The Cloud x Sustainable Development Goals

Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย

มนุษย์ทุกคนมี ‘เวลา’ เป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และชีวิตก็เต็มไปด้วยทางเลือกว่าเราจะใช้เวลาในแต่ละชั่วโมงไปกับอะไร 

ถ้ามนุษย์มีเหตุผลตามที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักว่าไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เราคงอยากลงทุนเวลาในสิ่งที่มีคุณค่ากับชีวิต ทั้งต่อชีวิตเราเองและคนอื่นๆ ในสังคม คอลัมน์ Sustainable Development Goals จึงอยากชวนคุณไปดูโมเดลการเก็บสะสมเวลาที่เรียกว่า ธนาคารเวลา หรือ Time Bank

ธนาคารเวลานี้ไม่ได้รับฝากเงินเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน แต่รับฝากเวลาในหน่วยชั่วโมง จากการที่สมาชิกทำงานจิตอาสาดูแลผู้อื่นในละแวกบ้านใกล้เรือนเคียง และสมาชิกก็สามารถถอนจำนวนชั่วโมงที่ฝากไว้มาเป็นผู้รับบริการจิตอาสาจากผู้อื่น 

เป็นโมเดลอาสาสมัครแบบแรงแลกแรงที่เอาความถนัดของคนไปแลกกัน  และสามารถสะสมการแลกเปลี่ยนเหล่านั้นได้ในรูปแบบของเวลามาเรียกใช้กันอีกเรื่อยๆ

ระบบธนาคารเวลาจึงเปรียบเสมือน Community Currency ที่สร้างสรรค์มาก เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกับเพื่อนบ้าน ที่เอื้อให้ผู้คนได้ปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมเดียวกันในฐานะผู้ให้และผู้รับ

บอม-ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ก่อตั้งฟาร์มสุข ไอศกรีม

ธนาคารเวลาเป็นโมเดลที่ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 17 Partnerships for The Goals ส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ซึ่งการระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีและทรัพยากรทางการเงิน เป็นส่วนเสริมเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

ตอนนี้หลายภาคส่วนของบ้านเราได้ร่วมมือกัน นำเอาแนวคิดธนาคารเวลานี้มาประยุกต์ใช้เข้ากับสังคมไทยที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นทุนเดิม และผลักดันให้ธนาคารเวลาเป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วนด้านผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่จะเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2564 ซึ่งประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงวัยถึง 13.1 ล้านคน หรือสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

ธนาคารเวลา ต้นแบบความร่วมมือของคนในสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเจ๋งแค่ไหน และมีระบบการทำงานอย่างไร เราจะไปคุยกับ บอม-ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้รับผิดชอบกิจการธนาคารเวลา สาขาสวนโมกข์กรุงเทพฯ และดูแลการทำงานของหัวเรือหลักคนอื่นๆ ในอีก 42 พื้นที่นำร่องที่ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายทั่วประเทศไทย

เชื่อไหมว่าเวลาของทุกคนจะยิ่งมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อเราได้ใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างสังคมที่มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน

01

เหตุและผลของเวลา

ย้อนกลับไปที่ประเทศญี่ปุ่นช่วงหลังสงครามโลก หญิงชาวโอซาก้าคนหนึ่งมีแนวคิดเรื่องเวลาที่สร้างคุณค่าเป็นอย่างมากต่อสังคมในวงกว้าง เธอเป็นผู้ริเริ่มสิ่งที่เรียกว่า ธนาคารเวลา 

เทรุโกะ มิซุชิม เห็นว่าในช่วงหลังสงครามที่สภาพสังคมแร้นแค้น ชุมชนควรจะมีอะไรสักอย่างเป็นตัวกลางนำพาผู้คนมาดูแลซึ่งกันและกันเพื่อให้ชีวิตจิตใจของคนดีขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่งเผชิญความยากลำบากในช่วงสงครามมา อย่างน้อยที่สุด พวกเขาควรได้รับการดูแลจากสังคมรอบตัว และได้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าในเวลาที่เหลืออยู่

ในปี 1973 เทรุโกะได้ริเริ่มธนาคารเวลา จน 6 ปีให้หลัง แนวคิดนี้เผยแพร่ไปทั่วญี่ปุ่น มีหัวใจหลักเป็นการดูแลผู้สูงอายุ และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างจริงจัง

คนแก่ที่ยังพอแข็งแรงก็เลยมีโอกาสเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังคมมากขึ้น ไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ตัวคนเดียวที่บ้าน ทั้งได้รับการดูแลและบริการต่างๆ โดยไม่ต้องจ่ายเป็นเงินส่วนตัวหรือขอเงินจากลูกหลานมาใช้ ผู้สูงอายุจึงสามารถเก็บเงินตัวเองไว้ใช้ยามจำเป็นจริงๆ คนหนุ่มสาวก็ได้ลดภาระที่เกี่ยวข้องกับปู่ย่าตายายไปได้เยอะ แถมในระดับประเทศ นี่เป็นการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการดูแลผู้สูงอายุได้มากโขเลยด้วย 

มองทางไหนก็มีแต่ประโยชน์ ทั้งในแง่เม็ดเงินและจิตใจ

เมื่อมีโมเดลดีๆ แบบนี้ เป็นใครก็อยากใช้ แนวคิดธนาคารจึงถูกเผยแพร่ไปยังสวิสเซอร์แลนด์ จีน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอีกหลายประเทศฝั่งตะวันตก

และเมื่อปี 2018 นี้เอง แนวคิดธนาคารเวลาก็เริ่มเข้ามาในบ้านเรา โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ในปี 2019 ธนาคารเวลาในประเทศไทยก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

02

Give and Take

ทีมคณะกรรมการของ ผส. ผู้นำไอเดียนี้เข้ามา ชักชวนภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรและผู้คนหลากหลายแขนง มาร่วมวิจัยเพื่อหาแนวคิดและแนวทางของธนาคารเวลาที่เป็นไปได้ในบริบทของสังคมไทย และหนึ่งในนั้นคือทีมงานของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ผู้มีบทบาทในขั้นตอนลงมีทำธนาคารเวลาให้เกิดขึ้นจริงๆ

สสส. เห็นว่าตัวเองนั้นมีโครงการธนาคารความดีของชุมชนในพื้นที่เจ๋งๆ ทั่วประเทศอยู่แล้วเป็นทุนเดิม มันจึงมีความเป็นไปได้ที่จะริเริ่มโครงการธนาคารเวลานี้ในพื้นที่นำร่อง 42 แห่งในต่างจังหวัดทั่วประเทศรวมถึงกรุงเทพมหานคร และได้ชวนบอม ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งฟาร์มสุข ไอศกรีม ธุรกิจเพื่อสังคมที่ให้โอกาสเด็กถูกข่มขืนได้กลับคืนสู่สังคม มาเป็นผู้รับผิดชอบโครงการประสานความร่วมมือและหนุนเสริมการดำเนินงานธนาคารเวลา เขาทำหน้าที่ดูแลกิจการธนาคารสาขาสวนโมกข์กรุงเทพฯ พร้อมทั้งดูแลการทำงานของหัวเรือหลักคนอื่นๆ ที่อยู่ตามพื้นที่ต้นแบบในต่างจังหวัด

บอม-ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ก่อตั้งฟาร์มสุข ไอศกรีม

“การที่ประเทศเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมันกระทบมากนะ มันกระทบไปถึงโครงสร้างทุกอย่าง ประกันสังคมต้องใช้มากขึ้น เราต้องทำงานแล้วส่งไปให้ผู้สูงอายุมากขึ้น เรื่องสาธารณะสุขหรือการดูแลสุขภาพก็กระทบไปหมดเลย และที่มันมากไปกว่านั้นคือประเทศเรายังผลิตคนดูแลผู้สูงอายุไม่เพียงพอเลย ยังไงก็ไม่พอจริงๆ Care Giver ที่มีอยู่ตอนนี้ เราเห็นว่าเขาทำงานกันไม่ทันนะ

คนสูงอายุแบ่งเป็นสามประเภท คือ

หนึ่ง ผู้สูงอายุที่เริ่มติดสังคม ยังดูแลตัวเองและคนรอบข้างได้

สอง ผู้สูงอายุที่เริ่มติดบ้าน เขาก็ยังพอช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง

และสาม ผู้สูงอายุที่เริ่มติดเตียง คือป่วยและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว

“ทีนี้พอมีคนดูแลไม่ทันทำไงล่ะ มันก็มาถึงหลักคิดที่ว่าต้องให้ผู้สูงอายุดูแลกันเองให้ได้ ประเภทที่หนึ่งกับสองยังพอช่วยดูแลกันเองได้ และดูแลกลุ่มที่สามได้ด้วย นี่คือสิ่งที่ทำให้ธนาคารเวลาเกิดขึ้นในบ้านเรา เพราะรัฐอยากให้ภาคประชาชนได้ช่วยกันดูแลกันเอง” บอม เล่าถึงเหตุที่นำมาสู่การมีธนาคารเวลาในไทยให้เราฟัง

03

ความไว้เนื้อเชื่อใจ

บอมเล่าให้เราฟังว่า ธนาคารเวลาในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้นต่างกันพอสมควร ด้วยบริบททางสังคม และนิสัยใจคอของผู้คน งานนี้จึงท้าทายความสามารถของเขาอยู่ไม่น้อย

แม้ธนาคารเวลาจะถูกริเริ่มใน 42 พื้นที่นำร่องที่มีธนาคารความดีอยู่แล้ว แต่ธนาคารเวลาก็มีความแตกต่างจากธนาคารความดีและจิตอาสาอยู่ไม่น้อย 

2 อย่างหลังเน้นการที่ผู้คนได้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้เพียงฝ่ายเดียว ส่วนธนาคารเวลาที่มีกฎสำคัญว่า เมื่อคุณได้ให้บางอย่างไปแล้ว คุณก็ต้องรับอะไรบางอย่างกลับคืนมาจากผู้อื่นเป็นการตอบแทนด้วย หัวใจของธนาคารเวลาจึงหมายถึงการ ‘ให้และรับ’ เป็นโมเดลที่ชวนสมาชิกมามอบช่วงเวลาดีๆ ให้แก่กันอย่างสม่ำเสมอและเป็นระบบที่ชัดเจน

เมื่อเกิดการรวมกลุ่ม ตั้งกติกา และมีจำนวนสมาชิกที่พร้อมแล้ว ธนาคารเวลาก็จะเดินหน้าต่อด้วยการที่สมาชิกทุกคนเริ่มทำการสะสมจำนวนเวลาโดยการทำกิจกรรมจิตอาสาที่เป็นการให้บริการและการช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน จำนวนชั่วโมงที่ได้ทำกิจกรรมไปนั้นจะถูกฝากไว้กับธนาคารเวลาเหมือนฝากเงินในบัญชี สมาชิกก็สามารถเบิกถอนเวลาของตัวเองมาใช้ หรือจะส่งต่อผลตอบแทนนั้นให้ผู้อื่นก็ได้ และในกรณีที่สมาชิกไม่ได้ต้องการใช้ผลตอบแทนของตัวเอง ก็บริจาคเวลาให้คณะกรรมการธนาคารเวลาในพื้นที่ไว้ไปให้บริการผู้อื่นต่อไปได้ด้วย

ข้อดีอย่างหนึ่งของธนาคารเวลาคือความยืดหยุ่นในทักษะหรือกิจกรรมที่สมาชิกจะมาแลกกัน ในทางปฏิบัติ สมาชิกทุกคนจะตกลงร่วมกันว่าในกลุ่มของตนมีใครพร้อมให้บริการอะไรได้บ้าง จะขับรถรับส่ง สอนคอมพิวเตอร์ ช่วยตกแต่งสวน หรือทำแยมอร่อยๆ มาให้ทาน ก็มีมาแล้วทั้งนั้น และเพื่อความเชื่อมั่นที่มากขึ้น ธนาคารเวลาจะมีทีมเจ้าหน้าที่ทำงานเป็นตัวกลางเชื่อมโยงจับคู่ระหว่างผู้ให้และผู้รับ เพื่อความสะดวกรวดเร็วและป้องกันการเอาเปรียบที่อาจจะเกิดขึ้น

สมาชิกในแต่ละคนจึงมีโอกาสดูแลซึ่งกันและกันด้วยหัวใจ ค่อยๆ สร้างมิตรไมตรีให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในเวลาที่พวกเขามี

ธนาคารเวลา ธนาคารพิเศษที่เชื่อมให้คนมาดูแลกัน โดยใช้เวลาเป็นหน่วยแลกค่าตอบแทน
ธนาคารเวลา ธนาคารพิเศษที่เชื่อมให้คนมาดูแลกัน โดยใช้เวลาเป็นหน่วยแลกค่าตอบแทน

“ธนาคารเวลาของเราตอนนี้มีกลุ่มพี่ๆ สูงวัยที่ปิดรับสมาชิกแล้วทั้งๆ ที่เขามีสมาชิกแค่ 20 คน นั่นเพราะว่า 20 คนนั้นเที่ยวกันไม่หยุดเลยอะ เที่ยวทุกวันจนลูกส่งไลน์มาบอกเราว่า ตั้งแต่มาทำธนาคารเวลากับอาจารย์บอมเนี่ยพ่อแม่ไม่อยู่บ้านเลย (หัวเราะ)

บอมเล่าให้เราฟังว่า ธนาคารเวลาในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดนั้นต่างกันพอสมควร ด้วยบริบททางสังคม และนิสัยใจคอของผู้คน งานนี้จึงท้าทายความสามารถของเขาอยู่ไม่น้อย

“ความตั้งใจของธนาคารเวลาคือสมาชิกควรจะเดินถึงบ้านกันได้ เพราะจะได้ดูแลกันง่ายขึ้น มันก็เลยตอบโจทย์ว่าคนในกลุ่มต้องสนิทกันสิ เพราะเขาเดินถึงกัน ได้เจอกันได้บ่อยๆ แต่พอบริบทเป็นกรุงเทพฯ เป็นสังคมเมืองที่ยิ่งอยู่ใกล้กันยิ่งไม่อยากรู้จักกัน คนเมืองจะมีความเป็นส่วนตัวสูงและห่วงเรื่องความเป็นปัจเจก ส่วนชาวชนบทพึ่งพากันสูงและห่วงเรื่องการกระทบกระทั่งกัน มันเป็นโจทย์ที่ท้าทายเรามากแต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้ถึงจุดนั้น แต่ทุกวันนี้เราเห็นว่าสมาชิกทุกคนแฮปปี้ เราว่ามันดีมากแล้ว

“โจทย์ต่อไปคือเราจะพาคนกลุ่มนี้แหละลงพื้นที่ ดูว่าคุณอยากดูแลอะไรในชุมชนตัวเอง คุณรู้ไหมว่าชุมชนตัวเองมีใครเจ็บป่วยบ้าง ใครอยู่คนเดียวบ้าง เราจะดึงเขากลับไปตรงนั้น หัวใจของมันจริงๆ คือคนต้องมาเจอหน้ากันก่อน ไม่งั้นมันจะขาดความ Secure เพราะธนาคารเวลามันต้องใช้ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน” บอมย้ำกับเราถึงสิ่งที่เรียกว่าความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะนี่คือเชื้อเพลิงขับเคลื่อนที่ทำให้ธนาคารเวลาบรรลุผลสำเร็จในที่สุด ดังเช่นความสำเร็จของกลุ่มธนาคารเวลาผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่บอมได้ช่วยสร้างทีมในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านนี้

  “ธนาคารเวลาของเราตอนนี้มีกลุ่มพี่ๆ สูงวัยที่ปิดรับสมาชิกแล้วทั้งๆ ที่เขามีสมาชิกแค่ 20 คน นั่นเพราะว่า 20 คนนั้นเที่ยวกันไม่หยุดเลยอะ เที่ยวทุกวันจนลูกส่งไลน์มาบอกเราว่า ตั้งแต่มาทำธนาคารเวลากับอาจารย์บอมเนี่ยพ่อแม่ไม่อยู่บ้านเลย (หัวเราะ) เดือนที่แล้วพี่ๆ กลุ่มนี้เขาไปเที่ยวหัวหินกัน ก็ขับรถกันไป เอารถไปจอดบ้านนี้ก็แลกเวลากัน คนขับรถมาส่งที่จุดนัดพบก็ได้คะแนนเวลาด้วย เราเป็นคนขับรถให้เราก็ได้แต้ม เพื่อนคนไหนเลี้ยงข้าวก็เอาคะแนนเวลาไป ต่างคนต่างแลกคะแนนกันไปตลอดทางเลย

“พี่ๆ เขาก็มาบ่นให้เราฟังว่า พี่เหนื่อยกว่าตอนทำงานอีกนะ แต่มีความสุขมากเพราะทุกวันได้ไปไหนมาไหนกับเพื่อน บางวันเขาก็นัดไปกินไอติมกันเอง เขามีทั้งเวลาและกำลังทรัพย์นะ เขาแค่ขาดเพื่อนที่จะไปกับเขา มีคำพูดของพี่สมาชิกคนหนึ่ง เขาบอกว่า เพื่อนในวัยเขาตายลงไปทุกวัน พอเขามาอยู่ตรงนี้เขามีเพื่อน มีรุ่นน้อง มีรุ่นหลาน เป็นเพื่อน สำหรับเขามันสนุก และเขาเองอยากได้แค่นี้แหละ” เราสัมผัสได้ถึงประกายความสุขในดวงตาของบอม ระหว่างที่เขากำลังเล่าเรื่องนี้   

04

ใช้ความเข้าใจมากกว่าความคาดหวัง และความสัมพันธ์สำคัญที่สุด

บอมบอกกับเราว่า เขาพยายามทำธนาคารเวลาด้วยความเข้าใจมากกว่าความคาดหวัง และพยายามปลูกฝังวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้แก่กลุ่มธนาคารเวลาทุกกลุ่มที่เขากำลังดูแลอยู่ เพราะเมื่อเริ่มสร้างกลุ่มไปสักระยะ สิ่งหนึ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือสมาชิกแต่ละคนจะเริ่มเกิดการคาดหวังกันเอง และระหว่างสมาชิกกับกรรมการ 

“เรามีความเชื่อว่าเราต้องทำงานบนพื้นฐานความเข้าใจมากกว่าความคาดหวัง ซึ่งมันเป็นกฎของชีวิตเราเลย อยู่กับภรรยาเราก็ใช้กฎนี้แหละ เพราะฉะนั้น เวลาประชุมกลุ่มเราก็ต้องเอาสิ่งที่เขาแสดงความคิดเห็นขึ้นกระดานทั้งหมด เพื่อให้รู้สึกว่าเราฟังเขาอยู่นะ ไม่ว่าความเห็นนั้นจะเป็นแบบไหนก็ตาม เวลาในกลุ่มเถียงกันเรื่องกฎจนเริ่มเป๋ เราก็จะย้ำเขาถึงความตั้งใจแรกที่ตั้งกลุ่มธนาคารเวลานี้ขึ้นมา วัตถุประสงค์ที่ตั้งคืออะไร เราอยากดูแลกันใช่ไหม แล้วกฎนี้มันตอบโจทย์ไหม ถ้าไม่ตอบโจทย์ก็ตัดทิ้งเลย

ธนาคารเวลา ธนาคารพิเศษที่เชื่อมให้คนมาดูแลกัน โดยใช้เวลาเป็นหน่วยแลกค่าตอบแทน

“บางกลุ่มบอกว่าจัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลกันและช่วยงานสวนโมกข์ ก็ตอบโจทย์แค่สองข้อนี้พอ คุณก็มาทำงานสวนโมกข์ไป เราก็จะเสริมว่าดูแลสวนโมกข์แล้วก็ต้องดูแลกันด้วยนะ เพราะคุณตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลกันเองนะ เขาก็จะทะเลาะกันน้อยลง”

“คุณมีวิธีดูยังไงว่าสมาชิกในกลุ่มเข้าใจกันมากขึ้น” เราถาม

“ก็ดูจากว่าเขาแย่งกันพูดรึเปล่า แล้วดูวิธีการตอบ ดูวิธีการที่เขาพยายามอะลุ่มอล่วยกัน คือเราจะเห็นจากวันแรกที่เขามานั่งอยู่แล้วล่ะ บางกลุ่มนี่ตอนมาใหม่ๆ เขาไม่ฟังกันเลยนะ ต่างคนต่างต้องการพูดในมุมมองของตัวเองที่มีมาตลอดชีวิต จนมาถึงทุกวันนี้เขานั่งรอกันได้ เวลามีคนพูดมันก็มีคนฟัง

“ถ้าตอนประชุมมีคนตั้งคำถามเชิงไม่เห็นด้วยขึ้นมา ตอนเลิกประชุมเราก็จะบอกเขาเลยว่าขอบคุณมากเพราะเขาถามแทนคนอื่นไง มันมีคนอีกมากที่ไม่กล้าถามแต่อาจคิดแบบเขาก็ได้ และการที่เขาถามมันทำให้เราได้ตอบ สมาชิกคนอื่นๆ ก็ได้ตอบ ก็เข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น

“แต่ถ้าเขาไม่อยากมีส่วนร่วม ไม่ถาม ประเด็นนี้ก็จะถูกเก็บไว้ใต้พรม มันคือการ Empower ดึงเขามามีส่วนร่วม คนอยากถามก็ถามได้เพราะเขารู้สึกสบายใจ ทำอะไรก็ไม่ผิด ดูไม่โง่ ถามอะไรก็ไม่ถูกปัดทิ้ง และการที่เราเขียนบนกระดานเป็นการคอนเฟิร์มว่าทุกสิ่งที่คุณพูดผมได้ยินนะครับ เหล่านี้เป็นการทำงานธนาคารเวลาของเรา”

ธนาคารเวลา ธนาคารพิเศษที่เชื่อมให้คนมาดูแลกัน โดยใช้เวลาเป็นหน่วยแลกค่าตอบแทน

บอมตั้งใจมากกับการปลูกปั้นธนาคารเวลา เราสัมผัสได้ถึงความเชื่อในการขับเคลื่อนสังคมเล็กๆ ที่เขากำลังดูแลอยู่ตรงนี้ให้ดีขึ้น เราว่าตัวชี้วัดอย่างง่ายที่สุด ก็คือรอยยิ้มบนใบหน้าของคนในกลุ่มระหว่างที่พวกเขานั่งคุยกัน

“เราก็บอกไม่ได้นะว่าธนาคารเวลาที่อื่นจะเหมือนกับเราไหม อยู่ที่ว่าแต่ละที่บริการด้วยวัตถุประสงค์แบบไหน ที่นี่เราใส่เรื่องนี้ เพราะเราเชื่อเรื่องนี้ พอเราเชื่อเรื่องการดูแลกัน เรื่องความเข้าใจระหว่างกัน และการเข้าใจตัวเองด้วย เพราะคุณก็ต้องมีเวลากลับมาทบทวนตัวเอง เราเข้าใจว่าคุณมีโลกใบนึงที่คุณแบกมา 50-60 ปี โลกที่คุณเชื่อว่าปลอดภัยที่สุดแล้ว พอคุณมานั่งตรงนี้ ธนาคารเวลาแห่งนี้ คุณก็ได้เห็นโลกใบอื่น แล้วคุณก็ตะลึงว่ามีคนคิดแบบนี้ด้วยเหรอ 

“เวลาเราเข้าที่ประชุมใหญ่เขาก็จะถกกันเรื่องตัวเลขหรืออะไรต่างๆ เราจะบอกเลยว่ากลุ่มเราไม่มี เพราะเราจะกลับมาย้ำจุดนี้เสมอ กฎกติกาออกแบบยังไงมันก็ครอบคลุมคนไม่ได้ทั้งหมดหรอก มันมีความต้องการที่เราอยากได้แต่คนอื่นไม่อยากได้ ถ้าเราไม่คุยกันบนพื้นฐานความเข้าใจนะทะเลาะกันตายเลย แต่ถ้าอยู่บนพื้นฐานนี้คนจะยอมกันได้ คือเราถือว่าความสัมพันธ์สำคัญที่สุด เรื่องอื่นเราไม่สนใจเลย

“งานก้าวหน้าในขณะที่สมาชิกเข้าใจกันมากเรื่อยๆ นี่คือตัวชี้วัดของเรา แต่ถ้างานก้าวหน้าแต่สมาชิกเกลียดกันมากขึ้นเรื่อยๆ เท่ากับว่าเราเฟลนะ เพราะสุดท้ายธนาคารเวลาเราอยากได้ความยั่งยืน แล้วมันจะยั่งยืนยังไงถ้าเขาทะเลาะกัน”

05

Exclusive Key Of Inclusivity

ตั้งแต่ธนาคารเวลาเริ่มก่อตั้งขึ้นมา ผลลัพธ์ที่บอมสังเกตเห็นได้ในกลุ่มต่างจังหวัดคือชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ผู้สูงอายุเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองว่าพวกเขาก็ดูแลครอบครัวและเพื่อนบ้านได้ และเชื่อว่าตัวเองก็สามารถมีส่วนร่วมกับสังคม และไม่รู้สึกว่าถูกละทิ้ง

“ธนาคารเวลามันเกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของประชาชน เรามองว่านี่เป็นนิมิตรหมายที่ดีนะ ที่คุณจะได้ยกประเด็นหรือส่งเสียงให้ภาครัฐได้รู้ ถ้าธนาคารเวลาเป็นแค่การสั่งการจากบนลงล่างโดยมีรูปแบบตายตัวแล้วให้ไปทำตามกัน ถามจริงๆ ว่าชอบระบบนี้หรอ

“เราจะบอกสมาชิกในกลุ่มตลอดว่า ธนาคารเวลามันจะไม่เดินเลยถ้าทุกคนในที่นี้เห็นว่ามันไม่ควรทำ เราไม่ได้บอกว่าต้องสำเร็จนะ ขอแค่ทำแล้วจะมาพร้อมความผิดหวัง ความล้มเหลวก็ได้ เพราะเดี๋ยวเราจะช่วยกันแก้” บอมชี้ให้เราเห็นถึงการมีส่วนร่วม แม้ยังเป็นกลุ่มขนาดเล็กๆ แต่ถ้ามันเข้มแข็งขึ้น อย่างน้อยก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในพื้นที่เหล่านั้น  

และในฐานะกระบวนการที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งของการสร้างการมีส่วนร่วมในสังคม เขาบอกกับเราว่า หัวใจของมันก็คือหัวใจของคนทำนั่นเอง

บอม-ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ก่อตั้งฟาร์มสุข ไอศกรีม

“การสร้างการมีส่วนร่วมมันมีเครื่องมือหลายอย่างก็จริง สุดท้ายคือคุณจะใช้อะไรก็ได้ อยู่ที่ว่าตัวตนของคุณมันเป็นยังไงมากกว่า ลองนึกภาพว่าในครัวเรามีมีดหลายเล่ม มีดอยู่ในเมือคนดีก็ใช้หั่นเนื้อเอาไปทำอาหาร มีดอยู่ในมือคนเลวเขาก็เอาไปฆ่าคน เพราะฉะนั้น เครื่องมือไม่ได้สำคัญเท่าตัวตนของคุณ สมมติว่าคุณต้องการสร้างการมีส่วนร่วม คุณมีเครื่องมือเยอะมากและคุณเก่งมาก แต่คุณมีทัศนคติต่อผู้คนที่แย่มาก สร้างยังไงมันก็ไม่ยั่งยืนหรอก สักวันมันก็ต้องจบ

“สิ่งที่เราคำนึงถึงตลอดมีอยู่สองเรื่อง อย่างแรกคือ ทำงานให้เก่ง อย่างที่สองที่สำคัญกว่าคือ การมีทัศนคติที่ดีต่อคนที่เราร่วมงาน อย่างแรกห่วยไม่เป็นไร ยังฝึกกันได้ แต่อย่างหลังต้องดี เหมือนการทำงานที่ต้องสร้างการมีส่วนร่วม เราต้องสร้างข้างในตัวเองก่อน กายกับใจเราผสานกันรึยัง เรากลับมาทบทวนตัวเองบ้างมั้ย ทัศนคติเราตอนนี้เป็นยังไง เราเท่าทันตัวเองอยู่รึเปล่า           

“ธนาคารเวลาของเรามันเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในจิตใจด้วย สมาชิกจะเติบโตขึ้น เข้าใจตัวเองมากขึ้น เพราะเขาได้คอนเน็กต์กับคนมากขึ้น ส่วนตัวเราเองในฐานะกระบวนกรก็เหมือนกัน 

“เราไม่สามารถดูแลคนอื่นให้มามีส่วนร่วมได้เลยถ้าเราไม่ดูแลตัวเองก่อน เพราะการที่ต้องยืนอยู่หน้าวงประชุมและต้องสร้างกลุ่ม มันหายถึงการที่เราต้องรับรู้ถึงทุกคนทุกคนเลยนะ เราต้องดูแลความรู้สึกทั้งหมด ถ้าข้างในยังเดือดอยู่เราไม่มีทางทำได้เลย ตั้งแต่มาจับงานตรงนี้ Learning Curve ของเรามันโตเร็วมากจริงๆ” บอมกล่าวทิ้งท้าย

ธนาคารเวลา ธนาคารพิเศษที่เชื่อมให้คนมาดูแลกัน โดยใช้เวลาเป็นหน่วยแลกค่าตอบแทน

ใน พ.ศ. 2574 ประเทศไทยก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged Society) ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงวัยถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด เมื่อถึงเวลานั้นเราก็มั่นใจได้ว่า ระบบการดูแลกันและกันของผู้คนในสังคมอย่างธนาคารเวลา จะเป็นส่วนช่วยให้เรามีสังคมผู้สูงอายุที่แข็งแรง ปลอดภัย และมีความสุขโดยไม่ได้ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

คนวัยอื่นๆ ในสังคมก็สามารถมีส่วนร่วมกับธนาคารเวลาได้ แม้จะยังไม่ใช่ผู้สูงอายุ ลองหาเวลาไปใช้เวลาที่ธนาคารดู แล้วคุณจะเชื่ออย่างที่เราบอกไปตอนต้นว่า เวลายิ่งมีคุณค่ามากขึ้น เมื่อเราได้ใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างสังคมที่มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี