เรายืนมองรูปแปลกตาของบ้านโมเดิร์นอายุ 42 ปีหลังนี้ ความสนใจพุ่งไปยังเส้นสายและเหลี่ยมมุมที่ดีไซน์ตามขนบบ้านโมเดิร์นในยุค 80 ไม่นาน-ก่อนเจ้าของบ้านเดินออกมาต้อนรับ

ธีรนพ หวังศิลปคุณ เป็นนักออกแบบผู้ก่อตั้ง TNOP™ DESIGN เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นนักสะสม และเป็นคนย้ายบ้านบ่อย

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ในวัยเกือบ 50 ปี เขาย้ายบ้านเกินยกนิ้วขึ้นมานับหมด

เติบโตย่านบางขุนนนท์ ศาลเจ้าพ่อเสือ บางบัวทอง ในบ้านของครอบครัว ย้ายไปเรียนและตั้งต้นชีวิตทำงานอยู่ชิคาโกราว 25 ปี ระหว่างนั้นก็ย้ายที่อยู่อีก 6-7 ที่ เมื่อมีเหตุให้ต้องกลับไทยถาวร จึงปักโลเคชันย่านลาดปลาเค้าทำโฮมออฟฟิศ ปัจจุบันตัดสินใจโบกมือลามาอยู่ลาดพร้าว ในบ้านหลังใหม่ที่เจ้าตัวหมายใจว่าจะไม่ย้ายไปไหนอีกแล้ว

เขาเชื้อเชิญเราเข้าไป และเริ่มต้นเล่าเรื่องบ้านที่มีตัวตนของเขาอยู่ในนั้นให้ฟัง

บ้านเก่า

หลังตัดสินใจกลับมาอยู่ไทยถาวร ธีรนพแปลงโฉมบ้านย่านลาดปลาเค้าเป็นให้โฮมออฟฟิศ แต่ติดที่น้องๆ ในทีมเดินทางลำบาก เขาจึงมองหาที่อยู่ใหม่เพื่อขยับเข้าใกล้เมือง โดยเช่าคอนโดฯ ย่านลาดพร้าวเป็นออฟฟิศชั่วคราว ระหว่างนั้นเจ้าของบริษัทออกแบบขนาดเล็ก ก็มองหาบ้านหลังใหม่ขนาดใหญ่พอดีให้ดีพอเป็นทั้งบ้านและที่ทำงานเหมือนหลังเก่า

โจทย์มีไม่มาก ขอแค่ใกล้สวนสาธารณะ และใกล้รถไฟฟ้าในระยะเดินไหว

เขาตระเวนเข้าออกซอยนั้น ย้ายไปซอยนี้ หาอยู่ 5 ปี ก็ยังไม่มีบ้านหลังไหนประกาศขายสักที จนวันหนึ่งโชคดีเข้าข้าง เจ้าของบ้านย่านทำเลตรงใจ อยากหนีไปใช้ชีวิตหลังเกษียณที่เชียงใหม่ จึงติดประกาศขาย

“ผมเลือกบ้านหลังนี้เพราะฟังก์ชัน คือเข้ามาดูแล้วเห็นภาพเลยว่าจะทำอะไรกับมัน ท้าทายจนอยากมาอยู่ มาทำเอง พอเป็นบ้านเก่า เราต้องต้องยอมรับว่าทำระบบน้ำไฟใหม่หมด แต่ก่อนบ้านแถวนี้เป็นระบบน้ำประปาฝังดินด้วยนะ ข้างล่างเป็นบ่อเก็บน้ำหมดเลย ข้างบนเห็นเป็นช่องสี่เหลี่ยมอยู่ตรงที่จอดรถหน้าบ้าน ก็เก็บไว้อย่างนั้น ไม่กลบ อยากให้เป็นประวัติศาสตร์ของบ้าน” เขาเริ่มต้นเล่าหลังพาเราเดินขึ้นมานั่งคุยกันบนชั้นสองของบ้าน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

บ้านใหม่

ธีรนพเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน แต่ใช้เวลารีโนเวตไปร่วม 2 ปี เพราะกราฟิกดีไซเนอร์คนนี้ขอลงมือออกแบบและตกแต่งเองทุกขั้นตอน ทั้งเลือกช่าง เลือกวัสดุ แม้กระทั่งเดินระบบไฟ ซึ่งอาศัยทักษะจากการย้ายบ้านบ่อย และต้องซ่อมแซมบ้านเองอยู่เรื่อยๆ

“เราอยากทำให้บ้านหลังนี้กลับไปเป็นแบบแรกก่อสร้างมากที่สุด เริ่มจากลองสเก็ตช์แบบให้ช่างดูแล้วก็ทำเลย โครงสร้างภายนอกบ้านเราไม่ได้เปลี่ยนอะไรมาก เน้นการตกแต่ง ซึ่งก็ง่ายๆ ว่ามันเป็นเทสของเรา ทำแบบที่เราชอบนั่นแหละ” ว่าแล้วเขาก็เดินไปหยิบกระดาษเอสี่ที่บรรจงวาดด้วยมือหลายแผ่น สอดในแฟ้มอย่างดี และยังมีบิลทุกอย่างของบ้านนี้เก็บไว้มาประกอบ

“เวลาคุยโทรศัพท์แล้วช่างไม่เก็ต ผมจะวาดแล้วถ่ายรูปส่งไลน์ไป ถ้าบางงานช่างดูแล้วทำจริงไม่ได้เขาก็ช่วยแก้ อย่างหน้าบ้านผมเปลี่ยนมาไม่รู้กี่แบบแล้ว ถึงขนาดต้องวาดให้เขาดูด้วยว่าเปิดประตูเข้าไปแล้วจะเป็นแบบไหน” ธีรนพเล่าอย่างสนุก

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“เขาไม่ใช่ช่างที่ทำงานกับสถาปนิกโดยตรง คุยกันทีต้องลงสเป็กเป๊ะๆ หมด อย่างงานไม้เราก็ใช้ช่างที่ทำเฟอร์นิเจอร์ เวลาไปซื้อไม้ที่บางโพ ก็จะถ่ายรูปมาให้เราเลือก บางอย่างเราอยากใช้ไม้เก่าเขาก็จะช่วยเราเซฟตรงนี้ หรือโครงงานเหล็กที่เราอยากได้มันไม่มีขาย เขาก็ไปบ้านหม้อ โมฯ ให้ หรือหาซัพพลายเออร์มาช่างทำให้ คือช่างก็ตื่นเต้นที่ได้เป็นส่วนร่วม เพราะปกติจะเจอแต่แบบบอกให้ทำ อันนี้มีไอเดียมาอะไรก็จะเสนอ เขาช่วยเราเยอะเหมือนกัน”

บ้านใหม่หลังนี้ตั้งต้นจากของเก่าทั้งหมด ทั้งวัสดุเก่าโดยเฉพาะไม้จากฝ้า วงกบ บันได พื้นปาร์เก้ และของที่ตกทอดจากรุ่นปู่ สู่รุ่นพ่อ ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่อย่างโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ รวมถึงของสะสมชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่วางอยู่เต็มบ้าน ซึ่งเห็นแล้วทำให้นึกถึงตอนเด็กๆ เสมือนเป็นตัวแทนของครอบครัว

“เกิดมาก็เจอแล้ว ของพวกนี้อยู่มาก่อนผมอีก” เขาเริ่มเล่าต่อ

“จริงๆ เป็นคนที่ชอบบ้านโมเดิร์น เรียบๆ ขาวๆ แต่คิดว่าในชีวิตจริง คงอยู่ในแบบนั้นไม่ได้ ผมอยากอยู่บ้านที่มันมีชีวิต ไม่อยากเอาทุกอย่างไปเก็บจนเนี้ยบ ไม่อยากทิ้งของที่มี เลยลองหาความสมดุลกันระหว่างของเก่ากับของใหม่ จับเอานู่นเอานี่มาผสมให้อยู่ในไลฟ์สไตล์ เช่น กรอบรูปโบราณเอาไปใส่กระจก แล้วมาประดับบนผนังกับกรอบรูปงานศิลปะและผลงานของเรา”

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

จะว่าไป-การทำบ้านหลังนี้คล้ายวิธีใช้ชีวิตและการทำงานของเขา คือละเอียดละออ สร้างสรรค์ และมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากพื้นที่และฝีมือคนทำ

บ้านเส้นตรง-ตรงเส้น

ทาวน์เฮาส์โมเดิร์นอายุ 42 ปีหลังนี้มีสเปซประหลาด คือห้องนั่งเล่นมีพื้นที่สามเหลี่ยมยื่นต่อออกมา ถ้ามองจากหน้าบ้านจะเห็นว่าสามเหลี่ยมเฉียงยื่นออกมากับก้อนอาคารอีกด้านอย่างลื่นไหล พื้นที่ไร้เสาค้ำ (Cantilever) ทั้งสองฝั่ง ที่เดาว่าน่าจะอยากโชว์นวัตกรรมการก่อสร้างในยุคนั้น บวกกับการเป็นยุคโมเดิร์นที่สถาปนิกมักเล่นเส้นสายในการออกแบบ เลยทดลองค้นหารูปร่างเรขาคณิตไปพร้อมกับทำให้เป็นเส้นตรงที่ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่หลังคาจรดพื้นบ้าน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ไม่ใช่แค่บ้านหลังเก่าที่เล่นกับเส้น ดีเทลเล็กๆ น้อยๆ เมื่อรีโนเวตใหม่ก็เป็นเส้นตรงที่เยอะไม่ใช่เล่น

จากความชอบแพตเทิร์น เหลี่ยมมุม และทนไม่ได้เมื่อเห็นเส้นไม่ตรงเป๊ะ บ้านหลังนี้จึงเล่นกับกริด ตั้งแต่ตู้เก็บของที่แบ่งช่องให้ตรงกับช่องหน้าต่างและเส้นวงกบ การปูกระเบื้องกำแพงให้เหลื่อมแบบลายก่ออิฐ ส่วนผนังกระเบื้องห้องน้ำสีขาวที่แทบมองไม่เห็นยาวแนวก็ด้วย

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“ปกติช่างจะไม่ปูแบบนี้ ห้องน้ำนี้ช่างโกรธผมไปเลย ผมออกแบบลายให้เขาปูโดยที่กระเบื้องจะเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน สับหว่างกันไป ให้เส้นยาวแนวไม่ตรงกัน ช่างบอกว่ามันก็ขาวเหมือนกัน ดูไม่ออกว่ามันเป็นลาย เราก็บอกว่าไม่ได้ เวลายาแนวมันเปียกน้ำลายมันจะขึ้น เขาบอกว่าอะงั้นแล้วแต่” ดีไซเนอร์ผู้รักกริดตรงว่าพลางหัวเราะร่วน

แม้แรกๆ ช่างจะไม่ค่อยเข้าใจ แต่ระหว่างทำไปเขาก็สนุกที่ได้ทดลองออกแบบ และเรียนรู้ที่จะใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ หลังเห็นผลงาน เหล่าช่างต่างก็ชมเปาะว่าสวยเข้าท่าดีเหมือนกัน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ส่วนอีกชิ้นที่ภูมิใจนำเสนอ คือระแนงบังสายตาจากเพื่อนบ้าน เป็นลายแพตเทิร์นที่เขาออกแบบเองให้เชื่อมต่อกันกับกระเบื้อง และขอให้ช่างเหล็กช่วยสร้างสรรค์

ยามแดดส่อง เงาพาดผ่านบนกำแพงกลายเป็นงานศิลปะอีกชิ้น ราวกับธรรมชาติมาช่วยวาดให้ รอวันที่ต้นไม้เลื้อยจนเต็มผืน ลวดลายใหม่จะปรากฏ

บ้านช่อง-ห้องหับ

เมื่อเข้ามาข้างในบ้าน ก็พบกับความบันเทิงอีกอย่าง คือการเล่นระดับพื้นที่ภายในซึ่งช่วยให้บ้านมีมิติ ซับซ้อน และแบ่งสัดส่วนของแต่ละห้องไปในตัว รวมถึงช่องเปิดเล็กๆ มากมายที่เจ้าของบ้านเดิมปิดสนิทไว้

ธีรนพเล่นกับสเปซบ้านอย่างคุ้มค่ามาก การแบ่งช่อง แบ่งห้อง แบ่งฟังก์ชัน ทำให้บ้าน 3 ชั้นหลังนี้มีพื้นที่ใช้สอยราว 300 ตารางเมตร มีถึง 4 ห้องที่ทำเป็นห้องนอนได้

ชั้น 1 เป็นสตูดิโอเล็กๆ ให้พนักงานนั่งทำงาน ได้ราว 8 – 10 คน เขาเปลี่ยนที่จอดรถเดิมให้กลายเป็นคอร์ตยาร์ด เพื่อดึงแสงสว่างเข้าบ้านและไว้ปลูกต้นไม้ ตรงนี้ขอจดไอเดียปูพื้นไว้ สถาปนึก (เอง) คิดแก้ปัญหาการระบายน้ำลงท่อไม่ทันด้วยการชะลอพื้นที่รับน้ำ โดยปูพื้นสโลปลงทีละด้านไม่เท่ากัน จากมุมสู่มุม เพื่อไม่ให้เทลงไปในช่องเดียว

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ด้านหน้าปรับพื้นที่ให้เป็น Genkan หรือห้องเล็กๆ ตรงทางเข้า ไว้สำหรับเป็นที่ถอดรองเท้า อีกนัยก็ช่วยบังสายตาจากตัวบ้าน ซึ่งถ้าเดินผ่านประตูทะลุคอร์ตไปเป็นห้องประชุม ที่เดิมวางไว้ให้เป็นห้องนอนคุณแม่

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ถัดไปด้านหลังเป็นครัว เปิดประตูจากห้องประชุมได้

“พื้นห้องครัวเป็นหินอ่อน พอปูไปแล้วรู้สึกว่ามันดูแลยาก นิดหน่อยคือเลอะแล้ว แตกง่ายด้วย แต่เราให้มันดูเหมือนบ้านโบราณนิดๆ แบบบ้านยุโรป อิตาลีที่จะปูหินอ่อนหมดเลย ส่วนหินท็อปโต๊ะ ตอนแรกใช้หินอ่อนเพราะลายสวยกว่า พอคิดว่าต้องใช้งานเลยกลายเป็นแกรนิตแทน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“ตู้เก็บอุปกรณ์ชงกาแฟเราก็ออกแบบเองให้บานประตูมันสอดพับเก็บได้เพื่อเวลาใช้จะได้ไม่เกะกะ เตาอบนี่เพิ่งลองใช้ครั้งแรก ที่เพิ่งลงรูปในอินสตาแกรมไป ปกติถ้าว่างจะทำกับข้าวตลอด ข้างหลังเลยเป็นครัวทำอาหารจริงจังอีกห้อง แต่ตอนนี้แบ่งให้เหมา (สุนัขพันธุ์ปั๊กอายุ 9 ปี) อยู่ไปก่อน ตอนอยู่บ้านเก่าเราให้เขาวิ่งได้ทั่วบ้าน แต่ตอนนี้พื้นข้างบนเป็นปาร์เก้ กำลังหาวิธีให้เขาอยู่ด้วยได้โดยพื้นไม่พัง” นักอบขนมมือใหม่ว่า

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ชั้นสองเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่น ห้องนอนเล็ก และห้องทำงานที่ยืมห้องนอนพี่สาวมาใช้งานก่อน เช่นเดียวกับห้องคุณแม่ข้างล่าง

เพดานสูงโปร่งหลังแกะฝ้าเดิมออก ช่วยให้บ้านดูโล่งและกว้างขึ้น มีของแถมเป็นร่องรอยไม้ที่ปิดทับปูน เขาเลือกโชว์พื้นผิวเพดานไว้อย่างนั้น ไม่ทำอะไรเพิ่มนอกจากจับคมคานใหม่ให้ตรง และเก็บสายไฟด้วยท่อเหล็กสีเงิน

ส่วนพื้นที่สามหลี่ยมเป็นแบบดับเบิ้ลสเปซ เพดานสูงเกือบ 4 เมตร เขาทุบช่องเปิดเดิมซึ่งก่อบล็อกแก้วปิดไว้ออกหมดเพื่อให้บ้านกลับไปเป็นแบบเดิมมากที่สุด พอมีช่อง อากาศจึงไหลเวียนทั่วบ้าน ถึงไม่เปิดแอร์ก็ไม่รู้สึกร้อน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

แคร่กๆ ครูดดดดดด

เสียงรูดผ้าม่าน เผยให้เห็นหน้าต่างเรียงแถวสวยงาม ซึ่งเป็นของเดิมที่ขัดสีเก่าออกเพื่อโชว์ผิวไม้สักแท้

“ตอนที่เราสั่งทำม่านยาวต่อกันเป็นผืนเดียวแบบนี้ ช่างทำม่านแอบแซวว่า มันไม่เหมือนโรงละครหรอครับ (หัวเราะ) แต่ที่ต้องเปิดไปทางซ้าย เพราะฝั่งนี้มันเป็นมุมแหลม ม่านจะกองย่นๆ กัน” นักออกแบบเล่าสิ่งที่คิดแต่คนไม่เข้าใจอีกอย่างให้ฟัง

เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่ในห้องนี้เป็นของเดิมจากบ้านเก่าและขนกลับมาจากชิคาโก ทั้งตั่งสมัยอยุธยา เก้าอี้แกะสลักฝังมุกซึ่งเป็นของโบราณตกทอดมาจากกิจการครอบครัว และเดย์เบดหลังงามที่ข้ามซีกโลกมากับชั้นหนังสือในห้องทำงาน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“สมัยก่อนคุณพ่อผมเป็นช่างซ่อมเฟอร์นิเจอร์ คุณปู่เป็นคนซื้อของเก่ามาซ่อมแล้วขายต่อ เก้าอี้แกะสลักมุกตัวนี้เขาก็ทำเอง เป็นสไตล์จีน ทำจากไม้ชิงชัน อยู่ทนมาก ร้อยปีได้ ผมไปเจอแบบเดียวกันนี้ในมิวเซียมที่สิงคโปร์ อันนั้นอายุประมาณราชวงศ์หมิง”เขาเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ราวกับนึกย้อนไปในวันนั้น

ข้างห้องนั่งเล่นซ่อนห้องนอนแขกไว้อีกหนึ่ง ห้องนี้ธีรนพตั้งใจทำที่นอนบนชั้นลอยไว้ดูหนัง ให้ฟีลห้องใต้หลังคา แนวกึ่งๆ ลอฟต์ แต่ด้วยความที่หลังคาสโลป มีส่วนสูงสุดวัดได้เกือบ 3 เมตร ถ้าจะทำบันไดต้องมาแก้ปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เวลาเดินขึ้นแล้วหัวไม่กระแทกไปเสียก่อน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“เริ่มจากเปิดฝ้าเพดานออกทั้งหมด แล้ววัดจากเพดานลงมาสองเมตร อยู่ตรงไหนก็เริ่มทำบันไดจากตรงนั้น ค่อยไล่ลงมากับไต่ขึ้นไป ทีนี้ก็ต้องมาหารเฉลี่ยลูกตั้งว่ามันจะทำได้กี่สเต็ป คำนวณอยู่นานมากให้ลงตัว ถ้าสังเกตดีๆ แต่ละช่วงจะไม่เท่ากัน”

หลังทดสอบเดินขึ้นลงบันไดว่าหัวไม่ชนจริงไหม ธีรนพพาเราเดินมายังฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นห้องทำงานชั่วคราว 

“ห้องทำงานนี้เพิ่งย้ายขึ้นมาจากห้องประชุมข้างล่าง เพราะว่าของเราเยอะ โดยเฉพาะหนังสือ ส่วนมากเป็น Fiction ที่อ่านมาตั้งแต่เด็กๆ โตมากับการอ่านเลย ทุกอาทิตย์ที่บ้านจะกำหนดให้ไปอ่านเล่มหนึ่งจนติด และตอนอยู่ที่เมกา เวลาไปร้านหนังสือเก่า เราไปอยู่ตรงนั้น เดินคุ้ยหาได้ทั้งวันเลย มีความสุขมาก

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“ชั้นวางหนังสืออันนี้ที่บอกว่าขนกลับมาด้วย มันถอดออกเป็นชิ้นๆ ได้ ดีไซน์โดย Blue Dot ที่มินนีแอโพลิส (Minneapolis) มีโต๊ะทำงานอีกห้องที่เป็นดีไซเนอร์คนเดียวกัน เขาอินสไปร์มาจากเฟอร์นิเจอร์ยุค 60 ของ Eames มีความ Modernism เราชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ตอนแรกคิดว่าจะไม่รอด เพราะไม้อัดแบบนี้อาจโดนปลวกกิน หรือโดนความชื้นแล้วพอง ถึงตอนนี้ปรากฏว่ายังแข็งอยู่ ตอนวัดแล้วรู้ว่ามันลงล็อกกับระยะกำแพงและประตูเป๊ะเลย ตกใจเหมือนกัน เพราะของหลายอย่างที่นี่มันจะลงตัวพอดีจนแอบน่ากลัว บางทีเพื่อนมาเห็นจะแปลกใจว่าสร้างบ้านให้พอดีกับของหรือของมาก่อนบ้าน”

บ้านเลือกเจ้าของไว้แล้ว-ไม่ผิดแน่

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ชั้นสามเป็นห้องนอนส่วนตัว เพดานสูง ติดพัดลมดีไซน์เก๋เท่ที่ใบพัดไม้มีสีเดียวกับฝ้าและพื้น เจ้าของบ้านว่าถูกใจเป็นที่สุดเพราะเลือกเฉดได้เป๊ะ ส่วนตู้เสื้อผ้าสั่งทำใหม่ เขาบอกว่าสีเกือบใช่ แต่ดันเข้มกว่าหน่อย (เดียวเท่านั้น) 

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“ห้องน้ำนี้ตอนแรกมีฝ้าปิดเรารื้อออกเพราะต้องช่องสกายไลท์ เห็นแนวเส้นสีแดงไหม ตรงนั้นแหละ ผนังเป็นอิฐมอญแดง หลังคาเดิมเป็นกระเบื้องใส ว่าจะเอากระเบื้องขุ่นมาปิดทับอีกที แต่พอมองๆ ไปอย่างนี้ก็คอนทราสดี เลยเก็บไว้มองอดีตมัน”

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

อีกหนึ่งดีเทลที่ซ่อนอยู่ในบ้านหลังนี้คือการใช้คู่สีทาบ้านเพียง 3 แพนโทน นอกนั้นเป็นสีจริงของวัสดุทั้งสิ้น ข้างนอกทาด้วยสีไข่ไก่ ในห้องนอนเป็นสีเทาอมเขียว ภายในบ้านเป็นสีเทามุก เวลาแสงสาดเข้ามาบนพื้นผิว ยิ่งขับเน้นให้ของตกแต่งบนผนังเด่นชัด

ส่วนชั้นสามครึ่ง เปลี่ยนระเบียงตากผ้าให้เป็นกลาสเฮ้าส์ไว้ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ปลูกต้นไม้ ที่จริงจังขนาดติด LED Growlight และเปลี่ยนเป็นพื้นที่สังสรรค์ยามเพื่อนมาเยี่ยมได้อีกต่อ

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

บ้า (น) ของสะสม

คุณพ่อผู้เป็นนักสะสมของเก่าโดยอาชีพส่งไม้ต่อให้เขารับช่วงดูแลของเก่าเก็บ-จะเรียกมรดกตกทอดก็ไม่ผิด ทั้งปั้นน้ำชาที่มีร่วม 300 ชิ้น แบงก์ เหรียญ พระ ฯลฯ ส่วนสารพัดกล้องฟิล์มรุ่นเก่าของสองพ่อลูก เมื่อไม่ได้ใช้งานแล้วก็เอามาตั้งไว้เป็นของแต่งบ้าน

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

ตู้ถัดกันนั้นยัง ผ้าสวยๆ อายุหลายสิบปีเก็บไว้อีกมาก เป็นของที่เขาบอกว่าซื้อเพราะเรื่องเล่า บ้างก็ซื้อเพราะลวดลายการทอและสีสันของแพตเทิร์นแสนโมเดิร์น ทำเอาอดใจไม่ไหว ไล่ตั้งแต่ผ้าไหมมัดหมี่ ซิ่นตีนจก ผ้าพันคอ ผ้าจากเนปาล จากญี่ปุ่น พับเก็บไว้อย่างเป็นระเบียบ

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

น้อยคนจะรู้ว่าครั้งหนึ่งธีรนพในวัยเยาว์เคยสะสมเปลือกหอยด้วย แต่เมื่อรู้สึกว่านี่อาจเป็นการสนับสนุนให้คนไปจับหอยสวยๆ มาขาย เด็กชายเลยตัดสินใจเลิกสะสมตั้งแต่นั้น

และอีกอย่างที่ฟังเขาเล่าแล้วสนุกมาก คือการสะสมสติกเกอร์ที่ติดบนผลไม้ จนลามไปถึงสติกเกอร์ติดคอนแทคเลนส์ สติกเกอร์บนสินค้า ป้ายราคาของในซูเปอร์มาร์เก็ต ป้ายไซส์ แท็กกระเป๋า ป้ายยี่ห้อเสื้อ ตั๋วคอนเสิร์ต ห่อช็อกโกแลต และอีกหลายอย่าง ชนิดที่เรียกว่าถ้าเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วมีกาวแปะก็เก็บหมด

“จริงๆ มันเริ่มต้นจากสติกเกอร์ผลไม้ แล้วมันเริ่มลาม หนึ่งสิ่งที่ชอบก็คือการลอกสติกเกอร์ ไม่ให้ขาด มันท้าทาย ผมเคยลอกป้ายภาษีบนขวดไวน์ ขวดเหล้าที่เป็นแทบยาวๆ กาวแน่นๆ ได้ด้วยนะ อันนั้นแหละท้าท้ายมาก” นักสะสมรุ่นลูกเล่าติดตลก ก่อนเดินไปหยิบสมุดกว่า 30 เล่มออกมาให้ดู

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ
TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

“นี่เป็นส่วนหนึ่งนะ เมื่อก่อนผมฝึกวาดผลไม้ด้วยสีน้ำ พอไปซื้อผลไม้มาเป็นแบบวาดภาพเหมือน เลยต้องสะสมสติกเกอร์ของมันเอาไว้เพื่อมาใช้กับงาน วาดเสร็จก็เอามาแปะ” เขาเล่าต่อพลางเปิดสมุดไล่ไปทีละหน้า

“มันฝึกความกล้าในการทำงานศิลปะคอลลาจด้วยนะ ลบความไม่มั่นใจในการดีไซน์ได้ มันคือการลองแปะลงไปแบบไม่ต้องคิดมาก ถ้าไม่สวยก็จะเป็นการฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อีก มีอยู่ยุคหนึ่งที่ผมติดลงไปเป็นคัลเลอร์โค้ด ทุกหน้าจะเป็นสีเดียวกันหมด สนุกดี 

“อีกอย่างผมเก็บไว้ดูงานกราฟิก ดูฟอนต์ มันทำให้เห็นข้อแม้ของการออกแบบด้วยว่าเล็กขนาดนี้จะใส่อะไรได้บ้าง บางทีสะสมไปนานๆ เราจะรู้เทรนด์ของการเปลี่ยนแปลงจากมันได้ด้วย

“คนอื่นอาจจะมองเป็นขยะ แต่เราว่ามันเจ๋งดี มันมีดีเทลการออกแบบน่ะ”

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

บ้าน+งาน = สมดุล

บ้านหลังนี้ออกแบบให้ฟังก์ชันการใช้งานสมดุลกับสไตล์ที่ไม่ฝืนธรรมชาติ ชีวิตก็ต้องการสมดุลเช่นนั้น

“ตอนอยู่ลาดปลาเค้า เรารู้สึกว่าแยกความเป็นส่วนตัวกับงานไม่ออก ที่นี่เลยพยายามเอาประตูมากั้น ให้ชั้นสองและสามเป็นพื้นที่ของเรา อีกหน่อยข้างบนอาจเป็นห้องครัวด้วย ตื่นเช้ามาก็ทำกินตรงนั้นเลย พอออกประตูไป ก็เป็นห้องทำงานของเรา ลงไปก็เป็นออฟฟิศ

“จริงๆ อยากให้สเปซการทำงานลงตัวกว่านี้ ตอนนี้ห้องทำงานของเราอยู่บนชั้นสอง แต่เราอยากอยู่กับน้องๆ ข้างล่าง เพราะไม่ค่อยเชื่อเรื่องการแยก มันทำให้มองว่าเป็นเจ้านาย หัวหน้ากับลูกน้อง ตอนแรกผมทำงานอยู่ในห้องกระจก เขาก็จะเดินมาหาแบบนั้นรู้สึกโอเค แค่ว่ามันเล็ก ของเราเยอะ อยากจะเอาตู้หนังสือลงมาก็ไม่ได้ เลยเป็นแบบนี้ไปก่อน

“ผมอายุห่างกับน้องๆ เยอะมาก เลยรู้สึกว่าการลงไปอยู่ด้วยกันแบบไม่แบ่งมันทำให้ไม่มีกำแพง ไม่มีช่องว่างระหว่างวัย และเป็นกันเอง เราคุยกันได้ทุกเรื่องไม่ใช่แค่งาน ซีรีส์ แม้กระทั่งปัญหาส่วนตัว บางทีมันจะมีผลกับงาน เขาไม่ไม่รู้จะไปคุยกับใครหรือไม่กล้าพูด ได้ ก็มาบอกกับเราได้ มันเป็นสิ่งที่ดีในเรื่องการทำงานร่วมกันเลยอยากให้สเปซช่วยลดตรงนี้

“ใช้สเปซเดียวกันเท่ากันคือคำตอบ”

บ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายมาแล้วมากกว่า 10 หลัง

บางขุนนนท์-ศาลเจ้าพ่อเสือ-บางบัวทอง-สุวินทวงศ์-ชิคาโก-ลาดปลาเค้า-ลาดพร้าว

เขาย้ายบ้านบ่อย เลยไม่ค่อยรู้สึกว่าที่ไหนเป็นบ้านของตัวเองจริงๆ เท่าหลังนี้

“บ้านในความหมายของเราน่าจะเป็นที่สุดท้ายที่เข้ามาแล้วเป็นตัวของตัวเองที่สุด เพราะเท่าที่อยู่มามันมีข้อแม้ที่เราไม่สามารถเป็นตัวเอง ทั้งเรื่องเช่า เรื่องที่เราต้องอยู่กับคนอื่น และก็ต้องเป็นพื้นที่เซฟความปลอดภัย เป็นพื้นที่ที่เราไม่รู้สึกอายถ้าจะนำเสนอมุมมองของเราด้วย ณ ตอนนี้ที่นี่ก็เป็นอย่างนั้น และก็เวิร์กที่สุดละ มีที่ให้ปลูกต้นไม้ อยู่ใกล้สวนสาธารณะให้ไปวิ่ง และทำออฟฟิศก็ได้เพราะมีครบทุกอย่าง ห้างฯ ธนาคาร ไปรษณีย์ รถไฟฟ้า ขับรถไปสอนที่ ม.รังสิต ออกตรงวิภาวดีได้

“ในอายุเกือบจะห้าสิบปี น่าจะเรียกว่าที่นี่ว่าเป็นบ้านได้แล้วสำหรับผมนะ ไม่คิดว่าจะย้ายไปไหนแล้ว เพราะย้ายแต่ละทีมันเหมือนเริ่มต้นใหม่ แล้วพอเริ่มต้นใหม่เราก็จะคิดว่าไม่ใช่บ้านเรา เดี๋ยวก็ต้องย้ายอีก เลยไม่เคยคิดว่าจะจัดอะไรให้มันลงตัว จนมาที่นี่แหละ เราบอกกับทุกคนไว้ว่าจะไม่ย้ายแล้ว” ธีรนพทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

TNOP™ DESIGN โฮมออฟฟิศที่คิดจะอยู่เป็นบ้านหลังสุดท้ายของชายผู้ย้ายบ้านบ่อย, ธีรนพ หวังศิลปคุณ

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล