ชาวโคราชเรียก ผักปง 

ชาวอ่างทองเรียก ผักปอด 

ชาวสุพรรณเรียก ผักป่อง หรือ ‘ตบชวา’ 

ผักหลากชื่อ หลายถิ่นที่ จากการกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งประเทศไทย อันเป็นสาเหตุแห่งน้ำท่วมและน้ำเสียที่รัฐบาลไทยต้องใช้งบประมาณกำจัดกว่า 700 ล้านบาทต่อปี

วันนี้คอลัมน์ The Entrepreneur มีนัดพบกับ เจ-วศการ ทัพศาสตร์ กัปตันหนุ่มเจ้าของแบรนด์ตบชวา ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากวัสดุธรรมชาติ

ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ

ก่อนจะเป็น ‘ตบชวา’

ก่อนแบรนด์นี้จะถือกำเนิด เจจบการศึกษาจากโรงเรียนนายเรืออากาศฯ แล้วมุ่งสู่สายอาชีพนักบินของสายการบินไทย ด้วยความที่โหมงานหนักมาโดยตลอด จนล้มป่วยจากอาการหูข้างในอักเสบ แต่ในขณะนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องการทำประกันชีวิต จึงต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก จุดประกายให้เข้าใจว่าการประกอบอาชีพเพียงอย่างเดียวนั้นไม่มั่นคงเพียงพอ จึงเริ่มหาอาชีพเสริมเรื่อยมา

เขาเริ่มจากการขายของออนไลน์ ทั้งนาฬิกาและสินค้าจากต่างประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี

หลังอยู่ในแวดวงขายของออนไลน์ได้สักพัก สินค้าที่นำเข้ามาเพื่อขายต่อมักมาพร้อมกับวัสดุกันกระแทกที่เป็นตัวหนอน โฟม บับเบิ้ล แต่วัสดุจากพลาสติกเหล่านี้เมื่อใช้แล้วกลับไม่ถูกนำมาใช้ซ้ำ เหลือทิ้งเป็นขยะเกลื่อนห้อง ประกอบกับในช่วงปี 2018 มีข่าวเรื่องฝนตกน้ำท่วม สาเหตุหนึ่งเกิดมาจากผักตบชวาใน 6 จังหวัดของประเทศไทยที่มีจำนวนมหาศาล 

เมื่อ 2 เรื่องราวมาประกอบกัน เจจึงค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผักตบชวาในไทยนั้นสร้างมูลค่าได้มากมาย อย่างงานสาน งานถักทอที่ชาวบ้านแต่ละชุมชนทำเป็นแก้ว หมวก จาน หรือกระเป๋า แสดงถึงคุณสมบัติของตัวตบชวาที่เป็นปล้อง เหนียว และมีเส้นใยด้านใน ใช้ซึมซับได้ เกิดเป็นความคิดที่จะนำมาทำเป็นวัสดุกันกระแทก

ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ
ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ

 ตบชวาต้นแรก

ผักตบชวาเป็นพืชต่างถิ่นที่แพร่กระจายรวดเร็วในแม่น้ำลำคลอง ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนผักตบชวา 1 ต้นอาจขยายพันธุ์ได้มากถึง 1,000 ต้น อีกทั้งยังเป็นพืชที่ทนทาน ขนาดว่าหากคลองนั้นเหือดแห้งจนต้นตาย เมล็ดของมันกลับมีชีวิตต่อได้อีกถึง 15 ปี 

พืชทรหดชนิดนี้เป็นหนึ่งในปัญหาที่ก่อให้เกิดน้ำเน่าเสียและน้ำท่วมขังในหลายจังหวัด จนกรมเจ้าท่า กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประธาน กรุงเทพมหานคร และกรมทรัพยากรน้ำ ต้องใช้งบประมาณเกือบ 1,000 ล้านบาทต่อปีในการกำจัด

 เปรียบเทียบกับวัสดุกันกระแทกอื่น ๆ อย่างป๊อปคอร์นหรือกาบกล้วย ที่ใช้ทดแทนวัสดุกันกระแทกพลาสติก ตบชวานั้นเป็น ‘ขยะ’ อย่างแท้จริง จนอาจเรียกได้ว่า ธุรกิจนี้คือการ ‘เปลี่ยนขยะให้เป็นประโยชน์’

“ตอนนั้นข่าวบอกว่า รัฐใช้งบกำจัดตบชวาในแม่น้ำลำคลองถึง 700 กว่าล้านบาท มหาศาลมาก แต่ถ้าไปเทียบกับอย่างอื่น เช่น พวกป๊อปคอร์น กาบกล้วย มันไม่ใช่ของที่ใช้ต่อได้ อย่างป๊อปคอร์นกินได้ก็จริง แต่ถ้าไม่กินคือเน่าเสีย หรือจริง ๆ การใช้ป๊อปคอร์นก็คือการเอาข้าวโพดที่มีมูลค่ามาทำ กาบกล้วยก็เอาไปทำอย่างอื่นได้อีกเยอะแยะเลย แต่ตบชวาคือขยะจริง ๆ นอกจากทิ้งก็ทำอะไรกับมันไม่ได้” 

นำมาสู่เป้าหมายแรกของการก่อตั้งแบรนด์ เจคาดหวังให้ตบชวากลายเป็นวัสดุทดแทนเม็ดโฟมและตัวหนอนต่าง ๆ เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการสร้างขยะพลาสติก นอกจากนั้นยังตั้งใจกระจายรายได้สู่ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองให้พวกเขามีรายได้และเติบโตไปกับแบรนด์

“ผมอยากให้ผักตบชวากลายเป็นวัสดุทดแทนพวกเม็ดโฟม ตัวหนอนต่าง ๆ แล้วก็ช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำลำคลองด้วย เพราะเราจะไม่ทำโรงงานของตัวเอง ไม่จ้างพนักงานของตัวเอง เราอยากให้ชาวบ้านทำให้ แล้วดูมาตรฐานว่าได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ปรับ แล้วขายภายใต้แบรนด์เรา”

ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ

ชุมชนตบชวา

เส้นทางของการนำตบชวาจากริมคลองมาสู่ขั้นตอนการผลิตนั้นไม่ได้เรียบง่าย เจต้องใช้เวลานานในการสร้างความเข้าใจให้ชุมชน

“ช่วงแรก ๆ เราลงพื้นที่ไปหาเขา ถามเขาตรง ๆ ว่าอยากสร้างรายได้ไหม ถ้าอยากให้ลองมาทำอย่างนี้ไหม หรือในชุมชนที่เขาทำกระเป๋า ทำจักสานอยู่แล้วก็ช่วยแนะนำ ส่วนหนา ๆ ของตบชวาที่พี่ใช้ทำกระเป๋าไม่ได้ เอามาใช้ทำกันกระแทกของเราสิ” 

แต่นั่นไม่ง่ายเลยอย่างที่เล่า 

“การติดต่อยากมาก เพราะคนไม่เข้าใจ คิดว่าขายตรง ด้วยหน้าตาเราไม่น่าเชื่อถือมั้ง” เขาหัวเราะ “จนเราเข้าไปเรื่อย ๆ เขาเริ่มเห็นว่า ไอ้นี่เข้ามาบ่อยเว้ย ใช้เวลาอยู่นานจนมันเกิดรายได้ขึ้นจริง ๆ เขาก็เริ่มยอมรับ”

การทำงานร่วมกับชุมชนของเจเติบโตเรื่อยมา สิ่งสำคัญคือการควบคุมมาตรฐาน 

ในช่วงแรกที่ชุมชนใหม่เริ่มเข้าร่วมกับตบชวานั้น เจส่งทีมจากแบรนด์เข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน และหมั่นควบคุมมาตรฐานให้สม่ำเสมอ นอกเหนือไปจากการทำความเข้าใจและดูแลมาตรฐานแล้ว ตบชวายังต้องเผชิญกับการคัดลอกสินค้า เนื่องจากเป็นภูมิปัญญาที่นำมาศึกษาต่อและผลิตเองได้

“ผมก็ไม่ได้ว่าอะไร มันห้ามกันยาก บางทีพอเขาเห็นเราทำแล้วดีก็มีคนเอาไปทำตาม แต่เรื่องคุณภาพและมาตรฐานไม่เหมือนกันอยู่แล้ว บางทีเวลามีลูกค้าส่งมาว่าไม่เห็นกันกระแทกได้จริง เราขอดูแล้วก็ต้องอธิบายว่า อันนี้มันไม่ใช่ของเรานะ ของเราจะหน้าตาแบบนี้ มีสัญลักษณ์แบบนี้”

ตบชวาเติบโตร่วมกับชุมชน จนในปัจจุบันเริ่มมีบางชุมชนรวมกลุ่มติดต่อเข้ามาด้วยตนเอง เพื่อขอศึกษาวิธีทำวัสดุกันกระแทก หรือภาคการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยบูรพา ก็สนใจเรียนรู้สินค้านี้เช่นกัน

ปัจจุบันตบชวาทำงานกับชุมชนทั้งจากจังหวัดชัยนาท สุพรรณบุรี ชลบุรี สมุทรสาคร สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา รวมทั้ง 2 จังหวัดล่าสุดที่กำลังเรียนรู้และเข้าร่วม คือ ปราจีนบุรีและนครปฐม ขณะที่เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ ก็กำลังอยู่ในช่วงการติดต่อเช่นกัน

ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ

กว่าจะกันกระแทก

ตัวเจและเพื่อน ๆ ในทีมที่ส่วนหนึ่งจบการศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต้องใช้เวลาร่วม 3 – 4 เดือนในการวิจัยตัวตบชวากันกระแทกนี้ ผ่านการลองผิดลองถูกมามากมาย อาจเรียกได้ว่าเป็นความพยายามปนความบังเอิญที่ทำให้ได้ขนาด รูปแบบ ความแห้ง และคุณภาพที่เหมาะสม จนนำมาทดสอบแล้วว่ามีความสามารถในการกันกระแทกได้จริง จนปัจจุบัน ตบชวาเป็นแบรนด์เดียวในไทยที่ผ่านการทดสอบ ISTA หรือการทดสอบบรรจุภัณฑ์ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 

นอกเหนือไปจากขนาดมาตรฐานที่ขายทั่วไปอย่าง 1.5 นิ้ว ตบชวากันกระแทกยังช่วยเลือกลักษณะตัวกันกระแทกให้เหมาะกับสินค้าและแบรนด์ของลูกค้าอีกด้วย 

เช่น Casa Lapin มีโจทย์ต้องการส่งชุด Gift Set ให้ลูกค้า ตบชวาได้ทำรูปแบบตัวกันกระแทกพรีเมียมที่มีราคาสูงกว่าปกติ โดยปอกด้านนอกออกเพื่อให้เกิดความสวยงามมากขึ้น หรือในกรณีการแพ็กสินค้าที่ไม่มีความกังวลเรื่องการแตกหักมากนัก ตบชวาก็มีตัวกันกระแทกขนาด 1 เซนติเมตร ซึ่งนับเป็นสินค้าที่ขายดีมากของแบรนด์

“เราลองตัดหลายแบบ ถี่ ๆ ก็มี 1 เซนฯ 2 เซนฯ 3 เซนฯ มาจนถึง 1 นิ้ว 1 นิ้วครึ่ง 1 เซนฯ ก็กันกระแทกสินค้าบางประเภทได้นะ แอดมินจะถามก่อนเสมอว่าสินค้าของคุณคืออะไร เช่น ถ้าไม่ใช่แก้วก็อาจจะแนะนำ 1 เซนฯ ไม่จำเป็นต้องใช้รุ่นหนา เวลารุ่นนี้เข้ามาทีไรหมดตลอด คนชอบเพราะมันน่ารัก”

ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ

เปิดสูตร : เปลี่ยนตบชวาเป็นกันกระแทก 

ขั้นตอนการแปรสภาพเจ้าผักในคลองให้กลายเป็นวัสดุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ช่วยกันกระแทกนี้เริ่มต้นจากเก็บตบชวาขึ้นมาจากริมแม่น้ำลำคลอง แล้วนำมาคัดเลือกขนาดให้ได้ความยาวที่ 40 – 80 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับชนิดหรือพันธุ์ ก่อนนำมาตัดหัวและท้าย 

ด้านท้ายของตบชวาจะมีความหนา ส่วนด้านหัวที่ติดกับใบนั้นจะเล็กกว่า

เมื่อตัดเสร็จก็แยกไว้เป็นกอง ๆ ตรวจสอบขนาดว่ามีอันไหนผอมเกินไป เล็กเกินไปเพื่อคัดทิ้ง ก่อนนำไปล้างน้ำและตัดขนาดตามที่ต้องการ โดยแต่ละชุมชนมีนวัตกรรมการตัดเป็นของตนเอง

 “ที่ชัยนาทใช้มีดพร้าหั่นเลย เป็นท่อน ๆ ส่วนที่สุพรรณฯ เขาดัดแปลงจักรเย็บผ้าที่ใช้เหยียบ ๆ เวลาดันผักตบเป็นกำเข้าไปมันก็หั่นออกมาตามที่ต้องการ”

เมื่อหั่นได้ขนาดที่ต้องการแล้วก็นำไปล้างอีกครั้ง ขั้นตอนนี้ตบชวาจะมีสูตรพิเศษของแบรนด์ที่แตกต่างจากแบรนด์อื่น ๆ และทำให้ตัวสินค้าออกมาตามมาตรฐาน หลังจากนั้นนำไปตากแห้ง ซึ่งกรรมวิธีนี้เกิดจากการคิดค้นและระดมความคิดร่วมกับอาจารย์และนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อหาว่าต้องทำอย่างไรให้การตากตบชวาได้คุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดเชื้อรา ไม่มีการวางไข่ของแมลง และไม่ก่อให้เกิดฝุ่น

เมื่อแห้งแล้ว เจจะนำสินค้าเหล่านั้นกลับมาคัดอีกครั้ง ส่วนใดที่ยังไม่ผ่านตามคุณภาพ จะนำไปคลุมหน้าดิน ทำเป็นปุ๋ย หรือไปรองกรงสัตว์ให้สัตว์ฟันแทะอยู่ได้ เนื่องจากตัวตบชวากันกระแทกนั้นเป็นสินค้า Food Grade จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์

ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ
ตบชวา วัสดุกันกระแทกจากวัชพืชที่ต้องใช้งบประมาณรัฐกว่า 700 ล้านบาท/ปี ในการจัดการ

ตบชวายืนต้น 

ก่อนที่ตบชวากันกระแทกจะมีลูกค้าแบรนด์ใหญ่เข้ามาอุดหนุนเป็นประจำอย่างปัจจุบัน ขั้นตอนการทำความเข้าใจและเจาะตลาดใหม่ในฐานะผลิตภัณฑ์กันกระแทกเป็นเรื่องไม่ง่าย

“ตบชวานี่ถือว่าล้มลุกคลุกคลาน ช่วงแรกเจ๊งเลย คนไม่เข้าใจ ไม่กล้าใช้ สกปรกหรือเปล่า กันกระแทกได้จริงหรือเปล่า ไม่เห็นสวยเลย เลยไม่ได้รับการตอบรับ ตอนนั้นก็ปรับตัว สร้างความเข้าใจจนเริ่มขายดีขึ้น มีเจ้าใหญ่ ๆ มาสนับสนุน มีช่วงหนึ่งที่ฟุ้งเลย แต่เจ้าใหญ่ล้ม ก็ต้องกลับมาพึ่งรายย่อย ประกอบกับเจอโควิด-19 ทำให้แย่ลงอีก เพราะคนก็รู้สึกว่าไม่ต้องใช้ดีกว่า ไม่ใส่กันกระแทกดีกว่า บางทีก็ Reuse กันกระแทกตัวเก่า ๆ ของเขาแทน”

เมื่อคนไม่เข้าใจก็ต้องพยายามทำให้เขาเข้าใจ ในเมื่อเขาไม่เชื่อมั่น ก็ต้องยินดีมอบความรู้ 

เจเริ่มทำ Online Marketing ในช่องทาง Facebook และ YouTube ทั้งคลิปทดสอบประสิทธิภาพการกันกระแทก หรือคลิปที่ทำให้คนรู้จักตบชวาและปัญหาของมันมากขึ้น นอกจากนั้น เขาพยายามสร้าง Awareness ให้แบรนด์ โดยมีนโยบายว่าให้สินค้ากับนักค้าขายออนไลน์ไปทดลองใช้ฟรี 1 – 2 กิโลกรัม 

จากแคมเปญนี้ก็มีลูกค้าบางส่วนกลับมาใช้จริงและซื้อสินค้าต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

หลังผ่านร้อนผ่านหนาวจนตบชวากลับมายืนต้นได้อีกครั้ง วันนี้กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เลือกตบชวาเป็นวัสดุกันกระแทกด้วย 2 สาเหตุ 

กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องการใช้วัสดุที่ย่อยสลายยากหรือพลาสติกต่าง ๆ อันพ่วงมาด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์ เมื่อส่งสินค้าด้วยตบชวา ก็เป็นภาพแทนที่ช่วยสื่อสารถึงจุดยืนการรักษาสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

อีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้ตบชวาเป็นประจำ เพราะต้นทุนของวัสดุกันกระแทกชนิดนี้ต่ำกว่าเม็ดโฟมหรือตัวหนอน เนื่องจากธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้สั่งเม็ดโฟมในปริมาณมาก ต้นทุนจะมีราคาสูงกว่าการใช้ตบชวา

“เวลาสั่งเม็ดโฟมหรือตัวหนอนในปริมาณน้อย ต้นทุนเขาสูง เกือบ 100 บาทในการกันกระแทก แต่ใช้ของเราใช้แค่ 95 – 98 บาท”

เจ-วศการ ทัพศาสตร์ กัปตันหนุ่มเจ้าของแบรนด์ตบชวา

เตรียมเติบใหญ่

ปัจจุบันตบชวาวางขายทั้งช่องทางออนไลน์และทางเว็บไซต์ของไปรษณีย์ไทย ซึ่งเจยังวางแผนที่จะขยายธุรกิจให้เติบโตไปมากกว่านี้ และมองเห็นถึงลู่ทางในการขายไปยังต่างประเทศด้วย เนื่องจากในไตรมาสนี้ บางประเทศออกกฎหมายงดใช้เม็ดโฟมหรือตัวหนอนเป็นวัสดุกันกระแทกแล้ว เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ใน พ.ศ. 2566 ก็จะมีกฎหมายลักษณะคล้ายคลึงกันออกมา

ทว่าเส้นทางสู่การขายให้ต่างประเทศนั้นยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่ต้องศึกษา ทั้งกฎการส่งสินค้าประเภทพืชระหว่างประเทศ หรือความคุ้มค่าในการขนส่งผ่านตู้คอนเทนเนอร์เรือ

การเติบโตเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นด้วยแรงของธุรกิจนี้เพียงลำพัง หากภาครัฐเข้ามาสนับสนุนในด้านทุนการวิจัย โรงงาน หรือช่วยพัฒนาให้สินค้านี้กลายเป็นสินค้าส่งออกของไทย ตบชวาจะสร้างเม็ดเงินและคุณประโยชน์ในแง่สิ่งแวดล้อมต่อประเทศไทยมากมาย

“ภาครัฐมีนโยบายในการกำจัดผักตบชวาอยู่ประมาณ 700 กว่าล้านต่อปีใน 6 – 7 จังหวัด ถ้าหยิบยกงบตรงนั้นมาช่วยในการตัด การตาก มาช่วยทำโรงอบ เพราะตอนนี้เรายังทำไม่ทันเนื่องจากไม่มีโรงอบ ถ้ามีก็จะตัดได้มากขึ้น ทุกวันนี้การกำจัดผักตบช้าลงเพราะเราไม่มีที่ตาก ถ้าได้งบประมาณตรงนี้มา ให้เราเป็นตัวกลางในการประสานก็ได้”

ปัจจุบันตบชวาเข้าร่วมกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) เพื่อพัฒนาโครงการตบชวาเพื่อกำจัดตบชวาในชุมชน นำร่องด้วยพื้นที่เขตคลองสามวา ที่ทางแบรนด์ได้เข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านถึงวิธีเก็บ การแปรผักตบให้กลายเป็นวัสดุกันกระแทกจนกลายเป็นรายได้เข้าชุมชน

“เราอยากโตร่วมไปกับภาครัฐและกฎหมายที่จะเกิดขึ้น อยากได้รับการตอบรับจากภาคเอกชน ตลาด E-Commerce ต่าง ๆ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งใน 100 เปอร์เซ็นต์ เราอยากเข้าไปเป็น 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ แค่นี้ก็กำจัดผักตบในประเทศไปได้เยอะแล้ว”

เกือบ 5 ปีที่ผ่านมากับแบรนด์ตบชวาบนเส้นทางที่มีทั้งสุขและทุกข์ เขาเห็นตบชวาเสมือนลูกที่ค่อย ๆ เติบโต นับแต่วันแรกที่ยังไม่มีชื่อ ไม่มีโลโก้ มาจนวันที่คนเริ่มรู้จัก เริ่มนำไปใช้ มีคนเห็นถึงประโยชน์ของโมเดลธุรกิจนี้ ได้กลายเป็นสิ่งทดแทนวัสดุกันกระแทกและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม แม้ไม่ได้ก่อให้เห็นผลเชิงรูปธรรมที่ชัดเจนนัก หรือแม้จะไม่ได้ทำกำไรอู้ฟู่ แต่ก็เป็นความสุขตลอดครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

“ขอบคุณที่รักษ์โลกไปกับเรา ขอบคุณที่ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน และช่วยกำจัดขยะริมแม่น้ำลำคลอง ลดโอกาสที่จะทำให้น้ำท่วม ถึงมันจะเป็รแค่ส่วนหนึ่ง แต่ต่อไปถ้าแบรนด์หรือลูกค้าต่าง ๆ มาใช้ตบชวากันกระแทก ตบชวาก็อาจจะหมดไปจากคลอง ลดโอกาสน้ำท่วม น้ำเสีย ประหยัดงบของภาครัฐให้เอาไปทำอย่างอื่นได้อีกมาก”

เจ-วศการ ทัพศาสตร์ กัปตันหนุ่มเจ้าของแบรนด์ตบชวา

Lessons Learned

  • สร้างจุดเด่นให้กับแบรนด์ แม้จะเกิดการลอกเลียนแบบหรือคัดลอกเท่าใด สินค้าของแบรนด์ก็ยังครองใจผู้บริโภค
  • สร้างวงจรให้กับสินค้า นอกเหนือไปจากการขายสินค้าอย่างเดียวแล้ว ตบชวาเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับธุรกิจในการเลือกวัสดุกันกระแทกและการขายของออนไลน์
  • หยิบจับปัญหาใกล้ตัวและมุ่งศึกษาจนรู้ถึงแก่น เพื่อนำมาแก้ปัญหาให้กลายเป็นธุรกิจได้

Writer

Avatar

ปณิตา พิชิตหฤทัย

นักเรียนสื่อผู้ชอบเล่าเรื่องแถวบ้าน ความฝันสูงสุดคือการเป็นเพื่อนกับแมวสามสีทุกตัวบนโลก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ