ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นของเด็กสถาปัตย์หรือเด็กสายอาร์ต คืออะไร

ติ๊กตอก ติ๊กตอก…

ก่อนส่งโปรเจกต์นั่นเอง

พวกเขาทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจให้กับงานที่ได้รับมอบหมาย ผ่านความเครียด ความอ่อนล้า นั่งอยู่หน้าจอหรือบนโต๊ะนานหลายชั่วโมง บางทีก็ข้ามวันข้ามคืน อดหลับอดนอนจนแทบจะลืมตาไม่ขึ้น และใช่ว่าทุกอย่างจะผ่านไปอย่างราบรื่น บางโปรเจกต์ต้องเติมวัสดุอุปกรณ์สำหรับเสกชิ้นงาน หรือต้องส่งพรินต์งานเพื่อนำเสนอ ฉะนั้น ร้านเครื่องเขียนกับร้านพรินต์ แทบเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ

เด็กสายอาร์ตในรั้วมหาลัยแถวสามย่านคงจะคุ้นหูกับชื่อ ‘ร้านพี่จุ้ย’ หรือไม่ก็เป็นลูกค้าประจำด้วยซ้ำ ดูจากปรากฏการณ์ความแมสในโลกออนไลน์ช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งร้านพี่จุ้ยเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวางจากการเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้เด็กหลายคนเรียนจบมาได้

พี่จุ้ยทำอย่างไรถึงครองใจเด็ก ๆ ได้อย่างท่วมท้น

เราจึงชวน จุ้ย-ธนเศรษฐ์ ทิพยตั้งสกุล เจ้าของร้านพี่จุ้ยในตำนาน มานั่งจับเข่าคุยถึงหลักคิด การปรับตัว และก้าวต่อไปของร้านกัน!

ร้านพี่จุ้ย จุฬาฯ ร้านพรินต์ในสามย่านที่ทำธุรกิจแบบเอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน เป็นเพื่อนคู่คิดของเด็กสถาปัตย์และเด็กอาร์ต

ก้าวแรกสู่ร้านพี่จุ้ย

เรียก ‘ร้านพี่จุ้ย’ กันจนติดปาก แต่ร้านมีชื่อเต็มอยู่นะ

ชื่อเต็ม ๆ ของร้านคือ ‘TIPS Design Concept’ หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเครื่องเขียนหรืองานพรินต์เลย เพราะแรกเริ่มเดิมทีพี่จุ้ยเช่าอาคารใหญ่ในสามย่าน เพื่อเปิดออฟฟิศรับงานออกแบบ แต่พื้นที่ชั้นล่างเหลือ จึงอยากหากิจกรรมเสริมทำ

เคยคลุกคลีกับสิ่งใด จึงเลือกทำงานเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น

“พี่จบสถาปัตย์มา เลยมีความคิดว่า ทำอะไรที่เราคุ้นเคย ขายเครื่องเขียน อุปกรณ์สถาปัตย์เป็นหลัก เป็นของที่เคยใช้ตอนเรียน ตอนทำงาน จะได้แนะนำลูกค้าได้”

ปรึกษากับคุณแม่แล้วจึงตัดสินใจเปิดร้าน

“ช่วงแรก ๆ ที่เปิดร้านก็แปลกใหม่สำหรับอินโทรเวิร์ตอย่างตัวเองมาก เนื่องจากในชีวิตไม่เคยขายของมาก่อน แค่มีลูกค้าเข้าร้านสักคนก็ตื่นเต้นแล้ว ยิ่งพอลูกค้าแน่นร้าน ได้แก้ปัญหาหลาย ๆ แบบก็ยิ่งสนุก

“ต่อให้พรินต์กระดาษ A4 ขาว-ดำ ซึ่งเป็นงานที่ง่ายที่สุด แต่ละวันก็พรินต์ไม่เหมือนกัน มันเป็นงานที่ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา และเราเองก็ชอบทำอะไรแบบนี้”

การตัดสินใจส่วนใหญ่ภายในร้านเป็นของพี่จุ้ย เขาใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่กินข้าว เฝ้าร้าน สั่งงานพรินต์ ตอบอีเมล อยู่ในร้านไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมง

เมื่อเดินเข้าร้าน จึงมักเห็นชายคนนี้ประจำอยู่มุมเดิมหน้าคอมพิวเตอร์ โดยมีน้องพนักงานในร้านอีก 2 – 3 คนสลับเวลาทำงานกัน มีภรรยาพี่จุ้ยมาช่วยงานร้านบ้าง และมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยดูแลเรื่องบัญชีอีกแรง

จะซื้อของ ต้องผ่านมือเราก่อน

ฟังดูปกติ หากบอกว่าร้านพี่จุ้ยคือร้านขายเครื่องเขียนและบริการพรินต์งาน 

แต่ที่พิเศษขึ้น คือความใส่ใจที่อัดแน่นอยู่ทุกความคิดและการกระทำจากเจ้าของร้าน

เริ่มจากหลักคิดในการเลือกสินค้าเข้าร้าน

พี่จุ้ยเลือกเครื่องเขียนเข้าร้านเอง เขาต้องเคยใช้สินค้าทุกชิ้นในร้านมาก่อน ทั้งตอนเรียนสถาปัตย์และทำงานออกแบบ เพราะฉะนั้น เขาจึงรู้จักสินค้าเป็นอย่างดี แนะนำได้เต็มปาก เวลาลูกค้ามีปัญหากับสินค้า พี่จุ้ยก็แนะนำวิธีแก้ไขได้อย่างจริงใจ

“ลูกค้าบางคนยังขำเลย บางครั้งเขาจะซื้อของที่แพงกว่า แต่ถ้าพี่รู้สึกว่าอีกยี่ห้อถูกและดีกว่า พี่ก็จะแนะนำอันนั้น” เมื่อได้ฟังคำตอบดังกล่าว เราก็อมยิ้มตามเล็กน้อย ด้วยความที่เคยใช้บริการสมัยเรียนอยู่คณะเดียวกัน พี่จุ้ยเป็นแบบนี้จริง ๆ

“หรือของบางอย่างร้านอื่นไม่ขาย ร้านพี่ขาย เช่น ดินสอไส้แบน ๆ สมัยเรียนพี่ใช้แรเงาในงานเขียนแบบ พี่ก็เอามาขาย หลายคนก็บอก โห เกิดมาไม่เคยใช้เลย”

“ไม่เคยใช้เหมือนกันค่ะ” เราเสริม

“ใช่ไหมล่ะ”

พี่จุ้ยนิยามร้านตัวเองว่าเป็น Niche Market หรือร้านเครื่องเขียนที่ขายของเฉพาะกลุ่ม ลูกค้าขาจรบางคนเข้ามา ก็บ่นบ้างว่าร้านไม่ค่อยมีอะไร ซึ่งเขาเข้าใจดี ส่วนลูกค้าประจำคือเด็กสถาปัตย์ ศิลปกรรม หรือคณะอื่นที่มีงานเกี่ยวข้องกับศิลปะ

สำหรับเด็กอาร์ตแล้ว ร้านพี่จุ้ยเป็นแหล่งรวมของจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในคณะอย่างแท้จริง

พื้นที่ชั้นล่างของร้านพี่จุ้ยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ด้านในสุดเป็นพื้นที่จัดการงานพรินต์ ฝั่งซ้ายวางขายสินค้าที่คนทั่วไปรู้จัก เช่น ปากกา สี ดินสอ เครื่องเขียนต่าง ๆ ทว่าหากเลี้ยวมาทางขวา จะพบกับวัสดุและอุปกรณ์ทำโมเดล รวมถึงกระดาษหลากหลายแบบ

คนทั่วไป หากหลงไปเดินฝั่งขวา คงได้ยืนงุนงงในดงชานอ้อยแน่นอน

TIPS Design Concept ร้านพรินต์ในสามย่านที่เอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน จนเป็นที่รักของเด็กสายอาร์ต
TIPS Design Concept ร้านพรินต์ในสามย่านที่เอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน จนเป็นที่รักของเด็กสายอาร์ต

การตลาดแบบไม่เป็นการตลาด

“พี่ไม่เป็นการตลาดเลย” คำนี้ถูกย้ำอยู่หลายครั้ง

ร้านพี่จุ้ย ไม่เคยโปรโมตแม้แต่ครั้งเดียว ปัจจุบันร้านพี่จุ้ยก็ยังไม่มีนามบัตรร้าน ไม่เคยยิงโฆษณาในเพจ ไม่เคยพรินต์ใบปลิวร้านด้วยซ้ำ

ร้านถูกบริหารด้วยความจริงใจเป็นที่ตั้ง และความจริงใจนั้นก็ส่งผลให้เกิดการบอกต่อในหมู่ลูกค้า ไม่ว่าน้องรุ่นนั้นจะเรียนจบไปแล้ว ชื่อของร้านพี่จุ้ยก็ยังถูกพูดถึงและแนะนำบอกต่อกันเรื่อย ๆ ไกลถึงนอกเมืองก็มี

เรียกได้ว่า เป็นการตลาดแบบไม่การตลาด

“พี่รู้สึกว่าตัวเองแนะนำสินค้าได้เต็มปาก บางครั้งมันอาจไม่ต้องการการตลาดอะไรมากมาย ทุกคนก็สัมผัสได้ว่าเรารู้จักสิ่งนี้จริง ๆ และพี่เองก็โชคดีที่น้อง ๆ ให้โอกาสพี่ แม้ช่วงทำร้านใหม่ ๆ พี่จะพรินต์ผิดพรินต์ถูก น้องเขาก็ให้โอกาส ช่วยเหลือกันและกัน”

“ช่วย ๆ กันจนบางทีไม่ได้นอนเลย” เราพูดติดตลก

เราหวนนึกถึงตอนส่งงาน ร้านพี่จุ้ยรับพรินต์งานตลอด 24 ชั่วโมง จะดึกแค่ไหน พี่จุ้ยก็เตรียมพร้อมอยู่รอไฟล์งานจากน้อง ๆ จนไม่ได้หลับไม่ได้นอน

ส่งไป-ส่งกลับ จนกว่างานนั้นจะสมบูรณ์

มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราสั่งพรินต์งานกลางดึกและตั้งใจจะไปรับช่วงเช้า แม้วันนั้นร้านไม่เปิด แต่ก็ยังได้รับงาน เพราะพี่จุ้ยแขวนไว้หลังร้าน นัดแนะให้เรามารับของตามตกลงกันไว้ — ร้านปิด แต่ยังมีงานส่ง

ความใส่ใจของพี่จุ้ย เสมือนกระบอกเสียงดึงดูดลูกค้าอยู่กลาย ๆ

พี่จุ้ยเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสมัยเรียน ตัวเองเคยได้รับบริการที่ไม่ค่อยดีมาก่อน พอมีโอกาสเป็นเจ้าของร้านเลยอยากทำให้เต็มที่ เขาเข้าใจดีว่าถ้าน้อง ๆ ได้รับงานไม่ทันส่งอาจารย์ หรือได้รับงานคุณภาพไม่ดี ก็คงเสียความรู้สึก เพราะแค่ทำงานก็เหนื่อยแล้ว ยังต้องมาเจออะไรแบบนี้อีก

“พี่ไม่อยากทรยศลูกค้าและตัวเอง พี่ไม่ใช่นักธุรกิจนะ พี่ทำตรงนี้ในฐานะพี่จุ้ยเลย พี่อยากให้ลูกค้ามีความสุข พอลูกค้ามีความสุขเราก็หายเหนื่อย”

TIPS Design Concept ร้านพรินต์ในสามย่านที่เอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน จนเป็นที่รักของเด็กสายอาร์ต

กำไรทางใจ

ดูภายนอก ร้านพี่จุ้ยเหมือนจะขายดีมีลูกค้าเข้าตลอด ทว่าเบื้องหลังนั้นกลับได้กำไรไม่มาก เพราะพี่จุ้ยไม่ได้กำไรหลายส่วน คิดราคาไม่แพงเพื่อให้น้อง ๆ นิสิตนักศึกษาเข้าถึงได้

“แล้วถ้ากำไรไม่เยอะ ทำไมพี่ถึงยังทำอยู่” เราถาม

“พอได้มาทำร้าน แล้วได้เจอน้อง ๆ ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนทุกข์สุข แบ่งปันเรื่องราวกัน มันเหมือนได้เยียวยากันและกัน แม้ตัวเงินที่ได้อาจจะไม่มาก แต่พี่รู้สึกได้กำไรทางใจในแบบที่เงินซื้อไม่ได้ และเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักในการทำร้านเลย” พี่จุ้ยตอบอย่างฉะฉาน

เบื้องหน้าของร้านขวัญใจเด็กศิลป์ มีการแบกรับต้นทุนทั้งเวลาและเงินไว้อยู่

การทำงานไม่ต่ำกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน หากเป็นนักธุรกิจคนอื่นคงปิดไปทำอย่างอื่นแล้ว เพราะเทียบเวลาทำงานกับเงินแล้วไม่คุ้มกัน พี่จุ้ยเองก็เน้นกับเราหลายครั้งว่า วิธีการทำธุรกิจของเขาอาจจะผิด แต่ในความรู้สึกของเขาแล้ว นี่แหละเป็นทางที่เลือกเอง

เพราะความสุขจากการทำงานในแบบที่เงินหาซื้อไม่ได้

“มีผู้ใหญ่หลายคนให้คำแนะนำว่า ทำธุรกิจแบบนี้ไม่ถูกนะ การทำธุรกิจควรมีกำไรเป็นที่ตั้ง แต่พี่รู้สึกมีความสุขกับตรงนี้นี่นา” พี่จุ้ยนิ่งไปสักพักก่อนกล่าวเสริม “เรื่องที่ยิ่งตอกย้ำความคิดของพี่คือ ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาคุณพ่อของพี่เพิ่งเสีย พี่ก็เลยรู้สึกว่าชีวิตคนเรามันไม่แน่นอน สุดท้ายแล้ว สิ่งสำคัญคือการใช้ชีวิตให้มีความสุขทุก ๆ วัน”

ความสุขของพี่จุ้ย คือทำให้ลูกค้ามีความสุข

แม้ไม่ได้กำไรล้นหลามทางตัวเงิน แต่เชื่อว่าพี่จุ้ยได้กำไรทางใจอย่างล้นหลามแน่นอน

TIPS Design Concept ร้านพรินต์ในสามย่านที่เอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน จนเป็นที่รักของเด็กสายอาร์ต
TIPS Design Concept ร้านพรินต์ในสามย่านที่เอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน จนเป็นที่รักของเด็กสายอาร์ต

ช่วงเวลายากลำบาก

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อร้านเล็กร้านใหญ่มากมาย ร้านพี่จุ้ยเองก็ไม่ต่างกัน นับว่าเป็นช่วงยากลำบากที่สุดของร้านเลยก็ว่าได้

“ช่วงโควิดหนัก ๆ อย่าเรียกว่ายอดขายเลย เรียกว่าไม่มีเลยดีกว่า” พี่จุ้ยเล่าติดตลก แต่ในสถานการณ์จริงคงขำไม่ออก เพราะยอดขายของในร้านหายไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จนต้องเอาเงินจากส่วนอื่นมาเสริมให้ร้านอยู่รอดต่อไป

ทั้ง ๆ ที่เจอกับวิกฤตขนาดนี้ แต่ร้านเครื่องเขียนเล็ก ๆ อย่าง ร้านพี่จุ้ย ไม่ไล่พนักงานออกสักคนเดียว อีกทั้งยังไม่ลดเงินเดือน สิ้นปีมีจ่ายโบนัสตามปกติ

“พี่คิดว่า ถ้าไล่พนักงานออกหรือลดเงินเดือนเขา ช่วงนั้นงานก็คงหายาก ชีวิตก็ลำบาก เลยไม่อยากทำ ไม่อยากมานั่งเสียใจทั้งชีวิตว่าไม่น่าทำแบบนั้นเลย ถ้าเรามีโอกาสหาเงินได้มากกว่าเขา เราก็ขยันให้มากขึ้นแล้วกัน อย่างน้อยก็เพื่อเขา ช่วงก่อนโควิด-19 เขาก็ช่วยเราทำงานเต็มที่ตลอด

“แต่ถามว่าช่วงนั้นพี่ลำบากไหม ก็หนักพอสมควรเลย แต่ก็โอเค ทุลักทุเลหน่อย แต่ก็ผ่านมาได้”

ความจริงใจของพี่จุ้ยไม่ได้มอบให้เพียงลูกค้าเท่านั้น พนักงานในร้านเองก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่เช่นกัน อย่างช่วงโควิด-19 ที่งานหดหาย พี่จุ้ยก็ตัดสินใจให้พนักงานกะกลางคืนปรับมาช่วยกันช่วงเช้าแทน เขาจะได้ใช้ชีวิตปกติ แม้จะแทบไม่มีงานพรินต์เข้ามาเลยก็ตาม

แมสมาก

‘พี่จุ้ยแมสแล้ว’

ช่วงเดือนที่ผ่าน ๆ มา ภาพพี่จุ้ยยื่นใบสำเร็จการศึกษาให้กับลูกค้าที่เพิ่งเรียนจบหมาด ๆ เป็นกระแสในโลกออนไลน์มาก น้อง ๆ ที่เคยใช้บริการร้านพี่จุ้ยต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ความประทับใจกันถล่มทลาย

จากการเป็นที่พูดถึงของเด็กสายศิลปะ ก็แพร่หลายในวงกว้าง

ว่ากันว่าพี่จุ้ยเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ทำให้น้อง ๆ สำเร็จการศึกษาได้ ไม่แปลกที่ใครหลายคนถึงยกให้พี่จุ้ยเป็นคนสำคัญในใจ จนให้มอบใบสำเร็จการศึกษากับตัวเอง

พอเราเกริ่นถึงปรากฏการณ์ในโซเชียลมีเดียนี้กับพี่จุ้ย น้ำเสียงของเขาพลันสดใสขึ้นมาทันที

“พี่เห็นแล้ว แต่ด้วยความที่พี่แทบไม่เล่นโซเชียลมีเดียเลย มารู้เพราะพนักงานในร้านบอก ตอนแรกพี่คิดว่าเขาอำด้วยซ้ำ ก็ปล่อยเรื่องผ่านไป จนเขาคิดว่าพี่นึกว่าเป็นเรื่องล้อเล่น เลยเปิดโทรศัพท์ให้ดูอีกที

“พี่ตกใจเหมือนกันนะ ก็มีการขอบคุณผ่านเพจไปแล้วว่า ขอบคุณมาก ๆ กับกระแสตอบรับ แม้พี่จะไม่เห็นเองแต่ก็ประทับใจนะ หายเหนื่อยเลย เหมือนสิ่งที่ทำมาตลอดมันผลิดอกออกผล ต่อให้มันไม่ใช่ตัวเงินที่ได้รับมหาศาล แต่มันผลิดอกออกผลในแง่ความสุขของน้อง ๆ ที่มาใช้บริการแล้วได้ความสุขไป เกิดเป็นปรากฏการณ์คนพูดถึงร้านพี่จุ้ยหลายหมื่นหลายพันเลยทีเดียว ดีใจมาก ๆ เลย”

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

แต่เกิดจากความใส่ใจ สั่งสมเป็นความทรงจำดี ๆ ร่วมจากทุกคน

ร้านพี่จุ้ย จุฬาฯ ร้านพรินต์ในสามย่านที่ทำธุรกิจแบบเอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน เป็นเพื่อนคู่คิดของเด็กสถาปัตย์และเด็กอาร์ต

จริงใจ ถึงไหนถึงกัน ตรวจงานให้ประจำ

“คิดว่าร้านของเรามีจุดเด่นตรงไหน” เรายิงคำถามสำคัญ

คำตอบจากพี่จุ้ย แจกแจงได้เป็นรายข้อ ดังนี้

หนึ่ง ความจริงใจ

“พี่ไม่โกหก ไม่พยายามขายสิ่งที่ไม่จริง เช่น สีนี้เครื่องพรินต์ไม่ได้นะ พี่ก็จะพูดตามตรงเลย ไม่ใช่หาข้ออ้างไปเรื่อย”

อะไรที่เป็นความจริง สุดท้ายแล้วจะแสดงออกมาให้เห็นเอง พี่จุ้ยจะไม่ปิดบังในสินค้าและงานพรินต์ของตัวเอง อะไรที่ทำได้หรือไม่ได้ เขาพร้อมจะบอกหมด ทำให้ลูกค้าเชื่อใจ และกลายเป็นลูกค้าขาประจำในที่สุด

สอง ถึงไหนถึงกัน

“น้องบางคนทักมาว่า พี่จุ้ยครับ คืนนี้ผมมีส่งงานนะ ช่วยอยู่รอหน่อยได้ไหม พี่ก็…จะตี 2 ตี 3 ก็จัดมา!”

สาม (สำคัญที่สุด) ช่วยตรวจความเรียบร้อยของงานก่อนส่ง

“ด้วยความที่พี่เป็นสถาปนิกด้วย แล้วก็ทำงานศิลปะ พี่จะติดนิสัยอยู่อย่างหนึ่งคือ พี่จะดับเบิ้ลเช็กงานให้ทุกคน เช่น ส่งงานมาปุ๊บ มองปราดเดียวพี่รู้เลย ผิดสเกลแน่ ๆ หรือน้องเขาระบุกระดาษผิดขนาด ถ้าเป็นร้านอื่นอาจจะพรินต์ตามคำสั่งที่ลูกค้าบอก แต่พี่จะโทรไปถามอีกรอบ

“น้อง ๆ เลยพูดว่า ส่งงานร้านพี่จุ้ยเนี่ย ไม่ต้องตรวจเองอีกรอบแล้ว ม้วนกระดาษไปส่งอาจารย์ได้เลย เพราะเหมือนเราเป็นคนช่วยตรวจงานให้ ทั้งเรื่องสี สเกล การจัดหน้า”

หากลูกค้าส่งไฟล์มาผิดและพี่จุ้ยพรินต์ไปแล้ว เขาก็ไม่คิดเงินเพิ่ม

ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพี่จุ้ยจัดการเอง

“เรียนก็เครียดอยู่แล้ว พี่อยากให้อย่างน้อยปลายทางการส่งงานเนี่ย มันเป็นความสุข ความสบายใจของลูกค้า พี่พยายามช่วยน้อง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ร้านพี่จุ้ย จุฬาฯ ร้านพรินต์ในสามย่านที่ทำธุรกิจแบบเอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน เป็นเพื่อนคู่คิดของเด็กสถาปัตย์และเด็กอาร์ต
ร้านพี่จุ้ย จุฬาฯ ร้านพรินต์ในสามย่านที่ทำธุรกิจแบบเอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน เป็นเพื่อนคู่คิดของเด็กสถาปัตย์และเด็กอาร์ต

ต่อให้ต้องจำมากกว่านี้ก็อยากจำ

เรื่องหนึ่งที่เป็นที่เลื่องลือคือ พี่จุ้ยจำเด็กได้ทุกคน

ด้วยความอยากรู้ เราจึงถามไป ก่อนจะได้รับคำตอบแสนมั่นอกมั่นใจ

“พี่จำเด็กได้ทุกคนนะพี่บอกเลย” พี่จุ้ยกล่าวอย่างหนักแน่น “พี่ไม่ได้ล้อเล่น ส่วนหนึ่งคือร้านพี่ไม่ค่อยมีลูกค้าขาจร ส่วนใหญ่เป็นน้อง ๆ นักศึกษานี่แหละเป็นลูกค้าประจำ อีกสาเหตุหนึ่งที่พี่สอนพนักงานในร้านด้วย คือต้องจำลูกค้าให้ได้ เพราะบางทีเขาไม่ได้มารับงานเอง อาจให้เพื่อนมารับ ดังนั้น อย่างน้อยต้องจำสาขาที่เขาเรียนให้ได้”

เวลาพี่จุ้ยเจอน้อง ๆ ที่มาร้านครั้งแรก นอกจากชื่อแล้ว จะถามสาขาที่เรียนด้วย ซึ่งนี่เป็นเรื่องสำคัญอย่างคาดไม่ถึง

“บางครั้งจะได้ให้เพื่อนสาขาเดียวกันหยิบงานไปด้วยได้ เพราะเคยเกิดเหตุการณ์หนึ่งคือ น้องคนหนึ่งไม่ตื่นมาส่งงานเพราะอดนอนสะสม แล้วพี่จำได้ว่าเพื่อนเขามารับงาน เลยฝากเพื่อนไปส่งอาจารย์แทน ไม่อย่างนั้นไม่ทันแน่ นั่นคือสาเหตุที่ทำให้พี่จำชื่อและสาขาวิชาของแต่ละคนได้”

มีน้องสถาปัตย์สาขาผังเมืองรุ่นหนึ่ง เป็นรุ่นที่พี่จุ้ยต้องจำชื่อให้ได้ทั้งภาค เพราะเวลาส่งงานเขาจะส่งมาพร้อมกัน และเวลารับงานจะรับพร้อมกันทุกคน

“พี่ท่องชื่อจริงและชื่อเล่นของทั้งรุ่นได้เลย แม้กระทั่งอีเมล” พี่จุ้ยกล่าว

พี่จุ้ยพยายามช่วยเหลือลูกค้านิสิตนักศึกษาอย่างสุดความสามารถ ในจุดที่คน ๆ นั้นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ พี่จุ้ยก็ช่วยดูให้ ไม่มีใครขอให้เขาทำอะไรแบบนี้ แต่พี่จุ้ยอาสาทำเอง

นอกจากนั้น ในบางช่วงพี่จุ้ยต้องจำแม้กระทั่งสเกลที่อาจใช้บ่อย ๆ เพราะน้องปี 1 เพิ่งเข้ามาเรียนใหม่ ยังไม่คล่องแคล่วเรื่องสเกลต่าง ๆ พี่จุ้ยพยายามจำรายละเอียดบางอย่างไว้ เพื่อให้พรินต์งานได้ถูกต้องที่สุด

มีเรื่องจำเยอะขนาดนี้ แต่เขาก็บอกกับเราว่า

“ต่อให้ต้องจำมากกว่านี้ก็อยากจำ”

อยากทำต่อไปเรื่อย ๆ

พี่จุ้ยเล่าให้ฟังว่า ช่วงร้านบูมก่อนโควิด-19 มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์อยู่หลายคน แต่ก็ปฏิเสธไปเพราะไม่อยากให้ร้านคุมคุณภาพไม่ได้

“ทุกอย่างในร้านต้องผ่านสายตาพี่ อย่างน้อยให้พี่ได้กรองงานก่อนออกไปสู่ลูกค้า พี่เลยไม่อยากให้มันใหญ่โตเกินไปจนคุมไม่ได้” เขาพูดพร้อมหัวเราะตบท้าย

พี่จุ้ยหันหลังให้การเติบโตของร้านที่คาดเดาคุณภาพไม่ได้ แล้วตั้งใจเปิดร้านรับลูกค้าอย่างแข็งขัน สินค้าและบริการจากร้านล้วนผ่านสายตาของเขาเหมือนที่เคยพูดไว้

ทว่าหลังจากประสบกับช่วงยากลำบาก เขาก็ตั้งคำถามอยู่เสมอ

“พี่ตั้งคำถามทุกครั้งที่ร้านขาดทุนมาก ๆ ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกไหม เอาเวลาไปทุ่มกับอย่างอื่นที่ได้กำไรจริง ๆ ดีกว่าไหม แต่หลังจากที่เสียคุณพ่อไป พี่ก็ได้คำตอบว่าสิ่งที่เราทำน่าจะถูกแล้ว ต่อให้มีกำไรบ้าง เท่าทุนบ้าง แต่มันก็หล่อเลี้ยงความสุขของเรา”

แรงใจยังไปต่อ แต่ด้วยปัจจัยอื่นอย่างการต่อสัญญาโครงการ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ร้านพี่จุ้ยยังไม่แน่นอน สัญญาเช่าพื้นที่เหลืออยู่อีกไม่กี่ปี หากโครงการไม่ต่อสัญญา ร้านก็อาจจะต้องปิดตัวลง

“พี่รักที่นี่มาก ร้านเหมือนเป็นความสุขส่วนหนึ่งในชีวิต พี่ไม่อยากให้มันลงเอยแบบนั้น พยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ทำเต็มที่ในทุกวัน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำต่อไปเรื่อย ๆ แต่อนาคตก็ไม่แน่นอน

“คนที่เสียใจที่สุดถ้าร้านปิด คงเป็นพี่เอง” พี่จุ้ยกล่าวทิ้งท้าย

TIPS Design Concept ร้านพรินต์ในสามย่านที่ทำธุรกิจแบบเอาใจใส่ ถึงไหนถึงกัน เป็นเพื่อนคู่คิดของเด็กสถาปัตย์และเด็กอาร์ต

Lessons Learned

  • นำ ‘ความจริงใจ’ เป็นที่ตั้งในการทำธุรกิจ ทำให้ลูกค้าประทับใจในผลลัพธ์และประสบการณ์จากร้าน จนเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก เป็นการสร้างรากฐานกลุ่มลูกค้าประจำได้อย่างยั่งยืน
  • การเลือกสินค้าและบริการในร้าน เจ้าของร้านต้องรู้จักสินค้าและบริการนั้นจริง ๆ เพื่อแนะนำลูกค้าได้อย่างจริงใจ และเมื่อลูกค้ามีปัญหาจะได้แนะนำวิธีการแก้ไขได้
  • เข้าใจและเอาใจใส่ลูกค้า เข้าใจว่าเขาต้องการอะไร ประกอบกับเราทำอะไรเพื่อช่วยเหลือ หรือทำให้เขาสบายใจขึ้นได้บ้างก็ควรทำ แม้ไม่มีใครร้องขอ
  • นอกจากเอาใจใส่ลูกค้าแล้ว ต้องเอาใจใส่พนักงานในร้านด้วย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้ทุกคนมีความสุขไปด้วยกัน

Writer

Avatar

สุวพร เลี้ยงผาสุข

สถาปนิกตัวน้อย นักวาด นัก(อยาก)เขียน ผู้สนใจภูมินิเวศ ชุมชนนักสร้างสรรค์ มีสารพัดของกุ๊กกิ๊กและงานวาดโทนอบอุ่นในนาม Po.loid

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ