เมื่อเกือบสิบปีก่อน ผมเป็นเพียงเด็กหนุ่มวัยต้น 30 ในโลกใหม่ในแอฟริกาตะวันออกที่อ่อนต่อโลก มีแต่ความมุทะลุ กระหายกับการผจญภัยแบบบ้าๆ มีแต่ความปรารถนาที่จะค้นหาเรื่องไม่เป็นเรื่อง มีแต่ความกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเอาชนะ นั่นคือตัวตนที่ไร้เดียงสา แม้เพียรจะแสวงหาความจริงของชีวิต และเพรียกหาความฝันที่วันนี้เมื่อสิบปีผ่านไปก็พบว่าไม่มีวันเป็นจริง

Tingatinga ภาพวาดไร้เดียงสาของหนุ่มบ้านนอก สู่สไตล์ภาพแอฟริกาตะวันออกที่ทั่วโลกอยากได้

ในคราบของเด็กหนุ่มคนนั้น เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักกับ งานศิลปะ Tingatinga ที่เป็นตัวแทนของแอฟริกาตะวันออก เป็นประตูเปิดโลกทำให้ได้เข้าใจและรู้จักแอฟริกาในการรับรู้ใหม่ เป็นหน้าต่างที่ช่วยให้มองเห็นความงามและเสน่ห์ของความเรียบง่าย และความสูงส่งของการไม่รู้ไม่เห็นโลกภายนอก 

งานศิลปะ Tingatinga ที่ผมรู้จักในวันนั้นเมื่อสิบปีก่อน และผลงานศิลปะในแนว Tingatinga ราว 100 ชิ้นที่ส่วนหนึ่งนำมาแปะไว้และอีกส่วนหนึ่งกองระเกะระกะไว้ที่บ้านที่กรุงเทพฯ ในวันนี้ ชวนให้นึกย้อนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา เรื่องราวที่ทำให้ผมได้รู้จักแอฟริกาตะวันออกอย่างที่เป็นผ่านงานศิลปะในรูปแบบนี้

Tingatinga ภาพวาดไร้เดียงสาของหนุ่มบ้านนอก สู่สไตล์ภาพแอฟริกาตะวันออกที่ทั่วโลกอยากได้
Tingatinga ภาพวาดไร้เดียงสาของหนุ่มบ้านนอก สู่สไตล์ภาพแอฟริกาตะวันออกที่ทั่วโลกอยากได้

ภาพเขียนสัตว์และชีวิตท้องถิ่นของชาวบ้านในแอฟริกาแบบง่ายๆ ด้วยสีน้ำมันที่หาได้จากร้านขายวัสดุก่อสร้างทั่วเมืองบนแผ่นไม้สี่เหลี่ยมจัตุรัสเก่า ภาพวาดที่ชวนให้ชาวต่างชาตินำไปทำเป็นตัวการ์ตูนแอนิเมชันสำหรับเด็กในชื่อ Tinga Tinga Tales ที่ฉายผ่านสถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ 

ภาพวาดคล้ายเด็กเขียนจากศิลปินผู้ที่ไม่เคยเข้าโรงเรียนศิลปะ หรือมีทักษะการวาดภาพตามทฤษฎีองค์ประกอบศิลป์ใดๆ เหล่านี้กลับทำให้ผมในวันนั้นที่ยังอ่อนหัดและอ่อนเยาว์เกิดความรู้สึกหัวใจฟูฟ่องไปด้วยความหวังและความปรารถนาในผืนดินแห่งใหม่ที่ผมเพิ่งรู้จักและกำลังตื่นตาตื่นใจ

1

หมุนเวลากลับไปใน ค.ศ. 2012 หน้าที่การงานทำให้ผมได้เดินทางมายังเมืองดาร์ เอส ซาลาม (Dar es Salaam) อดีตเมืองหลวงของแทนซาเนีย และเมืองท่าแห่งใหญ่ของแอฟริกาฝั่งตะวันออกในประเทศแทนซาเนีย ย่าน Oyster Bay ซึ่งเป็นเขตที่เต็มไปด้วยสถานทูต ห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ บ้านพักของคนชาวต่างชาติและคนมีสตางค์ การเดินทางมาทำงานต่างเมืองเช่นนั้น คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่มาพัก ขลุกตัวอยู่ในย่านแบบนี้ จะเดินทางหรือติดต่อผู้คนและทางการก็เป็นไปได้สะดวก แถมปลอดภัยและมีชีวิตสะดวกสบายอย่างที่เป็น

ที่ Oyster Bay ใจกลางเมือง Dar es Salaam แห่งนี้เองถือเป็นจุดเริ่มของ งานศิลปะ Tingatinga ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งของศิลปะสมัยใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นในแอฟริกา และที่นี่เป็นที่ที่ทำให้ผมได้รู้จักกับ งานศิลปะTingatinga ผู้ริเริ่มวาดรูปในแนวนี้คือ Edward Saidi Tingatinga คนบ้านนอกจากเผ่า Makua จากจังหวัดทางใต้สุดของแทนซาเนียติดกับประเทศโมซัมบิก 

ไม่แตกต่างจากคนอื่นในวัยหนุ่ม เขาเข้ามาหางานทำในเมือง Dar es Salaam เพื่อหางานรับจ้างตั้งแต่เป็นคนขายของ คนสวน รับรายได้รายวันไม่มาก จนกระทั่งโชคชะตาทำให้เขาได้งานเป็นผู้ช่วยในห้องแล็บของโรงพยาบาลในเมือง Dar es Salaam ผ่านการแนะนำของสมาชิกกลุ่มดนตรีพื้นถิ่นของเผ่าของเขา ที่เขาเป็นนักระนาดไม้ท้องถิ่นมือฉมัง

เมื่อการงานเข้าที่เข้าทางแล้ว E.S. Tingatinga ก็เริ่มเขียนรูปสัตว์ตัวเดียวบนแผ่นไม้อัดขนาดราว 60 x 60 เซนติเมตร ที่เป็นของเขาที่ใช้เป็นแผ่นฝ้าเพดาน ว่ากันว่าภาพสัตว์คล้ายเด็กเขียนแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากภาพวาดบนกำแพงของชาว Makua ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศแทนซาเนียและทางเหนือของประเทศโมซัมบิก แล้วเขาก็ให้ภรรยานำไปเร่ขายให้ชาวต่างชาติริมถนนในย่าน Oyster Bay

Tingatinga ภาพวาดไร้เดียงสาของหนุ่มบ้านนอก สู่สไตล์ภาพแอฟริกาตะวันออกที่ทั่วโลกอยากได้
Tingatinga ภาพวาดไร้เดียงสาของหนุ่มบ้านนอก สู่สไตล์ภาพแอฟริกาตะวันออกที่ทั่วโลกอยากได้
เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก

แม้ตัวเขาเองก็อาจไม่เชื่อว่าภาพวาดของตัวเองจะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ว่ากันว่าภาพที่ E.S. Tingatinga นำมาเร่ขายนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชาวเดนมาร์ก ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมาทำงานสถานทูตหรือในองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือ งานลักษณะนี้คงถูกจริต เพราะเป็นงานเรียบง่าย แสดงถึงเอกลักษณ์ความเป็นแอฟริกา ทำให้เห็นเรื่องราวของชนบท ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาโหยหาและต้องการเก็บไว้เป็นที่ระลึกว่าได้เคยมาทำงานในแอฟริกาแล้ว ทูตสวิตฯ​ ในแทนซาเนียในตอนนั้น ชอบภาพของ E.S. Tingatinga มาก เลยซื้อมาประดับสถานทูตไว้เป็นร้อยภาพ ซึ่งต่อมาได้เป็นงานศิลปะและทรัพย์สินอันมีค่าของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ในภายหลังได้ย้ายภาพเหล่านั้นไปเป็นสมบัติของชาติและนำไปเก็บไว้อย่างดี

เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก

เมื่อขายดีเช่นนี้ E.S. Tingatinga จึงเริ่มชักชวนญาติๆ และคนจากบ้านเดียวกันมาวาดภาพ คล้ายเป็นโรงงานผลิตภาพวาดเพื่อนำไปขาย และมีการทำซ้ำภาพที่ขายดีซ้ำๆ กันหลายภาพ แล้วก็เซ็นชื่อ E.S. Tingatinga แบบเดียวกันหมด เคยมีแกลเลอลิสต์ชาวสวิตฯ​ ถึงกับพยายามศึกษาและแกะลายเซ็นที่ปรากฏในภาพเหล่านั้นว่า แบบไหนถึงจะเป็นภาพวาดที่ลงชื่อด้วยตัว E.S. Tingatinga ของจริงกันแน่

น่าเสียดาย ที่ E.S. Tingatinga ผู้นี้ได้โลดแล่นในวงการศิลป์ได้เพียงไม่นาน จนในเย็นวันหนึ่งใน ค.ศ. 1972 เขาก็ถูกตำรวจยิงและตายระหว่างทางไปโรงพยาบาล ผลการสอบสวนว่าเป็นความเข้าใจผิดว่าเขาและเพื่อนที่เขายืมรถโฟล์กมาขับเล่นเป็นโจรคนร้ายที่กำลังพยายามหนีตำรวจ 

ชีวิตของ E.S. Tingatinga ในแวดวงศิลปะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เพียงไม่ถึง 4 ปี ตั้งแต่ที่เขาเริ่มขายภาพวาดของเขาครั้งแรกใน ค.ศ. 1968 จนกระทั่งถึง ค.ศ. 1972 ที่เขาเสียชีวิต แต่สิ่งที่เขาเริ่มไว้ก็ยังยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้

2

งานศิลปะแบบ Tingatinga เป็นหนึ่งในของที่ระลึกที่เห็นได้ทุกที่ในแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะในแทนซาเนียและเคนยา ในเมือง Dar es Salaam มีสหกรณ์ Tingatinga เป็นจุดท่องเที่ยวที่ชาวต่างชาติไม่เคยพลาด ภาพวาดแบบ Tingatinga ยังมีอยู่ แต่ก็ได้เปลี่ยนรูปแบบและสไตล์ไปจากในยุคเริ่มแรก จากเดินที่วาดบนแผ่นไม้ ก็เปลี่ยนมาวาดบนผืนผ้าแคนวาส เพราะหาได้ง่ายและสะดวกกับชาวต่างชาติที่จะม้วนและขนขึ้นเครื่องบินกลับไปเป็นที่ระลึก

เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
ภาพเขียนแบบ Tingatinga บนผ้าใบวางขายเป็นที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยว ภาพที่มีขนาดไม่ใหญ่สามารถพับเก็บใส่กระเป๋าเดินทาง และมีเรื่องราวที่พบเห็นในการท่องเที่ยวในแอฟริกา เป็นของที่ระลึกที่นักท่องเที่ยวแทบทุกคนจะต้องซื้อติดมือกลับไปหรือเป็นของฝาก
เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
 ถังเก็บน้ำถูกระบายสีแต่งแต้มสีสันให้ด้วยฝีแปรงแบบ Tingatinga (ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 2012)

ในวันนั้น ผมก็ไม่แตกต่างจากชาวต่างชาติคนอื่นที่หาซื้อภาพ Tingatinga กลับไปเป็นที่ระลึกเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ก็ด้วยความบังเอิญหรือความโชคดี เพราะกระตือรือร้นบนความหวังว่าจะได้เห็นและครอบครองภาพ Tingatinga ในยุคเริ่มแรก

ในเวลาว่างหลังจากทำงานเสร็จแล้ว ผมกับเพื่อนที่สถานทูตซึ่งเดินทางไปทำงานด้วยกันที่เมือง Dar es Salaam ชวนกันไปดูแกลเลอรี่ท้องถิ่น ร้านขายงานศิลปะท้องถิ่นที่มีเจ้าของเป็นคนแทนซาเนียเชื้อสายอินเดีย ได้ข้อมูลว่าในสมัยก่อนแกลเลอรี่แห่งนี้มีชื่อเสียงมาก และเป็นที่ที่ศิลปินท้องถิ่นนำผลงานมาฝากขายเป็นประจำ แต่ในวันนั้นเมื่อสิบปีก่อนที่ผมแวะเข้าไปเยี่ยมเยียน กลับเห็นเจ้าของร้านในวัยชรานั่งกันอยู่เหงาๆ ในร้านที่ไม่เหลือคราบของความรุ่งเรืองในอดีต

ผมและเพื่อนไปถึงด้วยความผิดหวัง ในความผิดหวังเต็มไปด้วยความสงสัย ผมคุยกับเจ้าของร้านที่เป็นสุภาพสตรีในวัยสูงอายุที่กำลังนั่งหงอยถึงภาพ Tingatinga ที่ผมกำลังตามหา เธอพยักหน้าเหมือนจะเข้าใจ หยุดพักคิดสักครู่ ก่อนค่อยๆ ลุกออกจากโต๊ะทำงานที่นั่งประจำ เปิดประตูเข้าไปในห้องเก็บของหลังร้าน แล้วชี้มือไปมุมห้องเก็บของมืดๆ

กองแผ่นไม้ซ้อนกัน ฝุ่นคลั่ก ผมถลาตัวไปที่กองแผ่นไม้นั้น เพราะรู้ว่าเธอน่าจะหมายถึงภาพเขียน Tingatinga ที่ผมกำลังตามหาอยู่ ตอนนั้นฝุ่นคลุ้งไปทั่ว ผมค่อยๆ ใช้มือพลิกแผ่นไม้นั้นไปทีละแผ่น เห็นได้ชัดและรู้ทันทีว่านี่คืองาน Tingatinga ในยุคแรก เวลาเหมือนหยุดชะงักไว้ตรงนั้น ชัยชนะได้มาเยี่ยมเยือนจิตใตเด็กหนุ่มคนนั้นแล้ว

ชัยชนะแลกมาด้วยเงินเก็บเท่าทั้งหมดที่ผมมี ผมบอกสุภาพสตรีเจ้าของร้านในวัยชราว่าผมขอซื้องานเหล่านี้ทั้งหมดที่มีอยู่เกือบ 30 ภาพ ผมพยายามถามถึงที่มาที่ไปของแผ่นภาพเหล่านี้ แต่คำตอบที่ได้ก็มีเพียงแต่ว่า มันอยู่ตรงนี้นานแล้ว นานจนเธอไม่คิดที่จะนำออกมาขายให้ใคร

เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
ผมกับ ใหม่-สุดคนึง นิเวศน์รัตน์ กับภาพเขียนของ E.S. Tingatinga ที่แกลเลอรี่ท้องถิ่น (ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 2012)

เย็นวันนั้น ผมชวนเพื่อนไปฉลองชัยชนะกันที่ชายหาดใกล้ๆ ย่าน Oyster Bay จุดเริ่มต้นที่ E.S. Tingatinga นำงานศิลปะมาขายเป็นครั้งแรก เราย้อนนึกพูดคุยกับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านพ้นไปที่แกลเลอรี่ขายรูปเมื่อบ่าย ผมบอกเพื่อนถึงความดีใจและความตื่นเต้นลิงโลดที่ผมรู้สึกในแวบนั้น เธอเล่าย้อนถึงความตื่นเต้นกระดี๊กระด๊าที่เธอเห็นผมแสดงออก บทสนทนาของเราถูกปลดปล่อยออกมา ควบคู่ไปกับไก่ย่างบนชายหาดแกล้มกับเบียร์เย็นๆ และน้ำมะพร้าวจืดๆ ที่ชาวบ้านเร่ขายไปบนชายหาดภาพเบื้องหน้า พระอาทิตย์กำลังคล้อยลับขอบฟ้าตกลงไปในทะเล เหมือนจะนำมาซึ่งคำตอบว่า ในช่วงเวลาที่ผมเหลืออยู่ในแอฟริกา ผมควรจะทำอะไรต่อไปเพื่อให้มีประโยชน์ต่อสังคมไทยที่ผมคิดคำนึง

3

เมื่อกลับไปที่กรุงไนโรบี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานทูตไทยที่ผมทำงานอยู่ในขณะนั้น ผมนำภาพที่ซื้อมาจากแทนซาเนียแกะออกมาจากกล่อง แล้ววางเรียงรายไปรอบๆ บ้าน เพ่งพินิจพิจารณาด้วยความชื่นชม สลับกับนึกกังวลถึงสตางค์ที่เป็นเงินเก็บของตัวเองที่จะต้องหมดไป ในขณะเดียวกัน ผมก็ไล่ซื้อหนังสือเกี่ยวกับ Tingatinga ค้นข้อมูลที่มีอยู่ทุกชิ้นในอินเทอร์เน็ต และเขียนอีเมลหานักสะสมและผู้มีความรู้เกี่ยวกับ Tingatinga ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรป 

ผมจำได้ว่า ได้ติดต่อทางอีเมลกับชายสูงอายุชาวเยอรมันที่เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นกัปตันเรือสินค้าทำให้ได้เดินทางไป Dar es Salaam อย่างสม่ำเสมอ ในวัยใกล้ 80 ปี เขามีรูปภาพ Tingatinga จำนวนมหาศาลอยู่และส่งภาพมาให้ผมดูเป็นระยะ

ที่สนุกคือได้ฟังเขาเล่าเรื่องที่ฟังต่อมาจากนักสะสมชาวเดนมาร์ก ซึ่งเข้าไปทำงานองค์กร NGO ใน Dar es Salaam ว่า จริงแล้วๆ สาเหตุที่เขาถูกตำรวจยิงตายไม่ใช่เพราะว่าตำรวจยิงผิดคนตามข่าวหรอก แต่ก็เพราะความหึงหวงที่ภรรยาของตำรวจไปสนิทสนมพูดคุยกับ E.S. Tingatinga ที่บ้านอยู่ติดกันต่างหาก

ภาพ Tingatinga ได้เพิ่มเข้ามาในกองสะสมของผมอีกหลายครั้งในต่างกรรม ต่างวาระกัน เหมือนเมื่อได้รู้จักคุ้นเคยหรือดื่มด่ำกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว เราก็มีจะมีดวงตาเห็นสิ่งนั้น ได้พบเจอสิ่งแบบนั้นอยู่เรื่อยๆ 

อาทิ เมื่อจนใกล้จะต้องกลับประเทศไทยเพราะครบวาระการประจำการที่สถานทูตแล้ว ผมได้มีโอกาสพบกับคนงานที่เคยทำงานในแกลเลอรี่ชื่อดังที่เพิ่งปิดไปเพราะเจ้าของเสียชีวิต เขาพยายามติดต่อมาเพื่อหวังว่าจะหางานศิลปะมาขายแลกกับค่านายหน้าเล็กๆ น้อยๆ พอนำไปประทังชีวิตเขาและครอบครัวมากกว่า ผมถามไปอย่างลอยๆ ว่า เขาพอจะมีงาน Tingatinga ไหม เพราะผมทราบว่าดี ในสมัยก่อนกรุงไนโรบีก็เป็นตลาดงานศิลปะ Tingatinga เช่นกัน 

กรุงไนโรบีเป็นเมืองใหญ่ มีทั้งชาวต่างประเทศย้ายมาอยู่มาทำงานและเป็นแหล่งท่องเที่ยวซาฟารีที่มีชื่อเสียงแล้วเขาก็พาเพื่อนมาพบ พร้อมกับของหนักห่อใหญ่ ทันทีที่เขาค่อยเปิดห่อนั้นออก ก็เป็นไปตามคาดว่าสิ่งของที่อยู่ในนั้นคือสิ่งที่ผมเพียรหา ผมบอกเขาทันทีว่าผมอยากได้งานศิลปะ Tingatinga ทั้งหมดที่เขามี

ผมขอแลกงาน Tingatinga ทั้งหมดกับรถยนต์มือสองจากญี่ปุ่นที่ผมใช้อยู่และกำลังจะขาย เพราะใกล้กลับประเทศไทยแล้ว โดยช่วยเขาจ่ายเงินค่าโอนและค่าภาษีด้วย รถยนต์เก่าพอจะเป็นทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายๆ ที่ผมจะแปรเปลี่ยนเป็นเงินได้ ผมยังหวังว่ารถยนต์ที่เขาได้รับไปก็อาจจะสร้างอาชีพอื่นๆ ต่อไปให้เขาได้ด้วย เขาตอบตกลงโดยไม่รีรอ

เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
ภาพเขียน Tingatinga กองนี้ที่พนักงานแกลเลอรี่นำมาให้ดู ผมยังจำความตื่นเต้นที่ได้เห็นภาพเขียนที่ชอบจำนวนมหาศาลอยู่ตรงหน้า และได้เสนอขอแลกรถยนต์มือสองส่วนตัวที่กำลังจะขายเพราะใกล้กลับเมืองไทย กับภาพเขียนเหล่านี้ พร้อมแถมเงินเล็กน้อยอีกจำนวนหนึ่งให้เขา (ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 2013)

หลังจากนั้น ผมก็ได้งานศิลปะ Tingatinga เพิ่มเติมมาในคอลเลกชันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในคนสำคัญคือ ใหม่-สุดคนึง นิเวศรัตน์ ที่กลับจากเคนยาหลังจากผม 3 ปี ก็ได้รับการติดต่อคนขายภาพคนเดิม และซื้อภาพที่ยังเหลืออยู่มาฝาก ใหม่คือเพื่อนคนเดียวกับที่ไปเหมางานศิลปะ Tingatinga มาด้วยกันตั้งแต่ในครั้งแรกที่แทนซาเนีย 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในราว ค.ศ. 2017 ผมได้กลับมาที่แอฟริกาอีกครั้ง โดยมาประจำการที่สถานทูตไทยในโมซัมบิก ก็ได้พบเจอกับภาพ Tingatinga อีกครั้งเมื่อคราวไปเที่ยวทัศนาจรที่ประเทศเอสวาตินี (ชื่อเดิมของประเทศสวาซิแลนด์) และเห็นภาพ Tingatinga ของศิลปินในรุ่นที่ 2 ซึ่งน่าจะทำขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 วางขายอยู่ในร้านขายของที่ระลึก ผมก็วายเหมาทุกภาพเท่าที่มีขายอยู่มาเหมือนเดิม คนขายบอกว่าเป็นคอลเลกชันของคนเยอรมันที่เคยอยู่ที่นี่ และย้ายกลับไปเยอรมนียามชรา

มานั่งนึกดู ก็ทำให้นึกได้ว่า โอกาสได้ทำให้ต้องมาได้พบภาพ Tingatinga ในที่แปลกๆ แบบนี้หลายครั้ง

4

ภาพวาดแบบ Tingatinga อาจจะไม่ต่างอะไรกับพระเครื่อง อาจเป็นการยากที่จะบอกว่าภาพไหนคือ ‘ของแท้’ ภาพไหนคือ ‘ของปลอม’ 

น่าสนใจว่า แนวคิด ‘ของแท้’ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Authenticity อาจจะเป็นแนวคิดของตะวันตก งานศิลปะในเอเชียหรือแอฟริกามีลักษณะเป็น ‘หัตถกรรม’ หรืองานคราฟต์ที่ทำซ้ำเหมือนๆ กัน มากกว่า ‘งานศิลปะ’ ที่ทำขึ้นและมีขึ้นเพียงชิ้นเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับงานในแบบ Tingatinga ที่มีคนช่วยกันวาดในครัวเรือน อะไรขายดีก็ทำขายเพิ่ม แล้วก็ลงลายเซ็นแบบเดียวกัน

เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
ลายเซ็น E.S. Tingatinga ในแบบต่างๆ ที่เขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด บ้างมีการขีดเส้นใต้ใต้ภาพ บ้างมีการเขียนชื่อภาพ ซึ่งโดยมากเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเมือง Dar es Salaam บ้างมีการลง ค.ศ. ที่วาด ผู้เชี่ยวชาญให้สังเกตตำแหน่งของจุดหลังตัวอักษร E และ S และวรรคระหว่างคำว่า Tinga 2 คำ สำหรับผม ไม่มีวันรู้หรอกว่า ภาพเขียนเหล่านี้เป็นของแท้ที่ตัว E.S. Tingatinga เป็นผู้เขียนหรือผู้ช่วยของเขา

หลังจาก E.S. Tingatinga เสียชีวิตใน ค.ศ. 1972 คนที่เคยช่วยเขาวาดภาพขายก็ยังวาดภาพต่อ โดยในช่วงแรกๆ ก็ยังอาจจะลงชื่อลายเซ็นบนภาพว่า E.S. Tingatinga เพราะรู้ว่าขายได้ดี แต่ต่อมาคนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นศิลปินที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง คนเหล่านี้มีอาทิ Simon George Mpata ซึ่งต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่ประเทศเคนยาในกรุงไนโรบี และเป็นคนที่นักสะสมชาวญี่ปุ่นชอบมาก จนมีเศรษฐีคนหนึ่งที่สะสมงานของเขามาลงทุนทำธุรกิจโรงแรมในอุทยานแห่งชาติ Masai Mara แล้วตั้งชื่อที่พักว่า Mpata Safari Club ตามศิลปินคนโปรด

เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
เมื่อ E.S. Tingatinga เสียชีวิตหลังจากที่เขาโลดแล่นอยู่ในวงการศิลปะอยู่เพียงไม่ถึง 4 ปีเต็ม ผู้ช่วยของเขาที่เคยช่วยเขียนภาพภายใต้ชื่อ E.S. Tingatinga ก็มาเขียนภาพและลงลายเซ็นเป็นชื่อตัวเอง ผู้ช่วยเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงไม่แพ้กัน ภาพเหล่านี้เปรียบเทียบภาพที่ลงลายเซ็น E.S. Tingatinga กับอดีตผู้ช่วยที่ต่อมาเป็นศิลปิน Tingatinga ที่มีชื่อเสียง เช่น R. Chiyawa, K.H. Tedo และ Mpata 

งานของ Tingatinga มีการพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ลูกศิษย์รุ่นแรกตามมาด้วยศิลปินรุ่นสอง เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงสไตล์และแนวทางการวาดรูป โดยแทนที่จะเป็นรูปสัตว์เดี่ยวๆ ในหนึ่งภาพก็มีหลากหลายขึ้น แต่ยังวาดอยู่บนแผ่นไม้ใส่กรอบทาสีเหมือนเดิม ว่ากันว่าเป็นเพราะตลาดหรือผู้ซื้อต้องการเห็นภาพสัตว์ที่หลากหลายในหนึ่งภาพมากกว่ามีสัตว์เพียงตัวเดียว จนกระทั่งมาถึงรุ่นปัจจุบันที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการวาดไปอย่างสิ้นเชิง แม้จะใช้สีน้ำมันเหมือนเดิม แต่วาดบนผืนผ้าใบที่ม้วนและนำขึ้นเครื่องบินกลับได้โดยง่าย และภาพที่วาดก็หลากหลายขึ้น มีทั้งเป็นช่องๆ คล้ายการ์ตูนช่อง หรือเป็นภาพตลาดและวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง Dar es Salaam

เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
เรื่องราวของทิงก้าทิงก้า ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ ผู้บุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
ภาพของศิลปิน Tingatinga ในรุ่นที่ 2 ผลิตขึ้นในราวทศวรรษ 1980 ซึ่งหลายคนก็เคยเป็นผู้ช่วยของ E.S. Tingatinga มาก่อน เช่น Amondo, Mruta, Mussa อาจสังเกตได้ถึงสไตล์และวิธีการวาดที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยซึ่งกำหนดด้วยความต้องการของตลาด จากเดิมภาพเขียนของ E.S. Tingatinga มีเพียงสัตว์ตัวเดียวๆ อยู่โดดๆ ในสมัยต่อมีมีรายละเอียดมากขึ้น แต่ยังวาดอยู่บนกระดานขนาด 60 x 60 ซม. ไม่ได้วาดบนพื้นผ้าใบแคนวาสที่พับม้วนได้เหมือนในรุ่นปัจจุบัน

ปัจจุบัน ศิลปิน Tingatinga มีจำนวนหลายร้อยคน และกลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ผลิตของที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยว มีการรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Dar es Salaam ให้นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมได้ และศิลปินก็ตั้งโต๊ะวาดภาพอยู่ที่นั่น นักท่องเที่ยวสามารถซื้อแผ่นไม้และให้เขียนชื่อตัวเองหรือคนอื่นเพื่อนำไปฝากเป็นที่ระลึกก็ได้

Tingatinga ภาพวาดไร้เดียงสาของหนุ่มบ้านนอก สู่สไตล์ภาพแอฟริกาตะวันออกที่ทั่วโลกอยากได้
เรื่องราว ศิลปะแบบ Tingatinga ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ กับการบุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
หลายสิบปีผ่านไป ศิลปิน Tingatinga รุ่นต่อๆ มา ได้รวมตัวกันก่อตั้งสหกรณ์ Tingatinga Arts Cooperative Society ขึ้นที่เมือง Dar es Salaam ใช้เป็นร้านและที่ทำงานของศิลปินรุ่นหลานๆ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมือง (ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 2012)

ภาพเขียนในแบบ Tingatinga จึงเป็นตัวแทนของความเป็นแอฟริกาตะวันออก โดยเฉพาะประเทศในประเทศที่พูดสวาฮิลีเช่น เคนยา แทนซาเนีย และตอนเหนือของโมซัมบิก

5

หลายคนถามว่า ทำไมผมถึงอินและบ้าซื้องานศิลปะแบบ Tingatinga มากมายขนาดนี้

แม้อาจตอบไม่ได้ในทันที แต่… 

ถ้าจะให้ตอบแบบเร็วๆ ผมรู้ว่าตัวเองชอบงานแบบ Tingatinga มาก อาจพูดได้ว่าเป็นภาพที่มองแล้วใช่เลย มองแล้วเห็นแต่ความงดงามแบบนั้นก็ได้ เพื่อนและพี่ๆ หลายคนชอบแซวว่า หรือเพราะยังมีความเป็นเด็กอยู่ เพราะภาพ Tingatinga เหมือนเด็กวาด เต็มไปด้วยความไร้เดียงสา หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็น Naïve Art ที่คนวาดไม่ได้ผ่านโรงเรียนศิลปะ เป็นศิลปินคนนอกในวงนอกตัวจริง เขาไม่รู้เทคนิคการใช้สี ไม่รู้จักแสงเงา องค์ประกอบภาพ สัดส่วนหรือเปอร์สเปกทีฟ

ถ้าจะให้ตอบแบบพินิจพิเคราะห์ความตั้งใจของตัวเองให้ดีๆ แล้ว ก็อาจตอบได้ว่า คงเป็นความตั้งใจอยากจะให้คนไทยได้รู้จักแอฟริกามากกว่าที่เป็นอยู่ และภาพ Tingatinga เหล่านี้ ก็น่าจะช่วยเล่าเรื่องให้พวกเราได้รู้จักแอฟริกามากกว่านี้ได้

เรื่องราว ศิลปะแบบ Tingatinga ศิลปินข้างถนนผู้ล่วงลับ กับการบุกเบิกสไตล์การวาดภาพแอฟริกาตะวันออกให้โลกรู้จัก
ใน พ.ศ. 2556 นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นเดินทางเยือนประเทศแทนซาเนียอย่างเป็นทางการ เราก็ต้องเทียวไปเทียวมาจากเคนยามายังเมือง Dar es Salaam อยู่หลายครั้งเพื่อเตรียมการเยือนในครั้งนี้ เมื่องานเสร็จก็เป็นข่าวใหญ่บนหน้าหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ผมกับใหม่ (สุดคนึง นิเวศน์รัตน์) ทั้งในฐานะเจ้าหน้าที่สถานทูตและคนชื่นชอบศิลปะแบบ Tingatinga ก็นึกสนุกนำหนังสือพิมพ์ไปให้ Malikita ศิลปิน Tingatinga รุ่นล่าสุดอ่านและวาดรูปตาม ปรากฏได้ดังภาพ เรามอบภาพนี้ให้นำไปติดไว้ที่กองแอฟริกาที่กระทรวงการต่างประเทศ ที่ทำงานของเรา

ถ้าจะให้ตอบแบบสนุกๆ ผมอาจเหมือนคนบ้า เหมือนคนอยากเอาชนะ ผมพอรู้ว่าในตอนนั้น คนญี่ปุ่นและคนเกาหลีต่างก็เข้ามากว้านซื้อภาพ Tingatinga ในยุคแรกๆ แบบนี้ไปเป็นจำนวนมาก ผมไม่อยากให้มันตกไปอยู่ในมือของคนอื่นโดยเฉพาะว่าเมื่อมีโอกาสที่จะเป็นเจ้าของภาพที่อยู่ตรงหน้าทั้งหมดนี้แล้ว

แล้วถ้าถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ล่ะ ผมจะบ้าซื้อบ้าสะสมภาพแบบนี้อีกไหม สำหรับอีกคำถามนี้ ผมคงต้องขอเวลาคิดอีกนาน เพราะยังลังเลไม่น้อยกว่าอาจจะไม่กลับไปทำเยี่ยงนั้นอีกแล้ว

เพราะเรื่องบางเรื่อง เป็นเรื่องที่เราอาจบ้าดีเดือดทำได้แค่ในช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตเท่านั้น

ข้อมูลเพิ่มเติม

The Authenticity of Today’s Tingatinga Art โดย Kiagho B. Kilonzo

ผมได้นำภาพ Tingatinga และศิลปินแอฟริกาที่สะสมไว้บางส่วนจัดแสดงที่บ้าน และยินดีเปิดให้เข้ามาชมด้วยความเต็มใจ เพราะอยากจะให้ได้รู้จักแอฟริกาตามความตั้งใจที่มีอยู่ตั้งแต่แรก หากสนใจติดต่อมาที่ Line ID : tihtra ได้ด้วยความยินดี

Writer

Avatar

อาทิตย์ ประสาทกุล

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ และแฟนคลับ The Cloud

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน