“ไปนอนอ่านหนังสือที่ห้องสมุดกันไหม”

ตอนได้ยินคำชวนครั้งแรกก็นึกประหลาดใจว่าทำได้ด้วยหรอ เพราะย้อนกลับไปเมื่อ 16 ปีก่อนสมัยยังอยู่ชั้นประถม เราคุ้นเคยกับการนั่งหลังตรงในห้องสมุด เผชิญหน้ากับความเงียบสงบซึ่งเหมาะแก่การเพ่งสมาธิอ่านหนังสือ หันซ้ายไปขวา ก็มักเจอป้ายเตือนว่า ห้ามหลับ ห้ามส่งเสียงดัง

จนได้รู้ว่าสถานที่ในคำชวนนั้น คือ TK Park ห้องสมุดแนวคิดใหม่ ใหม่เสียจนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า ในพื้นที่ขนาดเล็กนั้น จะบรรจุอะไรนอกจากหนังสือไว้ เมื่อได้ลองเข้าไปใช้งาน ก็พบว่ามีทั้งโซนรังผึ้งที่ให้เข้ามานอนอ่านหนังสือได้จริงๆ เป็นห้องสมุดแห่งแรกที่ทำแบบนี้ได้ แถมยังทดลองเล่นอูคูเลเล่ที่ห้องสมุดดนตรี ชวนคุณพ่อคุณแม่ไปนั่งดูหนังในมินิเธียเตอร์ ทดลองเล่นที่ลานสานฝัน จากนั้นก็ต่อคิวรอยืมหนังสือเป็นตั้งกลับบ้านได้ด้วย สมกับชื่อ ‘ห้องสมุดมีชีวิต’ จริงๆ

ส่องโฉมใหม่ TK Park ไม่ใช่แค่สวย แต่มีระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้และความสนุกให้คนทุกวัย

มาถึงวันนี้ เราได้ยินข่าวคราวอีกครั้งว่าบนชั้น 8 ของเซ็นทรัลเวิลด์ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ครบวงจรขนาดประมาณ 3,000 ตารางเมตรกำลังพลิกโฉมใหม่ เรียกได้ว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงในรอบทศวรรษ และแน่นอนว่าไม่ใช่แค่ห้องสมุดอย่างที่เราๆ เข้าใจอีกต่อไป เพราะกำลังจะกลายเป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้สำหรับคนทุกวัย เข้าถึงได้แม้ในพื้นที่ห่างไกล โดยมุ่งสนับสนุนการพัฒนาทักษะใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์

ส่องโฉมใหม่ TK Park ไม่ใช่แค่สวย แต่มีระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้และความสนุกให้คนทุกวัย

ฟังแล้วน่าตื่นเต้น ก่อนแวะไปเยี่ยมชมดูห้องสมุดฉบับใหม่ที่ไฉไลกว่าเก่า เราขอพาไปพูดคุยกับ กิตติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ถึงแนวคิดเบื้องหลังในรอบ 16 ปีตั้งแต่จุดเริ่มต้น การปรับโฉม และก้าวต่อไปที่กำลังจะเกิดขึ้น

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เมืองแห่งการเรียนรู้

เรามีห้องสมุดไปทำไมกัน 

ในยุคที่เราเรียนออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ การค้นหาความรู้หรือข้อมูลข่าวสารทำได้แสนง่ายดายผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ศูนย์การเรียนรู้หรือห้องสมุดก็ยังมีความจำเป็นและควรมีอยู่ต่อไปด้วยเหตุผลด้านกายภาพ ซึ่งก็ต้องปรับตัวตามการหมุนเปลี่ยนของโลก

ผู้อำนวยการกิตติรัตน์ขยายความคำว่า ‘กายภาพ’ ให้ฟังว่า ห้องสมุดเป็นส่วนการเรียนรู้พาร์ตใหญ่ๆ ที่การเรียนออนไลน์ให้ไม่ได้ เพราะมนุษย์ยังต้องมี Social Interaction หรือการปฏิสัมพันธ์ต่อกัน รวมไปถึงทักษะทั้งหลาย อย่างความคิดสร้างสรรค์ หรือการออกแบบเชิงความคิด (Design Thinking) ซึ่งต้องส่งผ่านด้วยวิธีทางกายภาพ

“ห้องสมุดเลยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะเหล่านี้ให้กับคน ขนาดที่ฟินแลนด์ ประเทศที่การศึกษาที่ดีที่สุดในโลก รัฐบาลยังเปิดห้องสมุด Oodi Helsinki Central Library ฉลองครบรอบร้อยปีให้กับคนของเขา นี่จึงยืนยันว่าพื้นที่แบบนี้ยิ่งมีเยอะยิ่งดี เพราะทำให้คนเติบโตและเรียนรู้ได้มาก”

ประเทศไทยเองก็มองเห็นความสำคัญของสิ่งก่อสร้างเชิงกายภาพเช่นนี้ และคิดถึงคนที่หลุดจากระบบการศึกษาทางหลัก จึงเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ​2548

ส่องโฉมใหม่ TK Park ไม่ใช่แค่สวย แต่มีระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้และความสนุกให้คนทุกวัย

“ตอนนั้นภาครัฐอยากบริหารจัดการความรู้ TK Park จึงจัดตั้งขึ้นมาพร้อมๆ กับองค์กรอื่น อย่าง TCDC (Thailand Creative & Design Center) และมิวเซียมสยาม เป็นเสมือนซอฟต์แวร์มนุษย์เพื่อพัฒนาศักยภาพคนไทย ซึ่งเราเองก็อยากเติมเต็มสิ่งที่ผู้คนต้องการเรียนรู้นอกเหนือจากการศึกษาภาคบังคับ ให้คนทั่วไปนำความรู้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต อาชีพ รวมถึงมีศักยภาพการแข่งขันให้ประเทศก้าวต่อไปได้”

มองภาพต่อมาในระยะเวลานับสิบปี ที่นี่เคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ถึง 2 ครั้ง ล่าสุด นอกจากต้องซ่อมแซม จึงถึงเวลาปัดฝุ่นองค์กรครั้งใหญ่ พร้อมปรับตัวสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน

“ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมการอ่านไปจนถึงการใช้พื้นที่ก็เปลี่ยนตาม ทุกวันนี้ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่ทำงาน เป็นมากกว่าพื้นที่ที่เข้ามายืมหรืออ่านหนังสือแล้ว” 

เขายังเสริมอีกว่า เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งเร้า กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นอีก เพราะในช่วงเวลานี้ผู้คนทุกวัยหันมาเรียนรู้ อ่านหนังสือ ลองผิดลองถูกในทักษะใหม่ๆ หรือสิ่งที่ตัวเองขาดไปมากขึ้น จึงถึงเวลาที่ TK Park ต้องปรับตัวเองบ้าง จากห้องสมุดมีชีวิต จึงขยายให้เป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้

แล้วอะไรคือระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ว่า การเดินทางต่อจากนี้จะช่วยให้เราค้นพบคำตอบ

สถาบันอุทยานการเรียนรู้โฉมใหม่

เรามีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมสถานที่หลังจากกลับมาเปิดบริการอีกครั้งหลังคลายล็อกดาวน์ ภายในพื้นที่โฉมใหม่มีไฮไลต์ทั้งหมด 5 โซน ผู้อำนวยการกิตติรัตน์บอกกับเราว่า มีคนแวะเวียนมายืมหนังสือกันมากมาย และทุกส่วนของพื้นที่การเรียนรู้ถูกออกแบบมาให้พร้อมรับกับสถานการณ์โรคระบาด ทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่สร้างความมั่นใจให้ผู้มาใช้บริการ ตั้งแต่การทำความสะอาดทุกชั่วโมง มีแอลกอฮอล์ในทุกจุด ไปจนถึงเครื่องอบ UV

จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

และเพื่อลดการสัมผัสให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่เริ่มเดินเท้าเข้ามา ก็ใช้แอปพลิเคชัน MyTK สแกน QR Code จ่ายค่าสมาชิกหรือค่าปรับได้เลย รวมไปถึงจุด Smart Library ให้สมาชิกยืม คืน ต่ออายุ ผ่านระบบอัตโนมัติ

จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย
จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย
จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

จากโซนรังผึ้งที่คนชอบมาเช็กอินถ่ายรูป หรือเป็นพื้นที่ปีนป่ายของเด็กๆ ก็กลายเป็นโซนของเล่น Toy Library ซึ่งพัฒนาร่วมกับ PlanToys เต็มไปด้วยของเล่นจากวัสดุธรรมชาติ พร้อมหนังสือคุมธีมคัดสรรโดยเหล่าบรรณารักษ์ เพื่อให้เจ้าตัวน้อยเรียนรู้เสริมทักษะไปพร้อมกับความสนุก

จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

“เราค้นพบว่าเด็กๆ ที่มาที่นี่อยากได้ของเล่น พอเกิดโควิด-19 ขึ้น เราก็คิดว่าของเล่นพวกนี้น่าจะให้ยืมกลับไปเล่นที่บ้านได้ เลยทำบริการส่งชุดของเล่น พร้อมกับหนังสือที่คัดมาแล้วว่าไปในแนวทางเดียวกัน” 

กิตติรัตน์อธิบายแนวคิดที่เรียกว่า Library of Things ซึ่งมีมากขึ้นในช่วงที่ผู้คนต้องอยู่กับบ้าน อีกหนึ่งความตั้งใจที่อยากให้เกิดขึ้นบ้างในไทย

จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย
จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park มีฐานข้อมูลหนังสือฟรีอย่าง E-Library ซึ่งพัฒนาไว้ก่อนที่โลกออนไลน์จะฮิตราว 10 ปี จากที่มีทั้งหมด 7,000 รายการ ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 30,000 รายการ และมีถึง 4 ฐานข้อมูล เป็นระบบหนังสือออนไลน์ดีที่สุดแห่งหนึ่งของไทย แต่ถึงอย่างนั้น ก็เชื่อว่าหลายคนยังโหยหาหนังสือเล่ม ที่นี่เลยมีบริการ Book Delivery ส่งหนังสือไปให้ยืมถึงบ้าน และส่งข้ามจังหวัดได้ด้วย อยากอ่านเล่มไหนก็ไร้อุปสรรค

จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

สำหรับพื้นที่อ่านหนังสือ (Reading Space) ก็เพิ่มมุมนิตยสารขึ้นมา ซึ่งผู้อำนวยการแอบกระซิบว่า หนังสืออันดับหนึ่งที่ครองใจคนที่เข้ามาใช้บริการ คือเหล่านิตยสารเล่ม และเมื่อกวาดสายตาโดยรอบ จะเห็นพื้นที่โปร่งโล่ง พร้อมไฟส่องสว่างประจำโต๊ะ เปลี่ยนจากการใช้แสงสีเหลืองเป็นแสงสีขาว เพื่ออรรถรสในการอ่านหนังสือ รวมไปถึงมุมนั่งอ่านหนังสือที่เป็นส่วนตัวมากขึ้นแม้จะอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ออกแบบลักษณะคล้าย Phone Booth ให้คนขลุกตัวได้ แถมด้วยที่นั่งหลายรูปแบบรองรับทุกอิริยาบถ ซึ่งยังคงเอกลักษณ์ให้มานั่งหรือนอนอ่านหนังสือตามแต่จะเลือกสรร

จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

และที่ถือว่าเป็นมุมใหม่มากๆ คือ Book Wall & TK Cafe สร้างบรรยากาศไว้เสิร์ฟเครื่องดื่มและขนมเคล้าการอ่านหนังสือ มาที่เดียวก็ได้ความรู้ทั้งการหย่อนกายใจ

จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงต้นแบบเรื่องพื้นที่ห้องสมุดใจกลางกรุงเท่านั้น สิ่งที่พวกเขาทำยังไม่หมดแค่นี้!

การเรียนรู้เพื่อเข้าใกล้ความฝัน

ระหว่างการสนทนา ผู้อำนวยการกิตติรัตน์ยกประเด็นเรื่องความฝันกับเด็กไทยขึ้นมาเล่าได้อย่างน่าสนใจ จากการประเมินคุณภาพแรงงานในอนาคต ผ่าน ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) ของธนาคารโลกใน พ.ศ. 2563 พบว่า ไทยได้ค่าดัชนีที่ 0.61 จาก 174 ประเทศ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและของภูมิภาคเล็กน้อย แต่คะแนนตัวแปรด้านการศึกษาในการทดสอบเชิงเหตุผล กลับมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าในระดับอาเซียน

 “เวลาคุณมีฝันอะไรก็ตาม ต้องหารสองนะ นี่คือศักยภาพที่ประเทศไทยในปัจจุบันให้ได้ เราจึงจำเป็นต้องขยายโครงการสร้างการเรียนรู้ออกไป เพื่อให้มีพื้นที่ช่วยรองรับ หรือพาพวกเขาไปใกล้ฝันนั้นมากขึ้น”

นั่นเป็นหมุดหมายให้ขยายจากห้องสมุดไปถึงการฝึกทักษะยุคใหม่ที่เรียกว่า ‘21st Century Skills’ อย่างทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานร่วมกัน หรือความเห็นอกเห็นใจ เหล่านี้เป็นทักษะแห่งอนาคตหรือ Future Skills ซึ่งอาจไม่ได้มีสอนในการศึกษาภาคปกติ และทักษะพวกนี้จะสอนกันเดี่ยวๆ ไม่ได้ แถมคนแต่ละช่วงวัยก็ต้องการทักษะแบบนี้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดกิจกรรมจึงหลากรูปแบบ 

เช่น โครงการ TK DreamMakers กิจกรรมจุดประกายความฝันร่วมกับ School of Changemakers ให้เยาวชนกลุ่มประถมจนถึงมัธยมปลาย ในพื้นที่ภาคีเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้จังหวัดต่างๆ ลงพื้นที่หาโจทย์ปัญหาทางสังคม ทั้งเรื่องวัย ความหลากหลายทางเพศ ความบกพร่องทางร่างกาย และความแตกต่างทางชาติพันธุ์ แล้วรวมไอเดียกันเพื่อหาทางออก 

การทำเช่นนี้ ช่วยให้เด็กๆ ได้คิดจริง ทำจริง และใช้งานการแก้ปัญหานั้นจริง นอกจากพวกเขาได้เรียนรู้ทักษะชีวิตที่จะใช้ต่อยอดสำหรับอาชีพในอนาคต ยังช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นสังคม ซึ่งคุณกิตติรัตน์บอกว่า โครงการนำร่องนี้เป็นอีกหนึ่งความท้าทาย เพราะต้องทำกันออนไลน์ทั้งหมด แต่ก็เห็นแนวโน้มที่ดีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือการสร้าง Maker Space หรือพื้นที่รองรับนักนวัตกรรมสำหรับการเรียนรู้ความคิดเชิงการออกแบบ ซึ่งร่วมทำงานกับ FabCafe Bangkok เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี เปิดให้เด็กๆ และผู้คนที่สนใจ มีโอกาสเข้าถึงและใช้งานเครื่อง 3D Printer เพื่อสร้างชิ้นงานและทำงานร่วมกันภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

TK Park จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

การเรียนรู้ที่เข้าใกล้ชุมชน

ไม่เฉพาะตั้งอุทยานการเรียนรู้ในกรุงเทพฯ TK Park ยังขยายโมเดลการสร้างการเรียนรู้นี้ออกไปทั่วประเทศพร้อมๆ กันตั้งแต่เริ่ม

“เราร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีงบประมาณแต่ยังขาด Know-how ไปช่วยหาแนวทางและเริ่มตั้งต้นการสร้างห้องสมุดให้ หรือ Library Automation แล้วขยายไปที่อื่นให้ได้มากที่สุด

“ลงไปใต้สุดเลยที่จังหวัดยะลา สร้างพร้อมกับที่เราก่อตั้งปีแรกๆ” คุณกิตติรัตน์เฉลย หลังให้ลองทายเล่นๆ ว่าจากเครือข่ายสถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park 29 แห่ง ใน 22 จังหวัด พวกเขาขยายไปที่ไหนเป็นที่แรก ซึ่งที่ยะลานั้น กลายเป็น People Space ไปโดยปริยาย

“เวลาลงไปสร้างศูนย์การเรียนรู้กับชุมชน เราต้องทราบความต้องการของคนในพื้นที่ด้วย จากห้องสมุดมีชีวิตจึงกลายเป็นศูนย์กลางชุมชน เพราะชาวบ้านมาจัดประชุม ทำกิจกรรม จนถึงฝึกอบรมคนในชุมชน แถมวิธีนี้ยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทำได้หลายฟังก์ชันในพื้นที่เดียว” เขาเสริม

ในแต่ละปี TK Park จะขยายเครือข่ายไปยังจังหวัดใหม่ๆ เสมอ ในปีนี้เพิ่มขึ้นมาอีก 2 แห่ง ได้แก่อุทยานการเรียนรู้ปราจีนบุรีและอุทยานการเรียนรู้กระบี่

“ตั้งต้นลงไปสัมภาษณ์คุณครู ชุมชน เด็กๆ และผู้บริหารพื้นที่ ว่าพวกเขามองอนาคตของพื้นที่นี้กันอย่างไร จากนั้นเราก็ใช้วิธี Tailor Made หรือจัดสื่อการเรียนรู้ให้เหมาะกับสิ่งที่เขาต้องการ ไม่เคยใช้วิธี One-size-fits-all ในการสร้างห้องสมุดเลย เพราะอยากให้เกิดความเฉพาะทางในแต่ละพื้นที่ อย่างเช่นจังหวัดกระบี่ เราเริ่มกันจากศูนย์ เป็น TK Park ที่แรกที่ติดทะเลและท่าเรือไปเกาะพีพี ถ้าเปิดใช้งาน ต้องมีนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านแวะมา ก็เน้นหนังสือต่างประเทศและเรื่องการท่องเที่ยวมากหน่อย

“ส่วนที่จังหวัดปราจีนบุรี ก็ใช้วิธีการเดียวกัน เข้าไปเปลี่ยนห้องสมุดให้สนุกขึ้น เน้นเรื่องสมุนไพรที่เป็นทุนเดิมในพื้นที่เข้าไป ตอนนี้ห้องสมุดทั้งสองแห่งเสร็จหมดแล้ว ถ้าเปิดเมื่อไหร่ ก็เชื่อว่าจะเป็นศูนย์กลางชุมชนได้เช่นกัน” ผู้อำนวยการบอกเล่าความตั้งใจในพื้นที่ใหม่

และจากการลงพื้นที่สำรวจการใช้งานจริงในหลายจังหวัด เขาพบความว่านี่เองคือความหวังในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งเกิดจากเรี่ยวแรงหลักนั่นก็คือ ‘คน’ ซึ่งมาพร้อมกับความต้องการพัฒนาทักษะความสามารถและความสนใจใคร่รู้ในเรื่องใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของพวกเขาเอง โดยนัยยะคือ เมื่อมีชีวิตที่ดี ก็เป็นส่วนผลักดันประเทศให้เดินหน้า

นอกจากอุทยานการเรียนรู้ในเมืองใหญ่ TK Park ยังร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ในระดับชุมชนอีกประมาณ 300 แห่ง ศูนย์เรียนรู้ในระดับตำบล 200 แห่ง ห้องสมุดมีชีวิตในโรงเรียน 76 แห่งใน 76 จังหวัด และห้องสมุดมีชีวิตในค่ายทหารอีก 20 แห่ง ไปจนถึงห้องสมุดในเรือนจำ

ทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตอบโจทย์คนทุกช่วงวัย ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เน้นการเชื่อมต่อทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เข้าถึงได้มากและกว้างไกลไปทั้งประเทศ เป็นระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

TK Park จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

การเรียนรู้นี้สอนให้รู้ว่า

การพัฒนาแหล่งการเรียนรู้มากมายกว่าทศวรรษ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ความท้าทายจึงเกิดขึ้นมากตามขวบปี

“เวลาขยายไปในต่างจังหวัด ถ้าส่วนท้องถิ่นเข้ามาหา แล้วบอกว่าเขาอยากทำ จะง่ายกว่าบางพื้นที่ที่เขาไม่อินหรือไม่รู้จักเรา

“อีกข้อหนึ่งคือการเปลี่ยนทัศนคติคนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ จากสถิติในรอบสามถึงสี่ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการอ่านของคนไทยดีขึ้นนะ สมัยก่อนที่วัดการอ่านเป็นบรรทัด ตอนนี้เราวัดเป็นนาที จาก พ.ศ. 2554 ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอ่านหนังสือสามสิบห้านาทีต่อวัน พ.ศ. 2558 ขึ้นมาเป็นหกสิบหกนาที ครั้งล่าสุด พ.ศ. 2561 ขึ้นเป็นแปดสิบนาทีต่อวันจากการอ่านทุกรูปแบบ และมากขึ้นกลุ่มนักเรียนอายุหกถึงสิบสี่ปี 

“แต่กลุ่มคนอายุสิบห้าและยี่สิบห้าปีขึ้นไป ไม่ชอบอ่านหนังสือสูงกว่าสามสิบเปอร์เซ็นต์และสามสิบสามเปอร์เซ็นต์ ซึ่งผมมองว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่ท้าทายมากว่าจะส่งเสริมให้เขาหันมารักการอ่าน แล้วในยุคสมัยที่คนชอบดู TikTok อ่านสเตตัสในเฟซบุ๊กมากกว่า เราควรเปลี่ยนทุกอย่างให้สั้นลงตามไปด้วยไหม TK Park จะตอบเลยว่า ไม่ เพราะอะไรรู้ไหม

“ยิ่งคนมีสมาธิจดจ่อน้อยลง ยิ่งต้องทำให้คนโฟกัสทำอะไรได้นานๆ เราเลยใช้การอ่านเป็นต้นทาง พออ่านเยอะ คุณจะเริ่มอยากรู้มากขึ้น และลงลึกจนต่อยอดเป็นทักษะไปใช้ได้ นี่เลยเป็นเหตุผลที่เราทำระบบนิเวศการเรียนรู้เป็นโครงข่าย เพราะสุดท้ายโจทย์เล็กในการพัฒนาคน จะไปตอบโจทย์ใหญ่ คือเป้าหมายในการเรียนรู้ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มได้ รวมถึงคนที่ไม่ชอบการอ่านด้วย” ผู้อำนวยการย้ำจุดประสงค์และความตั้งใจที่อยากพัฒนา TK Park ไปให้ถึง

TK Park จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

การเรียนรู้ในอนาคต

ในอนาคตระยะใกล้ นอกจากพัฒนาการอ่าน ทำงานกับพาร์ตเนอร์กับหลายหน่วยงานมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ต่อไป ตลอดจนขยายอุทยานการเรียนรู้ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเติมแหล่งเรียนรู้สาธารณะเพื่อพัฒนาคนให้กับประเทศ พวกเขายังพยายามตามเทรนด์ให้ทัน และไม่ลืมพัฒนาคนทำงานของเราเองให้มีทักษะใหม่ๆ เพื่อส่งต่อ Growth Mindset ให้กับคนรับปลายทางอยู่เสมอ

สำหรับแผนในระยะยาว คือการเน้นกิจกรรมส่งเสริมเรื่อง Future Skills ให้คนมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไปถึงความฝัน รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้กันตลอดชีวิต

“ถ้าให้ผมพูดในฐานะคนอายุห้าสิบกว่านะ มันไม่มีเวลามาให้เสียแล้ว จะเรียนรู้อะไรสักอย่าง อ่านหนังสือสักเล่ม ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอ่านไปทำไม สิ่งนี้จะกลายเป็นทักษะในการอยากเรียนรู้ (Learning to Learn) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ของผู้คน เมื่อคนคิดเป็น วิเคราะห์ปัญหาออก ก็จะเห็นโอกาสในการพัฒนาประเทศได้”

และแผนขับเคลื่อนต่อไป คือการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ของยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งกิตติรัตน์อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า “หลังจากผ่านโจทย์เมืองหนังสือโลกมาแล้ว เราอยากเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Inclusive Learning) ทั้งผู้ด้อยโอกาส คนที่หลุดจากระบบการศึกษา คนพิการ หรือคนที่เข้าถึงระบบการศึกษาไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยได้เป็นอยู่สี่เมือง คือ เชียงรายเป็นที่แรก ภูเก็ต เชียงใหม่ และฉะเชิงเทรา ซึ่งเราดีใจที่ได้เป็นพาร์ตเนอร์ช่วยขับเคลื่อนในเรื่องนี้” 

เราเชื่อเสมอว่าการเรียนรู้ที่ดี คือการเรียนรู้ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้ และเป็นเรื่องอะไรก็ได้ที่พวกเขาสนใจ ไม่เฉพาะในด้านวิชาการเท่านั้น ซึ่งพื้นที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ทำให้เห็นแล้วว่า แม้จะเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ แต่ผลลัพธ์จากการพัฒนาจะขยายวงกว้างต่อไปอย่างมหาศาล

“TK Park เชื่อเรื่องการสร้างพื้นที่การเรียนรู้แบบสาธารณะที่ผู้คนเข้าถึงได้มาตลอด ไม่มีทางที่จะพัฒนาทุกอย่างแต่ไม่พัฒนาคน เพราะมนุษย์เป็นรากฐานที่ทำให้ประเทศไปต่อได้ และแน่นอนว่าเพื่อให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น เราทำคนเดียวไม่ได้” ผู้อำนวยการทิ้งท้าย ซึ่งตอกย้ำแนวคิดการก่อตั้ง TK Park ตามนิยาม ‘พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของทุกคน’ อย่างชัดเจน

TK Park จากห้องสมุดมีชีวิต สู่ต้นแบบพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและความฝันทุกรูปแบบ ให้เข้าถึงคนทุกที่-ทุกวัย

Writer

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ฉัตรชนก ชโลธรพิเศษ

ชาวนนทบุเรี่ยน ชอบเขียน และกำลังฝึกเขียนอย่างพากเพียร มีความหวังจะได้เป็นเซียน ในเรื่องขีดๆ เขียนๆ สักวันหนึ่ง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน