“ร้านยังอยู่อีกหรอ” – อ้ายไรเดอร์ชาวเชียงใหม่อายุ 40 ต้น ๆ เปรยขึ้นมาด้วยน้ำเสียงแปลกใจ หลังจากเราก้าวขาลงจากรถจักรยานยนต์คันโก้ที่จอดสนิทหน้าร้านทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์

‘…ลมหายใจ อุ่น ๆ ไอละมุนจากเธอ ใจฉันคงละเมอ ไปแสนไกล

คำรักเพียงแผ่ว ๆ ฟังแล้วยอม หมดใจ ลืมฟ้าดินใด ๆ ไปทั้งวัน…’

เพลง เสียงกระซิบ ของ เบิร์ด ธงไชย ดังออกมาจากร้านเก่าแก่ของคนรักเพลงและหนัง เรายืนฟังอยู่ครู่ ก่อนเดินเข้าร้านพร้อมส่งยิ้มและแนะนำตัวให้กับพนักงานเสื้อสีส้ม เขาผายมือบอกเราว่า

“เฮียรออยู่ในห้องแล้ว” เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ นั่งด้วยท่าทีสบาย ๆ ในห้องทำงาน 

ชายวัย 66 เบื้องหน้าเรา คือผู้ก่อตั้ง ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์’ ร้ายขายเทป-ซีดีเพลงและหนังที่ดำเนินกิจการมา 42 ปี โดยเริ่มต้นธุรกิจจากการมองการณ์ไกล หยิบโมเดลตู้เทปใต้โรงหนังของเมืองบางกอก มาเปิดแผงวางตู้เทปขายใต้โรงหนังสุริวงศ์ จังหวัดเชียงใหม่ กิจการรุ่งเรืองจนขยับขยายสาขาไปอีกหลายโรงหนัง ริมถนน อาคารพาณิชย์ เฟื่องฟูจนขนาดที่ว่า เฮียปั้นศิลปินส่งออกเมืองกรุงและนั่งเก้าอี้นายห้างเพลง กระซิบดัง ๆ ว่า วงนกแล ก็เป็นเด็กปั้นของทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ มาก่อน

ร้านขายเทป-ซีดี จ.เชียงใหม่ เปิดมา 42 ปี และสัญญาจะอยู่ต่อเพื่อคนฟังเพลง

เรารู้จักสถานที่แห่งนี้สมัยเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อนคนสันกำแพงพามาแอ่ว มีโอกาสกลับไปทวนความทรงจำไม่นานมานี้ นับนิ้วก็ราว 6 – 7 ปีจากครั้งนู้น บรรยากาศยังเหมือนวันแรกที่มาเยือน ตู้ปลาตั้งตระหง่านต้อนรับผู้คน ด้านในเต็มไปด้วยแผ่นซีดีสารพัดแนวเพลงไทย-เทศ-คำเมือง มีทั้งบนแผง มีทั้งในกระบะให้เลือก หนังก็มีให้ดูตามชอบ แถมด้านข้างของร้านยังมีแผงเทปยุคเก่าขายราคาย่อมเยา (เริ่มต้น 20 บาท) ปัดฝุ่นหน่อย ก็มีเพลงฟังไม่รู้เบื่อ

หน้าที่การงานนำพาโอกาสดี (มาก) ให้เรานั่งสนทนากับผู้ก่อตั้งตัวจริง ถึงจุดเริ่มต้นของแผงเทปแผงแรกของเมืองเชียงใหม่ การปั้นศิลปิน ยุครุ่งเรืองของวงการเพลง ทุกศิลปิน ทุกค่าย ต้องรู้จัก ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์’ (รูปภาพเต็มร้านยืนยันได้) จนถึงการดำเนินธุรกิจที่เป็นลมหายใจสุดท้ายของวงการขายเทป-ซีดีเพลงในภาคเหนือ 

เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตรเอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

สายเลือดพ่อค้าแม่ขาย

เฮียทรงสัญเกิดย่านฝั่งธนฯ มาเติบโตและใช้ชีวิตที่จังหวัดเชียงใหม่เกือบ 60 ปี เขามีเลือดพ่อค้าแม่ขายสูบฉีดเต็มตัวตั้งแต่วัยเยาว์ จนกระทั่งการงานชักนำให้เขาประกอบอาชีพนักขาย (เซลล์)

“หกเจ็ดขวบผมก็ขายของเป็นแล้ว” นักขายเปรยความชำนาญและประสบการณ์

“เพราะคุณพ่อคุณแม่ทำอาชีพค้าขาย ผมย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตอน 7 ขวบ ตอนนั้นช่วยพี่สาวขายผักที่ตลาดประตูเชียงใหม่ ช่วยพ่อขายก๋วยเตี๋ยว พอคุณพ่อเสีย ก็ช่วยคุณแม่หาบข้าวต้มทรงเครื่องไปขายที่ตลาดต้นลำไย ตลาดวโรรส ช่วงเรียน ม.ต้น ผมเหมาเสื้อผ้าผู้หญิง ชุดชั้นใน มาปูผ้ายางขาย

“ผมขายคนเดียวด้วยนะ จนมีเงินเก็บส่วนตัว อาชีพค้าขายซึบซับอยู่ในสายเลือดอย่างเต็มเปี่ยม แล้วไอเดียของผมมันเหมือนเกิดมาเพื่อการค้า ผมมั่นใจมาก ๆ ว่า ผมค้าขายเป็น” เขาย้ำ

ทิพย์เนตร : ร้านขายเทป-ซีดี จ.เชียงใหม่ เปิดมา 42 ปี และสัญญาจะอยู่ต่อเพื่อคนฟังเพลง

เฮียทรงสัญถนัดขาย ไม่แปลกหากเขาหมายมุ่งเป็นเซลล์ เขาเป็นเซลล์อยู่ในบริษัทดีทแฮล์ม แอนด์ โก ลิมิเต็ด (ปัจจุบัน ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย)) บริษัทนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายในไทย อาชีพเซลล์ทำให้หูตาของเฮียกว้างขว้าง เกิดไอเดียสร้างสรรค์ผุดขึ้นยิ่งกว่าเห็ดถอบในหน้าฝน

ถ้ามีโอกาสไปเป็นเซลล์ จงเป็น มันดีตรงไหนรู้มั้ย ผมได้คุยกับเจ้าของกิจการทุกแห่ง ความคิดของเจ้าของกิจการกับความคิดของคนทั่วไปที่ไม่ค้าขายต่างกันเยอะ ตอนผมไปส่งของ ถ้ามีเวลา ผมจะคุยกับเจ้าของร้าน เขาจะสอน ‘ไอ้ตี๋เอ้ย ต้องอย่างนั้นอย่างนี้นะ’ พอเขาเล่าประวัติให้ฟัง ผมก็หยิบส่วนดีของเขามาผสมผสานกับความคิดของผม ผมว่าเซลล์เป็นอาชีพที่ได้เปรียบตรงที่เดินทางตลอดเวลา ได้เปิดหูเปิดตาตลอดชีวิต ที่สำคัญ ได้เห็นการพัฒนาของร้านค้า และได้คุยกับคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต

“ทุกเดือนผมต้องลงไปปิดทริปที่กรุงเทพฯ เห็นโรงหนังที่นู่นมีแผงเทปเป็นตู้ตั้งขายกันอยู่ ก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมา เพราะเชียงใหม่ยังไม่มี มันน่าสน เลยเก็บไอเดียนี้ไว้เพื่อมาดูตลาดเชียงใหม่ก่อน”

เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตรเอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

เฮียทรงสัญเริ่มต้นเป็นเซลล์ในวัย 21 การเดินทางลงกรุงเทพฯ ทำให้เขาเห็นและสำรวจเทรนด์ใหม่ ๆ ก่อนใครในเชียงใหม่ เขาย้อนให้เราฟังว่า พ.ศ. 2516 กรุงเทพฯ เริ่มมีโรงหนังและตู้เทป ถัดจากนั้นเพียง 1 ปี เขาปิ๊งความคิด อยากยกโมเดลตู้เทปใต้โรงหนังมายังแดนล้านนา ถัดจากนั้นอีก 1 ปี เขาทำการบ้านและวางแผนกิจการเล็ก ๆ และถัดจากนั้นอีก 1 ปี เมืองเชียงใหม่ก็มีแผงเทปแผงแรกเกิดขึ้น!

“ผมมีหูตากว้างขว้างในการนำสิ่งใหม่ ๆ จากส่วนกลางของประเทศมาไว้ที่นี่ แน่นอนว่ามันจะดึงดูดความสนใจของคนท้องถิ่นให้มาร้านผมเยอะมาก พูดง่าย ๆ ว่า ผมจะไปใหญ่ในเมืองเล็ก ๆ”

นี่คือไอเดียตั้งตนของเฮียทรงสัญที่เริ่มเป็นเจ้าของกิจการในวัยเพียง 25 

สมแล้วที่เป็นลูกพ่อค้า-แม่ขาย!

ทำธุรกิจต้องเข้าใจธุรกิจ

“ผมทำงานที่บริษัทดีทแฮล์ม 2 ปีก็ลาออก หันมาเป็นตัวแทนค้าส่งเองเพราะมีประสบการณ์ ตอนนั้นใช้ชื่อว่า บริษัท ทรงชัยเชียงใหม่ ผมชื่อบุญทรง น้องผมชื่อบุญชัย ทำกันอยู่ 2 – 3 ปี ไม่ไหว เก็บเงินยาก พอหักค่าใช้จ่ายต่อเดือน ไม่เวิร์กเท่าไหร่” เฮียทรงสัญหัวเราะถึงอดีตของนักขาย

ระหว่างติดสินจะใจลาออกจากงานประจำ มาประกอบอาชีพส่วนตัวกับน้องชาย ประกายเล็ก ๆ เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของแผงเทปยังคงสปาร์กจอยส่งเสียงเปรี๊ยะ ๆ อยู่ในคนหนุ่มหัวการค้า 

ร้านขายเทป-ซีดี จ.เชียงใหม่ เปิดมา 42 ปี และสัญญาจะอยู่ต่อเพื่อคนฟังเพลง

“ผมไปสมัครงานเป็นพนักงานเก็บเงินที่ร้านขายเครื่องเสียง” – นี่เขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างกับหนังสายลับที่ต้องปลอมให้แนบเนียนสุด ๆ เพื่อล้วงข้อมูล

“เหตุผลที่ผมไปสมัครงานก็เพื่อสำรวจผู้บริโภคว่าใช้เครื่องเล่นเทปเยอะมั้ย ถ้าขายเทป จะเป็นไปได้หรือเปล่า ผมต้องดูตลาดให้เหมาะกับสินค้าก่อน ประมาณ 1 ปี รู้ข้อมูลหมดแล้วผมก็ลาออก”

พนักงานเก็บเงินร้านขายเครื่องเสียงสืบทราบอะไรมาบ้าง – เราสงสัย

“เวลาเก็บเงิน ผมชอบนั่งคุยกับชาวบ้าน บริษัทนี้เขาขายแบบผ่อนส่ง คนมาซื้อกันเยอะนะ ตอนผมยังไม่เปิดแผงเทป พอลูกค้าซื้อเครื่องเล่น 80 เปอร์เซ็นต์ จะจ้างร้านบริการซ่อมเครื่องเทปอัดเพลงให้ เป็นการอัดแบบเลือกเพลงได้ ตลับละ 50 บาท 100 บาท ส่วน 20 เปอร์เซ็นต์ อัดเองจากวิทยุหรือเครื่องเล่นเทป

“ยุคนั้นก่อน พ.ศ. 2521 ยังไม่มีลิขสิทธิ์ ใครออกเพลงมาโดนก็อปปี้อัดหมด” นักสังเกตย้อนอดีต

หลังจากศึกษาตลาดจนเข้าใจอย่างถ่องแท้ เขาลาออกจากงานประจำ และพร้อมมากที่จะเปิดแผงขายเทปแผงแรกของจังหวัดใหม่ ณ โรงหนังสุริวงศ์ (ปัจจุบันคือที่ตั้งของโรงแรมอิมม์ ท่าแพ)

ร้านขายเทป-ซีดี จ.เชียงใหม่ เปิดมา 42 ปี และสัญญาจะอยู่ต่อเพื่อคนฟังเพลง

แผงเทปแผงแรกของเชียงใหม่

“ตอนนั้นผมลงทุนตู้ 3 ใบ ประมาณ 15,000 บาท ลงทุนค่าเทปประมาณ 20,000 เครื่องเล่นเทป 1 ชุดประมาณ 20,000 กว่าบาท ผ่อนส่ง 3 งวด ตีเสียว่าเดือนละ 7,000 – 8,000 เบ็ดเสร็จประมาณ 40,000 กว่าบาทต่อการเปิดแผงเทป 1 จุด” เจ้าของทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ วัย 66 ยังจำวันแรกได้แม่น

เฮียทรงสัญเล่าความทรงจำสมัยเรายังไม่เกิดให้ฟังว่า ตอนเด็ก ๆ เติบโตมากับโรงหนังเวียงพิงค์และโรงหนังศรีพิงค์ จนปิดกิจการ ก็เกิดโรงหนังของตระกูลเก่าแก่ในเชียงใหม่ขึ้น คือ โรงหนังสุริวงศ์ โรงหนังสุริยา โรงหนังสุริยง (โรงหนังแห่งแรกของเชียงใหม่ที่มีบันไดเลื่อน) และโรงหนังแสงตะวัน

“สุริวงศ์เป็นโรงหนังที่ผมเปิดแผงเทปแผงแรก สมัยก่อนบริเวณแมคโดนัลด์ เป็นหน้าโรงหนัง คนเดินกันพลุกพล่านเพื่อมาซื้อตั๋ว ผมขายอยู่ข้างบันได มีตู้โชว์สไตล์แผงเทปในกรุงเทพฯ เป็นตู้กระจก 2 – 3 ใบวางเป็นตัว U ในตู้วางเทป 2 ชั้น ผมเป็นเจ้าแรกที่ทำ ขายได้สัก 1 เดือน ตัวเลขดีมาก 

“ลูกค้าคือคนที่มาดูหนังทั้งนั้น” พ่อค้าเทปหัวเราะ “คนมาดูหนังก็แวะมาดูแผงเทป ซื้อง่าย ผมขายม้วนละ 35 บาท 3 ม้วน 100 วันไหนโรงหนังคนเยอะก็ขายดีมาก สัก 3 ทุ่มครึ่งก็ปิดร้าน”

ทิพย์เนตร : ร้านขายเทป-ซีดี จ.เชียงใหม่ เปิดมา 42 ปี และสัญญาจะอยู่ต่อเพื่อคนฟังเพลง
ทิพย์เนตร : ร้านขายเทป-ซีดี จ.เชียงใหม่ เปิดมา 42 ปี และสัญญาจะอยู่ต่อเพื่อคนฟังเพลง

นอกจากยอดขายพุ่งกระฉูด สิ่งหนึ่งที่การันตีได้ว่าเฮียทรงสัญสร้างปรากฏการณ์แผงเทปในจังหวัดเชียงใหม่ คือการเกิดขึ้นของแผงเทปอีกมากมาย ทั้งตามร้านหนังสือและแผงลอยในกาดนัด แถมขายตัดราคากันด้วย (ฮา) เจ้าของร้านรุ่นใหญ่ยอมรับว่ายุคของเขากิจการขายเทป-ซีดีเฟื่องฟูฟู่ฟ่าจริง ๆ 

“เชื่อมั้ย ตอนเปิดแผงเทป ผมยังไม่มีเครื่องเล่นเทปเลย ใช้แต่ทรานซิสเตอร์เครื่องละ 300 – 400 บาท ต้องผ่อนส่งเครื่องเล่นเทปเพื่อให้ลูกค้าทดลองฟังเพลง บางทีเขาเจาะจงมาหาเพลงนั้นเพลงนี้ ผมก็เปิดให้ฟัง ถ้าใช่ เขาก็ซื้อ และเมื่อไหร่ที่ผมรู้แล้วว่าลูกค้าชอบศิลปินคนนี้ ถ้ามีแนวเพลงอื่นที่ใกล้เคียง ผมก็จะแนะนำเขาด้วย แทนที่เขาจะซื้อ 1 ม้วน เขาอาจซื้อ 4 – 5 ม้วนก็ได้ (เฮียขายเก่ง) พ่อค้าไง” 

เชื่อแล้วว่าว่าความคิดของชายผู้นี้เกิดมาเพื่อการค้าจริง ๆ 

แผงเทปแผงที่ 2 3 4 5 … ของเชียงใหม่

แผงเทปปักหลักอยู่ที่โรงหนังสุริวงศ์ และขยายสาขาไปยังโรงหนังสุริยง โรงหนังแสงตะวัน โรงหนังทิพย์เนตร ริมถนน และอาคารพาณิชย์ โดยปัจุบันเหลือเพียงสาขาเดียวที่ตลาดทิพย์เนตร ทำเลเดิมของร้านเคยเป็นร้านหนังสือทิพย์เนตร บุ๊กสโตร์มาก่อน เฮียกระซิบว่าแผงวางแผ่นเทป-ซีดีภายในร้านก็คือแผงวางหนังสือนั่นแหละ แต่ปรับแต่งอีกนิดให้ลูกค้ามองเห็นสินค้าสะดวกขึ้น หยิบจ่ายถนัดมือ 

ทิพย์เนตร : ร้านขายเทป-ซีดี จ.เชียงใหม่ เปิดมา 42 ปี และสัญญาจะอยู่ต่อเพื่อคนฟังเพลง

“พอย้ายเข้ามาในทิพย์เนตร บุ๊กสโตร์ ผมตั้งชื่อร้านว่า ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์’ ผมเป็นคนแรก ๆ ที่เอาคำว่า ‘เอนเตอร์ไพรส์’ มาตั้งในเชียงใหม่ เพราะเอนเตอร์ไพรส์ หมายถึงธุรกิจ เผื่ออนาคตอาจมีการขยับขยายเป็นธุรกิจอื่น ๆ ผมจะได้ขยายฐานได้ ชื่ออาจจำยากหน่อย แต่ผมมองการณ์ไกลไว้ก่อน

“พอย้ายเข้ามา พื้นที่กว้างมาก แต่สินค้าเราน้อย ก็เลยเอาสินค้าอื่นมาเสริม มีเครื่องเล่นเทปแบบพกพาและของเล่นเด็ก ขายดีนะ แต่ไม่ดีตรงไหนรู้มั้ย พ่อแม่พาลูกมา ตั้งใจจะมาซื้อเทป เด็กรบเร้าจะเอาของเล่น ก็ต้องพาลูกออกจากร้าน เด็กบางคนนอนดิ้นร้องไห้ พ่อแม่บางคนใจร้ายหน่อยก็ตีเลย 

“ผมเห็นแล้วทนไม่ไหว เลยยกเลิกสินค้าพวกของเล่น มาขายเทปแบบเต็มตัว” 

หัวอกคนเป็นพ่อทนภาพตรงหน้าไม่ได้ และหัวอกคนเป็นพ่อค้าก็ทนภาพตรงหน้าไม่ได้ เมื่อแนวทางสินค้าชัดเจน เฮียทรงสัญก็เดินเครื่องทำธุรกิจด้วยความจริงใจและเป็นมิตรกับคนฟังเพลง

“สินค้าและบริการต้องครบเครื่อง ต้องทำให้เปอร์เซ็นต์การผิดหวังน้อยที่สุด แล้วลูกค้าจะประทับใจและกลับมาร้านผมเรื่อย ๆ อีกอย่างราคาต้องไม่โขลกเขา ผมค้าขายด้วยจิตใจที่ไม่เอาเปรียบกัน 

“ผมเชื่อว่าลูกค้าตัดสินใจมาร้านผมแล้ว ผมก็ต้องมอบความสุขให้เขาอย่างถึงที่สุด”

คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

สินค้าของร้านครบครันและติดเทรนด์เสมอ เพราะเฮียทรงสัญพยายามเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเลือกเทปเองกับมือ แถมเลือกจากหลายเจ้า หลายค่าย เพื่อให้คนเชียงใหม่มีตัวเลือกการฟังเพลงที่หลากหลาย

“สินค้าที่เอามาวางขาย ผมไม่เลือกค่ายอยู่แล้ว” เฮียพูดด้วยรอยยิ้มจริงใจ “ถ้าผู้ผลิตเสนอมา ผมยินดีวางสินค้าให้ ไม่ว่าเพลงเขาจะดังหรือไม่ดัง หนังเขาจะดีหรือไม่ดี ผมอยากให้โอกาสเขา”

ไม่เพียงเป็นมิตรกับคนฟังเพลง ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ ยังเป็นมิตรกับคนทำเพลงด้วย

ช่างปั้น

“ผมปั้นศิลปินด้วยนะ” เจ้าของร้านเทปบอกความจริงที่เราไม่เคยรู้ หูตาลุกวาวไม่น้อย

“นกแล ผมปั้นมากับมือ แต่ผมไม่ได้ทำค่าย ผมปั้นศิลปินแล้วส่งให้บริษัทแกรมมี่”

“เฮียเจอนกแลได้ยังไงคะ” เราถามแมวมองด้วยความอยากรู้ (คุณเองก็คงอยากรู้น่า) 

“ผมไปเที่ยวงานวันเด็กที่กองทัพอากาศเชียงใหม่ เจอวงนกแลกำลังเล่นบองโก้ ดีดกีตาร์ ผมก็เลยติดต่อครูที่ดูแลวงว่าเป็นไปได้มั้ยถ้าฝึกให้เด็ก ๆ ตีกลองชุด ครูบอกว่าได้ แต่ไม่มีตังค์ซื้อกลองชุด

“ผมเลยให้เงินไปซื้อกลองชุด เขาฝึกจนเด็กตีกลองเป็น ไอเดียจริง ๆ เกิดจากวง XYZ โดยแนวเพลงของนกแลเป็นโฟล์กผสมสตริง จากนั้นผมก็พานกแลไปส่งให้กับ คุณเต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ ค่ายแกรมมี่ ผมไปนั่งห้องบันทึกเสียงด้วยเพื่อคุมการร้องของเด็ก ๆ และภาษาเหนือร่วมกับคุณเต๋อ มี วิชัย อึ้งอัมพร เป็นคนทำดนตรี นกแลประสบความสำเร็จมาก ดังระเบิดช่วง พ.ศ. 2528 – 2529” นักปั้นเล่าด้วยความดีใจ

คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

หลังจากปั้นวงนกแล เฮียทรงสัญยังปั้น ‘เดอะม้ง’ วงดนตรีเด็ก ๆ ชาติพันธุ์จากโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ ด้วยแนวเพลงลูกทุ่งพร้อมหางเครื่อง แถมด้วยศิลปินเพลงคำเมืองหลายคน อาทิ เทพธารา ปัญญา มานะ, อบเชย เวียงพิงค์, วีระศักดิ์ และ วิฑูร ใจพรหม 

“ถ้าช่วงสงกรานต์อยู่เชียงใหม่ จะต้องเคยได้ยินเพลง ‘…เอาความฮักอ้ายคืนไป เอาหัวไปมาคืนเจ้า…’ (สาวจี๋ – อบเชย เวียงพิงค์) คนแต่งคือ ธินศมาศ มหานาม เขาขายลิขสิทธิ์ให้นิธิทัศน์ ผมซื้อลิขสิทธ์มาให้อบเชยกับวีระศักดิ์ร้องอีกที เพลงนี้ดังมาก ทุกสงกรานต์ต้องเปิด เป็นเพลงอมตะไปเลย”

นอกจากศิลปินพื้นเมือง เฮียทรงชัยยังทำเพลงพื้นถิ่น เพลงบรรเลงจากเครื่องดนตรีล้านนา เพลงพิธีกรรม และการเทศน์คำเมืองแบบประยุกต์ เป็นเวทีเทศน์ให้กับ ตุ๊จก หรือ ตุ๊ทองพระครูโสภณบุญญาภรณ์ (บุญทอง สุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสภณาราม (วัดป่าตึง) ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายแผ่นซีดีเทศน์ก็บริจาคให้กับวัดเพื่อใช้ประโยชน์

 คนทำเพลง ร้านขายเทป คนฟังเพลง

ความรุ่งเรืองของ ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ อยู่ในระดับท็อป ขยายสาขาเกือบ 10 จุดทั่วเมืองเชียงใหม่ นักขายบอกว่าสาขาไนท์บาซาร์ขายดีสุด ๆ และการท่องเที่ยวก็ดีสุด ๆ เช่นกัน มีลูกค้าหลักเป็นชาวต่างชาติ ซื้อทียกกล่อง กล่องละ 100 ม้วน เพราะราคาถูกกว่าบ้านเขา ขาช้อปชาวต่างชาติมีทริกลดน้ำหนักกระเป๋าด้วยการเอาตลับเทปทิ้ง เพราะน้ำหนักกล่องเยอะ เอาแต่เทปกับปกกลับประเทศ

“ตอน พ.ศ. 2525 ร้านผมบูมจริง ๆ คู่แข่งเยอะด้วย เพลงของค่ายแกรมมี่ ค่ายอาร์เอส ผมสั่งเทปที 400 – 500 ม้วน ขายหมดภายใน 2 วัน ต้องออเดอร์ตามไปอีก เมื่อผู้ผลิตมาเยือนภาคเหนือ ทิพย์เนตรเป็นร้านแรกที่เขานึกถึงเสมอ ศิลปิน นักร้อง ดาราทุกค่ายต้องแวะมาเยี่ยมร้านผม มาแนะนำตัว มาถ่ายรูป มาโปรโมต ดูข้างนอกสิ รูปถ่ายติดเต็มไปหมดเลย ศิลปินต่างประเทศก็เคยแวะมาเหมือนกันนะ”

คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง
คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

เฮียทรงสัญชี้นิ้วไปนอกห้องทำงานที่มีกรอบภาพถ่ายศิลปินสีซีดจางติดเต็มผนัง คนดังทั่วฟ้าเมืองไทยล้วนมาเยือนที่นี่ ไม่ว่าจะ แอ๊ด คาราบาว, เท่ห์ อุเทน, ฝน ธนสุนทร, โมเดิร์นด็อก ฯลฯ มองจากประตูเมืองเชียงใหม่ก็รู้ว่า ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เป็นที่รักของบรรดาศิลปินมากแค่ไหน จะว่าไปก็เป็นภาพคุ้นตาคล้ายผนังร้านข้าวต้มชื่อดังย่านสุขุมวิท ใบ้เล่น ๆ ว่าขึ้นต้นด้วย แสง ลงท้ายด้วย ชัย

“อย่าง เบิร์ด ธงไชย มาเมื่อไหร่ถนนต้องปิดถนน คนมาออเต็มหน้าร้าน ขอแค่ได้เห็นตัวจริง เทปของเบิร์ดก็ขายดี พอคนรู้ว่าจะวางขาย วันรุ่งขึ้นมาต่อคิวกันแล้ว สั่งมาพันม้วนก็ขายหมด ตอนหลังค่าใช้จ่ายคงสูง การมาเยี่ยมร้านค้าเริ่มหายไป ซึ่งร้านผมบูมอยู่ 20 ปีได้ หลังจากนั้นก็ดร็อปลง”

คิดว่าเป็นเพราะอะไร – “ช่วง พ.ศ. 2550 กว่า ๆ เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยแวะมาหาผมแล้ว ผมว่าสังคมเปลี่ยน คนเข้าถึงสื่อได้มากขึ้น ทำให้เด็กไม่จำเป็นต้องมาซื้อ พอการเข้าถึงเทคโนโลยีหรือสื่อมันง่าย สะดวก บริษัทเพลงก็ค่อย ๆ ลำบาก ผมหวังว่าอนาคตจะมีตัวช่วยที่ทำให้มันบูมขึ้นมาใหม่”

คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

เราถามเฮียในฐานะคนฟังเพลง คนทำเพลง และเจ้าของร้านขาย (เทป) เพลงว่า

“สมัยก่อน เพลงดัง ไม่ดัง วัดจากอะไร” – เพราะสมัยนี้คงวัดจากยอดวิวบนยูทูบ ทะลุล้านวิว 10 ล้านวิว 100 ล้านวิว หรือเพลงฮอตฮิตติดกระแสมาก ๆ ก็กลายเป็นไวรัลในแอปพลิเคชัน TikTok

“แค่เปิดวิทยุก็รู้แล้ว” เฮียเปรย “ก่อนมีลิขสิทธิ์ ถ้าเพลงไหนดัง ร้านรับอัดเทปก็เตรียมอัดก็อปปี้กันแล้ว ยุคก่อนเขาเอาเพลงดัง ๆ มาอัดรวมกันเป็นการรวมเพลงฮิต หนึ่งม้วนมีนักร้อง 10 – 20 คน

“หลังจากมีกฎหมายลิขสิทธิ์ ‘วันละเพลง เดือนละพัน’ ก็เกิดขึ้น” – คืออะไรคะ

“เป็นการเปิดเพลงทุกวัน วันละ 1 เพลง ครบ 1 เดือนจ่าย 1,000 ดีเจได้เงินจากตรงนี้ แผ่นเสียงก็ไม่ต้องซื้อ เพราะค่ายหรือศิลปินเอามาแจกฟรีเพื่อให้สถานีโปรโมต คนจ่ายเงินคือเจ้าของแผ่น บางครั้งค่ายก็เป็นคนจ่าย จาก 1,000 เป็น 1,500 เป็น 2,000 ตอนหลังค่าเปิดแพงมากเพราะแข่งกัน

“ตอนทำเพลงของวิฑูร ผมแจก ผมก็ต้องจ่าย ถ้าไม่จ่ายก็พาดีเจไปเลี้ยงข้าว สร้างความสนิทสนม ผมเคยจ่าย 2,000 ก็เลิกทำแล้ว สถานีวิทยุเปิดเป็นดอกเห็ด แจกไหวได้ยังไง” คนเคยจ่ายหัวเราะ

ร้านขายเทปมีชีวิต

“ผมมองแล้วว่าธุรกิจขายเทปมันอันตราย” – เขาเคยทำนายว่ากิจการจะหมดความนิยม

“เพราะผมเห็นการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ผมขายเทปคาสเซ็ต ก่อนหน้านั้นมีเทปตลับแปดนิ้วสำหรับเสียบเล่นในรถยนต์ แต่มันเทอะทะ เปลืองเนื้อที่ เทปคาสเซ็ตตลับเล็ก เสียก็ซ่อมง่าย จริง ๆ ก่อนเทปคาสเซ็ตมีแผ่นเสียง แล้วก็มีแผ่นเสียงระบบ LCD Soundsystem แผ่นใหญ่กว่านิดหนึ่ง

“แล้วก็พัฒนาต่อเป็นแผ่นซีดี ระบบเสียงดีมาก เลือกเพลงได้ หลังจากนั้นเป็นแผ่นวีซีดี แผ่นดีวีดี มีทั้งภาพและเสียง ร้านผมขายแผ่นหนังด้วยนะ ปัจจุบันการฟังเพลงก็อยู่ในรูปแบบ MP3 และแฮนดี้ไดรฟ์ ข้อดีคือใส่เพลงได้เยอะมาก เสียบฟังบนรถยนต์ได้ ขับรถจากเชียงใหม่-กรุงเทพฯ ฟังได้ตลอดทาง” เจ้าของธุรกิจอธิบายให้เราฟังอย่างคนเข้าใจธุรกิจและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง
คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

ณ วันนี้ ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ นำแผ่นเสียง (จากค่ายแกรมมี่) กลับมาขายเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเทรนด์แผ่นเสียงกำลังได้รับความนิยมจากคนฟังเพลง มีบาร์แผ่นเสียงเกิดขึ้นมากมายพอ ๆ กับดีเจเปิดแผ่นเสียง แถมดีเจแต่ละคนก็มีแนวเพลงถนัดเฉพาะตัว ยิ่งทำให้เพลงและวงการแผ่นเสียงสนุกขึ้นไปอีก

หวังว่าการกลับมาของแผ่นเสียงจะเป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เติมความสดใสให้เจ้าของกิจการขายแผ่นเสียง เจ้าของกิจการขายเครื่องเล่นแผ่นเสียง รวมถึง ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

“จริง ๆ พ.ศ. 2556 – 2557 ผมเริ่มวางมือแล้ว สังเกตจากคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยมาซื้อ เขาเน้นโหลด เลยบอกให้แม่บ้าน (ภรรยา) มาดูแลต่อ ผมขอวางมือ วางมือมา 7 – 8 ปีแล้ว” ชายวัย 66 พูดยิ้ม ๆ

คุยกับ เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

แม้ร้านขายเทป-ซีดีเก่าแก่แห่งนี้จะเงียบเหงาไปบ้างหากเทียบกับอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือคนฟังเพลงไม่ได้หายไป เราเห็นคุณลุง คุณป้า แวะเวียนมาดูแผ่นเพลงที่ร้านอยู่บ้าง มีครั้งหนึ่งเรายืนคุยกับพนักงาน เขาพูดประโยคชวนคิดว่า ‘เทปและแผ่นซีดีไม่มีวันตาย’ – คงจริง ตราบใดที่ยังมีคนฟังเพลง

เราถามเฮียทรงสัญถึงความเชื่อที่เราได้ยินได้ฟังมา – “เฮียเชื่อแบบนั้นมั้ยคะ”

“ไม่ตายอยู่แล้ว มนุษย์ต้องดูหนัง ฟังเพลง ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ แม้กระทั่งคนเจ็บ คนป่วย ก็ยังต้องฟังเพลง ดอกไม้ สัตว์เลี้ยง ก็ยังต้องฟังเพลง พอฟังแล้วไก่ออกไข่เยอะขึ้น ดอกไม้ก็สดชื่นเบ่งบาน

“ความจริงผมต้องปิดกิจการแล้วนะ ร้านอยู่ไม่ได้ ขาดทุนทุกเดือน” เฮียทรงสัญพูดความจริง ภายใต้ประโยคชวนเศร้าแต่น้ำเสียงของชายผู้นี้กลับไร้กังวัล เขาไม่ปล่อยให้เราฉงนนาน ก่อนจะเล่าเสริม

“ผมพอจะมีรายได้จากทางอื่นอยู่บ้าง และผมอยากอนุรักษ์ร้านนี้เอาไว้ เผื่อวันใดวันหนึ่งมันจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ตอนนี้ในภาคเหนือเหลือร้านผมร้านเดียวแล้วนะ เคยมีคนใช้คำว่า ‘ลมหายใจที่ยังเหลืออยู่’ กับร้านผม ไม่ว่าคนลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน เวลามาเที่ยวเชียงใหม่เขาก็จะแวะมาซื้อ

“ทุกวันนี้ลูกค้าผมมีแต่คนแก่ทั้งนั้น” เขาหัวเราะ “ผมรู้สึกโชคดีและเขาเองก็โชคดีที่ยังคิดถึงกันและกัน ลูกค้าบอกผมเสมอว่า ‘อย่าปิดร้านนะ’ ‘อย่าเลิกนะ’ เพราะเขาไม่รู้จะหาซื้อได้ที่ไหน” – นี่คงเป็นเหตุผลสำคัญให้ร้านขายเทป-ซีดีแห่งนี้ไม่ยอมปิดตัวตลอดระยะเวลา 42 ปีของการดำเนินธุรกิจ

ลมหายใจของ ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ ยังไม่รวยริน ตราบใดที่เสียงเพลงไม่หายไปจากโลก

การมีอยู่ของสถานที่แห่งนี้ทำให้เราเชื่อมั่นมากว่า การใช้หัวใจดำเนินธุรกิจ สำคัญพอ ๆ กับการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธุรกิจ, และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของร้านขายเทปเก่าแก่ที่ยังมีชีวีต

Lessons Learned

  • จงศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดก่อนลงมือทำธุรกิจ
  • จงทำธุรกิจอย่างคนเข้าใจธุรกิจ (ที่ตนเองทำ) มีข้อดี คือ เข้าใจสินค้า แนะนำลูกค้าได้
  • จงทำธุรกิจอย่างเป็นมิตรและจริงใจกับต้นน้ำและปลายน้ำ 
  • จงมองการณ์ไกล (มีแผนสำรอง) หากยังอยากรักษาธุรกิจที่รักในวันที่ใกล้หมดความนิยม
เฮียทรงสัญ บวรพัฒน์นนท์ เจ้าของ ‘ทิพย์เนตรเอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่’ ร้านเทป-ซีดีที่จะเปิดต่อเพื่อคนรักเพลงและหนัง

ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์

ที่ตั้ง : 228 ถนนทิพย์เนตร ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (แผนที่)

เปิดบริการทุกวัน เวลา 09.00 – 19.30 น. 

โทรศัพท์ : 0 5327 7210

Facebook : ทิพย์เนตร เอนเตอร์ไพรส์ เชียงใหม่ Music & Movie

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล