื่อความสนุกส่วนตัวนั่นแหละ มันตื่นตาตื่นใจนะเวลาได้เห็นปะการัง สิ่งมีชีวิตต่างๆ ข้างใต้นั้นที่เป็นเหมือนอีกโลก ทริปไหนโชคดีก็ได้เจอสัตว์ทะเลหายากอย่าง Manta Ray จนถึงจุดเปลี่ยนช่วงก่อนทำ EEC ที่เราและ อเล็กซ์ (อเล็กซ์ เรนเดลล์) ได้ไปเจอ ครูกต (ดร.อลงกต ชูแก้ว)

“ครูกตและอเล็กซ์เป็นศิษย์อาจารย์กันมานานแล้ว ตอนนั้นเรามีโอกาสได้ไปเจอครูกตที่หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และออกไปดำน้ำกับเขาหนึ่งไดฟ์ แต่เป็นไดฟ์ที่เปลี่ยนชีวิตและมุมมองของเราไปเลย”

เต้ยเล่าว่า ครูกตพาเด็กๆ ลงไปดำน้ำ มีตั้งแต่เด็กตัวเล็กๆ จนถึงสิบกว่าขวบ แต่ละคนถือสเลตบอร์ดคนละอัน พอดำน้ำลงไปเห็นปะการังต่างๆ พวกเขาก็จดข้อมูล พอจบไดฟ์และขึ้นมาบนฝั่ง ทุกคนก็มาล้อมวง นั่งรายงานผลการสำรวจจากสเลตบอร์ดของแต่ละคน จากนั้นก็ไปเปิดหนังสือเพื่อค้นหาข้อมูลว่า ปะการังที่พบคือชนิดอะไร มันเสียหายหรือมีสภาพต่างจากที่ควรจะเป็นไหม

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

“เราอึ้งไปเลย เพราะสิ่งที่เด็กกลุ่มนี้เพิ่งทำไปคือ EE (Environmental Education) พวกเขาไม่ได้ดำน้ำลงไปเล่นๆ แต่เป็นการดำน้ำเพื่อเรียนรู้และอนุรักษ์วิ่งแวดล้อม เราตื่นเต้นกับสิ่งนี้มาก ถึงขั้นถามตัวเองเลยนะว่า ที่ผ่านมาเราทำอะไรอยู่วะเนี่ย (หัวเราะ) คือ Fun Dive อย่างเดียว เพื่อความสวยงามของตัวเองล้วนๆ ดำไปไม่รู้หรอกว่าปะการังชนิดนี้ ปลาชนิดนี้ คืออะไร มีความสำคัญอะไรต่อระบบนิเวศ

“ก่อนหน้านี้ เรามองว่าการได้ไปเที่ยว การได้ทำกิจกรรมโลดโผน ดำน้ำ ปีนเขาอย่างที่เราชอบ คือการทำเพื่อเสพความสุข เรารักสัตว์เพราะเขาน่ารักน่าเอ็นดู นั่นก็คือความรู้สึกของเราล้วนๆ แต่เราไม่ได้มองโลกกว้างไปกว่าตัวเองเลย”

เต้ยนิ่งคิดไปครู่หนึ่ง ก่อนจะพูดต่อว่า “แต่พอเราเชื่อมโยงสิ่งมีชีวิตที่เห็นตรงหน้าได้ รู้ว่าเขามีอยู่เพื่ออะไร รู้ว่าถ้าเขาหายไปจะสร้างผลกระทบอะไรบ้าง เราก็เข้าใจทุกอย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่สัตว์ทะเลนะ อย่างช้างเนี่ย เมื่อก่อนก็ไม่เคยรู้หรอก ปากบอกว่าชอบช้าง น้องน่ารัก น้องมีหูมีตาหางยาว แต่เพิ่งรู้ว่าเขาสำคัญกับผืนป่าขนาดไหน ตอนที่ศึกษาและลงไปทำงานเรื่องเขาจริงจังกับครูกตนี่แหละ

“ช้างคือสัตว์เปิดทางในป่า เพราะเขาตัวสูงใหญ่ เวลาเดินหากินในป่า ช้างจะแหวกและเหยียบย่ำหญ้ารก จนเกิดทางเดินในผืนป่าที่สัตว์น้อยใหญ่ตัวอื่นๆ ก็ร่วมใช้ไปด้วย กวางเดิน เสือก็เข้ามากินกวาง ทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะช้างเดินเคลื่อนไป เป็นวงจรห่วงโซ่อาหารที่ถ้าหยิบอะไรบางอย่างออกไป มันก็จะกระทบถึงกันหมด”

02

ห้องเรียนในผืนป่า

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

“ครูกตคือซูเปอร์แมน” เต้ยเอ่ยขึ้นพร้อมรอยยิ้ม 

ครูกตทำงานเกี่ยวกับช้างมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี และต่อมาได้ก่อตั้งกองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย ใกล้ๆ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ขึ้น นอกจากบทบาทนักวิจัยและนักอนุรักษ์ ครูกตพาเด็กๆ เข้าไปหาธรรมชาติ ผ่านการเรียนรู้ช้างและสิ่งมีชีวิตต่างๆ 

“ไม่ใช่แค่เด็กทั่วไป แต่ครูกตยังสอนดนตรีและออกแบบโปรแกรมบำบัดสำหรับเด็กตาบอดที่เรียกว่า Animal Therapy ด้วย หลังจากไปดำน้ำที่พังงากับครูกต เราก็มีโอกาสไปเยี่ยมครูที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เชื่อไหมว่าเราไม่เคยเจอใครที่เก่งและเชี่ยวชาญหลายด้าน ทั้งในเชิงทฤษฎีและปฏิบัติอย่างครูกตมาก่อนเลย

“เราเคยเข้าป่าไปในเขาใหญ่กับครูกต ช่วงแรกๆ ตั้งแต่เรายังเด็กน้อยมากในแวดวงนี้ เดินกันอยู่ดีๆ ครูก็พูดขึ้นว่า ‘ได้กลิ่นฉี่ นี่มันกลิ่นฉี่เสือ’ เฮ้ย รู้ได้ยังไง เราเดินตัวปลิวไม่ได้กลิ่นอะไรเลย (หัวเราะ) พอเดินต่อไปอีกสักพัก ครูก็หันมาบอกให้ทุกคนหยุด ‘ชะนี ชะนี’ ครูพูดขึ้นเบาๆ แล้วชี้ขึ้นไปบนยอดไม้ พอเงยหน้าขึ้นไป เฮ้ย ชะนีจริงๆ ด้วย” เต้ยเล่าด้วยเสียงตื่นเต้น

“ครูกตรู้ได้ยังไง” เราถามด้วยความตื่นเต้นไม่แพ้กัน

“ครูได้ยินเสียงอะไรบางอย่างมาจากบนต้นไม้ ไม่ใช่เสียงร้องของชะนีด้วยนะ เหมือนเป็นเสียงใบไม้ไหวเบาๆ แต่มันคงเบามาก เพราะเราไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย (หัวเราะ) ครูเรียนรู้วิถีชีวิตของสัตว์แต่ละชนิดอย่างจริงจัง รู้อุปนิสัยและวิธีการสื่อสารกับพวกเขา 

“ขอเล่าอีกเรื่องนะ (หัวเราะ) คือมีอีกครั้งหนึ่งที่เราเห็นกับตา ช้างป่าตัวหนึ่งเดินมาหยุดหน้ารถ สิ่งที่ครูกตทำคือเดินลงไปหาช้าง พึมพำอะไรบางอย่าง จากที่อยู่บนถนน ช้างตัวนั้นก็หลบไปข้างๆ เปิดทางให้รถวิ่งเฉยเลย เราประทับใจมากและได้บอกกับครูกตไว้ว่า ถ้ามีช้างให้ช่วยเหลือ บอกเต้ยได้เลย 

“ปรากฏว่าหนึ่งอาทิตย์ต่อมา ครูส่งข่าวมาว่ามีลูกช้างเชือกหนึ่งชื่อขวัญเมือง จากลักษณะและความสามารถ น่าจะมาเป็นครูช้างให้เด็กตาบอดได้ เราก็ต้องไปไถ่ชีวิตและอุปการะเขาไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย การไถ่ชีวิตช้างหนึ่งเชือก ใช้เงินจำนวนหลักล้าน แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่าเงินจำนวนนั้น คือต้องมั่นใจว่าเมื่ออุปการะเขามาอยู่แล้ว จะดูแลเขาได้ตลอดอายุขัย” 

03

วิชาชีวิตจากครูช้าง

เต้ย จรินทร์พร, EEC, อเล็กซ์, เต่า มะเฟือง

เต้ยอธิบายต่อว่า ครูช้างคือเครื่องมือสำคัญในการทำกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา เด็กตาบอดไม่เคยรู้มาก่อนว่าช้างตัวใหญ่ เพราะเคยจับแค่รูปปั้นช้างเลยเข้าใจว่าช้างขนาดตัวเท่านั้น จนได้มาลูบตัวครูช้าง จึงเพิ่งรู้ว่านี่คือขนาดจริงของช้างหนึ่งเชือก นอกจากการบทเรียนธรรมชาติ ครูช้างยังช่วยปรับอารมณ์และพฤติกรรม ช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษได้ดีอีกด้วย 

จนวันหนึ่ง ช้างในความดูแลของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเชือกหนึ่งล้มลง ที่ผ่านมา ช้างตายจากการเจ็บป่วยและอุบัติเหตุ เพราะเคลื่อนย้ายช้างซึ่งเป็นสัตว์ใหญ่ไปถึงมือหมอได้ไม่ทัน และการขนย้ายก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกช้างพลิกคว่ำ เพราะรถบรรทุกทั่วไปไม่ได้ออกแบบมาเพื่อขนย้ายสัตว์ใหญ่

“โครงการรถพยาบาลช้างจึงเกิดขึ้น เราก็ช่วยกันทำโปรเจกต์ระดมทุนขายเสื้อยืด และจริงจังถึงขั้นไปนำเสนอโปรเจกต์เพื่อขอสปอนเซอร์ด้วย จนในที่สุดรถพยาบาลช้างต้นแบบคันแรกของประเทศไทยก็เสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง โดยไม่ได้ใช้ดูแลแค่ช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเท่านั้น ถ้ามีช้างเชือกไหนป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ รถพยาบาลช้างก็พร้อมออกไปช่วยเหลือ”

ทุกวันนี้รถพยาบาลช้างมีเพิ่มขึ้นอีกหลายคัน รถแต่ละคันจะมีสะพานท้ายไฮดรอลิกที่มีความลาดชันเหมาะสมกับช้าง รวมถึงมีรอกไฟฟ้าด้านหน้า สำหรับลากตัวรถขึ้นจากหลุม ในกรณีที่ขับเข้าไปในป่าแล้วติดหล่ม และรถพยาบาลช้างก็จะปรับเปลี่ยนเป็นรถ Rescue ช่วยขนย้ายอุปกรณ์ในเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ได้

“เราศรัทธาในตัวตนและสิ่งที่ครูกตทำ ยิ่งเราได้เข้าไปร่วมกิจกรรมกับครูมากเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกเติมเต็ม รู้ตัวอีกทีรูปแบบความสุขมันก็เปลี่ยนไป แค่เราได้พาเด็กตาบอดไปดำน้ำ ได้เห็นเขาเรียนรู้กับครูช้าง เห็นเขามีโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ความสุขของเราเกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหวังอะไรตอบแทนเลย”

04

กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

จากการไปเป็นลูกศิษย์และลูกมือช่วยครูกตจัดกิจกรรมอยู่นับปี ได้เห็นบทเรียนล้ำค่าของครูในการสอนเด็กๆ ทำให้อเล็กซ์และเต้ยเกิดแนวคิดในการต่อยอดห้องเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมของครูกตให้กว้างไกลขึ้น และกลายมาเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษาประเทศไทย หรือ EEC Thailand ในที่สุด

การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา ทำให้จากเดิมที่อินอยู่แล้ว เต้ยยิ่งจริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก

“เราตัดสินใจเรียนปริญญาโท เพราะเส้นทางที่เลือกเดิน EEC คือองค์กรที่ตั้งใจสอนเด็กๆ ให้เข้าใจและรักสิ่งแวดล้อม แต่การที่เราจะไปสอนใครหรือการจะทำองค์กรให้ดีได้ เราเองต้องมีความรู้ก่อน เราจบปริญญาตรีสายแสดงมา ประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมก็ถือว่ายังเตาะแตะ ถ้าเทียบกับพี่ๆ ที่ทำงานด้านนี้มาเป็นสิบๆ ปี เราเลยต้องหาความรู้เพิ่ม เพื่อให้ตรงสายและรู้เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”

เต้ยบอกว่า ชีวิตนักศึกษาปริญญาโทของเธอช่างต่างกับสมัยเรียนปริญญาตรีลิบลับ จากเด็กนิเทศเอกกำกับและการแสดง สู่เด็กมนุษย์เอกสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม “เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังมือเลย” 

เธออธิบายต่อว่า คนส่วนใหญ่น่าจะเคยได้ยินชื่อสาขาสิ่งแวดล้อม แต่คงไม่คุ้นหูกับสาขาสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่ สาขาที่เธอเรียนไม่ได้เจาะลึกไปที่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่ผนวกเรื่องมนุษย์ศาสตร์เข้าไปด้วย 

“รูปแบบการเรียนเน้นไปที่ทัศนคติ (มนุษย์คิดยังไงกับสิ่งแวดล้อม) ไปจนถึงพฤติกรรม (คิดแล้ว Take Action ยังไง และกลไกอะไรที่จะทำให้มนุษย์ Take Action เรื่องสิ่งแวดล้อมได้บ้าง)

“เพราะสภาพความเป็นไปของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ล้วนเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่เราจะต้องเข้าใจปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมของมนุษย์ ไม่ใช่แค่ในเชิงปัจเจกบุคคล แต่กว้างไปถึงเรื่องสังคม ตั้งแต่ความเชื่อ นโยบาย และกฎหมาย จริงๆ อยากอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ แต่เรียนมาหลายปีแล้วเนอะ บางวิชาก็คืนครูไปแล้วบ้าง (หัวเราะ)”

เต้ยอธิบายแก้เขินว่า จริงๆ เธอเข้าไปเรียนที่คณะสังคมและมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลายปีแล้ว แต่ด้วยภารกิจรัดตัว ทั้งการปลูกปั้น EEC ให้เติบโตแข็งแรงและงานถ่ายละคร ทำให้เธอจำเป็นต้องยืดระยะเวลาในการทำเล่มวิทยานิพนธ์ออกไปให้ยาวที่สุด 

“มันต้องจบปีนี้แหละ ถ้าไม่จบปีนี้ ก็คือจบไม่ได้แล้ว” (ยิ้มอ่อน)

05

ไข่เต่าบอกอะไรเรา? 

เต้ย จรินทร์พร, EEC, อเล็กซ์, เต่า มะเฟือง

วิทยานิพนธ์ของของเต้ย คืองานวิจัยในหัวข้อพฤติกรรมการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองของประชาชน ในพื้นที่ตำบลท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา

เต่ามะเฟืองคือเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตัวที่โตเต็มวันอาจยาวได้มากกว่า 2 เมตร มีชีวิตอยู่รอดมามาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ยุคครีเทเชียสเมื่อ 130 ล้านปีก่อน แต่ทุกวันนี้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ ถือเป็นเต่าทะเลที่หายากที่สุดในประเทศไทย

“เรายิ่งรู้สึกว่าเต่ามะเฟืองพิเศษเข้าไปอีก เมื่อรู้ว่าเขาไม่สามารถเพาะพันธุ์โดยมนุษย์ คือเต่าทะเลชนิดอื่นๆ เนี่ยเมื่อแม่เต่าวางไข่และไข่ฟักออกมา เรานำลูกเต่ามาอนุบาลเลี้ยงดูได้จนกว่าตัวโตขึ้น แข็งแรงขึ้น แล้วค่อยปล่อยลงสู่ทะเล แต่เราทำแบบนั้นกับลูกเต่ามะเฟืองไม่ได้

“เพราะเขาเป็นเต่าทะเลน้ำลึก ที่ดำดิ่งลงไปได้ถึงหนึ่งพันเมตร เราไม่มีทางรู้ว่าเขามีพฤติกรรมยังไงที่ใต้ท้องทะเลลึกตรงนั้น และเขาก็เป็นเต่าที่เดินทางไกลข้ามมหาสมุทร ถือเป็นทรัพยากรของโลก เพราะเขาเดินทางไปทั่วโลก 

“เต่าที่มาวางไข่บนหาดท้ายเหมือง (เต่าตัวเมียจะกลับมาวางไข่ที่บ้านเกิดเสมอ) ว่ายน้ำไปได้ไกลเป็นพันๆ ไมล์ ไปถึงเกาะนิโคบาล ดังนั้น จึงยากที่จะติดตามเฝ้าดูการดำรงชีวิตของเขา” เต้ยอธิบายรวดเดียวจบ

“ได้ยินข่าวว่า ปีนี้แม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บนหาดประเทศไทยถึงสิบเอ็ดรัง ในฐานะคนคนหนึ่งที่ทำงานด้านนี้ คุณรู้สึกยังไง” เราถาม

“โอ้โห คือไม่รู้จะบรรยายยังไง ถือเป็นการกลับมาของแม่เต่ามะเฟืองที่สร้างแรงกระเพื่อมได้ถูกที่ถูกเวลาที่สุด สิบเอ็ดรังคือเยอะมาก” (ลากเสียง) 

เต้ยเล่าว่า ฤดูวางไข่ปีที่แล้ว แม่เต่าขึ้นมาวางไข่เพียง 2 – 3 รัง ก่อนหน้านั้นไม่ขึ้นมาวางไข่เลยประมาณ 5 ปี และย้อนไปนานกว่านั้น สถิติการวางไข่วางไข่ที่ตัวเลขใกล้เคียงคือ 9 รัง เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ฤดูวางไข่ในปีนี้จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความตื่นตัวและความตระหนัก ไม่ใช่แค่คนในพื้นที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งขึ้นวางไข่เท่านั้น แต่ทั่วโลกรับรู้ว่าแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ที่นี่ถึง 11 รัง

“แต่ละรัง มีไข่ประมาณหกสิบถึงหนึ่งร้อยฟอง แต่ไม่ใช่ทุกฟองจะฟักออกมาเป็นตัวทั้งหมด มีปัจจัยมากมายที่ชี้ชะตาว่าเจ้าเต่าน้อยกี่ตัวจะฟักไข่ออกมาได้ ตั้งปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อมอย่างอุณหภูมิที่เหมาะสม ไปจนถึงปัจจัยภายนอกอย่างมนุษย์หรือสัตว์บกอื่นๆ ที่จะมาเอาไข่เต่าไป”

เต้ยเอ่ยขึ้นเบาๆ ว่า การที่ลูกเต่าขนาดไม่ถึง 10 เซนติเมตรจะรอดชีวิต เติบโตจนเต็มวัย และพร้อมสืบพันธุ์อีกครั้งนั้นยากมาก อัตรารอดแค่ 1 ใน 1,000 เท่านั้นเอง

06

เรียนรู้กับคนท้องที่ (แหลงใต้) 

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

ข้อมูลจากงานวิจัยของเต้ย บ่งชี้ว่าคนพื้นที่ตำบลท้ายเหมือง จังหวัดพังงา แหล่งขึ้นวางไข่ตั้งแต่โบราณของไทย ส่วนใหญ่มีความรู้และทัศนคติที่ดีต่อการดำรงอยู่ของเต่ามะเฟือง 

“ชาวบ้านเขามีความคิดเห็นที่หลากหลาย คือก็ยังมีบางคนที่เชื่อในวัฒนธรรมกินไข่เต่า ไม่ได้รู้สึกว่าผิดอะไร เขากินมาตั้งแต่เด็กๆ ในฐานะผู้ทำวิจัย การเก็บข้อมูลต่างๆ จะเป็นไปอย่างเป็นกลาง เราไม่ไบแอสต่อแนวคิดหรือพฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่วิจัย แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจความสำคัญ รู้ว่าบ้านเขาเป็นพื้นที่สำคัญในการเพิ่มประชากรสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และยินดีให้ความร่วมมือกับงานอนุรักษ์ เพราะเขารักและหวงแหนทรัพยากรบ้านเกิด”

ข่าวดีอีกอย่างนอกจากการกลับมาวางไข่ของเต่ามะเฟือง ปีที่แล้วมีสัตว์ทะเล 4 ชนิด ถูกประกาศเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่ คือวาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ถือเป็นการประกาศรายชื่อสัตว์ป่าสงวนเพิ่มเติมเป็นครั้งแรกในรอบ 27 ปี 

การมีกฎหมายคุ้มครองเป็นรูปธรรม ถือเป็นการการันตีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับงานอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปากท้อง การทำมาหากิน เศรษฐกิจ

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

“รู้ไหมว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้เต่ามะเฟืองใกล้สูญพันธุ์ และไม่ขึ้นมาวางไข่ติดต่อกันหลายปี” เต้ยถามขึ้น

“ขยะพลาสติกหรือเปล่า” เราตอบ เพราะพลาสติกหน้าตาใกล้เคียงแมงกะพรุน อาหารหลักของเต่ามะเฟือง พวกเขาคงเข้าใจผิดและกลืนกินพลาสติกไปไม่น้อย 

เต้ยส่ายหัวและอธิบายต่อว่า “ไม่ใช่แค่ขยะพลาสติก อีกสาเหตุสำคัญคือผลกระทบจากการทำประมง บางทีเต่ามะเฟืองจะเข้ามาผสมพันธุ์หรือวางไข่บริเวณน้ำตื้นและหาดทราย แต่ติดซากอุปกรณ์ประมงที่ถูกตัดทิ้งไว้ บางตัวตาย บางตัวโชคดีรอดชีวิต แต่เขาก็จะไม่กลับมาแล้ว เพราะเขารู้แล้วว่าที่นี่ไม่ปลอดภัย

“การขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยวก็เกี่ยวข้องนะ เพราะเวลาแม่เต่ามะเฟืองจะวางไข่ เขาจะขึ้นมาวัดหาดก่อน เพื่อประเมินว่าหาดนี้เหมาะสำหรับการวางไข่หรือเปล่า ถ้าขึ้นมาแล้วเห็นว่าเนื้อที่มันไม่โอเค หาดร่น หน้าหาดมีพื้นที่ในการวางไข่น้อย เขาก็จะเปลี่ยนที่ 

“แล้วก่อนวางไข่ แม่เต่ามะเฟืองจะขุดหลุมหลอกก่อนหลุมหนึ่ง เป็นหลุมเปล่า จากนั้นค่อยไปขุดหลุมจริง พอวางไข่เสร็จ เขาก็กลับลงทะเล ไม่เหลียวหลังกลับมามองอีก แม้จะไม่ได้ขึ้นมาเฝ้าฟูมฟักลูกๆ อย่างสัตว์ชนิดอื่น แต่เขามีการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อดูแลลูกๆ ที่จะฟักไข่ในอีกห้าสิบห้าถึงหกสิบห้าวันต่อมา น่าเอ็นดูเนอะ” เต้ยพูดพร้อมรอยยิ้มกว้าง

07

ห้องเรียนภาคค่ำ บนหาดทรายใต้แสงจันทร์

เต้ย จรินทร์พร, EEC, อเล็กซ์, เต่า มะเฟือง
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“ทำวิจัยมาเป็นปี ฤดูวางไข่ที่ผ่านมา เต้ยได้เจอแม่เต่ามะเฟืองบ้างไหม” เราถาม

“โอ้ย ไม่เลย คือตอนที่มีรายงานเข้ามาว่าแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่รอบแรก ช่วงปลายปีที่แล้ว เราก็รีบบินลงไปรอที่หาดท้ายเหมืองเลย เพราะปกติแม่เต่าหนึ่งตัว วางไข่ได้สองถึงสามครั้งในแต่ละฤดูกาล คิดว่าเขาคงขึ้นมาอีกสักรอบ รออยู่สามถึงสี่วัน ระหว่างรอก็ไปเดินเต่ากับพี่ๆ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานด้วย

“การเดินเต่าคือการเดินลาดตระเวนจากขวาสุดไปซ้ายสุดของหาด เพื่อมองหาแม่เต่ามะเฟือง ห้ามมีแสงไฟเด็ดขาด เพราะถ้าเห็นแสงไฟ เขาจะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยและไม่ขึ้นมาวางไข่ 

เต้ย จรินทร์พร, EEC, อเล็กซ์, เต่า มะเฟือง
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“ดังนั้น การเดินเต่าจึงเป็นการเดินท่ามกลางแสงจันทร์ บรรยากาศดีปนวังเวงนิดๆ โชคดีที่ไปหลายคน (หัวเราะ) พื้นที่แถวๆ นั้น เขาจะขอความร่วมมือจากทุกคนไม่ให้ใช้แสงไฟ อย่างตรงพื้นที่กรมอุทยานฯ เขาจะหันแสงไฟเข้าข้างในหมดเลย ไม่มีแสงใดๆ เล็ดรอดออกมาทางทะเล” 

เต้ยเล่าว่า หลังจากเดินเต่าไป 2 ครั้ง เธอก็ตระหนักว่าโอกาสที่จะได้พบหน้าแม่เต่ามะเฟืองขณะขึ้นมาวางไข่นั้นช่างน้อยนิด เพราะชายหาดยาวเป็นกิโลเมตร แถมไม่รู้ว่าแม่เต่าจะขึ้นมาวันไหน รู้แค่ว่าเขาจะขึ้นมาในคืนที่น้ำขึ้นสูงสุดเท่านั้น

บางทีกว่าเจ้าหน้าที่มาเห็นรังไข่เต่าก็เช้าวันต่อมา แม้เต่ามะเฟืองจะกลบทรายไว้อย่างมิดชิด แต่ก็มีจุดสังเกตตำแหน่งรังไข่ได้จากรอยพายใหญ่ๆ ที่เขาใช้ในการเคลื่อนที่บนพื้นทราย

เต้ย จรินทร์พร, EEC, อเล็กซ์, เต่า มะเฟือง
ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

“แล้วในที่สุด ผลของการสวดมนต์ขอพรอยู่หลายปี (ยิ้ม) เราลงพื้นที่หาดท้ายเหมืองกับเด็กๆ EEC Thailand ค่ายเต่ามะเฟือง (Leatherback Turtles Camp) และได้เจอกับเจ้าจิ๋วเหล่าลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักไข่ในวันนั้นพอดี 

“เป็นรังที่เจ้าหน้าที่ช่วยขุดขึ้นมาด้วย เพราะเฝ้าอยู่นานแต่น้องๆ ไม่ตะกายทรายขึ้นมาสักที กลัวเขาขาดอากาศหายใจกันอยู่ในรัง แล้วพอได้ขึ้นมาหายใจบนพื้นทรายปุ๊บ เขาก็ยกขบวนเดินลงทะเลปั๊บ เป็นโมเมนต์ที่ไม่ลืมแน่นอนชีวิตนี้ แต่ก็คาดหวังว่าจะได้เจออีกในปีต่อๆ ไปนะ”

08

บททดสอบต่อไป

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

“ช่วงที่สนุกที่สุดของการทำวิทยานิพนธ์ คือตอนลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลนี่แหละ เราอินและรู้สึกสนุกกับมันมาก งานวิจัยของเราแบ่งชุดข้อมูลเป็นเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ในส่วนของข้อมูลเชิงปริมาณ เราต้องลงไปเก็บข้อมูลกับชาวบ้านจำนวนมากที่ตำบลท้ายเหมือง โดยทำเป็นแบบสอบถาม

“ในหัวก็คิดย้อนไปเวลามีคนเอาแบบสอบถามมาให้ทำ เมื่อก่อนเราก็รีบๆ ตอบๆ ให้เสร็จ พอตอนนี้ต้องมาทำแบบสอบถามของตัวเอง แล้วเราตั้งใจคิดแบบสอบถามมาก คือรู้สึกผิดเลย (หัวเราะ) เป็นชุดคำถามเกี่ยวกับความรู้ แนวคิด ทัศนดคติ และพฤติกรรมของคนในพื้นที่ ยิ่งละเอียดมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งได้ข้อมูลไปวิจัยเท่านั้น”

เต้ยเล่าว่า เธอทั้งเดินถามผู้คนตามบ้าน ทั้งเดินเข้าหาลุงป้าน้าอาตามพื้นที่สาธารณะ เป็นช่วงที่นักแสดงสาวอย่างเธอที่ปกติโดนสัมภาษณ์ ได้สวมบทบาทนักสัมภาษณ์คนอื่นเสียเอง

ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ เธอต้องไปสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง ตั้งแต่หัวหน้ากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไปจนถึงหัวหน้าชุมชนอย่างผู้ใหญ่บ้าน ผู้มีส่วนในการขับเคลื่อนพฤติกรรมการอนุรักษ์ของผู้คนในพื้นที่

“เราไม่สามารถเล่ารายละเอียดการสัมภาษณ์หรือข้อมูลเชิงลึก ที่คุยกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านได้ เพราะ 

(นิ่งคิดหนึ่งอึดใจ) มันคือจริยธรรมของผู้วิจัย” เธอเอ่ยขึ้นอย่างภาคภูมิใจ

“แต่สิ่งที่เราบอกได้ จากการได้ไปสัมผัสมาด้วยตัวเอง เจ้าหน้าที่และชาวบ้านทุกคนที่ทำงานเรื่องนี้ ต่างจริงจังและตั้งใจกับภารกิจในการอนุรักษ์เต่ามะเฟืองมาก 

“พูดให้ถูกคือเขาอินกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติทุกอย่าง เพราะเขารู้ว่าทุกสิ่งนั้นเชื่อมโยงถึงกัน ความท้าทายต่อจากนี้ คือสิ่งแวดล้อมกำลังเริ่มฟื้นฟูกลับมา เราจะทำยังไงให้มันฟื้นฟูต่อไปเรื่อยๆ และจะขยับขยายความร่วมมือในการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปสู่ประชาชนในวงกว้างขึ้นได้ยังไง”

09

ชีวิตนอกห้องเรียน

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

เต้ยอายุแค่ 25 ปี ตอนที่ร่วมก่อตั้ง EEC Thailand เธอเล่าว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เธอได้บทเรียนชีวิตมากมายจากการตัดสินใจในครั้งนั้น 

“EEC เป็นเหมือนลูกชายที่เราเห็นมาตั้งแต่ยังเล็ก เลี้ยงดูให้เขาเติบโตแข็งแรง ตั้งแต่วันที่ยังมีแค่ผู้ก่อตั้งที่ต้องทำทุกอย่างเองหมด (หัวเราะ) จนทุกวันนี้องค์กรเติบโตขึ้นมาก”

จากที่ต้องวิ่งวุ่นทำทุกอย่าง ตอนนี้มีทีมงานกว่า 20 ชีวิตที่เข้ามาทำงานในส่วนต่างๆ เต้ยบอกว่าเธอรู้สึกโตขึ้น เมื่องานเริ่มเบนเข็มมาทาง Management ทำเธอต้องหัดบริหารจัดการ ประเมินและแก้ไขสถานการณ์ในภาพรวม

“เราได้เรียนรู้ว่าการจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่างมันไม่ได้ง่ายเลย มันมีอะไรมากมายกว่าที่คิด การทำ EEC ไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่เรื่องการจัดแคมป์การศึกษา หรือการสร้างองค์กร แต่มันลึกซึ้งไปถึงขั้นจิตใจ การที่เราเรียนรู้สิ่งแวดล้อม อยู่กับมันมาหลายปี จิตข้างในของเราเปลี่ยนไปเอง ดังนั้นเราจึงไม่คิดจะไปบังคับมนุษย์คนไหนบนโลก เธอห้ามทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เธอต้องทำนั่นนี่สิ นั่นไม่ใช่ความยั่งยืน

“วันหนึ่งถ้าเขามีความรู้มากพอ ถ้าเขามีความสนใจกับสิ่งสิ่งหนึ่งมากพอ วันนั้นจิตข้างในของเขาจะเปลี่ยนไปเองโดยที่เราไม่ต้องไปบอกหรือบังคับเขาเลย และนั่นคือแก่นของสิ่งเราพยายามสร้างให้เด็กๆ 

“ถ้าเด็กๆ มองโลกกว้างกว่าตัวเอง มีความรู้และเข้าใจธรรมชาติของธรรมชาติรอบตัว เขาจะเติบโตมาด้วยจิตอีกแบบ และเมื่อจิตดี การกระทำก็จะดีตามไปด้วย” เต้ยเอ่ยทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้มสดใส

เต้ย จรินทร์พร ในวัย 30 กับชีวิตการทำค่ายเยาวชนสิ่งแวดล้อมและวิทยานิพนธ์เรื่องเต่าทะเล

ภาพ : EEC Thailand

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน